เซ็กซ์ เพศ และกาแฟยามบ่าย ส่วนผสมของ ‘Day/DM’ คาเฟ่ที่หยิบเรื่องเพศมานั่งคุยกันชิลๆ กลางเยาวราช

เซ็กซ์ เพศ และกาแฟยามบ่าย ส่วนผสมของ ‘Day/DM’ คาเฟ่ที่หยิบเรื่องเพศมานั่งคุยกันชิลๆ กลางเยาวราช

Day/DM Cafe ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าร้านนี้มีศักดิ์เป็นคาเฟ่ ทันทีที่ย่างก้าวเข้าไป เราจึงมุ่งไปที่บาร์ เพื่อดูเมนูก่อนเป็นอันดับแรก แต๋ม-วิสุทธิ์รัตน์ รุ่งนพคุณศรี และ เอช-ประติมา รักษาชนม์ สองคู่รักเลสเบี้ยนเจ้าของร้าน เมื่อรู้ว่าเรากำลังเล็งเมนูชาอยู่ ก็เข้ามาแนะนำทันทีว่าที่ร้านมีทั้งชาภาคใต้ และชาอินเดีย ซึ่งต่างกันที่ความเข้มของชา ขึ้นอยู่กับความชอบ และนั่นทำให้เราจิ้มเลือกเมนูที่อยากดื่มยามบ่ายได้ถูก โดยกล้าที่จะโอบรับเมนูชาใหม่ๆ ที่ไม่เคยชิมด้วยความเบาใจ 

การให้ ‘คำแนะนำ’ ที่ทั้งคู่ใส่ใจ ไม่ได้มีแค่เรื่องกาแฟ ชา หรือเครื่องดื่มอื่นๆ ในร้าน เพราะสิ่งที่ทำให้คาเฟ่นี้ไม่เหมือนคาเฟ่ไหน คือบริการรับฟัง และให้คำปรึกษาเรื่อง ‘เพศ’ จากแต๋มและเอชที่เป็นนักเพศวิทยา บางคนอาจจะเอ๊ะ และงงว่าเรื่องเพศทำไมมาอยู่ในคาเฟ่? แต่หากมองเรื่องเพศเป็นเรื่องง่ายๆ เหมือนการ explore ความรู้เรื่องเมนูเครื่องดื่มที่ผู้คนสามารถมีรสนิยมความชอบ และค้นหาตัวเองไปเรื่อยๆ ได้ แค่กล้าที่จะพูด กล้าที่จะขอคำแนะนำ และกล้าที่จะลอง มันก็ไม่ได้ต่างอะไรกันเท่าไหร่ และเป็นใจความหลักที่เจ้าของร้านทั้งสองอยากให้เกิดขึ้น เพราะเรื่องเพศเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถคุยกันได้ทุกที่ ไม่เว้นแต่ในคาเฟ่ ตามสโลแกน “คุยเรื่องเพศ แบบไม่ต้อง DM”

คาเฟ่แห่งนี้ตั้งอยู่ในเยาวราช พื้นที่ประวัติศาสตร์เรื่องเพศแห่งหนึ่งของประเทศไทย ใกล้ๆ กันมีทั้งวัดคณิกาผลที่สร้างโดย sex worker มีพื้นที่ที่ sex worker ยืนทำงานทุกวัน มีศาลเจ้าที่ผู้คนมาขอพรเรื่องคู่ และแน่นอน ย่านนี้มีผู้คนที่เป็นเพศหลากหลายอาศัยอยู่เช่นกัน จะเห็นได้ว่าเรื่องเพศผูกติดกับผู้คนมาอย่างยาวนาน Day/DM Cafe จึงตอกย้ำว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องที่มีอยู่จริง (มีมานานแล้วด้วย) พูดถึงได้ และควรได้รับอนุญาตให้ทุกคนสำรวจเรื่องนี้

ขณะที่สังคมฝังกลบเรื่องเพศให้อยู่ในที่ลับ จนผู้คนต้องทักหาใครบางคนเพื่อคุยเรื่องเพศในแชทมากกว่าออกจากบ้านไปเล่าให้ผู้เชี่ยวชาญฟัง คาเฟ่นี้กำลังดันเพดานให้เรื่องเพศอยู่ในที่แจ้งและสว่าง เพื่อให้ทุกคนไม่รู้สึกผิดแปลกที่จะพูดถึงความสงสัยใคร่รู้หรือความอึดอัดใจที่เจอ ไม่ว่าจะเรื่องเพศสัมพันธ์ ความสัมพันธ์ เพศหลากหลาย เพศวิถี เพศกำเนิด ความสุขทางเพศ สุขภาวะทางเพศ สิทธิเนื้อตัวร่างกาย การวางแผนครอบครัว ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นหัวข้อสำคัญ ที่หลายคนมีปัญหา แต่ทำไมกันล่ะ ถึงเลี่ยงพูดถึงมัน แต๋มและเอชเลยคิดว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องเดียวกับ ‘การเมือง’ เพราะกว่าจะเป็นเรื่องที่ตั้งคำถามได้ในปัจจุบัน ก็ไม่ง่ายเลย นั่นแปลว่าเราอยู่ในสังคมแบบไหนกันที่ทำให้ผู้คนไม่กล้าพูดถึงการเมือง หรือไม่กล้าพูดถึงเรื่อเพศกันอย่างตรงไปตรงมา?

Day/DM พร้อมที่จะรับฟังคำพูด และสิ่งที่คุณแชร์เกี่ยวกับคำถามเรื่องเพศโดยไม่ตัดสิน ไปรู้จักความตั้งใจของเจ้าของร้าน และเรียนรู้เรื่องเพศไปพร้อมๆ กัน

คาเฟ่กับเรื่องเพศ ดูเป็นพื้นที่ที่ดูไม่น่าจะไปด้วยกันได้ อะไรที่ทำให้คุณมองเห็นความเป็นไปได้นั้น และเปิด Day/DM ขึ้นมา

เอช: จุดเริ่มต้นมาจากการที่พวกเรามีแอคเคานต์ในทวิตเตอร์ที่ให้ความรู้เรื่องเพศ และชูประเด็นเรื่องเซ็กซ์ทอยถูกกฎหมายอยู่แล้ว ทีนี้เราได้รับคำถามจำนวนมากเกี่ยวกับเรื่องสุขภาวะทางเพศ ซึ่งเราก็มานั่งคิดว่า ทำไมเขาถึงเลือกมาถามเรากันนะ เราดูมีความรู้มากขนาดนั้นเลยเหรอ หรือเราไม่ควรจะเป็นคนที่มานั่งตอบคำถามเหล่านี้หรือเปล่า เพราะบางครั้งคำถามที่เจอก็เริ่มยากขึ้นเรื่อยๆ เราเริ่มเจอคำถามที่เริ่มยากขึ้น 

แต๋ม: ถ้าเราป่วยกาย เราอาจเลือกไปถามเภสัชฯ หรือเสิร์ชกูเกิ้ลหาช่องทางให้บริการออนไลน์ แต่พอเป็นปัญหาเกี่ยวกับเรื่องเพศ ถ้าคันอวัยวะเพศ เรากลับไม่รู้ว่าจะต้องถามใคร ถ้าสมมติมีเซ็กซ์กับแฟน แล้วเราไม่ฟิน เราก็ไม่แน่ใจอีกว่าจะถามใครได้บ้าง คำถามเหล่านี้ จึงตกมาอยู่กับคนธรรมดาที่ดูเซ็กซี่ หรือแอคเคานต์ที่ทำคอนเทนต์เรื่องเพศ โดยที่เราไม่รู้จักเขา ซึ่งมันไม่ควรจะเป็นแบบนั้นไหม สังคมแบบไหนกันนะที่ทำให้คนที่มีปัญหาเรื่องเพศ เลือกไปถามคนที่เราไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าเขามีความรู้มากพอหรือไม่ ทำไมเราถึงไม่เลือกไปถามผู้เชี่ยวชาญหรือแพทย์แทน

นั่นทำให้เราตั้งคำถามกับตัวเองว่าเรามีความรู้มากพอจริงไหม ฉันเป็นวิศวกร ข้อมูลที่ฉันแชร์ให้คนอื่นต่อมาจากการที่ฉันอ่านวิจัยมา ไม่ได้จบด้านนี้โดยตรง แต่มีคนมากมายเลยที่ไว้ใจให้เราตอบคำถาม

เอช: เราก็เป็นครูคนหนึ่งที่ยึดมั่นว่า อะไรที่ไม่ถูกต้อง เราจะไม่บอก อะไรที่ถ้ามันไม่ใช่ เราจะสื่อสารไปทำไม เพราะสอนใครครั้งหนึ่งเขาจะจำไปจนวันตาย การให้ข้อมูลกับใครจึงควรเป็นสิ่งที่ถูกต้อง กลับมาที่ตัวเรา เราจะรู้ได้ยังไงว่าข้อมูลที่รับรู้มาถูกต้อง เราสองคนก็เลยตัดสินใจไปลงเรียนเพศวิทยาคลินิก (Clinical Sexology) ที่ธรรมศาสตร์

แต๋ม: คอร์สนี้จะเกี่ยวกับเรื่องเพศโดยเฉพาะ บรรยากาศการเรียนการสอน ทำให้เราได้เห็นว่าทุกคนคุยเรื่องเพศกันตลอดเวลา เล่าเรื่องเพศของตัวเอง ฟังเรื่องเพศของคนอื่น ทำให้เรารู้สึกสนิทกับคนในคลาสได้เร็ว จากที่เราเคยยึดติดว่าคนที่พูดเรื่องเพศต้องมีความเซ็กซี่ เรื่องเพศจะพูดคุยได้แค่ในผับ ไม่ก็โรงพยาบาลไปเลย แต่พอเรามีกลุ่มคนที่พูดคุยเรื่องเพศในสถานที่ต่างๆ กันได้อย่างปกติและเป็นธรรมชาติ เราเลยรู้สึกว่า เอ้า มันสามารถพูดคุยได้ปกตินี่หน่า ไม่ใช่ทุกหัวข้อ ทุกท็อปปิกที่พูดคุยเกี่ยวกับเรื่องเพศจะไปเป็นการคุกคามคนอื่น เพราะถ้าเราคุยเรื่องเพศในร้านอาหาร มันก็เป็นเรื่องส่วนตัวของเรากับคู่สนทนาเท่านั้น มันควรจะคุยกันได้โดยไม่ต้องกลัว

เอช: ตัวคลาสเรียนทำให้เราได้ใบ certificate ในการเป็นนักเพศวิทยา พอเรามั่นใจตัวเราแล้วว่าเราสามารถสื่อสารออกไปได้ เราเลยรู้สึกอยากสร้างบรรยากาศการเรียนรู้แบบนี้นอกห้องเรียนบ้าง เลยเป็นจุดเริ่มของการหาพื้นที่ที่เราจะได้มีโอกาสให้ข้อมูลเรื่องเพศที่ไม่ถูกพูดในสังคมวงกว้าง 

แต๋ม: โจทย์ของเราคือ เราไม่ชอบผับหรือที่ที่มีแสงน้อยๆ เพราะมันมีกลุ่มคนที่ไม่ได้ชอบบรรยากาศเซ็กซี่อยู่ แต่เรายังคงเชื่อว่าทุกคนมีปัญหาเรื่องเพศ ดังนั้นเราเลยอยากสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับคนที่ไม่ได้สะดวกใจในการไปผับให้ได้มีโอกาสมาคุยกันเรื่องเพศ ทีนี้ความตั้งใจของเราคือเราอยากคุยกับคนชุมชน ถ้าเราเปิดเป็น activity house เป็นเวิร์กช็อป คนที่มาก็จะเป็นแค่คนที่ตั้งใจจะมาเวิร์กช็อปอยู่แล้ว ซึ่งอาจจะพลาดโอกาสในการพูดคุยกับคนในชุมชน หรือคนที่เดินผ่านไปผ่านมา พอทำเป็นคาเฟ่ มีเครื่องดื่ม คนที่ไม่ได้ตั้งใจจะมา ก็ได้แวะเข้ามาในสถานที่นี้ได้

เอช: เพราะบางทีการคุยเรื่องเพศ จะไปเปิดประเด็นเรื่องเพศเลย มันอาจจะยากมาก แต่ถ้าเขามานั่งชิลๆ ดูบรรยากาศ แล้วสนใจตรงไหนของร้าน เราก็เริ่มจากคำถามของเขา และเปิดบทสนทนาได้ เพื่อที่จะให้เขาได้แชร์ หรือพูดคุยถึงปัญหา หรือประสบการณ์ที่ตัวเองเจอ

แต๋ม: เรื่องเพศควรเอามาคุยกันอย่างโจ่งแจ้งได้แล้ว และคุยในพื้นที่เปิดได้ มันไม่ควรอยู่ในที่ปิดด้วยความอับอาย เราอยากเห็นคนมาถกเถียงกัน มาหาวิธีการแก้ไขปัญหา หรือทำความเข้าใจร่วมกัน จนเกิดเป็นชื่อร้าน Day/DM (เดย์/เดม) ที่มาจาก direct message เอาเรื่องที่แอบคุยกันในแชท ในที่ลับ ในที่ส่วนตัว มาคุยกันตอนกลางวันกันดีกว่า

เข้ามา Day/DM จะเจออะไรบ้าง

เอช: นอกจากขายน้ำ ขายกาแฟแล้ว บางวันก็จะมีขนมให้ลูกค้าเลือกซื้อ ภายในร้านเราก็จะมีหนังสือเกี่ยวกับเรื่องเพศที่เราคัดมา เช่น หนังสือรวบรวมวิจัยเรื่องเพศ หนังสือจิตวิทยา หนังสือของนักกิจกรรมทรานส์ ซึ่งล้วนเป็นหนังสือที่เราสนใจกัน เพราะตัวเราก็อ่านหนังสือเพื่อหาข้อมูลกันอยู่แล้ว

แต๋ม: สำหรับคนที่เขาไม่ได้ตั้งใจจะเข้ามาพูดเรื่องเพศ บรรยากาศของร้านมันก็มีสิ่งที่น่าสงสัยหลายอย่างว่าอันนี้คืออะไร ถ้าเราตอบไป เขาอาจจะอยากคุยต่อ ก็จะได้คุยกันเรื่องเพศ แลกเปลี่ยนหรือแชร์ข้อมูลเรื่องเพศกับเขา แต่ถ้ามานั่งเฉยๆ ก็ได้เหมือนกัน แต่ด้วยบรรยากาศร้านเปิด ลูกค้าอาจจะไม่สะดวกในการปรึกษาเราจริงจัง เราเลยเปิดบริการให้คำปรึกษาเรื่องเพศที่เขาสามารถจองเวลาเข้ามาได้

เอช: เรามีทีมให้คำปรึกษาในเรื่องของสุขภาวะทางเพศที่เป็นลักษณะการบำบัดรักษาที่แก้ไขปัญหาเฉพาะตัว เพราะเวลาคุยกันเรื่องเพศ มันมิติอยู่มาก แต่ละคนเจอเรื่องราวมาไม่เหมือนกัน ร่างกายแต่ละคนไม่เหมือนกัน สภาวะจิตใจก็ไม่เหมือนกัน เลยทำให้เราไม่สามารถใช้ประสบการณ์ของคนใดคนหนึ่งมาแก้ไขปัญหาของอีกคนได้ เหมือนเราฟังอินฟลูฯ พูด แต่ว่ามันไม่ใช่เรื่องของเรา เป็นเรื่องของเขา เราทดลองตามที่เขาพูดได้ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องคิดไว้เสมอว่าเรื่องเพศของคุณ ร่างกายของคุณมีหนึ่งเดียว ปัญหาที่ต้องแก้ของคุณจึงเป็นปัจเจก 

แต๋ม: การรับคำปรึกษาจากนักเพศวิทยา มันเหมือนการพบนักจิตปรึกษา แต่กระบวนการจะต่างกันเล็กน้อย เพราะจะมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องเพศเพิ่มเติม แต่โดยรวมคล้ายกันอยู่ค่ะ เพราะเรื่องเพศเป็นปัญหาทางร่างกายส่วนหนึ่ง สภาพจิตใจข้างในด้วยส่วนหนึ่ง และสังคมอีกส่วนหนึ่ง  

เอช: นอกจากนี้เรายังเปิดพื้นที่ให้นักกิจกรรม และนักสิทธิต่างๆ มาแชร์ประเด็นของตัวเองด้วย พอเราได้เข้าไปเป็นนักเพศวิทยา เรามีโอกาสได้เจอกับกลุ่มนักกิจกรรมที่พูดถึงประเด็นเฟมินิสต์ และเพศหลากหลาย ซึ่งคนที่มีปัญหาตรงนี้บางคนยังไม่เจอคนที่ช่วยเหลือเขาได้ หรือช่วยเขาผลักดัน แก้ไขปัญหาเหล่านั้น เราเลยพยายามประกาศว่าตรงนี้เป็นพื้นที่สำหรับเพื่อนๆ ที่มีเพศหลากหลาย และเพื่อนๆ ที่มีปัญหาในเรื่องสุขภาวะทางเพศให้ได้มาพบเจอกับคนที่กำลังทำงานเรื่องนี้อยู่

แต๋ม: และเรามีเวิร์กช็อปที่ walk-in เข้ามาได้เลย คือเวิร์กช็อปเทสีไหลที่จะพูดเรื่องเพศหลากหลาย เพราะว่าเราคุ้นชินกับ gender fluid แต่ fluid มันคืออย่างไรล่ะ เราก็จะให้คำตอบนั้นผ่านการดูการไหลของสีมันไหลไปได้อย่างไรบ้าง

คำถามยอดฮิตหรือบทสนทนาที่คนมักแวะเวียนเข้าชวนคุย หลังเปิดคาเฟ่นี้มีอะไรบ้าง

เอช: อย่างแรกเลย เซ็กซ์ทอยผิดกฎหมายเหรอ? เพราะว่าเราพูดและให้ความรู้เรื่องเซ็กซ์ทอยกันอยู่แล้ว ลูกค้าต่างชาติก็มักจะถามว่าเซ็กซ์ทอย หรือ sex worker ผิดกฎหมายเหรอ เราก็แบบ ใช่ เขาก็ตกใจ ถามว่าทำไมล่ะ

แต๋ม: นั่นสิ ทำไมกันนะ (หัวเราะ)

เอช: ต่อมาคือนักเพศวิทยาคืออะไร? เพราะเราเขียนไว้ที่ป้ายหน้าร้านว่า มาเจอกับนักเพศวิทยา คนก็จะสงสัยว่ามันคืออะไร ซึ่งคำนี้ก็ยังเป็นคำที่ค่อนข้างใหม่ในพื้นที่สังคมไทย เพราะยังไม่ค่อยถูกพูดถึง แต่จริงๆ นักเพศวิทยาคือบุคคลที่สามารถให้ความรู้เรื่องของสุขภาวะทางเพศองค์รวมได้ โดยมีวิธีการให้คำปรึกษาเบื้องต้น เพราะแค่เรื่องเพศเบื้องต้นคนก็ยังไม่รู้เลย เช่น บางคนไม่รู้วิธีการกินยาคุม หรือไม่รู้ว่ายาคุมมีแบบไหน ผลข้างเคียงของยาคุมมีอะไรบ้าง หรือเรื่องการแพ้ถุงยาง ที่คนก็ไม่รู้กันว่ามันแพ้ได้นะ 

แต๋ม: สโคปเรื่องเพศมีอะไรบ้าง? อีกคำถามที่เขาถามต่อหลังจากรู้ว่าเราให้ความรู้เรื่องเพศ คือเรื่องเพศมันประมาณไหนกันนะ นิยามคำว่าเพศของเรายังมีความคลุมเครือ

เอช: ซึ่งเรื่องเพศไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพศสัมพันธ์ เพศสัมพันธ์เป็นร่มหนึ่งของเรื่องเพศก็จริง แต่จริงๆ มีหลายเรื่องมากที่ซ้อนอยู่ข้างใน เช่น เรื่องความสัมพันธ์ เรื่องเพศหลากหลาย เรื่องเพศวิถี เรื่องเนื้อตัวร่างกาย เรื่องโครงสร้างครอบครัว เรื่องการวางแผนครอบครัว เป็นต้น ดังนั้นเรื่องเพศจึงเป็นจุดเริ่มต้นของหลายๆ เรื่องที่นำมาสู่ปัญหา หรือนำไปสู่แบบแผนในชีวิตของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน มันเลยทำให้เรื่องเพศเป็นร่มใหญ่มากๆ ที่ควรมานั่งพูดคุยกัน 

เช่น ถ้าเรารู้สึกผิดที่เรายังไม่แต่งงานตอนอายุ 30 ก็นับรวมเป็นปัญหาเรื่องเพศแล้ว เพราะการที่ไม่ได้แต่งงานตอนอายุ 30 แล้วเรารู้สึกไม่ดี มันเกิดจากกรอบอะไร กรอบของใคร และใครสร้างกรอบให้เรารู้สึกแบบนั้น เราก็จะให้ความรู้เขาเชิงวิชาการ เชิง educator ว่าปัญหาที่คุณเจอ มันมีทั้งปัญหาสังคม ปัญหาส่วนตัว ปัญหาคนรอบข้างที่เข้ามา เพื่อให้เขานำข้อมูลนั้นไปใช้ต่อกับตัวเองได้

แต๋ม: อีกคำถามที่เจอบ่อยๆ คือเขาไม่มั่นใจในวิถีทางของตัวเอง เช่น ฉันสามารถเป็นอันนี้ได้ไหม ทำอันนี้ได้ไหม เป็นแบบนี้แล้วถูกหรือเปล่า เราเป็นแบบนี้หรือเปล่านะ เราเป็นเกย์หรือเปล่า ชอบทั้งผู้หญิงผู้ชาย มันผิดปกติไหม ชอบตุ๊ด ชอบเกย์ผิดไหม เรามีรสนิยมทางเพศแบบนี้มันผิดปกติหรือเปล่า ทุกคนกำลังตามหาอะไรบางอย่างในตัวเอง ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่มีอะไรผิดปกติเลย เพราะความปกติของเพศมันคือค่านิยมสังคม ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากคนที่แชร์ประสบการณ์เรื่องเพศในสังคมยังไม่มากพอ หรือบางครั้งเราคุยกับเพื่อนแล้วดันไม่เหมือนเพื่อน ทำให้เราสงสัยในตัวเอง พอเราฟังคนพูดจนรู้สึกว่าทำไมฉันไม่เห็นเป็นเหมือนเขาเลย กลายเป็นว่าคนที่พูดดูเป็นคนปกติ ส่วนเราดูไม่ปกติ ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่

จากคำถามที่ลูกค้าหยิบยกมาถามเราด้านบน กำลังบอกอะไรกับสังคมบ้าง

แต๋ม: เรื่องเพศเป็นเรื่องของการเมือง มันสะท้อนทุกอย่างว่าเราเติบโตมาอย่างไร เราอยู่ในสภาพสังคมแบบไหนที่ทำให้เราสงสัยในสิ่งที่เราเป็น และแหล่งข้อมูลเรื่องเพศในรูปแบบภาษาไทยของประเทศเราก็มีแค่ไม่กี่แหล่ง พอผู้คนมีปัญหาเรื่องเพศขึ้นมา มันสะท้อนกลับไปถึงว่า การศึกษาเรื่องเพศของเราในโรงเรียนไทยยังไม่เปิดกว้างพอ และไม่ครบถ้วนพอที่ทำให้คนที่จบออกมาจากระบบการศึกษามีความรู้เพียงพอในการรับมือต่อปัญหาเรื่องเพศของเขา คล้ายๆ กับการที่การศึกษาไทยไม่สอนให้เราคำนวนภาษี แต่มันเป็นเรื่องที่เราต้องเจอแน่ๆ ตอนเข้าสู่วัยทำงาน เรื่องเพศก็เช่นเดียวกัน ที่ร้อยละ 90 ของคน ต่างมีเพศสัมพันธ์ แต่กลับไม่มีการสอนเรื่องความสุขทางเพศ บางโรงเรียนสอนเรื่องการป้องกัน แต่บางโรงเรียนก็ไม่สอน และด้วยหลักสูตรการศึกษาที่ไม่ได้มีบรรจุไว้แน่ชัดว่าต้องสอนเรื่องเพศอย่างไร บางครั้งข้อมูลที่เด็กได้รับอาจเป็นประสบการณ์ของครู

ซึ่งประสบการณ์นั้นสามารถใช้กับทุกคนจริงหรือเปล่า สมมติครูชอบกินยาคุมยี่ห้อหนึ่ง และบอกนักเรียนว่าดี แต่เด็กในห้องอาจไม่ถูกกับยี่ห้อนี้ก็ได้ แต่เขามีความเชื่อไปแล้วว่าดี เพราะรับรู้มาแบบนั้น พอเกิดอาการแพ้ ก็เกิดสงสัยขึ้นมาอีกว่าตัวเองปกติไหม ปัญหาอยู่ที่ฉันหรือเปล่า ทั้งๆ ที่ครูควรจะบอกนักเรียนว่ายาคุมมีหลายยี่ห้อ มีหลายรูปแบบ และแต่ละแบบต่างกันอย่างไรให้ชัดเจนไปเลย

เอช: ทางราชการไม่ได้สนับสนุนให้คนไทยพูดถึงเรื่องเพศ เพราะเรื่องเพศเป็นเรื่องที่ดูบาป ดูผิดศีลธรรมเหลือเกิน ซึ่งคาดว่ามาจากการตีความเรื่องศาสนาพุทธของแต่ละคน ขณะเดียวกันเรื่องเพศก็เป็นเรื่องที่ถูกห้ามพูดถึงในสังคมไทยไปโดยปริยาย เราห้ามเด็กพูดถึงการมีเพศสัมพันธ์ ห้ามเด็กมีแฟน ห้ามเด็กมีความสัมพันธ์ ห้ามเด็กผู้หญิงจับมือเด็กผู้ชาย แล้วถ้าเราชอบผู้หญิงแล้วจับมือเด็กผู้ชายมันแปลกตรงไหนล่ะ หรือการชอบเพศเดียวกัน เป็นเพศหลากหลายเป็นเรื่องแปลก สิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ผิดแปลกไปสำหรับรัฐ

แต๋ม: เรื่องเพศดูเป็นนังตัวร้ายในสังคม มันมีอาชญากรรมที่มาจากเรื่องเพศค่อนข้างเยอะในไทย ผัวตบเมีย ผัวฆ่าเมีย เมียฆ่าผัว แม้กระท่ังคดีฆ่าข่มขืน ข่าวเหล่านี้ก็คือเรื่องเพศ เราเห็นความต่ำทรามของเรื่องเพศในสื่อเยอะมาก ถ้าให้เรานึกว่ามีการพูดถึงเรื่องเพศในแง่ดีตอนไหนบ้างใน 3 เดือนที่ผ่านมา เราก็อาจจะนึกกันไม่ออก เพราะข่าวเรื่องเพศดีๆ ในหน้าสื่อ โดยเฉพาะสื่อกระแสหลักมันไม่ค่อยถูกนำเสนอ พ่อแม่ที่ไม่ได้เล่นอินเตอร์เน็ต หรือคนที่ไม่ได้แอคทีฟโซเชียลมาก ไม่ได้ติดตามสื่อหรือคอนเทนต์เรื่องเพศเชิงบวก เขาก็จะได้รับข่าวสารแต่เรื่องเพศลบๆ แบบนั้นต่อไป

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ แทนที่จะบอกว่าเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักทำให้เสียวมาก กลับกลายเป็นมีแต่คนบอกว่ามีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักเสี่ยงติด HIV มันเหมือนเราพูดกันแต่ข้อที่ทำร้ายคนมากกว่าข้อที่เป็นประโยชน์ต่อผู้คน

เมื่อเซ็กซ์เคยเป็นเรื่องต้องห้าม และตอนนี้ก็ยังต้องห้ามอยู่ในสายตาบางคน คิดว่าในประเทศไทย มีอะไรบ้างที่หล่อหลอมให้ผู้คนรู้สึกแบบนั้น

เอช: ส่วนหนึ่งที่เราไม่กล้าพูดเรื่องเพศกัน มันเกี่ยวเนื่องกับสังคมที่เขาอยู่อาศัย บริบทที่แวดล้อมเขา ว่าเขามีคนที่สามารถพูดคุยเรื่องเพศได้หรือเปล่า บางครั้งเขาเจอปัญหาแล้วแหละ แต่ถ้าพูดแล้วจะถูกตีตรากลับมาไหม จะโดนตัดสินหรือเปล่า โดนมองว่าเป็นคนไม่ดีของสังคมที่ตัวเองอยู่หรือเปล่า เพราะทุกคนต้องการความมั่นใจในการสื่อสาร 

แต๋ม: มันเป็นเรื่องของความเชื่อ และบางอย่างก็ถูกปลูกฝังให้อยู่ในจิตใต้สำนึกไปแล้ว เราโตมากับคำว่ากุลสตรี และสุภาพบุรุษ เรามีกรอบอยู่แล้วว่า การเป็นคนดี เป็นยังไง และเราถูกปลูกฝังด้วยความเชื่อว่า เราต้องโตมาเป็นคนดี แต่ว่า ในบริบทเรื่องเพศที่แฝงอยู่ใต้ความเป็นคนดี มันมีอยู่มากมาย เช่น เป็นผู้หญิงต้องเรียบร้อย ห้ามใส่กระโปรงสั้น ถ้ากระโปรงเปิดแล้วมันไม่ดี อย่าให้เขาเห็นกางเกงในเด็ดขาดนะ อีกแง่ถ้าเป็นผู้ชาย ก็คงห้ามใส่กางเกงที่เปิดจนเห็นกางเกงในเหมือนกัน แต่ไม่มีใครบอกผู้ชายชัดเจนว่าถ้าเห็นแล้วมันจะเป็นยังไงต่อ กลับกันผู้หญิงบางคนอาจจะได้รับข้อมูลว่า ถ้ามีคนเห็นกางเกงในเราแล้ว เขาจะอยากข่มขืนเรา 

พอเรารับรู้ข้อมูลชุดนี้ตั้งแต่เด็ก หรืออยู่ในครอบครัวที่ไม่ได้พูดถึงเรื่องเพศกัน ไม่ได้เข้าใจตรงกันว่า ถ้าลูกสาวบอกแม่ว่าหนูมีแฟนแล้วนะตั้งแต่ ป.1 ความหมายของคำว่าแฟนของลูก กับของพ่อแม่ มันเหมือนหรือต่างกันอย่างไร การที่ไม่ได้เกิดการพูดคุยในสภาพแวดล้อมที่เราเติบโตมา โดยเฉพาะในโรงเรียนและในครอบครัว ซึ่งเป็นสองสภาวะแวดล้อมที่เด็กใช้ชีวิตมากที่สุด มันทำให้ชุดข้อมูลบางอย่างที่เด็กได้ยินมาฝังอยู่ในจิตใต้สำนึก โดยไม่รู้ตัว พอมันอยู่ข้างในลึกๆ นานวันเข้า แม้บางคนจะเติบโตขึ้นมา และได้ข้อมูลชุดใหม่ รู้แล้วว่าเราสามารถพูดเรื่องเพศได้นะ แต่พอย้อนกลับไปมองสิ่งที่ถูกปลูกฝังมา สำหรับบางคนอาจจะยาก ที่จะมองข้ามไป 

คิดว่าทัศนคติเรื่องเพศที่เราถูกปลูกฝังกันมานาน เชื่อมโยงกับการเหยียดเพศ หรือความไม่เท่าเทียมทางเพศอย่างไรบ้าง และมันกระทบกับคนแต่ละเพศอย่างไร

เอช: เราต้องเข้าใจก่อนว่าสังคมไทยยังมีความเป็นปิตาธิปไตยสูง และความชายเป็นใหญ่มันไม่ได้ทำงานกับผู้หญิงเพียงอย่างเดียว แต่เป็นทุกคนที่อยู่ภายใต้ระบบปิตาธิปไตยนี้ คำว่าปิตาธิปไตย ไม่ได้หมายถึงคนที่เป็นเพศชาย แต่มันคือระบบที่มีความเข้มงวด กดดัน ตีตรา ตีกรอบ ทำให้กระด้าง มีความเป็นโครงสร้าง มีความเป็นอะไรก็ตามที่บังคับให้เราต้องไปยึดโยงกับมัน ไม่งั้นเราจะถูกมองว่าไม่ใช่คนปกติ 

สังคมแบบนี้ผลักให้เราแสวงหาคนที่เหมือนเราอยู่ตลอดเวลา เราพยายามหาสังคมที่โอบรับเรา เราถูกสอนมาให้เหมือนคนอื่น เราถูกสอนมาให้ทำตามคนอื่น เป็นอย่างคนอื่น ไม่งั้นสังคมจะไม่ยอมรับ ถ้าเราไม่ได้เป็นตามกรอบสังคม เราจะถูกผลักออก ซึ่งกรอบนั้นก็คือปิตาธิปไตย และถ้าวันหนึ่งเรารู้สึกไม่เข้าใจกับการที่เราต้องทำตามกรอบนี้ และไม่อยากเป็นตามกรอบนั้นแล้ว เช่น ถ้าเราไม่เป็นผู้ชายที่เขาบอกว่าต้องเข้มแข็ง ไม่งอแง ห้ามร้องไห้ ห้ามใส่กระโปรง เราจะถูกสังคมตีตราไหม กรอบที่ใครก็ไม่รู้เป็นคนสร้างมาให้เราคิดตาม กลายเป็นบั๊กที่อยู่ในหัวของหลายคน 

สิ่งที่จะทำลายกรอบนั้นได้ คงเป็นความรู้ ความเข้าใจว่าโลกนี้มันแตกต่าง หลากหลาย โลกนี้มันมีความเป็นปัจเจกบุคคลมาก เรามีสิทธิจะเป็นอะไรก็ได้ที่อยากเป็น จะทำตามกรอบก็ได้ หรือไม่ทำตามกรอบก็ได้ หรือจะสร้างกรอบใหม่ขึ้นมาเองก็ได้ หรือจะอยู่ในกรอบเดิมก็ได้ มันเป็นพื้นที่ของเรา ที่เราทำได้ด้วยตัวเอง และเมื่อใดที่คนเริ่มตั้งคำถามกับกรอบนั้นเรื่อยๆ จนตัดสินใจไม่อยู่ตามกรอบนั้นอีกแล้ว ปิตาธิปไตยก็จะถูกสั่นคลอน และโครงสร้างของมันก็จะผุพังไป

แต๋ม: ทุกคนจะมีโรลโมเดลความปกติของตัวเองอยู่ เป็นเหมือนบาร์บี้อยู่ในหัว และเราก็พยายามจะเป็น หรือรู้สึกว่าต้องเป็นเหมือนความปกติในอุดมคตินั้นของเรา ซึ่งจะมีเรื่องของมาตรฐานความงามเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ถ้าให้คิดเร็วๆ ว่าในหัวตอนนี้นิยามของผู้หญิงเป็นแบบไหน ผิวสีอะไร ผมทรงอะไร สูงประมาณไหน แต่งตัวยังไง ถ้าเราไม่เหมือนแบบนั้น เราจะยังเป็นผู้หญิงอยู่ไหม คนที่แสวงหาความเหมือน แต่ดันไม่เหมือนสิ่งที่ตั้งไว้ เขาก็จะพยายามทำให้เหมือน ซึ่งมันกำลังกดทับตัวตนของเราอยู่ 

แม้ปัจจุบันจะมีความแตกต่างหลากหลายมากขึ้น แต่ถ้าเรานึกคำว่าเลสเบี้ยน เราอาจจะยังมีอิมเมจของเลสเบี้ยนโผล่มาในหัวอยู่ดีว่าควรจะเป็นสาวแบบไหน หรือพอพูดถึงเกย์ เราคงมีรูปร่างสักรูปร่างโผล่มา อะไรแบบนี้เป็นต้นตอของการกดทับ เมื่อไหร่ที่เราไม่ยอมรับความเป็นปัจเจกที่ไม่มีใครเหมือนกัน ถ้ารูปแบบในหัวยังทำงานกับเราอยู่ มันก็พาลทำให้เรารู้สึกผิด และโยงไปถึงมุมมองต่อคนอื่น เพราะถ้าเราเป็นคนที่เหมือนแบบในอุดมคติ เราอาจจะไปตัดสินคนอื่นที่ไม่เหมือนรูปแบบในหัวต่อก็ได้ เช่น เราอาจะจะไปถามเขาว่า แกเป็นผู้หญิงเหรอ? เมื่อเขาดูไม่ตรงกับนิยามความเป็นหญิง ซึ่งมันก็จะสร้างความเจ็บปวดให้คนที่โดนถาม 

เอช: และส่วนหนึ่งที่ทำไมผู้หญิงหรือเพศหลากหลายถึงออกมาพูดเรื่องเพศกันเยอะมากกว่าเพศชาย เพราะผู้หญิงเป็นเพศที่ถูกกดทับมากกว่า และมีมาตรฐานความงามที่ทำร้ายผู้หญิงเป็นอันดับต้นๆ เมื่อผู้หญิงถูกกดทับมาเหลือๆ เราเห็นถึงความผิดปกติในสังคมได้เร็วกว่า และมากกว่า เป็นเหตุผลที่ทำให้พวกเขาออกมาพูด หรือเรียกร้องเรื่องเพศ เพราะเห็นแล้วว่ากรอบทางเพศในสังคมมันทำให้ทุกคนเจ็บปวด แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีผู้ชายที่พูดถึงเรื่องนี้ เพราะเราก็เจอเพื่อนผู้ชายเยอะ และพบว่าหลายคนก็เจ็บปวดกับการไม่ตรงมาตรฐานความเป็นชายที่สังคมต้องการ เพียงแต่เขาไม่ได้สื่อสารออกมาตรงๆ และไม่รู้จะทำงานกับสิ่งที่รู้สึกยังไง อีกนัยหนึ่งคือผู้ชายไม่ได้ถูกสอนมาว่าต้องทำงานกับเรื่องเพศด้วย

แต๋ม: หากกรอบทางเพศทำงานกับเพศชายมีจู๋ ส่วนมากเขาจะรู้สึกว่านี่คือความผิดของฉัน ที่ฉันไม่เป็นตามแบบแผนสังคม ทำไมฉันไม่เป็นอย่างใครเขา และเลือกเก็บความอึดอัดนั้นไว้ในใจ แต่ผู้หญิงหลายคน พอโดนกดทับมากๆ เราไม่อยากเก็บไว้ในใจกันเท่าไหร่

เอช: สังเกตไหมว่ามูฟเมนต์สิ่งแวดล้อมในไทย คนที่เริ่มออกมาทำก่อน ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านผู้เพราะเขาเห็นถึงความเปลี่ยนแปลง และความผิดปกติที่เกิดขึ้นในสังคมบ้านเขา เช่น ทำไมต้นไม้ของเขาถูกทำลายมากขึ้น ทำไมพื้นที่ของเขาถึงเปลี่ยนแปลงไป 

แต๋ม: สมมติอยู่ๆ มีต้นไม้ต้นหนึ่งตายไปในชุมชน คนที่สังเกตก่อนส่วนมากมักเป็นผู้หญิง ที่เขาอาจจะดูแลต้นไม้ ดูแลชุมชน ดูแลหัวใจของคนในชุมชนอยู่แล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เขาอาจทำโดยธรรมชาติ ส่วนหนึ่งเพราะเป็นบทบาททางเพศที่ตีกรอบให้ผู้หญิงเป็นผู้ดูแลบ้าน จึงทำให้เห็นทุกอย่างที่เปลี่ยนแปลงในบ้าน รู้ว่าบ้านเรากำลังถูกทำลาย ดังนั้น ความคิดที่จะปกป้องบ้านจึงเกิดขึ้น มูฟเมนต์เฟมินิสต์ในปัจจุบัน เลยสอดคล้องกับเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งเราไม่ได้บอกว่าผู้ชายไม่เรียกร้อง เพียงแต่บางครั้งผู้ชายเขาก็มีบทบาทรูปแบบหนึ่ง ที่ทำให้การรับรู้ปัญหาเกิดขึ้นไม่เท่ากัน

อุดมคติทางเพศที่เข้มข้นขนาดนี้ ส่งผลทำให้ผู้คนไม่กล้าจะ explore ความสุขทางเพศของตัวเองไหม

แต๋ม: เราอยากพูดถึงอาการจิ๋มล็อก มันเป็นภาวะอาการที่กล้ามเนื้อช่องคลอดเกร็งตัวโดยอัตโนมัติ ส่งผลทำให้ไม่มีอะไรสอดเข้าไปได้เลย หรือสอดใส่แล้วเจ็บ ซึ่งเราพบว่าส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการถูกกดทับทางเพศด้วย เพราะถ้าเรานึกถึงกุลสตรี เราก็จะไม่นึกถึงกุลสตรีที่มีเซ็กซ์ เราจะนึกถึงกุลสตรีที่นั่งพับผ้า ทำกับข้าว อยู่บ้าน เงียบๆ นิ่งๆ ทำให้เราไม่กล้าที่จะมีเซ็กซ์ 

ส่วนผู้ชาย ก็โดนกดทับว่า ต้องเป็นผู้นำในการมีเซ็กซ์ ต้องเป็นคนถอดเสื้อผ้าของฝ่ายตรงข้าม ต้องเป็นรุกนะ ต้องอยู่ได้นานๆ แตกเร็วไม่ได้ เขาอยู่ในบทบาทที่ต้องเป็นผู้นำในทุกๆ เรื่อง ทั้งที่ผู้ชายแต่ละคนก็มีเสร็จยาก เสร็จเร็วต่างกัน แต่เขาก็จะสงสัยตัวเองเสมอว่า ระยะการแตกของเขามันเหมาะสมไหม ถ้า 3 นาทีแตก เขามีปัญหาไหม หรือถ้า 15 นาทีแตก มันนานไปไหม 

เรื่องการมีเพศสัมพันธ์ หรือความสุขทางเพศ เป็นกิจกรรมที่ถ้าเราฟุ้งซ่านขึ้นมาขณะที่เรากำลังมีความสุขทางเพศ ความสุขทางเพศก็จะลดลง เชื่อมต่อกับจู๋ที่หดตัวลง และเมื่อเพอฟอร์มลดลง เขาก็รู้สึกแย่อีก ยื่งกังวล ยิ่งคิดมาก ยิ่งทำให้สุขภาวะทางเพศของเขาไม่ดี

แต๋มคิดว่าหลายคนเได้รับอุดมคติเกี่ยวกับหนังโป๊มาจากหนังโป๊เยอะ ซึ่งบางครั้งหนังโป๊ก็ไม่ได้ทำตามความจริง หนังโป๊คือการแสดงที่ทำให้เกินจริง พอเรามีหนังโป๊เป็นรูปแบบของเซ็กซ์ในอุดมคติ เราก็จะรู้สึกว่าเราต้องทำตามหนังโป๊ให้ได้ ทำให้เกิดปัญหาตามมาในความสัมพันธ์ โดยเฉพาะในคู่รัก ที่อาจมุ่งเป้าไปที่การทำให้เหมือนหนังโป๊จนลืมสังเกตตัวเองว่า มีความสุขทางเพศจริงๆ ไหม เราละเลยการสำรวจตัวเองไป ซึ่งมันแย่ทั้งกับตัวเองและพาร์ทเนอร์ บางคู่อาจนำไปสู่การหย่าร้าง เช่น ผู้หญิงชอบหนังโป๊เรื่อง A ซึ่งมีฉากออรัลที่เด็ดมาก ผู้หญิงจึงขอให้ผู้ชายออรัลให้ แต่ผู้ชายอาจไม่ชอบการออรัล และด้วยความที่อุดมคติทำงานกับฝ่ายหญิงมากๆ เขาก็อาจจะเบลมว่า ทำไมคุณไม่ออรัลให้ฉัน ปกติผู้ชายเขาก็ออรัลให้กันนะ ถ้ารักจริงต้องออรัล โดยลืมถามตัวเองว่าฉันอยากโดนออรัลจริงๆ ไหม หรือลืมถามคนที่ตัวเองรักว่า ทำไมเขาถึงไม่อยากออรัลให้

หรือยกตัวอย่างตัวเราเอง ที่เคยเป็นคนที่ไม่รู้สึกดึงดูดทางเพศกับใครเลย ไม่ว่าจะในหนังโป๊ หรือในสื่อต่างๆ เราเกิดคำถามว่าฉันไม่มีแรงดึงดูดทางเพศหรือเปล่า เพราะเราอยู่ในสังคมที่บอกว่าคนแบบนั้น แบบนี้น่ารัก และผู้คนก็ดูจะอยากมีอะไรกับเขาคนนั้น แต่เรากลับไม่รู้สึกแบบนั้นเลย จนกระทั่งเจอติ๊กต๊อกเกอร์คนหนึ่ง ที่มีลักษณะแบบพี่เอชแต่ล่ำกว่า เขาเป็น masculine lesbian เป็นผู้หญิงอินเดีย ตัวสูง มีกล้ามที่มีไขมันปกคลุมนุ่มๆ ฝั่งเกย์อาจเรียกว่าหุ่นหมีแต่เป็นผิวเข้ม ทำให้เรารู้ว่าเราดึงดูดทางเพศกับคนนี้ และเราก็มานั่งรู้สึกเสียใจนิดหน่อยว่าถ้ามีคนแบบนี้ในสื่อเยอะๆ เราอาจรู้ตั้งนานแล้วว่าเราก็มีแรงดึงดูดทางเพศนะ เราอาจไม่เสียโอกาสในการไตร่ตรองเรื่องนี้เลย

เอช: บางคนอาจรู้สึกว่า เอ้า กูเป็นเกย์ตั้งแต่แรกนี่หว่า แต่พอเรารู้สึกไม่ฟิตอินกับอุดมคติในสังคม เราก็ขาดโอกาสในการ explore ความสุขทางเพศ อุดมคติกับเซ็กซ์จึงเป็นเรื่องที่ทำงานกันอย่างแยกไม่ออก ถ้าวันนั้นแต๋มไม่เจอติ๊กต๊อกเกอร์คนนั้น ตัวเราเองก็อาจคิดว่าเราไม่เป็นที่ป๊อปปูลาร์ในหมู่เลสเบี้ยน แต่เเราก็เพิ่งรู้ว่ามีหลายคนชอบคนแบบเราอยู่เหมือนกันนะ ซึ่งที่ผ่านมาเราสูญเสียโอกาสในการจีบหญิงไปมากแค่ไหน จากการที่เราคิดว่าคนจะไม่ชอบเรา (หัวเราะ)

ในฐานะที่ Day/DM ขับเคลื่อนเรื่อง Sex toy ถูกกฎหมาย คิดว่าอุปกรณ์นี้สำคัญต่อการ explore เซ็กซ์ของผู้คนอย่างไร โดยเฉพาะกับผู้หญิง

เอช: เรามองว่าเซ็กซ์ทอยคือการเรียนรู้ เราไม่ปฏิเสธว่าบางคนใช้เพื่อความสุขทางเพศ แต่บางคนก็ใช้เพื่อสำรวจร่างกายของตัวเอง ใช้เพื่อรักษา ใช้เพื่อเพิ่มความมั่นใจในตัวเอง ใช้เพื่อให้คำตอบกับตัวเอง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการเรียนรู้ เซ็กซ์ทอยจึงเป็นอุปกรณ์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้เราเรียนรู้ และรู้จักตัวเองมากขึ้น 

เพศที่มีจู๋อาจจะเรียนรู้เรื่องเพศได้ง่ายกว่า และเป็นเหตุผลว่าทำไมคนมีจู๋จึงมีโอกาสในการมีเพศสัมพันธ์มากกว่า เพราะแค่จู๋ตั้งออกมา เขาก็เห็นแล้วว่าส่วนประกอบของมันมีอะไรบ้าง อันนี้คือไข่ อันนี้คือเส้นสองสลึง แต่คนมีจิ๋ม บางคนแทบไม่เคยจับของตัวเอง เราไม่สามารถล้วงมือเข้าไปดูข้างในได้ เซ็กซ์ทอยจึงจำเป็นต่อคนมีจิ๋มมากพอสมควร เพราะถ้ามองในเลนส์ของคนมีจู๋ เขาอาจจะมองว่ามันคือความสุขทางเพศ เป็นความตื่นเต้นใหม่ๆ เหมือนเป็นสไปร์ทในเซ็กซ์ แต่สำหรับคนมีจิ๋ม หรือคนที่ต้อง explore ร่างกายข้างใน อุปกรณ์มันจำเป็น เพราะสุดท้ายนิ้วของเรามันไปไม่ถึงมดลูก

แต๋ม: บางคนอาจบอกว่า ทำไมต้องใช้เซ็กซ์ทอยด้วย ทำไมไม่ใช้จู๋ของคนอื่นเพื่อ explore จิ๋มตัวเองแทนล่ะ หนึ่งเลยคือเราไปบังคับจู๋นั้นไม่ได้ เราจะบอกว่าแกเอนซ้ายหน่อย เอนขวาหน่อย งัดขึ้นหน่อย คือมันทำไม่ได้ง่ายดายขนาดนั้น และแทนที่การเรียนรู้เรื่องเพศจะเป็นการสำรวจตัวเอง กลับกลายเป็นว่าเราต้องพึ่งพาอีกคนที่มีจู๋ในการเรียนรู้เรื่องของตัวเอง ซึ่งบางคนอาจจะไม่ได้สะดวกใจให้เป็นแบบนั้น บางครั้งการอยู่กับตัวเองมันสำคัญมาก ถ้ามีพาร์ทเนอร์เข้ามา เราอาจจะละเลยความสุขของตัวเองไปก็ได้

ความสุขทางเพศไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่อวัยวะเพศ เซ็กซ์ทอยก็สามารถทำให้เกิดความสุขได้เหมือนกัน  ถ้าเราอยู่คนเดียว เราคงไม่เขี่ยหูตัวเอง แต่พอมันมีอุปกรณ์บางตัวที่ชวนให้เราไปเขี่ยหูตัวเอง มีอุปกรณ์บางตัวที่กระตุ้นรูก้นพร้อมกับช่องคลอด ที่ปกติเราคงไม่สำรวจรูก้นของตัวเอง เซ็กซ์ทอยจึงเป็นการเปิดโอกาสให้เราเรียนรู้ตัวเองมากขึ้น

เพราะทุกคนรู้กันดีว่ากินขี้ปี้นอนคือปัจจัยพื้นฐาน เรื่องกิน เรารู้ว่าหิวคืออะไร เรื่องนอน เรารู้ตัว ว่าเราง่วงแล้วเราจะทำยังไงต่อ เรื่องขี้ เราปวดขี้ก็แค่ไปขี้ แล้วเรื่องปี้ล่ะ ความรู้สึกต้องการจะปี้ที่เป็นปัจจัยพื้นฐาน แต่ทำไมคนยังมีคำถามเยอะแยะถึงเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่เป็นคำคลาสสิกที่ทุกคนพูดกัน แต่ปี้ดูไม่เข้าพวกกับปัจจัยอื่นที่ว่าเลย

เอช: พวกเราได้ทำวิจัยชิ้นหนึ่ง แล้วพบว่าเพศที่มีจิ๋มมีโอกาส explore ตัวเองเพิ่มขึ้นจากการใช้เซ็กซ์ทอย นั่นแปลว่าเซ็กซ์ทอยเป็นสิ่งจำเป็น และทำไมต้องถูกกฎหมาย ซึ่งเรามองว่าเซ็กซ์ทอยมีความ diversity สูงมาก มันดีไซน์ออกมาให้เรารู้ว่าจิ๋มแต่ละแบบไม่เหมือนกัน และแต่ละคนใช้อุปกรณ์ไม่เหมือนกัน เรากับแต๋มอาจจะมีจิ๋มที่คล้ายกัน แต่บางอุปกรณ์เราใช้ด้วยกันไม่ได้ เพราะเรามีสรีระต่างกัน

เซ็กซ์ทอยทำให้เรารู้ว่า เราถูกกดทับจากการที่เรามองตัวเองเป็นผู้นำมากเกินไป เอาความเป็นผู้นำผูกติดกับความเป็นชาย เราจึงไม่ยอมรับอวัยวะเพศหญิงของเรา พอเราใช้เซ็กซ์ทอยเลยรู้ว่ามันเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยว่ะ มันเปิดโอกาสให้เราและคนอื่นๆ เข้าใจตัวเอง ทอยมันคือของเล่น ซึ่งการเล่นในปัจจุบันมีส่วนสำคัญที่ทำให้ทุกคนเกิดการเรียนรู้ 

แต๋ม: ถ้าเซ็กซ์ทอยถูกกฎหมาย มันจะทำให้การสำรวจร่างกายตัวเองไม่เป็นความผิด แต่ถ้ามันยังผิดกฎหมายอยู่ มันก็จะโยงถึงความรู้สึกผิดได้ เพราะแม้เราจะมีเซ็กซ์ทอยในมือ แต่เราก็อาจจะรู้สึกผิดเวลาเราหยิบมันมาใช้ เพราะมันเป็นของผิดกฎหมาย

ถ้าเราอยากรู้ว่าตกลงเราชอบเซ็กซ์แบบไหน และเราไม่ชอบเซ็กซ์แบบไหน เราควรเริ่มค้นหามันอย่างไรในมุมมองของนักเพศวิทยา

เอช: บางคนอาจจะมีความชอบที่ไม่เหมือนกับคนหมู่มาก เช่น มีรสนิยมแบบ kinky sex ที่บางครั้งคนหมู่มากก็รู้สึกไม่ยอมรับ จนเกิดคำถามว่า ทำไมคนแบบนั้นถึงชอบแบบนี้ เขาเติบโตมาอย่างไรถึงชอบแบบนั้น สมมติคนชอบเล่นเท้า คำถามแบบนี้มักเกิดขึ้นในแวดวงรีเสิร์ช ที่เกี่ยวกับ BDSM ซึ่งเราคิดว่าไม่ต้องถามก็ได้มั้ง มันอาจจะไม่ได้มีเหตุผลชัดเจนว่าทำไมเราถึงชอบเล่นเท้า เช่นเดียวกับการไม่มีเหตุผลว่าทำไมเราถึงเป็นเกย์ เราถึงเป็นทรานส์ 

ที่ Day/DM เราจึงจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ BDSM ด้วย ซึ่งมีการให้ความรู้โดยนักเพศวิทยาทั้งหมด และคนที่อยู่ในวงการ BDSM มาช่วยให้ความรู้เรื่องของรสนิยมทางเพศแบบนี้

แต๋ม: หลักๆ คือเราคิดว่า การเรียนรู้ว่าเราชอบเซ็กซ์แบบไหนกันแน่ ต้องเรียนรู้ในที่ที่ปลอดภัย และเชื่อถือได้ ถ้าเรามีเพื่อนที่เขารู้เกี่ยวกับเรื่องเซ็กซ์อยู่ หรือมีช่องทางหน้าเชื่อถือในการเรียนรู้ เราก็สามารถเรียนรู้ได้ ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องทำอะไรที่ปลอดภัยกับตัวเอง และผู้อื่นเสมอ จริงๆ ไม่อยากให้ปิดกั้นว่าตัวเองต้องเป็นแบบไหน หรือทำแค่แบบเดียว อยากลองก็ลอง ถ้ารู้สึกอยากมีเซ็กซ์กับเพศไหน จะด้านหน้า หรือด้านหลัง ก็สามารถมีได้ ไม่อยากให้จำกัดตัวเองว่าต้องอยู่ในกรอบบางอย่าง แต่พื้นฐานที่ต้องมีทุกกิจกรรมทางเพศคือความปลอดภัย และมีความเสี่ยงที่ต้องยอมรับ และต้องรู้วิธีป้องกันความเสี่ยงนั้น เช่น การมีเซ็กซ์แบบไม่ใส่ถุงยาง เราสามารถรับความเสี่ยงที่อาจจะตั้งครรภ์ หรือติด HIV ได้ไหม และเราต้องรู้ความเสี่ยงที่เผชิญก่อนจะลองอะไร ถ้าสิ่งนั้นเกิดขึ้นจริง ต้องรู้วิธีการป้องกัน รู้วิธีแก้ไขปัญหา อยากให้ทุกคนมีความรู้เพียงพอในการ explore เซ็กซ์ของตัวเอง

แล้วถ้าเราไม่ชอบเซ็กซ์บางอย่างที่เรามีกับคู่นอน เราควรสื่อสารกับเขาอย่างไร เพราะบางคนยังกลัวการพูดกับคนรักอยู่

เอช: สื่อสารตรงๆ ไปเลยดีที่สุดว่าไม่ชอบแบบไหน ไม่คือไม่ ไม่ชอบคือไม่ชอบ ไม่เอาคือไม่เอา วิธีการที่น่าสนใจคือการเช็คลิสต์ ว่าอะไรคือไม่เอาอย่างแน่นอน หรืออะไรที่สามารถลองได้แต่ต้องเป็นวันที่พร้อม หรือตกลงกันไว้ล่วงหน้า

แต๋ม: บางครั้งอาจจะต้องอาศัยการอธิบายว่าเราไม่ชอบสิ่งนี้เพราะอะไร ชวนคุยว่าจริงๆ เราไม่ชอบออรัลให้เธอเพราะอะไร คำว่าเพราะอะไรนั่นแหละจะนำไปสู่ความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าใจ หรือแม้แต่การแก้ปัญหาร่วมกัน เพราะบางครั้งถ้าเราไม่บอกเหตุผล เราอาจจะไปทำลายความมั่นใจของเขาได้ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าทุกคนมีกรอบของตัวเองแต่แรก ไม่ใช่ทุกคนพร้อมออกจากกรอบ และเข้าใจเรื่องเพศกันได้ง่ายๆ เช่น ถ้าชอบออรัลเพราะอยากให้กระตุ้นตรงคลิตอริสเบาๆ ก็อาจมีทางออกอื่นที่ไม่ต้องใช้ลิ้นก็ได้ หรือคนหนึ่งชอบ BDSM แต่อีกคนไม่ชอบ ก็ต้องมาคุยกัน หรือถ้าคุยกันไม่ได้ผล ก็ควรมาปรึกษานักเพศวิทยา พวกเรายินดีต้อนรับ

เอช: เพราะสุดท้ายการสื่อสาร และการหาทางออกเรื่องเพศร่วมกัน เป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขทุกปัญหา เราอยากให้ Day/DM เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน พื้นที่ของเราเป็นพื้นที่เรียนรู้ สำหรับคนที่อยากรู้เรื่องเพศ และอยากเข้าใจปัญหาเรื่องเพศในมิติต่างๆ พวกเราพร้อมให้ข้อมูล และโอบรับทุกเพศที่อยากแชร์ปัญหา มาแบ่งเบาปัญหากันเถอะ เพราะเรารู้ว่าทุกคน และทุกเพศ มีปัญหาของตัวเอง และไม่จำเป็นต้องเก็บไว้คนเดียวแล้ว

Writer
Avatar photo
พัชญ์สิตา ไพบูลย์ศิริ

Photographer
Avatar photo
ชัชฐพล จันทยุง

หลงรักการบันทึกรอยยิ้มและความรู้สึกเป็นภาพถ่าย

illustrator
Avatar photo
พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts

Related Posts