ทำความเข้าใจ ‘จิตตปัญญา’ วิธีสำรวจการทำงานของภาวะภายในจิตใจ เพื่อให้เท่าทันภาวะภายนอก

ทำความเข้าใจ ‘จิตตปัญญา’ วิธีสำรวจการทำงานของภาวะภายในจิตใจ เพื่อให้เท่าทันภาวะภายนอก

“เรารู้ว่าเรื่องจิตตปัญญาที่เรากำลังทำอยู่ มันเป็นเรื่องที่สวนกระแสสังคม” รศ.ดร. ลือชัย ศรีเงินยวง พูดถึงงานที่ตัวเองรับผิดชอบในฐานะผู้อำนวยการศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเข้าสู่ปีที่ 3 ในปีนี้

การอธิบายคำว่า จิตตปัญญา ให้เข้าใจอย่างแท้จริงไม่ใช่เรื่องง่าย การหยั่งรากเรื่องนี้ในจิตใจคนเพื่อให้รู้จักและนำไปใช้ในชีวิตจริงก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน ความท้าทายเหล่านั้นจึงยิ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา ซึ่งก่อตั้งมา 17 ปีแล้วนั้น ยิ่งต้องมุ่งทำเรื่องนี้ต่อไปและต่อเนื่อง

การตระหนักรู้ภาวะภายในเพื่อให้เท่าทันภาวะภายนอกเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่สามารถนำไปสู่การบรรเทาและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมทุกวันนี้ได้หลายต่อหลายเรื่อง เป็นการแก้ปัญหาที่อุดช่องว่างที่วิทยาการล้ำสมัยอาจไม่สามารถให้คำตอบได้ หรือในบางกรณี วิทยาการสมัยใหม่เองอาจเป็นต้นกำเนิดของปัญหาเหล่านั้น

เราอยากให้คุณใช้เวลาในการอ่านบทสัมภาษณ์ของ รศ.ดร. ลือชัย ชิ้นนี้ และค่อย ๆ คิดตามไปพร้อม ๆ กับเรา เพื่อให้เข้าใจแก่นของจิตตปัญญา เพราะการนำแนวคิดนี้ไปปฏิบัติ อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตคุณได้

เก่งแต่ทุกข์ พัฒนาแต่ทำลาย มั่งคั่งแต่ว่างเปล่า

“การเข้าใจจิตตปัญญาศึกษาเราต้องเข้าใจที่มา หากมองในฝั่งตะวันตก เขาได้พัฒนาการศึกษาในส่วนของการใช้ความคิด ความเก่ง ความสามารถในการวิเคราะห์ ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ความจริงภายนอก ในด้านหนึ่งก็เป็นประโยชน์มาก เพราะทำให้เราเข้าใจธรรมชาติหรือสิ่งต่างๆ มากขึ้น แต่สิ่งที่ตะวันตกพัฒนามาในช่วงราว 5 ศตวรรษ ซึ่งก็คือพัฒนาการของสิ่งที่เรียกว่าเป็นวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ตั้งแต่ประมาณศตวรรษที่ 16 พอถึงจุดหนึ่งมันเกิดการตั้งคำถามว่า ทำไมเรารู้จักธรรมชาติมากขึ้น เราควบคุมสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น แต่เราไม่ได้มีความสุขขึ้น”

“ถ้ามองลึกลงไปอีก จะเห็นว่าเริ่มมีการค้นพบว่า ความเชื่อเดิมที่ว่าเรารู้จักธรรมชาติ สามารถควบคุมธรรมชาติ เพื่อเอาธรรมชาติมารับใช้เรา นั่นคือคำตอบที่เราจะได้ไม่เจ็บ ไม่ตาย ได้มีอยู่มีกิน ซึ่งช่วงแรกความเชื่อนี้ดูเหมือนจะดี เพราะมันทำให้เรามีอะไรต่าง ๆ เพิ่มขึ้น มีสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่ตามมาก็คือ เกิดการเริ่มค้นพบว่า ท่ามกลางความพรั่งพร้อมทางวัตถุ คนมีความสุขน้อยลง และมีความทุกข์ที่ลึกลงไปเรื่องของมิติด้านจิตใจ”

“รูปธรรมที่เห็นชัดเจนในช่วงหลัง ๆ คือ ยิ่งรู้มาก กลับยิ่งทุกข์มาก สิ่งที่ตามมากับความเก่ง คือ อัตตา ตัวตน เกิดความยึดมั่น ถือมั่น ความเห็นแก่ตัว การเอารัดเอาเปรียบ แก่งแย่ง แข่งขัน ที่นำไปสู่ ความขัดแย้งในทุกระดับ ทิฐิของโลกที่มองว่าการพัฒนาคือการพัฒนาวัตถุ ทำให้การพัฒนาด้านในของมนุษย์ถูกละเลย ไม่ว่าจะในมิติของการศึกษา เศรษฐกิจ สุขภาพ และอื่นๆ ผลก็คือ การขาดความสมดุลระหว่างโลกภายนอกกับโลกภายใน เกิดจิตที่เป็นทาสวัตถุ บริโภคแบบล้นเกิน แก่งแย่ง กอบโกย เอาชนะ จนเป็นความเครียด ความขัดแย้ง การแข่งขัน  จนเป็นความขัดแย้ง ความรุนแรง การเอารัดเปรียบ ความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ ที่เราเห็นอยู่ในโลก ขณะที่ด้านในของชีวิต กลับมีจิตที่เคร่งเครียด ยึดมั่น ขณะเดียวกับเกิดความเปราะบาง อ่อนแอของจิต ในท่ามกลางความพรั่งพร้อมของวัตถุด้านนอก คนเริ่มเผชิญกับชีวิตที่ ไร้ความหมาย ว่างเปล่า เปลี่ยวเหงา ไม่อิ่ม ที่สืบเนื่องเป็นภาวะซึมเศร้า โรคทางจิตเวช การฆ่าตัวตาย ยาเสพติด ฯลฯ ทั้งหลาย

