การต่อสู้บนเส้นทางสายใหม่ในพื้นที่การเมืองของ “นักกิจกรรม” เพื่อทำให้ประเทศไทยดีขึ้น

การต่อสู้บนเส้นทางสายใหม่ในพื้นที่การเมืองของ “นักกิจกรรม” เพื่อทำให้ประเทศไทยดีขึ้น

  • วิภาพรรณ วงษ์สว่าง ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต เชียงใหม่ เขต 3 พรรคไทยสร้างไทย, กรกนก คำตา ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคสามัญชน และเอกภพ สิทธิวรรธนะ ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คือ 3 นักกิจกรรมทางสังคม ที่ผันตัวมาสู่บทบาท “นักการเมือง” ในการเลือกตั้ง 2566 นี้ 
  • การเปลี่ยนบทบาทจากนักขับกิจกรรมทางสังคม สู่การเป็นนักการเมืองสู้ศึกเลือกตั้ง เต็มไปด้วยความท้าทายสำหรับนักการเมืองหน้าใหม่ทั้ง 3 คน แต่เป้าหมายที่จะเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองนี้ก็เป็นแรงกำลังที่ผลักพวกเขาให้ก้าวไปข้างหน้า และพยายามเอาชนะอุปสรรคที่ถาโถมเข้าสู่ตัว 
  • พื้นที่รัฐสภาเป็นพื้นที่ของการพูดคุยรับฟัง ดังนั้น การได้มีโอกาสเข้าไปทำงานในรัฐสภาก็จะเป็นปัจจัยที่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประเด็นที่พวกเขาขับเคลื่อนอยู่นอกสภาได้ แต่ทั้งนี้ ในบทบาทตัวแทนประชาชน พวกเขารู้ดีว่าการทำงานไม่สามารถดูแลหรือแก้ไขปัญหาเดียวได้ แต่จำเป็นต้องดูแลทุกข์สุขของประชาชนทุกคน 

ท่ามกลางศึกการหาเสียงของพรรคการเมืองพรรคต่าง ๆ ในช่วงโค้งสุดท้ายของฤดูกาลเลือกตั้ง 2566 ประชาชนได้รู้จักกับนักการเมืองหน้าใหม่มากมายที่ตัดสินใจเดินเข้าสู่สนามการเมืองในครั้งนี้ หลายคนเป็นทายาทตระกูลการเมืองประจำประเทศ ขณะที่หลายคนเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม พื้นที่การเมืองในการเลือกตั้งครั้งนี้ ยังได้ต้อนรับ “นักกิจกรรมทางสังคม” ที่ผันตัวมาเป็น “นักการเมือง” อีกหลายคนเช่นกัน 

Mappa พูดคุยกับ 3 นักกิจกรรมในพื้นที่การเมือง ผู้เปลี่ยนเส้นทางจากการต่อสู้ขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมนอกสภา สู่การสวมบทบาทนักการเมืองลงชิงชัยในสนามเลือกตั้ง และหวังจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับบ้านเมืองแห่งนี้ผ่านกลไกของรัฐ 

จุดเริ่มต้นงานการเมือง

“เราสนใจงานการเมืองมาตั้งแต่สมัยที่มันยังไม่ป๊อป เราสนใจว่าจะทำอย่างไรให้คนหันมารู้ว่าสิทธิของเราคืออะไร รู้ว่ากลไกประชาธิปไตยคืออะไร หรือรู้ว่าการเรียกร้องของประชาสังคมเรื่องเศรษฐกิจปากท้องกับการเลือกตั้งหรือการเมือง ทำไมทั้งหมดถึงสอดคล้องกัน เราอยากดึงเจเนอเรชันของเราให้เข้ามาในระบบนี้ ตอนนั้นเราอายุประมาณ 24 – 25 ปี เราอยู่ในภาคประชาสังคม ด้านสิทธิมนุษยชน ด้านการเมือง และเราเห็นว่าตอนนั้นเรื่องพวกนี้ยังไม่ใช่เรื่องที่เป็นกระแสเหมือนในปัจจุบัน มันยังเป็นเรื่องน่าเกลียดน่ากลัวสำหรับคนทั่วไป แม้กระทั่งคนรุ่นใหม่ในรุ่นนั้นด้วย เราก็เลยไปร่วมก่อตั้งพรรคการเมืองหนึ่งขึ้นมา เพราะรู้สึกว่าต้องมีช่องทางหนึ่งที่จะดึงคนรุ่นใหม่ให้สนใจการเมือง” วิภาพรรณ วงษ์สว่าง เริ่มต้นเล่า

วิภาพรรณคือผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต เชียงใหม่ เขต 3 จากพรรคไทยสร้างไทย หลายคนมักจะจดจำเธอได้จากบทบาทนักกิจกรรมแห่ง Thaiconsent เพจออนไลน์และกลุ่มนักกิจกรรมที่ทำงานรณรงค์เรื่องความรุนแรงทางเพศ แต่วันนี้วิภาพรรณผันตัวมาทำงานการเมือง เพราะหวังจะได้ใช้ประสบการณ์ความรู้ของตัวเองไปช่วยเหลือประชาชนผ่านกลไกของรัฐสภา เช่นเดียวกันกับ กรกนก คำตา ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ของพรรคสามัญชน ที่เปลี่ยนบทบาทนักกิจกรรมทางการเมือง ผู้ทำงานเรื่องเพศและความหลากหลายทางเพศ มาสู่สนามการเลือกตั้งในครั้งนี้

“จุดเชื่อมกันระหว่างงานการเมืองกับการเป็นนักกิจกรรมทางสังคมของเราไม่ได้แตกต่างกัน แต่เหมือนกับว่ามันอยู่ใกล้กันมาก จนไม่มีเส้นตัดเลย เพราะตอนเป็นนักกิจกรรม เรารู้สึกว่าพรรคสามัญชนเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการขับเคลื่อนของเรา พรรคการเมืองเป็นเหมือนขั้นตอนหนึ่งที่จะเข้าไปสู่ความยุติธรรม เหมือนเป็นขั้นต่อไปของขบวนการที่จะต้องก้าวเข้าไปสู่การมีที่นั่งในสภา” กรกนกชี้ 

ด้านเอกภพ สิทธิวรรธนะ ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรแบบบัญชีรายชื่อ แห่งพรรคก้าวไกล และเป็นผู้ประสานงานของกลุ่ม Peaceful Death ซึ่งทำงานพัฒนากลไกทางสังคมและวัฒนธรรมให้เอื้อต่อการเผชิญความตายอย่างสงบ ก็ระบุว่าการเข้ามาทำงานการเมืองของเขา ส่วนหนึ่งคือการเป็นตัวแทนจากเครือข่ายการทำงาน เพื่อเข้ามาขับเคลื่อนประเด็นที่ทำอยู่ในพื้นที่รัฐสภาให้มากที่สุด 

“ด้านหนึ่งเราเข้ามาเป็นตัวแทน เป็นกลุ่มผลประโยชน์จากเครือข่ายผู้ต้องการให้เราเปลี่ยนแปลง คือเรามาตรงนี้เพราะมีเครือข่ายสนับสนุน มีเพื่อน มีผู้ได้รับความทุกข์ อย่างของผมก็เป็นผู้ป่วย เป็นผู้ดูแล ดังนั้น ถ้าผมไม่ได้ทำงานเรื่องนี้ ผมคงไม่ได้เข้ามาทำงานทางการเมือง เราจึงต้องใช้โอกาสนี้พูดในประเด็นที่เราขับเคลื่อนอยู่ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ในขณะเดียวกัน มันพูดแต่เรื่องของเราอย่างเดียวไม่ได้” เอกภพกล่าว

ความท้าทายในพื้นที่ใหม่

“ผมยังถือว่าใหม่มากกับการเป็นนักการเมือง แต่ที่รู้สึกได้เลยก็คือมันมีความคาดหวังที่เพิ่มมากขึ้น ถ้าเราเป็นนักกิจกรรม เราก็บริการคนที่อยู่ตรงหน้า รวบรวมปัญหาหรือทำสิ่งเล็ก ๆ ที่เราพอจะทำได้ อย่างเรื่องการรณรงค์อยู่ดีตายดี เราพอจะมีอำนาจเปลี่ยนแปลงได้ เราก็ทำสิ่งนั้นให้มีความก้าวหน้า มีความคืบหน้า แต่พอมาเป็นนักการเมือง เราต้องมาอยู่ฝั่งที่ฟังว่าสังคมต้องการอะไร และมันไม่ได้มีอย่างเดียว ประเด็นปัญหาที่ก่อนหน้านี้เราทำอยู่ มันก็จะได้เห็นว่าในภาพรวมแล้วยังมีคนที่เข้าไม่ถึงอีกเยอะเลย มันมีสิ่งที่ต้องทำอีกเยอะ แล้วเราก็ต้องรับมือกับประเด็นปัญหาอื่น ๆ ด้วย” เอกภพเล่าถึงความท้าทายที่เขาเจอในสนามการเมือง

ขณะที่กรกนกก็ชี้ว่า การเข้ามาทำงานการเมืองจำเป็นต้องทำการบ้านเพิ่มขึ้นเยอะมาก เนื่องจากต้องเข้าใจเรื่องกลไกการทำงานที่มีรายละเอียดมากกว่าตอนทำงานเป็นนักกิจกรรม 

“ตอนเป็นนักกิจกรรม เราไม่ได้คิดถึงในรายละเอียดว่านโยบายอะไรที่เราจะทำ เพราะเราไม่ได้มีโจทย์ว่าเราเป็นรัฐ เรามีโจทย์ว่าเราต้องได้รับการคุ้มครองและการบริการจากรัฐ แล้วเราก็บอกเลยว่าต้องการความปลอดภัย เราต้องการสิทธิมนุษยชน สิทธิขั้นพื้นฐาน รัฐต้องไปคิดมาว่าจะจัดการให้เราอย่างไร แต่พอเป็นนักการเมือง มันจะเป็นอีกโจทย์หนึ่งว่าเราจะทำอย่างไรเมื่อเราเป็นผู้กำหนดนโยบาย ให้ได้ตามที่เราเองเคยเรียกร้อง คือเหมือนกับว่าตอนเป็นนักกิจกรรม เราเข้าใจเรื่องสิทธิทั้งหมดอยู่แล้ว แต่เราไม่ได้เข้าใจในตัวรายละเอียดว่าข้อเรียกร้องของฝั่งประชาชนอยู่ในจุดไหนแล้วในระบบรัฐสภา แล้วเราต้องนำเสนอนโยบายอะไร ซึ่งมันก็เป็นสิ่งที่เราต้องไปทำการบ้านเยอะเหมือนกัน” กรกนกระบุ 

ด้านวิภาพรรณก็ชี้ว่า “มันมีนักเคลื่อนไหวทางสังคมหลายแบบ แต่แบบที่เราเคยเป็น มันคือแบบที่พูดให้คนเห็นว่าปัญหามีอยู่จริงนะ แต่พอเป็นนักการเมือง มันต้องแก้ปัญหาได้ แปลว่าคุณต้องรู้ว่าปัญหานี้จะเอากลไกอะไรมาแก้ แล้วต้องมีทักษะในการเชื้อเชิญ เชิญชวน บังคับ หรือให้รางวัลหน่วยงานที่จะมาช่วย คือเราต้องรักษาหรือสร้างความสัมพันธ์กับหน่วยงานในท้องถิ่น นี่คือส่วนที่เราคิดว่าต่างกันมากที่สุดของการเป็นนักการเมืองกับนักเคลื่อนไหว เพราะมันใหญ่จนต้องใช้กลไกรัฐที่มีอยู่เดิมมาแก้ แล้วจะทำอย่างไรจึงจะร่วมมือกับกลไกรัฐที่มีอยู่เดิมได้ อันนี้เป็นประเด็นสำคัญ” 

“ความท้าทายคือเราต้องคิดเวลาเราจะพูดอะไร เพราะว่าการเป็นผู้แทนมันไม่ใช่ว่าตัวเราคิดอะไร แล้วเราก็เป็นแบบนั้น หรือเราจะเป็นแบบนั้นก็ได้ แต่เราต้องคำนึงว่าความคิดเห็นของเราจะกระทบกับคนที่เลือกเรามาอย่างไร แล้วพอเป็นนักการเมืองแบบแบ่งเขต เราจะต้องเห็นและให้ความสำคัญกับการสื่อสารปัญหาที่หลากหลาย และเป็นปัญหาที่ไม่ใช่แค่ประเด็นใดประเด็นหนึ่ง แต่ต้องสื่อสารและสนใจประเด็นที่เห็นในพื้นที่ และความท้าทายอีกเรื่องก็คือการสลัดภาพจำของสื่อที่เคนเห็นเราในฐานะประชาสังคม” วิภาพรรณกล่าว 

ปัญหาการเมืองในสายตา (อดีต) นักกิจกรรม

“จากการลงพื้นที่ เราไม่รู้ว่าหนุ่มสาวในโลกกายภาพไปอยู่ที่ไหน แต่เราเห็นผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งเยอะ หมายถึงเขาอยู่กับบ้าน ไม่มีรายได้ หรือบางคนก็มีลูกหลานที่ถูกเอามาให้เลี้ยง แล้วเศรษฐกิจในชุมชนก็แห้งผากไปหมดเลย เรารู้สึกว่าปัญหาข้อหนึ่งคือกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้พิการ หรือกลุ่มเปราะบางถูกทิ้งไว้ข้างหลังเยอะมาก” วิภาพรรณสะท้อน 

ไม่ใช่แค่ปัญหาเรื่องกลุ่มเปราะบางถูกทิ้งไว้เบื้องหลังเท่านั้น แต่การลงพื้นที่ของวิภาพรรณ ยังทำให้เธอได้พบเจอกับทุกข์ชาวบ้านในอีกหลายรูปแบบ ทั้งปัญหาเรื่องเอกสารที่ดินทำกิน ปัญหาคนกับป่า รวมถึงเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างที่สุดท้ายไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจในชุมชนยั่งยืน ไม่เพียงแต่ประเด็นปัญหาในพื้นที่ที่วิภาพรรณมองเห็น แต่ในพื้นที่การเมืองเองก็สะท้อนให้เห็น “การเปลี่ยนผ่านขั้วอำนาจ” ด้วยเช่นกัน ซึ่งวิภาพรรณมองว่าการปะทะกันของเจเนอเรชันจะเข้มข้นกว่ารุ่นที่ผ่านมา เนื่องจากคนรุ่นใหม่กลายเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกตั้ง

สำหรับกรกนกแล้ว เธอยอมรับว่าวงการการเมืองในสายตาของเธอเปลี่ยนไป หลังจากก้าวเท้าเข้ามายืนอยู่ในพื้นที่ พร้อมเล่าปัญหาการถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐต่อพรรคสามัญชน เนื่องจากเนื้อหานโยบายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของสังคม ที่กรกนกบอกว่า 

“สิ่งที่เราเจอคือตำรวจมาในงาน ก่อนที่เราจะจัดงานปราศรัย มันเป็นบรรยากาศเดิมกับตอนที่เราเป็นนักเคลื่อนไหวเลย แล้วก่อนจัดงานหรือระหว่างจัดกิจกรรมของพรรค ก็จะมีตำรวจมาจับตาดู หรือตอนติดป้ายหาเสียง เราก็โดนเหมือนเดิม ดังนั้น พอเราเป็นนักการเมือง แต่ข้อเรียกร้องทางการเมืองคล้ายหรือเหมือนกับขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง ก็จะโดนปฏิบัติจากรัฐแบบเดียวกัน” 

“แน่นอนว่ามองการเมืองต่างไป เพราะในแต่ละวงการก็มีรายละเอียดของมัน ตอนที่เราเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือเป็นนักปกป้องสิทธิ ก็มีวิธีการทำงานเป็นอีกแบบหนึ่ง แล้วตอนที่มาลงสมัครเลือกตั้ง เพื่อจะเข้าสู่สภา ก็มีวิธีการทำงานอีกแบบหนึ่ง แต่ในท้ายที่สุด เราไม่ได้มองว่าการเมืองเป็นสิ่งที่แยกออกไปจากการเคลื่อนไหวทางสังคม หรือว่าชีวิตประจำวัน ดังนั้น คนที่เป็นนักการเมืองก็เป็นมนุษย์คนเดิม ที่เราเคยรู้จักกัน แล้วก็มองเห็นจุดต่าง ๆ ที่เป็นบริบทในชีวิตเขา” กรกนกชี้ 

การเข้าสภากับการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม

เอกภพเล่าให้ฟังว่าการเข้าสู่แวดวงการเมืองจะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเด็นต่าง ๆ ที่นักกิจกรรมขับเคลื่อนได้อย่างแน่นอน โดยสิ่งสำคัญคือการเปิดพื้นที่ให้คนทำงานได้รับฟังความคิดเห็นและประเด็นปัญหาจากประชาชนหลายกลุ่ม เช่นเดียวกับเป็นการสร้างการรวมกลุ่มให้กับคนทำงาน เพื่อเสนอประเด็นเชิงนโยบายให้กับพรรคการเมืองต่าง ๆ 

“ในช่วงเลือกตั้ง มันคือช่วงของการรับฟังความคิดเห็น ได้มองเห็นช่องว่างการทำงาน หรือปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ อย่างผมทำงานในเครือข่ายคนทำงานด้านการอยู่ดีตายดี อีกฝั่งก็เป็นเรื่องวงการสุขภาพจิต หรือด้านอื่น ๆ ที่ผมเกี่ยวข้อง เช่นวงการนักวาด เราก็ได้รู้ว่ามันมีปัญหาอะไรบ้าง สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงเลยก็คือการรับฟังความทุกข์ของพวกเขา ซึ่งมันก็นำไปสู่การรวบรวมปัญหาอุปสรรคอย่างเป็นระบบในช่วงเลือกตั้ง แล้วพรรคก็พัฒนาสิ่งเหล่านี้ให้เป็นนโยบาย ซึ่งมันสร้างความหวังว่าทุกอย่างจะเป็นระบบ พรรคปรับนโยบาย แล้วนโยบายนี้ถูกสื่อสารไปยังกลุ่มที่ทำงาน มันก็ทำให้มีความหวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลง” 

“หลังจากเลือกตั้ง การทำงานในรัฐสภาจะช่วยประเด็นทางสังคมได้อย่างไรบ้าง อันนี้ผมยังไม่มีประสบการณ์ แต่ผมคิดว่าพอเราได้ทำงานในรัฐสภาแล้ว อันหนึ่งที่เราไม่ค่อยได้พูดถึงคือว่า พื้นที่รัฐสภาเป็นพื้นที่ของการพูดคุยรับฟัง มันไม่ได้มีแต่การอภิปรายในที่ประชุมสภาอย่างเดียว แต่สภาสามารถเชิญคนที่เกี่ยวข้องกับปัญหานั้น ๆ มาคุยได้ ซึ่งก็จะเป็นวงประชุมที่น่าจะเข้มข้นมาก เพราะมันอยู่ใกล้กับกลไกการเปลี่ยนแปลงปัญหา ที่ผ่านมาแม้จะมีวงแบบนี้อยู่บ้าง แต่มันก็ห่างจากอำนาจ เวลาจัดเสวนา แต่ไม่มีนักการเมืองเข้าไปฟัง ข้อเสนอหรือปัญหาก็จะไม่ได้ถูกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ยิน ก็อาจจะจางหายไปหรือกลายเป็นรายงานชิ้นหนึ่ง” เอกภพอธิบาย

การเมืองไม่เคยเป็นเรื่องไกลตัว

“แค่รู้สึกหิวก็เป็นการเมืองแล้ว” กรกนกบอกกับเรา “ที่เรากำลังรู้สึกหิวหรือที่คนอื่นกำลังรู้สึกหิว มันก็เป็นการเมืองแล้ว ว่าเราจะกินอะไร การที่เราสามารถกำหนดได้ว่าเราจะกินอะไร เราเลือกได้ เราก็ไปหามากินได้ แต่กับอีกคนที่เขาเลือกไม่ได้ เพราะเขาไม่มีทางเลือกว่าจะกินอะไร มันก็เป็นการเมืองแล้ว ดังนั้น การเมืองไม่ได้หนีไปไกลจากเราเลย แค่เราหายใจก็เป็นการเมืองแล้ว เหมือนเราหายใจแล้วมีฝุ่น เราก็ต้องมาช่วยกันคิดว่าเราจะทำยังไงให้หายใจแล้วไม่มีฝุ่น อันนี้ก็เป็นอีกผลลัพธ์ของการเมืองแล้ว เราไม่สามารถมีชีวิตอยู่แยกขาดจากการเมืองได้เลยแม้แต่วินาทีเดียว ดังนั้น อย่ากลัวการเมือง เรารณรงค์เสมอว่าไม่ต้องกลัวที่จะสัมผัสกับการเมือง ให้เรารู้สึกถึงมันเหมือนกับที่เรารู้สึกถึงอากาศ เหมือนมันเป็นเรื่องธรรมชาติ” 

สอดคล้องกับเอกภพที่ระบุว่าการเมืองเป็นสิ่งใกล้ตัวทุกคน และการสื่อสารกับประชาชนก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างการตระหนักรู้เรื่องการเมืองให้กับคน โดยเฉพาะการสื่อสารสิ่งที่เป็นรูปธรรมที่คนให้ความสนใจอย่างเรื่องความทุกข์ และเชื่อมโยงกับกลไกหรือนโยบายของรัฐที่สามารถเข้ามาช่วยจัดการความทุกข์ให้กับประชาชนกลุ่มนั้น ๆ ได้

“ถ้าเขาเป็นบุคลากรสุขภาพ สิ่งที่ใกล้ตัวคือเขาได้ค่าแรงน้อย ไม่สมดุลกับแรงงานที่เขาลงไป ไม่สมดุลกับความเชี่ยวชาญหรือความสามารถของเขา อันนี้ก็เป็นเพราะมันมีนโยบายมากดค่าแรงของเขา ทำให้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น หรือถ้าเขาเป็นผู้ใช้รถใช้ถนน แล้วสงสัยว่าทำไมไม่มีรถโดยสารอยู่หน้าบ้าน ทำไมเขาต้องซื้อมอเตอร์ไซค์ อันนี้ก็เป็นเพราะว่าผู้บริหารนโยบายไม่ได้สนับสนุนให้เรามีรถเมล์ใช้ แต่เขาเอาเงินไปไหนล่ะ หรือเรื่องค่าไฟก็เหมือนกัน มันก็ชัดเจนและเชื่อมโยงให้เราเข้าใจว่าการเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัว” เอกภพกล่าว 

เมื่อถามถึงอนาคตการเมืองไทยว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร เมื่อมีคนจากหลากหลายพื้นฐานทางอาชีพเดินเข้าสู่สนามเลือกตั้งและวงการการเมือง วิภาพรรณมองว่าในอีก 4 ปีข้างหน้าอาจจะมองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนนัก แต่สิ่งหนึ่งที่เธอคาดหวังคือความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนจะไม่ลดน้อยถอยลง และกลับไปเป็นประชาชนที่หมดหวังในการต่อสู้เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศอีก 

“ข้อดีคือเราจะเห็นการเมืองที่มีตัวเลือกมากกว่าในอดีต นโยบายที่ตอบสนองกับประชาชนจะถูกให้ความสนใจมากขึ้น การเมืองแบบเขตจะถูกคาดหวังจากประชาชนมากขึ้น เหมือนจากเดิมเราไม่ได้เปรียบเทียบว่าคนนี้เป็นใครมาจากไหน ได้เป็น ส.ส. แล้วกลับมาเดินในพื้นที่หรือไม่ แต่ตอนนี้คนคาดหวังการแข่งขันจากการเมืองมากขึ้น ตอนนี้เราเห็นบรรยากาศของประชาชนที่ให้ความคาดหวังต่อนักการเมืองเข้มข้นและมีการเปรียบเทียบกันมากขึ้น แต่ทั้งนี้เขาก็ระวังว่ามีความหวังและจะผิดหวังหรือไม่ ซึ่งเราก็ภาวนาให้มันไม่กลับไปสู่จุดที่คนบอกว่าเบื่อการเมือง หรือการเมืองวนลูป เรายังหวังว่ามันจะดีขึ้นเรื่อย ๆ เพราะถ้าทุกคนกลับไปเบื่อการเมือง มันก็จะเป็นเรื่องเดิม ๆ ที่แค่เปลี่ยนรุ่นเท่านั้นเอง” วิภาพรรณกล่าวปิดท้าย

Writer
Avatar photo
ณัฐฐฐิติ คำมูล

วัยรุ่นปวดหลังที่ใฝ่ฝันถึงสังคมที่ทุกคนเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง

illustrator
Avatar photo
ธีรภัทร์ เศาธยะนันท์

ชอบกินลาเต้เย็น

Related Posts

Related Posts