“Sacred Mountain” เทศกาลแห่งจิตวิญญาณที่เชื่อมโยงมนุษย์ไปสู่ความรักอันไร้เงื่อนไข
“Sacred Mountain” เทศกาลแห่งจิตวิญญาณที่เชื่อมโยงมนุษย์ไปสู่ความรักอันไร้เงื่อนไข
- Sacred Mountain Festival เป็นเทศกาลทางจิตวิญญาณที่รวมเอาผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับจิตวิญญาณมาจัดกิจกรรมร่วมกัน ที่ค่ายเยาวชนเชียงดาว จ.เชียงใหม่
- จุดประสงค์หลักของเทศกาลนี้ คือการสำรวจถึงวิถีทางจิตวิญญาณที่หลากหลายกว่าเดิม เหมือนขยับนิยามของความศักดิ์สิทธิ์ให้กว้างขึ้น และสนุกขึ้น
- เสน่ห์ของ Sacred Mountain Festival คือการเป็นชุมชนของผู้ที่สนใจเรื่องจิตวิญญาณ ซึ่งจุดประกายโดยผู้จัดงาน และร่วมกันต่อยอดโดยผู้เข้าร่วมงาน
- วิสัยทัศน์สูงสุดของผู้จัดงาน Sacred Mountain Festival คือการเข้าถึงจิตวิญญาณที่บริสุทธิ์ ที่เป็นคุณสมบัติของความรัก ความเมตตา ความกรุณา สันติภาพ เพื่อมนุษยชาติ
นับตั้งแต่สมัยโบราณ มนุษย์ล้วนสัมพันธ์เชื่อมโยงกับธรรมชาติและสรรพสิ่งรอบตัว ด้วยเชื่อว่าสิ่งเหล่านั้นมี “จิตวิญญาณ” ที่ไม่เพียงแต่ปกปักรักษา แต่ยังนำทางชีวิตมนุษย์ด้วย ทว่าด้วยเวลาที่หมุนไป ระบบและคุณค่ามากมายถูกสร้างขึ้นโดยมนุษย์ ขณะเดียวกันก็ฉุดดึงมนุษย์ให้ออกห่างจากจิตวิญญาณในธรรมชาติ จนกระทั่งทุกวันนี้ โลกที่เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย ชีวิตที่เข้าใจยากขึ้นเรื่อยๆ ก็ทำให้หลายคนเริ่มตั้งคำถามกับชีวิตและตัวตนของตัวเอง แนวทางหนึ่งในการหาคำตอบในชีวิตที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ คือ “วิถีทางจิตวิญญาณ” การพาตัวเองไปเชื่อมโยงกับสรรพสิ่งในธรรมชาติ และเดินทางเข้าสู่ภายในตัวตนของตัวเอง เพื่อค้นพบคำตอบของคำถามมากมายที่หมุนวนอยู่ในใจ และนำไปสู่เป้าหมายที่แท้จริงในชีวิต
ท่ามกลาง “คนทำงานด้านจิตวิญญาณ” ที่ค่อยๆ เพิ่มจำนวนขึ้นในชื่อที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นครู หมอดู กระบวนกร หรือนักบำบัด ก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่พยายามสร้างบทสนทนาเกี่ยวกับจิตวิญญาณ และถักทอส่งต่อวิสัยทัศน์ผ่านเทศกาลทางจิตวิญญาณ ในชื่อว่า “Sacred Mountain Festival”
ยุคมืดและยุคสว่างของจิตวิญญาณในสังคมไทย
ที่ผ่านมา เมื่อพูดถึงคำว่า “จิตวิญญาณ” สังคมไทยเรามักจะนึกถึงความศักดิ์สิทธิ์ การเคารพบูชา และต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาสูงส่งเท่านั้นจึงจะเข้าถึงสิ่งนี้ได้ ทำให้เมื่อมีใครสักคนพูดถึงจิตวิญญาณในธรรมชาติ หรือเรื่องอุดมคติอย่างความเมตตากรุณา มนุษยชาติ หรือสิ่งแวดล้อม คนผู้นั้นก็มักจะถูกตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือ ตามด้วยการโยนความรับผิดชอบใส่ ในฐานะที่เขาคนนั้นได้ลั่นวาจา “ขนาดใหญ่” เหล่านี้
