ดูหนังตั้งวงคุยกับ MAPPA x Doc Club : ‘รอวัน’ ภาพยนตร์ที่สะท้อนสายสัมพันธ์ที่ถูกกั้นแบ่งด้วยพรมแดน ‘รัฐ-ชาติ’

ดูหนังตั้งวงคุยกับ MAPPA x Doc Club : ‘รอวัน’ ภาพยนตร์ที่สะท้อนสายสัมพันธ์ที่ถูกกั้นแบ่งด้วยพรมแดน ‘รัฐ-ชาติ’

อนาคตที่ไม่แน่นอน

สภาวะก้ำกึ่งที่เลือกไม่ได้ 

นาฬิกาหมุนไปซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อรอการอนุมัติให้เข้าอยู่อาศัยในประเทศที่สาม 

นี่คือการเดินทางของครอบครัวอิบราฮีมในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ‘รอวัน’ (HOURS OF OURS) ภาพยนตร์ที่ Mappa และ Documentary Club ได้ชวนทุกคนมาร่วมกิจกรรมดูหนังตั้งวงคุยในวันศุกร์ที่ 15 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ครั้งนี้เรามี คมน์ธัช ณ พัทลุง ผู้กำกับภาพยนตร์ มาพูดคุย พร้อม พีรดนย์ ภาคีเนตร นักข่าวและ Content Creator ประจำสื่อ The Active (Thai PBS) เป็นผู้ดำเนินรายการ

คมน์ธัช เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ไทยที่เพิ่งกลับจากต่างประเทศหลังจากไปอยู่ต่างแดนมานานกว่าสิบปี โดยชุดประสบการณ์  ‘ไกลบ้าน’ และการตั้งคำถามเรื่อง ‘การเป็นส่วนหนึ่ง’ คือความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างเขาและผู้คนในภาพยนตร์สารคดีรอวัน เพราะเดิมคมน์ธัชมีเป้าหมายจะทำหนังสารคดีชาวม้งเวียดนามที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ทว่ายิ่งลงแรงและพลังในการสรรค์สร้างมากเพียงใด ก็แปรผกผันกับการเชื่อมโยงทางใจที่ตนมีต่อผลงาน 

ต่อมาเขาได้รู้จักกับครอบครัวอิบราฮีม ชาวซูดานที่หนีออกจากประเทศมายังกรุงเทพมหานครฯ เพื่อขอลี้ภัย คมน์ธัชไปทานข้าวกับพวกเขา ช่วยแปลภาษาเมื่อยามไปหาหมอ และทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน จนกระทั่งวันหนึ่งเขาสังเกตเห็นบางอย่างในตัวเด็กสามคนของบ้านอิบราฮีม ที่ทำให้หวนนึกถึงตัวเองเมื่อยามเป็นเด็กเข้าอย่างจัง

“ผมคุยกับเขาเป็นภาษาอังกฤษ แต่เขาคุยกันเองเป็นภาษาไทย ซึ่งตอนแรกผมก็ไม่รู้ พอเห็นเขาคุยภาษาไทย อยู่ดีๆ มันก็โยงกลับไปถึงชีวิตตัวเองตอนที่พ่อพาครอบครัวย้ายไปลุยเซียนา (Louisiana) แล้วเราก็ต้องซึมซับวัฒนธรรม ภาษาของที่นั่น มันดึงเรากลับไปที่โมเมนต์นั้นเลย” 

และนั่นคือวินาทีที่คมน์ธัชตัดสินใจได้ว่าอยากเล่าเรื่องราวการเดินทางของครอบครัวอิบราฮีมที่ต้องผ่านการปรับตัวในสภาวะก้ำกึ่งขณะรอการอนุมัติให้เข้าอยู่อาศัยในประเทศที่สาม ในรูปแบบภาพยนตร์สารคดีกลิ่นใหม่ที่ไม่อุดมไว้เพียงความเศร้าโศก หรือฉายแต่ภาพความโหดร้ายและอยุติธรรม ทว่านำเสนอชีวิตมนุษย์หลากมิติจากบทสนทนาและเหตุการณ์ต่างๆ 

เป็นมนุษย์ที่มีความหวัง

เป็นมนุษย์ที่มีความฝัน 

เป็นมนุษย์ที่เฟ้นหาความสุข และอัดแน่นไปด้วยหลากอารมณ์อยู่ในนั้น

‘กล้อง’ ต้องไม่สร้างระยะห่างระหว่างเราและเขา

“ทำไมถึงมีผู้กำกับอยู่ในเรื่อง” ผู้ชมในห้องถามหลังเห็นคมน์ธัชปรากฏตัวหลายต่อหลายครั้ง

คมน์ธัชทิ้งลวดลาย วิธีการนำเสนอที่เคยวางไว้แต่เดิมลง เพื่อหันไปสนใจกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ไม่มีอีกแล้วกล้องที่หลอกว่าคนถ่ายไม่ได้อยู่ในพื้นที่นั้น ไม่มีอีกแล้วการตัดฉากโต้ตอบระหว่างคนหลังกล้องและหน้ากล้องออก

“ไม่ถ่ายทุกสิ่งอย่าง แต่ถ่ายอะไรก็ตามที่เราคิดว่าสมควรที่จะถ่าย ไม่ Take More Than It’s Given” คมน์ธัชว่า พร้อมอธิบายต่อว่านี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาในฐานะผู้กำกับปรากฏตัวอยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ เพื่อคอยเสริมบริบทต่างๆ และเล่าเรื่องราวให้ครบถ้วน โดยกว่า 7 ปีในการสร้างสรรค์ภาพยนตร์สารคดีเรื่องรอวัน คมน์ธัชได้เรียนรู้มุมมองใหม่ในฐานะคนทำสารคดีซึ่งต่างจากตำราที่ร่ำเรียนมา เพราะนอกจากการเป็นคนทำหนังแล้ว เขายังกลายเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวอิบราฮีมอีกด้วย

ความเป็นไทย ‘ใคร’ กำหนด

ความจริงในประเทศไทยวันนี้มีอยู่ว่า หากคุณเป็นเด็กที่ลี้ภัยมา คุณจะมีสิทธิและการคุ้มครองมากกว่าผู้ใหญ่ และมันจะเริ่มเลือนหายเมื่อยามเติบโต 

คมน์ธัชตั้งคำถามกับคำว่า ‘ผู้ลี้ภัย’ (นาม.) และสถานะของพวกเขา เพราะในมุมมองของคมน์ธัชนั้นเด็กๆ บ้านอิบราฮีมถือเป็นคนไทย และเติบโตมาไม่ต่างจากเด็กไทย จนได้เป็นคำถามใหม่อีกว่า สิ่งใดกันที่ทำให้พวกเขาก้าวข้ามอัตลักษณ์นี้ไปไม่ได้ ตามติดมาด้วยคำถามที่ว่า

‘หน้าตา’ ของ ‘ความเป็นไทย’ คืออะไร?

หรือ ความเป็นไทย ‘ยืดหยุ่น’ ได้หรือเปล่า?

เพราะคมน์ธัชมองว่า สิ่งเหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่บงการชีวิตคน ซึ่งปรากฏอยู่ในกฎหมายและสังคมที่ส่งผลให้ชีวิต ความเป็นอยู่ และการเติบโต ของคนๆ หนึ่งแตกต่างกับอีกคนหนึ่ง ที่แม้กระทั่งตัวเขาเองก็เผชิญเช่นกัน

ย้อนกลับไปเมื่อสมัยคมน์ธัชอาศัยอยู่ที่สหรัฐอเมริกา เขาเองเคยโดนทักว่า ‘คุณพูดภาษาอังกฤษเก่งจังเลย นึกว่าเป็นคนอเมริกัน’ แต่เขาไม่ใช่ และมาพบภายหลังว่าประสบการณ์ชีวิตของเขาและคนอเมริกันนั้นต่างกันมากเพียงใด และหากกลับไทยคงไม่ต้องรู้สึกกับเรื่องนี้อีก และนั่นก็ไม่ใช่ความจริงอีกเช่นเดียวกัน

“เราก็ต้องพิสูจน์ตัวเองตลอดว่า เราควรค่าจะอยู่ตรงนี้แล้วหรือยัง” คมน์ธัชกล่าว พร้อมเสริมว่า ยังคงมีอีกหลายคนที่ตั้งคำถามกับที่ทางของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ ‘พื้นที่แห่งการใช้ชีวิต’ และ ‘การเติบโต’ หดน้อยลงเรื่อยๆ ด้วยแรงและอำนาจอะไรก็ตามในสังคม

ดังนั้นเมื่อมีประโยคที่อาจารย์พูดกับเด็กๆ ในเรื่องว่า ‘ถ้าเธออยากมีชีวิตที่ดี เธอต้องไปจากประเทศนี้นะ’ บรรยากาศจึงเปลี่ยนไปอย่างฉับพลัน เมื่อทุกคนสัมผัสได้ว่าประเทศนี้ไม่ใช่ประเทศที่คนอยู่ได้อย่างดี ซึ่งคนดูที่เป็นคนไทยคงรู้สึกถึงมันได้ ในขณะที่ประเด็นเส้นรัฐชาติ ที่ถูกเขียนขึ้นมาตั้งแต่อดีตเองก็ถูกตั้งคำถามและส่งไปถึงผู้อ่านได้อย่างชัดเจนด้วย

“พรมแดนรัฐชาติ ข้อพิพาทระหว่างประเทศ ทำลายชีวิตคนหลายกลุ่ม ทำงานกับเราเยอะเหมือนกัน การเมืองทำลายชีวิตคนหรือทำให้บางคนลงหลักปักฐานไม่ได้ แม้เขาไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของข้อพิพาทเลย” หนึ่งในผู้ชมกล่าวเสริม

อนาคตต้องเดินต่อ ‘รอวัน’ ให้บทสนทนาใหม่ถูกพูดถึง

“ต้องยอมรับว่าประเทศไทยยังมีการเหยียดเชื้อชาติ (Racism)” คมน์ธัชว่า ก่อนอธิบายบรรยากาศของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ซอยสวนพลู ที่มีการแบ่งออกเป็นสองฝั่งอย่างชัดเจน หนึ่งคือฝั่งของ ‘ผู้ลี้ภัย’ หรือ ‘บุคคลที่ไม่มีเอกสาร’ ซึ่งมีความแออัดสูง ในขณะที่อีกฝั่งหนึ่งเป็นคนที่ไปเจอทนายได้ มีกำลังทรัพย์ในการทำเรื่องเพื่อออกมา ซึ่งมักจะเป็นคนจีนหรือคนขาว

“มีการเลือกปฏิบัติบางอย่างเกิดขึ้นภายในนั้น มันเป็นสถานที่ที่แย่มากๆ ที่คนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทำไมเขาต้องไปที่นั่น แล้วทำไมต้องติดอยู่เป็นระยะเวลานาน” โดยคมน์ธัชมองว่า มีความพยายามจากเจ้าหน้าที่รัฐที่จะทำให้สถานที่แห่งนั้นเป็น ‘จุดบอด’ ของสังคม ที่คนด้านนอกไม่มีทางรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้รอวันยังฉายภาพเรื่องราวของการเปลี่ยนผ่าน และสิ่งที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงทั้งในบริบทในไทย และระดับโลก หนึ่งในสิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ระบบการย้ายถิ่นฐานที่คร่ำครึและไม่ยืดหยุ่นไปตามสภาพความเป็นไปของโลก

“จุดร่วมกันหรือต่างกันของคนหลากเชื้อชาติภายในเรื่องคืออะไร” พีรดนย์ถาม คมน์ธัชจึงไล่เรียงให้ฟังว่า เราได้เห็นผู้คนหลากหลายเชื้อชาติภายในเรื่อง ที่แม้จะมาจากต่างที่ต่างถิ่นแต่ก็มองหาสิ่งเดียวกัน นั่นก็คือ Asylum Seeking อย่างความปลอดภัย ความมั่นคงทางเอกสาร ระบบที่รองรับ และกฎหมายที่ทำให้พวกเขารวมตัวเป็นชุมชนเพื่อช่วยเหลือกัน หลายคนอาศัยอยู่ในเมืองหลวงของประเทศไทย นั่นก็คือ กรุงเทพมหานครฯ แต่คำว่า ‘อาศัยอยู่’ นั้นยังคงหมายถึงการอยู่แบบหลบๆ ซ่อนๆ

“ทุกครั้งที่เขาออกไปเผชิญโลกภายนอกคือความเสี่ยง เสี่ยงที่ต้องเจอเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่เหมือนกัน บางคนใจดีเมื่อเจอเด็ก เขาอาจจะปล่อย แต่ถ้าเจอพ่อที่เป็นคนดำอาจจะไม่ใจดีแล้วกลายเป็นเป้าของเจ้าหน้าที่รัฐไป” 

และนี่คือชุดประสบการณ์ส่วนหนึ่งที่ยังคงเป็นข้อเท็จจริงจนถึงปัจจุบัน ซึ่งปรากฏอยู่ในภาพยนตร์สารคดีรอวัน ที่ไม่ว่าวันนี้คุณจะมีอัตลักษณ์ทางสังคมเป็นอย่างไร เรียกหรือไม่เรียกตัวเองว่า ‘คนไทย’ แต่เราทุกคนต่างรู้ว่าอนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน และไม่แน่ในวันข้างหน้าสังคมที่เราอยู่อาจจะไม่เป็นอย่างที่เคย ดังนั้นก่อนจะจบวงสนทนาในคืนวันศุกร์ คมน์ธัชจึงฝากไว้ว่า

“ตอนนี้พวกเราคนไทยก็มีด่านเยอะ เราต้องฝ่าด่านแต่ละอันเพื่อที่จะไปถึงสังคมประชาธิปไตย ถึงความเท่าเทียม แต่ทีนี้พอไปถึงจุดนั้น เราก็ยังต้องคุยกันอีกเยอะ เรื่องราวเกี่ยวกับการตรวจคนเข้าเมือง เรื่องราวเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยในสังคม เรื่องราวเกี่ยวกับคนที่โตมาในประเทศนี้แต่ไม่ได้รับสิทธิเท่าเทียมเหมือนคนทั่วไป”

“นี่คือบทสนทนาที่ยังไม่ค่อยมี ผมก็จินตนาการว่ามันควรจะมีขึ้นได้แล้ว” ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีรอวันทิ้งท้าย

Writer
Avatar photo
ณัฐพร เทพานนท์

ฟิวชันแจ๊สที่จริงใจมีไหมแถวนี้

illustrator
Avatar photo
พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts

Related Posts