จะเป็นปัญหาไหม ถ้าเด็กซึมซับเนื้อหาจากสื่อ (ไม่) เด็ก

จะเป็นปัญหาไหม ถ้าเด็กซึมซับเนื้อหาจากสื่อ (ไม่) เด็ก

เราอยู่ในยุคที่ ‘เด็ก’ เข้าถึงสื่อได้ง่ายและเร็ว เพียงแค่มีอินเทอร์เน็ต ไถฟีดติ๊กตอกไม่กี่วินาที คอนเทนต์ก็มีอยู่มากมายให้เลือกเสพ แต่เมื่อมันเข้าถึงง่ายเกินไป ก็ใช่ว่าเด็กๆ จะเจอคอนเทนต์ที่เหมาะกับช่วงวัยด้วยเช่นกัน ดังนั้นการมีสื่อสำหรับเด็กที่เหมาะกับพัฒนาการของพวกเขาจริงๆ จึงสำคัญ ทว่าเมื่อเราพูดกันถึง ‘สื่อเด็ก’ ที่เป็นคอนเทนต์ออริจินัล ผลิตมาเพื่อเด็กไทยโดยเฉพาะ ไม่รู้ทำไม เรากลับแทบจะไม่ค่อยเห็นมันชัดๆ อย่างเป็นรูปธรรมเท่าไหร่ แถมบางรายชื่อสื่อเด็กที่พอนึกออก ก็น่าตั้งคำถามอีกว่า สารที่ใส่ลงไปในสื่อเหล่านั้น มันเข้ากับเด็กยุคนี้จริงไหม? เพราะบางครั้งโลกภายนอกที่พวกเขาได้สำรวจมันด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะจากประสบการณ์ที่เห็นผ่านตาในชีวิตประจำวันหรือเห็นมันจากโลกออนไลน์ ดูจะกว้างไกลกว่าสิ่งที่สื่อพยายามสโคปไว้ให้เสียอีก

หรือความจริงแล้ว ประเทศไทยเราไม่ได้ลงทุนจริงจัง หรือให้ความสำคัญกับสื่อสำหรับเด็กเท่าที่ควรกันนะ? 

คำว่าสื่อเด็ก จริงๆ มันค่อนข้างกว้าง และเป็นไปได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะการ์ตูน รายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ หนังสืออ่านเล่น หนังสือเพิ่มทักษะ จนถึงหนังสือเรียน ฯลฯ แต่ทั้งหมดมีจุดประสงค์เดียวกันคือทำเพื่อให้เด็กเสพ สิ่งที่น่าสนใจและเป็นพอยต์หนึ่งที่น่าตั้งคำถามมากๆ กับสื่อเด็กในไทย คือส่วนใหญ่แล้ว สื่อเด็กมักจะมีเนื้อหาในรูปแบบ ‘สอนใจ’ ในแบบไทยๆ เช่น ความกตัญญู ความมีน้ำใจ ความซื่อสัตย์ หรือเรื่องมารยาท ที่บางครั้งรูปแบบการนำเสนอที่เชพเด็กให้เป็น ‘คนดี’ ในรูปแบบของคนไทย ก็ไม่ได้ทำงานกับเด็กยุคนี้เท่าไหร่นัก เมื่อเราเห็นว่ากี่ปีๆ สื่อเด็กในไทยก็ปลูกฝังเรื่องราวประมาณนี้อยู่ (และบางครั้งบางชุดความคิดก็ส่งเสริมการมองคนไม่เท่ากันอีกต่างหาก) มันจึงทำให้ความหลากหลายที่เด็กควรจะได้เรียนรู้มีน้อยลง และเขาก็ต้องไปเรียนรู้เองจากสื่อที่ไม่เด็กกันเอาเอง ซึ่งอาจจะดีกว่าถ้าเราสอดแทรกถึงประเด็นที่หลากหลายเข้าไปให้เด็กตั้งแต่แรก ให้มันเป็นเรื่องปกติในพื้นที่สื่อกัน

