‘ผู้นำที่ไม่ดีเป็นอย่างไร’ ให้นิทานเล่าให้ฟัง แล้วเด็กๆ จะออกแบบผู้นำที่ดีของเค้าเอง
‘ผู้นำที่ไม่ดีเป็นอย่างไร’ ให้นิทานเล่าให้ฟัง แล้วเด็กๆ จะออกแบบผู้นำที่ดีของเค้าเอง
- คำว่าดีของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เช่นเดียวกับคำว่าผู้นำที่ดีที่มีนิยามหลากหลาย ไม่ตายตัว
- นิทานที่เล่าถึงผู้นำที่ดีก็มักจะชวนคุยและยกตัวอย่างที่ไม่ควรเอาเยี่ยงอย่าง สร้างความทุกข์ร้อนให้ผู้อื่น โดยเฉพาะกับคนจำนวนมากที่อยู่ในความดูแล
- นิทานเรื่อง ‘พระราชาผู้สั่งห้ามความมืด’ และ ‘ทำไมปล่อยให้ที่นี่เละเทะขนาดนี้’ มีจุดร่วมเหมือนกันตรงที่ให้เด็กๆ ออกแบบ วาดฝันและอยากเป็นผู้นำที่ดีในความหมายของตัวเอง
ทำไมข่าวร้ายถึงขายง่ายกว่าข่าวดี นั่นเพราะจิตใต้สำนึกของเรามักจะตอบสนองต่อเรื่องร้ายๆ เร็วกว่าเสมอ
เช่นเดียวกัน การบอกว่าอะไรดี หรือ ใครแสนดี การบอกด้วยตัวอย่างที่ตรงกันข้าม จะถูกจดจำมากกว่า
นิทานสองเรื่องนี้ที่ #mappaชวนอ่าน ก็หยิบเอาตัวอย่างของผู้นำที่ไม่ดีมาเล่าให้ฟังว่า การคิดถึงแต่ตัวเองมากกว่าผู้อื่นสร้างความทุกข์ทรมานให้กับตัวเองและส่วนรวมอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะเมื่อคนๆ นั้นอยู่ในตำแหน่งที่ต้องดูแลทุกข์สุขของคนหมู่มาก
นิทานเรื่อง ‘พระราชาผู้สั่งห้ามความมืด’ และ ‘ทำไมปล่อยให้ที่นี่เละเทะขนาดนี้!’ ไม่สอน แต่จะเล่าให้ฟัง
พระราชาผู้สั่งห้ามความมืด : แม้ในความสว่างก็มืดบอดได้ ในความมืดก็ตาสว่างได้
เอมิลี ฮาเวิร์ทบูท เรื่อง
อริยา ไพฑูรย์ แปล
สำนักพิมพ์ SandClock Books
ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ รีวิว
สิ่งที่เราไม่ชอบก็ไม่ได้หมายความว่าคนอื่นจะต้องไม่ชอบด้วย ซึ่งควรเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของผู้นำที่ดี และเป็นผู้นำที่รับรู้ว่าความแตกต่างคือ พลัง
“ประเทศที่มีแต่คนที่คิดเหมือนกันน่ากลัวมากเลย ไม่รู้จะนำพาหรือว่าดึงลงเหวกันไปตอนไหน เพราะฉะนั้นทุกพื้นที่ควรจะมีคนที่มีความเห็นต่าง และตรงนั้นแหละคือพื้นที่ปลอดภัย” หมอโอ๋ ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร เจ้าของเพจ เลี้ยงลูกนอกบ้าน เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้
แต่การสร้างบรรยากาศความกลัวให้คนเห็นต่างหันมาคิดเหมือนกัน เป็นสิ่งที่น่ากลัวมากกว่า
นิทาน ‘พระราชาผู้สั่งห้ามความมืด’ กำลังบอกเราอย่างนั้น
เรื่องเริ่มจากเจ้าชายตัวน้อยกลัวความมืดตั้งแต่เล็กๆ และตั้งใจไว้ว่าเติบโตเป็นพระราชาเมื่อไรจะใช้อำนาจที่มีสั่งห้ามความมืด
แน่นอน ไม่ว่ามนุษย์คนไหนก็ห้ามกฎของธรรมชาติไม่ได้ แม้จะเป็นมนุษย์ในโลกแห่งนิทานก็ไม่ได้รับการยกเว้น
พลังมีจำกัดแต่อำนาจมีล้นเหลือ พระราชาจึงคิดวิธีเปลี่ยนความกลัวของตัวเองให้กลายเป็นความกลัวร่วมของชาวเมืองด้วยการปล่อยข่าวลือต่างๆ เกี่ยวกับความมืด เช่น ความมืดน่าเบื่อ ความมืดคือหัวขโมยความสนุกสนาน และความสว่างต่างหากคือความสุข
เฟคนิวส์ที่เริ่มต้นจากพระราชวังไปไกลถึงขั้นสร้างดวงอาทิตย์ปลอมๆ ไว้หลอกโลก
ทั้งเมืองเข้าสู่ความไม่หลับใหล ผ้าม่านทุกผืนถูกถอด ลมหายใจเข้าออกของชาวเมืองมีแต่การเฉลิมฉลอง แต่ความสว่างใสไม่ได้เป็นไปอย่างประนีประนอมหรือสนุกสนานตามความสมัครใจ เพราะบ้านไหนก็ตามที่ปิดสวิตซ์ไฟ สายตรวจแสงสว่างจะรี่มาปรับเงินถึงบ้านทันที
แต่อะไรที่มากไป ย่อมไม่ดี
อาการข้างเคียงขั้นพื้นฐานที่สุดอย่างการนอนไม่หลับเริ่มระบาดไปทั่วเมือง รวมถึงพระราชา
เรื่องราวคลี่คลายไปอย่างที่มันควรจะเป็น พระราชา ที่ปรึกษา ประชาชนได้เรียนรู้ว่าแม้ในความสว่างก็มืดบอดได้ เช่นเดียวกัน ในความมืดก็ตาสว่างได้
ความคิด ความเชื่อ ความกลัวก็เช่นกัน ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าเราจะจัดการกับความกลัวนั้นอย่างไรต่างหาก อยู่กับมันหรือกำจัดมันไปก็ได้ แต่ควรวาดรัศมีไว้ให้ไกลสุดแค่ตัวเอง
เด็กๆ จะค่อยๆ เรียนรู้เองว่าเขาไม่ควรก้าวล่วงบุคคลอื่นอย่างไร เช่นเดียวกัน เมื่อพวกเขาถูกก้าวล่วงจะมีวิธีปกป้องและโต้กลับอย่างไร
นี่คือสำนึกขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน
แต่ผู้นำบางคนอาจไม่มี
ทำไมปล่อยให้ที่นี่เละเทะขนาดนี้!: ทำไมท่านผู้นำปล่อยให้บ้านเมืองเละเทะขนาดนี้
หลิวซี่ว์กง เรื่องและภาพ
ณัฎฐพรรณ เรืองศิรินุสรณ์ แปล
สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์คิดดี้
มิรา เวฬุภาค รีวิว
เสียงขบวนรถของผู้นำประเทศนั่นเอง…
ชายจรจัดมองไปเห็นควันดำ น้ำเน่าเสีย
ประชาชนเดินขบวนประท้วง มองไปทางไหนก็เละเทะไปหมด
เขาจึงวิ่งไปหาผู้นำแล้วร้องลั่น “ทำไมปล่อยให้ที่นี่เละเทะขนาดนี้!”
ตัวอย่างจากหน้า 25 ของหนังสือนิทานเรื่อง “ทำไมปล่อยให้ที่นี่เละเทะขนาดนี้” ชวนให้ลุ้นต่อว่าเรื่องราวต่อไปในหน้า 26 จะดำเนินต่อไปอย่างไร?
หากเรื่องราวนี้เกิดขึ้นในชีวิตจริง หลายคนคงมีภาพและเสียงผุดขึ้นมาในหัวว่า ‘ชายจรจัด’ คนนี้น่าจะมีจุดจบไม่สวยนัก ท่านผู้นำอาจจะโกรธมาก เขาอาจจะถูกจับและตั้งข้อหา รวมถึงเขาอาจจะถูกคนกลุ่มหนึ่งประณามว่าการตั้งคำถามกับผู้นำแบบนี้เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง
น่าตั้งคำถามว่าความคิดความเชื่อ ความรู้สึก หรือภาพที่ปรากฎขึ้นในใจเรานี้มีที่มาจากไหน?
อะไรที่ปลูกฝังความคิดพวกเราส่วนใหญ่ว่า ‘การตั้งคำถาม’ ของชาวบ้านจรจัด เด็กน้อย หรือผู้ใต้บังคับบัญชา เป็นเรื่องไม่เหมาะสม และนำไปสู่เรื่องราวที่ ‘จบไม่สวย’ ขึ้นมาได้
หากแต่ในหน้า 26 ของหนังสือนิทานเล่มนี้ถูกนำเสนออีกแบบ
ท่านผู้นำเอะใจ ‘เปิดตา’ มองรอบตัว และ ‘รับฟัง’ ชายจรจัดผู้นั้น
เมื่อเห็นว่าบ้านเมืองกำลัง “เละเทะขนาดนั้นจริงๆ” ท่านผู้นำคิดและเรียกเจ้าหน้าที่มาประชุม
พวกเขารื้อถอนโรงงานที่ก่อมลพิษ
ซ่อมแซมอาคารบ้านเรือนที่เก่าโทรมเสียใหม่ เปิดใจรับฟังความเห็นผู้ประท้วง เก็บขยะที่เกลื่อนกลาด ปลูกต้นไม้มากมาย ลอกท่อระบายน้ำจนสะอาด
เสียงของ ‘ชายจรจัด’ ที่ได้รับการรับฟังจาก ‘ท่านผู้นำ’ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านบวกกับชีวิตคนอีกหลายคน
นิทานเล่มนี้ซ่อนมุมมองของอำนาจในหลากหลายรูปแบบ ช่วงต้นของเรื่องอาจจะเป็นการใช้คำสั่งของผู้นำที่ถามเชิงบ่นขึ้นว่า “ทำไมปล่อยให้ที่นี่เละเทะขนาดนี้” คำสั่งนี้ส่งผลให้คนต้องลุกขึ้นมาทำตามที่ผู้นำสั่ง ผู้นำสั่งผู้ช่วย ผู้ช่วยเมื่อกลับไปบ้านก็สั่งภรรยา ภรรยาสั่งลูกที่เป็นเด็กน้อย และเด็กน้อยก็ไปบ่นกับชายจรจัด เป็นทอดๆ ไป
แต่บ้านเมืองก็ไม่อาจถูกทำให้เรียบร้อยขึ้นได้ หากผู้นำไม่รับฟังเสียงเล็กๆ จากชายจรจัดที่ถามแกมบ่นกับเขาบ้างว่า “ทำไมท่านผู้นำปล่อยให้บ้านเมืองเละเทะขนาดนี้”
ลองกลับมามองย้อนชีวิตจริงอีกครั้ง หากผู้นำไม่โกรธชายจรจัด ไม่ตั้งข้อหา หรือพาชายจรจัดเข้าเรือนจำไปเสียก่อน ‘รับฟัง’ เสียงของชายจรจัด มองเห็นจุดที่ตนเองก็ต้องปรับปรุง เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นสร้างผลกระทบทางบวกให้กับคนหมู่มาก และลงมือทำทันที สร้างการเปลี่ยนแปลงทางบวกอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ น่าจะเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อย
นิทานภาพเนื้อหาแน่น ภาพประกอบละมุนละไม การันตีด้วยรางวัลมากมายจากไต้หวันเล่มนี้ ชวนเด็กๆ และครอบครัว มองภาวะผู้นำหลายๆ แบบ ทั้ง Top Down และ Bottom up ช่วยสร้างบทสนทนาดีๆ และคำถามที่ทิ้งเอาไว้ให้เด็กๆ หาคำตอบด้วยตัวเองว่า ‘ผู้นำที่ดี’ นั้นเป็นอย่างไร
เพราะในอนาคตเราน่าจะต้องการผู้นำที่ดีเพิ่มขึ้นในสังคม และหากตอนนี้ยังไม่เกิดขึ้น ก็ขอฝากความหวังไว้ว่า หนังสือนิทานจะช่วยหย่อนคำถาม ปลูกความคิดให้กับเด็กๆ เพื่อรอว่าวันหนึ่งหากเขาโตขึ้นถึงจุดใดจุดหนึ่งของชีวิตที่ต้องนึกถึง ‘ความเป็นผู้นำ’ หนังสือนิทานที่เคยอ่านในวัยเด็ก ความคิด หรือคำถามที่เคยถูกทิ้งค้างไว้ในความทรงจำจะถูกกระตุ้นเตือน และนำกลับมาในชีวิตเขาอีกครั้ง
อ่านนิทานกันค่ะ ^^
Writer
ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
illustrator
กรกนก สุเทศ
เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง