‘มีลูกต้องไม่ทำให้เราจนลง’ ฟังเสียงคนมีลูกและไม่อยากมีลูก ในวันที่เด็กเกิดน้อยกว่าคนตาย
‘มีลูกต้องไม่ทำให้เราจนลง’ ฟังเสียงคนมีลูกและไม่อยากมีลูก ในวันที่เด็กเกิดน้อยกว่าคนตาย
- จำนวนเด็กเกิดน้อยกว่าคนตาย สัญญาณที่เตือนเราว่ากำลังเข้าสู่สังคมขาดแคลนทรัพยากรมนุษย์
- การเลี้ยงเด็กคนหนึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งในสังคมที่เราต่างต้องดิ้นรนเพื่อให้มีชีวิตรอด การมีลูกอาจส่งผลกับสถานะทางเศรษฐกิจ
- mappa อยากพาทุกคนไปสำรวจการออกนโยบายรัฐในเรื่องสวัสดิการเด็กเล็กและครอบครัว เพื่อทำความเข้าใจให้มากขึ้น พร้อมฟังเสียงของประชาชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้
ทุกครั้งที่เราเห็นสวัสดิการด้านการเงินที่ออกโดยรัฐ เราจะตั้งคำถามตลอดว่า… มันเพียงพอจริงๆ แล้วใช่ไหม เป็นตัวเลขที่เหมาะสมที่จะให้คนคนหนึ่งใช้ชีวิตด้วยเงินจำนวนเท่านี้ หากเขาไม่สามารถหาเงินทางอื่นได้ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเบี้ยคนชรา 600 บาทต่อเดือน หรือเบี้ยผู้พิการ 800 บาทต่อเดือน
ตอนนี้ประเทศไทยเองกำลังประสบปัญหาคนเกิดน้อยลง ภาครัฐก็ยิ่งออกมาตรการเพื่อกระตุ้นให้คนมีลูก ยิ่งทำให้เราตั้งคำถามว่า รัฐออกแบบการใช้ชีวิตของประชาชนไว้แบบไหนกันนะ ด้วยเลนส์ที่คิดว่าเราสามารถอยู่ด้วยเงินต่ำกว่าหนึ่งพันในแต่ละเดือนได้ ในขณะที่ราคาข้าวของรอบๆ ตัวก็พุ่งพรวดทุกๆ วัน
mappa อยากพาทุกคนไปสำรวจการออกนโยบายรัฐในเรื่องสวัสดิการเด็กเล็กและครอบครัว เพื่อทำความเข้าใจให้มากขึ้น พร้อมฟังเสียงของประชาชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้
สุดท้ายเพื่อกลับไปที่คำถามเดียวว่า รัฐอยากให้คุณภาพชีวิตประชาชนประเทศนี้เป็นแบบไหน
เด็กเกิดน้อยกว่าคนตาย ช่องว่างที่กำลังเพิ่มขึ้น
ช่วง 10 ปีให้หลังกราฟจำนวนเด็กเกิดดิ่งลงเรื่อยๆ และปี 2564 ที่ผ่านมาก็เป็นปีแรกที่จำนวนเด็กเกิดน้อยกว่าจำนวนคนตาย สถิติประชากรสำรวจ โดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พบว่าอัตราการเกิดประชากรในปี 2564 มีจำนวน 544,570 คน ในขณะที่อัตราการผู้เสียชีวิตมีจำนวน 563,650 คน
ปรากฏการณ์เด็กเกิดน้อยลงไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น
หากเราถอยหลังกลับไปมองกราฟอัตราการเกิดประชากรในประเทศไทย 10 ปีให้หลังจะพบว่ากราฟดิ่งลงทุกๆ ปี และจากการวิเคราะห์ของรศ.ดร.ธีระ สินเดชารักษ์ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า สถิติการเกิดของประชากรไทยลดลงตลอด 40 ปี แต่ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอัตราลดลงมากขึ้น อาจทำให้อนาคตประชากรในสังคมไทยหายไปครึ่งต่อครึ่งเหลือเพียง 35 ล้านคน ย่อมส่งผลกระทบหลายด้าน โดยเฉพาะการขาดแคลนทรัพยากรมนุษย์
ออกแบบวิถีชีวิตเราโดยรัฐ
เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ภาครัฐที่มีหน้าที่ดูแลประชาชนออกนโยบายต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้คนมีลูก เรามักได้ยินชื่อแคมเปญมากมาย ไม่ว่าจะสาวไทยแก้มใส วิวาห์เพื่อชาติ มีลูกเพื่อชาติ ฯลฯ ที่เกิดคำถามต่อว่าแคมเปญพวกนี้เกี่ยวกับอะไร แล้วจะกระตุ้นให้คนมีลูกจริงๆ ได้หรือไม่
เพื่อให้เห็นภาพรวมของการออกแบบนโยบายกระตุ้นคนมีลูกของรัฐ เราจะขอแบ่งข้อมูลออกเป็น 2 ส่วน
ส่วนแรก ขอเรียกว่าเป็นจุดเริ่มต้นให้คนหันมาตกลงปลงใจที่จะสร้างครอบครัวร่วมกัน วิธียอดนิยมก็คือทำกิจกรรมจับคู่ หน่วยงานที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดกิจกรรมดังกล่าว คือ กระทรวงสาธารณสุขที่ออกแคมเปญหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นโครงการ ‘Life Balance smart Family’ ชวนประชาชน 100 คนเข้าร่วมกิจกรรมจับคู่ต้อนรับเทศกาลวาเลนไทน์เมื่อปี 2564 หรือกิจกรรม ‘โสดออนซูม’ จับคู่แบบออนไลน์เนื่องจากสถานการณ์โควิด – 19 ปีเดียวกัน หรือแม้แต่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ก็ออกแคมเปญกระตุ้นให้คนโสดเจอกันผ่านแคมเปญ ‘เส้นทางคนโสด’ ให้เลือกเลยว่าอยากไปสร้างสัมพันธ์ด้วยการล่องเรือ นั่งรถไฟ หรือเที่ยวบนเกาะ
เมื่อคนตกลงปลงใจที่จะสร้างครอบครัวร่วมกัน ภารกิจต่อมา คือ ทำให้เขาตัดสินใจที่จะมีสมาชิกเพิ่มและต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี เกิดโครงการ ‘วิวาห์สร้างชาติ’ โดยสำนักอนามัยการเจริญพันธ์ุ เมื่อปี 2563 ปัจจุบันมีสมาชิกเข้าร่วมโครงการทั่วประเทศ 8,123 คน โครงการนี้เกิดมาเพื่อกระตุ้นให้คนอยากสร้างครอบครัวและมีลูก ในเว็บไซต์วิวาห์สร้างชาติจะให้บริการต่างๆ เช่น อัปเดตกิจกรรมจับคู่โดยภาครัฐ คลังความรู้ที่จำเป็นสำหรับพ่อแม่มือใหม่ หรือตัวช่วยสำหรับคนที่มีลูกยาก ไปจนถึงแจกวิตามินบำรุงครรภ์อย่างธาตุเหล็กและกรดโฟลิก
นอกจากนี้ยังมีโครงการที่ใกล้เคียงอย่าง ‘โครงการส่งเสริมสาวไทยแก้มแดง’ ที่แจกธาตุเหล็กและกรดโฟลิกเช่นกัน
เข้าสู่พาร์ตที่สอง เรียกว่าเป็นสวัสดิการที่ออกมาเพื่อซับพอร์ตคนมีลูก ‘มารดาประชารัฐ’ โครงการที่หลายคนน่าจะได้ยินบ่อยๆ เป็นโครงการของรัฐบาลปัจจุบันสำหรับดูแลคนที่มีลูก ด้วยการซับพอร์ตด้านการเงิน เช่น เงินช่วยเหลือระหว่างตั้งครรภ์ 3,000 บาทต่อเดือน เงินค่าคลอด 10,000 บาท ค่าเลี้ยงดูเด็กรายเดือนคนละ 2,000 บาท จนถึงอายุ 6 ปี เป็นต้น ทางภาครัฐประกาศว่าจะให้ลงทะเบียนเข้าโครงการเมื่อต้นปี 2563 แต่จนถึงปีนี้ยังไม่มีข่าวคืบหน้าใดๆ
ส่วนสวัสดิการที่มีอยู่ตอนนี้ อันดับแรกจะเป็นสิทธิ์ที่ได้ตามประกันสังคม
- ค่าฝากครรภ์ 1,500 บาท
- ค่าคลอดบุตร 15,000 บาท สามารถเลือกได้ว่าจะเบิกในนามพ่อหรือแม่
