ไม่ต้องเข้าใจกันทุกเรื่องก็ได้ ถึงที่สุดเราก็เป็นแค่มนุษย์ : เข้าใจความสัมพันธ์หลากหลายผ่านหนังสือ 5 เล่ม
ไม่ต้องเข้าใจกันทุกเรื่องก็ได้ ถึงที่สุดเราก็เป็นแค่มนุษย์ : เข้าใจความสัมพันธ์หลากหลายผ่านหนังสือ 5 เล่ม
- ไม่เป็นไรเลย หากเราจะไม่เข้าใจ มองข้าม หรือมองเรื่องความสัมพันธ์ผิดไป
- เพื่อเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ หนึ่งในเครื่องมือสำคัญ คือ การสวมบทเป็นผู้เขียนและตัวละครในหนังสือ
- mappa ชวนอ่านหนังสือ 5 เล่ม 5 ความสัมพันธ์ที่บอกว่า เมื่อหนังสือเปิดพื้นที่และปล่อยเวลาเต็มที่ให้เราคิดและรู้สึกกับความสัมพันธ์ได้อย่างอิสระ การทำความเข้าใจก็คงไม่ยากเกินไป
ความสัมพันธ์เป็นเรื่องธรรมดาที่เข้าใจยาก แต่เข้าใจได้
และไม่เป็นไรเลย หากเรายังไม่เข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ พ่อแม่พยายามเข้าใจลูกแต่ล้มเหลว สามีภรรยาผิดใจกัน กระทั่งตัวเอง หลายครั้งเราก็ยังไม่เข้าใจตัวเองเลย
เพราะไม่ว่าอย่างไร มันย่อมมีวันที่เราจะตกเข้าไปอยู่ในห้วงความสัมพันธ์ของใครสักคนหรือใครหลายคน และเครื่องมือที่จะช่วยเปิดทางเพื่อเข้าใจความสัมพันธ์อันหลากหลายได้ คือการเข้าไปรู้สึกหรือคิดอย่างผู้เขียน หรือจินตนาการว่าตัวเองเป็นตัวละครนั้นๆ ในหนังสือ
ถึงจะไม่เข้าใจทั้งหมด แต่ผู้อ่านแบบเราๆ ก็จะรู้ว่า ความสัมพันธ์ไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นเรื่องใกล้ตัวที่หลายครั้งเราอาจมองข้ามไปหรือมองมันผิดไป
“การอ่านทำให้เรามีอิสรภาพ มีอำนาจ เหมือนการเดินทางที่เราจะไปเร็ว ไปช้า หรือหยุดนิ่งเพื่อคิดกับมันนานแค่ไหนก็ได้” รศ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้สอนวรรณคดีเปรียบเทียบเอาไว้
และเมื่อหนังสือเปิดพื้นที่และปล่อยเวลาเต็มที่ให้เราคิดและรู้สึกกับความสัมพันธ์ได้อย่างอิสระ การทำความเข้าใจก็คงไม่ยากเกินไป
mappa ชวนอ่านหนังสือ 5 เล่ม 5 ความสัมพันธ์ที่บอกว่า ไม่ต้องเข้าใจกันทุกเรื่องก็ได้ ถึงที่สุดเราก็เป็นแค่มนุษย์คนหนึ่ง
การเดินทางของผีเสื้อหลากสี
เมริษา ยอดมณฑป เขียน, สำนักพิมพ์แมงมุมบุ๊ก
‘การเดินทางของผีเสื้อหลากสี’ หนังสือที่เป็นบันทึกร้อยเรียงเรื่องราวของ ‘ลิซ่า’ นักจิตวิทยาฝึกหัด ผ่าน 12 เคสที่มีความท้าทายต่างกันไป
‘เด็กหญิงสองบ้าน’ บทหนึ่งจากหนังสือว่าด้วยเรื่องราวของเด็กหญิง ’เจ็มส์’ อายุ 11 ปี ที่ต้องตัดสินใจว่าเธอจะย้ายไปอยู่กับพ่อหรือแม่หลังจากทั้งคู่หย่าร้างกัน ซึ่งการตัดสินใจนี้เป็นเรื่องลำบากใจมากสำหรับเธอ
เด็กสาวกล่าวโทษตัวเองซ้ำไปซ้ำมา เธอคิดว่าหากเธอสามารถตัดสินใจได้ พ่อแม่คงไม่ต้องทะเลาะกันแบบนี้
“แล้วหนูจะถูกหารครึ่งไหม”
คำถามถูกเอ่ยขึ้น หลังจากที่แม่บอกกับเจ็มส์ว่า ต้องขายบ้านหลังเก่าที่เจ็มส์ผูกพันและพ่อแม่ต้องแบ่งสมบัติกันทุกอย่างแบบหารครึ่ง เป็นคำถามที่สะท้อนให้เห็นถึงความเจ็บปวดที่เธอรู้สึกราวกับว่าตัวเองเป็นสิ่งของ
เมื่อความสัมพันธ์มาถึงทางแยก ทั้งพ่อกับแม่ต่างยื้อแย่งและกล่าวโทษกันไปมาต่อหน้าเด็กหญิงเจ็มส์ การคาดคั้นหาคำตอบ เร่งให้ลูกต้องเลือก การพูดไม่ดีใส่กันของพ่อและแม่ถูกสะสมไว้ในใจลูกจนหนักอึ้ง ทั้งยังไม่เคยถูกถามไถ่จากพ่อแม่สักครั้งว่าเธอกำลังรู้สึกอย่างไร
“พ่อรักหนูไหม”
“แม่รักหนูไหม”
คือคำถามที่เจ็มส์เฝ้าถามพ่อกับแม่ การที่ลูกเคลือบแคลงใจในการได้รับความรัก ทำให้เห็นว่าลูกบอบช้ำแค่ไหนจากการต้องตัดสินใจเลือกที่ทั้งกดดันและสร้างความสับสนจนมองไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง
การแยกทางกันของพ่อกับแม่ อาจไม่ใช่ความเจ็บปวดสูงสุดของลูก การต้องอยู่ตรงกลางสนามอารมณ์ของพ่อกับแม่ที่ทะเลาะกันไปมาเป็นบ้าเป็นหลังโดยลืมไปว่าในสนามนั้นยังมีลูกยืนอยู่ต่างหากที่สร้างบาดแผลลึกในใจ
แม้ความตั้งใจของพ่อกับแม่อาจเป็นการได้อยู่กับลูกและเต็มไปด้วยความหวังดีของแต่ละฝ่าย แต่ความตั้งใจนั้นยังคงต้องถูกหล่อเลี้ยงด้วยความรักและการรับฟังลูกอยู่เสมอ หากความรักในฐานะของคนรักถูกแปรเป็นความชังแต่ในฐานะของการเป็นพ่อแม่ การตำหนิและเอาชนะกันไปมาอาจไม่ใช่ทางออก
เพราะลูกรับรู้และรู้สึกได้เสมอแม้ไม่พูดออกมา
Blue ท้องฟ้ามีน้ำตาเป็นส่วนมาก
คิม เสาร์ เขียน, สำนักพิมพ์ PS Publishing
“แม่มองเห็นแต่เงิน
แม่เอาแต่ทำงาน กิจกรรมสมัย ม.ปลายเป็นร้อยที่หนูทำ แม่ไปดูนับครั้งได้
แม่บอกอยากสร้างครอบครัวอบอุ่น แต่ก็มีแค่ความพยายามครึ่งๆ กลางๆ
แม่ถามว่าหนูอยากได้อะไร แต่แม่ไม่เคยฟังว่าหนูอยากได้อะไร
แม่เอาแต่เที่ยว เอาแต่เล่นเกมในมือถือ
แล้วกล้าพูดว่าห่วงหนู แล้วกล้าพูดว่าทำเพื่อหนู
แม่ทำเวลาหล่นหายไป
และแม่จะไม่มีวันได้หนูคืน”
ความตอนหนึ่งอธิบายความสัมพันธ์ของเธอกับแม่ได้ครอบคลุมที่สุดในหนังสือ ‘Blue ท้องฟ้ามีน้ำตาเป็นส่วนมาก’
นวนิยายขนาดสั้น เล่าถึงเรื่องราวของหญิงสาววัย 19 ปีหรือ ‘แคท’ ที่จิตใจบอบช้ำจากหลายเรื่องที่ผ่านเข้ามาในชีวิตโดยส่วนมากจะเป็นเรื่องราวความรักที่เธอเผชิญจากคนแปลกหน้าเพราะต้องการที่พึ่งทางกายเพื่อผ่านพ้นความเจ็บปวดไปแต่ละวัน
และหนึ่งในนั้นคือเรื่องความสัมพันธ์ของเธอกับแม่ แม่ที่หลายคนฝันหา แม่ที่มีเวลาเพื่อลูก แม่ที่ฟังความต้องการของลูกจริงๆ และเป็นแม่ที่เธอไม่เคยได้สัมผัสในวันที่ต้องการ
“แม่คิดว่าหนูไม่โอเค และใช่ หนูไม่โอเค
หนูไม่โอเค เพราะแม่ไม่เคยเชื่อในตัวหนู
หลายครั้งหนูพยายามอธิบายแต่คำพูดของคนอื่นมักมีน้ำหนักมากกว่า
แม่พยายามถามเพื่อนและป้าๆ ว่าทำอย่างไรถึงจะรักษาหนูได้ ทำอย่างไรถึงจะประกอบชิ้นส่วนความสัมพันธ์แตกยับของเรา
“คำตอบอยู่ตรงนี้ ที่ตัวหนู กับหนู”
ความต้องการการรับฟังของเธอเกิดขึ้นหลายครั้งแต่ไม่ได้รับการตอบสนอง ท้ายที่สุดเกิดเป็นความหม่นหมองกลางใจของเธอเรื่อยมาจนยากที่จะซ่อมแซมและกลายเป็นต้นเหตุความรักที่ปวดร้าวและอีกหลายเรื่องราวเจ็บปวดที่เธอต้องเจอ
หนังสือเล่มนี้จะพาผู้อ่านเข้าไปผจญภัยในโลกแห่งความหม่นหมองที่เธอต้องเจอ โดยการเล่าจะมาในรูปแบบที่ไม่ได้ต่อเนื่องกันเป็นเส้นยาว ปล่อยพื้นที่ให้ผู้อ่านปะติดปะต่อจิ๊กซอว์เรื่องราวเหล่านั้นเอง มีทั้งคำ วลี ประโยครวมถึงความรู้สึกนึกคิดที่ไม่อาจพูดแต่ถูกบันทึกเป็นตัวหนังสือให้ผู้อ่านได้ลองทำความเข้าใจตัวตนและเรื่องราวที่เธอต้องเผชิญ
หากใครบังเอิญมีความหลังความเศร้าคล้ายๆ กัน ยินดีด้วยคุณอาจต้องเจ็บปวดไปพร้อมกับเธอ แต่จะเป็นความเจ็บปวดที่งดงามและสอนอะไรบ้างหรือเปล่านั้น…
…ไม่ต้องสอนหรอกแค่เจ็บปวดไปด้วยกันก็พอ
คิดถึงทุกปี
บินหลา สันกาลาคีรี เขียน, สำนักพิมพ์ KOOB
“ทั้งคู่แต่งงานกันมาสามสิบห้าปี ผมไม่เคยได้ยินท่านมีปากเสียงกันแม้แต่ครั้งเดียว”
เปิดหน้าแรกๆ ของเล่มนี้ จะเจอความรักของสามีภรรยาวัยบั้นปลายจากคำบอกเล่าของลูกชาย ที่ฝ่ายแรกกำลังจากไปด้วยหัวใจยังอบอุ่น
พ่อบีบมือแม่ พูดแผ่ว
“ช่วงนี้อากาศเปลี่ยน ระวังเป็นหวัด”
ความห่วงใยไม่ควรพักอยู่ในใจ คำพูดห้วงสุดท้ายของชีวิตมีหน้าที่ต้องแสดงออกไปเพื่อการจากไปอย่างไร้อาวรณ์
ชีวิตคู่กว่าสามทศวรรษก่อนหน้านั้น ลูกชายบอกว่าพ่อและแม่คือแบบอย่าง ทุกครั้งที่มีงานแต่งในละแวกบ้าน ทั้งคู่จะเป็นคนปูที่นอนให้เจ้าบ่าวเจ้าสาว เพื่อคู่สมรสจะได้มีรักยืนนานเช่นเดียวกัน
แต่เพราะโปสการ์ดใบนั้นที่ค้นเจอ ความเข้าใจที่เคยมีมา เหมือนโดนถอนไม่เหลือโคน
ข้อความบรรทัดแรกเป็นชื่อพ่อ บรรทัดถัดมาเขียนว่า ‘คิดถึงทุกปี’ พร้อมกับลงชื่อที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน
ต่อด้วยประโยคนี้ของแม่
“ลูกไม่เข้าใจเพราะลูกกำลังจะแต่งงานกับคนที่ลูกรัก”
หน้าหลุมศพของพ่อ ชื่อแม่ถูกจารึกไว้ว่าในฐานะ ‘คนที่คุณดูแล’
นั่นเริ่มทำให้ลูกชายเข้าใจว่า คนไม่ทะเลาะกัน ไม่ได้แปลว่ารักกันเสมอไป
นอกจากความรัก มีเหตุผลเยอะแยะไปที่ทำให้คนเราไม่ทะเลาะกัน ความเห็นใจ เกรงใจ นับถือ หรืออยากจะถนอมใจ
และสำหรับบางคน ความทะนุถนอม ทดแทนความรักได้จริง
ไร้ซึ่งประโยคฟาดฟัน กราดเกรี้ยว บินหลาค่อยๆ เฉือนหัวใจคนอ่านให้แหว่งวิ่นไปเรื่อยๆ ด้วยดอกตาเบบูญ่ากลีบคมกริบ
แต่ไม่กี่หน้าถัดมา ก็นักเขียนอีกนั่นแหละที่กอบเอาหัวใจกลับคืนรูปมา ให้มองความรักอย่างจริงใจและตรงไปตรงมาว่า การรักษาน้ำใจคนที่รักกับการรักษาระยะห่างกับคนที่ไม่ได้รัก… มันไม่ง่ายเลยจริงๆ
อาจมีเพียงหัวใจที่ผ่านฤดูกาลมามาก เข้าใจสถานการณ์นี้
เข้าใจแบบเข้าใจ ไม่จำเป็นต้องตรงกับหน้ากระดาษของชีวิต
“การที่เราทะนุถนอมคนที่เรารักมันเป็นเรื่องปกติ
แต่การถนอมหัวใจคนที่เราไม่ได้รัก ใครจะทำได้สักกี่คน”
ใครยังไม่ค่อยเข้าใจ การกลับมาอ่านเล่มนี้ในปีถัดๆ ไป น่าจะคลี่คลายขึ้น
อ่านทุกปี เพื่อคิดถึงทุกปี
ปีแสง
ดุจดาว วัฒนปกรณ์ เขียน, สำนักพิมพ์ a book Publishing
ฉันรักแม่ไหม แล้วแม่รักฉันไหม?
คำถามจาก ดุจดาว วัฒนปกรณ์ ผู้เขียนหนังสือ ‘ปีแสง’ ในฐานะลูกสาวถึงแม่ ผู้หญิงสวย สตรอง เก่ง สนุกสนาน แต่แม่ลูกคู่นี้เข้ากันไม่ได้เลย
แม่คือมนุษย์ฟังก์ชัน แต่ดุจดาวจัดตัวเองอยู่ในสายอีโมชัน แม่ใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ ขณะที่ลูกสาวทำทุกอย่างด้วยความเชื่องช้า
มากกว่านั้น ดุจดาวยังอธิบายลักษณะของแม่เพิ่มเติมด้วยความน้อยใจว่า แม่ไม่เคยมาดูงานแสดงโรงเรียน ไม่เคารพพื้นที่ส่วนตัว แม่มักขึ้นเสียงแบบไม่มีเหตุผล ไม่ให้ร้องไห้ในงานศพพ่อ และไม่เคยสนใจความรู้สึกของเธอ
แม่ไม่ได้เข้มงวดขนาดนั้น… บางครั้งแม่ให้อิสระจนหลายคนอิจฉา แต่สำหรับดุจดาว เธอไม่ต้องการสิ่งของชิ้นใหญ่ ขอแค่แม่หันมามองสักครั้งก็เท่านั้นเอง
ใส่กระโปรงสั้น เลือกไปโรงเรียนเอง และเขียนกลอนให้แม่
“รู้ทั้งรู้อยู่ว่าแม่รัก และประจักษ์ว่าแม่รักพี่มากกว่า” วรรคหนึ่งจากบทกลอนที่ลูกสาวคนเล็กเขียนถึงแม่ เหตุผลเดียวคืออยากให้แม่ ‘รู้สึก’
และแม่ก็รู้สึกจริงๆ แม่บอกว่าเสียใจหลังอ่านการ์ดนั้น… หลังจากเหตุการณ์นั้นก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่ลูกสาวน้อยใจแม่และคิดว่าแม่ไม่เคยเข้าใจเธอเลย
นี่คือส่วนหนึ่งของความเว้าแหว่งในชีวิตของดุจดาว วัฒนปกรณ์ในบทบาทลูกสาวคนเล็กของบ้าน และหนังสือ ‘ปีแสง’ ก็ถูกเขียนแด่ความผิดพลาดและความพังทลายระหว่างการเจริญเติบโตผ่านกาลเวลาของผู้เขียน
เรื่อง ‘แม่’ เป็นเรื่องที่ลูกสาวคนนี้เขียนยากที่สุด เพราะเป็นจุดเว้าแหว่งและรอยร้าวที่ฝังลึกยาวนาน ในที่สุดเธอพบแล้วว่า “ไม่จำเป็นที่ลูกกับแม่ต้องเข้ากันได้ ถึงที่สุดเราสองคนก็เป็นแค่มนุษย์”
คำถามต่อมา คือ แม่ลูกที่เข้ากันไม่ได้จะอยู่ด้วยกันอย่างไร ทางเลือกหนึ่งคือ การให้แม่เป็นเพื่อน เพื่อนที่ไม่คาดหวังต่อกันและกัน
“ฉันย่อมไม่คาดหวังอะไรในตัวเพื่อน เช่นที่ฉันคาดหวังในตัวแม่”
นอกจากนี้ หนังสือเล่มนี้จะพานักอ่านเดินทะลุปีแสงการเรียนรู้ของดุจดาว วัฒนปกรณ์ แล้วปีแสงยังทำหน้าที่บอกว่า เราทุกคนต่างมีความเว้าแหว่งและความผิดพลาดที่ต้องโอบกอดตัวเองกันทั้งนั้น
“ฉันเคยอธิษฐานให้ตัวเองได้เจอคนรักที่สามารถโอบกอดฉันได้ในวันที่สวยที่สุดและน่าเกลียดที่สุด และถ้าวันนี้ฉันยังไม่สามารถโอบกอดชิ้นส่วนที่ผุพังของตัวเองได้ คนอื่นจะรู้วิธีโอบกอดมันได้อย่างไร และถ้าวันนี้ฉันยังยอมรับส่วนเว้าแหว่งของตัวเองไม่ได้ ฉันจะสามารถยอมรับความเว้าแหว่งของใครได้”
และเรื่องแม่คือสิ่งที่ดุจดาวต้องโอบกอดและยอมรับเพื่อเติบโตผ่านกาลเวลา…
กวีนิพนธ์แห่งรักยี่สิบบท และบทเพลงความสิ้นหวังหนึ่งบท
ปาโบล เนรูด้า เขียน, สำนักพิมพ์ผีเสื้อ
ถ้อยคำของฉันจะบรรจงแต่งแต้มด้วยรักจากเธอ
เธอครอบครองทุกสิ่ง ครอบครองทุกอย่าง
ส่วนหนึ่งของบทกวี ‘กวีนิพนธ์แห่งรักยี่สิบบทและบทเพลงความสิ้นหวังหนึ่งบท’ จากปลายปากกา ‘ปาโบล เนรูด้า’ นักกวีชาวชิลี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ปี 1971 แปลเป็นไทยโดยสำนักพิมพ์ผีเสื้อ
เนรูด้าถือเป็นนักกวีคนสำคัญของชิลีและในโลกละตินอเมริกา ผลงานของเขามักพูดถึงธรรมชาติ การเดินทาง และความรัก จนถึงยุคหลังๆ ของอาชีพที่เนรูด้าเปลี่ยนไปพูดเรื่องสงคราม ผู้ลี้ภัย ความทุกข์ยากของประชาชน และสันติสุข
กวีนิพนธ์แห่งรักยี่สิบบทและบทเพลงความสิ้นหวังหนึ่งบท (Twenty Love Poems and a Song of Despair) เป็นหนึ่งในผลงานของเนรูด้าที่ได้รับความนิยมตลอดกาล ถ่ายทอดเรื่อราวความสัมพันธ์ของชายหญิงคู่หนึ่ง ซึ่งเนรูด้าเขียนงานชิ้นนี้ในช่วงวัย 20 ปี ที่เขารับจ้างเขียนจดหมายรักให้กับเพื่อน
ฉันจดจำเธอเช่นเธอเป็นเมื่อฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านพ้น
เธอคือหมวกบาเร่ต์สีเทาและหัวใจอันแสนสงบ
บทกวีช่วงแรกๆ พาเราไปรับรู้ถึงความสัมพันธ์ที่กำลังก่อตัวขึ้น ร้อนแรงและเต็มเปี่ยมด้วยความเยาว์วัยของหนุ่มสาว ‘เธอ’ เปรียบเสมือนฤดูร้อนของเขา ดวงตาและอ้อมกอดของเธออบอุ่นยิ่งกว่าเครื่องทำความร้อนใดๆ บนโลกนี้ เป็นห้วงเวลาแห่งรักที่หลายๆ คนอาจเคยประสบพบเจอ
เธอจากไปในยามสายัณห์ เสมอมา เสมอมา
ไปยังที่ซึ่งแสงอาทิตย์อัสดงแล่นเลือนลบหมู่รูปจำหลัก
เวลาทำให้ความรักที่ร้อนแรงค่อยๆ เย็นลง จากความตื่นเต้นกลายเป็นความปกติ และถึงหนึ่งที่ความรักของคนสองคนไม่เหมือนกันแล้ว ‘การจากลา’ อาจเป็นคำตอบหนึ่ง
‘ความสัมพันธ์’ ทำให้เรารู้ว่าช่วงเวลาที่ความรักก่อตัวอาจไม่ยาวนาน เท่ากับช่วงเวลาที่เราต้องใช้เพื่อลืมความรักนี้
ฉันสิ้นรักเธอแล้ว ก็จริงอยู่ แต่บางคราฉันอาจยังรักเธออยู่
แสนสั้นเหลือเกินหนอความรัก
และยาวนานยิ่งนักการลืมเลือน
Writer
mappa
illustrator
กรกนก สุเทศ
เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง