“ทำไมคนเราต้องตาย” นิทานอ่อนโยน 3 เล่มที่ทำให้เด็กๆ เข้าใจการจากลาด้วยตัวเอง

“ทำไมคนเราต้องตาย” นิทานอ่อนโยน 3 เล่มที่ทำให้เด็กๆ เข้าใจการจากลาด้วยตัวเอง

  • นอกจาก “หนูเกิดขึ้นมาได้ยังไง” ที่พ่อแม่และผู้ใหญ่น่าจะต้องตอบอยู่บ่อยๆ เช่นเดียวกับคำถามว่า “ทำไมคนเราต้องตาย”
  • ผู้ใหญ่ไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยง บ่ายเบี่ยงไม่ตอบ เมื่อเด็กมีคำถาม ในทางกลับกัน คำถามโตๆ ที่ผู้ใหญ่ควรถามตัวเอง คือ เด็กจะเข้าใจเรื่องความตายด้วยตัวเองได้อย่างไร
  • mappa ชวนอ่านนิทาน 3 เล่มที่ทำให้ความตายไม่เป็นเรื่องน่ากลัว หลายเล่มย้ำด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยนว่า “เด็กๆ นี่คือเรื่องธรรมดา”  

นอกจาก “หนูเกิดขึ้นมาได้ยังไง” ที่พ่อแม่และผู้ใหญ่น่าจะต้องตอบอยู่บ่อยๆ แล้ว คำถามว่า “ทำไมคนเราต้องตาย” หรือหลายๆ คำถามที่เกี่ยวกับการสูญเสียบุคคลใกล้ชิดไป คือ ความสงสัยขั้นพื้นฐานของเด็กคนหนึ่ง

แต่เพราะ ‘ความตาย’ หรือ ‘ความสูญเสีย’ เป็นประเด็นนามธรรมสำหรับเด็ก ผู้ใหญ่ไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยง บ่ายเบี่ยงไม่ตอบ เมื่อเด็กมีคำถาม หรือต้องเผชิญสถานการณ์เหล่านั้น ในทางกลับกัน คำถามโตๆ ที่ผู้ใหญ่ควรถามตัวเอง คือ “เด็กจะเข้าใจเรื่องนี้ด้วยตัวเองได้อย่างไร” 

‘นิทาน’ คือหนึ่งในคำอธิบายที่ง่ายและทำให้ความตายไม่เป็นเรื่องน่ากลัว หลายเล่มย้ำด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยนว่า “เด็กๆ นี่คือเรื่องธรรมดา”  

ในโลกแห่งความมหัศจรรย์ของ หน้าหนังสือ รูปภาพ และภาษา ทำให้เราสามารถสร้างสรรค์เรื่องราว ถ่ายทอดได้หลากหลายไม่รู้จบ 

mappaชวนอ่าน พาไปทำความรู้จักกับ หนังสือ 3 เล่ม ที่พูดถึงความตายจากฝีมือของนักวาดนิทาน 3 คน 

“เราจะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่นี้ยังไงดี” What happens next?

โดย Shinsuke Yoshitake สำนักพิมพ์ Thames & Hudson 

หนังสือที่ใช้สี ‘ฟ้า-เหลือง’ พาเราสำรวจทุกสมมติฐานที่เราเคยคิดเกี่ยวกับความตาย ตายแล้วไปไหน สวรรค์หรือนรก ไปเจอคนที่รัก และจะกลับมาเกิดใหม่เป็นอะไร เราเอาอะไรติดตัวไปดี (แล้วเอาไปจริงได้ไหม) คนจะจดจำฉันแบบไหน ฉันจะกลับมาเยี่ยมโลกปัจจุบันในรูปแบบไหน

ใครจะคิดว่าโทนสีคู่นี้จะเล่าเรื่องความตายได้อย่างเพลิดเพลิน รวมถึงภาพประกอบที่ช่วยทำให้การทำความเข้าใจ “สมมติฐานเรื่องความตาย” ของมนุษย์เป็นเรื่องไม่น่ากลัวเกินไปสำหรับเด็ก ผ่านการตั้งคำถามว่าจะเกิดอะไรต่อไปในชีวิตหลังความตาย 

และแม้จะเป็นหนังสือเด็ก แต่หนังสือเล่มนี้ พาไปสำรวจ “ทัศนคติเกี่ยวกับความตาย” ตัวละครเด็กในนิทานเริ่มตั้งคำถามว่า คุณตาเขียนสมุดบันทึกเล่มนี้ด้วยความรู้สึกอะไร อะไรเป็นสิ่งที่คุณตากำลังเผชิญอยู่ในตอนนั้น ความคิดนั้นสัมผัสกับความรู้สึกของเขาเบา ๆ เขาจึงออกไปหาสมุดมาเขียนบันทึก “What happens next” ของตัวเองบ้าง ด้วยหวังว่าจะเข้าใจโมเมนต์นั้นของคุณตามากขึ้น 

แต่แทนที่จะไปจินตนาการชีวิตหลังความตายเหมือนคุณตา พอจรดปากกาเขียน เขากลับตั้งคำถามถึง “การมีอยู่” ก่อนจะไปถึงความตายของเขา ระหว่างทางเด็กน้อยพบว่าแทนที่จะเขียนบันทึกชีวิตหลังความตาย มาเขียนสิ่งที่อยากทำเมื่อมีชีวิตอยู่แล้วยังไม่ได้ทำดีกว่า  

แทนที่จะเขียน “What happens next?” เลยได้มาเขียน “What I want to do now” แทน 

หากอ่านหนังสือเล่มนี้กับลูก น่าจะใช้เวลาประมาณ 20 นาที และเป็น 20 นาทีที่พาเราขยายจินตนาการเกี่ยวกับความตาย การตาย ชีวิตก่อนหลังความตายอย่างสนุกสนานและสร้างสรรค์ ด้วยภาษาที่ไม่ชวนเศร้าโศก หดหู่ การแสดงความเห็นอกเห็นใจคุณตาแบบพอดีๆ และทิ้งคำถามใหญ่ ๆ ในใจลูก และในใจพ่อแม่ไปพร้อมๆกัน ว่า “เราจะใช้ชีวิตที่เรามีเหลืออยู่นี้ยังไงดี” 

“เราควรอยู่ข้างๆ กันในวันที่เผชิญความสูญเสียและจากลา” : The Strom Whale

โดย Benji Davies สำนักพิมพ์ Simon & Schuster Children’s UK

หนังสือเล่มนี้อาจจะไม่ได้พูดถึงความตายโดยตรง แต่พูดถึงความรู้สึกและวิธีรับมือกับการสูญเสีย 

The Strom Whale เล่าเรื่องของ Noi เด็กที่อยู่เพียงลำพังกับพ่อ  ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับแม่ของ Noi ก็ตาม เขากำลังเหงาและยึดเอาเจ้าวาฬที่เจอเป็นสัญลักษณ์ทดแทนการสูญเสียสิ่งสำคัญบางอย่างไป การนำเสนอภาพความรู้สึกของการสูญเสียโดยไม่ต้องเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาในเนื้อเรื่อง เป็นเหตุผลที่เราชวนอ่านเล่มนี้ 

นอกจากนี้ยังมีฉากหนึ่งในเล่มที่เราประทับใจจนทำให้เลือกเล่มนี้ คือ เมื่อพ่อพบวาฬที่ Noi ซ่อนไว้ในห้องน้ำ ด้วยเหตุผลเข้าข้างตัวเองที่อยากจะเก็บวาฬเอาไว้และคิดเองเออเองว่าพ่อไม่น่าจะเจอแน่ๆ (เพราะวาฬตัวเล็กเหลือเกิน)  แน่นอนว่ามีเหตุผลมากมายที่พ่อไม่ให้ Noi เลี้ยงวาฬ  แต่แทนที่พ่อจะโกรธ โมโห และดุ Noi เหมือนที่เวลาพ่อแม่เจอหมาหรือแมวที่เด็กเก็บมาเลี้ยง พ่อกลับเข้าใจว่าเขาเองก็ยุ่ง ไม่มีเวลาให้ลูก ปล่อยให้ลูกเหงา และพ่อไม่ได้ช่วยลูกให้คลายความเหงาของตัวเองได้เลย 

นิทานพาคลี่คลายด้วยการที่ Noi ต้องปล่อยให้วาฬจากไป แต่ครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญที่ Noi จะเผชิญการสูญเสียเป็นครั้งที่สอง และไม่ใช่โอกาสครั้งที่สองสำหรับ Noi เท่านั้น แต่เป็นโอกาสครั้งที่สองของพ่อด้วยที่จะอยู่ข้างๆ ลูก ในวันที่เขากำลังเผชิญความสูญเสีย และการบอกลา 

ความตายและความสูญเสียมักทิ้งความรู้สึกบางอย่างเอาไว้ในใจคนทุกคนไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้ความสัมพันธ์ใหม่ๆ ก่อตัวขึ้น เช่นเดียวกันกับที่พ่อและ Noi ที่ได้ทำความเข้าใจและข้ามผ่านสิ่งนี้ไปด้วยกัน 

“ความโศกเศร้าไม่ใช่เรื่องผิด แต่การบอกให้เด็กหยุดเศร้า เสียใจ คือสิ่งผิด” : ​The goodbye book

โดย Todd Parr สำนักพิมพ์ Little, Brown Books for Young Readers

ไม่ใช่เพียงแค่การทำความรู้จักกับความตายและการสูญเสียที่สำคัญสำหรับเด็ก แต่การได้ยอมรับกับอารมณ์ ความรู้สึกของตัวเองหลังจากพบเจอกับความตายหรือความสูญเสียก็เป็นอีกสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน 

ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่บางครั้งเมื่อเจอความสูญเสีย ก็พยายามที่จะก้าวข้ามผ่านมันไปและมองว่าการโศกเศร้าหรือจมดิ่งกับความทุกข์นั้นเป็นสิ่งผิด หนังสือเล่มนี้พูดเกี่ยวกับเจ้าปลาตัวหนึ่งที่สูญเสียเพื่อนไป และมันกำลังเผชิญกับอารมณ์ความรู้สึกหลายอย่างที่เกิดขึ้นกับมัน ทั้งความเศร้า ความสับสน ความโกรธ ความเบื่อหน่าย และอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อเราสูญเสียใครสักคน เช่น  ความรู้สึกกินไม่ได้ นอนไม่หลับ การพยายามจะลืมความทรงจำที่มี หรือแม้กระทั่งการพยายามหลอกตัวเองว่าสิ่งนั้นไม่เคยเกิดขึ้นจริง ผ่านรูปภาพเรียบง่าย สีสันสดใส และภาษาที่สื่อสารอย่างตรงไปตรงมา ที่จะช่วยให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ว่า “ความรู้สึกโศกเศร้าไม่ใช่เรื่องผิดอะไร” 

หนังสือเล่มนี้จึงไม่ใช่เพียงแค่ช่วยให้เด็กๆ ได้เข้าใจความปกติธรรมดาของความรู้สึกสูญเสียและยอมรับความรู้สึกของตัวเอง แต่ผู้ใหญ่ที่ได้อ่านก็คงจะเรียนรู้ไปด้วยเช่นกันว่า ความตายคือธรรมชาติ ความรู้สึกเศร้าและอารมณ์ต่างๆ ก็คือธรรมชาติของมนุษย์เช่นกัน 

การพยายามบอกให้เด็กหยุดเศร้า เสียใจ ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียเรื่องเล็กๆ หรือการสูญเสียครั้งสำคัญในชีวิตของพวกเขา ล้วนเป็นการฝืนธรรมชาติทั้งสิ้น

และท้ายที่สุดแล้วเมื่อวันเวลาผ่านพ้นไป เราจะสามารถลุกขึ้นมาเผชิญความสูญเสียเสียอย่างกล้าหาญและรับรู้ว่าเรายังเหลือคนข้าง ๆ ที่ยังรักเราเสมอ เหมือนเจ้าปลาในเรื่อง 

Writer
Avatar photo
มิรา เวฬุภาค

Writer
Avatar photo
พัชรพร ศุภผล

มนุษย์ที่รักการอ่านวรรณกรรมและแมวเป็นชีวิตจิตใจ ชอบหลงไปในร้านหนังสือ แกลอรี่อาร์ต มีเจ้าชายน้อยเป็นตัวละครชุบชูใจ

illustrator
Avatar photo
กรกนก สุเทศ

เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง

Related Posts

Related Posts