Inquiry-Based Learning: สนใจ – สงสัย – สืบเสาะ กระบวนการเรียนรู้ที่เปิดให้ผู้เรียนค้นคว้าคำตอบได้ด้วยตนเอง
Inquiry-Based Learning: สนใจ – สงสัย – สืบเสาะ กระบวนการเรียนรู้ที่เปิดให้ผู้เรียนค้นคว้าคำตอบได้ด้วยตนเอง
- การเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ หรือ Inquiry-Based Learning คือ การจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ตั้งคำถาม ลองสำรวจปัญหาต่าง ๆ ในโลก มองหาสิ่งรอบตัวที่ผู้เรียนสนใจและต้องการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนได้แสวงหาและศึกษาค้นคว้าเพื่อสร้างองค์ความรู้ของตนเอง เป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของกระบวนการเรียนรู้
- การเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้จะเน้นให้ผู้เรียนได้เข้ามามีบทบาทในการริเริ่มหาประเด็นที่รู้สึกสนใจหรือมีข้อสงสัย และส่งเสริมให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ตลอดเวลา ซึ่งแตกต่างจากการศึกษารูปแบบเดิมที่ผู้สอนจะเป็นผู้กำหนดประเด็น รวบรวมข้อมูล สรุป และนำเสนอข้อมูลเพื่อให้ความรู้แก่ผู้เรียน
- 5 ขั้นตอนของการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ ได้แก่ 1. การสร้างความสนใจ (Engagement) 2. การสํารวจและค้นหา (Exploration) 3. การอธิบายและลงข้อสรุป (Explanation) 4. การขยายความรู้ (Elaboration) 5. การประเมินผล (Evaluation)
การเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ หรือ Inquiry-Based Learning คือ การจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสและส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ตั้งคำถาม ลองสำรวจปัญหาต่าง ๆ ในโลก มองหาสิ่งรอบตัวที่ผู้เรียนสนใจและต้องการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนได้แสวงหาและศึกษาค้นคว้าเพื่อสร้างองค์ความรู้ของตนเอง ช่วยพัฒนาและฝึกฝนทักษะในการคิดและการแก้ปัญหาของผู้เรียน
การเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ แตกต่างจากการศึกษารูปแบบเดิมที่ผู้สอนจะเป็นผู้กำหนดประเด็น รวบรวมข้อมูล สรุป และนำเสนอข้อมูลเพื่อให้ความรู้แก่ผู้เรียน เพราะการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้จะเน้นให้ผู้เรียนได้เข้ามามีบทบาทในการริเริ่มหาประเด็นที่รู้สึกสนใจหรือมีข้อสงสัย และส่งเสริมให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ตลอดเวลา หรือเรียกได้ว่าเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของกระบวนการเรียนรู้นั่นเอง
ประเภทของการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้
1. การสืบเสาะหาความรู้แบบมีโครงสร้าง
การสืบเสาะหาความรู้แบบมีโครงสร้าง เป็นกระบวนการที่จะช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้วิธีการตั้งคำถามและสืบเสาะปัญหาอย่างมีลำดับขั้นตอน การเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ประเภทนี้มักใช้ในการเรียนวิทยาศาสตร์ ซึ่งผู้เรียนจะได้รับโจทย์และได้รับการสอนวิธีใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหา
2. การสืบเสาะหาความรู้แบบปลายเปิด
แนวทางการสืบเสาะหาความรู้แบบปลายเปิด เป็นการสืบเสาะหาความรู้ในรูปแบบอิสระ โดยผู้เรียนจะได้รับอิสระในการสำรวจความสนใจและตั้งคำถามเกี่ยวกับหัวข้อที่กำลังศึกษาอยู่ การเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ประเภทนี้มักใช้ในวิชาเชิงมนุษยศาสตร์ ซึ่งเกี่ยวกับการสำรวจหัวข้อเชิงลึกและตั้งคำถามถึงประเด็นการถกเถียงในมุมมองต่าง ๆ
3. แนวทางการสืบเสาะปัญหา
แนวทางการสืบเสาะปัญหา เป็นแนวทางการเรียนรู้ที่ผู้เรียนจะได้รับมอบหมายให้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจริง การเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ประเภทนี้มักใช้ในวิชาคณิตศาสตร์และวิศวกรรม โดยผู้เรียนจะต้องนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริง
4. การสืบเสาะหาความรู้แบบมีการนำทาง
การสืบเสาะหาความรู้แบบมีการนำทาง เป็นแนวทางที่ผู้สอนจะทำหน้าที่เป็นผู้นำไปสู่การสืบเสาะหาความรู้ ผู้สอนจะแนะนำผู้เรียนผ่านกระบวนการสอบถามและกระตุ้นให้ผู้เรียนถามคำถาม รวมถึงส่งเสริมให้ผู้เรียนค้นหาวิธีแก้ไขปัญหาในชีวิตจริง โดยการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ประเภทนี้มักใช้ในห้องเรียนระดับประถมและมัธยมต้น
ขั้นตอนของการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้
1. การสร้างความสนใจ (Engagement)
เป็นการนําผู้เรียนเข้าสู่บทเรียนหรือเรื่องที่สนใจ ซึ่งอาจเกิดขึ้นเองจากเรื่องที่ผู้เรียนสงสัย จากความสนใจของตัวผู้เรียนเอง หรือเกิดจากการอภิปรายภายในกลุ่ม ซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้เรียนเริ่มตั้งคําถาม กําหนดประเด็นที่จะศึกษา และในกรณีที่ยังไม่มีประเด็นที่น่าสนใจ ผู้สอนอาจให้ศึกษาจากสื่อต่าง ๆ หรือเป็นผู้กระตุ้นด้วยการเสนอประเด็นขึ้นมาก่อน แต่ไม่ควรบังคับให้ผู้เรียนยอมรับประเด็นที่ผู้สอนกําลังสนใจเป็นเรื่องที่จะใช้ศึกษา
2. การสํารวจและค้นหา (Exploration)
เมื่อทําความเข้าใจประเด็นหรือคําถามที่สนใจศึกษาอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว ผู้เรียนจะต้องมีการวางแผนกําหนดแนวทางในการสํารวจและค้นคว้าหาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เพื่อที่จะสามารถสืบเสาะหาความรู้ได้อย่างเป็นระบบขั้นตอน จากนั้นจึงเริ่มลงมือค้นหาข้อมูลและรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ด้วยตนเอง
3. การอธิบายและลงข้อสรุป (Explanation)
เมื่อได้ข้อมูลที่เพียงพอแล้ว ผู้เรียนจะนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ สรุปผล และนําเสนอผลที่ได้ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การบรรยายสรุป การสร้างแบบจําลองทางคณิตศาสตร์ การวาดรูป สร้างตาราง ฯลฯ
4. การขยายความรู้ (Elaboration)
เป็นการนําความรู้ใหม่ที่ผู้เรียนสร้างขึ้นไปเชื่อมโยงกับความรู้เดิม ซึ่งจะช่วยเชื่อมโยงกับเรื่องต่าง ๆ ทําให้เกิดความรู้ที่กว้างขวางขึ้น
5. การประเมินผล (Evaluation)
เป็นการประเมินผลการเรียนรู้ด้วยกระบวนการต่าง ๆ ว่าผู้เรียนมีความรู้อะไรบ้าง มากน้อยเพียงใด จากนั้นจึงนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในเร่ื่องอื่น ๆ การนําความรู้ไปใช้อธิบายหรือประยุกต์ใช้ จะนําไปสู่ข้อโต้แย้งที่จะก่อให้เกิดประเด็นหรือคําถาม หรือทำให้ผู้เรียนมองเห็นถึงปัญหาที่ต้องการสืบเสาะหาความรู้ต่อไป
ประโยชน์ของการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้
1. ส่งเสริมการคิดเชิงวิพากษ์
การเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ ช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนได้ลองตั้งคำถามเกี่ยวกับข้อมูล และพัฒนาต่อยอดวิธีแก้ปัญหาเหล่านั้น จึงช่วยพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์และการคิดเชิงวิพากษ์ของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี
2. พัฒนาทักษะการแก้ปัญหา
การเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ ช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาทักษะการแก้ปัญหา เมื่อผู้เรียนได้มีโอกาสสำรวจปัญหาที่พบได้ในชีวิตจริง ผู้เรียนจะได้คิดนอกกรอบและหาทางแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง ซึ่งเป็นการกระตุ้นและพัฒนาทักษะสำคัญที่จะช่วยให้ผู้เรียนนำไปต่อยอดเพื่อแก้ปัญหาอื่นได้ในอนาคต
3. สร้างเสริมความคิดสร้างสรรค์
เมื่อผู้สอนเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้สำรวจปัญหาด้วยตนเอง ผู้เรียนจะสามารถหาวิธีแก้ปัญหาที่ไม่จำเป็นต้องยึดตามตำราหรือบทเรียน แนวคิดการเรียนรู้นี้จึงช่วยเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียนได้
4. พัฒนาทักษะการสื่อสาร
เมื่อทำงานเกี่ยวกับการสืบเสาะหาความรู้และการแก้ไขปัญหา ผู้เรียนมักจะต้องอธิบายความคิดและนำเสนอแนวคิดของตนให้ผู้อื่นฟัง สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้วิธีการสื่อสารกับผู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสารให้ดียิ่งขึ้น
5. เชื่อมโยงการเรียนรู้กับชีวิตจริง
การเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ช่วยเชื่อมโยงการเรียนรู้เข้ากับชีวิตจริง เมื่อผู้เรียนมีโอกาสได้สำรวจปัญหาที่มีอยู่จริง ผู้เรียนจะเห็นว่าสิ่งที่เรียนรู้ในห้องเรียนนั้นสามารถนำมาประยุกต์เพื่อแก้ปัญหาได้ และยังช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย
อ้างอิง
https://www.splashlearn.com/blog/what-is-inquiry-based-learning-a-complete-overview/https://knowledgequest.aasl.org/the-5-es-of-inquiry-based-learning/https://www.edutopia.org/article/how-use-5e-model-your-science-classroom/#:~:text=One%20approach%20to%20inquiry%20science,their%20learning%20to%20new%20contexts.
Writer
ณัฐนรี บัวขม
มีชีวิตอยู่เพื่อดูคลิปตลก คีบตุ๊กตา และเดินหาร้านอร่อยในย่านบรรทัดทอง
illustrator
พรภวิษย์ เพ็งเอียด
ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม