

อ่านไปให้ไกลกว่าเรื่อง
อ่านไปให้ไกลกว่าเรื่อง
ชวนเด็กๆ ปลูกความคิดเชิงวิพากษ์ท่ามกลางโลกที่ความจริงและความลวงซ้อนทับกันจนแยกไม่ออก
ลองนึกภาพเด็กคนหนึ่งนั่งไถหน้าจอมือถือในขณะที่รอบตัวเต็มไปด้วยเสียงพูดคุยถึงสงคราม การเมือง โรคระบาด หรือแม้แต่ “ความจริง” ใหม่ล่าสุดจากอินฟลูเอนเซอร์คนดังใน TikTok ข้อมูลที่หลั่งไหลเข้ามาแบบไม่หยุดหย่อน กำลังสร้างความสับสนในระดับที่แม้แต่ผู้ใหญ่บางคนยังต้องหยุดตั้งหลัก แล้วเด็กจะรับมือยังไง?
เราอยู่ในโลกที่ข้อมูลดีๆ และข้อมูลบิดเบือนปะปนกันไปหมด ไม่ต่างจากเส้นด้ายพันกันยุ่งเหยิงบนพื้นโต๊ะ แล้วให้เด็กหยิบเฉพาะเส้นที่ถูกต้อง นี่ไม่ใช่แค่ความท้าทาย แต่คือเรื่องเร่งด่วน
และหากคำว่า “วัคซีนทางความคิด” มีอยู่จริง หนึ่งในเครื่องมือที่ดีที่สุดก็คือ “การอ่าน”—แต่ไม่ใช่แค่อ่านเพื่อรู้ แต่อ่านเพื่อ “คิด”
Mappa และสานอักษร ได้ไปเก็บข้อมูลจากเวทีเสวนา EURead. Children in the World of Disinformation : How Reading Shapes Critical Thinking จากงาน Bologna Children’s Book Fair 2025 มาฝากกัน
โลกที่เต็มไปด้วยข้อมูล และความบิดเบือนจนแยกไม่ออก
เด็กยุคนี้เติบโตขึ้นมาพร้อมกับข้อมูลที่อยู่แค่ปลายนิ้ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อมูลเหล่านั้นไม่ได้ถูกกลั่นกรองเสมอไป พวกเขาต้องเผชิญกับข่าวปลอม โพสต์ที่ตั้งใจให้เข้าใจผิด และเนื้อหาที่ดูน่าเชื่อถือแต่เพียงเปลือกนอกเท่านั้น งานวิจัยของ UNICEF ใน 10 ประเทศระบุว่า เด็กกว่า 75% รู้สึกไม่มั่นใจในการแยกแยะว่าอะไรคือข้อมูลจริงและอะไรคือข้อมูลเท็จ
ในขณะที่ความเปราะบางนี้ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ คำถามหนึ่งจึงดังขึ้นในเวทีเสวนาในงาน Bologna Children’s Book Fair 2025 ในเวที EURead : Children in the Wolrd of Disinformation: How Reading Shapes Critical Thinking ที่จัดโดย The Ukrainian Book Institute
การพูดคุยเริ่มต้นด้วยคำถามว่า “ในโลกที่เด็กๆ ต้องเติบโตขึ้นท่ามกลางข่าวลวง ข้อมูลเท็จ และการบิดเบือนความจริงอย่างต่อเนื่องจากโลกดิจิตัล บทบาทของ ‘หนังสือ’ และ ‘การอ่าน’ ยังสำคัญอยู่หรือไม่?”
คำถามนั้นกระตุ้นให้เกิดการสนทนาต่อจากนี้ที่ Mappa และสานอักษร เก็บมาฝากกัน
หนังสือกับการฝึกสมองให้ ‘ไม่เชื่อทุกอย่างที่เห็น’
Maryanne Wolf นักวิจัยด้านการอ่านและสมองจาก UCLA บอกว่า การอ่านอย่างลึกซึ้ง (deep reading) ไม่ได้แค่ทำให้เรารู้เรื่อง แต่มันฝึกให้เราชะลอ คิด วิเคราะห์ และ “รู้ทัน” เจตนาที่ซ่อนอยู่ในเนื้อหา
ซึ่งก็คือ… ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์นั่นเอง
เพราะการอ่านไม่ใช่แค่ ‘ดูคำ’ แล้ว ‘เข้าใจเนื้อหา’ แต่มันเป็นการคุยกับข้อความ ตั้งคำถามกับผู้เขียน และเชื่อมโยงกับสิ่งที่เรารู้ และมีความช้าเพียงพอที่จะฝึกให้สมองค่อยๆ พิจารณาว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อเนื้อหานั้น
สิ่งที่เกิดขึ้นในสมองระหว่างการอ่าน ไม่ใช่เพียงแค่รับข้อมูลแล้วเชื่อทันที แต่เราสร้างการเชื่อมโยงใหม่ในสมองทุกครั้งที่อ่าน เราจึงพบว่าตัวเองอ่านไปตั้งคำถามไปอยู่เรื่อยๆ เช่น เราอาจหยุดอ่านประโยคหนึ่งแล้วคิดถึงสิ่งที่เราเคยประสบ หรือเปรียบเทียบกับมุมมองของตัวละครอื่น กระบวนการเหล่านี้ส่งผลต่อทั้งความเข้าใจ และความสามารถในการระบุอคติหรือความไม่สมเหตุสมผลที่เรากำลังเผชิญอยู่
Wolf เรียกสิ่งนี้ว่าเป็นการฝึก “สมองให้รู้จักคิดอย่างยืดหยุ่นและสงสัยอย่างมีเหตุผล” ซึ่งตรงกันข้ามกับการเสพข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียที่มักเน้นความรวดเร็วและการตอบสนองอารมณ์ทันที และเน้นความเร็วของข้อมูลเป็นหลัก
ดังนั้น ทุกครั้งที่เด็กได้อ่านเรื่องราวที่ท้าทายพอให้เขาต้องชะลอ หยุดคิด หรือย้อนกลับไปอ่านซ้ำเขากำลังฝึกกล้ามเนื้อสมองที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในโลกที่ไม่แน่ชัดและเต็มไปด้วยการตีความ
ในโลกที่อัลกอริธึมคัดสรรข้อมูลให้เราเห็นเฉพาะสิ่งที่เราอยากเห็น การอ่านคือหนึ่งในไม่กี่กิจกรรมที่ยังเปิดพื้นที่ให้เรา “เลือก” ที่จะไม่เชื่อในสิ่งที่เห็น
ความหลากหลายของหนังสือ = ความหลากหลายของการมองโลก
ตัวอย่างที่สะท้อนหลักการนี้ได้ชัดเจนเกิดขึ้นในยูเครน Ukrainian Book Institute ได้จัดทำรายการหนังสือเด็กหลากหลายจำนวน 300 เล่ม ซึ่งได้รับการคัดเลือกอย่างรอบคอบจากนักวิจารณ์ ครู และนักจิตวิทยาเด็ก เพื่อให้ครอบคลุมทั้งเรื่องอารมณ์ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความยุติธรรมทางสังคม และการเข้าใจตนเอง รายการหนังสือนี้ถูกใช้ทั้งในโรงเรียน ศูนย์พักพิงผู้ลี้ภัย และพื้นที่วิกฤต เพื่อให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่ปลอดภัยทางความคิดในการสำรวจความรู้สึกของตนเอง และเรียนรู้ที่จะเข้าใจผู้อื่นในโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา Olena ผู้อำนวยการโครงการ International Cooperation at the Ukrainian Book Institute ได้กล่าวไว้ในเวทีเสวนาว่า “หากเด็กไม่ได้อ่านหนังสือที่หลากหลายเพียงพอ ก็จะไม่มีต้นทุนในสมองมากพอที่จะนำไปแยกแยะข้อมูลต่างๆ เลือกที่จะเชื่อหรือไม่เชื่ออะไร ซึ่งเป็นพื้นฐานของการคิดเชิงวิพากษ์ หรือ Critical Thinking”
Rudine Sims Bishop นักวิชาการด้านวรรณกรรมเด็ก เคยกล่าวไว้อย่างทรงพลังว่า หนังสือควรเป็นทั้ง “กระจก” ที่ให้เด็กเห็นตัวตนของตัวเอง และ “หน้าต่าง” ที่เปิดให้มองเห็นชีวิตคนอื่น การอ่านเรื่องราวที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเด็กที่มีพื้นเพต่างวัฒนธรรม ความเชื่อ ความสามารถ หรือแม้แต่ประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่าง ช่วยให้เด็กเข้าใจโลกกว้างขึ้น ลดการเหมารวม และค่อยๆ ฝึกให้ตั้งคำถามกับสิ่งที่เคยเชื่อมาแบบไม่ต้องมีใครมาบอกว่าผิดหรือถูก
เด็กที่อ่านหนังสือที่หลากหลาย ยังได้เรียนรู้ว่าหนึ่งสถานการณ์สามารถมีได้หลายมุมมอง หนึ่งการกระทำอาจมีหลายแรงจูงใจ และคนที่ต่างจากเราก็มีคุณค่าเท่าเทียมกับเรา นี่แหละคือจุดเริ่มต้นของความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจ และการคิดเชิงวิพากษ์อย่างแท้จริง
และมันไม่ได้ส่งผลแค่ด้านอารมณ์หรือจิตใจเท่านั้น แต่ยังส่งผลชัดเจนในด้านวิชาการด้วย งานศึกษาจาก First Book ชี้ว่า การที่เด็กได้เข้าถึงหนังสือที่หลากหลายสามารถเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างเด็กในกลุ่มที่มีโอกาสต่างกันได้อย่างมีนัยสำคัญ
กล่าวอย่างง่ายที่สุด… ยิ่งเด็กได้อ่านเรื่องที่หลากหลายมากเท่าไหร่ พวกเขาก็จะมองโลกอย่างรอบด้าน และมีเครื่องมือในใจมากพอที่จะไม่ถูกคำพูดเพียงชุดเดียวครอบงำได้ง่าย เพราะในทางสมอง การพัฒนาการคิดเชิงวิพากษ์ ต้องอาศัย ‘ต้นทุนข้อมูล’ ที่มากเพียงพอ เปรียบได้กับการต่อจิ๊กซอว์ ถ้าเรามีชิ้นส่วนไม่หลากหลายพอ ก็ไม่มีทางเห็นภาพใหญ่ได้ชัด การอ่านเรื่องซ้ำเดิม มุมมองเดิม หรือจากโลกใบเดียวกันซ้ำๆ จึงไม่เพียงพอสำหรับการสร้างความคิดที่ยืดหยุ่นและเปิดรับ
เสียงจากเวที Bologna Children’s Book Fair: หนังสือจะเป็นเครื่องมือสร้างความคิดเชิงวิพากษ์ได้อย่างไร
บนเวทีเดียวกัน Valentina Stoeva จาก EURead เล่าว่า “เราต้องการให้เด็กในบัลแกเรียมีโอกาสอ่าน ไม่ใช่เพราะเราอยากให้เขาเก่งขึ้น แต่เพราะเราอยากให้เขาคิดเป็นในโลกที่เสียงดังมากขึ้นทุกวัน”
เธอส่งหนังสือเข้าไปในพื้นที่ห่างไกล ตั้งห้องสมุดเล็กๆ ให้เด็กได้เจอเรื่องราวนอกหมู่บ้าน เพื่อที่พวกเขาจะได้รู้ว่าโลกไม่ได้มีแค่สิ่งที่พูดคุยกันเฉพาะบนโต๊ะอาหารที่บ้าน
Daan Beeke จาก Stichting Lezen ประเทศเนเธอร์แลนด์ เล่าถึงพลังของ “การอ่านออกเสียงร่วมกัน” ไม่ใช่แค่เรื่องน่ารักในห้องนอนเด็ก แต่เป็นการฝึกให้เด็กฟัง ถาม และพูด ตั้งแต่ยังไม่รู้ว่าคำว่า “critical thinking” แปลว่าอะไร”
“เด็กที่ได้อ่าน ได้ฟัง และได้ถามโตขึ้นจะไม่เชื่อทุกอย่างที่ไหลมาในฟีด” — Daan กล่าว
ส่วน Olena Odynoka จาก Ukrainian Book Institute พูดจากประสบการณ์ที่เจ็บปวดว่า ในสงคราม ข่าวปลอมทำร้ายคนไม่แพ้ระเบิด “หนังสือคือสิ่งที่เรายื่นให้เด็กในค่ายผู้ลี้ภัย เพราะมันเยียวยาเขา และที่สำคัญ มันฝึกให้เขารู้ทันการชักจูงจากข่าวปลอม”
เธออธิบายต่อว่า หากเด็กไม่ได้อ่านหนังสือที่หลากหลายเพียงพอ ก็จะไม่มีต้นทุนในสมองมากพอที่จะนำไปแยกแยะข้อมูลต่างๆ เลือกที่จะเชื่อหรือไม่เชื่ออะไร ซึ่งเป็นพื้นฐานของการคิดเชิงวิพากษ์ หรือ Critical Thinking — ไม่ใช่แค่เพื่อความรู้ แต่เพื่อเอาตัวรอดทางความคิดในสถานการณ์ที่เปราะบางทั้งทางกายภาพและอารมณ์
คำพูดของเธอสอดคล้องอย่างลึกซึ้งกับสิ่งที่ Valentina Stoeva จากบัลแกเรียกำลังผลักดันอยู่เช่นกัน ผ่านโครงการที่นำหนังสือเข้าไปในพื้นที่ชนบทที่ขาดแคลนโอกาส Stoeva เชื่อว่า การอ่านไม่ได้ทำให้เด็ก ‘รู้มากขึ้น’ อย่างเดียว แต่ทำให้เขาคิดได้หลายทาง เห็นมากกว่าหนึ่งมุม และกล้าเชื่อในเสียงของตัวเอง—ซึ่งล้วนเป็นวัคซีนสำคัญต่อโลกที่ซับซ้อ
แล้วเราจะอ่านยังไงให้ “คิดเป็น”?
Tetiana Petrenko นักวิจารณ์หนังสือเด็กจากยูเครนพูดไว้ได้น่าสนใจมากว่า “เด็กไม่ต้องการคำตอบจากหนังสือ เด็กต้องการพื้นที่ให้คิดเอง”
ประโยคนี้ฟังดูเรียบง่าย แต่ในความจริง มันคือหัวใจของ critical thinking
เพราะการคิดเชิงวิพากษ์ไม่ได้เกิดจากการได้รับคำตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงหนึ่งเดียว แต่เกิดจากการฝึกตั้งคำถาม ฝึกวิเคราะห์หลายทางเลือก และยอมรับความไม่แน่นอน การที่หนังสือทิ้งช่องว่างให้เด็กคิดต่อ ไม่ป้อนข้อสรุปสำเร็จรูป หรือยัดเยียดวิธีคิดชัดๆ เพราะเด็กควรได้พิจารณาและสร้างกระบวนการคิดของตัวเอง
การอ่านไม่ใช่การป้องกันตัวจากข้อมูลเท็จ แต่คือวัคซีนความคิด
หนังสือที่ดีจึงไม่ใช่หนังสือที่สรุปบทเรียนไว้ให้เสร็จสรรพ หรือบอกเด็กว่า “ควรคิดอะไร” หรือ “ควรเชื่อแบบไหน” แต่คือหนังสือที่เปิดพื้นที่ให้เด็กได้ตั้งคำถาม หยุดคิด เปรียบเทียบ และเลือกมุมมองของตัวเอง เช่น “ทำไมตัวละครนี้ถึงตัดสินใจแบบนั้น?” “ถ้าเราอยู่ในเหตุการณ์เดียวกัน เราจะทำยังไง?”
การอ่านที่ทำให้เด็ก ‘คิดเป็น’ คือการอ่านที่กระตุ้นการวิเคราะห์ ไม่ใช่การท่องจำ เป็นการที่เด็กได้เผชิญกับความไม่แน่นอนในเรื่องเล่า แล้วใช้เครื่องมือในใจของตัวเองจัดการกับความไม่แน่นอนนั้น และหนังสือควรเป็นเหมือนสนามจำลองของชีวิต ที่เปิดโอกาสให้เด็กได้ลองใช้เหตุผล เจอความขัดแย้ง และค่อยๆ ฝึกทักษะการตัดสินใจโดยไม่ต้องกลัวว่าผิดหรือถูก
เพราะการที่เด็กจะเติบโตขึ้นมาอย่างเข้าใจโลก ไม่ใช่เพราะมีคนบอกว่าอะไรจริงหรือเท็จ แต่เพราะเขา ‘คิดเป็น’ ด้วยตัวเอง
และสิ่งที่ช่วยปลูกฝังความสามารถนั้นได้อย่างแนบเนียนที่สุด ก็คือ “การอ่าน”โดยเฉพาะการอ่านที่ชวนคิด หนังสือที่เปิดมุมมอง และการสนทนาระหว่างผู้ใหญ่กับเด็กที่ไม่บอกคำตอบ แต่ถามคำถามกลับ
บางทีสิ่งที่โลกต้องการอาจไม่ใช่แค่ระบบตรวจสอบข่าวปลอมที่แม่นยำ แต่คือการปลูกให้เด็กคนหนึ่งกล้าถามว่า
“แล้วสิ่งนี้จริงแค่ไหน?”
Writer

Admin Mappa
illustrator

Arunnoon
มนุษย์อินโทรเวิร์ตที่อยากสื่อสารและเชื่อมโยงกับผู้คนผ่านภาพวาด