ศิลปะไม่ใช่ศูนย์กลางจักรวาล และศิลปินไม่ใช่ผู้วิเศษ คุยกับ กลุ่มศิลปินบ้านนอกฯ เมื่อศิลปะคือพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกันของชุมชนที่ ‘ทุกคน’ แตะมันได้ กินมันได้ เล่นกับมันได้

ศิลปะไม่ใช่ศูนย์กลางจักรวาล และศิลปินไม่ใช่ผู้วิเศษ คุยกับ กลุ่มศิลปินบ้านนอกฯ เมื่อศิลปะคือพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกันของชุมชนที่ ‘ทุกคน’ แตะมันได้ กินมันได้ เล่นกับมันได้

‘บ้านนอก’ 

คือชื่อเรียกของหมู่บ้านที่ตั้งอยู่หมู่ 2 ตำบลหนองโพ จังหวัดราชบุรี ถัดออกไปอีกไม่ใกล้ไม่ไกลคือหมู่ 7 ที่คนในพื้นที่เรียกว่า ‘บ้านใน’ และหมู่ที่ 1 เป็นที่รู้กันว่าชื่อ ‘บ้านใต้’ ซึ่งเป็นการบอกพิกัดตามจุดที่ตั้งและการเรียกต่อๆ กันมาของผู้คนในพื้นที่ 

พวกเราเดินทางออกจากเมืองและถนนแน่นขนัดของกรุงเทพมหานคร มายังตำบลหนองโพตามความตั้งใจด้วย GPS บอกทางที่ปักหมุดไว้ที่ ‘Baan Noorg Collaborative Arts & Culture’ หรือ ‘บ้านนอก ความร่วมมือทางศิลปวัฒนธรรม’ องค์กรความร่วมมือทางศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยที่ไม่แสวงผลกำไร ซึ่งก่อร่างและริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2011  โดยสองผู้ก่อตั้งคือ บอย จิระเดช มีมาลัย และ ยิ่น พรพิไล มีมาลัย ในชื่อกลุ่มอย่างสั้นที่ตั้งตามชื่อเรียกพื้นที่อันเป็นจุดที่ตั้งขององค์กรว่า กลุ่มศิลปินบ้านนอกฯ

“ตำบลหนองโพมี 10 หมู่บ้าน แต่ละหมู่บ้านมีชื่อตามโลเคชั่น เราอยู่หมู่ 2 ชื่อ ‘บ้านนอก’ คนมักจะเข้าใจว่าเราตั้งใจตั้งชื่อกลุ่มแบบนี้ เพื่อย้อนแย้งหรือล้อเรียนหรือเปล่า ซึ่งจริงๆ ก็ต้องบอกว่าในทางหนึ่งมันก็มีนัยด้วยเหมือนกันว่า องค์กรเราไม่ได้อยู่ศูนย์กลางของอำนาจ ก็คือไม่ได้อยู่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นที่มาของยุทธศาสตร์องค์กรบ้านนอกว่า เป้าหมายหรือโปรเจกต์ที่เราทำจะมีแนวคิดที่มุ่งรื้อสร้าง หรือสลายโครงสร้างของอำนาจศูนย์กลางในระดับหนึ่ง เพราะทุกโครงการที่เกิดขึ้นในหนองโพ เป็นโปรเจกต์ที่มีความเป็นไปได้ที่จะไม่พึ่งพาศูนย์กลางมากนัก หรือไม่พึ่งพาศูนย์กลางเลย เช่นเราทำงาน เดินข้ามจากหนองโพแล้วไปไทเปเลย ไปโตเกียวเลย ไม่ต้องเข้ากรุงเทพ หลายโครงการหรือโปรเจกต์จะพึ่งกรุงเทพค่อนข้างน้อย หรือแทบจะไม่ได้พึ่งกรุงเทพเลย 80 เปอร์เซ็น”   

บอย – จิระเดช มีมาลัย เล่าให้เราฟังถึงที่มาที่ไปของชื่อกลุ่ม ‘บ้านนอก’ ก่อนจะสนทนากันต่อถึงการเดินทางของพวกเขา จากนักศึกษาศิลปะ จวบจนเริ่มทำงานศิลปะแบบเป็นคู่ สู่การร่วมกันผลักดันให้เกิดองค์กรความร่วมมือทางศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ขับเคลื่อน ‘การเรียนรู้ร่วมกันในชุมชน’ ผ่านงานศิลปะโดยกลุ่มศิลปิน และที่สำคัญคือลงหลักปักฐานในราชบุรี ซึ่งเป็นบ้านเกิดของบอย  

และในขณะที่บอยเป็นผู้เล่าหลักในการพูดคุยคร้้งนี้ ยิ่น-พรพิไล มีมาลัย ก็นั่งอยู่เคียงข้าง คอยเพิ่มเติมข้อมูลและความคิดเห็นในบทสนทนาไปด้วย    

ทำไมถึงตัดสินใจเดินทางกลับมาทำสตูดิโอที่บ้าน

มีหลายประเด็นที่เป็นแรงจูงใจให้เราอยากกลับบ้าน คือเราออกจากบ้านไปตั้งแต่ ม.3 กำลังจะขึ้น ม.4 จนมาทำความเข้าใจเอาทีหลังว่าในระบบการศึกษาไทย ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นชนชั้นกลางก็อยากให้ลูกไปไกลบ้านมากขึ้น เพราะว่าโรงเรียนที่ดีอยู่ไกลออกไปทุกช่วงชั้นปี ซึ่งเราก็เป็นหนึ่งในเด็กรุ่นนั้นที่พ่อแม่อยากให้เข้ากรุงเทพและได้รับการศึกษาที่ดี เลยได้ไปอยู่กรุงเทพตั้งแต่ ม. 4 เรียนอาชีวะ แล้วเอนทรานส์เข้ามหาวิทยาลัย  หลังจากจบอาชีวะก็ใช้ชีวิตที่นั่นตลอดจนถึงปริญญาตรี แล้วทำงานออฟฟิศตามปกติ พออายุ 29 ปี จึงตัดสินใจกลับไปเรียนปริญญาโทที่ศิลปากร ซึ่งเป็นช่วงที่พ่อกับแม่เกษียณ แล้วหลักสูตรปริญญาโทที่ศิลปากรให้เดินทางมาเรียนที่นครปฐม ซึ่งใกล้กับราชบุรีบ้านเรา 

เมื่อครั้งตั้งแต่พื้นตรงนี้ (ชี้ลงบนพื้น) ไล่ไปสุดกำแพงยังเป็นที่นาของครอบครัวปู่ย่าตายาย ตอนนั้นเริ่มคิดแล้วว่าพื้นที่เยอะและใหญ่ เลยอยากทำสตูดิโอ แล้วตอนเรียนปริญญาโท เราเรียนเอกประติมากรรม เลยฝันว่าถ้าย้ายมาจะมีสตูดิโอใหญ่ๆ ที่ออกแบบเอง หลังจบปริญญาโทเลยตัดสินใจกลับบ้าน 

พอได้กลับบ้านจริงๆ มันเป็นอย่างที่คิดไว้ไหม? 

พอกลับมาจริงๆ ก็พบว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสิ่งที่เราต้องพยายามแก้ปัญหาคือคำถามที่ว่า ‘กลับมาอยู่หนองโพ ทำอาชีพอะไร’  ไม่ใช่เฉพาะในชุมชนหรือคนทั่วไปที่มองว่าความเจริญก้าวหน้าทางอาชีพการงานอยู่ในเมืองหลวงเท่านั้น พ่อแม่เราเองก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่คอยกดดันว่า ‘เมื่อไหร่จะกลับกรุงเทพ’ เพราะเขาเห็นว่ากรุงเทพฯ มีงาน แต่ที่หนองโพไม่มีงาน เพราะวิชาชีพที่เรียนและปริญญาที่ได้มา มันไม่มีงานบริเวณใกล้บ้าน ยิ่งเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ไม่มีอาชีพที่รองรับกับหลักสูตรที่เราเรียนมาเลย  

อีกอย่างตอนกลับมาเริ่มสร้างสตูดิโอที่นี่ มาอยู่บ้านทำงานประติมากรรม สิ่งที่กระทบกระเทือนใจเรามากคือรู้สึกว่า ‘ทำไมชาวบ้านไม่คุยกับเรา’ ทั้งที่คนเหล่านี้เป็นคนที่เราวิ่งเล่นเข้าออกบ้านเขาตั้งแต่เด็ก มันก็เลยรู้สึกแปลก ในขณะเดียวกันพ่อแม่ก็ถามทุกสัปดาห์ว่าเมื่อไรจะกลับกรุงเทพฯ ตอนแรกก็ไม่รู้จะทำยังไง แต่สิ่งที่ทำได้คือ ‘ดื้อ’  ไม่กลับไป

อะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้การกลับบ้านเป็นไปได้มากขึ้นจนยืนระยะมาถึงทุกวันนี้ 

มันเริ่มจากช่วงปี 2009 เรากับยิ่นแสดงงานครั้งสุดท้ายที่กรุงเทพ ซึ่งงานในชุดที่เราทำกันในปีนั้น มันมีศักยภาพพอให้เราเขียนขอทุนไปที่อเมริกา เป็นทุนที่ชื่อทุนว่า Asian Cultural Council ซึ่งมอบให้แก่ผู้ที่ทำงานศิลปะ นักวิทยาศาสตร์ หรือคนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมจากประเทศในกลุ่มเอเชีย โดยทุนครอบคลุมทุกอย่าง แล้วเป็นทุนระยะยาวที่ให้เราไปศึกษาวิจัย 

การไปอยู่อเมริกาหนึ่งปีเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เป็นพื้นที่ที่พวกเราได้ความรู้เยอะ เพราะไม่ได้ไปอยู่เฉยๆ เท่านั้น แต่มีโปรแกรม Artist in Residence คือให้ศิลปินในพำนักไปทำงานตามรัฐต่างๆ และมีองค์กรนี้รองรับให้เราได้มีพื้นที่ทำงานและเจอกับศิลปินหลายคนในต่างประเทศที่มารวมตัวกันในอเมริกา 

ตอนนั้นแหละที่ทำให้เราเห็นว่า ในหลายประเทศเขามีองค์กรที่เรียกว่าเป็น Artist collective หรือกลุ่มศิลปินรวมตัวกันที่เรียกว่า Artist run (กลุ่มศิลปินที่ขับเคลื่อนองค์กรโดยใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือ) คือศิลปินทำเอง รันโครงการเอง และริเริ่มขับเคลื่อนโครงการด้วยตัวเอง ไม่ใช่ว่ามีบริษัทมาจ้างแล้วเราไปทำงานให้เขา แต่คิดจากเราเองว่าเราจะทำโปรเจกต์อะไร แล้วเราก็เขียนขอทุน  พอได้งบนั้นมาก็ดำเนินโครงการด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องเอางบจากนายทุน ทำให้เราเป็นอิสระ เป็นทุนให้เปล่า ไม่ต้องตอบแทนคนให้ทุน 

ตรงนี้เองทำให้เรามีเครือข่ายในต่างประเทศ เราเลยเดินทางกลับมาจากนิวยอร์กช่วงปี 2011 จุดนั้นคือจุดที่เราก่อตั้งกลุ่มบ้านนอกฯ อย่างจริงจัง เพราะรู้สึกว่านี่คือทางออกที่จะทำให้เรากลับสู่ชุมชนได้ในระดับที่มีความลึกมากขึ้นกว่าที่จะอยู่ในผิวระนาบที่แค่เกิดที่นี่แล้วกลับมาอยู่ที่นี่

แล้วตอนนั้นคนในชุมชนตอบรับยังไงบ้าง 

กลับมาจากโครงการทุนครั้งนั้นมันทำให้เราสองคนในฐานะศิลปิน แล้วเราเอง (บอย) ในฐานะคนที่เกิดที่นี่สามารถเชื่อมโยงและต่อกับคนในชุมชนได้อีกครั้งหนึ่ง ชาวบ้านจากที่เขาไม่คุยกับเราช่วงกลับบ้านรอบก่อน เขาเริ่มกลับมามีความสัมพันธ์ที่ดีกับเรา ไปเจอกันที่ร้านก๋วยเตี๋ยว เจอตลาด เจอที่วัด ทักทาย ซึ่งก่อนหน้านั้น เขาไม่ทักเราเลย ทั้งที่เราและเขารู้จักกัน การที่เขาทักทาย พูดคุย ทำให้เรารู้สึกอบอุ่น รู้สึกว่าเขายอมรับเรา  

คิดว่าอะไรทำให้คนในชุมชนเริ่มหันมาทักทายเรา 

เราเข้าใจว่าตอนแรกที่ไม่ทักทายกัน น่าจะเป็นปัญหาที่เขามองว่าเราออกไปจากหมู่บ้านนาน 30 กว่าปี แล้วพอเรากลับมา เขาไม่รู้สถานภาพของเรา เขาไม่รู้ว่าเราเป็นใคร เราทำอะไร มันไม่มีลักษณะนามที่ชัดเจนว่าจะทักหรือเรียกยังไง แต่ทุกวันนี้พอกลับมาสนิทเหมือนเดิม เขาเรียกเราว่า ‘น้องบอย’ คือคนในชุมชนเวลาไปกินก๋วยเตี๋ยวก็จะพูด‘อ้าวน้องบอยไปไหน แม่เป็นไง’ (ทุกวันนี้ยังเป็นน้องบอยอยู่ ยิ่นเสริม) และนั่นเพราะว่าเขาเรียกเหมือนที่เขาเคยเรียกเราตอนเป็นเด็ก อันนี้สำคัญมาก 

อีกประการที่ทำให้เราเชื่อมโยงกับชุมชนได้มากขึ้นคือ คนในชุมชนเริ่มมา ‘ขอบคุณ’ กลุ่มบ้านนอกฯ ขอบคุณเรา ขอบคุณพ่อแม่เรา เพราะว่าตอนนั้นเราทำโปรเจกต์กับโรงเรียนชุมชนวัดหนองโพ แล้วทำหนังสั้น ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เราพอจะทำกันได้ แล้วไม่ได้ใช้ทุนมาก โดยเราชวนเยาวชนกลุ่มหนึ่งมารวมตัวกันและทำหนังสั้น พอทำเสร็จก็ฉายกลางแปลงที่วัด พ่อแม่เขาก็มาดู พอเขามาดูเขาก็เห็นว่าลูกเขาทำอะไรได้ เขารู้สึกว่าเราก็มีประโยชน์กับพื้นที่ คนที่อายุต่ำกว่าเราหรือใกล้เคียงกับเราก็เรียกเราว่า ‘อาจารย์’ ซึ่งเราไม่ได้เป็นอาจารย์ แต่พวกเขาก็เรียก 

ปรากฏการณ์เหล่านี้ทำให้เราเข้าใจว่าจริงๆ แล้วมันมี ‘ลักษณนาม’ ที่ทำให้เขารู้สึกต่อเราได้ว่า เราเป็นอาจารย์ เพราะเราสอนลูกเขา ทำให้คนในชุมชนก้าวข้ามพรมแดนที่โครงสร้างทางสังคมวางไว้ เขาก็สะดวกใจ สบายใจที่จะเรียกเรามากขึ้น เพราะก่อนหน้านั้น ถ้าเราเดินหรือขี่จักรยานผ่าน เขาก็จะมองเรา ถึงจะรู้จักเรา แต่ก็จะอ้ำๆ อึ้งๆ ว่าจะเรียกเราว่ายังไงดี มาวันนี้ผู้ใหญ่ที่เราเคยไปวิ่งเล่นบ้านเขา แต่ก่อนเขาเรียก ‘น้องบอย’ ทุกวันนี้ก็เรียก ‘น้องบอย’  

ตอนชวนเด็กๆ มาทำหนังสั้นใช้วิธีการชวนยังไง

มีเยาวชน 2 กลุ่มที่เราชวนเข้ามาในช่วงแรก กลุ่มแรกคือคนที่มาช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน เอาลูกมาให้เราสอนภาษาอังกฤษ สอนทำการบ้าน อีกกลุ่มหนึ่งเป็นนักเรียนที่โรงเรียนชุมชนวัดหนองโพที่ผู้อำนวยการของโรงเรียนเป็นบอร์ดคอมมิวนิตีของโครงการเรา โรงเรียนก็ช่วยประกาศให้เด็กๆ ที่สนใจมาร่วมกิจกรรม 

จะเห็นว่าเราทำงานร่วมกัน บ้านนอกไม่ได้อยู่ด้วยตัวเองโดดๆ มันเป็นงานฐานชุมชน เป็นการทำงานร่วมกันของกลุ่มคนในพื้นที่เป็นหลัก เราเลยทำงานกับทั้งวัด โรงเรียน และส่วนต่างๆ ในชุมชน

คุณบอย-คุณยิ่น ในฐานะคู่รักที่ทำงานคู่กันมาตลอด ได้เรียนรู้จากความสัมพันธ์ส่วนตัวกับการทำงานศิลปะยังไงบ้าง และสำคัญยังไงกับการทำงานศิลปะในความสัมพันธ์อื่นๆ ที่กว้างขึ้นอย่างการทำงานร่วมกับผู้คนในชุมชน

เรื่องความสัมพันธ์ในการทำงาน เรามองว่าช่วงทศวรรษ 80-90 มันมีมูฟเมนต์ ‘กลุ่มศิลปิน’ ที่ทำงานมากกว่าคนเดียว แล้วรูปแบบของงาน ไปจนถึงวิธีคิดมีความน่าสนใจในระดับสากล เราเลยมองว่าแทนที่เราจะมีอาชีพในฐานะศิลปิน แทนที่จะเป็นศิลปินแบบปัจเจก เราลองทำงานเป็นกลุ่มดีไหม กลุ่มก็คือหมายถึงหนึ่งคนขึ้นไป อย่างพวกเราก็คือสองคน 

มูฟเมนต์นี้ในระดับสากล ทำให้เห็นว่ามันมีศักยภาพที่น่าสนใจ และงานที่ออกมากลายเป็นเรื่องของขบวนการทางความคิดที่ต้องมีการถกเถียงกัน ก่อนที่จะตกผลึกมาเป็นตัวชิ้นงาน ดังนั้นในองค์ประกอบตรงนี้มันมีเรื่องของ ‘ความเท่าเทียม’ อยู่ในนั้นด้วย คืออย่างของเราทำงานเป็นคู่ (couple) มันก็จะมีเรื่องของเพศ (gender) ตัวชุดความคิดเรื่องความเท่าเทียมนี้เองที่มันพาข้ามประเด็นปัญหาบางอย่างได้ แล้วก็สามารถถกเถียงกันได้ คือมันเกิดขึ้นได้และยอมให้มันเกิดขึ้นได้ 

แล้วเมื่อผลงานออกมา ผู้ชมเขาไม่รู้หรอกว่า บอยคิด หรือ ยิ่นคิด หรือว่าตรงไหนใครเป็นคนคิด เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งหนึ่งที่เป็นแนวคิดใหม่ในโลกของศิลปะร่วมสมัยหลังช่วงทศวรรษ 90 มา คือการมีคำถามว่าในงานศิลปะมันมีอำนาจ (authority) หรือไม่? ใครเป็นเจ้าของ? 

การทำงานเป็นกลุ่มจึงเข้าไปสลายหรือทำลายโครงสร้างของความเป็นเจ้าของว่า อันนี้เป็นของฉัน อันนี้เป็นของเธอ ใครเป็นเจ้าของมัน เพราะที่ผ่านมาในโลกศิลปะโดยเฉพาะในยุคศิลปะสมัยใหม่ (Modernism) งานศิลปะมันถูกยอมรับ แล้วก็ถูกตีค่าผ่านตัวเจ้าของงาน แต่ว่าหลังจากทศวรรษที่ 90 ศิลปะมันก็เริ่มพัฒนาไปสู่การสลายโครงสร้างของเรื่องความเป็นเจ้าของมากขึ้น

จากที่เดิมทีศิลปะถูกตีค่าหรือว่าให้ความสำคัญกับตัวศิลปินว่าเป็นผู้เนรมิตสิ่งสวยงามวิเศษ แล้วจนถึงจุดหนึ่งศิลปินที่อยู่ในกลุ่มของแนวคิดแบบนั้น ตัวเขาเองก็มักจะถอยห่างออกมาจากชุมชนแล้วก็สังคมมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในระบบการศึกษาไทยเอง  โรงเรียนศิลปะในไทยยังคงการเรียนการสอนศิลปะโดยใช้ระบบนี้อยู่ นักศึกษาต้องใช้เวลาประมาณ 70% หมกมุ่นตัวเองอยู่ในสตูดิโอ  

พอหลังจากเข้ามาสู่ยุคหลังสมัยใหม่หรือ Postmodernism ศิลปินมีทางเลือกมากขึ้น แล้วก็ในศัพท์ทางศิลปะเขาจะเรียกว่า post-studio เหมือน post-production ก็คือหลังจากสตูดิโอแล้ว ก็ไม่ต้องทำงานหนักหรือทุ่มเทเวลาอยู่ในสตูดิโออย่างเดียวแล้วก็ปิดกั้นตัวเอง แต่สามารถออกไปเจอผู้คน ไปสัมภาษณ์เขา ไปคุยกับเขา เพราะว่าข้อมูลหรือวิธีคิดอะไรหลายอย่างมันเกิดจากการที่เราได้ไปเจอคน ถ้าเราต้องการแหล่งข้อมูล เราต้องเดินไปหาเขา เรื่องนี้มันก็เลยทำให้ ‘ศิลปะร่วมสมัย’ ในปัจจุบันในยุคหลังหลังสมัยใหม่ (Postmodernism)เป็นต้นมา ศิลปะไม่ได้เป็นศูนย์กลางของจักรวาล อีกต่อไป 

หมายความว่าศิลปะมันต้องพึ่งพิงและพึ่งพาศาสตร์อื่นๆ เช่น ถ้าเราต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับบริบทภูมิหลังของกลุ่มคนนั้นๆ เราต้องไปดูเรื่องมานุษยวิทยาว่าเป็นอย่างไร เชื่อมโยงกันอย่างไร เขาคือใคร ทำไมมาเป็นแบบนี้ คือมันใช้ความรู้นอกตัวมันเองเยอะขึ้น นิยามมันว่า interdisciplinary art ก็เป็นศิลปะที่เป็นสหวิทยาการ คือตัวมันโดดๆ ไม่มีความน่าสนใจเท่ากับการที่มันไปรวมกับศาสตร์อื่นๆ  

แนวคิดที่ว่า ‘ศิลปะไม่ใช่ศูนย์กลางจักรวาล’ มันนำไปสู่อะไร 

เมื่อศิลปะไม่เป็นศูนย์กลางจักรวาล ศิลปินก็จะไม่เป็นด้วย ซึ่งศิลปินเคยถูกตั้งคำถามนี้มาตั้งแต่สมัย Benjamin Walter เขาพูดเรื่องนี้มานานแล้ว หนังสือก็เขียนมานานแล้ว เดิมทีในช่วงยุคศิลปะสมัยใหม่ (Modernism) ศิลปินค่อนข้างที่จะเป็นอภิมมนุษย์ เพราะว่าถูกยกย่องให้มีความพิเศษสูงสุด มีญาณทัศน์ (intuition) ซึ่งญาณทัศน์ตัวนี้เป็นอะไรที่อธิบายไม่ได้ แล้วพอศิลปินคนนั้นถูกยกย่องให้มีความพิเศษเหนือเรา เหนือยามที่เฝ้าตึกมหาวิทยาลัย หรือว่าเหนือคนขายก๋วยเตี๋ยวข้างบ้าน ศิลปินก็จะกลายเป็นเหมือนสมมุติเทพ ถูกมองว่าพิเศษกว่าใคร 

ส่วนแนวคิดร่วมสมัย ศิลปินก็เหมือนกับคนขับวินมอเตอร์ไซค์ มันเป็นอาชีพหนึ่ง และเราก็ทำงานโดยกรอบความรู้ที่ไม่ใช่เรื่องวิเศษอะไร ศิลปะเองมันก็ต้องอาศัยชุดความรู้อื่น 

สิ่งนี้เรียกว่าเป็น ‘หัวใจ’ ในการทำงานศิลปะกับชุมชนด้วยไหม

ใช่ๆ เพราะถ้าเราไม่แทรกซึมตัวเราเองเข้าไปอยู่ในชุมชน เราก็ทำงานกับเขาไม่ได้ หรือเขาก็ไม่ยอมรับ ซึ่งจริงๆ แล้ว ถึงเราจะทำงานกับเขาอยู่ เขาก็ไม่ได้เข้าใจนะว่าศิลปะคืออะไร คือเรานิยามมันในแบบที่เราเรียนรู้มาจากมหาวิทยาลัยไม่ได้ เพราะฉะนั้นในการทำงานกับชุมชนที่เรียกว่า community-based art หรือ ‘ศิลปะชุมชน’ มันคือการที่เราไม่ได้ให้ความสำคัญกับตัวรูปแบบและวิธีการมากนัก แล้วก็ไม่ได้ให้ความสำคัญว่าเขาจะเข้าใจว่ามันคือศิลปะหรือไม่ด้วย ตราบใดที่มันฟังก์ชันกับเขาและชุมชนเท่านั้นก็เพียงพอ สิ่งนี้สำคัญกว่ารูปแบบหรือวิธีการ 

คือวิธีการจะเป็นอะไรก็ได้ แนวทางก็ไม่จำกัด เป็นการเล่นเกมกันก็ได้ เป็นการทำเวิร์กช็อปอะไรสักอย่างก็ได้ที่ศิลปินออกแบบ คนในชุมชนเจอศิลปินคนที่หนึ่ง ทำแบบหนึ่ง คนที่สอง ทำอีกแบบหนึ่ง แล้วเมื่อศิลปินกับชุมชนทำงานด้วยกัน เราก็ไม่ได้มีการไปนิยามว่า ‘คุณป้าต้องรู้นะว่าอันนี้คือศิลปะ ถ้าคุณป้าไม่รู้ คุณป้าทำไม่ได้นะ’  มันไม่มีกรอบกำหนด ไม่จำเป็นด้วยซ้ำว่าเขาจะรู้หรือไม่ว่าสิ่งที่เขากำลังทำอยู่คือศิลปะหรือไม่ ตราบใดที่มันฟังก์ชัน

จากศิลปะที่ดูเหมือนผู้คนจะเข้าถึงยาก ก็อาจเข้าถึงได้ง่ายขึ้น 

ใช่ จริงๆ แล้วมันเป็นการทำงานในชีวิตประจำวันนั่นแหละ คือดึงเอาศิลปะที่มันเคยสูงส่งในช่วงของศิลปะสมัยใหม่ (Modernism) ลงมาเป็นสิ่งที่ทุกคนจับต้องได้ กินมันได้ เล่นกับมันได้ ถ้าเราเข้าไปในพิพิธภัณฑ์อย่าง Metropolitan หรือ MoMA เราก็จะเห็นว่ามันจะมีป้ายติดว่า ‘ห้ามแตะ ห้ามข้ามเส้นนี้ไป’ 

แต่ศิลปะอย่างศิลปะชุมชน มันต้องเข้าไปได้ จับได้ กินได้ เล่นได้ มันต้องสนุกกันได้ คือ มันสลายโครงสร้างของศิลปะในยุคโมเดิร์นทั้งหมด

คือเราสามารถมีส่วนร่วมและเรียนรู้ไปกับศิลปะได้ 

ใช่ ‘การมีส่วนร่วม’ ในแบบศิลปะร่วมสมัยเขาใช้คำว่า collaborative and participatory art ศิลปะความร่วมมือและการมีส่วนร่วมทางสังคม คือ term พวกนี้มันมาช่วยขยายความของการที่ศิลปะมันพัฒนาก้าวหน้าไปมากในช่วงหลังสมัยใหม่ มันเป็นศัพท์เฉพาะที่นอกจากสร้างความเข้าใจแล้วยังไปทำให้แนวทางวิธีคิดของศิลปินและถ่างกรอบเดิมของศิลปะให้กว้างขึ้น พื้นที่ในการฝึกฝน (practice) หรือ สำรวจ (explore) ก็ง่ายขึ้น ไม่จำกัด 

เพราะลองนึกดู ศิลปินคนหนึ่งต้องใช้ชีวิตทั้งชีวิตอยู่ในสตูดิโอเพื่อวาดรูปขาย ชีวิตจะอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมเยอะ แต่แนวคิดการมีส่วนร่วมตรงนี้จะมาขยายพื้นที่การทำงานและวิธีการเรียนรู้ แล้วการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นมันก็จะเรียนรู้จากคนที่เขาอยู่ตรงนั้นจริงๆ 

สมมุติถ้าเราต้องการทำงานสักชิ้นหนึ่ง นึกง่ายๆ ว่าเราต้องการไปถ่ายทำเป็นวิดีโอชิ้นหนึ่งที่ทะเล เราก็ต้องอาศัยคนที่อยู่ตรงนั้นเป็นคนลากเอาเรือ ลากเราออกไป คนที่นั่นเขามีความรู้เฉพาะทาง ในโรงเรียนศิลปะไม่ได้สอนหรอกว่าเราออกเรือยังไง ดังนั้นเราต้องพึ่งพาเขา อันนี้ก็คือมันก็มีการร่วมมือกัน  

คนเหล่านี้เขารู้ว่าอะไรคือการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อม อะไรคือ climate change โดยที่ไม่ต้องใช้ภาษาแบบนั้น เพราะว่าเขาใช้สัมผัสผิว เขาได้ยินเสียง เขาใช้ตาเห็น เขารู้สึกได้ เพราะเขาเกิดตรงหน้าชายหาด แม้เขาพูดออกมาเป็นศัพท์ทางวิชาการไม่ได้ แต่เขารู้มากกว่าเรา เหมือนกับ ‘นก’ วันที่จะมีสึนามิ นกรู้ก่อนที่กรมอุตุฯ จะสั่งเตือน ดังนั้นความรู้ของพวกเขาสำคัญ

‘ศิลปะ’ ในมุมของกลุ่มบ้านนอกฯ มันเป็นไปเพื่ออะไร 

ในแง่มุมของบ้านนอกฯ ยุทธศาสตร์ที่ถูกวางไว้ตั้งแต่ก่อตั้งคือ เราทำงานศิลปะเพื่อพัฒนาชุมชน เครื่องมือคือ ‘ศิลปะ’ เป้าหมายคือการพัฒนาชุมชน พัฒนาบุตรหลานของคนที่อยู่ในนี้ พัฒนาพื้นที่ แล้วก็พัฒนาภาพรวมของชุมชนในแง่ของบริบทหลากหลายด้าน เช่น ประวัติศาสตร์ การพูดถึงประวัติศาสตร์ของชุมชนก็เป็นการขีดเส้นใต้เรื่องราวในประวัติศาสตร์ให้คนในชุมชนเองและคนนอกชุมชนรับรู้ว่าชุมชนนี้มีเรื่องเล่าเรื่องราวอย่างไรบ้างในอดีต ซึ่งคนรุ่นใหม่ บางทีเขาก็ไม่รู้แล้วว่าหนองโพเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ หรือคนที่นี่เป็นชาวไทยญวน คนรุ่นเราก็เป็นคนรุ่นแรกแล้วที่พูดภาษาไทยญวนไม่ได้ อย่างรุ่นพ่อรุ่นแม่จะพูดได้เพราะว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกกวาดต้อนมาจากเชียงแสนในช่วงรัชกาลที่หนึ่ง ซึ่งเราก็มีการทำโปรเจกต์เกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย 

สิ่งที่กลุ่มบ้านนอกฯ สกัดออกมาได้จากการทำงานศิลปะชุมชนคืออะไร

ก็รู้สึกดี ก็ไปไหนเขาก็เรียกน้องบอยๆ (หัวเราะ) แต่จริงๆ แล้วตัวโครงการที่ทำทั้งหมด นอกจากชุมชนจะมีพัฒนาการไปตามลำดับ คือโดยเป้าหมายของบ้านนอกเวลาทำโครงการเราจะหยิบประเด็นต่างๆ มาเล่าด้วยมีเดียอะไรต่างๆ ทั้งหลาย อันนี้เป็นเป้าหมายที่กลุ่มบ้านนอกฯ โฟกัสในแต่ละครั้ง อีกด้านหนึ่งสิ่งที่เราทำก็คือพัฒนาองค์ความรู้ในด้านทัศนศิลป์ที่ไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยวภายในกรอบภายใต้โครงสร้างความรู้ที่หลากหลาย อันนี้เหมือนยังไม่มีวิชาในระดับปริญญาตรี ในสายศิลปะ 

แล้วเราก็ฝึกนักศึกษาในระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาชีพ art and community มันก็เหมือนเราเป็นกลุ่มที่บุกเบิกชุดความรู้เรื่องนี้ในพื้นที่ เพราะว่าการทำงาน community-based art ได้มันก็ไม่ใช่มาถึงแล้วทำได้เลย หรือว่ามาถึงก็ทำอะไรก็ได้ มันต้องมีการรีเสิร์ช มีการอ่านหนังสือ และทำความเข้าใจข้อมูลมากมายไปหมด มันเกี่ยวข้องกับชุดความรู้ทั้งหมด 

ดังนั้นสิ่งที่เป็นชุดความรู้ ทุกครั้งที่มีโปรเจกต์ บ้านนอกฯ ก็ต้องสร้างชุดความรู้ขึ้นมา และชุดความรู้นี้ก็เผยแพร่ไปตามห้องสมุด ให้คน เพราะว่า 80% หรือ 90% ของโปรเจกต์ทั้งหมดเราจะมีชุดข้อมูลที่จะเผยแพร่ให้คนอื่นได้

ในอนาคต มองภาพพื้นที่การทำงานขยายเพิ่มมากขึ้นอีกไหม 

ทุกวันนี้ก็ขยายไปเยอะแล้ว ตอนนี้นอกจากทำในชุมชน ซึ่งหมู่ 2 บ้านนอก ตำบลหนองโพ เราเรียกว่าเป็น ‘พื้นที่ปฏิบัติการหลัก’ แต่ในแง่ความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างกับกลุ่มเครือข่ายในต่างประเทศ เราก็ทำงานกับ Southeast Asia ก็มีทุกประเทศที่ทำงานด้วย เขามาเราไป มีการแลกเปลี่ยนกันอยู่ตลอด รวมถึงยุโรป อเมริกา และเอเชียด้วย  อย่างไต้หวันเรามีไปๆ มาๆ บ่อยมากเพราะว่ารัฐเขาสนับสนุนเรื่องนี้ ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ

พอพูดถึงเรื่องรัฐ อยากส่งท้ายด้วยการถามถึงมุมมองต่อภาครัฐกับการสนับสนุนศิลปิน 

จริงๆ มันเป็นหน้าที่ของรัฐ เพราะว่าเหมือนเราเอาภาษีเรากลับมาใช้ คือที่อื่นเขามียุทธศาสตร์ในเรื่องของศิลปวัฒนธรรมที่แข็งแรงกว่าเรา โดยที่เขาไม่ต้องพูดถึงประเด็นเรื่อง soft power ด้วยซ้ำ มันเป็นสิ่งที่รัฐเองเล็งเห็นความสำคัญว่า ถ้าศิลปวัฒนธรรมแข็งแรง การรับรู้เกี่ยวกับประเทศ เกี่ยวกับวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ มันจะไปได้ไกลมาก เพราะว่าพื้นที่ทางศิลปะร่วมสมัยมันกว้างใหญ่มาก มันกว้างใหญ่กว่าห้างสรรพสินค้า แล้วมันแทรกตัวในทุกหนทุกแห่งในโลก 

ถ้าเรายกตัวอย่างไต้หวัน เขาส่งศิลปินของเขาไปทุกที่ในโลกนี้โดยการให้ทุน ก็คือศิลปินต้องการไปไหนก็เขียนขอ เขาก็ให้  ซึ่งศิลปวัฒนธรรมนี่แหละ ทำให้คนยังตระหนักว่ายังมีไต้หวันอยู่  ไต้หวันไม่ใช่ของจีน มันเป็นเทคนิคแล้วก็เป็นวิธีคิดที่ชาญฉลาด แล้วก็ง่าย โดยการสนับสนุนงบตรงนี้ลงไป ถ้ามองในแง่ของประเทศไทย เรามองว่ามันก็เหมือนกัน เพราะว่าเรามีวัฒนธรรมที่ดีตั้งเยอะ แล้วมันออกไปนำเสนอหรือว่าสื่อสารกับต่างประเทศได้ เราว่าเป็นหน้าที่ของรัฐ  

_

บทสนทนาจบลง เราขอบคุณกันและกัน พวกเรานั่งรถกลับไปยังที่จากมา พร้อมกับขบคิดต่อกับคำว่า ‘ศิลปะ’ ในแบบที่มีความหมายต่อพื้นที่หนึ่งๆ ในฐานะพื้นที่ของการเรียนรู้กันและกันของผู้คน พื้นที่ที่ใครก็สามารถมีส่วนร่วมได้ และพื้นที่ในการสานสายสัมพันธ์ของผู้คน และเชื่อมต่อองค์ความรู้แบบต่างๆ ที่แตกต่างหลากหลายเข้าหากัน ในการขับเคลื่อนพื้นที่หนึ่งๆ ที่ ‘ทุกคน’ มีส่วนร่วมได้  พลันขบคิดต่อไปว่าหากการทำงานศิลปะ งานขับเคลื่อนชุมชน และศิลปินได้รับการสนับสนุนมากขึ้น คงจะสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ได้ไม่น้อยเลยทีเดียว     

Writer
Avatar photo
ศิรินญา

หาทำอะไรไปเรื่อยๆ ตามประสาวัยลุ้น

Photographer
Avatar photo
อนุชิต นิ่มตลุง

ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว จนถึงสารคดี ปัจจุบันเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision เพิ่งตัดสายสะดือเป็นคุณพ่อหมาดๆ เมื่อเมษาที่ผ่านมา (พ.ศ. 2563)

Related Posts

Related Posts