Recreate our play – เมื่อเด็กๆ ได้เป็น ‘ผู้สร้าง’ การเล่นด้วยตัวเอง

Recreate our play – เมื่อเด็กๆ ได้เป็น ‘ผู้สร้าง’ การเล่นด้วยตัวเอง

เดี๋ยวรื้อ เดี๋ยวสร้างใหม่

สิ่งที่เด็กๆ กำลัง ‘เล่น’ หรือ ‘สร้าง’ เปลี่ยนไปกี่รูปแบบ

คุณคิดว่า ‘การสร้าง’ เกิดขึ้นที่ไหน และคุณคิดว่าชิ้นส่วนเหล่านั้นทำหน้าที่อะไร

นี่คือคำถามส่วนแรกที่ชวนให้ผู้ใหญ่ได้ลองขบคิดและสังเกตการเล่นของเด็กๆ เมื่อก้าวเข้าสู่โซน 1A: Recreate our play ในงาน Relearn Festival 2024 

ย้อนกลับไปในวัยเด็ก เราต่างเคยหยิบชิ้นส่วนวัสดุเล็กๆ รอบบ้านมาลองประกอบ ต่อเติม จนได้ออกมาเป็นของเล่นที่มีเพียงชิ้นเดียว เอากิ่งไม้กับดอกไม้มาร้อยเป็นกำไล สร้างมอเตอร์ไซค์คันเล็กจากฝาขวดน้ำ เก็บใบไม้และหินที่หล่นอยู่ตามสวนมาวางต่อกันเป็นบ้าน และตัวเราเองก็ยังคงสนุกสนานและตื่นตาตื่นใจกับการได้ลองสร้างสิ่งใหม่ในทุกๆ ครั้ง 

ของเล่นเหล่านั้นล้วนเกิดจากชิ้นส่วนที่เคลื่อนย้ายได้ (Loose Parts) และการเล่นกับชิ้นส่วนเหล่านี้ก็นับเป็นแนวคิดหนึ่งของการเล่นอิสระ (Free Play) ที่จะช่วยเสริมสร้างจินตนาการให้กับเด็กๆ โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีผู้ใหญ่มาคอยชี้นำหรือบอกวิธีเล่น ซึ่งแนวคิดนี้เองที่เป็นต้นแบบไอเดียของทีม Imaginary Objects ในการออกแบบสนามเด็กเล่น Kitblox ซึ่งอยู่ในงาน Relearn Festival 2024 โซน 1A

ชิ้นส่วนหลากรูปทรงหลายสีสันกว่าร้อยชิ้น กระจัดกระจายรายเรียงอยู่บนพื้นที่ที่ให้เด็กได้มีอิสระในการคิด หยิบ ยก ประกอบ สร้าง และรื้อ ตามจินตนาการที่พวกเขามี เด็กๆ เพลิดเพลินไปกับ ‘Kitblox’ สนามเด็กเล่นไม่สำเร็จรูป ของเล่นที่มีขนาดใหญ่พอที่จะให้เด็กๆ หยิบยกไปสร้างสไลเดอร์ บ้าน เรือ ปราสาท หรือสะพาน ตามแต่ที่เขาต้องการจะรังสรรค์

ผู้ใหญ่อาจคุ้นเคยกับของเล่นสำเร็จรูปที่เพียงหยิบยื่นให้เด็ก พวกเขาก็พร้อมที่จะสนุกกับของเล่นชิ้นนั้นได้ในทันที แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้ใหญ่อาจลืมนึกไป คือเด็กๆ เองก็สามารถเป็นผู้สร้างและออกแบบการเล่นได้ โดยที่ผู้ใหญ่ไม่จำเป็นต้องคอยกำกับตลอดเวลา ขอเพียงแค่มอบโอกาสให้พวกเขามีเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่จะใช้สร้างจินตนาการในสมองให้ออกมาเป็นภาพจริงด้วยสองมือของตัวเอง เพียงเท่านี้ก็ช่วยเปิดโลกการเรียนรู้ให้เด็กๆ ได้แล้ว

ทะเลาะ คืนดี เล่นด้วยกัน เล่นคนเดียว ฯลฯ

มีความสัมพันธ์เกิดขึ้นกี่รูปแบบในช่วงเวลาหนึ่งที่เด็กกำลังเล่น

มีการต่อรองกี่รูปแบบที่คุณสังเกตเห็น

พื้นที่สนามเด็กเล่นแห่งนี้ ไม่ได้เป็นเพียง ‘พื้นที่เล่น’ อย่างเดียวเท่านั้น เพราะเมื่อผู้ใหญ่ได้ลองสังเกตการเล่นของเด็กๆ ก็จะพบว่า กว่ารถหนึ่งคัน บ้านหนึ่งหลัง จะก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างได้ จะต้องอาศัยความร่วมมือของเด็กหลายคนเพื่อช่วยกันหยิบ ยก รื้อ ประกอบ และออกแบบให้ชิ้นส่วนเหล่านี้ออกมาเป็นของเล่นที่พวกเขาคิดภาพเอาไว้ จนเกิดเป็นภาพ ‘พื้นที่ความสัมพันธ์’ ที่เราจะได้เห็นเด็กๆ พูดคุย ร้องขอ ต่อรองกันเพื่อที่จะได้เล่นอย่างสนุกสนาน

ผิดพลาด หกล้ม หงุดหงิด ไม่ได้ดั่งใจ

เด็กๆ มีท่าทีต่อความผิดพลาดเหล่านี้อย่างไร

แต่ละคนใช้เวลาเท่าไรในการลุกขึ้นใหม่อีกครั้ง

แน่นอนว่าการเล่นในสนามเด็กเล่นย่อมมีการกระทบกระทั่งกันเป็นเรื่องปกติ ผิดพลาดบ้างในบางครั้ง สื่อสารกันยากในบางเรื่อง แต่ถึงอย่างนั้นเราก็จะได้สังเกตเห็นท่าทีที่เด็กๆ รับมือกับเหตุการณ์เหล่านี้ในแบบที่แตกต่างกันไป อาจเป็นการร้องไห้ โวยวาย หัวเราะ เดินหนี หรืออยู่นิ่งๆ ตามแบบที่เขาอยากจะแสดงออกมา แต่เมื่อเวลาผ่านไป เขาจะค่อยๆ ลุกขึ้นและเดินกลับมาเล่นใหม่อีกครั้ง

ดังนั้น จะสังเกตได้ว่าการที่ผู้ใหญ่ปล่อยให้เด็กๆ ได้ใช้เวลาไปกับการเล่นอย่างเต็มที่โดยไม่ไปจำกัดอิสระหรือกำหนดขอบเขตที่มากจนเกินไป จะช่วยให้เด็กๆ ได้พัฒนาทักษะที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความคิดสร้างสรรค์ การสื่อสาร การเข้าสังคม การจัดการอารมณ์ ฯลฯ สิ่งสำคัญจึงไม่ใช่การตีกรอบเด็กเพื่อให้เด็กเสพการเล่นที่ผู้ใหญ่เป็นคนกำหนด แต่ผู้ใหญ่ควรเปิดใจและเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ลองสัมผัสกับความท้าทาย ได้ลงมือทำ และได้สำรวจการเล่นเพื่อค้นหาวิธีที่ใช่ในแบบของตัวเขาเอง 

เพราะพื้นที่แห่งการเล่น ไม่ได้จบแค่เรื่อง ‘เล่นๆ’ เสมอไป แต่พื้นที่นี้จะช่วยจุดประกายความคิด ต่อยอดการเรียนรู้ และสร้างสรรค์ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้กับเด็กๆ ต่อไปได้ในอนาคต

Writer
Avatar photo
ณัฐนรี บัวขม

มีชีวิตอยู่เพื่อดูคลิปตลก คีบตุ๊กตา และเดินหาร้านอร่อยในย่านบรรทัดทอง

Photographer
Avatar photo
ฉัตรมงคล รักราช

ช่างภาพ และนักหัดเขียน

Related Posts

Related Posts