ชวนพ่อแม่เข้าใจความจำเจ ทำไมเด็กๆ ชอบฟังนิทานเล่มเก่า เล่าซ้ำๆ
ชวนพ่อแม่เข้าใจความจำเจ ทำไมเด็กๆ ชอบฟังนิทานเล่มเก่า เล่าซ้ำๆ
‘เล่มนี้อีกแล้วเหรอ’
คุณพ่อคุณแม่อาจเคยเผลอบ่นเมื่อลูกหยิบหนังสือนิทานเล่มโปรดที่หน้าปกยับยู่ยี่เพราะถูกใช้งานอย่างหนักมาให้อ่านก่อนนอน แม้บนชั้นหนังสือจะมีหนังสือนิทานหลายเล่ม บางเล่มถึงกับเป็น Bestseller ที่พ่อแม่ขวนขวายมาให้ แต่ลูกกลับไม่สนใจ และยืนยันจะฟังแต่นิทานเล่มเดิมๆ หนำซ้ำพ่อแม่ยังต้องทำเสียงตัวละครให้เหมือนเดิมทุกวัน จนอยากจะถอนใจ
พ่อแม่ส่วนใหญ่น่าจะเคยผ่านประสบการณ์ที่ลูกชอบอ่านนิทานเล่มเดิมซ้ำๆ หรือเล่นของเล่นเดิมๆ สำหรับผู้ใหญ่อาจมองว่านี่เป็นประสบการณ์ซ้ำซากจำเจ ไปจนถึงกังวลว่าลูกจะไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ แต่สำหรับเด็กแล้ว การทำอะไรซ้ำๆ โดยเฉพาะการฟังนิทาน ไม่ใช่ความน่าเบื่อ แต่เป็นความสบายใจ ปลอดภัย และยังเป็นการเรียนรู้อีกด้วย
การอ่านหนังสือนิทานกับลูกมีประโยชน์ เรื่องนี้ทุกคนยอมรับกันดี แต่นอกจากการอ่านนิทานเล่มใหม่ล่าสุด หรือหนังสือนิทานที่เป็น Bestseller แล้ว สิ่งที่จะทำให้การอ่านนิทานมีประโยชน์ต่อลูกอย่างแท้จริง นั่นก็คือ การอ่านนิทานเล่มที่ลูกอยากฟัง แม้ว่าต้องอ่านซ้ำเป็นสิบๆ รอบก็ตาม
เพราะอะไรเด็กๆ จึงยังสนุกสนานกับการฟังนิทานซ้ำๆ
หากจะกล่าวว่าการชอบฟังนิทานเรื่องเดิมของเด็กๆ เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการก็คงไม่ผิดนัก เริ่มจากการฟังนิทานซ้ำๆ ส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ ช่วยให้พวกเขาเข้าใจรูปแบบของภาษา โครงสร้างของเรื่องราว และคำศัพท์ใหม่ๆ การที่เด็กได้ฟังเรื่องเดียวกันหลายครั้ง ช่วยเสริมสร้างความจำและทักษะการเข้าใจเนื้อหา ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการเรียนรู้ที่ซับซ้อนมากขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ การฟังซ้ำๆ ยังสร้าง Pathways หรือเส้นทางที่ประสานเซลล์สมองให้จดจำได้รวดเร็ว ถือเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ในระยะยาวต่อไป
พ่อแม่ผู้ปกครองอาจคิดไม่ถึงว่า พฤติกรรมชอบฟังนิทานซ้ำๆ ยังเกี่ยวข้องกับพัฒนาการทางอารมณ์และการเห็นคุณค่าในตนเองด้วย
สำหรับเด็กเล็ก ความคุ้นเคยนำมาซึ่งความสบายใจ การฟังเรื่องเดิมซ้ำๆ ทำให้พวกเขารู้สึกปลอดภัยเพราะสามารถคาดเดาสถานการณ์ได้ และความคุ้นเคยนี้ยังช่วยเสริมความมั่นใจให้กับเด็ก เพราะพวกเขารู้สึกว่าเข้าใจเนื้อหาและสามารถทำนายสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปได้ ซึ่งการรู้สึกว่าตัวเอง
‘ทำได้’” ไม่เพียงสร้างการเห็นคุณค่าในตนเอง แต่ยังสร้างทัศนคติที่ดีต่อการอ่านและการเรียนรู้ ทำให้ช่วงเวลาของการฟังนิทานหรือเล่าเรื่อง เป็นประสบการณ์ที่น่าสนุกและน่าจดจำ
นิทานเล่มเก่า เล่าซ้ำๆ ความจำเจที่มีประโยชน์
การอ่านหนังสือให้ลูกฟัง มีประโยชน์ต่อพัฒนาการทั้งด้านการพูด คำศัพท์ และการอ่านออกเขียนได้ แต่เด็กๆ มักชอบขอให้พ่อแม่อ่านหนังสือเล่มเดิมซ้ำไปซ้ำมา จนพ่อแม่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าลูกได้ประโยชน์อะไรจากการฟังนิทานเรื่องเดิมซ้ำๆ เหล่านี้
หากลองสังเกตดู เราอาจพบว่าการฟังนิทาน ไม่ใช่สิ่งเดียวที่ลูกชอบทำซ้ำๆ เด็กบางคนชอบปีนขึ้นไปนั่งบนโซฟา แล้วก็ลง สักพักก็ปีนขึ้นไปใหม่ ซ้ำอยู่อย่างนั้น หรือเด็กบางคนก็ชอบเขย่าขวดน้ำ แล้วจ้องมองน้ำเป็นฟองในขวดแล้วก็เขย่าแบบเดิมวนไป ที่เป็นเช่นนี้เพราะพฤติกรรมทำซ้ำ เป็นหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้ของเด็กๆ ที่ทำให้พวกเขาเข้าใจสิ่งต่างๆ ในโลกใบนี้ได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
พ่อแม่ต้องไม่ลืมว่า ลูกเพิ่งเห็นทุกอย่างในโลกนี้เป็นครั้งแรก เพราะฉะนั้นทุกอย่างล้วนแปลกใหม่ การทำอะไรซ้ำไปซ้ำมา จึงเป็นการพยายามเรียนรู้และทำความเข้าใจความเป็นไปของโลกสำหรับเด็กๆ นั่นเอง
การฟังนิทานเรื่องเดิมๆ ก็เช่นเดียวกัน แม้พ่อแม่อาจมองว่าจำเจ แต่ความจำเจนี้ก็มีประโยชน์ต่อเด็กหลายด้าน การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร The International Congress of Infant Studie เมื่อปี 2010 เรื่อง The Effect of Repetition on Infants’ Imitation From Picture Books Varying in Iconicity ระบุว่า เมื่ออ่านหนังสือเกี่ยวกับการทำของเล่นกรุ๊งกริ๊งให้เด็กวัยเตาะแตะฟัง 4 ครั้ง ปรากฏว่าเด็กสามารถพัฒนาการจดจำและทำท่าทางที่เกี่ยวข้องกับการทำของเล่นกรุ๊งกริ๊งได้ดีกว่าการที่พ่อแม่อ่านหนังสือเรื่องเดียวกันให้ฟังเพียง 2 ครั้ง
เมื่อเป็นเรื่องของการเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ มีการศึกษาพบว่า เด็กที่ได้ฟังนิทานเรื่องเดิมหลายรอบ ได้ยินคำศัพท์ในเนื้อหาซ้ำๆ สามารถจดจำและเข้าใจความหมายของคำศัพท์ได้ดีกว่า เมื่อเทียบกับเด็กที่ได้ฟังนิทานเปลี่ยนเล่มไปเรื่อยๆ สำหรับเด็กวัยอนุบาลอายุประมาณ 3-5 ปี ที่ได้ฟังนิทานเรื่องเดิมซ้ำๆ จะช่วยให้พวกเขาเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ที่เป็นเอกลักษณ์ได้ง่ายกว่า ซึ่งมีการศึกษาที่พบว่าคำศัพท์กว่า 50% ในหนังสือนิทานเป็นคำที่มีเอกลักษณ์มากกว่าคำศัพท์ที่ใช้ในโทรทัศน์หรือในบทสนทนาของนักศึกษามหาวิทยาลัย
เพราะฉะนั้น พฤติกรรมชอบทำอะไรซ้ำๆ ไม่ว่าการเล่น การฟังเพลง ฟังนิทาน ล้วนเป็นส่วนหนึ่งในพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กๆ ทั้งด้านสติปัญญาและอารมณ์ ขณะที่เด็กๆ ฟังเรื่องราวซ้ำๆ ที่พ่อแม่เล่า พวกเขากำลังเรียนรู้โลกใบใหญ่ผ่านเรื่องราวเหล่านั้นด้วย
สร้างช่วงเวลาสนุกสนาน แม้ต้องอ่านนิทานซ้ำๆ
สำหรับผู้ใหญ่อย่างเราๆ ที่เข้าใจโลก เข้าใจสถานการณ์ต่างๆ เป็นอย่างดี การอ่านหนังสือนิทานที่รู้ตอนจบ คงเป็นเรื่องที่จำเจ หนำซ้ำยังน่าเบื่อหน่าย แต่หากมองจากมุมมองของเด็ก นี่คือโอกาสที่พวกเขาจะได้เรียนรู้ทักษะที่จำเป็นสำหรับโลกใบใหญ่ ในอ้อมแขนหรือบนตักของคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งเป็นที่ที่พวกเขารู้สึกอุ่นใจมากที่สุด
นี่จึงอาจเป็นอีกช่วงเวลาที่พ่อแม่สามารถแสดงความรักและความใส่ใจได้เต็มที่ โดยทำให้ช่วงเวลานี้มีสีสันมากขึ้น ด้วยการเปลี่ยนคำถามที่ถามเด็กๆ ในแต่ละวัน แม้จะเล่านิทานเรื่องเดิม แต่พ่อแม่สามารถสร้างประสบการณ์เรียนรู้ที่แตกต่างจากคำถามที่ถามในแต่ละวัน เช่น “ถ้าลูกเป็นเจ้ากระต่ายน้อยในเรื่อง จะหนีสิงโตยังไง” วันต่อมาแม้จะเล่าเรื่องเดิมแต่ลองเปลี่ยนคำถามเป็น “ถ้าลูกเป็นสิงโต ลูกจะทำยังไงกับกระต่าย” การชวนลูกพูดคุยเกี่ยวกับนิทานไม่เพียงแต่เพิ่มความสนุกสนาน แต่ยังช่วยฝึกทักษะการสื่อสารและการคิดวิเคราะห์ด้วย
นอกจากนี้ พ่อแม่สามารถเชื่อมโยงเรื่องราวในนิทานกับเหตุการณ์ในชีวิตจริงของลูกได้ เช่น ถ้าในนิทานตัวละครมีการแบ่งปันสิ่งของ พ่อแม่อาจถามว่า “เหมือนตอนที่ลูกแบ่งของเล่นให้เพื่อนใช่ไหม?” การทำเช่นนี้ช่วยให้ลูกเห็นความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องราวและชีวิตจริง ทำให้เขารู้สึกว่านิทานไม่ใช่แค่เรื่องที่เล่าผ่านไป แต่เป็นสิ่งที่สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งช่วยต่อเติมความเข้าใจและคุณค่าในจิตใจของเด็กได้อย่างดี
สิ่งสำคัญก็คือ ระหว่างเล่านิทานพ่อแม่ควรใช้ช่วงเวลานี้เพื่อปฏิสัมพันธ์กับลูก เช่น กอด หรือให้ความอบอุ่น ทำให้ช่วงเวลานี้เป็นเวลาแห่งความสุข เพื่อสร้างความทรงจำดีๆ ที่ลูกจะจดจำไปจนโต
สำหรับผู้ใหญ่การพลิกหน้ากระดาษหนังสือแต่ละครั้งคือความตื่นเต้นที่จะได้ค้นพบว่าเรื่องราวจะดำเนินไปอย่างไร แต่สำหรับเด็กๆ การเปิดหน้าหนังสือเล่มเดิม แล้วได้เจอตัวละครเดิมๆ ที่พวกเขารัก ไม่ว่าจะเป็น กระต่ายแสนซน หนูเจ้าเล่ห์ เจ้าหญิง เจ้าชาย หรือเหล่าซูเปอร์ฮีโร่ ทั้งหมดนี้คือความรู้สึกอุ่นใจและปลอดภัย ซึ่งคงไม่มีอะไรสบายใจไปกว่าการได้ฟังเนื้อเรื่องเดิมๆ ที่จับทางได้ เด็กๆ เตรียมหัวเราะในหน้าที่ 3 และเตรียมทำตาลุกวาวด้วยความตื่นเต้นในหน้าที่ 8 สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงเป็นการเรียนรู้ แต่ยังเติมเต็มจิตใจให้กับเด็กๆ ด้วยความรักและความสนใจจากพ่อแม่
สุดท้ายแล้วจึงไม่สำคัญว่านิทานที่เราอ่านนั้นจะเป็นเรื่องอะไร แต่สิ่งที่สำคัญก็คือขณะที่อ่านเราและลูกรู้สึกอย่างไรต่างหาก เพียงแค่พ่อแม่ลูกได้หัวเราะไปพร้อมกัน ก็มีความหมาย ดีแค่ไหนที่นิทานเพียงเล่มเดียว เล่าซ้ำได้ไม่หยุด และสร้างความสนุกให้เกิดขึ้นทุกครั้งที่พลิกหน้ากระดาษ เรื่องราวที่แสนจำเจในวันนี้ ท้ายที่สุดแล้วเมื่อเวลาผ่านไป จะกลายเป็นความทรงจำที่ฝังลึกในหัวใจ ทั้งของคุณและลูกอย่างไม่อาจลืมเลือน
Writer
สุภาวดี ไชยชลอ
ชอบเดินทาง ชอบดูซีรีส์เกาหลี สนใจทฤษฏีจิตวิเคราะห์ และชอบตอบคำถามลูกสาวช่างสงสัยวัยประถม
illustrator
KHAE (แข)
นักวาดทาสหมา ลายเส้นนิสัยดี หลงไหลไก่ทอดเกาหลี และการฟัง true crime