“ถึงจะอยากมีครอบครัว แต่ก็ไม่เคยคิดที่จะมีลูกเลย” ในสภาวะอัตราเด็กเกิดต่ำ นโยบายแบบใดที่จะทำให้คนไทยอยากมีลูก?

“ถึงจะอยากมีครอบครัว แต่ก็ไม่เคยคิดที่จะมีลูกเลย” ในสภาวะอัตราเด็กเกิดต่ำ นโยบายแบบใดที่จะทำให้คนไทยอยากมีลูก?

“ถึงจะอยากมีครอบครัว แต่ก็ไม่เคยคิดที่จะมีลูกเลย”

“ใครจะอยากมีลูกในประเทศแบบนี้”

“ก่อนจะเก็บเงินเลี้ยงลูก ขอเก็บเงินเลี้ยงตัวเองให้ได้ก่อน”

นี่เป็นเพียงความเห็นบางส่วนจากคนไทยที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนมีบุตรตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา จนกระทั่งถึงปัญหา ‘วิกฤตอัตราการเกิดถดถอย’ ในปัจจุบัน

อันที่จริงแล้ว วิกฤตเด็กเกิดต่ำไม่ได้เป็นปัญหาที่เกิดจากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่ทั้งหมดทั้งมวลยังเกี่ยวข้องไปถึงหลายปัจจัยที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฝังรากหยั่งลึกในสังคมไทย ซึ่งอาจแบ่งแยกออกมาได้เป็น 3 ปัจจัยใหญ่ๆ ได้แก่ ความกังวลในเรื่องของระบบการศึกษา ฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจของคนยุคใหม่ที่ไม่เอื้อต่อการมีบุตร มากไปถึงโครงสร้างสังคมและพื้นที่สาธารณะที่ไร้การอำนวยความสะดวกให้กับการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน

ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ควรแก้ไขในเชิงมหภาคที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายร่วมกัน หรือถ้าให้เห็นภาพง่ายที่สุด ก็อาจเริ่มต้นได้ผ่านการออกแบบ ‘นโยบาย’ จากภาครัฐ

วันนี้ Mappa ชวนผู้อ่านทุกท่านร่วมสำรวจปัญหาที่เกิดขึ้น และนโยบายจากต่างประเทศ ที่อาจเป็นแนวทางให้เราพอรู้ว่า ที่จริงแล้วการวางแผนมีลูกอาจไม่ใช่เรื่องยากขนาดนั้น หากสภาพสังคมเอื้ออำนวย และอาจเป็นอะไรที่ฟังดูแล้วยั่งยืนกว่าการเชิญชวนเพียงวาจาว่า “เรามามีลูกกันเถอะ”

ปัญหา ‘อัตราการเกิดลดลง’ ของไทย วิกฤตขนาดไหน?

ผลสำรวจของนิด้าโพล (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์) เมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2566 ในหัวข้อ ‘มีลูกกันเถอะน่า’ ที่สำรวจประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 18-40 ปีทั่วประเทศไทย จำนวน 1,310 คน เป็นผู้ที่ยังไม่มีลูกกว่า 759 คน จากผลสำรวจพบว่ามี 53.89% ที่ให้ความเห็นว่ายังอยากมีลูก แต่ในขณะเดียวกันก็มีคนจำนวนมากถึง 44% ที่ให้ความคิดเห็นว่าไม่อยากมี ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่ไม่น้อยหากเทียบกับสัดส่วนข้างต้น

ทั้งนี้ เหตุผลในการไม่อยากมีลูกที่ระบุไว้คือ

1. ไม่อยากเพิ่มค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูก (คิดเป็น 38.32%)

2. เป็นห่วงว่าลูกจะอยู่อย่างไรในสังคมปัจจุบัน (คิดเป็น 38.32%)

3. ไม่อยากมีภาระต้องดูแลลูก (คิดเป็น 37.72%)

4. ต้องการชีวิตอิสระ (คิดเป็น 33.23%)

5. กลัวเลี้ยงลูกได้ไม่ดี (คิดเป็น 17.66%)

6. อยากให้ความสำคัญกับงานมากกว่า (คิดเป็น 13.77%)

7. สุขภาพตนเองหรือคู่ครองไม่ค่อยดี (คิดเป็น 5.39%)

8. กลัวพ่อพันธุ์/แม่พันธุ์จะไม่ดี ทำให้ลูกเกิดมาไม่ดีไปด้วย (คิดเป็น 2.10%)

9. กลัวกรรมตามสนองที่เคยทำไม่ดีไว้กับพ่อแม่ (คิดเป็น 0.90%)

อีกทั้ง จาก 1,310 คนยังให้ความคิดเห็นเอาไว้ว่า รัฐควรสนับสนุนการศึกษาฟรีในประเทศจนถึงขั้นสูงสุด และควรให้การอุดหนุนค่าเลี้ยงดูลูกจนถึงอายุ 15 ปี เพื่อเป็นมาตรการในการสนับสนุนให้คนไทยอยากมีลูกมากขึ้น

จากผลสำรวจนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกันบางอย่าง ระหว่างความต้องการในการมีลูกที่ลดน้อยลง สอดรับกับสภาพสังคมไทยที่ยังคงมีปัญหาในหลายด้าน ทั้งความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาที่ดี ความไม่มั่นคงในชีวิตที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำงาน ฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจของคนในสังคมเอง หรือกระทั่งเรื่องพื้นที่สาธารณะที่อาจฟังดูเผินๆ แล้วไม่ค่อยเกี่ยวกันสักเท่าไร แต่ที่จริงแล้วก็เป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้คนไทยไม่อยากมีลูกเช่นเดียวกัน

ดังที่กล่าวไปข้างต้น ในวันนี้เราจึงอยากชวนทุกคนมาดูว่า ภาครัฐไทยควรออกแบบนโยบายอย่างไรให้สอดรับกับการผลักดันและสนับสนุนให้คนไทยยังอยากมีลูกอยู่ต่อไป

(ที่มาภาพ : iStockPhoto)

ระบบการศึกษาที่ต้องเอื้อต่อคนทุกกลุ่ม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

จากผลสำรวจที่หยิบยกมาข้างต้น และจากหลายบทสนทนาที่เราได้ยินกันบ่อยครั้ง ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเรื่องของ ‘การศึกษา’ เป็นปัจจัยที่สำคัญมากที่ส่งผลต่อการตัดสินใจว่าจะมีลูกหรือไม่ เพราะว่าการเลี้ยงเด็กคนหนึ่งให้เติบโตมากลายเป็นผู้ใหญ่นั้น สิ่งที่สำคัญมากๆ ที่อยู่ในทุกช่วงขวบวัยของพวกเขา คือการเรียนรู้และระบบการศึกษา

เรียกได้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีระเบียบการศึกษาเป็นขนบแบบแผน บรรทัดฐานหลักเมื่อเราจะเลี้ยงเด็กคนหนึ่ง เราก็มักจะมองว่าเขาจะต้องเรียนรู้ตามลำดับขั้นในแบบแผนการศึกษาผ่าน ‘โรงเรียน’ และจะต้องมีการวัดผลผ่านการทดสอบ

ทว่า การศึกษาในประเทศไทยนั้น ยังคงมีปัญหาอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของตัวเนื้อหาที่ไม่ทันสมัย รูปแบบการสอนที่มักจำกัดอยู่ในห้องเรียนและตำรา หลายวิชาอาจไม่มีความจำเป็น และการวัดผลที่มักวัดทุกอย่างเป็นเกรดผ่านการตัดสินด้วยมุมมองทางวิชาการ

ยังไม่รวมปัญหาที่เป็นวิกฤตใหญ่ของประเทศอย่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งแม้กระทั่งโอกาสทางการศึกษา ก็ใช่ว่าทุกคนจะมีสิทธิ์

ดังนั้นการออกแบบนโยบายทางด้านการศึกษาจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในรูปแบบใดก็ตาม โดยเฉพาะการส่งเสริมให้ทุกคนมีโอกาสเข้าศึกษาได้ อย่างน้อยที่สุดอาจจะเป็นการเริ่มต้นจาก ‘นโยบายเรียนฟรี 15 ปีอย่างถ้วนหน้า’ ให้เกิดขึ้นได้จริงเสียก่อน

(ที่มาภาพ : iStockPhoto)

โอบอุ้มพ่อแม่และผู้เลี้ยงดูเด็กอย่างมีสวัสดิการรองรับที่ดี ในฐานะที่เขาก็เป็น ‘แรงงาน’

‘เลี้ยงเด็กคนหนึ่งใช้เงินมหาศาล’

น่าจะเป็นประโยคที่หลายคนเคยได้ยินผ่านหู ซึ่งพอมาลองคิดตามก็จริงอย่างที่ว่า

จากหลายผลสำรวจและหลายบทสนทนาก็ตรงไปตรงมาไปในทิศทางนี้เช่นเดียวกันว่า คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยแทบจะไม่คิดเรื่องมีครอบครัว เพราะว่าพวกเขาเองยังคงรู้สึกว่าตัวเองอยู่ในวัยสร้างเนื้อสร้างตัว และรู้สึกว่าชีวิตยังไม่มั่นคงมากพอที่จะเลี้ยงดูชีวิตใครเพิ่ม หรือถึงจะวางแผนมีครอบครัวเองก็ตาม การตัดสินใจมีลูกก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากเรื่องค่าใช้จ่ายที่กล่าวไปข้างต้นแล้วนั้น ยังคงมีเรื่องของการตัดสินใจในหน้าที่การงานเข้ามาเกี่ยว เช่น หากจะมีลูกแล้วต้องลาออกจากงานหรือไม่ ช่วงที่ลาคลอดจะทำอย่างไร และหากตัดสินใจออกจากงานจริงๆ เงินที่หาเข้าบ้านจะน้อยลงไหม จะส่งผลต่อฐานะความมั่นคงของบ้านหรือเปล่า

ทั้งหมดที่ยกตัวอย่างมานั้น เป็นสารพัดปัญหาที่คิดไม่ตกหากตั้งใจจะสร้างครอบครัว

ในประเทศสวีเดนเคยมีการออกมาตรการมารองรับกับปัญหารูปแบบนี้เช่นเดียวกัน โดยสวีเดนมีนโยบายสำคัญอย่าง ‘สปีดพรีเมียม’ (Speed Premium) ที่ส่งเสริมอัตราการเกิดผ่านการให้ค่าตอบแทนและเวลาในการเลี้ยงดูบุตร กล่าวคือ ผู้เลี้ยงดูบุตรจะได้รับค่าตอบแทนที่สูงในขณะที่เลี้ยงดูบุตร และจะได้รับค่าตอบแทนอย่างต่อเนื่องหากมีลูกคนต่อไปในระยะเวลา 30 เดือนหรือน้อยกว่ากัน ทั้งนี้เป็นไปเพื่อส่งเสริมให้พ่อแม่สามารถวางแผนให้ลูกอายุใกล้เคียงไม่ห่างกันมาก และยังได้ใช้เวลาในการดูแลอย่างต่อเนื่องไม่ขาดช่วง อีกทั้งการลาหยุดงานในสวีเดนยังมีความยืดหยุ่นในการจัดสรรเวลาได้อีกด้วย

ประกอบกับการออกกฎหมายดูแลเด็ก (Child Care Act) ในปี 1995 ที่กำหนดว่า ทุกเมืองต้องสร้าง ‘ศูนย์เด็กเล็กสาธารณะ’ และเด็กทุกคนต้องมีสิทธิที่จะเข้าถึงศูนย์เด็กเล็ก (Thr Right to Childcare) ซึ่งสอดรับกันกับนโยบายสปีดพรีเมียมเป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม สวีเดนก็เป็นประเทศที่อัตราการเกิดผันผวน ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาวะทางเศรษฐกิจในประเทศเช่นเดียวกัน แต่อย่างน้อยๆ ก็ทำให้เห็นได้ว่า ปัจจัยในการตัดสินใจว่าจะสร้างครอบครัวและมีลูก นโยบายเกี่ยวกับสวัสดิการแรงงานก็เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องอย่างยากที่จะแยกขาด เพราะความมั่นคงในฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจในแต่ละประเทศก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลถึงการตัดสินใจมีลูกเช่นเดียวกัน ซึ่งสำหรับในประเทศไทยเอง ขณะนี้ก็มีความพยายามผลักดันเรื่องสิทธิการลาคลอด 180 วันจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคการเมือง และภาคประชาชน เพื่อขยับเขยื้อนให้การคุ้มครองแรงงานอย่างมีสวัสดิภาพได้เกิดขึ้นจริง

(ที่มาภาพ : iStockPhoto)

โครงสร้างและพื้นที่สาธารณะที่เข้าถึงง่าย ใช้สะดวก มีพื้นที่สำหรับการเรียนรู้

อันที่จริงหากพูดถึงปัญหาพื้นที่สาธารณะใดๆ ในประเทศไทย เชื่อเหลือเกินว่าผู้อ่านหลายท่านอาจมีประสบการณ์ร่วมอยู่บ้าง และหลายคนน่าจะพอเห็นภาพว่าพื้นที่สาธารณะในประเทศไทยค่อนข้างมีอะไรให้วิพากษ์วิจารณ์ในหลายจุด

แต่ในมุมของเด็กหรือแม่ลูกอ่อน อาจมีอะไรที่ซุกซ่อนอยู่มากกว่านั้น

ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการไม่มีพื้นที่หรือห้องให้นมบุตรในที่สาธารณะ ทางเท้าที่ขรุขระไม่เอื้ออำนวยต่อการเข็นรถเข็นเด็ก รวมไปถึงพื้นที่ในการเรียนรู้อันมีอยู่อย่างจำกัด และอาจต้องเป็นคนที่มีฐานะทางการเงินที่มาพอกับความสามารถในการจ่ายเพื่อให้ได้เข้าถึงพื้นที่การเรียนรู้ในแบบใหม่ๆ 

ในส่วนนี้ ประเทศไต้หวันเป็นตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจน ผ่านการออกกฎหมายที่ระบุถึงสวัสดิการแม่และเด็ก (Public Breastfeeding Act) ไว้เมื่อปี 2019 ที่ระบุถึงการกำหนดให้สถานที่สาธารณะต้องมีห้องเปลี่ยนผ้าอ้อมและให้นมบุตร รวมถึงต้องมีการติดป้ายให้ชัดเจน โดยระบุสถานที่ไว้ดังนี้

1. สถานที่ราชการที่ให้ประชาชนทั่วไปใช้ประกอบกิจการหรือบริการ พื้นที่รวมกว่า 500 ตารางเมตร

2. หน่วยงานรัฐที่มีอาคารธุรกิจที่มีพื้นที่รวมมากกว่า 500 ตารางเมตร

3. สถานีรถไฟ สถานีรถไฟฟ้า สนามบินที่มีผู้โดยสารขาเข้าและออก (รวมถึงสถานีเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟฟ้า) พร้อมสถานที่บริการที่มีพื้นที่รวมมากกว่า 1,000 ตารางเมตร

4. ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีก โรงแรมที่มีสถานประกอบการที่มีพื้นที่รวมมากกว่า 5,000 ตารางเมตร

5. รถไฟด่วนพิเศษและรถไฟความเร็วสูง (ยกเว้นรถไฟและรถโดยสารประจำทาง)

6. สถานที่อื่นๆ ตามที่หน่วยงานกลางประกาศกำหนด

ทั้งนี้ ภายในห้องให้นมบุตรสาธารณะจะต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานและความปลอดภัย เช่น แสงสว่าง การระบายอากาศ รวมถึงยังมีการระบุคุ้มครองสิทธิของผู้หญิงในการให้นมบุตรในที่สาธารณะ และจะต้องจัดหาสภาพแวดล้อมที่ปราศจากความกังวลใจให้กับผู้ที่ต้องการให้นมบุตร

สำหรับพื้นที่การเรียนรู้ก็เช่นเดียวกัน ไต้หวันเป็นพื้นที่ที่มีการส่งเสริมการเรียนรู้อยู่มาก ทั้งพิพิธภัณฑ์ มรดกชุมชน หรือการใช้พื้นที่สาธารณะในการจัดกิจกรรมอื่นๆ ที่ส่งเสริมต่อการเรียนรู้

สุดท้ายนี้ การออกแบบนโยบายในประเทศใดๆ ให้เหมาะกับประเด็นที่ต้องการผลักดัน อาจต้องศึกษาให้ละเอียดว่า สภาพสังคมนั้นๆ เป็นอย่างไร สามารถใช้กลไกหรือโครงสร้างแบบไหนในการแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้บ้าง และโมเดลการแก้ปัญหาจากต่างประเทศอาจไม่สามารถนำมาดัดแปลงแล้วใช้ได้เลยราวกับสวมเสื้อทับ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการทำความเข้าใจประเด็นและตระหนักว่าสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่นั้นเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงและต้องรีบแก้ไขก่อนจะฝังรากลึกไปยิ่งกว่านี้

สำหรับประเด็นเรื่องการผลักดันให้คนไทยอยากมีลูกเช่นเดียวกัน มากไปกว่าการเชิญชวนด้วยวาจา อาจจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาหลายอย่างในโครงสร้างของประเทศ เพื่อสร้างสังคมและเมืองที่เอื้อต่อการเรียนรู้ เลี้ยงดู และให้เด็กสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้ เพื่อที่พวกเขาจะได้โตขึ้นมาอย่างดี เป็นดอกไม้ที่ผลิบานในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและเอื้อต่อการเติบโตของพวกเขา

(ที่มาภาพ : iStockPhoto)

อ้างอิง

https://nidapoll.nida.ac.th/data/survey/uploads/FILE-1696039154180.pdf

https://nidapoll.nida.ac.th/data/survey/uploads/FILE-1696039158795.jpg

https://www.theprachakorn.com/newsDetail.php?id=427

https://www.demographic-research.org/volumes/vol14/4/14-4.pdf

https://think.moveforwardparty.org/author/ausstfc/

Writer
Avatar photo
รุอร พรหมประสิทธิ์

หนังสือ ไพ่ทาโรต์ กาแฟส้ม แมวสามสี และลิเวอร์พูล

illustrator
Avatar photo
สิริกร พรอนงค์

ดีไซน์เนอร์, นักวาด และอาร์ตไดมือใหม่ที่ชอบไปทะเล

Related Posts

Related Posts