มองโรงเรียนในระบบสุดระบม ผ่านภาพยนตร์ ‘อานนเป็นนักเรียนตัวอย่าง’ เมื่อ ‘ฉากหน้า’ ถูกให้ค่ามากกว่า ‘การเรียนรู้’ เราจึงร่วงหล่นจากโอกาสในการเติบโต

มองโรงเรียนในระบบสุดระบม ผ่านภาพยนตร์ ‘อานนเป็นนักเรียนตัวอย่าง’ เมื่อ ‘ฉากหน้า’ ถูกให้ค่ามากกว่า ‘การเรียนรู้’ เราจึงร่วงหล่นจากโอกาสในการเติบโต

สวัสดีผู้อ่านทุกท่าน ยินดีต้อนรับเข้าสู่โรงเรียน ‘สวัสดีศึกษา’ โรงเรียนของอานนและผองเพื่อนในภาพยนตร์เรื่อง ‘อานนเป็นนักเรียนตัวอย่าง’ (Arnold Is A Model Student) กำกับโดย สรยศ ประภาพันธ์ หลายคนได้รับชมผ่านโรงภาพยนตร์ในปีที่ผ่านมาหรือบางคนอาจรับชมผ่านทาง Netflix เมื่อไม่นานมานี้ แต่ไม่ว่าคุณจะเคยรับชมหรือไม่อย่างไร หลายแง่มุมของภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ดูเหมือนว่าจะฉายอยู่ในชีวิตของพวกเราที่เติบโตมาในฐานะ ‘เด็กไทย’ กันอยู่แล้ว ผู้เขียนจึงมั่นใจว่า ไม่มากก็น้อยเราต่างเคยมีประสบการณ์ร่วมกันในสถานการณ์คล้ายคลึงกับที่อานนและเพื่อนพี่น้องร่วมโรงเรียนของเขาได้ประสบพบเจอเป็นแน่แท้

‘โรงเรียนสวัสดีศึกษา’ ในภาพยนตร์เรื่องนี้ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทย ภาพของโรงเรียนที่นำเสนอ ฉายขนานไปกับชีวิตของอานนและนักเรียนคนอื่นๆ ว่าด้วยโรงเรียนในระบบการศึกษาไทยที่เต็มไปด้วยกฎระเบียบข้อบังคับ ไปจนถึงการรักษาค่านิยมและมารยาทไทยอย่างเคร่งครัด ทั้งยังได้รับการขนานนามว่ามีความเป็นเลิศทางวิชาการระดับชาติและระดับนานาชาติ ทำให้ใครๆ ก็อยากส่งลูกเข้ามาเรียนที่นี่ 

ดูเหมือนว่า ‘ฉากหน้า’ ของโรงเรียนสวัสดีศึกษาที่อานนและเพื่อนๆ ร่ำเรียนอยู่จะดีงามราวกับคำโฆษณาชวนเชื่อ ทว่าเมื่อคลี่ขยายรายละเอียดออกมาในแต่ละฉากตอนแล้ว ภาพยนตร์กลับทำให้เราพบว่า ‘ฉากหน้า’ อันดีงามเหล่านั้นไม่อาจยึดโยงถึงการเรียนรู้ของ ‘นักเรียน’ ซึ่งควรเป็นหมุดหมายสำคัญที่สุดใน ‘การมีอยู่’ ของโรงเรียนได้เลย อีกทั้งยังครอบทับความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ตัวเองและโลกใบนี้ 

ฉากหน้าที่ระบบการศึกษาไทยเพียรสร้างขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าเหล่านั้น จึงปกและปิดโอกาสในการเติบโตอีกมากมายของเด็กๆ และทิ้งปัญหาทับถมไว้ในฉากหลังที่เราอาจไม่ได้ (อยาก) มองเห็น แต่ไม่ว่าเราจะอยากมองเห็นฉากหลังเหล่านั้นหรือไม่ ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เล่ามันออกมาอย่างตรงไปตรงมา บอกกล่าวอย่างชินและชา เปิดเผยทั้งฉากหน้าและสิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ในฉากหลังออกมาแล้วในหลากหลายประเด็นที่ Mappa อยากชวนไปถอดรหัสด้วยกัน

ภาพจาก: อานนเป็นนักเรียนตัวอย่าง | Arnold is a Model Student (ตัวอย่างภาพยนตร์)

คุณเห็นป้ายหน้าโรงเรียนหรือยัง ชอบไหม (?) 

ตั้งต้นที่ตัวละครหลักอย่าง ‘อานน’ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่ไม่เชื่องเชื่อต่อระบบ แต่เรียนเก่งจนได้รับรางวัลการแข่งขันทางวิชาการมากมาย รวมถึงรางวัลใหญ่ระดับนานาชาติอย่างคณิตศาสตร์โอลิมปิก ผู้อำนวยการโรงเรียนสวัสดีรักษาจึงได้มอบรางวัล ‘นักเรียนตัวอย่าง’ ให้กับเขา 

“อานนได้รับเหรียญทองโอลิมปิกในวิชาคณิตศาสตร์ เพื่อเป็นการตอบแทนอานน ทางโรงเรียนจะมอบรางวัลนักเรียนตัวอย่างให้กับอานน”

การได้รับรางวัล ‘นักเรียนตัวอย่าง’ ของอานนสะท้อนให้เราเห็นหลากแง่มุมที่น่าสนใจ ตั้งแต่คำกล่าวข้างต้นของผู้อำนวยการที่ใช้คำว่า ‘เพื่อเป็นการตอบแทน’ ซึ่งมีนัยว่าการได้รางวัลคณิตศาสตร์โอลิมปิกของอานนสร้างผลประโยชน์แก่โรงเรียน ทั้งเพิ่มคุณค่า ความหมาย และชื่อเสียงให้กับโรงเรียน การให้รางวัลนักเรียนตัวอย่างจึงเป็น ‘การตอบแทน’ มากกว่าจะมุ่งไปที่ตัวนักเรียนหรือมองเห็นศักยภาพของอานนจริงๆ 

เช่นกันกับที่ผู้อำนวยการกล่าวหน้าเสาธงก่อนมอบรางวัลว่า ในปีการศึกษานี้โรงเรียนได้รับคัดเลือกให้เข้าชิงรางวัลโรงเรียนยอดเยี่ยมแห่งปีจากสำนักงานประเมินมาตรฐานการศึกษาแห่งชาติ (สมศ.) 

“ครูเลยอยากให้ทุกคนประพฤติตัวเป็นคนดี ตั้งใจเรียน” 

ซึ่งเป็นประโยคที่ซุกซ่อนวิธีคิดที่ว่า ‘นักเรียน’ ต้องทำเพื่อ ‘โรงเรียน’ มากกว่าที่โรงเรียนจะทำเพื่อนักเรียนอย่างที่ควรจะเป็นโดยปกติ กล่าวคือ นักเรียนจะต้องเป็นทั้งผู้ประพฤติตัวดีและตั้งใจเรียน โดยไม่จำเป็นต้องเข้าใจความหมายของสิ่งที่ทำหรือเรียนรู้ว่าทำแล้วจะเกิดผลต่อ ‘ตัวเอง’ อย่างไร แต่ที่ต้องทำก็เพื่อรางวัลระดับชาติที่จะกลายเป็น ‘ฉากหน้า’ อันสวยงามของโรงเรียนนี้เท่านั้น 

การได้รับรางวัลนักเรียนตัวอย่างของอานนยังทำให้เราเห็นว่า แม้ตัวละครอานนจะน่าสนใจมาก ทั้งแนวคิด ตัวตน วิธีการตั้งคำถามต่อสังคมหรือสิ่งต่างๆ แต่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ทั้งครู ผู้อำนวยการ และคนในส่วนการศึกษาที่เกี่ยวข้อง แทบไม่มีใครเคยกล่าวถึงส่วนนั้นของเขาเลย อาจมีอยู่บ้างเป็นคำดุด่า แต่ไม่ใช่การทำความเข้าใจ 

ไม่มีคำถามว่าเขาชอบเรียนรู้อะไร ทำไมเข้าใจเรื่องคณิตศาสตร์ได้ดี

ไม่มีคำถามว่าเขารู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่ได้รับ มีความคิดเห็นมุมมองอย่างไร

หรือมีมุมมองต่อการเรียนการค้นคว้าอย่างไร

แต่เป็นคำถามที่มุ่งไปที่รางวัลเพียงอย่างเดียว 

อย่างคำถามของผู้อำนวยการที่ถามอานนว่า “คุณเห็นป้ายหน้าโรงเรียนหรือยัง ชอบไหม?” เป็นคำถามที่ยิ่งตอกย้ำการให้ความสำคัญกับฉากหน้าที่เกิดขึ้นจากการได้รับรางวัล ซึ่งคำถามนี้อาจทำให้ผู้อำนวยการพอเดาได้ว่าอานนชอบป้ายหน้าโรงเรียนหรือไม่ หากแต่ผู้อำนวยการไม่มีทางรู้เลยว่าเด็กที่ได้ชื่อว่าเป็นเด็กโอลิมปิกคณิตศาสตร์คนนี้ จริงๆ แล้วเขาชอบคณิตศาสตร์หรือไม่ เขาชอบเรียนรู้หรือมีวิธีการเรียนรู้อย่างไรกันแน่ แล้วจะพัฒนาศักยภาพของเขาไปในทิศทางใด 

ภาพยนตร์ยังทำให้เราเห็นว่าการให้ความสำคัญกับฉากหน้าในโลกการศึกษาไทย ไม่ได้จบลงเพียงแค่ในรั้วโรงเรียน หากแต่สัมพันธ์และร่วมสร้างระบบที่มีปัญหาขึ้นอีกนอกรั้วโรงเรียน ดังเช่นการที่โรงเรียนกวดวิชาจ้างอานนด้วยเงินจำนวนมาก เพื่อให้โปรโมตสถาบันของตน โดยโปรโมตว่าอานนเคยมาเรียนกวดวิชาที่นี่ ทั้งที่เขาไม่เคยมาเรียนจริงๆ การเป็นนักเรียนตัวอย่างและได้รางวัลทางวิชาการ กลายเป็นภาพของความสำเร็จที่ใครๆ ก็ต้องวิ่งตามและพยายามไขว่คว้ามาให้ได้ และกลายเป็นจุดขายสำคัญของธุรกิจกวดวิชาอีกด้วย 

เมื่อมองในมุมหนึ่งเราก็จะเห็นว่า ‘นักเรียน’ หรือ ‘เด็กและเยาวชน’ กลายมาเป็นเครื่องมือในการสร้างฉากหน้าที่ ‘ไม่จริง’ เหล่านั้น โดยไม่มีใครถามถึงฉากหลังหรือเรื่องที่ลึกลงไปในชีวิตของพวกเขาเลย 

ภาพจาก: อานนเป็นนักเรียนตัวอย่าง | Arnold is a Model Student (ตัวอย่างภาพยนตร์)

อาจารย์มาตัดผมพวกเราแล้วยังบอกว่าเราผิดอีก ไม่แปลกเหรอวะ (?)

นอกจากโรงเรียนจะเป็นเวทีในการจัดแสดงรางวัลและความเป็นเลิศแบบต่างๆ แล้ว โรงเรียนยังเป็นพื้นที่ในการตรวจสอบอย่างเคร่งครัดเพื่อให้นักเรียนอยู่ในรูปแบบความคิดความเชื่อเดียวกัน ไปจนถึงมีทรงผมและเครื่องแบบเหมือนกัน ครอบและคลุมตัวตน เพศ และการแสดงออกที่หลากหลายเอาไว้อย่างแนบเนียน โดยมีคำว่า ‘ความเป็นระเบียบวินัย’ ‘ความรับผิดชอบ’ เป็นฉากหน้าของคำอธิบาย ทั้งที่ภายใต้คำนี้มีคำถามอีกหลากด้านที่ชวนขบคิด อย่างคำถามที่เด็กนักเรียนหญิงนั่งคุยกันตอนดูมือถือแล้วอ่านเจอข่าวโจรโรคจิตดักซุ่มตัดผมคนไปทั่ว โดยเนื้อข่าวโจรเผยว่าไม่ได้มีเจตนา แค่อยากทำความรู้จักเส้นผมและใฝ่ฝันอยากเปิดร้านขายผม นักเรียนหญิงกลุ่มนี้ก็ได้วิพากษ์วิจารณ์ข่าวนี้กับเพื่อนว่า

“เอาอะไรคิดว่าคนอื่นจะโอเค”

“จะว่าไป มันก็มีเรื่องแปลกอยู่นะ ถ้าจู่ๆ มึงไปตัดผมคนอื่นเขา ก็คือมึงผิดใช่ปะ”

“เออผิด”

“แต่ในโรงเรียนเรา อาจารย์มาตัดผมพวกเราแล้วยังบอกว่าเราผิดอีก ไม่แปลกเหรอวะ”

การตรวจวินัยอย่างเคร่งครัดกลายเป็นหน้าที่หลักของครู เป็นสิ่งที่ต้องทำและให้ความสำคัญยิ่งกว่าอะไร 

ทรงผมและเสื้อผ้ากลายมาเป็นจุดวัดคุณค่าหลักของการเป็นนักเรียน หากบิดพลิ้วก็อาจตัดสินได้โดยง่ายผ่านฉากหน้าที่ฉาบฉวยว่านักเรียนคนนั้นไม่เอาไหน 

ในขณะที่หากเรามองลึกลงไป เห็นความหลากหลายของมนุษย์และให้พื้นที่ในการแสดงออกซึ่งตัวตน-ร่างกายในแบบที่พวกเขาภูมิใจ โดยมีขอบเขตอยู่ที่การไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น นักเรียนก็อาจจะได้เรียนรู้ทั้งตัวเอง เรียนรู้ทั้งการเคารพคนอื่นที่แตกต่าง และได้เรียนรู้ที่จะ ‘รับผิดชอบ’ ต่อร่างกายพวกเขาเอง แทนการมีครูในฐานะผู้ควบคุมที่เข้ามา ‘รับผิดชอบ’ ร่างกายของพวกเขาอยู่เสมอเช่นนี้ ทีนี้การเรียนรู้ที่จะดูแลตัวเอง มีความรับผิดชอบและมีวินัยต่อตัวเอง ก็อาจเกิดขึ้นได้ด้วยตัวนักเรียนเองแบบที่ไม่ต้องบังคับ ใช้ความรุนแรง หรือละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของนักเรียนเลยก็ได้ 

ภาพจาก: อานนเป็นนักเรียนตัวอย่าง | Arnold is a Model Student (ตัวอย่างภาพยนตร์)

‘การเป็นพลเมืองที่ดี’ ก็ไม่ได้แปลว่าจะต้อง ‘ไหว้สวย’ เสมอไปนี่คะ (?)

นอกจากเรื่องการแต่งกายแล้ว เรื่องของ ‘มารยาทไทย’ ยังนับเป็นหนึ่งในหมุดหมายของการศึกษาไทย ราวกับว่าเป็นปลายทางของการเป็นคนดีคนเก่งและการเป็น ‘คนไทย’ ภาพยนตร์สะท้อนเรื่องนี้ให้เราเห็นอย่างแจ่มชัดในตอนที่คณะกรรมการตรวจสอบมาตรฐานทางการศึกษาจะเข้ามาตรวจสอบโรงเรียน ผู้อำนวยการเลยมีความเห็นว่า นอกเหนือจากเรื่องคุณภาพทางวิชาการของโรงเรียนแล้ว อยากให้ทำกิจกรรมพิเศษขึ้นมา จึงขอความเห็นครูในที่ประชุม ซึ่งในการประชุมครั้งนั้นมีครู 2 คนที่ให้ความคิดเห็น โดยครูคนแรกเสนอว่า “เราน่าจะจัดกิจกรรมพัฒนาเด็กในเรื่องของหน้าที่พลเมืองและมารยาททางสังคมไทย” แล้วครูอีกคนหนึ่งก็แย้งว่า “แต่การเป็นพลเมืองที่ดีก็ไม่ได้แปลว่าจะต้องเรียบร้อย หรือไหว้สวยเสมอไปนี่คะ เราสอนให้เขาคิดเป็น กล้าแสดงออกก็ได้” 

จากข้อเสนอของครูทั้งสองคน ท้ายที่สุดผู้อำนวยการเลือกความคิดเห็นของครูคนแรกซึ่งเสนอให้นักเรียนแสดงมารยาทไทยให้คณะกรรมการประเมินได้ดู โดยเหตุผลที่ผู้อำนวยการยกขึ้นมาสนับสนุนคือ “เพราะคณะกรรมการต้องชอบกิจกรรมในลักษณะนี้แน่เลย” ฉายชัดให้เราเห็นว่าระบบการศึกษาไทยให้คุณค่ากับความเป็นไทยในกรอบอันคับแคบ ทั้งยังมองฉากหน้าอย่างการ ‘ไหว้สวย’ เป็นเกณฑ์ในการวัดมาตรฐานเกี่ยวกับการเรียนรู้ ส่งผลให้หมุดหมายของการเรียนรู้ผิดแผกไปจากที่ควรจะเป็น 

การประเมินกลายเป็นพื้นที่ในการพูดถึงภาพลักษณ์ที่ดีงามมากกว่าพูดเรื่องการคิด การแสดงออก ตัวตน และการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งอาจเป็นข้อมูลที่มีความหมายต่อการประเมินที่จะนำไปวิเคราะห์และหาทางพัฒนาโรงเรียนและนักเรียนต่อไปได้มากกว่า 

ภาพจาก: อานนเป็นนักเรียนตัวอย่าง | Arnold is a Model Student (ตัวอย่างภาพยนตร์)

เรียนไปได้อะไรบ้าง ถามจริง (?)

ประเด็นสำคัญที่ภาพยนตร์สอดแทรกไว้หลายฉากตอนอีกประเด็นหนึ่งคือ เรื่องว่าด้วย ‘ห้องเรียน’ ที่ไม่อาจมอบคำตอบหรือคำอธิบายให้กับนักเรียนได้มากไปกว่า ‘วิชานี้คือสิ่งที่ต้องเรียนหรือต้องทำ’ อย่างในชั้นเรียนวิชา ‘หน้าที่พลเมือง’ ที่ครูผู้สอนยืนอ่านข้อความในหนังสือเรียนไปทีละบรรทัด ซึ่งในวิชานี้ฉายภาพที่อานนหลับในชั้นเรียนแล้วครูก็โยนชอล์กใส่เขาจนตื่น ก่อนจะตำหนิและสั่งให้เอาเสื้อเข้าข้างใน ซึ่งเกิดบทสนทนาที่ทำให้เราขบคิดต่อ 

“เธอสนใจเรียนสักวิชาไหม” 

“ถ้าผมเห็นควรว่ามันสำคัญจริงๆ มีประโยชน์จริงๆ ผมก็จะเรียนครับ” อานนตอบกลับ 

ครูอธิบายต่อด้วยความโกรธว่า 

“วิชาฉันกระทรวงศึกษาธิการบังคับให้เป็นวิชาหลักนะ” 

จากบทสนทนาข้างต้นจะเห็นว่าคำอธิบายของครูไม่สามารถให้คำตอบที่ดีกับอานนได้ แต่ใช้อำนาจแห่งการเป็น ‘วิชาบังคับ’ มาเป็นข้ออ้างว่าทำไมอานนจะต้องเรียน ซึ่งเป็นเพียงเปลือกนอกหรือสถานะของวิชานี้ หาใช่แก่นแกน เป้าประสงค์ หรือความสำคัญของวิชาหน้าที่พลเมือง เมื่อการมีสถานะเป็นวิชาบังคับถูกให้ความสำคัญมากกว่าความหมายหรือความสำคัญของวิชานั้น โอกาสของนักเรียนในการทำความเข้าใจหรือเห็นคุณค่าต่อสิ่งที่กำลังเรียนรู้อยู่ จึงสูญหายไปด้วยอย่างน่าเสียดาย 

อีกตอนหนึ่งที่น่าสนใจ คือตอนที่อานนและเพื่อนแอบมาหลังโรงเรียนแล้วคุยกันเรื่องการเรียนวิชาทหาร หรือที่เรามักคุ้นเคยกันในชื่อการเรียน ‘รด.’ (ย่อมาจากโรงเรียนรักษาดินแดน) 

“เรียนไปมึงได้อะไรบ้าง ถามจริง” 

“ก็เรียนไปจะได้ไม่ต้องไปเกณฑ์ทหารไง” 

เป็นบทสนทนาที่จริงเสียยิ่งกว่าจริงที่เด็กชายไทยหลายคนพบเจอ ทั้งยังสะท้อนให้เราเห็นว่าความหมายของการเรียนวิชาหนึ่งๆ เป็นไปเพื่อรับใช้คุณค่าบางอย่างและเป็นไปเพื่อรอดพ้นจากระบบโครงสร้างใหญ่ที่ทำให้ไม่มีทางเลือกอย่างการเกณฑ์ทหาร จึงเป็นวิชาที่ต้อง ‘ทน’ เรียนไป แม้จะไม่รู้และมองไม่เห็นเลยว่ามีความหมายต่อตัวเองอย่างไร 

ภาพยนตร์ยังชี้ชวนให้เห็นว่าระบบการศึกษาไม่สามารถช่วยให้เด็กค้นพบตัวเองหรือมีภาพความเป็นไปได้ที่หลากหลายเกี่ยวกับอนาคต ดังที่เพื่อนของอานนตั้งคำถามหนึ่งขึ้นมาว่า “มึงคิดว่าโตไปพวกเราจะคิดอะไรกันอยู่วะ คิดเรื่องงาน คิดเรื่องเงิน คิดแบบนี้ทั้งวี่ทั้งวันแม่งน่าเบื่อนะเว้ย” ซึ่งเป็นการจินตนาการถึงอนาคตแบบที่ผู้คนจำนวนมากเป็น เพราะระบบการศึกษาและสังคมก็ทำให้เราคิดว่าการเรียนหรือการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อที่จะนำไปสู่การสอบเข้าได้ การมีงานทำ มีเงิน แต่กลับไม่ได้ทำให้เราเข้าใจชีวิตตัวเอง เข้าใจสังคม เข้าใจคนอื่น และมีความมั่นใจที่จะค้นหาเติบโตในเส้นทางชีวิตของตัวเอง เราจึงเห็นเพื่อนๆ ของเขาตอบกลับมาในทำนองที่ว่าไม่มีจุดหมายที่อยากจะไป หรือไปก็เพียงเพราะจะต้องทำแบบที่คนอื่นๆ ทำก็เท่านั้น 

“กูยังไม่รู้เลยว่ะ ว่าโตไปอยากทำงานอะไร หรือว่าอยากเรียนอะไร” 

“เหมือนกูเลย กูคิดว่าถ้ากูติดที่ไหนก็เรียนที่นั้น”

“แม่กูคงบังคับให้กูเรียน ม.เอกชนสักที่ โดยที่ไม่ถามกูว่าจะอยากเรียนสาขาอะไรที่ไหนยังไง”

ฉากหลังโรงเรียนสวัสดีศึกษา

ภายใต้ชื่อโรงเรียนสวัสดีศึกษาที่อาจแปลได้หลายความหมาย ทั้งความดี ความงาม ความเจริญรุ่งเรือง ความปลอดภัย แต่ฉากหลังของโรงเรียนสวัสดีศึกษาที่ภาพยนตร์ถ่ายทอดให้เราเห็น กลับเต็มไปด้วยความหวาดกลัว ความรู้สึกไม่ปลอดภัยจากการที่ถูกลงโทษ หรือครูใช้อำนาจละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ความรู้สึกหลงทาง การไม่อาจมองเห็นชีวิตตัวเองในอนาคตผ่านระบบการศึกษาได้ การไม่รู้ว่าจะเติบโตต่อไปในเส้นทางไหน ไปจนถึงการร่วงหล่นจากโอกาสในการเรียนรู้หลายต่อหลายครั้งของเด็กๆ จากการมุ่งรักษาคุณค่าและฉากหน้าอันดีงามของระบบการศึกษาไทย จนละลืมสิ่งสำคัญและเป้าหมายที่จะทำให้นักเรียนเติบโตไปเป็นพลเมืองที่เข้าใจตัวเองและโลก 

ภายใต้ชื่อโรงเรียนสวัสดีศึกษา เมื่อมองในมุมหนึ่งก็อาจจะสื่อสารได้ตรงไปตรงมาอยู่เพียงอย่างเดียว คือเป็นโรงเรียนที่ให้ความสำคัญกับการสวัสดี ผ่านท่าทางการ ‘ไหว้สวย’ ตามมารยาทแบบไทย กระนั้นแล้วเด็กๆ ก็ทำสิ่งนี้ไปโดยไม่ได้มีความสุขในแววตาและมีสีหน้าที่ไม่เป็นธรรมชาติอย่างมนุษย์เลย อีกทั้งโอกาสในการเรียนรู้เรื่องความเคารพซึ่งกันและกันอาจเลือนหายไปกับการคอยกราบหรือไหว้ให้พร้อมเพรียงกันและภาพออกมาสวยงาม

นอกจากคำถามที่ว่าเราจะทำอย่างไรให้ทุกคนเข้าถึงและไม่หันหลังให้กับระบบการศึกษา ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ทำให้ถามต่อไปอีกว่า

ระบบการศึกษาไทยที่เป็นอยู่นี้ได้หันหน้าเข้าหานักเรียนจริงๆ แล้วหรือยัง?

หรือมุ่งมั่นเพียงสร้างฉากหน้าที่รับใช้ชุดคุณค่าแบบใดแบบเดียว 

แล้วมองเห็นนักเรียนเป็นหนึ่งในตัวละครประกอบฉากของระบบทั้งหมดเท่านั้น 

ภาพจาก: อานนเป็นนักเรียนตัวอย่าง | Arnold is a Model Student (ตัวอย่างภาพยนตร์)

Writer
Avatar photo
ศิรินญา

หาทำอะไรไปเรื่อยๆ ตามประสาวัยลุ้น

illustrator
Avatar photo
พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts

Related Posts