- ค่าจ้างช่วงที่ต้องหยุดงานเพื่อคลอดลูก คิดจากฐานเงินเดือนสูงสุด 15,000 บาท โดยจะจ่ายครึ่งหนึ่งและจ่ายเป็นเวลา 3 เดือน สิทธิ์นี้สามารถใช้ได้เฉพาะลูกคนที่ 1 และคนที่ 2 ลูกคนต่อไปไม่สามารถใช้สิทธิ์ได้
- เงินเลี้ยงดูเด็กรายเดือน 800 บาทต่อคน สามารถเบิกได้จนถึงอายุ 6 ปี
สิทธิ์อีกส่วน คือ บัตรสวัสดิการถ้วนหน้า หรือบัตรทองที่ประชากรชาวไทยสามารถใช้ได้ทุกคน ตั้งแต่เข้ารับบริการฝากครรภ์จนถึงคลอด เมื่อเด็กคลอดออกมาก็ได้รับบริการตรวจสุขภาพแรกเกิด ประเมินพัฒนาการตามวัยต่างๆ
นอกจากนี้ยังมีสิทธิ์ของคนที่เป็นข้าราชการ สามารถได้รับสวัสดิการต่างๆ เช่น ค่ารักษาพยาบาลตัวเองและคนในครอบครัว ค่าการศึกษาบุตร เป็นต้น
การเลี้ยงดูเด็กสักคน ‘เงิน’ เป็นปัจจัยที่สำคัญ ภาครัฐเองก็ออกสวัสดิการที่ซับพอร์ตด้านการเงินเพิ่มเติม คือ โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ให้เงินอุดหนุนกับเด็กแรกเกิดในครอบครัวรายได้ต่ำไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี จ่ายเงินให้เด็กคนละ 600 บาทต่อเดือนจนอายุถึง 6 ปี
ขยับจากการสนับสนุนทางการเงิน เป็นบริการทางการแพทย์ สิทธิ์ที่เด็กไทยทุกคนจะได้รับ คือ ได้รับการรักษาด้วยสิทธิ์บัตรทอง และฉีดวัคซีนพื้นฐาน 11 ตัวโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สามารถเข้ารับบริการได้ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ เช่น โรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
เงินและการดูแลสุขภาพมีไปแล้ว เข้าสู่ช่วงเวลาเติบโตพัฒนาเด็กคนหนึ่งให้เป็นผู้ใหญ่ที่จะมาขับเคลื่อนสังคมต่อไป ซึ่งการซับพอร์ตเด็กพาร์ตนี้ ภาครัฐมีการทำศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก พื้นที่ที่ผู้ปกครองสามารถนำลูกหลานวัย 3 – 5 ปีมาเข้าร่วมได้ เป็นสถานที่อบรมจัดการศึกษาปฐมวัย
และเมื่ออายุ 7 ปีก็เข้าสู่ช่วงที่ต้องเข้ารับการศึกษาภาคบังคับ สวัสดิการส่วนนี้จัดขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2560 ที่ระบุว่า “รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย” ภาครัฐจะออกงบสำหรับสนับสนุนด้านการศึกษา ได้แก่ ค่าจัดการเรียนการสอน ค่าหนังสือเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเครื่องแบบนักเรียน และค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ให้กับนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นก่อนประถมศึกษา ชั้นประถมศึกษา ชั้นมัธยมตอนต้นและตอนปลาย และการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)
เมื่อไม่กี่ปีมานี้เพื่อกระตุ้นให้คนมีลูกมากขึ้น ภาครัฐออกมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับคนที่มีครอบครัว สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีต่างๆ เช่น ค่าลดหย่อนคู่สมรส โดยต้องจดทะเบียนสมรสและอีกฝ่ายไม่มีรายได้ สามารถลดหย่อนได้ปีละ 60,000 บาท ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดลูก สามีสามารถเป็นผู้ยื่นลดหย่อนหากภรรยาไม่มีรายได้ ไม่เกิน 60,000 บาท หรือค่าลดหย่อนภาษีบุตร คนละ 30,000 บาท ถ้ามีคนที่ 2 จะได้ลดคนละ 60,000 บาท เป็นต้น
นี่เป็นสวัสดิการที่ออกโดยรัฐ คงทำให้เราพอเห็นภาพว่า รัฐอยากให้ประชาชนใช้ชีวิตอย่างไร พิจารณาคร่าวๆ ก็มีครบเกือบทุกด้านที่เป็นปัจจัยสำคัญในการใช้ชีวิตขั้นพื้นฐาน สุขภาพ การเงิน และการศึกษา ไปสู่การตั้งคำถามต่อว่า ถ้าเราใช้ชีวิตจริงๆ แบบที่ออกแบบโดยรัฐนี้ คุณภาพชีวิตเราจะเป็นอย่างไร…
ใช้ชีวิตที่ไม่ได้มีแค่รายได้ขั้นต่ำ แต่ต้องสามารถทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ
แม้สถานการณ์เด็กเกิดน้อยลง แต่ไม่ได้แปลว่าคนจะไม่อยากมีลูก ส่วนหนึ่งเพราะการเลี้ยงเด็กสักคนต้องอาศัยหลายปัจจัย ซึ่งปัจจัยที่สำคัญที่สุดก็คือเงิน และการใช้ชีวิตในประเทศนี้ยิ่งตอกย้ำว่า จำนวนเงินในกระเป๋าเป็นตัวชี้วัดสำคัญว่าเราจะมีคุณภาพชีวิตอย่างไร ยิ่งทำให้การมีลูกกลายเป็นความฝันที่อยู่ไกลลิบ สำหรับใครหลายคน
“เราอยากมีลูกนะ มนุษย์เป็นสัตว์สังคมต้องการการอยู่ร่วมกัน การดำรงเผ่าพันธุ์ให้คงอยู่ต่อไป” ‘อยากมีลูก’ เป็นความฝันของ ‘อ้อม’ พนักงานบริษัทวัย 30 ปีมาโดยตลอด แต่ตอนนี้เธอยังไม่สามารถทำตามความฝันนั้นได้ เพราะอ้อมตั้งแพลนไว้ว่า เธอต้องเก็บเงินให้ได้สัก 1 ล้านบาทก่อนเพื่อเป็นงบสำหรับเลี้ยงดูลูกช่วงแรกเกิดจนถึงขวบต้นๆ
“เราอยากให้ลูกเรียนโรงเรียนที่มีคุณภาพ เน้นเรื่องภาษา ให้ลูกฟัง – พูด – อ่าน – เขียนได้หลายๆ ภาษา จะดีกับตัวเขาตอนโต สร้างโอกาสให้เขาสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตในอนาคตได้”
“การจะมีลูกสักคนต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมสังคมด้วย เราอยากให้ลูกโตในสังคมที่พัฒนาแล้ว สงบสุข ไม่มีความวุ่นวาย และการที่ประชากรในสังคมมีประสิทธิภาพ ถือเป็นปัจจัยสำคัญประกอบการตัดสินใจมีลูกด้วยเช่นกัน”
และเงินก็เป็นเหตุผลที่ทำให้ ‘พริม’ พนักงานบริษัทวัย 25 ปี ไม่อยากมีลูก “สำหรับเราสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันไม่สามารถทำให้ผู้ปกครอง support ความฝันของลูกได้เต็มที่ และอาจนำไปสู่ปัญหาครอบครัวได้ ถ้าผู้ปกครองเครียดจากสถานการณ์นี้ และไม่สามารถจัดการความรู้สึกตัวเอง อาจจะเอาไปลงที่ลูก ส่งผลเสียกับเด็กระยะยาว”
พริมมองปัญหาคนเกิดน้อยลงว่าส่งผลกระทบกับประเทศ ยิ่งปัจจุบันคนรุ่นใหม่เลือกที่จะไปอยู่ต่างประเทศมากขึ้น ทำให้เกิดภาวะสมองไหล พอไม่มีการเกิดประชากรทดแทน อาจทำให้ประเทศชาติยิ่งด้อยพัฒนา
“ถึงรัฐบาลออกแนวคิดกระตุ้นให้คนมีลูก แต่ท้ายที่สุดคนที่เป็นผู้เลี้ยงดูก็ไม่พ้นเรา”
“เราอยากได้นโยบายลดค่าใช้จ่ายเด็กแรกเกิด – 3 ปี เพราะช่วงนี้เด็กจะมีระยะเวลาในการเติบโตค่อนข้างไว และมีเรื่องที่ต้องปรับตัวหลายอย่าง ตั้งแต่อาหารการกินไปจนถึงเครื่องแต่งกาย อาจจะทำเป็นบัตรคล้ายๆ กับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐปัจจุบัน ให้พร้อมกับสูติบัตรเด็กเลย ใช้สำหรับซื้อของและบริการเกี่ยวกับเด็ก”
“ถ้าสภาพเศรษฐกิจหรือสังคมมันดีกว่าตอนนี้ เราก็อาจจะกลับมามีความคิดมีลูกนะ” พริมบอก
‘เข้ม’ Graphic designer วัย 39 ปี พอใจกับการใช้ชีวิตที่ไม่จำเป็นต้องมีลูก เขามองว่า การตัดสินใจมีลูกถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ทำให้ต้องคิดและวิตกกังวลไปข้างหน้าในระยะยาวในหลักสิบๆ ปี
และการกระตุ้นจากภาครัฐก็ไม่สามารถเปลี่ยนความคิดนี้ได้ เข้มมองว่าการกระตุ้นของรัฐบาลยังไม่ถูกจุด
“เรามีนโยบายเชิงสวัสดิการอยู่ คือ การลดหย่อนภาษี และประกันสังคมก็ช่วยเรื่องค่าคลอด รวมถึงมีเงินอุดหนุนช่วงลางานคลอดลูก นโยบายพวกนี้มีความพยายามที่จะเพิ่มเพดานเงินชดเชยต่างๆ หรือให้สิทธิอื่นๆ มากขึ้น เช่น เพิ่มวันลาเมื่อลูกป่วย เราจะเห็นการแข่งเชิงตัวเลขเช่นนี้ ในนโยบายหาเสียงของพรรคต่างๆ”
“แต่ทั้งหมดนี้ผมว่าไม่น่าจะใช่ painpoint ของคนอยากจะมีลูกและยังต้องทำงานอยู่ ผมว่าถ้าจะกระตุ้นให้คนมีลูก ต้องหาให้เจอว่าอะไรคือปัญหาของพวกเขากันแน่ ที่ผมพูดอาจเป็นแค่มุมหนึ่ง ยังมีมุมอื่นอีกมาก ไม่ว่าจะปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ปัญหาชั่วโมงการทำงานและสวัสดิการของแรงงาน หรือถ้าสมมติเราจะใช้แนวคิดเลี้ยงลูกของคุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ให้เวลากับลูกเต็มที่ไปเลย 7 ปี ถามว่าหลังผ่านช่วงเวลา 7 ปีนี้ไปแล้ว ผมจะยังสามารถกลับเข้าสู่การทำงานได้ไหม”
“นโยบายของรัฐยังไม่ได้ออกแบบมาให้คราฟต์พอ จูงใจให้คนอยากจะมีลูก ถ้าเราไปฟังงานแถลงข่าว ‘ทางออกประเทศไทย ในยุคเด็กเกิดน้อย’ คุณก็จะได้ยินคำพูดประมาณว่า…มีลูกเพื่อชาติกันเถอะ”
“เราต้องปรับเปลี่ยนแนวคิด เพราะจุดแข็งคือเรามีวัฒนธรรมอันดีงาม…ผมว่าได้ยินอย่างงี้ เด็กที่กำลังจะเกิดคงมุดกลับเข้ามดลูกไปหมดแล้วแหละ (หัวเราะ)”
‘บีม’ วัย 25 ปี พนักงานขายบริษัทเอกชน มีลูกที่กำลังเข้าสู่วัย 3 ขวบ เล่าว่า การมีลูกเป็นความฝันของเธอมาโดยตลอด และจากการคำนวณว่าถ้ามีลูกตอนนี้ จนกว่าจะถึงเวลาที่ลูกสามารถใช้ชีวิตได้ด้วยตัวเอง เธอและสามีจะยังมีแรงเลี้ยงดูเขาได้
“ตอนแรกเราแพลนว่าอยากมีลูกสัก 2 คน แต่ตอนนี้อยากมีคนเดียวละ เพราะเราอยากเลี้ยงเขาให้ดีที่สุดเลย”
“เลี้ยงลูกช่วงแรกๆ ก็ยากนะ ยิ่งตอนที่เพิ่งออกจากโรงพยาบาล เขายังไม่รู้กลางวัน – กลางคืน ก็ได้แม่ย่า (แม่สามี) ช่วยดูแล ตอนเรากับแฟนออกไปทำงาน แม่แฟนจะเป็นคนดูแลลูกให้”
เงินหลักหมื่นป็นตัวเลขค่าใช้จ่ายเลี้ยงลูกรายเดือนที่บีมคำนวณคร่าวๆ ตัวบีมเองใช้สิทธิ์ประกันสังคมทำให้พอแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายลูกได้เดือนละ 800 บาท แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด
“5,000 – 6,000 นี่เฉพาะค่านม ค่าแพมเพิร์สนะ ยังมีพวกค่าขนม ค่าอาหาร ค่าที่ล้างขวดนม หลายอย่าง เบ็ดเสร็จเป็นหมื่นได้
“เอาจริงๆ ก็ไม่ได้ช่วยมากมาย 800 บาท แค่ค่านมก็ไม่พอละ แต่ว่าเราก็ไม่ได้โทษเขา เพราะการมีลูกเป็นการตัดสินใจของเราเอง เราต้องพร้อมส่วนหนึ่ง นโยบายรัฐก็มาช่วยแบ่งเบานิดหนึ่ง นิดเดียวจริงๆ ก็อยากได้เขาเงินเพิ่มขึ้น สักเดือนละ 1,500 ก็ยังดี”
แม้จะมีแรงซับพอร์ตลูกได้ แต่ ‘เมษ’ พนักงานบริษัทวัย 39 ปี ในฐานะคุณพ่อลูกหนึ่ง มองว่าภาครัฐควรออกสวัสดิการที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของประชาชนให้มากกว่านี้
“เรามีลูกช้าเลยไม่ได้ลำบากมาก เพราะมีบ้าน มีอย่างอื่นละ แต่ถ้ามีตอนเพิ่งเรียนจบทำงานใหม่ๆ หรือคนที่ไม่มีต้นทุนอะไรเลยคงลำบาก ในการอยู่ในสังคมที่ไม่ได้มีอะไรเตรียมไว้ให้เราเลย หรือขั้นพื้นฐานก็แย่มากๆ”
“การมีลูกก็ต้องพิจารณาส่วนหนึ่งว่าคุณมีงบสำหรับเลี้ยงดูเท่าไหร่ ถ้าไม่มีก็ต้องใช้ชีวิตตามมีตามเกิด หรือถ้ามีส่วนหนึ่งก็คงต้องเลี้ยงเขาให้อยู่ในงบนั้น
“ผมเคยอ่านหนังสือเศรษฐศาสตร์เล่มหนึ่ง จะมีคำเรียก ‘การประทังชีพแบบหนังหุ้มกระดูก’ การใช้ชีวิตให้รอดแบบกินขั้นต่ำสุดวันละ 2,000 กิโลแคลลอรี่ จากอาหารที่ห่วยที่สุดอย่างโปรตีนจากถั่ว เขาจะวัดว่าคนแต่ละประเทศรายได้ขั้นต่ำที่เขาได้รับ อยู่ห่างจากการประทังชีวิตแบบนี้สักเท่าไร
“ประเทศที่พัฒนาแล้วเขาจะพยายามให้รายได้คนห่างไกลจากการใช้ชีวิตแบบนี้ แต่ประเทศไทย คือ เราให้ขั้นพื้นฐานคนเกินมาจากสิ่งนั้นนิดเดียว เช่น ให้เงินผู้สูงอายุ 700 บาทต่อเดือน ถ้าเขาไม่มีรายได้จริงๆ คิดว่าเขาจะอยู่ได้ไหม? การศึกษาหรือค่าคลอดเด็ก ถ้าคนไม่มีจริงๆ ก็ต้องใช้ที่รัฐให้ แต่มันเตรียมให้คุณแบบคนอนาถา ถามว่าเราอยากใช้เหรอ ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ เราก็ไม่อยากไปแย่งเค้กชิ้นนั้นที่มันมีน้อยนิดอยู่แล้ว หรือการจะเข้าถึงสิ่งนั้นต้องใช้เงิน ไม่ใช่ว่าของพวกนี้มันต้องอยู่บนพื้นฐานที่เราควรได้รับอยู่แล้วเหรอ กลายเป็นว่าคุณต้องจ่ายเพื่อให้ได้สิ่งนี้มา มันไม่เมกเซ้นส์ แถมสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้ก็ต่ำเหลือเกิน”
สวัสดิการครอบครัวและเด็กที่ออกโดยรัฐจะมีเสียงวิพากษ์ต่างๆ แต่สำหรับ ‘เบีย’ คุณแม่ลูกหนึ่งวัย 26 ปี รู้สึกว่ามันช่วยแบ่งเบาภาระในการเลี้ยงเด็กคนหนึ่ง
“นโยบายช่วยได้บางส่วนถ้าเทียบกับชีวิตจริง เราชอบนโยบายเงินอุดหนุนบุตรกับเรียนฟรี มันเสียค่าส่วนต่างประมาณ 200 – 300 บาท หรือตอนเราไปทำงานก็พาลูกไปฝากศูนย์เด็กเล็ก ช่วยได้เหมือนกัน เรามีเวลาทำงานได้เต็มที่”
แต่เบียก็ยังอยากให้ภาครัฐเพิ่มงบในส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะนโยบายเรียนฟรีและเงินอุดหนุนที่มากขึ้น
“เราเคยคิดว่าการเลี้ยงเด็กคนหนึ่งมันจะง่าย แต่ยุคนี้เลี้ยงลูกต้องใช้เงินเป็นหลัก…บางทีเราก็ต้องดิ้นรนเพื่อคนที่เรารัก เราก็ท้อนะ แต่พอเห็นหน้าลูกเราเลยต้องสู้”
ปัญหาเด็กเกิดน้อยลงคงเป็นสิ่งที่ต้องแก้ต่อไป และสิ่งที่เป็นเรื่องจริงแท้ คือ เราต่างอยากให้ลูกเกิดมาในสภาพแวดล้อมที่ดี ให้เขามีความสุขที่สุด รัฐคงไม่สามารถออกได้แค่ให้เรามีชีวิต แต่ต้องทำให้ชีวิตนั้นมีคุณภาพอย่างที่มนุษย์คนหนึ่งควรจะมี
“เราอยากให้ลูกโตในสังคมที่…เอาแค่ให้เศรษฐกิจมันดีกว่านี้ เขาสามารถได้ทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ ไม่ใช่อยู่ในที่ๆ ค่าแรงขั้นต่ำเดือนหนึ่งยังไม่พอใช้เลย” เสียงทิ้งท้ายจากแม่บีม
อ้างอิง
https://news.thaipbs.or.th/content/301313
https://tu.ac.th/thammasat-310165-crisis-thai-children-born-less
https://planning.anamai.moph.go.th/th/112/download?id=38608&mid=31810&mkey=m_document&lang=th&did=13399
https://tna.mcot.net/social-754504
https://nhaidee.com/money/มารดาประชารัฐ-ลงทะเบียน/
https://csg.dcy.go.th
https://www.bangkokbiznews.com/news/981523
https://www.sso.go.th/wpr/main/service/กองทุนประกันสังคม_detail_detail_1_125_691/233_233
https://www.wiwahproject.com/RPH/Statistics_01.aspx
https://stat.bora.dopa.go.th/stat/statnew/statPMOC/#/BirthDeathLine
https://www.rakluke.com/learning-all/education/item/15-2.html
http://www.dla.go.th/upload/ebook/column/2017/4/2199_5930.pdf
https://researchcafe.org/policies-for-birth-promotion-in-thailand/
https://www.thaihealth.or.th/Content/44460-โครงการส่งเสริมสาวไทยแก้มแดง.html
https://workpointtoday.com/ราชกิจจาฯ-ประกาศมีลูกคน/
https://www.thairath.co.th/news/society/1986964
https://www.rakluke.com/family-lifestyle-all/news-update/item/2020-03-21-13-19-06.html
https://pridi.or.th/th/content/2021/05/708
http://www.loei3.go.th/wp-content/uploads/2021/05/แนวทางการใช้จ่ายเงินอุดหนุน-ปีงบประมาณ-2564.pdf
Writer
เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา
ชีวิตอยู่ได้ด้วยซัมเมอร์ ทะเล และความฝันที่จะได้ทำสิ่งที่เป็นความสุขตลอดไป
illustrator
กรกนก สุเทศ
เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง