All Of Us Are Dead : ไม่ใช่นักเลง ไม่ใช่นักเรียนตัวอย่าง เมื่อเด็กกลางๆ มีตัวตนในโลกซอมบี้

All Of Us Are Dead : ไม่ใช่นักเลง ไม่ใช่นักเรียนตัวอย่าง เมื่อเด็กกลางๆ มีตัวตนในโลกซอมบี้

  • หลายครั้งเด็กกลางๆ ถูกมองว่าไร้ตัวตน แต่ไม่ใช่ในโลกซอมบี้ในซีรีส์ All Of Us Are Dead
  • เด็กกลางๆ กลายเป็นผู้คุมชะตาชีวิตของทุกตัวละคร เพื่อบอกกับสังคมว่า ฉันมีตัวตน
  • ขณะเดียวกันบาดแผลของเด็กๆ ที่ซีรีส์มอบให้คือ การเห็นคนที่พวกเขารักเป็นซอมบี้พร้อมกับความหวังที่เลื่อนหายตามกาลเวลาเพราะเด็กกลายเป็นคนถูกลืม

(**บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของซีรีส์)

ถ้าวันหนึ่งคนที่เรารักกลายเป็นซอมบี้จะเป็นอย่างไร?

เป็นคำถามหลังจากดู All Of Us Are Dead ซีรีส์รีเมคจากเว็บตูนของเกาหลีความยาว 12 ตอนว่าด้วยเรื่องการหนีตายของนักเรียนกลุ่มหนึ่งจากฝูงซอมบี้ในโรงเรียน ส่วนเพื่อนๆ และครอบครัวคือศัตรูที่ต้องทำลายเพื่อเอาตัวรอด

จุดเริ่มต้นของกลุ่มซอมบี้มาจากอีบยองชาน คุณครูวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนมัธยมฮโยซันคิดค้น ‘ไวรัสโยนาส’ เพื่อปกป้องลูกชาย เหยื่อจากการบูลลี่ในโรงเรียนให้ลุกขึ้นสู้ได้อย่างไม่กลัวใคร

หากความผิดพลาดของไวรัสไม่ได้ปกป้อง แต่เปลี่ยนให้ลูกชายเป็น ‘ซอมบี้’ มนุษย์ที่มีชีวิตแต่ไม่หลงเหลือความเป็นมนุษย์ มันสามารถคร่าและพรากชีวิตทุกคนแบบไม่เลือกหน้า 

นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมทุกตัวละครในซีรีส์เรื่องนี้ถึงมองหาวิธีเอาตัวรอด แม้จะเจออุปสรรคหรือดูเป็นไปไม่ได้เลยก็ตาม

แค่เป็นเด็กคนหนึ่งก็ยากอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เด็กคนหนึ่งต้องแบกรับเมื่อคนรักกลายเป็นคนแปลกหน้าที่ต้องฆ่าและทำลายเพื่อเอาชีวิตรอด มิหนำซ้ำสิ่งที่น่าเจ็บปวดยิ่งกว่าคือการทำลายความหวังและความเชื่อที่เหลืออยู่ในไม่กี่นาที 

เมื่อดูซีรีส์เรื่องนี้จบอาจไม่ได้มีบทสรุปที่ตายตัวว่าใครควรมีชีวิตอยู่หรือตายไป แต่ระหว่างทางการหลบหนี คือ การเรียนรู้เบื้องลึกของจิตใจมนุษย์ในยามคับขันที่ไม่ว่าจะปกป้องหรือเสียสละเพื่อกันและกันมากแค่ไหนก็เจ็บปวดอยู่ดี 

เพราะเป็นนักเรียนจึงเจ็บปวด

“ช่วงมัธยมคือเวลาที่มีความสุขที่สุด” หลายคนบอกแบบนั้น

เพราะโค้งสุดท้ายในรั้วโรงเรียนของหลายๆ คนเต็มไปด้วยความสนุก รอยยิ้ม รักแรก และความหวัง แต่เด็กมัธยมใน All Of Us Are Dead อาจจะไม่คิดแบบนั้น พวกเขาต่างเจ็บปวดบนเส้นทางชีวิตของตัวเอง

สำหรับเด็กที่ถูกกลั่นแกล้งแบบไร้ทางสู้ โรงเรียนไม่ต่างจากนรก เนื่องจากไม่เคยเป็นพื้นที่ปลอดภัยตรงกันข้ามมันเป็นพื้นที่ของความกลัว 

เพราะทุกครั้งที่โดนแกล้ง ระบบโรงเรียนยืนข้างผู้กระทำเสมอ สุดท้ายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ถูกมองว่า “ก็แค่เด็กเล่นกัน”

ระบบที่ไม่เคยมองเห็นเหยื่อและมองการแกล้งว่าเป็นเรื่องปกติ การปล่อยพวกเขาไว้กลางทางยิ่งทำให้ความสิ้นหวังในใจก่อตัวเป็นความโกรธที่พูดไม่ได้ แต่สิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ก็คือ ‘ยอม’ ก้มหน้ารับชะตากรรมของตัวเองด้วยการไม่บอกใคร

นอกจากระบบโรงเรียนที่มักยืนข้างผู้กระทำแล้ว ระบบสังคมยังยืนข้าง “คนเก่ง” 

จางฮารี นักกีฬายิงธนูที่พลาดท่าตกรอบทีมชาติและปาร์คจีมินนักเรียนม.6 ที่มองว่าชีวิตปีสุดท้ายในโรงเรียนเหนื่อยเหลือเกินก็กำลังแบกรับความคาดหวังของสังคม โดยเฉพาะจางฮารี

“ฉันยิงธนูมาทั้งชีวิต ฉันทำอย่างอื่นไม่เป็นหรอก ฉันอายุ 19 แต่ชีวิตไม่มีความหวังเลย” 

ความรู้สึกลึกๆ ของจางฮารี หลังรู้ผลลัพธ์ว่าเส้นทางอนาคตของเธอต่อจากนี้จะไม่ง่าย เพราะฮารีไม่ใช่นักกีฬายิงธนูที่เก่ง ไม่ได้เป็นเด็กเรียนดี และไม่ได้มีคุณสมบัติมากพอที่สังคมจะยอมรับ

เป้าหมายเดียวท่ามกลางฝูงซอมบี้ชุดนักเรียน คือ เธอต้องรอดและมีชีวิตอยู่ต่อไปด้วยความหวังว่าจะเจอน้องชายที่อายุห่างกัน 1 ปีในระยะเวลาอันใกล้นี้ 

ขณะเดียวกัน อีกตึกหนึ่งในโรงเรียน กลุ่มเพื่อนนักเรียนชั้นม.5 ก็กำลังเผชิญกับความเจ็บปวดและสูญเสียอย่างไม่ทันตั้งตัว คือ การเห็นพ่อแม่และเพื่อนสนิทเปลี่ยนร่างจาก ‘คน’ เป็น ‘ซอมบี้’ 

ทั้งๆ ที่เห็นหน้า แต่เขาคนนั้นกลับจำเราไม่ได้ เพื่อนจำหน้าเพื่อนไม่ได้ พ่อแม่จำหน้าลูกไม่ได้ ครูจำหน้านักเรียนไม่ได้ คือ บาดแผลความเจ็บปวดของตัวละครที่ซีรีส์มอบให้

ด้วยบาดแผลที่มองไม่เห็นที่ซ่อนอยู่ในการวิ่งหนีซอมบี้แต่ละตอนเป็นการสะท้อนว่าไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่ที่เจ็บปวด แต่การเป็นนักเรียนก็เจ็บปวดได้เหมือนกัน

เด็กกลางๆ ที่ (ไม่) ไร้ตัวตน

ความยาวซีรีส์ 12 ตอน ยุนควีนัม คือ ตัวละครที่ถึก ทน ฆ่าเท่าไรก็ไม่ตาย

ก่อนไวรัสจะแพร่จนทุกคนเป็นซอมบี้ ควีนัมคือหนึ่งในสมาชิกนักเรียนที่บูลลี่เด็กคนอื่น และเป็นแค่เด็กกลางๆ ที่อยากมีตัวตน

แต่เมื่อทุกคนกลายเป็นซอมบี้ ยุนควีนัมกลายเป็นผู้คุมเกมชีวิตของทุกตัวละครในโรงเรียน

เริ่มจากฆ่าผู้อำนวยการโรงเรียน กัดคอเพื่อน และตามล่า อีซองซาน พยานการดับชีวิตผู้อำนวยการและเพื่อนที่ไม่ช่วยเขาจากฝูงซอมบี้ในวินาทีที่เขาสิ้นหวังมากที่สุด

“นายไม่ใช่ทั้งนักเลงและนักเรียนตัวอย่าง แล้วตอนนี้นายก็ไม่ใช่ทั้งซอมบี้และคน จะตอนนี้หรือก่อนหน้านี้ นายก็ไม่มีตัวตน”

อีชองซานบอกยุนควีนัม ประโยคเดียวที่ทวีคูณความน้อยใจและความโกรธแค้นของยุนควีนัม เพราะควีนัมมีตัวตน ไม่ใช่ลูกกระจ๊อกเดินตามเงาใครอย่างที่ซองซานกล่าวหา 

แม้ All Of Us Are Dead จะไม่ได้บอกว่ายุนควีนัมเป็นเด็กกลางๆ ที่ไม่ได้ดีและไม่ได้แย่ที่พยายามแข็งแกร่งเพื่อให้คนอื่นยอมรับ

จริงๆ แล้วการเป็นคนกลางๆ ไม่ผิด ถ้าโรงเรียนและสังคมได้ยินเสียงความรู้สึกของ “คนกลางๆ” 

และยอมรับว่าพวกเขามีตัวตน

เด็กวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า แต่วันนี้เด็กถูกลืม

ในภาวะวิกฤตที่ประชาชนในเมืองฮโยซันกลายเป็นซอมบี้ เฮลิคอปเตอร์ถูกส่งไปรับนักการเมืองและประชาชนเพื่อนำทุกคนมาอยู่ในที่ปลอดภัย แต่เฮลิคอปเตอร์หลายสิบลำไม่เคยถูกส่งมาที่โรงเรียน

นักเรียนเกือบ 10 คนที่กำลังวิ่งหนีเอาตัวรอดจากเพื่อนซอมบี้หวังเสมอว่า พวกเขาจะไม่ถูกลืม วันหนึ่งผู้ใหญ่จะต้องช่วยเด็กแน่นอน

ขณะเดียวกันบทละครจากซีรีส์กำลังชวนนักดูวัยผู้ใหญ่ตั้งคำถามว่า เด็กคืออนาคตของชาติจริงๆ หรือเปล่า 

“การที่เด็กตายแปลว่าความหวังหายไป ส่วนการที่ผู้ใหญ่ตายแปลว่าความรู้หายไป ความหวัง และความรู้ เราให้คุณค่าอะไรมากกว่ากัน”

ประโยคหนึ่งจากอีจุนยองนักเรียนเบอร์สองในชั้นเรียนที่กำลังสิ้นหวังเมื่อความจริงตะโกนใส่หน้าว่า “ไม่มีผู้ใหญ่คนไหนมาช่วยเราได้หรอก”

แม้แต่เสี้ยววินาทีที่ทหารมายืนตรงหน้าและเฮลิคอปเตอร์อยู่เพียงเอื้อมมือ คำสั่งไม่กี่คำจากผู้ใหญ่ในระบบก็ทำให้ความหวังหันหลัง ปล่อยให้เด็กถูกทิ้งไว้กลางทาง 

ถ้าเด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้าและเป็นความหวังของประเทศจริง เด็กๆ ทั้งสิบคนจากซีรีส์เรื่องนี้จะไม่ต้องสูญเสียเพื่อนและพ่อแม่จนต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว

แล้วคงจะไม่มีเสียงของเด็กๆ ว่า “ทำไมถึงทิ้งพวกเรา” และได้ใช้ชีวิตมัธยมที่มีความสุขอย่างที่ใครบอกโดยไม่ต้องมีใครหายไป

Writer
Avatar photo
ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

ชอบดูซีรีส์เกาหลี เพราะเชื่อว่าตัวเราสามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ได้ สนใจเรื่องระบบการศึกษาเเละความสัมพันธ์ในครอบครัว พยายามฝึกการเล่าเรื่องให้สนุกเเบบฉบับของตัวเอง

illustrator
Avatar photo
ชินารินท์ แก้วประดับรัฐ

มีงานหลักคือฟังเพลง งานอดิเรกคือทำกราฟิกที่ไม่มีอะไรตายตัว บางครั้งพูดไม่รู้เรื่องต้องสื่อสารด้วยภาพและมีม

Related Posts

Related Posts