“โลกในช่วง 4-500 ปีที่ผ่านมา อยู่ภายใต้ทัศนะแม่บทตะวันตกที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์ เป็นทัศนะแม่บทที่เชื่อว่าความจริงที่แท้ในทุกสิ่งที่รวมความจริงที่มาของความสุขทุกข์  ค้นพบได้ด้วยการใช้เหตุผล และ วิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้หลักการประจักษ์กับประสาทสัมผัสหรืออายตนะเป็นเครื่องพิสูจน์ ทิฐิข้อนี้ ทำให้เราให้ความสำคัญกับความจริงภายนอก ขณะที่มองเรื่องของจิตใจเป็นอัตวิสัย ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ศาสนาทั้งหลายเป็นเรื่องของศรัทธา ความเชื่อที่ปิดบัง ครอบงำ ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงความจริงที่แท้  ศาสนาเป็นเรื่องของความเชื่อ ความงมงาย ไม่เป็นวิทยาศาสตร์  เมื่อวิทยาศาสตร์ตะวันตกเดินมาในลักษณะที่ปฏิเสธเรื่องศรัทธา ปฏิเสธเรื่องด้านในจิตใจ การศึกษากระแสหลักจึงเป็นแบบที่เห็นกันอยู่ในทุกวันนี้ นั่นคือ เห็นโลกเป็นส่วนๆ ไม่เห็นความเชื่อมโยงสัมพันธ์ของตัวเองกับคนอื่นและสรรพสิ่ง  รู้จักทุกอย่างยกเว้นตัวเอง เก่งแต่ทุกข์ พัฒนาแต่ทำลาย มั่งคั่งแต่ว่างเปล่า ฯลฯ

การศึกษาที่ไม่ได้มาจากการท่องตำรา

“ในทางกลับกัน การศึกษาทางตะวันออกของเรามีแนวคิดที่ว่า การศึกษาที่แท้ไม่ได้มาจากการท่องตำรา ไม่ได้มาจากการรู้โลกข้างนอก การศึกษาที่แท้คือการกลับมาที่การเห็นความจริงภายใน เพราะความจริงด้านใน คือตัวกำหนดสุขทุกข์ และกำหนดความจริงภายนอก ดังที่หลวงพ่อพุทธทาสท่านอธิบายว่า ทุกอย่างเป็นเพียงการรับรู้ของจิต หรือ โลกหรือ world ก็คือความจริงที่ปรากฏกับตาหูจมูกลิ้นกายใจเรานี่เอง โลกจะเป็นอย่างไร ก็ขึ้นกับจิตรับรู้โลกอย่างไร จิตที่ฉลาดก็จะรับรู้โลกตามความเป็นจริง จิตที่โง่กับรับรู้โลกที่ผิดพลาด ความฉลาดหรือโง่ ในการรับรู้โลกของจิต คือที่มาของสุข ทุกข์ ทั้งปวง

”ความจริงภายในหรือจิตนี้ เป็นสิ่งที่วิทยาศาสตร์ตะวันตก มองว่าเป็นอัตวิสัย ไม่ใช่ความจริงแท้ เพราะพิสูจน์ จับต้องเชิงประจักษ์ไม่ได้ แต่เมื่อโลกเผชิญกับวิกฤตินานับประการ ซึ่งเกิดสวนทางกับความมั่งคั่งล้นเกินทางวัตถุ จึงเกิดการกลับมาเห็นความสำคัญของมิติด้านใน ในโลกตะวันตก ความสนใจในภูมิปัญญาตะวันออกและภูมิปัญญาศาสนาตะวันออก แพร่หลายขึ้น พร้อมๆ กับที่วิทยาศาสตร์ใหม่อย่างควอนตัมฟิสิกส์ ก็ตอกย้ำในความจริงข้อนี้  

“คำว่า Contemplative Education ที่เราใช้ภาษาไทยว่า จิตตปัญญาศึกษา เกิดจากโลกตะวันตก กล่าวอย่างง่ายๆ เกิดเพราะการเห็นว่า การศึกษา ที่เน้นเรียนรู้โลกด้านนอก มันไม่เพียงพอที่จะแก้ทุกข์ ความเก่งความฉลาดที่ปราศจากความใคร่ครวญ รู้ตัว เท่าทันสิ่งที่เกิดขึ้นด้านใน ไม่เพียงทำให้ไม่รู้ความจริงที่แท้ แต่ยังเป็นเหตุของทุกข์ 

กล่าวอย่างง่ายๆ คือ การที่ทางตะวันตกไปสุดขั้วแล้วแต่ก็ยังเกิดทุกข์ การได้เรียนรู้อะไรมากมาย แต่ว่าไม่มีความสุข มันจึงกลับมาที่การเรียนรู้ที่ทำให้เกิดการศึกษาเรื่องนี้ ผมชื่นชมอาจารย์ผู้ใหญ่ที่ท่านแปลคำว่า Contemplative Education ออกมาเป็นคำว่า จิตตปัญญา นะ เพราะทั้งสองคำนี้คือหัวใจ จิตที่มีคุณภาพ ถูกฝึกดีแล้ว จะช่วยให้เกิดปัญญาเห็นความจริงที่แท้  เป็นความจริง อย่างที่มันเป็น ที่ไม่ใช่ความจริงเฉพาะด้านนอก  หรือความจริงที่จิตปรุงแต่งโดยไม่เท่าทัน 

“พอมาถึงจิตตปัญญา เราเลยพูดถึงเรื่องที่ว่า เราจะมีภาวะภายในที่ฉลาดเท่าทันในการเกี่ยวข้องกับภายนอกได้อย่างไร มันจึงแบ่งออกเป็น 2 เรื่อง เรื่องแรกคือปัญญาที่จะเห็นความจริง กับเรื่องที่สองคือการมีสติที่เราจะได้รับรู้ความจริงอย่างถูกต้อง ดังนั้น จิตตปัญญาจึงหมายถึงการมีความรู้ในสิ่งต่างๆ อย่างถูกต้องและการมีสติที่พร้อมจะนำความรู้ที่ถูกต้องมาใช้”

“ที่ต้องเป็นทั้งสองเรื่อง นั่นเป็นเพราะถ้าเรามีสติ รู้ตัว และพร้อม จะทำให้เห็นความรู้ในความจริงที่ชัดขึ้น ทำให้เกิดการนำความจริงที่ถูกต้องมาใช้มากขึ้น ถ้าไม่มีสติ ปัญญาจะไม่ถูกนำมาใช้ แต่ถ้ามีปัญญาแล้วไม่มีสติ มันก็จะเหมือนเวลาที่คนเก่ง ๆ เรียนรู้เรื่องราวมากมาย แต่เมื่อเจอสถานการณ์ง่าย ๆ แล้วจัดการไม่ได้”

“ผมใช้คำง่าย ๆ ว่า สมาธิคือสติหรือความรู้ตัวที่ต่อเนื่อง ความต่อเนื่องตรงนี้จะทำให้เกิดการพิจารณาเรื่องราวต่าง ๆ ที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นจิตตปัญญาจึงเป็นเรื่องของสติและปัญญา ปัญญาเฉย ๆ ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ หากไม่มีกระบวนการของสติที่จะเข้ามาครุ่นคิดใคร่ครวญ แต่ถ้าเราเอาสติหรือสมาธิเข้าไปเพ่งหรือพิจารณา ก็จะเกิดปัญญามากขึ้น”

“ผมว่าคำนี้มันมีความลึกซึ้งในความหมาย ฝั่งทางตะวันตกสร้างเรื่องนี้ขึ้นเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตการศึกษาที่เน้นความเก่งมากเกินไป ส่วนของเราพอแปลว่า จิตตปัญญา ผมว่ามันเข้าไปปรับพื้นฐานเลย คือการมองว่าจะแก้ความทุกข์ต่าง ๆ จะต้องมีความรู้ที่ถูกต้องต่อตัวปัญหา และความรู้ที่ถูกต้องจะเกิดขึ้นได้เมื่อเกิดสติ เพราะฉะนั้น คำว่า จิตตะ ในที่นี้จึงหมายถึง สติ สมาธิ หรือภาวนา ซึ่งไม่จำเป็นต้องบอกว่าศูนย์จิตตปัญญาเป็นผู้สอนเรื่องนี้นะ แต่ธรรมชาติของการเกิดความรู้ที่ถูกต้อง และมีสภาวะจิตที่พร้อมจะนำความรู้ที่ถูกต้องมาใช้ มันเป็นเรื่องของทุกคน ศูนย์จิตตปัญญาศึกษาเป็นเพียงกลไกหนึ่งที่พยายามทำเรื่องนี้ให้คนได้รู้ต่อ ๆ กัน”

ปัญญาที่มาจากการเห็น ‘ทุกข์’

“ก่อนหน้าจะมาเป็นผู้อำนวยการที่ศูนย์นี้ ผมสอนวิจัยอยู่ที่คณะสังคมศาสตร์ คนมักจะคิดว่าวิจัยเท่ากับ Scientific Method แต่วิจัยในความหมายที่เราไม่ค่อยเข้าใจกันที่ปรากฏในงานของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ก็คือ วิจัยที่มาจากคำว่า วิจโย ซึ่งเป็นคำไวพจน์ของคำว่า ปัญญา เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นวิจัยในความหมายนี้ก็คือกระบวนการที่เราจะใช้ปัญญาในการค้นหาความจริง ไม่ใช่สถิติ ไม่ได้พูดถึงแบบสอบถาม ซึ่งถือเป็นเรื่องแปลกมาก วิจัยที่มาจากคำว่า วิจโย นี้เป็นการทำอย่างไรก็ได้ที่จะค้นหาความจริง แล้วเอาความจริงเหล่านั้นไปแก้ปัญหา นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมได้รับเชิญมาทำงานที่นี่”

“แต่โดยส่วนตัวแล้วผมมองว่า คนที่จะสนใจเรื่องมิติแบบนี้ที่ดีที่สุดคือต้องเห็น “ทุกข์”  ถ้าไม่เห็นทุกข์ ก็จะไม่มาสนใจเรื่องนี้ หรือถ้าเห็นทุกข์แล้วรู้สึกว่ามีคำตอบอย่างอื่น ก็จะไม่มาทางนี้เช่นกัน เราทุกข์ เราเหงา เรารู้สึกว่าชีวิตไม่สนุกสนาน ไปเที่ยวไหนก็แล้วแต่ แต่ก็รู้สึกว่ายังไม่หายเหงา หรือเหงาแล้วไปกินเหล้า กลับมานอนดึก ตื่นเช้า ปวดหัว แฮงก์อีก ถ้าเราสังเกตเรื่องนี้มากขึ้น เราจะรู้ว่ามันเป็นสภาวะที่เราไม่อยากมี ไม่อยากเป็นนะ เพราะมันคือภาวะความรู้สึกไม่เต็ม ไม่มีความหมาย ภาวะภายในพวกนี้จะเห็นได้ก็ต่อเมื่อสังเกต”

“แล้วเวลาเราพูดถึงทุกข์ คำว่า ทุกข์ นี่มีความหมายได้หลายระดับมาก ทุกข์จากการสูญเสียทรัพย์สิน คนรัก หรืออะไรก็ตาม แม้แต่การป่วยก็เป็นทุกข์แล้ว แต่มันมีทุกข์ที่ละเอียดมาก คือจิตใจที่ไม่อิ่ม จิตใจที่หมองเศร้า อย่างผมเองอยู่ในแวดวงวิชาการ ทุกข์อันหนึ่งที่เกิดขึ้นคือทุกข์เรื่องอัตตา ไม่ว่าเราจะเอาอัตตาไปทำร้ายเขา หรือเขาทำร้ายเราด้วยอัตตา มันจะทำให้รู้สึกโกรธ รู้สึกขัดข้อง ตรงนี้ถ้าไม่สังเกตก็จะไม่เห็น

“แต่ถ้าเราเห็น เราจะเริ่มต้นตั้งคำถามว่า มันเกิดขึ้นได้อย่างไร หลายครั้งถ้าเราไม่สังเกต เราจะไม่เห็นว่า เรากำลังใช้อัตตาไปทำร้ายคนอื่น หรือสิ่งที่เรากำลังพูดอยู่นี่ไม่ได้พูดให้สิ่งนั้นมันดีขึ้น แต่เราพูดเพื่อให้ตัวเราดีขึ้น ความสนใจส่วนตัวของผมก็คือ หลังจากที่เห็นความทุกข์แบบนี้และเฝ้าพิจารณาดูแล้ว ผมสนใจว่า มันมีคำตอบอย่างไรมากกว่าการเห็นเขาเจ๋งแล้วเราต้องพยายามทำให้เก่งกว่าเขา หรือถ้าเขาจัดการกับเรา เราต้องจัดกับการเขา ประเด็นนี้ที่ทำให้รู้ว่า ถ้าเราเห็นทุกข์ละเอียดขึ้น เราจะกลับมาทำงานกับภายในจิตใจได้”

“ดังนั้น ถ้าเล่าโดยสรุป ผมสนใจจิตตปัญญาตั้งแต่ผมยังไม่รู้จักจิตตปัญญา เป็นความสนใจที่มาจากการเห็นความทุกข์ที่มันเกี่ยวข้องกับเรื่องด้านใน เกี่ยวกับอัตตาในตัวเรา บังเอิญผมไม่ได้มีเรื่องอื่นที่ทำให้ทุกข์มาก เรื่องอัตตาเป็นเรื่องใหญ่ พอความทุกข์ตรงนี้เกิดขึ้นก็พยายามคำตอบ แล้วค่อย ๆ เดินมาสู่ตรงนี้ ท้ายที่สุดแล้ว การมีสติรู้ตัวจะชี้ให้เห็นว่าตัวตนมันเกิดขึ้นตอนไหน เกิดขึ้นอย่างไร เราจะจัดการกับตัวตนอย่างไร ความรู้สึกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกหงุดหงิดรำคาญ ความไม่พอใจคนอื่น ความรู้สึกสูญเสีย มันเกิดขึ้นอย่างไร นี่คือการวิเคราะห์แล้วมันก็เป็นหลักการเรื่องจิตตปัญญาด้วย”

“จิตตปัญญาคือเรื่องของการมีสติที่จะมองเห็น ใคร่ครวญ และตื่นรู้ในหลายสิ่ง กระบวนการของงานที่เราทำเป็นเรื่องนี้ทั้งหมด นักศึกษาที่มาเรียนก็ได้เรียนเรื่องนี้ ซึ่งจะเรียกว่าเป็นหลักพุทธศาสนาก็ได้ เรียกว่าจิตวิทยาเชิงบวกก็ได้ ทีนี้พอต่อเนื่องมาถึงการนำมาใช้สอนเรื่องการวิจัย ปกติเวลาพูดถึงการวิจัย เรามักจะมุ่งไปที่ว่า ถ้าจะวิจัยให้ดีกว่าเดิมจะต้องเป็นอย่างไร โดยทั่วไปเรามักจะพูดถึงว่าการวิจัยจะต้องใช้วิธีนั้นวิธีนี้ แต่ทั้งหมดเป็นการวิจัยที่มองข้างนอกหมดเลย ไปดูเขา เอาเครื่องมือไปวัดเขา” 

“แต่สิ่งที่ลืมไปก็คือการเข้าใจคนอื่นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าเราไม่ได้รู้จักตัวเอง อย่างถ้าพูดถึงการวิจัยแบบวิทยาศาสตร์ คุณต้องเก่ง มีทฤษฎี มีตรรกะ มีเหตุ มีผล แต่ว่าวิจัยแบบตะวันตกไม่เคยบอกเลยว่า เวลาคุณทำวิจัย อีโก้คุณอยู่ตรงไหน ตัวทฤษฎีหรือเครื่องมือในการค้นหาที่คุณพูดมาทั้งหลาย ความจริงที่เราอาจไม่ทันสังเกตคือ หลายครั้งมันกำลังเป็นเครื่องแสดงและขยายตัวตนของเราทั้งนั้น

“ในหลักวิจัยจะมีคำอยู่ 3 คำ คือสิ่งที่ถูกรู้ (the known) วิธีการรู้ (the knowing) และผู้รู้ (the knower) ส่วนใหญ่เราจะพูดว่าสิ่งที่ถูกรู้คืออะไร ซึ่งสิ่งที่ถูกรู้มันมาจากวิธีการรู้ อย่างถ้าจะบอกว่าชีวิตของเด็กแว้นเป็นอย่างนี้ ก็อธิบายเป็นฉากๆ แต่ถามว่าคุณรู้ได้อย่างไรว่าเป็นเด็กแว้นเป็นแบบไหน คุณเคยเป็นเด็กแว้นหรือเปล่า ถ้าคุณไม่เข้าสู่กระบวนการ คุณจะไม่รู้จักเด็กแว้นหรอก การนั่งอยู่ริมถนนแล้วเฝ้าดูก็จะได้เห็นเด็กแว้นแบบหนึ่ง แต่การเข้าไปเป็นเด็กแว้น ก็จะเห็นอีกแบบหนึ่ง จะเห็นว่าความรู้เรื่องเด็กแว้นมันสำคัญกับตัววิธีการรู้ แต่วิธีการรู้ที่สำคัญก็คือตัวผู้รู้ หรือ The Knower นี่คือหัวใจ

“ปัญหาที่ผ่านมาในกระบวนการวิจัยก็คือ The Knower เป็นสิ่งที่ไม่ได้ถูกฝึก แล้วเราก็คิดกันไปว่า Knower ต้องเก่ง ต้องจบดอกเตอร์ ต้องเรียนปริญญามาหลาย ๆ ใบ แต่ที่จริง Knower นี่ตัวร้ายเลย เพราะมีอคติ มีความโลภ มีความโกรธ ซึ่งมันจะเกิดปัญหาเรื่องการวิจัยมากเมื่อเป็นแบบนี้” 

หยั่งรากเมล็ดพันธุ์เพื่อรอวันสร้างความเปลี่ยนแปลง

“หากมองย้อนไปที่การก่อตั้งศูนย์นี้ ท่านอาจารย์ผู้ใหญ่อย่างท่านอาจารย์ประเวศ วะสี คงต้องการให้เห็นเหมือนที่ทางตะวันตกเห็นว่า การศึกษากระแสหลักของเราเป็นการศึกษาที่เรียนรู้ภายนอก เน้นการมองออก แล้วเราก็ได้รู้ว่าการมองออก การเรียนรู้ภายนอก มองโลกเป็นส่วนๆ ไม่เห็นความสัมพันธ์พึ่งพิงอิงอาศัยกันของสรรพสิ่ง ทำให้เราได้คนเก่งแต่ทุกข์ เราได้ความรู้มากมายแต่ก็สร้างปัญหาให้กับสังคม เพราะฉะนั้นความรู้ตัวจึงมีบทบาทสำคัญมากที่จะสร้างความสมดุล

“ถ้าพูดถึงว่าหลักการพื้นฐานของชีวิตคือมีกายกับจิต มีนามกับรูป การศึกษากระแสหลักเน้นแต่เรื่องกาย เน้นแต่เรื่องรูป แล้วมองว่านามหรือจิตเป็นเรื่องนามธรรม ไม่ใช่เรื่องวิทยาศาสตร์ เราเน้นอยากได้เด็กเก่ง ๆ ที่ฉลาดมาก แต่มีปัญหาเรื่องจิตใจ ไม่แปลกที่เราจะเห็นหมอฆ่าตัวตาย หรือเห็นคนจบปริญญาเอก เกียรตินิยม แต่ว่ามีพฤติกรรมเป็นปัญหา 

“เพราะฉะนั้นเป้าหมายของศูนย์จิตตปัญญาศึกษา ถ้าให้อ่านใจผู้ใหญ่ก็คือ สังคมวิกฤตขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าใช้คำของท่านพุทธทาสภิกขุคือ การศึกษาเป็นแบบหมาหางด้วน หมายถึงมันไม่มีศีลธรรมในตัว ดังนั้น การที่ท่านอาจารย์ผู้ใหญ่เริ่มทำเรื่องนี้ขึ้น ต้องขอบคุณท่านที่มาก่อร่างให้เกิดการเติบโตในมหิดล เพราะมันเป็นเรื่องยาก แต่ท้ายที่สุดก็เกิดขึ้นได้

“แต่กระนั้นก็ตาม การทำเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เปรียบเทียบว่าพื้นที่นี้เป็นพื้นที่สำหรับปลูกต้นไม้ชนิดหนึ่ง ต้นไม้ชนิดที่เป็นเรื่องด้านใน มีความไม่ชัดเจน เป็นเรื่องการเติบโต เป็นเรื่องประสบการณ์ มองสิ่งต่างๆอย่างองค์รวม กลับมาที่พื้นฐานคือความเป็นมนุษย์ การศึกษานี้เราพูดถึงเรื่องการเติบโตด้านใน ซึ่งมันคือจิตใจที่ยกระดับมากขึ้น มีสติรู้ตัวมากขึ้น สงบเย็นลงกว่าเดิม เวลาเราพูดถึงเรื่องนี้ วิทยาศาสตร์กระแสหลักก็จะมีคำถามว่า คุณรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งนี้มันเกิดขึ้น หลักฐานอยู่ที่ไหน

“เพราะฉะนั้นเวลาเราทำวิจัยของเรา นักศึกษาจะมีประเด็นเยอะมาก เราบอกว่าเราพัฒนาแล้ว เราเกิดการเติบโตด้านในแล้ว ผู้ทรงคุณวุฒิทางการวิจัยก็จะถามว่า หลักฐานที่เป็นรูปธรรมอยู่ที่ไหน ถ้าบอกว่าสมาธิเติบโตมากขึ้น ลองวัดเป็นคลื่นสมองดูได้หรือเปล่า แต่เรื่องความดี ความงาม ความปิติที่เกิดขึ้น มันไม่ใช่เรื่องที่คนข้างนอกจะมารู้ เราบอกว่าเราเติบโตอย่างมั่นคง มีสติมากขึ้น เยือกเย็นขึ้น  คนส่วนมากก็ไม่เห็น อันนี้คือปัญหาใหญ่ของเรื่องนี้เลย

“ปีนี้เป็นปีที่ 17 แล้วของศูนย์จิตตปัญญาศึกษา เราก็เติบโตมาในทิศทางนี้ ซึ่งไม่ได้ง่าย แต่เราก็เห็นผลว่า สิ่งที่ศูนย์จิตตปัญญาทำแล้วไปหยั่งราก หรือไปปลูกไว้ในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างตัวนักศึกษา หรือผ่านโครงการหยั่งรากจิตตปัญญา มันทำให้เกิดการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลง เพียงแต่มันอาจจะไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงอย่างมหภาค

“เรารู้ว่าเรื่องนี้มันสวนกระแสสังคม เหมือนเราพูดถึงว่าสังคมกำลังมีความทุกข์ ความเหงา ความไม่เพียงพอ ตลาดตอบสนองเรื่องพวกนี้ได้ง่ายกว่า ชวนบริโภค ชวนเที่ยว ชวนกิน ชวนดูหนัง ชวนดู TikTok แต่การที่ทำให้คนหันกลับมาพิจารณาใคร่ครวญว่า ที่กำลังมีทุกข์ขณะนี้เกิดขึ้นจากอะไร เป็นเรื่องที่ยากมาก

“แต่ถ้าเรามองภาพใหญ่ โลกทั้งโลกกำลังวิกฤต การหาทางออกจากเรื่องความรุนแรง ซึมเศร้า ยาเสพติด หรือเรื่องอะไรต่าง ๆ มันปรากฏทั่วโลกจริง ๆ ยังไม่นับรวมเวลาเกิดวิกฤตอย่างสิ่งแวดล้อม การเมือง เศรษฐกิจทั้งหลาย แล้วเราจะอยู่กับวิกฤตอย่างไรให้มีทุกข์น้อยลง 

“การเกิดวิกฤตทำให้คนหันมามองเรื่องนี้ แม้จะยังไม่ใช่กระแสหลัก แต่กลายเป็นว่ามีอีกกระแสที่เกิดขึ้นก็คือกระแสมูทั้งหลาย ซึ่งกระแสมูก็คือกระแสนี้ แต่เป็นแบบที่ไปผิดทาง เป็นกระแสของการที่พยายามจะเอาเรื่องตัวบุคคล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทพต่าง ๆ หรือเรื่องพิธีกรรมเข้ามาเยียวยาด้านใน บ่งบอกถึงลักษณะของการที่หันมาสู่มิติด้านในหรือด้านจิตใจมันเกิดขึ้นตลอดเวลาท่ามกลางความทุกข์ที่เกิดขึ้น

“สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ทุกวันนี้ อาจเป็นสิ่งที่ยาก ถ้าพูดอีกทางหนึ่งจะบอกว่า การที่คนทุกข์ คนไม่มีความมั่นใจ ก็วิ่งไปหาหมอดู วิ่งไปหาร่างทรง ซึ่งมันไม่ใช่คำตอบสุดท้ายเลย เพราะคนก็ยังเอาจิตใจไปฝากไว้กับคนอื่น เอาจิตใจไปพึ่งเขา ต่างกับการกลับมาทำงานด้านจิตใจที่ทำให้เห็นว่า ความทุกข์ ความกังวลของเรา มันเกิดจากการมองเห็นความจริงต่าง ๆ ที่ผิดพลาด เหมือนเวลาเรามองความเจ็บป่วย ความเจ็บป่วยมีความเป็นธรรมดา เป็นเรื่องเช่นนี้ ไม่ช้าไม่นานเราก็ต้องเจอ ไม่ใช่เป็นเรื่องของการหนีหรือเอาชนะ แต่เป็นเรื่องการอยู่ร่วมกันกับสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร

“ดังนั้น การทำให้สังคมเกิดปัญญาและเห็นสิ่งต่าง ๆ อย่างถูกต้องมากขึ้นจึงเป็นหัวใจสำคัญ แต่การจะทำให้คนเกิดปัญญาได้เราต้องกลับมาที่มิติด้านใน คือถ้าเรามองข้างนอกก่อน การแก้ปัญหาเราก็จะแก้ที่ข้างนอก

“ยกตัวอย่างง่าย ๆ อย่างเรื่องรถติด ระหว่างการโกรธแล้วไปด่ารถคันอื่นกับการหันกลับมาที่จะมีสติรู้ตัว มองเห็นสิ่งต่าง ๆ ว่ามีเหตุ มีผล มีปัจจัยที่ทำให้เกิดสิ่งนั้น และวางใจให้ถูกต้องมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องของการไปด่า ไปเอาชนะเขา โลกจะเป็นแบบอีกแบบหนึ่งเลยนะ ท่าทีต่อกันก็จะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง สิ่งที่เราคิดว่าช้ามาก รถติดนานมากก็อาจจะเป็นการมองว่า นั่งอยู่ไม่นาน เดี๋ยวรถก็ไปแล้ว

“แต่เราเข้าใจว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายและเป็นเรื่องที่สวนกระแสมาก เพราะโลกและสังคมในขณะนี้มันไปทางทุกข์ ถึงแม้มันจะเจริญ พอเกิดทุกข์ ก็จะมีคนพยายามหาทางออก แต่ไปไม่ถูกทาง ลัทธิวิธีและกระแสมูต่างๆ จึงเกิด เราพยายามชวนคนไปในกระแสที่ถูกต้องมากขึ้น ให้เห็นความจริงที่เป็นความจริงแท้ และที่สำคัญคือการกลับมาด้านใน

“ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมที่จะสะท้อนเรื่องนี้ได้ สมมติว่ามีครอบครัวหนึ่ง มีพ่อ แม่ ลูก เป็นครอบครัวในเมือง ทุกคนกำลังเตรียมตัวที่จะไปทำงานตอนเช้า ลูกก็รอรถนักเรียนมารับ ขณะที่นั่งรอ ลูกบังเอิญทำกาแฟหกรดเสื้อ พอเกิดเหตุการณ์อย่างนั้น บรรยากาศที่มันเร่งรีบในตอนเช้าทำให้พ่อโกรธ พอโกรธลูก ลูกก็ร้องไห้ กับแม่ก็มีปัญหา พ่อก็บอกให้เอาลูกไปเปลี่ยนเสื้อผ้าเร็ว ๆ บรรยากาศตอนเช้ามีปัญหาไปหมด ลูกก็ร้องไห้ พ่อกับแม่ก็ทะเลาะกัน ออกมาอีกทีรถนักเรียนไปแล้ว ก็เลยต้องขับรถพาลูกไปโรงเรียนเอง เมื่อมีความโกรธ พอขับรถก็เกิดอุบัติเหตุ

“จากครอบครัวเดียวกัน ถ้าเปลี่ยนเป็นว่า พอกาแฟหก พ่อบอกลูกว่า อ้าว ทำหกเหรอ ทีหลังระวัง ไปเปลี่ยนเสื้อไป บรรยากาศก็จะเป็นอีกแบบ การไปทำงานก็อาจจะเร็วขึ้น ทันรถโรงเรียน หรือแม้แต่รถโรงเรียนมาแล้ว ไปไม่ทัน ก็ยังขับรถไปส่งลูกด้วยอารมณ์ปกติ เพราะฉะนั้นผลสุดท้ายจะต่างกันคนละเรื่องเลย

“ประเด็นของสถานการณ์นี้อยู่ตรงที่ว่า พอกาแฟหกแล้วมีท่าทีอย่างไร ภาษาพูดเรียกว่าผัสสะตอนนั้นเป็นอย่างไร เป็นผัสสะที่โกรธเพราะไม่ได้อย่างใจ แล้วมีท่าทีที่ไม่ถูกต้อง หรือมองว่ากาแฟหกเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้น

“เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าสิ่งที่เราอยากทำ  เราจะสร้างความพร้อมของคนที่จะดำเนินชีวิต โดยมีสติและมีปัญญาที่ถูกต้อง ซึ่งยากมาก เพราะชีวิตจริง ๆ เป็นชีวิตที่ไม่มีสติ

“โครงการหยั่งรากฯ มีมาตั้งแต่ก่อนผมเข้ามาทำงานที่นี่ ปีนี้เป็นปีที่ 6 แล้ว เป็นการทำงานกับกลับหลายพื้นที่ มีทั้งกลุ่มชุมชน นักศึกษา องค์กรต่าง ๆ แล้วตัวเนื้อหาของการทำงานก็คือการรับฟัง การมีสติ การสื่อสารที่ทำให้เกิดการรู้ตัว การฝึกให้รู้เท่าทันตัวเอง ซึ่งมีทั้งกิจกรรมและกระบวนการฝึกฝน

“ที่ผ่านมา โครงการนี้ก็สร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ถึงแม้ว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นจะไม่ได้หมายความว่า เปลี่ยนแล้วมันจะเปลี่ยนตลอด มันก็เหมือนการไปปฏิบัติธรรม วันแรก ๆ เรารู้สึกดีจังเลย แต่พอวันต่อ ๆ มา เราก็กลับมาที่เดิมอีกได้ 

“แต่ประเด็นของเราก็คือ ถ้าตัวความสงบเย็น ความรู้ตัว ความมีสติ เป็นเมล็ดพันธุ์​ที่อยู่ในตัวคนทุกคน แต่สิ่งเหล่านี้ถูกทำให้หายไป ถูกมองข้ามไป เหมือนกับว่าเราใช้ชีวิตทุกวันโดยที่เราทำไปแบบไม่รู้ตัว เราเดินไปกินข้าวแล้วเราผ่านอะไรบ้าง เราไม่รู้ตัวหรอกเพราะจิตไปอยู่ข้างนอก เพราะฉะนั้นการทำงานของเราคือการที่จะเอาสิ่งนี้ ความรู้ตัว ความมีสติ ความสงบเย็น ความเท่าทัน ที่เป็นเมล็ดพันธุ์ไปหยั่งอยู่ในที่ต่าง ๆ ทั้งในตัวบุคคล องค์กร และชุมชน

“เมื่อหยั่งเมล็ดพันธุ์แล้ว เราก็หวังว่ามันจะงอกงามขึ้นมาได้ ซึ่งตั้งแต่ปีแรกมาก็มีการพัฒนา ไม่ว่าจะหยั่งที่ไหนก็แล้วแต่ อย่างปีที่ผ่านมากับปีนี้เราไปทำงานกับมหาวิทยาลัยราชภัฏ เพราะเรามองว่าการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าเราไปทำงานกับอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฎ ให้เขาได้เข้าใจเครื่องมือนี้ในการพัฒนาตัวเอง เอาเครื่องมือนี้ไปสอนเด็ก ก็จะทำให้เราได้ครูที่มีคุณสมบัติอีกแบบ

“อีกกลุ่มที่เราทำงานด้วยคือวิทยาลัยพยาบาล เพราะว่าบุคลากรทางการแพทย์อย่างหมอ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่อื่น ๆ จะต้องทำงานกับผู้ป่วย ในการทำงานที่มีความขัดแย้งและปัญหามากมาย ทำอย่างไรที่จะเอาเมล็ดพันธุ์เหล่านี้เข้าไปหยั่งราก ทั้งกับหมอ พยาบาล หรือแม้กระทั่งคนเข็นเปล

“อีกส่วนที่เราทำก็คือการทำงานกับวิทยาลัยอาชีวะ ซึ่งถือว่าเป็นเด็กชายขอบของการศึกษา เขาก็จะมีปัญหาของเขาอีก เพราะฉะนั้นเราก็เลยหวังว่าการที่เราไปหยั่งรากตรงนี้ เมล็ดพันธุ์นั้นก็จะค่อยๆ ขยายออกไป”

เมล็ดพันธุ์ในวันที่สร้างความเปลี่ยนแปลง

“เราเห็นภาพขึ้นเรื่อยๆ นะ อย่างปีนี้ที่ไปทำกับมหาวิทยาลัยราชภัฏ เราสร้างที่อาจารย์ อาจารย์ก็จะเปลี่ยน หรืออย่างปีที่แล้วเราทำงานกับโรงเรียนเทศบาล ทำเรื่องเด็กนอกระบบ เพราะโรงเรียนเทศบาลก็เป็นเหมือนโรงเรียนของเด็กชายขอบทางการศึกษาเหมือนกัน แล้วก็ทำงานกับเด็กในชุมชนด้วย

“เวลาเราไปหยั่งรากมิติจิตตปัญญาในครู เทคนิคสำคัญคือการรู้ตัว การรับฟังอย่างลึกซึ้ง การสร้างพื้นที่ปลอดภัย รวมถึงการเข้าใจเรื่องอำนาจ พอครูได้เรียนรู้เรื่องนี้มากขึ้น ตัวครูก็เปลี่ยน เมื่อครูไปทำงานเด็ก ท่าทีที่เคยทำงานกับเด็กก็เปลี่ยนไป จากครูที่เคยตัดสิน เคยชี้นิ้วใส่ เวลาเด็กมาสายหรือไม่ส่งงาน ครูก็จะฟังและมีท่าทีใหม่

“เมื่อท่าทีเปลี่ยน เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเด็กที่ครูไม่เคยได้ยินก็จะปรากฏ คราวนี้ครูจะเห็นปัญหาที่ลึกขึ้น เด็กบางคนมาโรงเรียนแล้วไม่มีความสุขเลยเพราะมีปัญหาความรุนแรง มันก็ไปปรับความสัมพันธ์ พอปรับความสัมพันธ์ได้ก็จะส่งผลต่อเด็ก โดยเด็กก็จะมีท่าทีเปลี่ยน นี่คือกระบวนการที่เราทำ

“อย่างในสถาบันราชภัฏที่เราทำงานงานด้วย อาจารย์เปลี่ยน นักเรียนที่ได้สัมผัสอาจารย์คนนั้นก็เปลี่ยนไป หรืออย่างไปเปลี่ยนผู้บริหารอาชีวะ ก็ทำให้อาจารย์ในนั้นเปลี่ยนก็มี หรืออย่างพอไปทำงานกับฝ่ายกิจการนักศึกษา เวลาฟังเด็กที่มาขอความช่วยเหลือ ท่าทีของการช่วยเหลือกันนั้นก็เปลี่ยนไป

“การเปลี่ยนแปลงที่เราเห็นมันมีหลายระดับ การที่เราเอาเรื่องนี้ไปหยั่งรากในคนแต่ละที่ก็ไม่ได้แปลว่าจะได้ทุกคนนะ อย่างเราไปทำที่โรงเรียนเทศบาลทั้งหมด 9 โรงเรียน เราได้มาทั้งหมด 20 กว่าคน คนจำนวนนี้ก็จะค่อย ๆ สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อไป 

“อย่างครูที่เคยเป็นครูฝ่ายปกครองที่ดุมาก เขาก็เปลี่ยน พอตัวเขาเปลี่ยน เพื่อนครูก็เปลี่ยน นักเรียนก็เปลี่ยน แล้วจริงๆ แล้วมันไม่ได้เปลี่ยนแค่ตัวเพื่อนร่วมงานและนักเรียนนะ แต่เปลี่ยนไปถึงครอบครัวด้วยก็มี 

“ตัวอย่างที่น่าสนใจคือพนักงานเปลในโรงพยาบาลที่นครสวรรค์ ยุทธศาสตร์ของเราคือต้องเปลี่ยนจากสิ่งที่เปลี่ยนได้ก่อน อย่างหมอเขามักจะไม่สนใจ เพราะเขามีภารกิจอื่นที่เขามองว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก ส่วนอันนี้เขามองเป็นเรื่อง Soft Side เราเลยทำงานกับบุคลากรอื่น ๆ ด้วย อย่างเคสของพนักงานเปล พอเขาได้เรียนรู้เรื่องนี้ ท่าทีในการทำงาน ท่าทีในการสัมพันธ์กับคน ท่าทีในการให้บริการเปลี่ยนไปเลย 

“เพราะฉะนั้นเมล็ดพันธุ์พวกนี้พอไปเปลี่ยนที่ใจคน มันไปเปลี่ยนที่ความสัมพันธ์ พอความสัมพันธ์เปลี่ยน ก็จะสามารถสร้างสังคมใหม่ได้ ความสุขและความเกื้อกูลก็จะเกิดขึ้น”

มิติความทุกข์เท่ากับโอกาสในการหยั่งรากความเข้าใจ

“การเอามิติเรื่องจิตตปัญญาเข้าไปหยั่งรากนี้ ต้องบอกว่าในด้านหนึ่ง มิติด้านความทุกข์ของสังคมเป็นโอกาสให้เราทำงาน สังคมกำลังมีปัญหามากมายไปหมด แต่ความทุกข์เหล่านี้ ถ้าเรามองในแง่การตลาดก็เหมือนมีดีมานด์ที่ให้เราทำงานด้วย

“แต่ประเด็นคือ ความทุกข์ทั่วไปนี่ก็มีตลาดที่เป็นภาคธุรกิจที่ดึงดูดคนเหล่านี้ไปด้วย อย่างกระแสมูทั้งหลาย หรือการกระตุ้นให้คนบริโภคสิ่งต่าง ๆ ซึ่งก็คือการตอบโจทย์ความทุกข์ของคน ทุกข์มากก็ใช้วิธีบริโภคมาก เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำมันคือหนทางหนึ่งที่จะแก้ปัญหาสังคม แต่มันต้องต่อสู้กับอะไรเยอะมาก ยากที่จะทำให้คนที่มีทุกข์ แต่ไม่รู้จักทุกข์มาสนใจเรื่องนี้

“โครงการนี้เป็นการได้ใช้สิ่งที่เรามีไปปฏิบัติกับคนอื่น ๆ มันค่อย ๆ ชัดเจนขึ้นตลอดเวลาว่าเราทำไปทำไม แต่สิ่งที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่พยายามทำโดยส่วนตัวก็คือ ผมพยายามที่จะมีเซนเซอร์ส่วนตัวที่บอกว่า หลักการทั้งหลายเรื่องสติ เรื่องความรู้ตัว เรื่องของการไม่ตกเป็นเหยื่อของอารมณ์ทั้งหลาย มันเกิดขึ้นไหม เพราะบางทีเวลาเราทำงาน แต่ละวันเราจะรู้เองว่า อารมณ์เราเป็นอย่างไร วันนี้เราพลาดตรงไหน มันเป็นสิ่งที่เรารู้ตัวหมดเลย

“ละเอียดกว่านั้นหน่อยก็คือว่า เราจะรู้ตัวว่าช่วงนี้ภาวะข้างในของเราเป็นภาวะเบิกบาน ซึมเซา หดหู่ หรือสับสน ถ้าเรามองตัวเอง เราก็จะเห็นเรื่องพวกนี้ ผมมองตัวเองโดยมีเซนเซอร์ที่บอกนี้ ตื่นเช้าขึ้นมาก็จะดูว่าจิตเราเป็นอย่างไร มันมีความขุ่นมัวหรือกังวลหรือเปล่า 

“ดังนั้น สิ่งที่เป็นก็คือผมพยายามฝึก ดู และแก้ การแก้คือพอเราเห็นว่าเป็นอย่างไร เราก็จะเตือนสติตัวเอง หรือถ้ามีโอกาสก็ต้องไปฝึก หากทำได้ ผมจะไปฝึกแบบเข้มข้น ส่วนใหญ่จะไปที่สวนโมกข์ แต่ถ้าไม่ได้ไปที่นั่นก็จะฝึกด้วยการปฏิบัติเอง ด้วยการภาวนา เป็นอานาปานสติธรรมดา

“ถามว่าการทำแบบนี้ทำให้ทุกข์น้อยลงไหม ตอบแบบนี้ดีกว่าว่าถ้าในภาวะปกติ มันทำให้เราทันน่ะ คือเราจะไม่ปล่อยให้สิ่งเหล่านี้เดินต่อ อย่างเวลามีความวิตกกังวลต่าง ๆ เกิดขึ้น พอทันปุ๊บ มันก็ไม่ลากยาวและรู้ว่าต้องจัดการอย่างไร ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องการจัดการกับตัวเองนี่ละ ถ้าเรามีเซนเซอร์ที่ดี ชีวิตก็จะปกติขึ้น มันจะไม่ไหลไปถึงขั้นที่เราขาดสติและไปทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง

“การมีเซนเซอร์ของตัวเองอย่างน้อยที่สุดเราจะไม่สร้างปัญหา พอเรามีสติ ผัสสะเราก็จะถูกต้อง พอผัสสะถูกต้องมากขึ้น ท่าทีที่เกี่ยวข้องต่อกันก็จะถูกต้องมากขึ้นตามไปด้วย นี่คือหลักการ พอเกิดการปะทะกัน เมื่อคนหนึ่งถูกต้องก็จะป็นพลังให้กับคนอื่นต่อไป สร้างมวลใหม่ขึ้นมาในสังคม”

Writer
Avatar photo
พนิชา อิ่มสมบูรณ์

นักเขียนที่ชอบบอกทุกคนอย่างภูมิใจว่าเคยเป็นครูอนุบาลและยังชอบเล่นกับเด็กๆ อยู่ แต่ชอบคุยกับคนทุกวัยผ่านงานสัมภาษณ์ ส่วนชีวิตอีกด้านเป็นโอตาคุกีฬาโอลิมปิกและการ์ตูนญี่ปุ่น

Photographer
Avatar photo
ชัชฐพล จันทยุง

หลงรักการบันทึกรอยยิ้มและความรู้สึกเป็นภาพถ่าย