โลกที่เปิดกว้างกว่าเก่าของเหล่า Docents ผู้นำชมงานศิลปะ ‘เปิดโลก’ Thailand Biennale Chiang Rai 2023

โลกที่เปิดกว้างกว่าเก่าของเหล่า Docents ผู้นำชมงานศิลปะ ‘เปิดโลก’ Thailand Biennale Chiang Rai 2023

มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ครั้งที่ 3 หรือ ไทยแลนด์ เบียนนาเล่ เชียงราย 2023 (Thailand Biennale Chiang Rai 2023) ‘เปิดโลก’ (Open World) ซึ่งกำลังจะผ่านพ้นไปหลังจากเปิดให้เข้าชมมาตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมปีที่แล้ว กลุ่มคนผู้มีความสำคัญในงานนี้นอกจากศิลปิน ภัณฑารักษ์ (Curator) และผู้จัดงานเบื้องหลังแล้ว ‘ผู้นำชมงานศิลปะ’ (Docent) ในแต่ละผลงานศิลปะที่จัดแสดง ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แถมยังเรียกได้ว่าทำหน้าที่เป็น ‘ด่านหน้า’ ในการพบเจอผู้เข้าชมงาน มีหน้าที่อธิบายงานของศิลปินที่ตนเองได้รับมอบหมายให้ดูแลอย่างพอเหมาะพอดี ไม่มากหรือน้อยเกินไป และไม่ชี้นำผู้เข้าชมงานศิลปะไปตามความคิดเห็นของตัวเอง 

คำว่า docent (โดเซ่น) เป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษาลาติน แปลง่ายๆ คือ คนที่ทำหน้าที่พาชมพิพิธภัณฑ์หรือแกลลอรีนั่นเอง   

เท่าที่ได้พูดคุยกับโดเซ่นหรือผู้นำชมงานศิลปะ (ในงานเขียนชิ้นนี้ขอใช้คำทับศัพท์เรียก ‘โดเซ่น’) ส่วนใหญ่เป็นชาวเชียงราย (หรืออย่างน้อยอยู่ในเชียงรายในช่วงเวลานั้นๆ) ที่สมัครและได้รับการคัดเลือกมาทำหน้าที่นำชมงานในแต่ละตำแหน่งที่ติดตั้งงานศิลปะ ซึ่งมีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นงานเพนต์ติ้ง ประติมากรรม ศิลปะจัดวาง มิกซ์มีเดีย ฯลฯ แทบทุกคนต่างมีความภูมิใจและมีความสุขที่ได้ยืนทำหน้าที่ของตัวเอง ที่น่าสนใจมากคือ หลายคนเรียนรู้โลกกว้างมากกว่าเก่าจากการได้นำชมงานศิลปะ แม้วันแล้ววันเล่าที่ล่วงไปจะทำหน้าที่ซ้ำๆ ในตำแหน่งแห่งที่เดิมๆ แต่ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่มีวันไหนที่รู้สึกเบื่อหน่ายเลย ทุกคนรักและสนุกกับการได้ทำงาน การบอกเล่าถึงคอนเซปต์งานของศิลปินที่ตนดูแลผลงานไม่ใช่เพียงแค่จากการอ่านข้อมูลหรือได้รับความรู้จากคิวเรเตอร์เท่านั้น แต่โดเซ่นหลายคนยังค้นคว้าข้อมูลเพิ่ม และบางคนแม้ไม่เคยเจอศิลปินเจ้าของผลงานจริงๆ แต่ได้พยายามหาทางติดต่อและพูดคุยสื่อสารออนไลน์กับศิลปินเพื่อขอข้อมูลโดยตรง

ถัดจากย่อหน้านี้คือเรื่องเล่าของโดเซ่น 4 ท่านที่ Mappa มีโอกาสได้ไปสัมผัส พูดคุย สัมภาษณ์ และเรียนรู้ประสบการณ์ของพวกเขา บทสนทนาเหล่านี้ชวนให้ตระหนักได้ว่าไม่เพียงแต่ผู้เข้าชมงานศิลปะ ‘เปิดโลก’ เท่านั้นที่ผลงานของศิลปินได้นำพาให้ได้เปิดโลกออกไป ในเวลาเดียวกันโลกของโดเซ่นเองก็ได้ถูกเปิดออกและขยายขอบเขตความคิด ความรู้สึก ความสนใจ และการตั้งคำถามต่อโลกอย่างกว้างขวางและลึกซึ้งกว่าเดิมมากนัก

จิโร่-ภิรวุฒิ หมุดใหม่ : หลอมรวมความเข้าใจศิลปะแบบเบ้าโบราณกับโลกของศิลปะร่วมสมัย  

จิโร่เป็นโดเซ่นที่ประจำงานศิลปะบริเวณวัดป่าสัก อำเภอเชียงแสน ซึ่งมีผลงานศิลปะจัดวางของศิลปิน ‘จิตติ เกษมกิจวัฒนา’ และ ‘ธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์’ ติดตั้งอยู่

แม้จะเป็นคนที่สนใจงานศิลปะอยู่เป็นพื้นฐานบ้างแล้วก็ตาม แต่จิโร่ก็ออกตัวว่า เขามีความรู้ศิลปะไม่มาก ไม่เคยสนใจศิลปะร่วมสมัยเลย ตัวเองจะเกี่ยวกับข้องศิลปวัฒนธรรมล้านนาเป็นส่วนใหญ่ เช่น การจัดพื้นที่ การแสดง การฟ้อน อาหาร และอื่นๆ 

“บอกตรงๆ ว่า แต่แรกที่มาทำไม่ได้อินกับคำว่าศิลปะร่วมสมัยเท่าไร คำว่า ‘Contemporary’ ตอนนั้นตั้งคำถามเลยเพราะไม่ได้สนใจ ก็คิดว่า โอ๊ะ มันไม่ได้หรอก แล้วจะมาอยู่ตรงวัดป่าสักด้วยเหรอ

“แล้ววันที่อบรมมาที่วัดป่าสัก งานของ อ.จิตติ กำลังติดตั้ง แกะพลาสติก ติดตั้งใหม่ๆ เราก็… นี่เหรอ ศิลปะร่วมสมัย นี่เหรองานศิลปะจัดวาง ความเข้าใจของเราคำว่างานศิลปะร่วมสมัย มันจะต้องมีหลากหลายแขนง แต่เราไม่คิดว่าจะมีรายละเอียดลงลึกอะไรต่างๆ นานา ตอนนั้นก็คิดว่าแล้วว่า ‘มันน่าสนใจ’ และไม่น่าจะทำยาก 

“แต่สิ่งที่ผมสนใจคือ ในภาษาพื้นเมืองเราจะอยู่กับคำว่า ‘แบบเบ้าโบราณ’ ซึ่งมันไม่มีอะไรถูกผิด เช่น งานชิ้นหนึ่ง อย่างเครื่องจักสาน เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน หรือประกอบพิธีกรรม รูปทรงมันจะเป็นแบบนี้ ต่อให้มันไม่สวย บิดเบี้ยว แต่มันมาจากจิตวิญญาณ มันจะคือ ‘ความชัดแจ้ง’ (Pure) ของมันแบบนี้  มันก็ผ่านกาลเวลามา ล่วงสมัยมาเรื่อยๆ มาจนสมัยปัจจุบันยังคงใช้แบบนี้ จึงใช้คำว่า แบบเบ้าโบราณ ซึ่งพัฒนาให้มันเวอร์วังหรือหรูหราไปกว่านี้ไม่ได้

“ที่มาทำงานนี้ เพราะประธานสภาวัฒนธรรมเวียงเชียงแสนบอกว่า งานนี้จิโร่น่าจะทำได้ เพราะเห็นว่าเราพูดคุยได้ มีความรู้เรื่องวัดต่างๆ ในเชียงแสนด้วย ก็ชวนให้ไปสมัครและเข้ารับการอบรม แล้วก็ถูกเลือกให้มาอยู่ตำแหน่งวัดป่าสัก จริงๆ ที่ไหนก็ได้ในเชียงแสน เพราะเราคนที่นี่อยู่แล้ว แต่แรกยังไม่มีคู่มือให้ มีแต่ทางออนไลน์ ผมก็พรินต์ออกมาอ่านเพื่อทำความเข้าใจ

“เราได้เรียนรู้วิธีคิดของศิลปินว่ามีความซับซ้อนกว่าจะสร้างผลงานออกมาแต่ละชิ้นงาน ที่สำคัญคือ ความเชี่ยวชาญและความเก่งกล้าสามารถของคิวเรเตอร์ที่หาความถนัดและพื้นที่ที่เข้ากับผลงานของศิลปินได้ดีมาก พอเริ่มทำงานเป็นผู้นำชมงานศิลปะไปได้สักเดือน ผมก็เริ่มอินกับงานมากขึ้น หลังจากนั้นผมก็สนใจวิธีคิด วิธีการทำงานของศิลปินและคิวเรเตอร์ว่าเขาทำงานเชื่อมโยงกันได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ศิลปิน เวลาจะทำงานเค้าต้องมีแรงบันดาลใจ ต้องมีอารมณ์และความรู้สึก พอเราดูงานที่อยู่ตรงหน้าเรา เหมือนมันหลุดกรอบออกมาว่า ศิลปินไม่ได้ติดกรอบว่าฉันเห็นแบบนี้ ฉันอยากจะทำผลงานออกมาเป็นศิลปะแบบนี้  กลับกลายเป็นว่าเขายังต้องใช้ทั้งอารมณ์และความรู้สึก และต้องสื่อออกมาให้สอดคล้องกับพื้นที่  ศิลปินต้องมาลงพื้นที่ เขาไม่ได้สัมผัส ไม่ได้อยู่ทุกวัน แต่เขาทำได้ อันนี้ที่เรารู้สึกว่า เราได้เรียนรู้

“และเราก็พบว่า จริงๆ แล้วคำว่าแบบเบ้าโบราณ สุดท้ายก็คล้ายกับร่วมสมัย เราเอาแบบเบ้าโบราณมาอยู่ในความร่วมสมัยได้ มันซ้อนกันเข้าไปอีกมิติหนึ่ง ถ้าเราเข้าใจมัน เหมือนงานที่ผมทำทุกวันนี้ บางอย่างมันหายไปจากชีวิตประจำวันหมดแล้ว แต่ด้วยความที่เรามีความชอบ งานทุกอย่างเกิดมาจากข้างในที่เราชอบ มีความสุขกับสิ่งที่เราทำ แล้วพอเราได้ไปสัมผัสได้เห็นของจริง มาคิด ตรึกตรอง วิเคราะห์ว่าเราจะนำมันมาสู่สมัยปัจจุบันได้ยังไง ที่มันไม่ได้แค่สร้างขึ้นมา แต่ทำให้มันจริงที่สุด สุดท้ายนี่คือความร่วมสมัยนี่แหละที่มันซ้อนอยู่ข้างในนี้”

 “อยู่ตรงนี้กับผลงานของศิลปิน จากที่เราเคยคิดแค่ว่าร่วมสมัยต้องเป็นโมเดิร์นไม่มีพื้นฐานอะไรเลย แต่เราได้เห็นแล้วว่า แม้ผลงานไม่ได้ออกมาในรูปแบบโบราณ แต่เป็นการนำความสมัยใหม่มาใส่ แต่ก็ยังคงรากเดิมซึ่งหลงเหลือ และเราอธิบายเชื่อมโยงผ่านระบบคิดได้” 

“คิดว่าศิลปินกับคิวเรเตอร์หรือภัณฑารักษ์น่าจะใช้วิธีคิดแบบนี้ กระทั่งได้มาสัมผัสกับ พี่เจี๊ยบ-กฤติยา กาวีวงศ์ ภัณฑารักษ์ที่เป็นคนเชียงแสนด้วย และ คุณอังกฤษ อัจฉริยโสภณ เขาก็จะคอยแนะนำ ให้ข้อมูลเรา และก็บอกว่า งานทุกอย่างที่มีคุณค่าของชีวิต นั่นคืองานศิลปะ

จิโร่เล่าว่า เมื่อรู้สึกเชื่อมโยงตนเองกับงานศิลปะร่วมสมัยที่ตนดูแล ทั้งงานของศิลปินจิตติและธวัชชัย ไม่เพียงแต่ความเข้าใจในงานศิลปะที่เพิ่มพูนขึ้น แต่ยังช่วยพัฒนาด้านอื่นๆ ให้กับเขาด้วย

“พอเราเริ่มอินกับงาน กลับกลายเป็นว่าตัวเรามีการพัฒนา เพิ่มทักษะในการทำงานนี้โดยไม่รู้ตัวด้วยซ้ำไป และยิ่งพอได้คุยกับศิลปิน (อ.จิตติ) ระหว่างงานแสดง เขาก็มีเรื่องที่เล่าให้เราฟังว่างานชิ้นนี้เป็นแบบนี้ๆ พอเราเข้าใจ ก็รู้สึกว่างานมันสุดยอดจริงๆ ศิลปินเก่งจริงๆ

“อย่างงานของ อ.ธวัชชัย ที่เป็นความตั้งใจจัดวางไปอยู่ตรงมุมนั้นด้วย  งานนั้นดูไกลและหลบออกไป นั่นเป็นความตั้งใจของศิลปินเหมือนกัน คือศิลปินคนนี้เขาจะทำงานเกี่ยวกับงานประติมากรรมที่เล่นกับความบิดเบี้ยวของโครงสร้าง แน่นอนอยู่แล้วว่าประติมากรเขาจะเก่งทางด้านอนาโตมี งานของ อ.ธวัชชัย เขาก็จะทำงานลักษณะนี้แหละ บิดเบี้ยว ไม่ตรง ไม่มีความจริงแท้อยู่ในผลงาน ตั้งวางในนั้น ต้นไม้เองก็มากวน ซากโบราณสถานเองก็มากวน ในคอนเซปต์บอกว่า เป็นงาน 3 ส่วนที่ให้ผู้ชมมองไปในพื้นที่ว่างของแกนตั้งและแกนนอน เพื่อให้เกิดเป็นภาพต่างๆ ตามจินตนาการของผู้ชม สุดท้ายเมื่อคอนเซปต์ของเขาเป็นแบบนี้ แต่เบื้องหลังเขากลับกลายเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ที่วัดผาเงา ไม่มีเศียร ไม่มีบอดี้ ดังนั้น ทุกอย่างจึงอยู่ที่คนมอง

“งานชิ้นหน้ากาลของ อ.จิตติ ถ้อยคำที่มองเห็นก็มาจากพระไตรปิฎก สีหโลกธาตุ และจักรวาล เขานำวิทยาศาสตร์ ศิลปะ ศาสนา ประวัติศาสตร์มาซ้อนกันอยู่ในนี้ ซึ่งจะมีรายละเอียดที่ต้องมาดู และทุกชิ้นงานเป็นข้อความเดียวกันหมด 

“ถ้ามองลึกลงไปอีก อักษรเหล่านี้มีความสัมพันธ์ในเชิงหนึ่ง การซ้อนทับของชุมชนหรือกระทั่งการเคลื่อนตัวของศาสนา ยิ่งทำให้เห็นว่างานชิ้นนี้ใช่ว่าจะใช้สุนทรียะในการเสพอย่างเดียว แต่ยังทำให้เกิดความสนุกสนานระหว่างการชมที่มันแทรกอยู่ในนั้นด้วย เกิดวิธีการคิดใหม่ แล้วพอเราได้คำถาม วิธีการคิด ทฤษฎีในแบบของเรา พอถึงเวลาคนมาชม เราจะเล่าในแบบที่เราตีความออกมา ทุกคนก็เลยบอกว่า โอ้ มันเป็นแบบที่น้องบอกจริงๆ ผมก็จะบอกว่ามันไม่ผิดไม่ถูกหรอก เพราะงานศิลปะมันเป็นปัจเจก เราจะตีความไปแบบไหนก็ได้ ต่อให้เรามานั่งคุยกับศิลปินเราก็สัมผัสถึงวิธีการคิด หรืออารมณ์ที่เขาจะสื่อออกมาได้ไม่ถ่องแท้หรอก มันเป็นเรื่องข้างใน มันคืองานศิลปะที่เราสัมผัสแล้วรับรู้ถึงความรู้สึกและอารมณ์”

ขณะที่นั่งคุยกับจิโร่ มีคนมาชมงานนิทรรศการเปิดโลกที่วัดป่าสัก แม้จะเป็นวันหยุด แต่จิโร่ก็เข้าไปช่วยเพื่อนโดเซ่นอธิบายด้วยน้ำเสียงสดใสดึงดูดผู้ฟัง  

เขากลับมาพร้อมเล่าเพิ่มเติมว่า “มีคนมาชมนะว่าผมถูกจริตกับพื้นที่กับงานศิลปินตรงนี้ด้วย ผมคิดว่ามันก็เป็นเรื่องของการทำงาน เพราะถ้าเราได้รับมอบหมายงานอะไรก็แล้วแต่ เราต้องเกิดความประทับใจ ซาบซึ้งกับมัน ถ้าเราไม่ประทับใจ ไม่มีแรงจูงใจ ก็จะทำให้เราเหนื่อยล้า ผมทำงานที่นี่ผมมีเทคนิคคือ ต้องพาชมวัดให้จบก่อน ไม่อย่างนั้นไม่สามารถเข้าใจชิ้นงานนี้ได้ เพราะชิ้นงานหน้ากาลนี้ไปซ้อนเรื่องราวของศิลปะและประวัติศาสตร์ที่อยู่ในวัด ไม่อย่างนั้นไม่มีทางที่จะมองออก ยิ่งเป็นภาษาโบราณ อธิบายหรือสาธยายอย่างไร ใช้เวลา 1 ชั่วโมง คนเข้าชมไม่มีทางเข้าใจเด็ดขาด ทีนี้พอเราพาชมวัดก่อนจะมาถึงจุดของงานศิลปะ เขาจะคิดตาม เขาก็จะ อ๋อๆ เหมือนที่น้องพาไปชมตรงโน้น 

“อย่างคอนเซปต์ของงานนี้ ‘Open World’ คำว่า ‘เปิดโลก’ มาจาก ‘พระพุทธเจ้าปางเปิดโลก’ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 36 ปางของพระพุทธเจ้า เป็นปางหลังจากเสด็จโปรดพระมารดา กลับจากสวรรค์  โลกทั้งสามกลับเชื่อมกัน นั่นคือโลกสวรรค์-มนุษย์-นรก คอนเซปต์ของงานเบียนนาเล่ครั้งนี้ก็เหมือนกัน คือเปิดโลกให้ทุกคนได้รับผ่านงานศิลปะ ไม่ใช่แค่ให้ทุกคนได้ดูงานศิลปะเท่านั้น แต่ได้เปิดให้เห็นว่าในงานศิลปะมีทุกอย่างอยู่ในนั้น ทั้งเรื่องราวของคน ศาสนา ความเชื่อประวัติศาสตร์ทุกสิ่งอยู่ในนั้นหมดเลย”

เจน-อารยา พวงสอน : “ถ้าย้อนเวลาได้ อยากกลับไปเรียนศิลปะ” คำพูดของโดเซ่นที่ไม่เคยสนใจศิลปะมาก่อน

เรื่องราวของโดเซ่นคนนี้ แม้ไม่ใช่ชาวเชียงรายโดยตรง แต่ก็เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงจากการมาเที่ยวหาเพื่อนรุ่นพี่ หัวหน้างานเก่าที่รักและนับถือซึ่งเป็นชาวเชียงราย ที่ตั้งใจหยุดพักงานไกด์ช่วงเวลาหนึ่งกลับมาอยู่บ้านกลางทุ่งนาแถบ อ.แม่จัน อันเป็นบ้านเกิด จากแรกเริ่มแค่มาสองสัปดาห์ก็อยู่ยาวเป็นเดือน กระทั่งเพื่อนรุ่นพี่ อ้อม-บุศยรินทร์ วุฒินนท์ชัย และเจนเห็นข่าวประกาศรับสมัครผู้นำชมศิลปะ ทั้งสองจึงอยากลองสมัครเพราะคิดว่าอยากหาอะไรใหม่ๆ ทำสักช่วงเวลาหนึ่ง

เจนเรียนจบวิศวกรรมโยธา ทำงานด้านที่เรียนมาไม่นานก็ต้องออกเพราะอุบัติเหตุหนักเกือบเอาชีวิตไม่รอดจากการไปช่วยห้ามคนที่ทำงานตีกัน จากนั้นก็ย้ายออกจากหาดใหญ่ไปอยู่ภูเก็ต และเริ่มต้นจากงานง่ายๆ อย่างโรงแรมเพราะยังไม่ได้ภาษา ต่อมาได้รับโอกาสได้ไปใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศอังกฤษราว 6 ปี แม้จะต้องทำงานหนักเพื่อหาเงิน แต่เจนมองว่าเป็นโอกาสได้เรียนรู้และเติบโต กลับมาจากอังกฤษเธอซื้อบ้านที่ภูเก็ต และทำงานโรงแรมสักพักก่อนจะมีเพื่อนแนะนำให้ไปสอบเป็นไกด์ ทำหน้าที่นำเที่ยวอยู่นาน จนกระทั่งงานหนักเกินไปจนต้องหยุดพักก่อนจะหมดไฟ  

“ถ้าถามว่าก่อนหน้าที่จะมาทำหน้าที่โดเซ่นเรารู้จักศิลปะแค่ไหน ต้องบอกว่า ไม่เคยรู้เรื่องมาก่อนเลย ศิลปะสำหรับเราคือ การวาดรูปภูเขา 2 ลูก มีพระอาทิตย์ 1 ดวง มีทาง มีบ้าน มีนา มีนกบิน

“เริ่มจากสัปดาห์แรก เราเป็นรุ่นเสริม (รุ่นตามมาในสัปดาห์ที่ 2) เราไม่ได้อบรมเลย เขาให้เรามาดูงาน มาเดินตามโดเซ่นรุ่นพี่ฟังคำอธิบายเพราะตอนนั้นเรายังไม่เข้าใจชิ้นงานต่างๆ ที่โกดังห้วยเกี๋ยง วันนั้นจำได้ว่ากลับบ้านไปก็ยังพะวงอยู่ ทางผู้จัดก็บอกว่าพรุ่งนี้เช้าให้มาเริ่มงาน และเราสองคน (เจนกับพี่อ้อม) ก็ต้องรับผิดชอบนักท่องเที่ยวที่เป็นต่างชาติด้วย คืนแรกนอนไม่หลับเลยเพราะเครียด อีกทั้งรายละเอียดข้อมูลของงานที่มีก็คร่าวๆ มากเลย เราก็เสียความมั่นใจ แต่ก็อาศัยตั้งใจทำงานและค่อยๆ หาข้อมูล เรียนรู้เพิ่มเติมเอา”

อ้อมเสริมว่า จริงๆ ทุกผลงานศิลปะจะมีโดเซ่น 1 คนต่อ 1 จุด แต่ทุกคนก็ตั้งใจเรียนรู้งานของแต่ละคนเพื่อช่วยเหลือกันในกรณีที่พักทานข้าวหรือวันหยุด ซึ่งเจนก็เน้นย้ำว่า การได้นำชมผลงานของศิลปินทั้ง 8 คนในโกดังห้วยเกี๋ยงนี้ให้ผลดีกับตัวเธอเอง

“เราได้ความรู้เพิ่มจากที่เราไม่มีความรู้เรื่องศิลปะเลย พอเราได้ทำงานแล้วมาเจอคิวเรเตอร์ เราก็ครูพักลักจำและเดินตามคุณเจี๊ยบ คุณอังกฤษ และคุณมนุพร เหลืองอร่าม เราก็พยายามฟัง อันไหนไม่เข้าใจก็ขออนุญาตถาม เพราะเรามานึกดูว่าคนที่มาดูเขาอาจไม่เข้าใจศิลปะเหมือนที่เราเคยเป็น 

“เรามีคำถามอะไร เราอยากรู้อะไร คนอื่นก็คงมีคำถามคล้ายๆ กับเราเหมือนกัน แล้วยิ่งพอทำไปก็เริ่มไปดูข้อมูลไปค้นคว้าเพิ่มเติม อย่างพี่อ้อมก็ไปอ่านนิยาย เจ้านางแสนหวี ที่เป็นเรื่องเชื่อมโยงกับท่านย่าของศิลปิน สว่างวงศ์ ยองห้วย ที่เจนดูแลงานอยู่”

อ้อมบอกว่าเธอไปค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตหรือหาหนังสือมาอ่าน “อ่านแล้วมาเล่าให้กันฟัง คนนี้เป็นอย่างนี้ กลายเป็นเรื่องสนุก เป็นเรื่องเปิดโลกของเราไปเลย”

เมื่อโลกเริ่มเปิด ศิลปะจึงเป็นเรื่องน่าสนใจมากยิ่งขึ้นในการรับรู้ของเจน เธอเล่าต่อว่า

“เริ่มรู้สึกว่าจริงๆ ศิลปะไม่ไกลตัวเลย มันสื่อได้หลายอย่าง”

 “อย่างถ้าเป็นศิลปินอย่างสว่างวงศ์ก็มีอีกมุมมองหนึ่งของ เชียว ซ่ง (Tcheu Siong) ศิลปินชาวหลวงพระบาง ก็จะออกมาแบบหนึ่งในวัฒนธรรมของเขา หรืออย่างศิลปิน ปังร็อค ซุลาป (Pangrok Sulap) กลุ่มศิลปินชนพื้นเมืองจากรัฐซาบะฮ์ เกาะบอร์เนียว ประเทศมาเลเซีย ที่ทำงานสื่อเรื่องราวของธรรมชาติ บอร์เนียวมีการรุกล้ำพื้นที่ ชาวบ้านถูกรัฐบาลแสวงหาผลกำไรจากที่อยู่ของพวกเขา แต่ชาวบ้านไม่ได้รับอะไรเลย เขาก็เลยต้องมาสื่อสารบอกเล่าเป็นงานศิลปะ

“พอหลายเรื่องเราได้รับรู้ ได้เห็น เราก็เริ่มอิน แล้วก็อยากสื่อให้ผู้เข้ามาชมงานศิลปะเข้าใจเหมือนกับที่เราเข้าใจ เราดีใจมากพอรู้ว่าเบียนนาเล่ปีหน้าจะจัดที่ภูเก็ต เราดีใจที่สุด เพราะเจนกับพี่อ้อมเราคุยกันโดยตลอด ชวนเพื่อนบินมาจากภูเก็ตบ้าง อยากให้คนได้มาดูงานศิลปะกัน

“คิดว่าศิลปะช่วยขัดเกลาจิตใจ จากการที่เมื่อก่อนไม่ค่อยละเอียดอ่อนเท่าไร ไม่ค่อยสนใจในรายละเอียดอะไรมากมาย แต่กลายเป็นว่าอย่างชิ้นงานของ อ.สว่างวงศ์ มันต้องมีดีเทล มีเรื่องราว ซึ่งเรื่องราวเหล่านั้นต้องอิงมาจากชิ้นงาน แล้วเราจะรู้สึกดีมาก ถ้าเวลาเราพูดแนะนำงานแล้ว ผู้เข้าชมงานเขาหยุดตรงจุดนี้นานแล้วมีคำถาม พอมีคำถามแล้วโต้ตอบซึ่งกันและกัน ทำให้เรารู้สึกว่ามันโอเคนะ หรือบางคนบอกว่า จำได้นะเรื่องนี้เคยเกิดขึ้น มีความรู้สึกดี ทำให้เรารู้สึกใจฟู หรือบางครั้งถ้าเราได้รับคำถามที่เราตอบไม่ได้ เราก็จะบอกว่าเราไม่แน่ใจกับคำตอบ ก็จะไปหาข้อมูลอีกที เท่ากับเราก็ได้ความรู้จากคนที่มาชม

“การนำชมงานศิลปะมีการแลกเปลี่ยนได้ เราได้เจออะไรที่แตกต่างจากที่เราเคยเจอในฐานะไกด์นำเที่ยว และศิลปะก็ทำให้เรากลายเป็นคนใจเย็นขึ้น”

ถามกลับไปว่าปกติใจร้อนหรือ เธอตอบมาว่า “เมื่อก่อนใจร้อนมาก แต่พอได้มาอยู่ตรงนี้เราเห็นเลยว่า คนที่มาชมงานศิลปะมีจิตใจอ่อนโยน และเขาก็พร้อมจะให้ข้อมูลเราด้วยท่าทีที่น่ารักด้วย“

นอกจากหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต เจนยังสื่อสารโดยตรงไปถึงศิลปิน ซึ่งแสดงงานในโกดังห้วยเกี๋ยงเป็นห้องสุดท้ายว่า เพราะอะไรผนังจึงต้องใช้สีแดง ศิลปินตอบกลับมาว่า ภาพต้นฉบับที่เชียงรุ่งก็อยู่บนกำแพงสีแดงเช่นกัน จึงต้องการจำลองบรรยากาศให้คล้ายคลึงที่สุด ซึ่งเธอก็นำข้อความเหล่านั้นกลับมาเล่าให้โดเซ่นทุกคนที่นี่ฟัง เพื่อใช้บอกเล่าในการนำชมงานศิลปะ

“เมื่อก่อนตอนที่ทำทัวร์เราไม่รู้อะไรแบบนี้เลย ถึงเคยได้ยิน ‘รัฐฉาน’ แต่เราไม่ได้สนใจเรื่องพวกนี้เลย เดี๋ยวนี้อ่าน ติดตาม หรือหาข้อมูลในสิ่งที่ไม่รู้ เช่น กลุ่มชาติพันธุ์และการต่อสู้ของพวกเขา หลายอย่างก็สะเทือนใจ กลายเป็นเราอินมาก แต่เราทำหน้าที่โดเซ่นเราก็ต้องระมัดระวังด้วย เพราะงานของศิลปิน สว่างวงศ์ ยองห้วย ที่เราดูแล ก็มีความเชื่อมโยงหลายส่วน เรื่องฝิ่น เรื่องท่อน้ำเลี้ยง เรื่องการต่อสู้ อย่างวันนั้นมีนักวิชาการคนพม่าที่ทำงานแม่ฟ้าหลวง เขามากับผู้หญิงคนไทย ก็บอกน้องผู้หญิงว่าตรงนี้ไม่ขออธิบายมากนะ เพราะเราไม่รู้ว่าเรื่องมันจะกระทบแค่ไหน (อ้อมเสริมว่า การที่ไปเราค้นข้อมูล ไม่ได้จะไปสร้างความรู้สึกไม่ดีต่อใคร แต่ต้องการให้เรานำไปสื่อสารให้คนดูศิลปะได้ง่ายขึ้น) ใช่ อยากให้เขาดูงานศิลปะได้ง่ายขึ้น คิดว่าทุกอย่างพอมีเรื่องเล่า มีเรื่องราว คนก็จะสนใจมากขึ้น คือศิลปะหลายๆ อย่างก็เป็นอะไรที่เข้าใจยาก แต่เราก็มีโอกาสได้พบศิลปินผู้ใหญ่ ท่านก็จะบอกเสมอว่า ศิลปินจะเปิดพื้นที่ให้คนดูงานเอง บทสรุปสุดท้ายคือ ศิลปินอยากให้เราตีความเองมากกว่า เราไม่สามารถชี้เแนะได้ทั้งหมด

เราถามเจนว่า ในโกดังห้วยเกี๋ยงแห่งนี้มีงานศิลปะที่น่าสนใจถึง 8 ผลงาน จาก 8 ศิลปิน เธอมีความรู้สึกร่วมกับงานชิ้นไหนมากที่สุด?

“ชิ้นงานของ ‘ปังร็อค’ ที่เกี่ยวกับธรรมชาติ เราดูแล้วก็ย้อนกลับไปคิดว่า ปีหน้าเบียนนาเล่จัดที่ภูเก็ต ด้วยงานของเราที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวมาตลอด เราเห็นการท่องเที่ยวที่ทำลายธรรมชาติ ดังนั้น มาวันนี้เราอยากเห็นงานศิลปะที่จะเกิดขึ้นที่นั่น รอชมเลย อยากเห็นงานที่จะสร้างสำนึกที่ดีให้คนที่มาดูมาเที่ยวบ้านเรา เพราะเราเห็นกับตาว่านักท่องเที่ยวเอาถุงพลาสติกมาจับปลา หักปะการังของเรา”

ถ้าอย่างนั้นเจนก็มองศิลปะเปลี่ยนไปเยอะเลย เราตั้งคำถามต่อ

“เปลี่ยนนะ เมื่อก่อนมีการแสดงศิลปะเราไม่เคยสนใจ แต่ตอนนี้ เอ๊ะ มีงานที่หอศิลป์เหรอ เอ๊ะ หอภาพยนตร์จะมาแสดงงานเหรอ เอ๊ะ จะมีอันนี้เหรอ จากที่เราไม่เคยสนใจ ทั้งเรื่องงานศิลปะ และเรื่องพม่า เรื่องบอร์เนียว ก็ดูตามยูทูป เริ่มสนใจขึ้นเยอะมากเลย (เธอลากเสียงยาวตรงคำว่ามาก) เมื่อก่อนเราดูมือถือ เราไถฟีดหน้าจอดูอย่างอื่น ทุกวันนี้กลับมาดูเรื่องศิลปะ”

“มีข่าวว่าจะมีงานเบียนนาเล่ที่ประเทศเกาหลี เจนบอกว่าจัดเมื่อไรเนี่ย จะไปดู” อ้อมพูดพร้อมอมยิ้ม

ไม่เพียงเท่านั้น เจนยังมองว่าคนทุกคนไม่ควรละเลยศิลปะอีกด้วย 

“คือถ้าเป็นคนในพื้นที่จัดแสดงงาน ควรจะเข้ามาดูมาชมอย่างยิ่ง เพราะงานบางชิ้นงานมันต่อยอดกลับไปในพื้นที่ได้ สร้างมูลค่าได้ในบางอย่าง ถ้าได้รับการสนับสนุนจากคนในพื้นที่ อย่างวันก่อนไปนวดก็ถามเขาว่ารู้ไหมว่ามีงาน ป้าที่นวดไม่รู้ เราก็บอกว่าทีแรกหนูก็ไม่รู้เหมือนกัน กระโดดหนีเลย แต่อันนี้หนูว่าดีนะคะ ไปดูสิคะ เผื่อได้อะไร อย่างมีงานของป้าม้ง ทีแรกเขาก็ปักผ้าขายในตลาดราคาไม่กี่บาท เดี๋ยวนี้งานเขาแพงมากเลย ไปแสดงเมืองนอกด้วย

“หรือถ้าเป็นเด็กนักเรียนมาดู ก็จะพยายามสอดแทรกบอกเขาว่า นี่อาจเป็นแรงบันดาลใจให้น้องๆ ไปต่อยอดแฟชั่นได้นะ อย่างป้าม้งนี่เดิมขายของที่ระลึกยังมีวันนี้ได้เลย นี่ถ้าไม่มีกล้องวงจรปิดสักตัว พี่อาจจะขโมยงานชิ้นนี้ไปได้นะ ชิ้นนี้สองแสนนะ บางคนอาจชอบงานศิลปะ บางคนอาจไม่ชอบแต่พอมีเรื่องตัวเลข เขาอาจจะเชื่อมโยง เราต้องใช้หลักเศรษฐกิจนำพา ก็อาจทำให้เขาชอบศิลปะขึ้นได้ ก็จะมีบางกลุ่มที่เราพูดเล่นๆ ได้ ถ้าเป็นพี่นะพี่จะเอาไปออกแบบอย่างนี้ แล้วไปสกรีนเป็นเสื้อ อาจขายได้นะ ก็อาจเป็นไอเดียให้เขา เพราะเราคงไม่มีโอกาสได้ไปทำตรงนั้น ถ้าเราย้อนเวลาไปได้ เราจะไปเรียนศิลปะ (หัวเราะ)

“เพราะศิลปะมันได้หลายแขนง ตอนนี้ถ้าถามเจนว่าศิลปะคืออะไร จะไม่ได้คำตอบว่ามันคือภูเขา 2 ลูก พระอาทิตย์ เมฆ นก อีกแล้ว เพราะตอนนี้เจนตอบได้เลยว่าศิลปะคือทุกๆ อย่างที่อยู่รอบตัวเรา และเรานำเอามาปรับต่อยอดได้ ทั้งงานปัก งานประดับตกแต่ง หรือการจัดวางมีเดียอาร์ต ได้ทั้งหมดเลย”

ป้าเจี๊ยบ-ดร.รัชฏ์พันธุ์ รัชนีวงศ์ : ศิลปะบำบัดได้ทุกอย่าง

น้ำเสียงไพเราะกังวาล ออกเสียงอักขระชัดเจนของ ป้าเจี๊ยบ ดร.รัชฏ์พันธุ์ (สรรพนามเรียกตามน้องๆ โดเซ่นที่เรียกแสดงความนับถือ) ดังก้อง ตรงหน้าผลงานศิลปะผ้าปักขนาดใหญ่ ผลงานของศิลปิน ตาเยบา เบกัม ลิปี (Tayeba Begum Lipi) ในอาคารไร่แม่ฟ้าหลวง ป้าเจี๊ยบเป็นหนึ่งในโดเซ่นรุ่นใหญ่ที่น่าสนใจไม่น้อย ด้วยวัยวุฒิและคุณวุฒิที่หลายคนอาจตั้งคำถามว่า ทำไมจึงมาทำหน้าที่คอยนำชมศิลปะอย่างนี้ เพราะตำแหน่งแห่งที่หลังเกษียณจากข้าราชการครู เธอเป็นถึงรองประธานสภาวัฒนธรรมเชียงราย นายกสโมสรฝึกการพูดเชียงราย พิธีกรของจังหวัด ทั้งยังเป็นครูสอนนาฏศิลป์ที่มีความเชี่ยวชาญทั้งด้านการรำ ขับร้องเพลงไทย ทำนองเสนาะ และสีซอด้วง เธอตอบด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า จะอายทำไม ได้ทำงานให้จังหวัด ทั้งยังได้รับค่าตอบแทนการทำงานด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนอีกด้วย

ก่อนที่จะมาทำหน้าที่นำชมงานศิลปะ เธอวาดรูปยังไม่เป็นเลย ความสนใจด้านศิลปะมีเพียงด้านนาฏศิลป์เป็นหลัก แต่เมื่อทราบว่าจังหวัดเชียงรายจะเป็นผู้จัดงานไทยแลนด์ เบียนนาเล่ 2023 เธอตั้งใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งในงานนี้ให้ได้ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่การงานใดๆ ก็ตาม และเมื่อมีโอกาสเธอจึงสมัครเป็นโดเซ่นที่พร้อมเรียนรู้ทุกอย่าง เปิดใจกว้างสำหรับสิ่งใหม่ๆ ที่จะเข้ามา

“อยากทำมากค่ะ ตอนนั้นพอรู้ว่าจะมีงานนี้ขึ้น ก็คิดว่ายังไงก็ได้ขอให้ได้ทำ จึงสมัครแล้วเข้าอบรมกับทุกคน ได้ช่วยเหลือแนะนำน้องๆ ว่าถ้ามาทำต้องกล้าหาญในสิ่งที่เราต้องรู้จริง ต้องไม่มโนเอง หาข้อมูล แล้วยืนหยัดยืนหน้าเวทีให้ได้ แนะนำตัวเองคร่าวๆ และพูดถึงแนวคิดของศิลปิน สิ่งที่ศิลปินต้องการนำเสนอ เข้าใจศิลปินให้ได้ นี่คือคอนเซปต์

“ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยทุกคนต้องไปทำการบ้าน อันดับแรกเราไม่รู้จักศิลปิน คิวเรเตอร์ช่วยเราได้สูงสุด คุณมนุพร พี่เจี๊ยบ และคุณอังกฤษ ช่วยเราได้ทั้ง 3 ท่านเลย และหนังสือไกด์บุ๊กพี่นั่งอ่านตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้าย เข้าใจได้ว่าศิลปินเป็นบุคคลที่มีแนวคิดเป็นของตัวเอง และแต่ละคนก็คือเพชร 1 เม็ด พอเอามารวมกัน โห เรามีเพชรเป็นกองเลย มีความสุขในการนั่งอ่านหนังสือ พออ่านแล้วเราประมวลจนกระทั่งเป็นความคิดของเราเอง”

“สิ่งที่ได้รับจากเป็นการโดเซ่นคือ คิวเรเตอร์สอนเราทุกเรื่อง เราก็จดจำทั้งบุคลิกภาพ ภาษาที่คิวเรเตอร์ใช้ ข้อมูล และเราก็สื่อสารกับศิลปินตรง อย่างคุณตาเยบา เบกัม ลิปี (ศิลปินจากธากา บังกลาเทศ) พี่ต้องไปค้นหาช่องทางติดต่อกับท่าน จนได้เจอเฟซบุ๊กแล้วสนทนากับท่านว่าถ้าเราจะคุยเรื่องนี้ ท่านโอเคไหม ท่านตอบว่าเอาเลย พอเราได้ใบเบิกทางแบบนี้ จบข่าว เราเต็มที่กับงานได้เลย เพราะฉะนั้นเราสามารถเล่าเรื่องของคุณตาเยบาในฐานะที่เธอเป็นลูกสาว เป็นแม่ เป็นภรรยา แล้วก็เป็นผู้นำสตรีในด้านศิลปะ งานจึงออกมาค่อนข้างมีความสุข เป็นช่วงเวลา 4 เดือนที่ไม่ได้รู้สึกเบื่อหน่ายที่จะต้องเล่าเรื่องแบบนี้วันหนึ่งเป็นร้อยๆ รอบเลย ในช่วงที่แขกเยอะยิ่งมีความสุข แขกมีส่วนร่วมกับเรา ซักถามด้วย เราก็มีความสุข ถึงบางครั้งจะรู้สึกเครียด หงุดหงิด เราก็บริหารความเครียดของเราง่ายๆ คือจบจากตรงนี้ก็คือจบ ไม่เอามาเป็นอารมณ์ 

“เวลาทำงานเราต้องทำข้อมูลที่แขกควรรู้ ในไร่เรามีงานแสดงอะไรบ้าง รถนำเที่ยวที่จังหวัดบริการเป็นอย่างไร และในฮอลล์เรามีศิลปินกี่คน เราต้องทำข้อมูลและต้องพร้อมรับมือกับทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นอามณ์ของผู้มาเที่ยว หรืออารมณ์ของตัวผู้บรรยายเองก็ตาม คือบางทีอารมณ์ก็อาจติดค้างมาจากแขกคนก่อนหน้า แขกแสดงอารมณ์ร้ายใส่เรา แล้วเรามีหน้าที่บรรยาย ขณะเราบรรยายอยู่ แขกขัดจังหวัดก็สะดุด คนที่ตั้งใจฟังก็ดุทั้งเราทั้งแขกอีกคนหนึ่ง เพราะฉะนั้นอารมณ์แปรปรวนตลอดเวลา เราต้องบริหารอารมณ์ บริหารทีมงาน 

“น้องๆ ที่อยู่ในไร่แม่ฟ้าหลวงทั้ง 14 คน ทุกเช้าต้องเดินไปเช็กอารมณ์ ถามเจ็บไข้ได้ป่วย เราทุกคนต้องแทนกันได้หมด หากใครมาไม่ได้”

ขณะที่ป้าเจี๊ยบกำลังพูดคุยกับเรา เธอขอตัวไปบรรยายให้ผู้เข้าชมงานด้วยท่าทีกระฉับกระเฉง ช่วงเวลาหนึ่งเธอขยายความถึงการทำงานของศิลปินตาเยบาซึ่งมีเวลาอยู่เชียงรายสั้นมาก จึงทำได้เฉพาะงานสเกตซ์ แล้วทางเชียงรายจึงต้องหาแนวทางจัดการงานแสดงต่อ

“จริงๆ แล้วศิลปินตั้งใจจะปักงานเอง แต่ไม่มีเวลา เพราะเธอใช้เวลาที่เชียงรายไม่ถึง 3 สัปดาห์ ทำเป็นโปรเจกต์ขนาด 50 x 80 เซนติเมตร ซึ่งในตอนนั้นเหลือเวลาอีก 4 เดือน ปรากฏว่ามีคนมาช่วย คือกลุ่มพัฒนาสตรี อายุ 64 – 87 ปี นำโดยคุณนิธี (นิธีผ้าปักมือบ้านสันกอง) แล้วไปสั่งทอผ้าไหมจากจิม ทอมป์สัน 10 เมตร กลุ่มดังกล่าวขยายสเกลภาพ โดยกลุ่มแม่บ้านซึ่งไม่มีพื้นฐานศิลปะ ทอนผ้าเป็น 10 ชิ้น นำทั้ง 10 ชิ้นนี้เข้าไปยังเรือนจำกลางจังหวัดเชียงราย สุดท้ายผู้ทำงานทั้งหมดมาจากอาสาสมัครของผู้ชาย 29 คน โดยมีสมาชิกกลุ่มพัฒนาสตรีทั้ง 5 คนเป็นวิทยากรและเป็นครู แล้วทุกคนสมัครใจ งานจึงสำเร็จได้ด้วยฝีมือผู้ต้องขังชาย 29 คน ภายในระยะเวลา 3 เดือน ศิลปินยังไม่มีโอกาสเห็นของจริงเลย ศิลปินเห็นภาพผ่านเฟซบุ๊ก เห็นจากที่คนมาชมแล้วโพสต์ลง ศิลปินบอกว่า 

“ภูมิใจมาก มันช่างสาแก่ใจฉันนักเพราะงานผู้ชายเธอยังทำได้ พอถึงงานผู้หญิง ทำไมเล่าผู้ชายจะไม่ช่วยทำหรือ”

“สุดท้ายจึงเหมือนมีการกำหนดว่างานนี้จบที่ผู้ชายทำ ซ้อนแล้วซ้อนอีก งานที่นี่ออกมาเราภาคภูมิใจตรงที่เส้นด้ายที่แทงผ่านเข็มไม่รู้กี่ล้านครั้ง ถูกย้อมด้วยสีธรรมชาติทั้งหมดโดยฝีมือของกลุ่มพัฒนาสตรีดังกล่าว 

“ดิฉันบรรยายงานทุกวันๆ เกิดความรู้สึกว่าเราน่าจะมีวาสนานะ จึงได้มาอยู่ตรงนี้ บรรยายตรงนี้ และเป็นคนเชียงรายด้วย”

ป้าเจี๊ยบเล่าว่าพอทราบว่าต้องมาอยู่เพื่อนำชมงานศิลปะชิ้นนี้ เธอหาข้อมูลเพิ่มเติมจากการอ่านคู่มือ และเรียนรู้จากคิวเรเตอร์ ไม่เพียงเท่านั้น เธอยังเขียนข้อความติดต่อโดยตรงไปที่ศิลปิน และยังค้นหาว่าใครเป็นคนปักผ้าแล้วไปหาพูดคุยขอข้อมูลเพิ่มเติม

“ไม่รู้จักตาเยบามาก่อน ก็หาข้อมูลอ่าน อ้าว งานเธอเป็นงานผ้า โอ้โห แม่เราเป็นคนปักผ้าปักเสื้อนักเรียนขายมาก่อน เราก็มีแรงบันดาลใจจากชีวิตในอดีตว่า มันไม่ใช่บังเอิญอีกแล้ว มันเชื่อมโยงกันมาแบบไม่รู้ตัว พอเราได้อยู่ตรงนี้ ลูกมาเป็นโดเซ่นก็อยู่ใกล้กับเราอีก เรายิ่งอบอุ่น ก็เลยคล้ายกับว่าไม่มีเรื่องยากเลย เวลาทำงานหากมีปัญหา เราก็แก้ด้วยการทำใจให้รักสิ่งนั้นให้ได้

“อีกสิ่งหนึ่งที่ตั้งใจคือ ค้นหาชื่อเธอ (ตาเยบา) ในเฟซบุ๊ก สวัสดีเธอก่อน แล้วบอกว่าได้รับเกียรติให้เป็นโดเซ่นบรรยายงานของคุณ แล้วถามว่าถ้าดิฉันบรรยายแบบนี้คุณจะพอใจไหม คุณตาเยบาก็ยกนิ้วให้ แล้วเธอก็เล่าความคืบหน้า เช่น วันนี้ครอบครัวเธอสมบูรณ์แบบขึ้น จริงๆ เธอไม่มีลูกนะ แต่เธอเล่าเรื่องผ่านมุมของความเป็นผู้หญิง

“ชีวิตจริง ดิฉันไม่มีลูก สามีไม่ได้เลวร้าย แต่ทั้งหมดเป็นงานที่ดิฉันทำ ให้เล่าแบบนี้เพราะเป็นตัวแทนของผู้หญิงในประเทศนี้ เธอเล่าล่าสุดบอกว่าสามีช่วยในมูลนิธิเพื่อเด็กและสตรี ทุกอย่างอยู่ที่การสื่อสาร การคุยกันแล้วได้ Eye Contact ได้เห็นหน้าเห็นตา รู้สึกว่าจะได้สัมผัสว่าหัวใจจริงๆ เขารู้สึกยังไง 

“ผู้หญิงคนนี้ไม่ได้รับการยอมรับในประเทศ แต่เธอทำตัวเองจนทะลุปรอทไปแสดงต่างประเทศได้ 

“เราได้เรียนรู้และรู้สึกว่าความเป็นผู้หญิงยิ่งใหญ่มาก งานผ้าปักเกวียนชิ้นใหญ่นี้ ถึงผู้ชายจะเป็นคนทำ แต่ผู้หญิงเป็นคนควบคุมการทำงานนะ เพราะฉะนั้นไม่ว่าชายหรือหญิงเราต่างต้องทำงานแทนกันได้ไม่ต่างกัน เหมือนที่คุณตาเยบาพยายามสื่อสารผ่านงานต่างๆ ของเธอ

“จากการทำงานนี้ รู้สึกอยากประกาศให้โลกรู้เลยว่างานศิลปะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อให้เราเรียนรู้ และดิฉันเพิ่งมาเข้าใจงานศิลปะเมื่ออายุ 60 ปี ตลอดชีวิตไม่เคยเข้าใจเลย วาดรูปหมูยังวาดได้แค่วงกลม 3 วงซ้อนกัน ขนาดตรงขายังต้องวาดหญ้าคลุมเลยเพราะวาดไม่เป็น (หัวเราะ) 

“แต่พอมาเป็นโดเซ่น เราเริ่มเข้าใจว่าศิลปะสามารถบำบัดได้ทุกเรื่อง ตั้งแต่เวลาที่ว่างเปล่าของเราหลังเกษียณ มีความสุขมากที่ได้มายืนตรงนี้”

“4 เดือนไม่รู้สึกเบื่อเลย เจอแขกแต่ละท่านก็ไม่เหมือนกัน  ยกตัวอย่าง มีสามีชาวอิตาลีมากับภรรยาชาวไทย เธอยืนฟังคำอธิบายน้ำตาไหลพราก ก็ถามว่าขอประทานโทษ ดิฉันพูดอะไรผิดไปหรือเปล่า เธอตอบว่าอดีตฉันก็เป็นอย่างเรื่องราวนี้ ป้าเลยถามกลับไปว่าแล้ววันนี้เป็นอย่างไรคะ สามีเขารีบตอบเลยว่า ผมนี่ไงทาสตัวจริง (หัวเราะ) น้ำตาเลยกลายเป็นเสียงหัวเราะ”

บทบาทหน้าที่ของโดเซ่น ทำให้ป้าเจี๊ยบมั่นใจในวิธีคิดที่เธอยึดมั่นมาตลอด คือ ทำงานอย่างตั้งใจ หมั่นหาความรู้เพิ่มเติม และดึงประสบการณ์ในชีวิตมาใช้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม

“อย่างที่บอกว่าป้าเจี๊ยบวาดรูปไม่เป็นเลย แต่มาเห็นศิลปินต้องวาด ต้องสเกตซ์ เค้าทำสัดส่วนได้อย่างไร อย่างคุณป้านิธีท่านเรียนหนังสือน้อยมาก แต่ทำไมขยายสามล้อจากรูปเล็กนิดเดียว แต่ทำได้งดงามมาก ก็เลยคิดในใจว่า ทุกอย่างในโลก ต้องเรียนรู้ และอยู่ที่เรียนรู้ ถ้าเราวางความเพียรแล้วไม่สำเร็จ ถ้าขี้เกียจเป็นตัวนำ หรือกลัวเป็นตัวนำ มันก็จบ มันก็ไม่มีอะไรเดินหน้าแล้ว แต่เราเป็นคนชอบเดินไปข้างหน้า

“พอคนถามว่าคิดอะไรถึงมาทำงานนี้ มายืนพูดอย่างนี้ ร้อนเงินเหรอ ก็บอกเขาไปว่าเงินเป็นของดีนะ แถมได้แสดงความสามารถ และได้เจอคนตั้งเยอะตั้งแยะ และเราก็ยังได้ทำงานเพื่อจังหวัด เพราะสิ่งหนึ่งที่เราคิดมาเสมอคือ เราเกษียณที่เชียงราย เงินบำนาญมาจากแผ่นดินนี้ การได้ทำให้กับเชียงรายเหมือนกับว่าเราเป็นข้าราชการที่ไม่ขี้เหร่นะ เราเอาประสบการณ์ทั้งชีวิตของเรามาใช้ในการทำงานนี้ อย่างวันนั้นไปแทนน้องที่หอคำ มีสระบัว มีชาวสิงคโปร์มายืนอยู่ริมสระ เขามีแรงบันดาลใจร้องเพลงของ ฟรานซิส ยิป เพลงบัวขาว เราก็ร้องไปกับแขกด้วยเลย ทำงานแล้วทำให้มีความสุข ไปยืนตรงไหนเราก็ได้ความสุขตรงนั้นเสมอ“

ว่าแล้วป้าเจี๊ยบก็ร้องเพลงบัวขาวให้เราฟังด้วยน้ำเสียงหวานจับใจ

ซันนี่-สุรีย์พร มานิตอัศวกุล : ศิลปะพากลับไปสู่รากเหง้า และชวนออกไปสู่โลกกว้าง

โดเซ่นชาวเชียงรายที่ไปใช้ชีวิตช่วงวัยรุ่นและวัยเรียนที่เมืองเพิร์ธ ประเทศออสเตรเลีย แล้วกลับมาทำงานด้านการโรงแรมที่กรุงเทพฯ ภูเก็ต และกรุงเทพฯ อีกครั้ง ก่อนพักเบรกจากการทำงานมาเยี่ยมครอบครัวที่บ้านเกิด พร้อมหยุดพักขบคิดว่าจะเลือกทำงานต่อทางด้านโรงแรม หรือเปลี่ยนสายอาชีพ 

ระหว่างนี้ซันนี่มองเห็นข่าวการรับสมัครโดเซ่น จึงตั้งใจเป็นส่วนหนึ่งของงาน ด้วยเหตุผลแรกคือ เธอเป็นคนชอบดูงานศิลปะอยู่แล้ว ตั้งแต่ครั้งไปเรียนไฮสคูลที่เมืองเพิร์ธ และเหตุผลที่สองคือ เมื่อกลับมาอยู่บ้าน เธอพบว่าเธอไม่รู้จักเชียงรายบ้านเกิดของเธอเลยแม้สักนิด ดังนั้น การได้ทำงานโดเซ่นคงเป็นโอกาสดีที่เธอจะได้ใช้เวลาเพื่อสิ่งที่เธอสนใจ และที่สำคัญซันนี่บอกว่า เธอต้องการหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ ให้กับตัวเอง

ซันนี่เป็นโดเซ่นเพียงไม่กี่คนที่ระหว่างทำหน้าที่นำชมศิลปะได้เปลี่ยนผลงานที่รับผิดชอบถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกเธอนำชมศิลปะที่บ้านดำ หลังจากนั้นราว 1 เดือนมีโดเซ่นรุ่นน้องขอแลกเปลี่ยนให้เธอมาทำหน้าที่ที่หอศิลป์ร่วมสมัยเชียงราย จึงย้ายมาดูแลงานศิลปะของ ปิแอร์ ฮุยก์ (Pierre Huyghe) ห้องภาพยนตร์ชั้นล่าง ก่อนเปลี่ยนอีกครั้งเพื่อมานำชมงานศิลปะภาพถ่ายของศิลปิน อัลมากุล เมนลิบาเยวา (Almagul Menlibayeva) บนชั้นสอง เธอเล่าด้วยน้ำเสียงเรียบๆ พร้อมรอยยิ้มว่า เธอมีความสุขและดีใจที่มีโอกาสได้ดูแลนำชมงานศิลปะของทุกท่าน เพราะทุกงานทำให้เธอได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา  

เรื่องน่าทึ่งและเธอเองก็ทึ่งไม่แพ้เราคนฟังคือ ศิลปะนำเธอไปสู่รายละเอียดของรากเหง้าความเป็นชาวอาข่าจากสายเลือดผ่านทางครอบครัวคุณพ่อที่เธอไม่คิดว่าจะได้เจอ ตอนที่เธอประจำอยู่ที่บ้านดำกับงานศิลปะของ บู้ซือ อาจอ ศิลปินอาข่า ทำให้เธอตื่นเต้นและเชื่อมโยงความรู้สึกด้านในเธอกับงานศิลปะอย่างลึกซึ้ง

“ซันนี่มีเชื้อสายอาข่า เลยมีความทึ่งตอนเห็นงานของคุณบู้ซือ โอ้โห! อย่างนี้เลย อาข่าไม่มีภาษาเขียนของตัวเอง การที่ศิลปินผู้หญิงคนหนึ่งพยายามจะเก็บประเพณีวัฒนธรรม เรื่องเล่าอย่างนี้ ผ่านศิลปะ โห ชอบมาก ตอนอยู่บ้านดำซันนี่ดูแลส่วนงานของศิลปิน กมลรัตน์ สุขชัย ซึ่งเป็นภาพถ่าย ไม่ไกลจากของคุณบู้ซือ บางทีก็พาผู้เข้าชมงานเดินไปส่งตรงส่วนแสดงของคุณบู้ซือ ส่วนตัวยังไม่เคยเจอคุณบู้ซือ เจอแต่สามีของเขา (อ.สยาม) ที่มาช่วยติดตั้งงาน เลยมีโอกาสได้คุยกัน“  

“งานของคุณบู้ซือดีมากเลย ประทับใจ รู้สึกดีที่มีคนคอยจะปกป้อง เก็บ (Preserve) ตำนานเรื่องเล่าของชาวอาข่า ถึงแม้จะไม่ใช่หนังสือก็ตาม แต่ออกมาทางศิลปะก็ยังดี ว่าชาติพันธุ์ก็มีความหมายสำคัญ เพราะว่ายุคสมัยหนึ่ง ช่วงหนึ่งคนเมืองหลวงอาจจะเหยียดคนบนดอย พูดภาษาอะไรก็ไม่รู้ เราเลยรู้สึกว่าเป็นการดีที่มีศิลปินชาวอาข่าคนหนึ่งต้องการจะเก็บตรงนี้ ภูมิใจ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นห่วงด้วยว่าสิ่งเหล่านี้จะถูกพัฒนาเป็นในทางธุรกิจมากเกินไป ซึ่งพอเป็นแบบนั้นวัฒนธรรมก็จะเปลี่ยน

“บางจังหวะเราไปเที่ยวแล้วเห็นสินค้าที่อ้างว่าโดยชาวอาข่า แต่จริงๆ ไม่ใช่ เราก็รู้สึกมันไม่โอเคเท่าไร ขณะเดียวกันเราก็ภูมิใจนะ ที่มีคนสนใจวัฒนธรรม สิ่งของเครื่องใช้ของชาวอาข่า ซันนี่เองก็ได้เรียนรู้จากของจริง เรื่องจริง ที่ได้พัฒนามา แต่เนื่องจากชาวอาข่ากระจายตัวกันอยู่ แต่ละหมู่บ้านก็จะมีธรรมเนียประเพณีที่ต่างกันไป อย่างน้อยก็ต่างกันนิดหนึ่ง”

เธอเล่าถึงการทำงานหาข้อมูล เนื้อหา คอนเซปต์นอกเหนือจากเอกสาร จากคิวเรเตอร์ ก็คือการไปสืบค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตคล้ายคลึงกับโดเซ่นทุกคน

“ด้วยความที่เป็นคนที่อินกับงานศิลปะมาก ซันนี่ก็ไปค้นข้อมูลของศิลปินทุกคนที่เราต้องนำชมเลย อย่างตอนอยู่ชั้นหนึ่งที่อยู่ในห้องหนัง ถ้าไม่มีคนเข้ามาชมเราก็ออกมาช่วยข้างนอก ก็เรียนรู้ไปหมดเลย นอกจากไฟล์ที่ได้รับจากภัณฑารักษ์แล้ว เราไปค้นหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต มีข้อมูลเยอะเลย เพจของศิลปินบางคนก็จะคอยอัปเดตงาน เราก็เอาข้อมูลตรงนั้นมาจด พอหาข้อมูลในเพจ บางคนมีวิดีโอ บางคนมี YouTube ก็ไปค้นดู อย่างคุณอัลมากุล (อัลมากุล เมนลิมาเยวา ศิลปินร่วมสมัยและภัณฑารักษ์ชาวคาซัคสถาน) มีวิดีโอด้วย เป็นศิลปินที่ทำหลายแขนง ก็จะไปตามดูงานวิดีโอของเขาด้วย”

“เราได้ความรู้ ได้แรงบันดาลใจเยอะเลยจากการทำงานนี้ นอกจากได้เรียนรู้งานศิลปะว่ามีหลายแขนง เรียนรู้เทคนิคที่ใช้ อย่างคุณอัลมากุลเคยเป็นนักวาดภาพมาก่อน ทำสื่อสิ่งทอมาก่อน แต่เขารู้สึกว่างานที่ทำยังสื่อความหมายที่อยากบอกเล่าได้ไม่หมด เลยพัฒนาตัวเองเป็นช่างภาพ ยังไม่พอ ยังทำงานวิดีโอ ทำสารคดีด้วย เราก็ได้เรียนรู้ว่าศิลปินคนหนึ่งไม่จำเป็นต้องยึดติดอยู่อย่างเดียว เค้าอาจชอบอย่างนั้นมาแต่แรก แต่พอวันเวลาเปลี่ยนแปลงไป เทคโนโลยี สังคม เปลี่ยนไป ตัวศิลปินก็ปรับตัวตาม ไม่ยึดติดกับสิ่งเดียว มีความยืดหยุ่น เหมือนกับว่าพวกเขาไม่หยุดที่จะเรียนรู้“

แล้วเราล่ะ?

จริงอยู่ที่ซันนี่ไม่ได้พูดคำนี้ออกมา แต่หลังจากเธอจบประโยคบอกเล่าถึงศิลปินอัลมากุล เธอหยุดครุ่นคิดนิดหนึ่ง ซึ่งเราเชื่อว่าคำถามนั้นก่อเกิดขึ้นในใจของเธออย่างบ่อยครั้งแน่นอน ก่อนที่เธอจะพูดขึ้นว่า

“คุณอัลมากุลเป็นแรงบันดาลใจ ตอนนี้คิดว่า เอ๊ะ แล้วเราจะเอาไปใช้ชีวิตประจำวันเรายังไง เพราะเราทำงานจนไม่มีเวลาทำอย่างอื่นแล้ว ทำงานเหนื่อยกลับบ้าน พักผ่อน ตอนนี้เริ่มคิดและดูว่า เราจะหางานอดิเรกที่น่าสนใจเพื่อเป็นตัวช่วยผ่อน ผ่อนในการที่เราคลุกคลีกับงาน”

เราถามว่า คือการบาลานซ์ตัวเองหรือ

“ใช่ค่ะ ไม่อยากใช้คำว่า Work-Life Balance แต่มันจริง เพราะว่ามานั่งดูตัวเองแล้วรู้สึกว่าวันหยุดเราออกไปเที่ยวดูงานศิลปะ เพื่อนๆ หรือแม้กระทั่งแฟนเองก็ไม่ได้อินกับเรา เขาก็ปล่อยเราไปดู เราชอบตรงนั้น  ชอบไปดูงานศิลปะจนมีความคิดว่า หรือว่าศิลปะจะเป็นตัวช่วยพาเราหลุดออกไปจากงานออฟฟิศเดิมๆ ตอนนี้อยากไปเรียนดีไซน์ กราฟิกดีไซน์ แต่ว่ายังไม่แน่ใจว่ากราฟิกดีไซน์นั้นจะยังไงต่อ เพราะตอนนี้มี AI เข้ามาแล้วงานนั้นที่เราจะทำที่เรียกว่างานอดิเรก เราจะเปลี่ยนให้เป็นการหาเงินให้เราได้ยังไง ถ้าเกิดเราไม่ทำงานออฟฟิศแล้ว ก็เลยต้องวิเคราะห์ดูว่ามันจะไปได้ไหม ถ้าไม่ทำงานออฟฟิศแล้วไปทำงานออกแบบ ขณะที่ AI หรือเทคโนโลยีเกิดขึ้นตลอด”

ซันนี่พูดถึงแรงบันดาลใจที่เธอได้รับจากการเป็นโดเซ่น และพูดต่อเนื่องถึงมุมมองของคนรักงานศิลปะจากการเป็นคนชอบไปดู จนได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการศิลปะครั้งนี้ว่า

“เราได้เรียนรู้ว่านิทรรศการศิลปะมีการร่วมมือกับหลายฝ่ายก่อนที่จะจัดมาได้หนึ่งงาน ไม่ต่างอะไรจากงานโปรเจกต์โรงแรม ก่อนที่จะสร้างโรงแรมสักโรงแรมหนึ่ง ถ้าถามว่าความรู้สึกกับงานศิลปะต่างจากเดิมไหม ต่างตรงที่เราได้เห็นเบื้องหลังมากขึ้น จากเดิมที่เป็นผู้ชมอย่างเดียว เห็นแต่ด้านหน้า เห็นงานที่สำเร็จแล้ว ได้ชมความงาม เราได้รู้จักว่าศิลปินเป็นใคร 

แต่การทำงานนี้ เราได้มารู้เบื้องหลังว่าศิลปินคนหนึ่งใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าจะผลิตงานออกมาได้สักชิ้นหนึ่ง แล้วความหมายงานหนึ่งชิ้น หรือรูปถ่าย 1 รูปมันลึกซึ้งมาก”

นอกจากนั้นเธอยังบอกเล่าอีกว่า หลายเรื่องที่ไม่เคยสนใจมาก่อน ก็ได้รู้มากขึ้นจากการค้นคว้าเพิ่มเติมอันเกี่ยวเนื่องจากงานศิลปะที่เธอต้องนำชม

“ค้นคว้าเกี่ยวกับประเทศคาซัคสถาน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของคุณอัลมากุล เรื่องที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ศิลปินนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการทำงาน ค้นคว้าเพิ่มเติมเรื่องการค้าขายบนเส้นทางสายไหม และเราก็ไปหาเรื่องราวของการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ที่คาซัคสถานด้วยว่าช่วงไหน เมื่อไร คือค้นหาวันเดียวไม่หมด ค่อยๆ ทำไป แล้วระหว่างที่ทำงานไปด้วยผู้ชมก็จะถามคำถาม เราก็ไปหาข้อมูลเพิ่ม บางคนรู้จักคาซัคสถานดี ก็จะบอกเราว่ายูรู้ไหมเหมือนหมู่เกาะหนึ่งเลยชื่อมูรูรัว ตอนนั้นไม่รู้อยู่ไหน ก็ไปค้นไปอ่านเพิ่ม ที่นั่นฝรั่งเศสใช้ทดลองระเบิดนิวเคลียร์ ตอนนี้ไปเที่ยวไม่ได้ มันก็โยงกลับมาที่งานของคุณอัลมากุลในช่วงที่แต่ละประเทศแย่งชิงอำนาจกันโดยใช้อาวุธนิวเคลียร์ ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม แล้วเขาอาจไม่รู้ด้วยว่าผลกระทบมันจะอันตราย และปรากฏว่าความอันตรายนั้นยังส่งผลมาจนถึงทุกวันนี้” 

“หรืออย่างจุดที่ในภาพเป็นทะเลทราย จริงๆ แล้วตรงนั้นเคยเป็นทะเลสาบมาก่อน แต่ก็กลายเป็นทะเลทรายเพราะสารเคมี ปุ๋ยเคมี  คือโซเวียตพยายามเปลี่ยนเส้นทางแม่น้ำเพราะมีการขยับขยายพื้นที่ปลูกฝ้าย ทำให้น้ำในทะเลสาบนั้นปนเปื้อนไม่พอ แล้วก็ค่อยๆ แห้งออกไปจนกลายเป็นทะเลทรายอย่างทุกวันนี้

“ถ้าเราไม่ได้มายืนนำชมงานตรงนี้ เราคงไม่รู้จักเลยในเรื่องราวเหล่านี้ คาซัคสถานก็รู้แค่ว่าเป็นประเทศมุสลิม แต่ไม่รู้ว่าตั้งอยู่ที่ไหน มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมขนาดนี้เลยเหรอ”

“หรืออย่างเรื่องการทดลองระเบิดนิวเคลียร์เราก็รู้น้อยมากๆ เพราะเรารู้สึกว่ามันไม่ได้กระทบเราโดยตรง แต่ตอนนี้พอมารู้เยอะขึ้น รู้ลึกขึ้น ทุกอย่างก็เชื่อมโยงกันไปหมด”

จากความชอบศิลปะเป็นทุนเดิม เธอยืนยันหนักแน่นว่าศิลปะมีความสำคัญกับชีวิตและสังคมอย่างยิ่ง

“ศิลปะมีความสำคัญกับเรา สำคัญตรงที่ว่ามันให้สุนทรียะในการใช้ชีวิต แล้วก็กับการเป็นเด็กที่มีเชื้อสายอาข่าที่เคยไปอยู่กับปู่ย่าตอนเป็นเด็กเล็ก เราก็ไม่รู้ว่าผ้าที่เขาปักนั้น จริงๆ มันมีที่มาที่ไป อย่างโลงศพที่คุณบู้ซืออาจอทำ เพิ่งได้มารู้ในงานนี้ ก็อินมากเลย แล้วก็อย่างวันก่อนที่มีงานแสดงสดที่ไร่แม่ฟ้าหลวง โดย คุณกั๊ก-วรรณศักดิ์ ศิริหล้า มาร่วมงานกับอาจารย์ชาวอาข่าที่อยู่ในเชียงรายเพื่อนำเสนอเรื่องราวของชาวอาข่ากับแมงสี่หูห้าตา (ในงานชื่อ ลุกขึ้นและเปล่งประกาย) ปรากฏว่าเราได้ไปเจอเพื่อนของแม่เป็นนักแสดงร่วมด้วย รู้สึกภูมิใจที่เรื่องของเราชาวอาข่าสามารถนำไปเล่าเป็นงานศิลปะได้ หรืออย่างเมื่อวานเจอน้อง อายุยังไม่ถึง 10 ขวบ มาดูงานกับคุณยายตอนเช้า เราก็นำชมงาน เล่าให้ฟัง พอพูดเสร็จน้องก็แสดงความคิดเห็นว่า งานของคุณอัลมากุลเยี่ยมยอดมากเลยครับ ซันนี่คิดในใจ กี่ขวบเนี่ย มาจากไหน ขอถ่ายรูปได้ไหม ยายบอกเดี๋ยวต้องไปแล้ว ซันนี่บอก เดี๋ยวกลับมาอีกนะ ปรากฏว่าตอนเย็นน้องกลับมากับคุณแม่ แล้วมีโอกาสได้ไปเล่าเรื่องในห้องของศิลปินที่มีก้อนน้ำแข็ง ปรากฏว่าคุณแม่ของน้องบอกว่าชุดยุงเนี่ยเหมือนเราเลยน้องอิง ที่ไปตบยุงแล้วมาเรียงจัดนิทรรศการ แล้วมาขายตั๋วให้แม่ดู (หัวเราะ)”

สุดท้ายเราย้อนกลับไปคุยถึงเรื่องที่เธอเล่าในตอนต้นๆ ว่าเมื่อครั้งอยู่ที่เพิร์ธ เธอมักไปดูงานศิลปะในที่ต่างๆ  ไปห้องสมุดที่ให้เข้าได้ฟรี ซึ่งหมายถึงว่าที่นั่นให้ความสำคัญกับงานศิลปะทุกแขนงมาก ดังนั้น ในความคิดเห็นเธอแล้ว พื้นที่เหล่านี้ควรสนับสนุนให้เกิดขึ้นทุกที่ไหม? เราถามเธอกลับไป  

“ควรค่ะ ควรต้องมีอย่างมาก (ลากเสียงยาว) เพื่อที่จะได้ไม่ถูกจำกัดอยู่ในกรอบเดิมๆ อย่างศิลปินเขามีการปรับตัวตลอด ไม่ได้อยู่ในกรอบ ต่อให้เขาไม่ได้ใช้ชีวิตในบ้านเกิดก็ตาม เขายังนำเสนอความเป็นประวัติประเทศของเขาแล้วฉีกกฎออกไป เรื่องที่เป็นความลับในประเทศมาก่อน เขาก็มาเล่าต่อให้ผู้คนได้รู้ แล้วถ้าไม่มีคนสนับสนุนตรงนี้ ยกตัวอย่างอาข่า ชาติพันธุ์ แล้วต่อไปใครจะเป็นคนเล่าเรื่องนี้ แล้วถ้าเป็นคนอย่างคุณบู้ซือ ชาวอาข่ามาเล่าเรื่อง preserve เก็บตำนานเหล่านี้ไว้ให้คนรุ่นหลังได้รู้

“เด็กๆ สมัยนี้ หลายคนสนใจงานศิลปะ แต่ว่าพ่อแม่ก็อาจจะยังไม่สนับสนุนมาก ก็เลยคิดว่ามันสำคัญที่จะต้องสนับสนุนการใช้ชีวิตร่วมกับงานสร้างสรรค์ ความเป็นครีเอทีฟ การใช้จินตนาการตัวเอง ในการเล่าเรื่องที่ตัวเองอยากจะเล่า”

Related Posts

Related Posts