หากเริ่มกันที่รายการโทรทัศน์ เราจะเห็นได้ว่ารายการสำหรับเด็กในไทย มีน้อยมากๆ ที่เป็นของไทยจริงๆ หากไม่นับว่าเป็นการ์ตูนลิขสิทธิ์จากประเทศอื่นๆ อย่าง ช่อง 9 การ์ตูน (ชื่อเดิมโมเดิร์นไนน์การ์ตูน) ที่หลายคนคุ้นเคย และโตมากับการ์ตูนเหล่านั้น ซึ่งหากมองดูรายชื่อการ์ตูนต่างๆ ที่ส่วนใหญ่จะเป็นของประเทศญี่ปุ่น ก็มักจะสอดแทรกความรู้ที่มีมากกว่าความสนุก เช่น เซเลอร์มูน ที่นอกจากจะสอนเรื่องความสามัคคีให้กับเด็กๆ ที่ดูจะไม่ต่างอะไรจากการ์ตูนออริจินัลของไทยบางเรื่องเท่าไหร่นัก แต่อาจารย์นาโอโกะ ทาเคอุจิ ก็ได้ใส่ความหลากหลายทางเพศเข้าไปผ่านตัวละครดังอย่าง เซเลอร์ยูเรนัสและเซเลอร์เนปจูนที่เป็นแฟนกันอย่างปกติธรรมดา ที่เราแทบจะไม่ได้เห็นในการ์ตูนเด็กไทยเลย 

หรืออย่างหนังอนิเมชันจาก Studio Ghibli ที่ตอนนี้ก็มีให้เด็กๆ ดูกันใน Netflix หลากหลายเรื่องก็แฝงแง่คิดบางอย่างเอาไว้เต็มเปี่ยม เรายกตัวอย่าง Ponyo ลูกสาวของเจ้าสมุทรที่อาศัยอยู่ในทะเล และมีครอบครัวที่พ่อแม่หวงจนไม่ยอมให้ออกไปไหนเลย ซึ่งเราจะได้เห็นการดิ้นรนเพื่อค้นหาสิ่งที่ตัวเธออยากจะเป็น อยากจะเรียนรู้ หลังจากหนีขึ้นบกมา แน่นอนว่า มันได้สอนให้เด็กๆ ไม่หยุดที่จะค้นหาตัวเองแม้จะอยู่ในครอบครัวที่เข้มงวด และสอนผู้ใหญ่ไปในตัวด้วยว่า การเลี้ยงลูกอยู่ในกรงไม่ได้เวิร์กสำหรับเด็กเสมอไป

กลับมาที่ของไทย เมื่อก่อนเราอาจจะผูกพันกับเจ้าขุนทอง คุ้นชินกับอนิเมชันก้านกล้วย แต่เมื่อเดินทางมาถึงยุคนี้ก็อาจจะไม่ได้สื่อสารกับเด็กรุ่นใหม่ๆ มากนัก และที่สำคัญ ขณะที่สื่อในต่างประเทศมีการ์ตูนมากมายให้เด็กเลือกดู แต่ของประเทศไทย ยังคงมีน้อยอยู่มาก และส่วนใหญ่เด็กก็ไปดูการ์ตูนของต่างประเทศกันอยู่ดี

“เด็กไม่ดูเพราะไม่มีรายการสำหรับเด็กหรือเปล่า รายการซุปเปอร์เท็น เคยทำสำรวจก็พบว่าเด็กดูรายการเยอะ นั่นแสดงว่าถ้าทำรายการได้น่าสนใจ เด็กก็ยังดู หลายคนกลับมาดูโทรทัศน์ช่วงที่มีละครบุพเพสันนิวาส แสดงให้เห็นว่าโทรทัศน์ไม่ได้หายไปจากสังคมไทย แค่ออนไลน์สะดวกต่อการเข้าถึง ดังนั้นถ้ามีรายการดีและน่าสนใจ ยังไงคนก็พร้อมเข้าไปดูไม่ว่าจะแพลตฟอร์มใด” ผศ.ดร.มรรยาท อัครจันทโชติ หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ซึ่งก็ตอบได้ชัดเจนว่าประเทศเรามีสื่อสำหรับเด็กน้อยไป

