ดร.เดชรัต สุขกำเนิด : เราจะออกแบบการเรียนรู้อย่างไรไม่ให้เด็กไทยร่วงหล่นไปจากการศึกษา
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด : เราจะออกแบบการเรียนรู้อย่างไรไม่ให้เด็กไทยร่วงหล่นไปจากการศึกษา
หากกล่าวถึง ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ในฐานะคนไทยคำนี้เป็นคำที่เราพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง และเรารู้กันดีว่านี่เป็นปัญหาใหญ่ที่ยังคงแก้ไขไม่ตก อีกทั้งยังมีมิติที่เกี่ยวข้องกับภาคส่วนต่างๆ มากมายหลายอย่าง
ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำทางสังคม เศรษฐกิจ หรือกระทั่งการศึกษาเองก็ตาม ทั้งหมดทั้งมวลล้วนเป็นอะไรที่ยังเรียกได้ว่าเป็น ‘ปัญหาเชิงโครงสร้าง’ ระดับมหภาคของประเทศไทย
แต่นอกเหนือจำนวนตัวเลขจากหลากหลายสถิติที่สามารถชี้ชัดและวัดได้ถึงความเหลื่อมล้ำดังกล่าวแล้วนั้น เจาะลงไปให้ลึกขึ้น นั่นคือ ‘ชีวิต’ ของคนไทย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนจำนวนไม่น้อยที่ถูกความเหลื่อมล้ำกัดกิน จนกระทั่งทำให้พวกเขาร่วงหล่นไปจากการศึกษา หรือกระทั่งร่วงหล่นไปจากชีวิตของตัวเอง
Mappa ชวนสนทนาประเด็นเหล่านี้กับ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center) สถาบันวิชาการนโยบายพรรคก้าวไกล นักเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร และอดีตอาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
การศึกษาและโอกาสในการเข้าถึงยังสำคัญแค่ไหน?
และเราควรออกแบบ ‘การเรียนรู้’ อย่างไร
ให้เด็กไทยไม่ร่วงหล่นไปจากการศึกษา และชีวิตอันมีค่าของพวกเขาเอง
จุดเริ่มต้นของ ‘ความเหลื่อมล้ำ’
ดร.เดชรัต เริ่มต้นเล่าอย่างน่าสนใจว่า เมื่อเราพูดถึง ‘ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา’ โดยเฉพาะในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ จะเริ่มต้นจากการอธิบายด้วยการแบ่งคนออกเป็น 5 กลุ่มเรียงลำดับตามรายได้ของพวกเขาจากมากไปน้อย และมาดูกันต่อว่า คนแต่ละกลุ่มมีอัตราการเข้าเรียนในระดับชั้นต่างๆ มากน้อยเพียงใด
ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่า ในระดับชั้นประถมศึกษา คนทั้ง 5 กลุ่มมีอัตราการเข้าเรียนในระดับที่ใกล้เคียงกันคือราว 90 เปอร์เซ็นต์ จึงอาจกล่าวได้ว่าในระดับการเรียนชั้นประถมศึกษาการตกหล่นหรือร่วงหล่นทางการศึกษาอาจยังไม่ได้ปรากฏให้เห็นเด่นชัดมากนัก
จนกระทั่งเมื่อเด็กๆ แต่ละคนเข้าช่วงการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น นั่นเริ่มทำให้เราเห็นอัตราการ ‘ร่วงหล่น’ ที่ลดลงมาอย่างมีนัยยะสำคัญ
เพราะว่าอัตราของเด็กๆ ในการจบการศึกษาลดมาเหลือเพียง 60 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และยิ่งเห็นเด่นชัดเมื่อเข้าถึงช่วงระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่เด็กๆ กลุ่มยากจนที่สุดมีโอกาสเรียนจบชั้นมัธยมปลายเพียงแค่ 40 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ในขณะที่เด็กๆ ที่อยู่ในกลุ่มระดับรายได้สูง โอกาสในการเรียนจบชั้นมัธยมปลายของพวกเขายังคงอยู่ที่ราว 88-90 เปอร์เซ็นต์ไม่ต่างไปจากเดิม
