ถอดรหัสการอยู่ร่วมกันบนพื้นที่แห่งความหลากหลาย กับ ‘Melayu Living’ ผู้อยู่เบื้องหลัง Pattani Decoded งานเทศกาลในพื้นที่ปัตตานีที่มีแต่ของดี (โคตร)

ถอดรหัสการอยู่ร่วมกันบนพื้นที่แห่งความหลากหลาย กับ ‘Melayu Living’ ผู้อยู่เบื้องหลัง Pattani Decoded งานเทศกาลในพื้นที่ปัตตานีที่มีแต่ของดี (โคตร)

ย้อนกลับไปเมื่อ 8 ปีก่อน กลุ่ม ‘มลายูลิฟวิ่ง’ (Melayu Living) เริ่มต้นมาจากการรวมกลุ่มกันของบรรดาสถาปนิกผู้ทำงานสร้างสรรค์ในพื้นที่และไม่หยุดเพียงการสื่อสารกันด้วยภาษาสถาปนิกเพียงอย่างเดียว แต่อยากพูดคุยถึงเรื่องงานสร้างสรรค์ภายใต้ภาพลักษณ์สบาย ๆ ที่ไม่เป็นทางการจนเกินไป พวกเขาจึงมารวมกลุ่มกันและตั้งชื่อกลุ่มให้มีความยึดโยงกับพื้นที่ โดยนำคำว่า ‘มลายู’ ที่หมายรวมถึงพื้นที่และผู้คนในพื้นที่แห่งนี้ มาผสมกับคำว่า ‘ลิฟวิ่ง (living)’ ซึ่งมาจากคำว่า living room ที่มีความหมายว่า ห้องรับแขก เพื่อสื่อถึงลักษณะการทำงานของสมาชิกในกลุ่มมลายูลิฟวิ่งที่มีฟังก์ชันการทำงานคล้ายกับห้องรับแขก ซึ่งคือห้องแรกที่บอกว่าบ้านหลังนี้มีความน่าสนใจอย่างไร และมีหน้าที่ทำให้แขกที่มาเยี่ยมรู้สึกประทับใจแล้วกลับไปบอกต่อคนอื่น ๆ ให้ได้มาลองเยี่ยมเยือนบ้านหลังนี้

©Pattani Decoded

ถอดรหัสของดี (โคตร)

“มันเริ่มจากความคิดเล็ก ๆ ว่าคนในพื้นที่ไม่ค่อยรู้จักสถาปนิก เขาจะรู้จักช่างเขียนแบบหรือวิศวกรมากกว่า เราเลยรู้สึกว่าการที่จะไปคุยกับเมือง คุยกับคน ก็ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าสถาปนิกทำอะไรได้บ้าง เราออกแบบเมืองได้ ออกแบบชุมชนได้ เป้าหมายของเราจึงเป็นการทำกิจกรรมอะไรก็ได้ที่มีประโยชน์ในเชิงสร้างสรรค์ เพราะการสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่เราถนัด ใครถนัดอะไรก็ช่วยกันโดยไม่ต้องฝืนตัวเอง เพราะถ้าฝืนก็จะไม่สนุก ตอนนั้นคิดอย่างเดียวว่าอยากทำอะไรที่มีประโยชน์และสนุกด้วย” ราชิต ระเด่นอาหมัด ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มมลายูลิฟวิ่ง เล่าถึงเป้าหมายแรกเริ่มของกลุ่มนี้

“เราไม่อยากทำงานที่มันย่อยยาก พยายามทำให้ทุกคนเข้าถึงงานมากที่สุด ช่วงหนึ่งเราอยากจัดงาน design week ในปัตตานีเพื่อให้คนเข้าใจคำว่า ‘ดีไซน์’ ว่ามันไม่ใช่ของสวยงาม แต่มันคือของใกล้ตัว มันคือฟังก์ชัน จานชามก็เป็นงานดีไซน์ แต่ก็ทำได้แค่คิดเพราะกลัวคนไม่เข้าใจ จนกระทั่ง พี่หมู-นนทวัฒน์ เจริญชาศรี เข้ามาจุดไฟให้พวกเราว่าถึงเวลาแล้ว แต่พอจะจัดงานครั้งแรกเราก็ไม่อยากพูดในภาษาดีไซน์ซะทีเดียว เลยใช้คำว่า ‘Decode (ถอดรหัส)’ เพราะการถอดรหัสสามารถเล่าเรื่องได้กว้างขึ้นและน่าสนใจ ทำให้คนทุกวัยเข้าถึงได้” และนี่คือจุดเริ่มต้นของ ‘Pattani Decoded’ งานเทศกาลที่ชวนทุกคนมาถอดรหัสปัตตานี พร้อมทั้งชวนดูพื้นที่แห่งนี้ว่ามีต้นทุนทางวัฒนธรรมและมีทรัพยากรอะไรบ้าง

งาน Pattani Decoded จัดขึ้นมาแล้ว 2 ครั้ง โดยครั้งแรกจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2562 และครั้งที่สองจัดขึ้นเมื่อวันที่ 2 – 4 กันยายน 2565 ซึ่งภายในงานเทศกาลนี้มีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย ทั้งการจัดแสดงผลงานศิลปะและผลงานการออกแบบของศิลปินหลากหลายแขนง การทำเวิร์กชอป การเสวนา ฯลฯ ซึ่งจัดอยู่บนพื้นที่ย่านเมืองเก่า โดยเปิดพื้นที่ให้ผู้คนได้มาร่วมกัน ‘ถอดรหัส’ ว่าจังหวัดปัตตานีนี้ มีอะไรที่ ‘ดีโคตร’ อยู่บ้าง   

“เรามองว่าสิ่งที่มีอยู่เยอะมากในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้จนคนมองว่าเป็นความธรรมดา คือเรื่องของงานออกแบบ งานคราฟต์ งานศิลปะ สิ่งเหล่านี้มีอยู่ในพื้นที่ตลอดเวลา เราไม่ต้องมานั่งคิดว่าต้องทำอะไร เพราะเรามีทรัพยากรต่าง ๆ อยู่แล้ว มันเป็นทรัพยากรที่ใช้ไม่หมด จริง ๆ เราสามารถทำ Pattani Decoded ได้อีก 50 ปีเลย” 

©Pattani Decoded

“เราพยายามสื่อสารให้ง่าย ทำให้มันสนุก แต่ในความสนุกเราคิดทุกช็อตว่างานนี้เราทำไปเพื่ออะไร ทำแล้วได้อะไร ทัศนคติเป็นเรื่องสำคัญ คนที่มาทำกิจกรรมร่วมกันคือเราไม่ได้ชวนมา แต่คนนอกกลุ่มจะเห็นว่าเราทำอะไรอยู่ แล้วเขาก็จะค่อย ๆ ก้าวเข้ามาเอง อย่างฮาดีย์ก็ไม่ได้รู้จักกันตั้งแต่แรก แต่เขารู้จักกับคนอื่น ๆ และฮาดีย์ก็ดึงตัวเองเข้ามา มันเป็นอะไรที่ดึงดูดคนที่คิดเหมือนกันเข้ามาเรื่อย ๆ หรืออย่างนาดาที่อยู่กรุงเทพฯ ก็โดนดูดมาเหมือนกัน (หัวเราะ)” ราชิตเล่าถึงการรวมตัวกันของกลุ่มมลายูลิฟวิ่ง

“อาจจะเป็นเพราะเราสัมผัสได้ว่าทุกคนมองเป้าหมายเดียวกัน ไม่ได้มองผลประโยชน์ตัวเอง และเรามีมุมมองที่คล้ายกัน อย่างธรรมชาติของคนที่เป็นดีไซเนอร์หรือว่าคนที่มีแนวคิดค่อนข้างอิสระ เวลาเสพสื่อเราก็มักจะมีคำถามว่ามันเป็นแบบนั้นจริง ๆ เหรอ  มันก็คัดคนกลุ่มหนึ่งที่สงสัยและสนใจในพื้นที่ตรงนี้เข้ามา เลยมองว่าด้วยทัศนคติและมุมมองที่เราทำมันเป็นประเภท critical thinking ก็เลยดึงดูดคนที่มีแนวคิดคล้ายกันเข้ามาอยู่ตรงนี้” นาดา อินทพันธ์ ผู้รับตำแหน่งคอนเทนต์ครีเอเตอร์กล่าวเสริม 

“พอเราเข้ามาทำงานตรงนี้แล้ว เราก็อยากให้คนได้มาสัมผัสอย่างที่เราสัมผัส อยากเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงที่ทำให้คนนอกรู้สึกสงสัยและได้เปลี่ยนมุมมอง ทำให้เขาเปิดใจและลองเข้ามา ยังมีอีกหลายมุมมองและหลายคอนเทนต์ที่ต้องนำเสนอเรื่อย ๆ เพื่อที่จะได้ดึงดูดคนที่เกี่ยวโยงกับคอนเทนต์นั้น ๆ เข้ามาอีก ให้เขาได้รู้ว่าปัตตานีและสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีของดีเหมือนกัน”

จั้ม-บศกร บือนา สมาชิกกลุ่มมลายูลิฟวิ่ง บอกว่าการมีพื้นที่กิจกรรมของมลายูลิฟวิ่ง ช่วยเปิดโอกาสให้นักศึกษาสามารถเข้าถึงศิลปะหลากหลายแขนง และได้พบกับศิลปินมากมายที่ช่วยเปิดโลกและสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่ได้มาร่วมงาน ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่หาได้ยากในตอนที่เธอยังเรียนมหาวิทยาลัยอยู่

นาดา อินทพันธ์ (ซ้าย) / จั้ม-บศกร บือนา (ขวา)

“ตอนอยู่ที่กรุงเทพฯ จั้มชอบไปร่วมงาน talk ไปร่วมอีเวนต์ต่าง ๆ แต่พอกลับมาที่บ้านกลับรู้สึกว่ากิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่มักเป็นงานตลาด งานเทศกาล งานกาชาด โดยที่ไม่มีกิจกรรมอื่น หรืออย่างมากอาจจะเป็นกิจกรรมในมหา’ลัยที่ไม่ค่อยมีการประชาสัมพันธ์ ก็เลยรู้สึกว่ากิจกรรมของมลายูลิฟวิ่งน่าจะมีประโยชน์กับนักศึกษานะ เพราะโอกาสที่นักศึกษาจะได้เจอศิลปินอย่างใกล้ชิดมันมีน้อยมาก แต่มลายูลิฟวิ่งพาศิลปินหลายแขนงเข้ามาในพื้นที่ ช่วยสร้างการเรียนรู้ ช่วยเปิดโลกใหม่ ๆ และคนที่ได้ประโยชน์ก็คือทั้งตัวเราเอง ทั้งน้อง ๆ นักศึกษาด้วย”

คุณค่าบนพื้นที่แห่งความหลากหลาย

สิ่งที่กลุ่มมลายูลิฟวิ่งทำ คือการนำเอา ‘ความสร้างสรรค์’ มาต่อยอดทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ จนกระทั่งพื้นที่แห่งนี้สามารถสร้างคุณค่ามากมายให้กับผู้คน พวกเขามองเห็น ‘ความหลากหลาย’ ในจังหวัดปัตตานีและพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ทั้งเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา และวิถีชีวิต และพยายามที่จะหยิบยกสิ่งเหล่านี้ออกมานำเสนอ เพื่อที่ทุกคนจะได้เปิดใจและได้มองเห็นสิ่งที่มีคุณค่าที่ซุกซ่อนอยู่ในพื้นที่แห่งนี้

ฮาดีย์ หะมิดง (ซ้าย) / นครา ยะโกะ (ขวา)

ฮาดีย์ หะมิดง สมาชิกกลุ่ม Melayu Living เติบโตมาในกำปง (หมู่บ้าน) จึงคุ้นชินกับการที่ได้เห็นชาวพุทธ มุสลิม และชาวจีนมีปฏิสัมพันธ์กัน เพราะเป็นภาพที่พบเห็นมาตั้งแต่จำความได้ คำว่า ‘มลายู’ ที่ฮาดีย์คุ้นเคยจึงเป็นคำที่ใช้เพื่อระบุถึงความเป็นพื้นที่และตัวตนของผู้คน คนจีน-มลายูอย่างอาม่าหลาย ๆ คนก็สามารถพูดภาษามลายูได้คล่องแคล่ว หรือชาวพุทธที่อาศัยอยู่ในชุมชนรอบเมืองปัตตานีก็สามารถพูดภาษามลายูได้ แม้จะมีความห่างกันในแง่ของความศรัทธาหรือศาสนา แต่การมีปฏิสัมพันธ์ของคนในพื้นที่ก็ไม่ได้ไกลกันอย่างที่หลายคนคิด 

“ผมโตในกำปง เวลาที่ได้มามีปฏิสัมพันธ์กับคนในเมือง หรือได้มาซื้อของก็จะเห็นว่าอาแปะที่ขายของก็พูดมลายูกับเรา ป้าย ร้านค้า ก็มีภาษามลายู มีอะไรบางอย่างที่ทำให้รู้สึกว่าไม่ได้ห่างจากเรามาก บางทีอาจมีปัจจัยบางอย่างทางเศรษฐกิจที่ทำให้เราห่าง หรือมีพิธีกรรมทางศาสนาที่ห่างกัน แต่ในแง่ของโอกาสในการมีปฏิสัมพันธ์ก็เป็นเรื่องปกติ”

“ผมเห็นคนจีนมาซื้อของในหมู่บ้าน ไปตลาดก็เจอ อาจจะไม่ได้มากอดคอหรือแสดงออกว่ารักกัน แต่มันเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำว่าทุกคนต่างมีปฏิสัมพันธ์กันปกติ เพราะฉะนั้นพอมาอธิบายในเชิงพหุวัฒนธรรม ผมก็ไม่แน่ใจว่าเลนส์ที่ใช้มองความเป็นพหุวัฒนธรรมมันแปลว่าอะไร เราต้องรักกัน กอดคอกัน ไม่เกลียดกันใช่ไหม ซึ่งมันอาจไม่ใช่เสมอไป เพราะในชีวิตจริงคนเราก็ต้องมีทะเลาะกันบ้างเป็นธรรมดา แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่าเราต่างเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่นี้เหมือนกัน” 

“เวลาเข้าเมืองผมก็ซื้อหนังสือที่ร้านคนจีน เห็นเจ้ที่ร้านมาตั้งแต่เด็ก ไปซื้อหนังสือพิมพ์ ซื้อหนังสือการ์ตูนเขาทุกวัน ต่อให้ไม่รู้จักเขา ผมก็รู้สึกได้ว่าเขาเป็นคนที่นี่ และเขาก็คงรู้สึกได้ว่าผมเป็นคนที่นี่เหมือนกัน”

“ผมมองว่า รวม แยก ทะเลาะ ห่าง มันเป็นพลวัตในความสัมพันธ์ เพียงแต่ว่าหลายสิบปีมานี้ เราจะพบว่าจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งทำให้ทุกอย่างขมุกขมัว มันตึงและไม่รู้จะหาคำอธิบายจากใคร แต่พอสถานการณ์มันเริ่มคลาย หลายสิ่งหลายอย่างก็พุ่งไปที่ว่าเราจะเอายังไงกันดี บางคนก็พยายามจะให้รักกันให้ได้ แต่ความรักมันไม่ใช่การบังคับแบบนั้น ความรักคือการค่อย ๆ ดู ค่อย ๆ มองว่าเขาโอเคกับเราแล้วใช่ไหม เขาเห็นเราแล้วมีสายตายังไง มันต้องใช้เวลา” 

“คนที่โตก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์นี้ เขาก็มีภาพ nostalgia อยู่ เมื่อก่อนเราปั่นจักรยานด้วยกัน โดดน้ำด้วยกัน มันเป็นภาพความสดใสของวัยเด็ก วัยรุ่น แต่พอโตขึ้นมาแล้วต้องมองว่าเราจะอยู่กันยังไงต่อ ก็ต้องย้อนกลับไปดูชุดความสัมพันธ์เดิมที่เคยมี เราเคยรักกันมาก่อน อาจจะมีทะเลาะกันบ้างแต่ก็อยู่ร่วมกันได้ อย่างพี่ป้อง อดีตประธานชุมชนหัวตลาด ก็เพิ่งจะมาเล่าคลี่คลายว่าตอนที่มลายูลิฟวิ่งเข้าไปในพื้นที่ คนในพื้นที่ก็มีความระแวงอยู่ แต่อาศัยความที่เข้าไปบ่อย ๆ ได้เห็นหน้าค่าตา ได้เห็นความพยายาม เราก็สร้างความเชื่อใจขึ้นมาใหม่ และความสัมพันธ์เก่าเราก็ไม่ได้ทิ้งไป เพราะเมื่อก่อนเราเคยรักกันจริง ๆ”

ราชิต ระเด่นอาหมัด

ราชิตเล่าเสริมถึงช่วงแรกที่กลุ่มมลายูลิฟวิ่งเข้าไปยังพื้นที่ชุมชนเชื้อสายจีน โดยประสานงานกับ ป้อง-พันธุ์ฤทธิ์ วัฒนายากร อดีตประธานชุมชนหัวตลาด ว่าในเวลานั้นคนในพื้นที่ยังคงมีความกังวลและไม่ไว้วางใจกลุ่มมลายูลิฟวิ่ง เพราะสงสัยว่าสิ่งที่พวกเขากำลังจะทำนั้นคืออะไร แต่เมื่อทางทีมเริ่มเข้าไปในพื้นที่บ่อยครั้งและพยายามเข้าหาผู้คนในชุมชน ความไว้วางใจจึงค่อย ๆ เกิดขึ้น และท้ายที่สุดการประสานงานเพื่อขอใช้พื้นที่ก็เป็นไปอย่างราบรื่นและสำเร็จลุล่วงได้ด้วยดี

“ด้วยความที่กลุ่มเราเป็นคนมุสลิมแล้วไปอยู่ในพื้นที่ของคนจีน เขาก็สงสัยว่าวัยรุ่นพวกนี้รุกเข้ามาทำอะไร แต่สิ่งที่เราทำคือการพูดถึงเมือง พูดถึงสังคมว่าที่นี่ปกติ พยายามเข้าหาเขา จนพี่ป้องมาเฉลยตอนหลังว่าเขาเริ่มผ่อนคลายมากขึ้น เขาเป็นคนไปคุยกับคนในชุมชนเองว่ากลุ่มนี้ไม่มีอะไรน่ากลัว สิ่งสำคัญคือเรายังมีความยึดโยงกับภาพเดิมในความทรงจำ คือเราไม่ได้พยายามเปลี่ยน เราอย่าให้คนภายนอกหรืออะไรบางอย่างมาเปลี่ยนเรา เราเชื่อว่ามันกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้”

“ต้องให้เครดิตกับพี่ป้อง บ้านหลายหลังที่เราได้ใช้ในงาน Pattani Decoded พี่ป้องก็เป็นคนประสานให้ เพราะพอคนเห็นสิ่งที่เราทำ เขาก็ให้ด้วยความยินดี นี่เป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งของเรา มันคือการเชื่อมคนให้กลับมาคุยกัน เราโฟกัสว่าทำแล้วชุมชนได้อะไร คนในพื้นที่ได้อะไร ซึ่งสิ่งเหล่านั้นจะตามมาหลังจากงานจบลง อย่างศิลปินไม่มีทางที่จะขายของในงาน แต่หลังจากนั้นก็จะมีการตกลงเรื่องงานกันเกิดขึ้น บางทีก็มีศิลปินมาบอกว่างานเราช่วยให้เขาได้ประโยชน์ หรือบรรดาแม่ ๆ ป้า ๆ ที่ทำงานคราฟต์ก็รู้สึกสนุกกับงานแบบนี้ เพราะเขาได้คุยอย่างเป็นธรรมชาติ ได้ปลดปล่อย และเราก็ไม่ได้กดดันว่าต้องทำทุกปี เพราะมันต้องใช้พลังงานสุดมาก”

©Pattani Decoded

“อย่างตอนที่จัดนิทรรศการ The Old Man and the Sea Salt เราอาจจะไม่มีกำลังพอที่จะตั้งเป้าหมายถึงขั้นที่ว่าชาวนาเกลือต้องกลับมามีรายได้มากขึ้น แต่เรามองว่าเกลือหวานคือของขึ้นชื่อของจังหวัด พอเราได้เข้าไปสัมผัสกับวิถีชีวิต รู้ขั้นตอนในการทำ เราได้รู้ว่ามันคือของสำคัญ และพองานจบลง ชาวบ้านก็ได้กลับมามองว่ามันคือของสำคัญของเขาเหมือนกัน บางคนเคยคิดที่จะล้มเลิกไปแล้ว แต่พอมีงานนี้เขาก็รู้สึกว่ากลับมาทำได้อีก เพราะมีกลุ่มวัยรุ่นในพื้นที่ตั้งกลุ่มผลักดันของในพื้นที่ให้มีค่าขึ้น มันเป็นการเสริมกำลังใจให้ชาวบ้าน” จั้มเล่า

“เหมือนที่จั้มบอกไป คือเราไม่ได้คาดหวังว่าราคาเกลือปีหน้าจะต้อง 250 บาทต่อกิโลกรัม แต่เรื่องพวกนี้มันเป็นหน้าที่คนอื่นด้วย เพราะว่าถ้าอยากให้มันดีขึ้นก็ต้องลงมือทำ ถ้ามองว่างาน Pattani Decoded คือการสร้างบทสนทนา ผมว่ามันอิมแพคมาก หลายคนไม่เข้าใจว่าเกลือหวานคืออะไร มันก็สร้างบทสนทนาว่าปัตตานีมีเกลือเหรอ ซึ่งบทสนทนานี้ก็จะทำให้คนเริ่มหันมาสนใจปัตตานีมากขึ้น” ฮาดีย์เสริม

นครา ยะโกะ กราฟิกดีไซเนอร์ของทีม เสริมอีกว่า “ผมมองว่าอิมแพคเหล่านี้เกิดจากการทำงานร่วมกันของทีม ทุกคนมีสิ่งที่ตัวเองถนัดแล้วโยนลงมาตรงกลาง จากนั้นก็ช่วยกันปั้นสิ่งนี้ขึ้นมา และงานมันยังเปิดโอกาสให้เราทำงานร่วมกับคนนอกพื้นที่ เปิดโอกาสให้คนในพื้นที่และทีมงานได้ทำงานร่วมกัน ผมคิดว่าการได้ลงมือทำงานนี้เหมือนเป็นการได้ชาร์จแบต ผมได้ปลดปล่อยไอเดีย อยากคิดอะไรก็คิด อยากทำอะไรก็ทำ และหลังจบงานก็ยังได้เครื่องมือที่เอาไปใช้กับอาชีพของเราต่อไป”

เมื่อเราถามถึงคำนิยามของสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่ ฮาดีย์ใช้เวลาคิดสักครู่ ก่อนจะให้คำตอบกลับมาว่า

“ผมก็ตอบไม่ได้เหมือนกันว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่มันเรียกว่าอะไร นักพัฒนาเมืองก็ไม่ใช่ นักออกแบบ นักกิจกรรม หรือนักวางผังเมืองก็ไม่ใช่ เราเป็นอะไรก็ไม่รู้ แต่ผมว่าจะเป็นอะไรก็ไม่สำคัญ สิ่งที่สำคัญคือการ belong to something ซึ่งผมว่ามันเป็นเรื่องใหญ่กว่าการระบุว่าเราเป็นอะไร รู้แค่ว่าเรา belong กับสิ่งนี้ กับพื้นที่นี้ และกับคอมมูนิตีนี้”

และบางทีนี่อาจเป็นนิยามที่ดีที่สุดของสิ่งที่พวกเขาลงมือทำ ไม่จำเป็นต้องมีคำจำกัดความที่แน่ชัด เพียงแค่รู้ว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นสำคัญและมีความหมายกับตัวเองมากเพียงใด เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว

©Pattani Decoded

Writer
Avatar photo
ณัฐนรี บัวขม

มีชีวิตอยู่เพื่อดูคลิปตลก คีบตุ๊กตา และเดินหาร้านอร่อยในย่านบรรทัดทอง

Photographer
Avatar photo
ฉัตรมงคล รักราช

ช่างภาพ และนักหัดเขียน

illustrator
Avatar photo
พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts

Related Posts