สื่อในรูปแบบ ‘หนังสือ’ ก็เป็นสื่อที่ส่งเสริมเรื่องพัฒนาการเด็กอย่างเห็นได้ชัด ในรายงานการศึกษา ค้นคว้า ข้อมูล บทรีวิว ทฤษฎี หลักการ และงานวิจัย จากโครงการพัฒนาหนังสือและการอ่านเพื่อสร้างรากฐานการเรียนรู้และสุขภาวะของเด็กไทย ได้ระบุถึงคำพูดของ ทาดาชิ มัตษุอิ (Tadashi Matsui) ปรมาจารย์ด้านหนังสือภาพสำหรับเด็กชาวญี่ปุ่น ที่เขากล่าวไว้ว่า เด็กสามารถเรียนรู้ภาษาได้จากหนังสือภาพดีๆ เด็กจะจดจำภาษาที่สละสลวย บทกวี ภาษาวิทยาศาสตร์ ผ่านการฟังหนังสือนิทานที่ผู้ปกครองหรือครูอ่านให้ฟัง การอ่านหนังสือนิทานให้เด็กฟัง จะทำให้เด็กมีคลังคำและคลังภาษา มีความแตกฉานทางภาษา และมีพัฒนาการทางสติปัญญาและสังคม

ซึ่งถ้ามองในหนังสือภาพประกอบที่เรื่องราวนำสมัย และเป็นที่พูดถึงมากก็คงหนีไม่พ้น หนูนิด กับ ป๋องแป๋ง 

เรายกตัวอย่างตอนนึงในชื่อ หนูนิดพูดไม่เพราะ ที่สะท้อนปัญหาการถูกเพื่อนแกล้งของเด็กๆ ซึ่งตัวละครหนูนิดเลือกใช้วิธีโวยวายเสียงดัง และด่าเพื่อนกลับด้วยคำหยาบ เพื่อให้ใครไม่กล้ามาแกล้ง ซึ่งเธอก็ได้สะระตะระหว่างทางว่าการพูดไม่ดีใส่เป็นเรื่องที่ผิดและไม่น่ารัก เพราะผู้ใหญ่สอนว่าเป็นเด็กต้องพูดเพราะและมีหางเสียง ซึ่งก็เป็นการสอนเด็กให้รู้จักพูดจาดีๆ กับเพื่อนและผู้หลักผู้ใหญ่ ซึ่งก็นับว่าเป็นการสอนเด็กที่ดี และดูจะไม่ได้ผิดอะไร แต่หากเรามองในความเป็นจริง ที่เด็กโดนบูลลี่กันมาก การสอนให้เด็กพูดเพราะกลับอย่างเดียว บางทีเด็กคนนั้นอาจจะยังถูกแกล้งอยู่ ซึ่งอาจจะดีมากขึ้นไปอีก ถ้ามีหนังสือภาพประกอบที่เล่าว่าเด็กคนนั้นแก้ปัญหาอย่างไรหากเจอคนบูลลี่ เช่น การมีครูเป็นที่พึ่ง รับฟังคำปรึกษา หรือการมีพ่อแม่คอยปลอบโยน เพื่อให้เด็กเห็นว่ายังมีคนคอยซัพพอร์ต เป็นต้น

หรืออย่างเรื่องการพูดเพราะ อย่างการใช้ค่ะหรือครับ อาจจะไม่จำเป็นต้องใช้เพราะฝ่ายตรงข้ามเป็นคนอายุมากกว่า แต่ถ้ามีการสอนหรืออธิบายเด็กว่ามันดูน่ารักกว่าถ้าเราจะพูดแบบนี้กับ ‘ผู้คน’ ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม และคนอายุมากกว่าก็ควรสามารถพูดเพราะกับเด็กได้ด้วย ไม่ใช่ว่าเด็กพูดเพราะ แต่ตัวเองไม่พูดเพราะ เนื่องจากรู้สึกว่าไม่จำเป็น ถ้ามีนิทานที่สอดแทรกเรื่องราวแบบนี้อาจทำให้เด็กเห็นถึงความเป็นมนุษย์ที่เท่ากันอย่างน่ารักก็เป็นได้ ซึ่งปฏิเสธได้ยากว่า สื่อไทยยังคงมีการแบ่งแยกเด็กกับผู้ใหญ่อย่างเห็นได้ชัด และค่านิยม เด็กต้องเคารพผู้ใหญ่ยังคงเข้มข้นมากๆ แม้ผู้ใหญ่บางคนจะไม่ได้น่ารักกับเด็กก็ตาม ซึ่งการปลูกฝังให้เด็กต้องเคารพผู้ใหญ่ทุกคนตลอดเวลา บางครั้งก็อาจนำไปสู่ปัญหาต่างๆ เช่น การล่วงละเมิดทางเพศที่ผู้ใหญ่แสวงหาผลประโยชน์จากเด็ก ดังนั้นเรื่องของการสอนเด็กเรื่อง ‘consent’ หรือความยินยอมพร้อมใจ ที่เด็กมีสิทธิ์ปฏิเสธผู้ใหญ่ ซึ่งสื่อต่างประเทศนิยมทำกันอยู่มากมาย ก็ควรจะมีในประเทศไทยด้วยเช่นกัน และควรพูดกันไปถึงเรื่องเพศศึกษาในหลักสูตรการเรียนการสอนด้วย

“ในเล่มหนึ่งชื่อเรื่อง “ป๋องแป๋งอยากรู้มีจู๋ทำไม” ก็เป็นประเด็นที่สอนเรื่องอวัยวะ สอนเรื่องเพศศึกษาให้กับเด็ก แรกๆ ก็มีดราม่าเพราะมองว่าไม่เหมาะสม แต่เมื่อเวลาผ่านไปผู้ปกครองก็ต่างรู้ว่า นี่คือสิ่งจำเป็นที่เด็กต้องรู้ และนิทานป๋องแป๋งช่วยอธิบายในสิ่งที่พ่อแม่ไม่รู้ว่าจะอธิบายอย่างไร” หมอน-ศรีสมร โซเฟร ผู้เขียนหนังสือชุดป๋องแป๋งกล่าว เพราะเรื่องของเพศศึกษาควรเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงกัน แม้จะเป็นเด็ก ซึ่งเราอาจจะไม่ได้พูดกันออกมาตรง ๆ แต่ผ่านหนังสือนิทาน ที่สอดแทรกเรื่องพวกนี้ จะทำให้เขาได้เข้าใจร่างกายมากขึ้นไปด้วย ซึ่งอย่างที่เราบอกว่า หากมีหนังสือที่สอนเด็กเรื่องร่างกายออกมาเยอะๆ พร้อมกับการสอนเรื่องสิทธิในร่างกายอย่างย่อยง่าย ก็จะทำให้เด็กเข้าใจเรื่องนี้ได้ตั้งแต่ยังเด็ก 

พอพูดถึงเรื่องเพศ ไม่ว่าจะอดีตหรือปัจจุบัน ในหนังสือแบบเรียนไทย ยังมีการแบ่งบทบาททางเพศอยู่ ไม่ว่าจะการสอนให้เด็กผู้หญิงรักนวลสงวนตัว แต่งตัวเรียบร้อย ทั้งที่จริงๆ แล้วมันคือสิทธิของผู้หญิง อย่างแบบเรียนภาษาพาทีก็วางคาแรกเตอร์คนแต่งตัวนุ่งน้อยห่มน้อยให้เป็นเด็กใจแตก ซึ่งเป็นการสร้างอคติทางเพศให้กับเด็กวัยประถมฯ เป็นอย่างมาก แถมยังไม่ได้สอนให้เด็กผู้ชายรู้จักให้เกียรติผู้หญิง หรือ LGBTQ+ ด้วยการไม่กลั่นแกล้งพวกเขา หนังสือบางเล่มยังไม่มีการอธิบายถึงความหลากหลายทางเพศ หรือปลูกฝังให้ LGBTQ+ รู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม

ในต่างประเทศมีสิ่งที่เรียกว่า ‘หนังสือหัดอ่านตามระดับ’ ที่หมายถึง หนังสือที่ถูกจำแนกตามความยากง่ายและมีการให้ระดับเป็นตัวเลข ตัวอักษร หรือสี โดยครูจะเป็นผู้จับคู่หนังสือให้เหมาะสมกับระดับการอ่านของเด็กแต่ละคน ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศนิวซีแลนด์ช่วงปีพ.ศ. 2493 เพื่อแก้ไขปัญหานักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ด้วยการจัดพิมพ์หนังสือแบบเรียนภาษาแบบใหม่แทนที่หนังสือแบบเรียนเดิมที่เลียนแบบมาจากแบบเรียนของประเทศอังกฤษ และมีการปรับการจัดการเรียนการสอนการอ่านให้สอดคล้องกับบริบททางสังคมวัฒนธรรม และการเรียนรู้ของเด็กนิวซีแลนด์

และหลังจากนั้นในหลายๆ ประเทศตะวันตกก็มีการใช้หนังสือหัดอ่านตามระดับเข้ามาช่วยในเรื่องพัฒนากระบวนการอ่านที่มีประสิทธิภาพให้เด็กๆ ซึ่งนอกจากจะได้ความรู้ทางภาษา ยังได้เข้าใจโลกในปัจจุบันผ่านการสอดแทรกประเด็นต่างๆ เข้าไปให้เด็กเรียนรู้ แต่ในไทยเราแทบจะไม่เห็นมันเลย แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีเลย (แต่ก็ควรมีเพิ่มขึ้นมากกว่านี้)

โครงการ อ่าน อาน อ๊าน เป็นชุดหนังสือหัดอ่านตามระดับสำหรับเด็กอายุ 3-8 ขวบ 21 เล่มแรกของประเทศเรา ความน่าสนใจคือการใช้วรรณกรรมมาเป็นสื่อให้ความรู้กับเด็กโดยที่สอดแทรกเรื่องราวแง่คิดที่เป็นประโยชน์ได้อย่างเป็นธรรมชาติและโมเดิร์น ทันยุค ทันสมัย เช่น การที่วรรณกรรมได้ใส่ตัวละครคุณอาที่เป็น LGBTQ+ ลงไปอย่างเรียบง่าย ไม่ได้ชี้ว่าเขาเป็นคนแปลกประหลาด แต่เป็นคนทั่วไปที่อยู่ในสังคม หรือการสร้างคาแรกเตอร์เด็กปกากะญอให้เป็นเด็กธรรมดาในไทย ซึ่งเมื่อเด็กๆ ได้อ่านแล้ว ก็จะเข้าใจความเป็นมนุษย์ผ่านความสนุกของหนังสือ

จากที่เล่ามาจนถึงบรรทัดนี้ จะเห็นได้ว่า ‘สื่อไทย’ สำหรับ ‘เด็ก’ ที่ให้แง่คิดสำหรับเด็กยุคนี้ได้อย่างทันโลกและเป็นสากลอาจจะมีไม่มากนัก และสื่อที่มีอยู่สำหรับเด็ก ก็น้อยเกินไป ซึ่งหากมองว่าเด็กเป็นอนาคตของชาติ การให้ความสำคัญกับสื่อเด็กมากขึ้น เพื่อช่วยพัฒนาเขาให้เติบโตมาอย่างดี นับเป็นสิ่งสำคัญ และถ้าประเทศเราทำให้สื่อเด็ก เล่าเรื่องสำหรับเด็กที่ทันสมัย มีความหลากหลาย และสื่อสารกับเด็กยุคนี้มากขึ้นที่มีความคิดความอ่านของตัวเอง อาจกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ในสายตาระดับโลกได้เลยนะ อยู่ที่ว่า ไทยจะให้ความสำคัญไหม และให้ความสำคัญมากขึ้นตอนไหนแล้วล่ะ แต่ตอนนี้เมื่อไม่มีสื่อสำหรับเด็กมากพอ เด็กจึงต้องไปเรียนรู้กับสื่อที่ไม่เหมาะสมกับช่วงวัย ซึ่งอาจทำให้เขาขาดความเข้าใจ และเกิดปัญหาตามมาได้เหมือนกัน

อ้างอิง:

รายงานการศึกษา ค้นคว้า ข้อมูล บทรีวิว ทฤษฎี หลักการ และงานวิจัย จากโครงการพัฒนาหนังสือและการอ่านเพื่อสร้างรากฐานการเรียนรู้และสุขภาวะของเด็กไทย 

https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2722266
https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/judprakai/1024748

Writer
Avatar photo
พัชญ์สิตา ไพบูลย์ศิริ

illustrator
Avatar photo
สิริกร พรอนงค์

ดีไซน์เนอร์, นักวาด และอาร์ตไดมือใหม่ที่ชอบไปทะเล

Related Posts

Related Posts