“มองโลกผ่านเลนส์” นิทรรศการภาพถ่ายฝีมือพี่ อ.3 ที่ชวนเรามองความงามด้วยแววตาใสๆ แบบไร้ข้อจำกัด
“มองโลกผ่านเลนส์” นิทรรศการภาพถ่ายฝีมือพี่ อ.3 ที่ชวนเรามองความงามด้วยแววตาใสๆ แบบไร้ข้อจำกัด
ต้องยอมรับว่าตัวเองขมวดคิ้วแรงสุด เมื่อได้รับข้อความจากพี่ที่เคารพมากคนหนึ่งว่าอยากให้ลองดู “นิทรรศการภาพถ่ายของเด็กอนุบาล” เพราะคำว่า “นิทรรศการภาพถ่าย” กับ “เด็กอนุบาล” ช่างดูแปลกตาเมื่อถูกเอามารวมอยู่ด้วยกัน จนกระทั่งคลิกเข้าลิงก์ที่พี่คนดังกล่าวส่งตามมา ก็ได้พบว่าภาพถ่ายของนักเรียนชั้นอนุบาล 3 แห่งโรงเรียนจิตตเมตต์ (ปฐมวัย) ช่างทรงพลังและเต็มเปี่ยมไปด้วยจินตนาการที่ผู้ใหญ่อย่างเราก็ยังคิดไม่ถึง ขนาดที่ว่าเมื่อไล่ดูภาพถ่ายจนครบ ตัวเองถึงกับต้องยกหูโทรศัพท์ไปคุยกับ “ครูอุ้ย – อิทธิพล จันทร” คุณครูผู้ถ่ายทอดเทคนิคการถ่ายภาพให้กับมนุษย์จิ๋วฝีมือแจ๋วเหล่านี้
และนี่คือเรื่องราวของนิทรรศการ “EARLY CHILDHOOD FINE ART PHOTOGRAPHY” นิทรรศการศิลปะภาพถ่าย (เด็กปฐมวัย) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ในโปรเจกต์ “มองโลกผ่านเลนส์” ของโรงเรียนจิตตเมตต์ โดยที่จัดแสดงภาพถ่ายของพี่ ๆ อนุบาล 3 กว่า 100 รูป ที่อัดแน่นไปด้วยความน่ารักปุ๊กปิ๊กจนเจ็บหัวใจ
มองโลกผ่านเลนส์
“ก่อนจะเรียนจบ เด็กอนุบาล 3 ก็จะต้องทำโปรเจกต์ศิลปะ “มองโลกผ่านเลนส์” ที่จะมีหลายส่วนด้วยกัน แต่ในส่วนของครูอุ้ยก็เป็นเรื่องของศิลปะภาพถ่าย หรือ fine art photography ซึ่งเป็นศิลปะอีกแขนงหนึ่ง โดยครูอุ้ยจะสอนเกี่ยวกับมุมมองการถ่ายภาพแบบต่าง ๆ มุมมองมด มุมมองนก ท่าทางการถ่ายภาพ ซึ่งถ้าเราได้ดูผลงานศิลปะภาพถ่ายของเด็ก ๆ เราจะเห็นความน่าทึ่ง ความมหัศจรรย์ในมุมมอง การค้นหา เรื่องราว รวมไปถึงการตั้งชื่อรูปของพวกเขา”
“มันเป็นจินตนาการในการหามุมมองทางศิลปะ ถ้าเราดูผลงานของเด็ก ๆ เราจะเห็นว่ามันเป็นศาสตร์ที่ออกมาจากภายในจิตใจของเด็กล้วน ๆ เลย มันสะท้อนความเป็นตัวตนของเด็กแต่ละคนได้อย่างชัดเจน เหมือนกับเวลาที่เด็กวาดรูป เด็กแต่ละคนก็จะวาดรูปด้วยจินตนาการ แต่ละคนก็จะเป็นแบบฉบับของตัวเอง ซึ่งงานภาพถ่ายก็เช่นกัน ภาพถ่ายของเด็กที่ออกมา มันก็สะท้อนความเป็นตัวตนของเด็ก เขาสนใจอะไร จุดสนใจอยู่ตรงไหน หรือมุมมองภายในโรงเรียนที่เขาคุ้นเคย เขาก็จะถ่ายทอดออกมา”
ทิ้งกล้องถ่ายรูปไปก่อน
“วิธีการสอนคือเราต้องทิ้งความเป็นกล้องถ่ายรูปไปก่อนเลย เวลาที่เด็กเรียนศิลปะ ไม่ว่าจะวาดรูปหรือถ่ายภาพ มันต้องอยู่ในเฟรมสี่เหลี่ยม ให้เด็ก ๆ ได้คิด ได้ใส่จินตนาการลงไปว่าจะให้อะไรอยู่ในเฟรมสี่เหลี่ยมนี้ ซึ่งครูอุ้ยก็เตรียมกรอบกระดาษสีดำเอาไว้ ทำให้มีช่องมองภาพอยู่ตรงกลาง แล้วให้เด็กถือกระดาษไปหาจุดที่เขาสนใจ คือเราจะไม่สอนเรื่องปุ่มต่าง ๆ ของกล้องเลย เราสอนแค่การกดปุ่มชัตเตอร์ แล้วให้เขาโฟกัสอยู่ในจินตนาการในกรอบสี่เหลี่ยม”
“คือเราสมมติว่ากรอบกระดาษเป็นเฟรมกล้องถ่ายรูป สอนให้เด็กทำมือกดชัตเตอร์ จากนั้นเราก็พาเด็ก ๆ ไปค้นหามุมมองในโรงเรียน แล้วเราก็สอนท่าทางการถ่ายรูปให้กับเด็ก ๆ ว่ามันมีท่าอะไรบ้าง ก็จะมีท่ายืน นั่ง นอน มุด ไต่ อย่างมุมมองมุด เขาก็จะมู๊ด มุดลงไป แล้วเมื่อเขาค้นหามุมมองของเขาเจอแล้ว เขาก็จะพาเพื่อน ๆ ไปดูว่ามุมมองที่เขามองนั้นมันเป็นอะไร จากนั้นเมื่อทุกคนเข้าใจแล้วว่าต้องไปหาสิ่งที่น่าสนใจให้อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม จึงจะได้จับกล้องจริง”
ลงสนามลั่นชัตเตอร์ของจริง
“มันจะมีเรื่องสรีระของเด็กที่เป็นข้อจำกัดอยู่นิดหนึ่ง คือเขาเป็นเด็กปฐมวัย เราจึงต้องเลือกกล้องถ่ายรูปที่พอเหมาะกับมือของเด็ก คือครูอุ้ยจะไม่สอนให้เด็กจับกล้องให้ถูกวิธีก่อน แต่จะให้เด็ก ๆ กดชัตเตอร์ให้ได้ก่อน เพราะมือของพวกเขามีขนาดเล็ก บางคนเวลากดชัตเตอร์ก็ไม่ได้ใช้นิ้วชี้กด บางคนใช้นิ้วโป้ง บางคนใช้นิ้วกลาง บางคนใช้นิ้วก้อย มันคือความถนัดของเด็ก ดังนั้น เราก็ต้องเอาที่เขาถนัด”
“เมื่อเด็ก ๆ กดชัตเตอร์ได้แล้ว เขาจะค่อย ๆ เรียนรู้และทำความคุ้นเคยกับการจับกล้อง ซึ่งเด็กก็สามารถจับกล้องได้คล่องแคล่วมากขึ้น และหลังจากที่จับกล้องถูกวิธี รู้วิธีจับเลนส์ การวางมือแล้ว เด็กจะจับกล้องถนัดมากขึ้น ครูก็จะตั้งค่ากล้องให้ แล้วให้เด็ก ๆ ออกไปหามุมถ่ายรูป ไปกดชัตเตอร์ พร้อมกับมีท่าทาง อย่างท่ายืนถ่าย ก็จะมียืนถ่ายบน ถ่ายกลาง ถ่ายล่าง หรือท่านั่งถ่ายก็เหมือนกัน มีท่านอนคว่ำ นอนหงาย มุมมองมุดหรือมุมมองมด เด็กหาตรงไหนได้ก็มุดเข้าไป เราก็จะได้ในสายตาหรือในมุมมองของเด็ก หรือจะเป็นท่าไต่ ที่เด็กต้องเอากล้องไปไต่ข้างฝา แล้วก็มุมมองนก ที่ต้องขึ้นไปอยู่ข้างบนเพื่อถ่ายลงมา พอจินตนาการของเขาเป็นอิสระ เขาก็เอากล้องออกไปถ่าย มันเลยทำให้ภาพถ่ายในนิทรรศการมันดูแปลกตา ซึ่งนี่แหละคือความมหัศจรรย์”
จินตนาการสุดล้ำเลิศของเด็ก ๆ
“เด็ก ๆ ชอบที่ได้จับกล้องถ่ายรูปและได้กดถ่าย เมื่อเขากดถ่ายภาพเดี๋ยวนั้น มันทำให้เขารู้สึกตื่นตาตื่นใจ แล้วเขาก็ดีใจ กระโดดกัน เด็ก ๆ สามารถสร้างเรื่องราวของตัวเอง คิดเอง ทำเอง ซึ่งเราก็ต้องช่วยสร้างความบันเทิง ความสนุกในการออกไปค้นหา ให้เด็ก ๆ รู้สึกตื่นเต้น รู้สึกว่าน่าค้นหา ซึ่งพอทำแบบนี้ ก็ทำให้หลังเลิกเรียน ทุกคนอยากมาเบิกกล้องไปถ่าย แล้วมีเด็กบางคนไปหากระบอกไม้ไผ่มาวางไว้หน้าเลนส์ ซึ่งภาพที่ออกมาก็เป็นจินตนาการของเขาหมดเลย พอเพื่อน ๆ เห็น เขาก็ขอบ้าง ทีนี้กระบอกไม้ไผ่มันเลยแตกครึ่งเสี้ยว เขาก็เอาไปถ่ายกันคนละครึ่ง ซึ่งมันก็คือจินตนาการของเขาอีกนั่นแหละ ทำให้ภาพที่เราเอาไปจัดแสดง เป็นผลลัพธ์ของการที่เด็ก ๆ ได้ลองทำกันเองทั้งหมด หรือบางทีเขาไปเจอกล่องที่คุณครูวางไว้หน้าห้อง เขาก็เอามาวางหน้าเลนส์ แล้วก็สร้างเรื่องราวขึ้นมา อย่างมีเด็กคนหนึ่งมีเอามือไปวางหน้ากล้อง แล้วเขาก็ตั้งชื่อภาพว่า “ปูที่เดินอยู่” ครูอุ้ยงงเลย แต่มันคือจินตนาการของเด็กล้วน ๆ”
มืออาชีพยังต้องยกนิ้วให้
“มีคนมาดูนิทรรศการ เขาก็จะโอโห ทำไมมุมมองของเด็กช่างมหัศจรรย์ขนาดนี้ มันมีคำถามมากมายเลยว่า นี่คือฝีมือของเด็กอนุบาลจริงเหรอ ครูอุ้ยเคยเชิญช่างภาพมืออาชีพมาดูนิทรรศการ คำถามแรกคือเด็กถ่ายจริงเหรอ ใช้เลนส์อะไร กล้องอะไร นี่คือผลงานของเด็ก ๆ จริงเหรอ องค์ประกอบภาพต่าง ๆ เด็กรู้จักชัตเตอร์สปีด ความไวแสง เด็กรู้จักได้อย่างไร คือมีคำถามเยอะไปหมด ครูอุ้ยก็ให้เขาเดินดูนิทรรศการไปเรื่อย ๆ เมื่อเขาเดินดู เขาก็อ่านชื่อภาพ ซึ่งมันสัมพันธ์กับรูปที่เด็กถ่าย ทำให้ช่างภาพมืออาชีพชะงักไปเลย สุดท้ายเขาก็ยอมว่าเลยว่า เด็กมีจินตนาการที่ไร้ขอบเขต แล้วก็ไม่ถูกตีกรอบเหมือนกับเขา ที่มาถึงเขาก็ตั้งคำถามแล้ว แต่พอเขาได้เห็นภาพถ่ายของเด็ก บางภาพเขาอาจจะบอกว่าไม่สวย องค์ประกอบภาพไม่เห็นมีอะไร แต่พอได้ลองอ่านชื่อ เขาก็ตกใจในจินตนาการอันล้ำเลิศของเด็กเลย”
เด็กสอนผู้ใหญ่
“ครูอุ้ยประทับใจทุกปีเลย หนึ่งคือการที่เด็ก ๆ ได้ไปหาเรื่องราว แล้วเขาก็ไปเจอมุมมองต่าง ๆ ในโรงเรียน ซึ่งเราที่อยู่มาก่อนเขาหลายปี เราเดินผ่านมุมนี้ทุกวันทุกปี แต่เราไม่เห็น แล้วทำไมเด็ก ๆ เขาจึงเห็นนะ นี่แหละมันสะท้อนถึงความละเอียด ถึงมุมมองของพวกเขา ว่าเขากำลังคิดอะไร เขาสร้างเรื่องราวต่าง ๆ ขึ้นมาจากภาพถ่าย ถ่ายทอดออกมาจากจิตใจของเขาทั้งหมดเลย แล้วเด็กแต่ละคนก็ถ่ายทอดออกมาไม่เหมือนกัน อาจจะมีที่คล้าย ๆ กันบ้าง แต่ทุกอย่างเป็นแบบฉบับของตัวเด็กเอง แล้วเราเป็นผู้ใหญ่ เราอยู่ในโรงเรียนทุกวัน ทำไมเราไม่เห็นมุมแบบนี้เลย ซึ่งสิ่งเหล่านี้แหละ ที่ทำให้เราคิดได้หลายอย่าง คือเด็กเขาสอนเราตลอดเลย เขาสอนให้เรารู้จักสังเกต ให้ดูละเอียด พออยู่กับเด็กแล้วเราก็รู้สึกอบอุ่น”
นิทรรศการศิลปะภาพถ่าย (เด็กปฐมวัย) ชั้นอนุบาล 3 “EARLY CHILDHOOD FINE ART PHOTOGRAPHY” เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ในโปรเจกต์ “มองโลกผ่านเลนส์” โรงเรียนจิตตเมตต์ (ปฐมวัย) จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ – 3 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ ห้องแสดงนิทรรศการ JLC โรงเรียนจิตตเมตต์ (ปฐมวัย)
Writer
ณัฐฐฐิติ คำมูล
วัยรุ่นปวดหลังที่ใฝ่ฝันถึงสังคมที่ทุกคนเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง
illustrator
ธีรภัทร์ เศาธยะนันท์
ชอบกินลาเต้เย็น