“หากเราแยกคนแต่ละกลุ่มตามระดับรายได้ออกมา เราจะเห็นภาพการร่วงหล่นราวกับเป็นขั้นบันได นั่นคือสิ่งสำคัญว่า เพราะเหตุใดเราจึงต้องแก้ไขปัญหาการร่วงหล่นทางการศึกษาของเด็กๆ ในระดับชั้นมัธยมฯ ก่อนระดับมหาวิทยาลัย เพราะการไม่ได้จบการศึกษาระดับมัธยมปลายเท่ากับว่าโอกาสในการทำงานก็ลดน้อยลงไป ซึ่งนั่นรวมไปถึง ‘รายได้’ ในฐานะของคนทำงาน”
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่นโยบายทางการศึกษาของ ‘พรรคก้าวไกล’ ขยับลงมาจากเพดานของ ‘พรรคอนาคตใหม่’ ในการออกแบบนโยบายป้องกันการร่วงหล่นทางการศึกษาของเด็กไทย จากแรกเริ่มพรรคอนาคตใหม่จะเน้นแก้ไขที่การเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยมากเป็นพิเศษ แต่พรรคก้าวไกลมองให้ลึกเข้าไปในอีกมิติหนึ่งว่า ‘การร่วงหล่น’ เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงมัธยมฯ ก่อนก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยในระดับอุดมศึกษาเสียอีก
(คนละ) เรื่องเดียวกัน : โอกาสในการอยู่กับครอบครัว, การวางรูปแบบเรียนรู้ที่อาจไม่สอดคล้องกับเด็กๆ และปัญหาจากพิษเศรษฐกิจ
“หากให้พูดให้แคบที่สุด ตอนนี้มี 3 เรื่องหลักๆ คือ ปัญหาที่เกิดจากความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ปัญหาที่ระบบการเรียนรู้ไม่สอดคล้องกับเด็กอีกต่อไป และปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับเศรษฐกิจแบบจริงๆ แท้ๆ”
“ลำดับแรก โอกาสที่เด็กๆ ได้อยู่กับครอบครัว สำคัญมาก เด็กๆ ที่พื้นฐานครอบครัวที่รวยที่สุดจะไม่ได้อยู่กับพ่อแม่เพียงแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ แต่เด็กที่อยู่ในครัวเรือนที่ยากจนไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ถึง 40 เปอร์เซ็นต์”
“หรือกระทั่ง ‘จำนวนหนังสือที่มีอยู่ที่บ้าน’ ก็เป็นตัวชี้วัดที่ชี้ชัดได้ รวมถึง ‘เวลาคุณภาพที่พ่อแม่มีให้กับลูก’ ก็สามารถชี้วัดได้ผ่านเกณฑ์ว่าเรามีกิจกรรมร่วมกัน 4 อย่างใน 1 สัปดาห์ไหม ซึ่งพอเทียบออกมาเป็นร้อยละจะเห็นชัดว่า ครัวเรือนที่รวยจะมีเวลาทำกิจกรรมกับลูกมากกว่าครัวเรือนที่ยากจน”
ลำดับถัดมา คุณภาพของการเรียนรู้และการศึกษาในระดับปฐมวัย ที่สอดคล้องกับการดูแลอย่างใกล้ชิดของพ่อแม่ที่กล่าวไปข้างต้น มากไปถึงการมีอุปกรณ์เสริม แท็บเล็ต ไอแพด ต่อด้วย โอกาสในการเรียนรู้ในระดับชั้นมัธยมศึกษา ที่อาจารย์เดชรัตชี้ให้เห็นเพิ่มเติมว่า ในวัยมัธยมฯ นั้นเป็นวัยที่เราไม่ได้ต้องการการเรียนรู้เฉพาะแค่ในห้องเรียนอีกแล้ว แต่เรายังต้องการการเรียนรู้ที่มีอยู่มากมายหลายอย่างนอกห้องเรียนตามแหล่งการเรียนรู้ต่างๆ
“เด็กทุกคนต้องการมีพื้นที่ของตัวเองในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ เพียงแต่ว่าพวกเขาจะมี ‘โอกาส’ หรือเปล่าที่จะมีพื้นที่ดังกล่าว”
สุดท้ายเรื่องของ เม็ดเงินและอุปสรรคในปัญหาทางเศรษฐกิจ ที่หมายความถึง ค่าใช้จ่ายในการเรียน ซึ่งสำหรับกลุ่มครัวเรือนที่ยากจน การส่งลูกไปเรียนนั้นถือว่าเป็นภาระที่หนักมาก ถ้าเป็นระดับมัธยมฯ อาจสูงถึงประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ หรือถ้าเป็นในระดับมหาวิทยาลัยก็อาจสูงถึงเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้ครัวเรือนพวกเขา ซึ่งนั่นถือเป็นราคาที่สูงมากจนพวกเขาอาจไม่สามารถแบกรับไหว
Learning Loss
“ภาวะการเรียนรู้ที่ถดถอย (Learning Loss) เป็นผลกระทบที่วนลูปเกิดขึ้นซ้ำๆ เกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ด้วยไหม?” คำถามถัดมาจากเรา
“ประเด็น Learning Loss เป็นอะไรที่น่าสนใจมาก สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้เด็กไม่ได้ไปโรงเรียน และไม่ได้เป็นแค่เฉพาะกับเรื่องของความสามารถทางวิชาการ
สิ่งที่ขาดหายไป (Loss) ยังรวมไปถึงในเชิงร่างกาย การเคลื่อนไหว อารมณ์ และกิจกรรมทางสังคม ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้อย่างดีว่า การดูแลเด็กคนหนึ่งจำเป็นจะต้องดูแลเขาในทุกๆ ด้านไปพร้อมกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราค้นพบมาก่อนแล้วแต่ไม่เคยให้ความสำคัญอย่างแท้จริง อาจเพราะก่อนหน้านี้เรามองว่ามันไม่ใช่เรื่องใหญ่ เลยอาจไม่ได้เห็นความสำคัญของการสูญเสียไป”
ดร.เดชรัต อธิบายต่อว่า ภาวะการเรียนรู้ที่ถดถอยอาจเป็นผลที่เกิดและต่อเนื่องมาก่อนช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 นั่นคือความรู้สึกที่ว่า เด็กๆ ไม่รู้สึกว่าสิ่งที่เขาเรียนสัมพันธ์อะไรกับชีวิต ซึ่งเขาเองมองว่าเป็นเรื่องใหญ่มากโดยเฉพาะในเด็กวัยมัธยมฯ ที่มักจะเรียนรู้จากสิ่งที่ตนเองให้ความหมาย
“พอมีการระบาดของโควิด-19 เกิดขึ้นทำให้ชีวิตในห้องเรียนของเขาหายไป 2-3 ปีซึ่งมากพอที่จะทำให้เขารู้สึกว่า มีอีกหลายอย่างที่ดูมีคุณค่าหรืออย่างน้อยก็น่าสนใจมากกว่าห้องเรียนของเขา ซึ่งนั่นก็ทำให้การร่วงหล่นยิ่งเพิ่มขึ้นไปอีก”
“เมื่อปี 2565-2566 เป็นปีที่เด็กเริ่มกลับเข้ามาเรียนในห้องเรียน ซึ่งคุณครูก็ต้องสอนไปตามหลักสูตรโดยทึกทักว่า 2 ปีที่ผ่านมามีกระบวนการเรียนรู้ตามปกติ นั่นเลยยิ่งทำให้เด็กยิ่งมีภาวะเครียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิชาคณิตศาสตร์ ลองนึกภาพว่าตอนเรียน ม.2 เราเรียนถอดสมการ แล้วพอผ่านไป 3 ปีความยากก็ขึ้นมาอีก 3 ระดับ กลายเป็นว่าพอเราเปิดเทอมมาเราอยู่ ม.5 แต่ว่าสมการของ ม.2 เรายังอาจทำไม่ได้เลย เพราะกระบวนการเรียนรู้ที่ขาดหายไป”
‘การร่วงหล่นทางการศึกษา’ ที่อาจส่งผลไปถึง ‘ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีคุณภาพ’
เราถามต่อว่า คิดว่า 2 ประเด็นข้างต้นนี้เกี่ยวข้องกันไหม? ถ้าเกี่ยวข้องกัน เรียกได้ว่าเกี่ยวข้องกันมากน้อยแค่ไหน
“มันคงเกี่ยวแน่ครับ แต่ผมคิดว่าเราไม่ควรเอา 2 เรื่องนี้มาผูกกัน
เพราะว่าถ้าหากพูดไปแบบนั้นแปลว่าคนที่ไม่ได้ร่วงหล่นไปจากการศึกษาเขามีทักษะที่ควรจะมีครบทุกอย่างไม่ขาดตกอะไรไปจริงหรือ? มันก็อาจจะไม่จริง”
“เราอาจจะมาดูกันก่อนว่า ทักษะที่จำเป็นต้องมีคืออะไร และ กลไกที่จะนำไปสู่สิ่งเหล่านั้นได้คืออะไร”
“สำหรับเด็กกลุ่มแรกที่เขายังคงอยู่ในระบบการศึกษาและไม่ได้มีปัญหาอะไรกับระบบ เราอาจจะดูว่า การอยู่ในห้องเรียนนั้นช่วยเขาในแง่ประสิทธิภาพได้มากพอหรือยัง”
“สำหรับเด็กกลุ่มที่สอง ที่เขายังสองจิตสองใจ ลังเลว่าจะไปจากระบบการศึกษาดีหรือไม่ เราอาจเริ่มจากการสังเกตว่า สาเหตุที่เขาต้องการไปจากการเรียนในห้องเรียนคืออะไร ถ้าออกไปเขาจะไปทำอะไร เราเปิดช่องให้เขาโดยที่เขาไปโดยที่ยังอยู่ได้หรือไม่กล่าวคือ เขาอาจจะคิดว่าในบางสถานการณ์เขาอาจยังได้รับประโยชน์จากการเรียนในห้องเรียน แต่ในบางครั้งก็ไม่ได้รับ อันนี้เป็นสิ่งที่ระบบการศึกษาเราไม่เคยออกแบบสำหรับคนกลุ่มนี้เลย”
“และกลุ่มสุดท้ายคือเด็กที่ไปจากการศึกษาแล้ว แน่นอนที่สุดเราพยายามพาเขาให้กลับเข้ามา แต่หลักๆ คือเมื่อเขาออกจากระบบการศึกษาไปแล้วเรามักไม่มีข้อมูลเลยว่าเขาเป็นใคร มีชีวิตอย่างไร ทำอะไรอยู่ และสิ่งที่ต้องการคืออะไร นั่นเลยเป็นสาเหตุที่ผมคิดว่าการจะไปสนับสนุนการเรียนในระดับมหาวิทยาลัยก็สำคัญ แต่อาจไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด ตราบเท่าที่คนกลุ่มนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนในอัตราที่เทียบเท่ากัน”
โจทย์สำคัญ : เราจะออกแบบการศึกษาอย่างไรให้กับคนที่ยังอยู่และไปแล้วจากระบบการศึกษาให้สามารถเรียนรู้ไปด้วยกันได้
“มีบางวิชาที่เราอาจจะไม่จำเป็นต้องเรียนในห้อง แล้วเอาเวลาเหล่านั้นไปเรียนรู้นอกห้องเรียน ซึ่งเราจะสามารถออกแบบหลักสูตรการศึกษาให้ยืดหยุ่นขึ้น และลดทอนความเป็น ‘ห้องเรียน’ ได้หรือเปล่า นี่คือโจทย์สำคัญ” ดร.เดชรัตเน้นย้ำ
“โรงเรียนบางแห่งใช้คำว่า ‘เราเรียนเป็นห้อง’ งั้นสมมติว่าเราอยู่ ม.5/3 เราเรียนเป็นห้องสัก 3 วัน แล้ววันที่เหลือเราแบ่งไปเรียนเป็นกลุ่ม อาจจะแบ่งไปเป็นกลุ่มคณิตศาสตร์ กลุ่มดนตรี กลุ่มกีฬา ซึ่งอาจเรียนร่วมกับคนที่อยู่ ม.4 หรือ ม.6 ก็ได้ เพราะการเรียนรู้มันไม่ได้ถูกแบ่งเป็นระดับชั้นอย่างนั้นเสมอไป”
“มันเริ่มต้นมาจากคำว่า ‘ทักษะ’ เราไม่เคยรู้ว่าทักษะแต่ละอย่างมีวิธีการวัดประเมินหรือพิสูจน์อย่างไร ที่ผ่านมาเรามักไปเอาระบบการศึกษามาครอบแล้วบอกว่ามันคือระบบที่เป็นตัววัดประเมินและบ่งบอกถึงทักษะ ซึ่งที่จริงแล้วระบบการศึกษาเป็น 1 ใน 4 ของตัวที่บ่งบอกถึงทักษะเท่านั้น”
ดร.เดชรัตเล่าถึงข้อมูลที่น่าสนใจในงานชิ้นล่าสุดที่ทางศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center) เพิ่งเผยแพร่ไปในประเด็นของการเรียนรู้ด้วยตนเองและการใช้ทักษะแทนวุฒิการศึกษา ที่สำรวจมาว่า อันที่จริงแล้ววุฒิการศึกษาอาจไม่ได้ใช้วัดทักษะเสมอไป โดยอ้างอิงถึงงานของ ณิชา พิทยาพงศกร (2567) ที่เสนอว่าเรามีถึง 4 หนทาง (4P) ที่สามารถบ่งบอกได้ว่าการจะวัดว่า ‘ทักษะ’ ของแต่ละคนมีอะไรบ้างและความสามารถอยู่ในระดับขั้นไหน ดังนี้
1. การแสดงและโอกาสในการแสดงฝีมือ (Performance)
2. การได้รับการยอมรับและมีหนทางในการเติบโตจากการสนับสนุนของเพื่อนร่วมวงการ (Peer)
3. การได้รับการยอมรับจากภาคเอกชน (Private Sector) เช่น ประสบการณ์ทำงาน คอร์สอบรม และประกาศณียบัตร (Certificate)
4. วุฒิที่ได้รับการยอมรับโดยภาครัฐหรือการสถาบันการศึกษาที่รัฐรับรองออกให้ (Public) หรือก็คือ ‘โรงเรียน’ และ ‘มหาวิทยาลัย’ แบบที่เราคุ้นเคยกัน
“ฉะนั้นถ้าเรามี 3P แรกเพิ่มเติมมาแล้วเปิดช่องให้คนสามารถเทียบเคียงตัวเองได้ รวมถึงทำให้กระบวนการเรียนรู้ไหลลื่นมากขึ้น เขาจะมีพื้นที่สำหรับการให้ความหมายของตัวเขาเองมากขึ้น โดยที่ยังอยู่และไม่ร่วงหล่นไปจากระบบการศึกษาได้”
“ถ้าอย่างนั้นแล้วเราจะออกแบบห้องเรียนหรือระบบการศึกษาอย่างไร ที่จะสามารถทำให้ทุกคนเข้าถึงการเรียนรู้และการศึกษาที่ดีได้จริงๆ” เราถามต่อ
“ห้องเรียนต้องหลากหลาย และเปลี่ยนช่องทางได้ตลอด” ดร.เดชรัตตอบอย่างหนักแน่น
“อย่างน้อยที่สุดอาจจะมีหลักๆ สัก 3 ช่องทาง คือ
1. ห้องเรียนในโรงเรียน
2. ลักษณะคล้ายกับห้องเรียนแต่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเรียนหรือสถานศึกษา เช่น การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop)
3. กระบวนการปฏิบัติการจริงเพื่อมาทดสอบและแสดงฝีมือ (Performance)”
ถ้าหากทำ 3 อย่างนี้ได้ จะเป็นการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาได้อย่างดี และไม่คาดคั้นกับโรงเรียนมากนัก
“สิ่งสำคัญที่สุด คือ ผู้เรียนต้องรู้สึกว่าการเรียนรู้มีความหมายเขาถึงจะอยากไปต่อ แต่ว่านั่นคือสิ่งที่ผู้ใหญ่หรือบุคลากรในวงการศึกษาไม่เข้าใจความหมายเหล่านี้ พวกเขาเลยมักรู้สึกว่าเด็กไม่ชอบ เด็กไม่เรียนรู้ ไม่มีวินัย ซึ่งที่จริงมันมีอะไรมากกว่านั้น”
อย่างไรก็ดี เขายังเน้นย้ำว่าทุกอย่างที่กล่าวมานั้นทุกฝ่ายต้องร่วมมือออกแบบยุทธศาสตร์และให้การสนับสนุนกันไปพร้อมๆ กัน ไม่ใช่เป็นเพียงปัญหาที่โรงเรียนต้องแก้ไขอยู่ฝ่ายเดียว ทั้งหมดทั้งมวลยังรวมไปถึง ‘ชุมชน’ หรือ ‘นิเวศแวดล้อมรอบตัวของเด็กๆ’ ที่ยังคงเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีให้กับเด็กๆ ต่อไป
การออกแบบ ‘ชุมชน’ ให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปยังคงสำคัญอยู่เสมอ
หลากหลายประเทศทั่วโลกมีการจัดทำและออกแบบนโยบายเชิงรัฐสวัสดิการที่ช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ในหลากหลายรูปแบบเพื่อป้องกันการร่วงหล่นจากการศึกษาของเด็กๆ รวมถึงการพยายามทำให้ ครอบครัว-ชุมชน-โรงเรียน เกิดการเชื่อมต่อกันเป็นเครือข่ายที่แนบแน่นและแข็งแกร่ง นั่นจึงเป็นประเด็นคำถามที่น่าสนใจว่า แล้วประเทศไทยเราสามารถทำแบบนั้นได้ไหม?
“การออกแบบนโยบายเช่นนี้มันก็คงช่วยได้ แต่ว่าเราต้องลืมมายาคติว่าด้วย ‘ชุมชน’ (Community) ตามแบบฉบับภาพจำของชุมชนไทยไปก่อน เพราะว่ายังมีอีกหลากหลายรูปแบบมากที่ก่อให้เกิดความเป็นชุมชนขึ้นมาได้ เช่น ‘ชุมชนโรงเรียน’ ซึ่งหมายถึงชุมชนที่อยู่ภายในโรงเรียนของผู้ปกครอง ที่ครอบครัวผู้ปกครองมาจัดกิจกรรมร่วมกัน เพราะฉะนั้นชุมชนนี้จึงมีผลกับโรงเรียน ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่การออกแบบชุมชนที่เป็นชุมชนจริงๆ อีกต่อไป”
ในแง่ของการเรียนรู้และการศึกษา ชุมชนที่เรายังขาดไปอยู่มากๆ คือชุมชนของเพื่อนร่วมวงการ (Peer) รวมถึงการก่อตั้งชุมชนอะไรสักอย่างขึ้นมายังขึ้นอยู่กับบริบทของนักเรียนในโรงเรียนนั้นๆ ซึ่งนั่นก็จะสอดคล้องกับที่ย้ำกันไปข้างต้นว่า เด็กๆ แต่ละคนมีการให้ความหมายกับการเรียนรู้ของตัวเองอย่างไร
“ระบบการศึกษาสำหรับผม คือ ระบบที่สังคมเตรียมพร้อมให้กับเด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ตั้งแต่เด็กไปจนถึงอายุ 25 ปี ซึ่งปลายทางสำหรับผมคือ ‘การจบการศึกษา’ อย่างน้อยก็ในระดับชั้น ม.3 ซึ่งทั้งหมดนี้อยากให้เกิดการแก้ไขในระดั้บชั้นมัธยมฯ ก่อน หากเราแก้ไขในชั้นมัธยมฯ ได้ ในระดับมหาวิทยาลัยอาจจะแก้ไม่ยากไปกว่ากัน เพราะว่าเราจะมีระบบการศึกษาที่ครอบคลุมเด็กๆ ทุกคนมากที่สุด
“คำว่า ‘หลุดร่วงจากระบบการศึกษา’ ก็จะเหลือน้อยลง เพราะว่าเรามีช่องทางที่หลากหลายมากขึ้นในการเรียนรู้เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษา” ดร.เดชรัต กล่าวทิ้งท้าย
Writer
รุอร พรหมประสิทธิ์
หนังสือ ไพ่ทาโรต์ กาแฟส้ม แมวสามสี และลิเวอร์พูล
Photographer
อนุชิต นิ่มตลุง
ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว จนถึงสารคดี ปัจจุบันเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision เพิ่งตัดสายสะดือเป็นคุณพ่อหมาดๆ เมื่อเมษาที่ผ่านมา (พ.ศ. 2563)
illustrator
สิริกร พรอนงค์
ดีไซน์เนอร์, นักวาด และอาร์ตไดมือใหม่ที่ชอบไปทะเล