นอกจากนี้ วัฒนธรรมประเพณีทางจิตวิญญาณของไทยที่มีความเป็นปัจเจกก็ส่งผลกับภาพจำเกี่ยวกับเรื่องจิตวิญญาณ และมีส่วนทำให้ผู้คนถอยห่างจากเรื่องนี้เช่นกัน ซึ่งกฤตยา ศรีสรรพกิจ หนึ่งในผู้จัดงาน Sacred Mountain Festival อธิบายว่า
“ก่อนหน้านี้ คนที่แสวงหาทางจิตวิญญาณแนวทางหลักๆ มีแนวทางเดียวคือปลีกตัวไปปฏิบัติธรรม จึงทำให้ไม่ค่อยมีความเชื่อมโยงระหว่างวิถีทางจิตวิญญาณกับสังคมที่ใหญ่ขึ้น เมื่อก่อนมันคือ ‘เส้นทางของฉัน’ มันไม่ค่อยมีการพูดถึงว่าแล้วเส้นทางของฉันมันมีความสัมพันธ์อะไรกับสังคม”
ด้านวิจักขณ์ พานิช ผู้จัดงาน Sacred Mountain Festival อีกคนหนึ่ง ยกตัวอย่างมุมมองแบบตะวันตก ที่เป็นศาสนาแบบเทวนิยม และคนแต่ละคนมักจะมีความสัมพันธ์โดยตรงกับพระเจ้า จนกระทั่งคริสตจักรได้เข้ามามีบทบาทเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงคนกับพระเจ้า และกลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่กีดกันผู้คนให้ไกลออกไปจากความสัมพันธ์กับพระเจ้า หรือแม้กระทั่งศาสนาพุทธแบบสถาบันเอง ก็มีบทบาทในการทำให้คนทั่วไปไม่รู้วิธีการที่จะมีศรัทธาหรือความสัมพันธ์โดยตรงกับธรรมชาติ และตัดขาดจากมุมมองเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของธรรมชาติ
“จริงๆ แล้ว ตัวศาสนาพุทธแบบชาวบ้านมันพูดเรื่องนี้นะ มันเป็นรากฐานของวัฒนธรรมไทย เราตั้งชื่อภูเขา เราตั้งชื่อต้นไม้ เราตั้งชื่อให้แม่น้ำ เรามีขวัญข้าว ขวัญดิน คือทุกอย่างมันมีความศักดิ์สิทธิ์ มีชีวิต มีจิตวิญญาณ แล้วมนุษย์แต่ละคนสามารถมีความสัมพันธ์โดยตรงกับจิตวิญญาณเหล่านี้ ด้วยการทำงานกับข้างในของเรา พร้อมกับการสัมพันธ์และสื่อสารกับจิตวิญญาณข้างนอกไปด้วย”
ด้วยเหตุนี้ กลุ่มคนที่มีความสนใจและมีความรู้เกี่ยวกับจิตวิญญาณในสังคมไทย จึงเป็นเพียงคนกลุ่มเล็กๆ ที่แต่ละคนก็ทำงานอยู่ในพื้นที่ของตัวเอง เรียนรู้อยู่กับตัวเอง และไม่ได้มีโอกาสออกไปแลกเปลี่ยนความรู้กับคนอื่นๆ มากนัก
อย่างไรก็ตาม ไม่นานนี้ดูเหมือนว่าสถานการณ์จิตวิญญาณของสังคมไทยกำลังจะเปลี่ยนแปลงไป จากคนรุ่นใหม่ที่มีความตระหนักรู้เกี่ยวกับโลกที่อยู่นอกเหนือไปจากขอบเขตของตัวเอง ประเด็นการเมือง สังคม สิ่งแวดล้อม ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน กลายเป็นหัวข้อเรื่องที่คนรุ่นใหม่มักจะหยิบยกมาพูดถึงกันในชีวิตประจำวัน ตามด้วยสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ในทุกระดับ ก็ยิ่งทำให้ผู้คนเริ่มหันหน้าไปหาวิถีทางจิตวิญญาณมากขึ้นตามไปด้วย
“หลังจากช่วงโควิด เราคิดว่าคนมีความหิวกระหายกับเรื่องนี้ แล้วก็สถานการณ์ทางการเมืองไทยด้วย ที่ทำให้คนรุ่นใหม่ที่ออกมาต่อสู้รู้สึกต้องการการเยียวยา ต้องการความรู้สึกที่ทำให้ตัวเองมีความมั่นใจ มีศักดิ์ศรี การแตกหักกันในทุกๆ ความสัมพันธ์ หรือว่าสถาบันที่เคยเป็นที่พึ่ง ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเมือง การศึกษา ศาสนา ทำให้คนรู้สึกว่าเขาต้องการอะไรบางอย่างที่จะมาเยียวยา ทำให้ประกอบร่างว่าฉันคือใคร ฉันมีอะไรที่จะอุทิศให้กับโลกใบนี้ ผมคิดว่าพอแนวทางพวกนี้มันเข้าถึงง่ายขึ้น เรื่องจิตวิญญาณก็จะเป็นเรื่องหนึ่งที่มันจะมาเสริมความมีตัวตนในโลก หรือว่าสิ่งที่ตัวเองสามารถที่จะทำให้กับโลกใบนี้ได้” วิจักขณ์อธิบาย
ด้วยปัจจัยต่างๆ ข้างต้น ทำให้หลายคนผันตัวมาทำงานด้านจิตวิญญาณอย่างคึกคัก ตั้งแต่การเป็นหมอดู ไปจนถึงนักบำบัดในศาสตร์ต่างๆ แม้จะสร้างพื้นที่ให้จิตวิญญาณได้เป็นที่รู้จักมากขึ้น แต่ก็อาจเรียกได้ว่าแนวทางนี้เป็นหนึ่งในช่องทางทำธุรกิจ สร้างรายได้ และสร้างการมีตัวตนของบางคน แม้ว่าจะมีชั่วโมงบินในการทำงานกับจิตใจของผู้คนยังไม่มากนักก็ตาม ซึ่งกระแสของคนทำงานทางจิตวิญญาณรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ก็ทำให้เหล่า “รุ่นพี่” รู้สึกว่าถึงเวลาที่ต้องหันมาทบทวนตัวเองเช่นกัน
“พอไปถึงจุดหนึ่งมันก็ต้องมีการทบทวนความเป็นตัวเองในฐานะคนทำงานด้านนี้ของเรา แล้วก็ทบทวนกันและกัน ว่าแท้จริงแล้วคุณจริงกับสิ่งที่เรานำเสนอแค่ไหน มันก็เป็นวงจรน่ะ มันไม่ได้เป็นแบบ โอเค ฉันจบแล้ว เป็นครูได้ มันก็ต้องเป็นวงจรของการสอน ของการเป็นนักเรียน มันควรจะมีการคิด มีการคุย มีการแบ่งปันวิสัยทัศน์ไปด้วยกันด้วย มากไปกว่าการแสวงหาแนวทางพัฒนาจิตใจ พัฒนาจิตวิญญาณของตัวเองในระดับปัจเจก” กฤตยากล่าว
Sacred Mountain Festival
ในช่วงเวลาที่ผู้คนเริ่มมองหาแนวทางทางจิตวิญญาณเพื่อเยียวยาและเติมเต็มจิตใจ พื้นที่หนึ่งที่ได้รับความนิยมคือ “เทศกาลทางจิตวิญญาณ” (Spiritual Festival) และ Sacred Mountain Festival ก็รับหน้าที่นี้เช่นกัน
Sacred Mountain Festival จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อราว 4 ปีก่อน ในพื้นที่ของค่ายเยาวชนเชียงดาว จ.เชียงใหม่ ที่ซึ่งครั้งหนึ่งก็เคยเป็นสถานที่จัดเทศกาลทางจิตวิญญาณชื่อ Shambala นานนับสิบปี และย้ายออกไปจัดในสถานที่อื่น หลังจากที่เติบโตขึ้นเกินว่าค่ายเยาวชนเชียงดาวจะบริหารจัดการได้ เมื่อสถานที่ว่างลง แต่จิตวิญญาณยังคงอยู่ เจ้าของสถานที่จึงชักชวนให้วิจักขณ์ลองจัดกิจกรรมในแบบของตัวเอง
แล้ว Sacred Mountain Festival ก็เริ่มก่อรูปร่าง เมื่อวิจักขณ์เดินทางไปหาชนินทร์ เจียรทัศนประกิต เพื่อนที่ทำงานอยู่ที่เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเขาตั้งฉายาให้เป็น Mr. Festival ค่าที่เพื่อนรักคนนี้มีบรรยากาศของเทศกาลลอยวนอยู่รอบตัวตลอดเวลา
“พื้นที่ของค่ายเยาวชนเป็นสถานที่ที่เราสามารถเชื่อมโยงกับความเป็นเชียงดาวได้ค่อนข้างชัดเจน แม่น้ำที่ไหลอยู่รอบๆ แล้วก็เราสามารถมองเห็นตัวดอยหลวงได้อย่างชัดเจน แล้วการได้เห็นดอยหลวงจากพื้นที่ของค่ายก็เหมือนกับว่ามันกำลังสื่อสารกับเรา เราก็รู้สึกว่าถ้าเราเอาดอยหลวงเป็นไอคอนของงานก็อาจจะใช้คำว่า Sacred Mountain คล้ายๆ กับเวลาที่คนอินเดีย คนทิเบต คนเนปาลมองภูเขาหิมาลัย มันก็จะได้เซนส์ของความเชื่อมโยงกับพื้นที่ มันจะมีเซนส์ของความศักดิ์สิทธิ์ในธรรมชาติ ถ้าเราเลือกจัดกิจกรรม เราอาจจะค่อยๆ พูดเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ในพื้นที่ที่เราเข้าไปอยู่มากขึ้น” ชนินทร์เล่า
ด้านวิจักขณ์ก็เสริมว่า นอกจากจะเป็นต้นน้ำและมีดอยหลวงเชียงดาวเป็นแลนด์มาร์กสำคัญแล้ว เชียงดาวยังเต็มไปด้วยพลัง มีชุมชนท้องถิ่นที่น่าสนใจ อากาศเย็น รวมทั้งเป็นพื้นที่ที่เป็นจุดมุ่งหมายของคนที่สนใจเรื่องจิตวิญญาณหลายคน
อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ Sacred Mountain Festival ต้องย้ายสถานที่ไปจัดบนเกาะพะงันอยู่ 1 ปี แต่สำหรับวิจักขณ์ การที่ต้องโยกย้ายครั้งนั้นถือเป็นโอกาสที่เทศกาลของเขาและเพื่อนๆ จะย้อนไปหาจุดกำเนิดจริงๆ นั่นคือเกาะพะงัน สถานที่ที่บทสนทนาเรื่องการจัดเทศกาลทางจิตวิญญาณระหว่างวิจักขณ์และชนินทร์ได้เกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อน
เพราะความศักดิ์สิทธิ์มีอยู่ทุกที่
ที่ผ่านมา คนไทยเรามักจะมองว่าความศักดิ์สิทธิ์เป็นเรื่องของครูบาอาจารย์หรือบุคคลที่ได้รับความเคารพนับถือเท่านั้น แต่สำหรับกฤตยาและเพื่อนร่วมทีม Sacred Mountain Festival ความศักดิ์สิทธิ์มีความหมายกว้างกว่านั้น
“มันเป็นดนตรี มันเป็นการทำอาหารด้วยใจ มันเป็นการละเล่น เป็นอะไรที่มันกว้างไปกว่านั้นได้ ดังนั้น Sacred Mountain Festival ก็คือชวนให้สำรวจถึงวิถีทางจิตวิญญาณในแนวทางที่มันหลากหลายกว่า เหมือนขยับนิยามของความศักดิ์สิทธิ์ ของวิถีทางจิตวิญญาณให้มันกว้างขึ้น แล้วก็ให้มันสนุกขึ้น มีชีวิตชีวามากขึ้น” กฤตยากล่าว
Sacred Mountain Festival จะจัดขึ้นเป็นเวลา 5 วันต่อเนื่องกัน ประกอบด้วยกิจกรรม 2 ประเภท ได้แก่ เวิร์กช็อปร่วมสมัย ที่สร้างการเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่การทำความเข้าใจตัวเองและคนรอบตัว และพิธีกรรมแบบโบราณหรือแบบชนพื้นเมือง ที่จะพาผู้เข้าร่วมงานไปเชื่อมโยงกับจิตวิญญาณของธรรมชาติ ที่อยู่ในภูเขา ก้อนหิน ต้นไม้ หรือแม่น้ำ
“เทศกาลนี้มันมีความน่าสนใจตรงที่มันเหมือนรวมทุกมิติของชีวิตเข้ามา ยิ่งเรื่องจิตวิญญาณ เรามองว่าด้านที่มักจะหายไปก็คือด้านของความสนุกสนาน ความรื่นรมย์ ความมีสีสัน ดนตรี อาหาร เครื่องดื่ม ซึ่งมันเหมือนเป็นการเฉลิมฉลอง เป็นการผ่อนคลาย ปลดปล่อยความเครียด และอะไรที่ประทับใจหรืออยู่ในเนื้อตัวเรา มันก็จะออกมาเป็นพลังงานในงานเลี้ยง ว่ามันคือความสุข ความรื่นรมย์ การให้ การแบ่งปัน”
“จริงๆ แล้ว การปฏิบัติธรรมเองมันก็เป็นงานเทศกาล ชีวิตก็คือเทศกาล ชีวิตก็คือการเฉลิมฉลอง การเดินทางทางจิตวิญญาณก็เป็นการเฉลิมฉลอง บางคนอาจจะมองว่าการทำงานเรื่องจิตวิญญาณต้องจริงจัง ต้องทำงานกับตัวตน ต้องทำงานกับความทุกข์ แต่อีกด้านหนึ่ง ทั้งหมดที่เราเดินทาง ทั้งหมดที่เรามาอยู่ในโลก มันก็คือส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลอง อะไรที่เราได้มา เราก็แจกจ่าย อะไรที่เราเข้าใจ เราก็แบ่งปัน แล้วมันก็เป็น sense of joy ของการใช้ชีวิตอยู่ในโลก ซึ่งเราคิดว่ามิติแบบนี้อาจจะเป็นมิติที่มันเริ่มเลือนหายไปในการมองเรื่องจิตวิญญาณในบ้านเรา” วิจักขณ์กล่าว
ชุมชนทางจิตวิญญาณของทุกคน
กิจกรรมต่างๆ ใน Sacred Mountain Festival จะนำโดยเหล่า Magicians ที่มีความเชี่ยวชาญในศาสตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับจิตวิญญาณหลากหลายรูปแบบ และทุกคนมีความศักดิ์สิทธิ์ในตัวเอง ซึ่งกฤตยายกตัวอย่างว่า ในเทศกาลนี้ คนที่ทำอาหารก็ไม่ใช่แค่แม่ครัว แต่เป็นคนนำเสนอความศักดิ์สิทธิ์ของอาหาร นักดนตรีก็นำเสนอความศักดิ์สิทธิ์ผ่านดนตรี คนที่มาจัดกระบวนการก็นำเสนอแนวทางการเข้าถึงความศักดิ์สิทธิ์ผ่านกระบวนการของตัวเอง ส่วนผู้ที่เข้าร่วมงานก็สามารถแบ่งปันแนวทางในการแสวงหาความศักดิ์สิทธิ์ของตัวเอง เหมือนเป็นตลาดวิชานั่นเอง
“จุดเด่นของ Sacred Mountain คือ มันเป็นพื้นที่ที่ทุกคนเป็นทั้งครู เป็นทั้งกระบวนกร เป็นทั้งนักเรียน สลับกันไปสลับกันมา แล้วก็แลกเปลี่ยนกัน”
“เราชวนให้ทุกคนที่มา มาเป็นผู้ร่วมสร้างด้วย มาเป็น co-creator ด้วย เราสามคนรวมถึงทีมงาน รวมถึง magicians เป็นผู้ริเริ่ม ธีมต่างๆ ก็เหมือนเราจุดเริ่มขึ้นมา แล้วคนก็ขยายมันต่อ วันแรกๆ เรามีนักดนตรี วันต่อๆ ไป ก็จะเริ่มมีนักดนตรีคนอื่นๆ มาร่วมแจม มีเด็กที่มาบอกว่าหนูเป็นนักเล่านิทาน อยากมาเล่านิทาน พาไปเดินดูแม่น้ำ พาไปดูดาว ธีมที่เรานำเสนอในงานมันเหมือนตัวจุดประกาย เราก็ชวนให้คนร่วมกันฝันต่อ ร่วมกันออกแบบต่อ ร่วมกันค้นหาต่อ เพราะฉะนั้น เทศกาลนี้มันไม่ใช่แค่กิจกรรม 5 วันนั้น มันคือการเคลื่อนไหวทั้งหมด ทั้งก่อนและหลัง ทั้งชุมชนที่มันเกิดขึ้นต่อกันมา” กฤตยากล่าว
ความเป็นชุมชนอันอบอุ่นของผู้ที่มีเจตจำนงใกล้เคียงกัน ก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของ Sacred Mountain Festival ที่เราไม่อาจหาได้จากเทศกาลทางจิตวิญญาณอื่นๆ ซึ่งถึงแม้ว่าเทศกาลจะจบลง แต่กลุ่มคนเหล่านี้ก็ยังคงมีความสัมพันธ์กัน รอเวลาที่จะกลับมาพบกันใหม่ เมื่อสัญญาณรวมพลมาถึง
“มันเหมือนกลายเป็นวิถีชีวิตไปแล้ว มันกลายเป็นเทศกาลที่สำคัญและมันขาดไม่ได้ คล้ายๆ กับวันปีใหม่ วันคริสต์มาส เรารู้สึกว่ามันมีศักยภาพในการเป็นเทศกาลที่ไม่ว่าคุณจะทำอะไรก็แล้วแต่ในชีวิต แต่พอถึงช่วงเวลานี้แล้ว ทุกคนก็พร้อมที่จะโคจรกลับมาตามวิสัยทัศน์ต่างๆ ที่ถูกสร้างมา ผมคิดว่าวิสัยทัศน์ของมันคือพลังที่จะเรียกคนกลับมาร่วมเดินทางกับเรา” ชนินทร์กล่าว
แด่จิตวิญญาณอันบริสุทธิ์เพียงหนึ่งเดียว
เมื่อถามถึงวิสัยทัศน์ที่ทีมผู้จัดงานอยากจะเห็นจาก Sacred Mountain Festival วิจักขณ์ตอบว่า
“งาน Sacred Mountain จะกลายเป็นสัญลักษณ์ของจิตวิญญาณที่หยั่งรากอยู่ในผืนแผ่นดิน อยู่ในผู้คน และเป็นเหมือนกับต้นน้ำที่เราสามคนช่วยกันรักษาความบริสุทธิ์ ไม่ใช่แค่เรื่องการตลาด ชื่อเสียง ค่าตอบแทน แต่เป็นการที่คนเราทำงานกับตัวเองถึงระดับหนึ่ง แล้วกลายเป็นช่องทางในการเชื่อมต่อกับธรรมชาติ ผู้คน ความทุกข์ สถานการณ์ต่างๆ”
วิจักขณ์กล่าวว่า ขณะที่เขาและทีมงานพยายามผลักดันเรื่องการเรียนรู้ สร้างชุมชนที่มีความหลากหลาย อีกด้านหนึ่ง เขาก็รู้สึกว่าพวกเขากำลังกลับไปหาความหมายของจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ที่เป็นสภาวะหนึ่งเดียว
“จิตวิญญาณที่บริสุทธิ์ก็จะเป็นคุณสมบัติของความรัก ความเมตตา ความกรุณา สันติภาพ เพื่อมนุษยชาติ อะไรก็ตามที่มันคือจิตวิญญาณ ไม่ว่ามันจะแปรรูปไปในบุคคลไหน วัฒนธรรมไหน ถ้ามันเป็นอะไรที่บริสุทธิ์ มันก็จะรู้สึกถึงรสชาติเดียว แล้วมันก็เชื่อมโยงกันได้ในที่สุด มันข้ามพรมแดน ข้ามภาษา ข้ามตัวตน” วิจักขณ์ปิดท้าย
Writer
ณัฐธยาน์ ลิขิตเดชาโรจน์
บรรณาธิการและแม่ลูกหนึ่ง ผู้เรียนรู้ความเป็นมนุษย์ผ่านการเติบโตของลูกชาย มีหนังสือและเพลงเมทัลร็อกเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ และมีชีวิตอยู่ได้ด้วยกาแฟและขนมทุกชนิด
Photographer
ฉัตรมงคล รักราช
ช่างภาพ และนักหัดเขียน
illustrator
พรภวิษย์ เพ็งเอียด
ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม