จากเด็กหญิงไม้ขีดไฟ สู่การ์ตูนโต๋เต๋ และพลังของการอ่านที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของเด็กๆ และผู้คน
จากเด็กหญิงไม้ขีดไฟ สู่การ์ตูนโต๋เต๋ และพลังของการอ่านที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของเด็กๆ และผู้คน
“ตอนเด็กๆ บ้านเรายากจนมาก เราเป็นคนหนึ่งที่ไม่เคยเห็น ไม่เคยมีหนังสือภาพสำหรับเด็กเหมือนกัน”
คำบอกเล่าของ เจ–สุดใจ พรหมเกิด ประธานมูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน และผู้จัดการแผนงานยุทธศาสตร์สร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. เมื่อเราแลกเปลี่ยนเรื่องราวของหนังสือนิทานในยุคสมัยและช่วงวัยที่ต่างกัน
แต่ใครจะคาดคิดว่า จากเด็กหญิงที่ไม่เคยเห็นหนังสือ จะกลายมาเป็นผู้หญิงที่ทำงานด้านการอ่านกับเด็ก ผลิตนิทานให้เด็กได้รับฟัง รับชม และอ่านทั่วประเทศ ส่งเสริมกิจกรรมการอ่านกับเด็กในทุกรูปแบบ สนับสนุนทุกภาคีเครือข่ายที่ตั้งธงทำเรื่องการอ่านในเด็ก พยายามสร้างการตระหนักรู้คุณค่าของการอ่านให้เข้าถึงผู้ใหญ่ทุกหย่อมหญ้า พร้อมผลักดันการอ่านให้เป็นวาระแห่งชาติ
ทั้งยังมีเป้าหมายที่วาดไว้อย่าง เด็กแรกเกิดทุกคนต้องได้สวัสดิการหนังสือ 3เล่ม ‘ทุกบ้าน’ เพราะจนถึงทุกวันนี้ ยังมีเด็กเล็กกว่า 1.1 ล้านครอบครัวที่ไม่มีหนังสือในบ้าน เหมือนสมัยที่เจ-สุดใจยังเป็นเด็กเหมือนเดิม
“คงเป็นเพราะว่า เราเชื่อมั่นพลังการอ่าน ที่สามารถเปลี่ยนแปลงและแก้ไขอะไรหลายๆ อย่างของเด็กได้ ช่วยเปิดโลกใบเล็กของเด็ก โดยเฉพาะปฐมวัยให้ขยายใหญ่ขึ้น ตื่นตาตื่นใจมากขึ้น ได้เห็นเรื่องราวของคนอื่น ได้เห็นชีวิตที่หลากหลาย ช่วยสร้างพลังจิตใต้สำนึก ทำให้เด็กเข้มแข็ง มีเกราะคุ้มกันให้กับชีวิต ช่วยสร้างสานสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว ระหว่างครู และชุมชนได้ ทั้งหมดใช้สื่อที่เข้าถึงได้ง่ายที่สุด เด็กมีความสุข รื่นรมย์กับชีวิตได้มากที่สุด ทั้งยังสามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง นั่นก็คือ นิทานและหนังสือภาพสำหรับเด็ก (Picture Book)”
พลังการอ่านของหนังสือหนึ่งเล่ม จะกลายมาเป็นพลังการทำงานด้านการอ่านกับเด็กได้อย่างไร
Mappa ขอเชิญคุณรับพลังนี้ไปพร้อมๆ กับเรา ผ่านประสบการณ์การทำงานและมุมมองของเจ-สุดใจ
จากเด็กหญิงไม้ขีดไฟ สู่หนังสือการ์ตูนเรื่องโต๋เต๋
“เมื่อไม่มีหนังสือในบ้าน จะเกิดอะไรขึ้นต่อ” เราถาม
“วันหนึ่ง น้ำท่วมบ้าน คุณพ่อพี่เสียตั้งแต่เราเล็กๆ คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวลูก 6 คน คุณแม่ก็เลยพาพี่น้องคนอื่นๆ ก็ไปฝากกระจายตามบ้านญาติต่างจังหวัด ไปฝากไว้ที่บ้านก๋ง ซึ่งอยู่อีกฝั่งคลอง ที่นั่นทำให้เราเจอกับชั้นหนังสือ เราตื่นใจมากที่เห็นหนังสือภาษาอังกฤษ ก็บ้านก๋งเขารวยน่ะ (ยิ้ม) เราเห็นหนังสือเล่มหนึ่ง ภาพข้างในสวยมาก อ่านไม่รู้เรื่องหรอก แต่จำได้ว่า ดูจนจบแล้วร้องไห้ ทีนี้หนังสือมีราคาสูง ผู้ใหญ่ก็ไม่อนุญาตให้เราหยิบออกมาดูบ่อยๆ เราจึงใช้จังหวะตอนกลางคืนที่ทุกคนหลับ แอบหยิบมาดู แล้วก็ร้องไห้
“มารู้ทีหลังว่า หนังสือเล่มนั้นคือ ‘เรื่องเด็กหญิงขายไม้ขีดไฟ’ ทีนี้เราก็เชื่อมโยงประสบการณ์ของตัวเอง โลกของเราเองกับเด็กหญิงที่ถูกทิ้งไว้ข้างถนน เดินขายไม้ขีดไฟ ก็เหมือนกับเราเลย ที่ถูกไปทิ้ง (ฝาก)ไว้บ้านก๋ง (หัวเราะ) และนี่คือความประทับใจต่อหนังสือเล่มแรกที่เกิดขึ้นกับตัวเราเอง”
จากหนังสือเล่มแรกในชีวิตของเจ – สุดใจ เวลาผ่านไป เธอมาพบความประทับใจที่ได้รับจากหนังสืออีกครั้ง
“ตอนที่ร่วมก่อตั้งสถาบันการ์ตูนไทยของมูลนิธิเด็ก ตอนนั้นเราได้เห็นพลังของหนังสือว่า มีส่วนช่วยส่งเสริมจินตนาการ ช่วยทำให้ความคิดสร้างสรรค์ของเด็กไม่หดหาย และยังมีอิทธิพลต่อเด็กเป็นอย่างมาก จึงหันมาสนใจกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง จากนั้นก็รวบรวมศาสตร์ของการ์ตูนในเชิงวิชาการ เพื่อหาคำตอบว่า การ์ตูนทำงานกับเด็กได้อย่างไร ทำไมเด็กถึงเพลิดเพลินไปกับหนังสือการ์ตูน ทำไมการ์ตูนถึงมีส่วนเติมเต็มกระบวนการความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการได้ เด็กอ่านได้ไม่รู้จบ
“และเราก็พบคำตอบว่า หนังสือเด็กเป็นศาสตร์ที่น่าสนใจ ทำงานโดยการไปสั่นไหวกระบวนการด้านในของผู้คน ไม่ใช่แค่เด็ก และไม่ใช่แค่การ์ตูน แต่ยังรวมไปถึงกระบวนการวรรณกรรม และสุนทรียศาสตร์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ หรือแม้กระทั่งการแสดง แต่จะสั่นไหวในด้านที่ดีหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการเลือกสื่อให้เด็กได้เสพตามวัย”
ความประทับใจในหนังสือเดินทางอย่างต่อเนื่องจนถึง การ์ตูนเรื่อง ‘โต๋เต๋’ ได้รับรางวัลหนังสือดีเด่น รักลูกอวอร์ด และหนังสือดีเด่น กระทรวงศึกษาธิการ
เจเล่าว่า เมื่อมีเหตุการณ์รุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ พี่หมอต้อม (ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร แห่งโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ชวนนักการ์ตูนไปทำกิจกรรมกับเด็กในค่ายเยาวชนแลกเปลี่ยนรู้ของเด็กชาวมุสลิมและเด็กในพื้นที่เขาใหญ่เจ เลยไปจัดมุมการอ่านในค่าย เอาหนังสือการ์ตูน หนังสือที่สถาบันการ์ตูนไทยผลิตไปวางให้อ่านเวลาว่าง ปรากฏว่า เด็กๆ ต่อคิวรออ่าน “โต๋เต๋” กันคึกคัก ซึ่งทางบทบัญญัติของศาสนาไม่เลี้ยงสุนัข หากโดนน้ำลายสุนัขต้องล้างน้ำถึง 7 หน แต่เด็กๆ ชอบอ่านหนังสือเล่มนี้กันมาก ด้วยเหตุผลเดียวเลยคือ สนุก! สงสารโต๋เต๋ที่พลัดหลงกับแม่
“โต๋เต๋ ทำให้เรารู้ว่า การอ่านทำให้ข้ามวัฒนธรรมกันได้” เจบอกกับเรา
พลังการ์ตูน ทำให้พลังการทำงานของเธอทวีคูณ ความสนุกและความสุขจากการทำงานยิ่งเป็นแรงผลักดันให้อยากทำหนังสือการ์ตูน อยากทำอะไรใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา แถมยังได้เจอกับนักวาดการ์ตูนมากมาย ได้เห็นผลงานและลายเส้นที่น่าสนใจของแต่ละนักวาดการ์ตูนไทย ยิ่งได้อ่านมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งอิ่ม อิ่มเอมไปกับวรรณกรรมชั้นดี ซึ่งดีต่อเด็กและผู้ใหญ่
รักการอ่านตั้งแต่ปฐมวัย จะรักการอ่านไปตลอดชีวิต
หลังจากทำงานที่สถาบันการ์ตูนไทย และได้เห็นพลังการอ่านการ์ตูนของเด็กวัยเรียนและวัยรุ่น ยิ่งสนใจเรื่องการอ่านกับเด็กมากขึ้นเรื่อยๆ ในเวลาเดียวกัน ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี ประธานมูลนิธิเด็ก ก็เป็นผู้จุดประกาย ชี้ให้เห็นว่า หนังสือเด็กที่ได้รางวัลดีเด่นทุกปี แต่ทำไมยอดขายไม่ขยับ จำนวนตีพิมพ์ก็น้อย เวลานั้นเธอก็เห็นด้วยไม่ต่างกัน
เมื่อความสงสัยเกิดขึ้น การรวบรวมข้อมูลก็ตามมา จนกระทั่งพบว่า ที่ผ่านไม่เคยมีการสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ผู้คนชอบสนทนากันมากกว่าที่จะนั่งอ่านหนังสือเงียบๆ เพียงลำพัง หรือตั้งกลุ่มคุยเรื่องหนังสือ คำตอบนี้ยังเป็นเรื่องที่ค้างคาและติดค้างอยู่ในใจ
และด้วยความสนใจการอ่านกับเด็ก เธอจึงได้เข้าร่วมกับแผนงานส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชนก่อตั้งแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สนับสนุนโดย สสส. ผลักการอ่านจนเป็น “วาระแห่งชาติ” ขับเคลื่อนจนได้รับการประกาศให้เป็น ‘กรุงเทพเมืองหนังสือโลก’
“หลังจากนั้นทุกอย่างก็เงียบ” เจเสียงอ่อนลงเล็กน้อย
จากเหตุการณ์นี้ จึงย้อนกลับมาตั้งคำถามใหม่จากคำตอบเดิมว่า แล้วเราจะสร้างวัฒนธรรมการอ่านได้อย่างไร
“เราพบงานวิจัยหลายชิ้น ที่มีข้อมูลตรงกันว่า ถ้าเราทำให้เด็กรักการอ่านในช่วงปฐมวัย (0-6 ปี) เด็กจะรักการอ่านไปตลอดชีวิต และนี่จะเป็นหมุดหมายใหม่ ที่เราต้องมาทำเรื่องการอ่าน มุ่งเน้นลงไปที่เด็กปฐมวัย ที่ต้องบ่มเพาะกันตั้งแต่ยังเล็ก และใช้สื่อที่สื่อสารได้ง่ายที่สุดอย่าง ‘นิทาน’ และหนังสือภาพสำหรับเด็กมาให้ผู้ใหญ่ได้เห็นพลังของหนังสือและการอ่านอย่างแท้จริง”
คุณค่าของหนังสือทำงานกับหัวใจเด็กๆ ได้อย่างแนบเนียน
ด้วยความอยากรู้ที่เต็มไปด้วยความสงสัย เราจึงถามต่อว่า แล้วนิทานทำงานกับเด็กอย่างไร ทำไมเด็กๆ จึงคล้อยตามนิทานได้ง่ายๆ เพราะเรามักจะเห็นคุณพ่อคุณแม่หยิบยกตัวละครในนิทานมาชักชวนให้ลูกทำสิ่งต่างๆอยู่บ่อยๆ
เจตอบว่า “การอ่านทำงานกับเด็กได้แนบเนียนมาก ไม่บ่น ไม่ว่า ไม่ดุ ไม่สั่งสอนเด็กโดยตรง นิทานที่ออกแบบมาอย่างประณีตและเข้าใจพัฒนาการของเด็ก จะไม่มีเรื่องนี้เลย แต่จะเป็นการชี้ชวน ชักชวนเด็กในทางที่ถูกต้อง”
ในฐานะคนทำสื่อการอ่านและเด็กเช่นกัน เราแลกเปลี่ยนมุมมองกับพี่เจว่า สำหรับเราการอ่าน เสมือนเป็นการเปิดโลกใบเล็กๆ ของเด็กปฐมวัยให้ขยายใหญ่ขึ้น ตื่นตาตื่นใจมากขึ้น พี่เจเห็นด้วย พร้อมแลกเปลี่ยนว่า
“เด็กปฐมวัยเป็นช่วงที่การเจริญเติบโตของสมองรุดหน้ามากที่สุดกว่า 90% ของชีวิตมนุษย์ สมองส่วนหน้าทำงานได้ดีที่สุด นั่นหมายความว่า เราจะเติมอะไรลงไปก็ได้ ระหว่างนั้นหนังสือก็ทำงานกับเด็ก เชื่อมโยงโลกของคนอื่น โลกของตัวเองเข้าด้วยกัน พร้อมเชื่อมสายสัมพันธ์ระหว่างคนอ่านให้เด็กฟัง กับตัวเด็กที่นั่งอยู่บนตักหรืออยู่ใกล้กัน และเป็นช่วงเวลาที่ทำให้เด็กมีความสุขและรื่นรมย์ไปกับชีวิตของเขาได้”
กางนิทานแล้วทรงพลัง
เจ-สุดใจ ยังคงนำทัพยกทีมคัดสรร เลือกเนื้อหาจากกระแสสังคม แล้วผลิตสื่อที่ใช้นิทานเป็นหัวใจสำคัญของการสื่อสารทุกเรื่องราว และทุกครั้งที่นิทานได้ลงไปทำงานกับเด็ก ครู ครอบครัว และชุมชนแล้ว ‘ทรงพลัง’ เป็นอย่างมาก
“มีตัวอย่างการพัฒนา “พัฒนาการ” โดยใช้หนังสือนิทานกับเด็ก ที่บ้านเรียนพระคุณ จังหวัดสุรินทร์ ‘แม่ครูอ๋วน’ ช่วยเหลือเด็กสามขวบแล้ว แต่ยังพูดไม่ได้ เมื่อได้ฟังนิทานซ้ำๆ พูดคุย และชวนเด็กๆ ทำกิจกรรม ไม่ช้าก็พูดได้คล่อง หลงใหลในตัวอักษร และอ่านออกได้ในที่สุด
“อย่างในหลายๆ พื้นที่ที่เราทำงานร่วมกับครู พบว่า การอ่านหนังสือให้เด็กฟัง ใช้เวลาไม่เกินสองอาทิตย์ เด็กเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างชัดเจน ขึ้นอยู่กับว่าใช้นิทานเล่มไหนสื่อสารเรื่องอะไร ต้องการให้เด็กเกิดพฤติกรรมเชิงบวกด้านใดกับเด็ก”
“เคยคุยกับอาจารย์หมอประเวศ ศ.นพ. ประเวศ วะสี ท่านเล่าให้ฟังว่า “แม้กระทั่งเด็กที่เจ็บป่วยอยู่ มีคนอ่านหนังสือให้ฟัง สารเอ็นโดฟินจะหลั่ง ทำให้หายป่วยเร็วขึ้น”
เจเล่าตัวอย่างผ่านหนังสือหลายเล่มให้ฟังว่า พลังของหนังสือไม่ใช่เกิดขึ้นแค่เพียงตัวเด็ก แต่ยังทรงพลังไปถึงคนรอบๆ ตัวเด็ก เช่น บางเล่มก็ช่วยให้พ่อเลิกเหล้าได้ ช่วยลดปัญหาความรุนแรงในบ้านได้ ช่วยชีวิตจากโรคระบาดได้
ในอนาคตอาจช่วยกู้วิกฤตการอ่านของเด็กไทยได้ เพราะยิ่งอ่านตั้งแต่ยังเล็กมาก ยิ่งส่งผลต่อคะแนน PISA ของเด็กไทยอีก 15 ปีข้างหน้า ตัวชี้วัดความสำเร็จของเด็ก อาจพุ่งทะยานเหมือนเด็กสิงคโปร์ในปีที่ผ่านมาก็ได้
หนังสือนิทานที่ดี ต้องมีแนวทาง-เทคนิคปฏิบัติการใช้ที่ถูกต้อง
และแล้วการทำงานของเจก็เจอจุดสะดุด ซึ่งเป็นจุดที่ค่อนข้างใหญ่ และต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
“เราพบว่า ครูจะอ่านนอกเรื่องจากที่ผู้แต่งได้เขียนไว้ มันทำให้วรรณกรรมทลายลง” เจอธิบาย
“ครูไม่ได้อ่านตามตัวหนังสือ แต่ครูแทรก ครูถามตลอดเวลา นิทานหนึ่งเล่มใช้เวลาอ่านไม่เกิน 3-5 นาที เมื่ออ่านจนจบ แล้วค่อยมาคุยกับเด็ก เพื่อให้เด็กได้ติดตามกระบวนการทางวรรณกรรมให้จบก่อน เพราะภาพในหนังสือก็ชัดเจน คำศัพท์ก็คัดสรรมาให้กินใจ ภาษาก็สวย อย่าง ภาษาตุ๊บปอง (เรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป นักเขียนหนังสือสำหรับเด็ก) เจ้าแม่แห่งการใช้ภาษาจังหวะคล้องจอง ครูควรจะอ่านตามนั้นจนจบ และให้เด็กใช้สมองทำงานกับภาพ เขาจะมีกระบวนการจัดการความรู้ได้ด้วยตัวเอง และจะติดตามเรื่องได้
“เมื่อมาเจอตรงนี้ จึงทำให้รู้ว่า หนังสือดี ไม่พอ ต้องมอบเทคนิคปฏิบัติในกับคนที่จะใช้หนังสือกับเด็ก หรือคนที่อ่านหนังสือให้เด็กฟังด้วย เราจึงต้องขอความร่วมมือกับครู กับภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้วยกันมากขึ้น เพื่อให้เด็กมีความสุขจากการอ่านได้จริงๆ”
ส่งเสริมโครงการ ‘อ่าน บ้าน บ้าน’ และผลักดันสวัสดิการหนังสือสามเล่มที่ต้องมีทุกบ้านต่อไป
“เรื่องการอ่านทำยาก ยิ่งคนยากคนจนจะเอาเวลาไหนมาอ่านหนังสือ” เจยอมรับว่าเคยได้ยินคำถามนี้อยู่บ่อยๆ แต่จากประสบการณ์ เธอบอกได้คำเดียวว่า ‘ไม่จริง’
“เราลองแล้วด้วยการสนับสนุนในจาก สสส. ลองจับมือรุกคืบกับสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (โครงการบ้านมั่นคง) ทำโครงการอ่านบ้านบ้าน อ่านถึงที่บ้าน ทางชุมชนรุกคืบถึงขนาดที่ว่า บ้านไหนแม่ท้อง หรือคลอดลูกแล้ว จะมอบของขวัญชิ้นแรกให้เป็นหนังสือ 3 เล่ม เพราะเขาเรียนรู้แล้วว่า การอ่านหนังสือให้เด็กฟัง พัฒนาเด็กได้จริงๆ และใช้นิทานเพียงไม่กี่เล่ม เป็นตัวช่วยเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัว รวมถึงชุมชนได้
“รูปแบบโครงการก็น่าสนใจ นอกจากชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการอ่านแล้ว ยังใช้วิธีออมเงินวันละหนึ่งบาทเพื่อร่วมกันซื้อหนังสือ แล้วนำเงินที่ได้ เมื่อมีเด็กแรกเกิดก็จะมอบทุนแรกจากก้อนนี้ให้ พร้อมหนังสือ และสอนเทคนิคการอ่านให้ถูกต้อง มีไปร้องเพลงกับเด็ก ชักชวนพ่อแม่ทำกิจกรรมร่วมกันกับลูก เปิดลานชุมชนเป็นลานกิจกรรมการอ่านให้เด็กๆ มีพี่ๆ คนโตอ่านหนังสือให้น้องเล็ก
“ส่วนบ้านไหนไม่ว่าง ก็จะมี ‘โครงการธนาคารเวลา’ ในชุมชน ด้วยการใช้ธนาคารเวลานี่แหละ มาอ่านหนังสือให้เด็กฟัง เป็นข้อตกลงร่วมกันว่า เด็กจะต้องเข้าถึงการอ่าน เข้าถึงหนังสือให้ได้ ซึ่งย้อนกลับไปที่คำถาม ที่บอกว่า คนจนไม่สนใจ เขาไม่ใช่ไม่สนใจ แต่จะสนใจได้อย่างไร ในเมื่อหนังสือนิทานเด็กมีราคาแพง”
“เราพบข้อมูลจากสำนักสถิติแห่งชาติ ปีก่อนโควิด 1.1 ล้านครัวเรือนไม่มีหนังสือในบ้าน เด็กเล็กทั่วไทยเข้าไม่ถึงหนังสือ และหากเป็นไปได้ เป้าหมายสูงสุดที่อยากให้เกิดขึ้น ก็คือ สวัสดิการหนังสืออย่างน้อย 3 เล่มทุกบ้านของเด็กเล็ก”
แต่เหนือสิ่งอื่นใด เจ-สุดใจอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงการตระหนักรู้ของพ่อแม่ ครู และชุมชน เข้าใจถึงความสำคัญและรับรู้ว่าการอ่านคือรากฐานของพีระมิดที่แข็งแรงที่สุดของการพัฒนาการเรียนรู้ การรู้หนังสือ และการก้าวข้ามความยากจน และสร้างได้ด้วยการอ่านและหนังสือนิทานสำหรับเด็ก ซึ่งจะเป็นผู้ช่วยที่ดีที่สุดของเด็กไทยที่ใช้ได้ในระยะยาว
Writer
ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล
คุณแม่ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยให้มีความสุขแบบกำลังพอดี และตัวเองก็แฮปปี้ได้ด้วย คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 14 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักเขียนและวาดนิทานเด็ก
Photographer
อนุชิต นิ่มตลุง
ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว จนถึงสารคดี ปัจจุบันเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision เพิ่งตัดสายสะดือเป็นคุณพ่อหมาดๆ เมื่อเมษาที่ผ่านมา (พ.ศ. 2563)
illustrator
ลักษิกา บรรพพงศ์
กราฟิกดีไซน์เนอร์ที่เกิดและเติบโตมาพร้อมกับธุรกิจเพลงเด็ก ติดซีรีส์ ชอบร้องเพลง ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และเป็นทาสแมว