แผ่นดินและผืนป่าคือพื้นที่คืนความเป็นตัวเอง กับ vision quest กระบวนการที่จะพากายและใจเรากลับบ้าน
แผ่นดินและผืนป่าคือพื้นที่คืนความเป็นตัวเอง กับ vision quest กระบวนการที่จะพากายและใจเรากลับบ้าน
- กระบวนการ vision quest หรือ นิเวศภาวนา เป็นกระบวนการที่สืบทอดมาจากภูมิปัญญาโบราณของผู้คนหลากหลายวัฒนธรรม
- “ผู้นำทาง” หรือ “ไกด์” หรือ “เพื่อนเดินทาง” สำหรับคนที่ต้องการเดินทางภายใน ต้องการเข้าใจชีวิต หรือค้นหาจิตวิญญาณของตัวเอง โดยมีหน้าที่ “รับฟัง“ “ตั้งคำถาม“ “ให้ความหมาย“ ในสิ่งที่แต่ละคนค้นพบระหว่างทาง
- ณัฐฬส วังวิญญู – ‘กระบวนกร’ ‘ไกด์’ ‘ผู้นำทาง’ ‘เพื่อนเดินทาง’ จัดกระบวนการเรียนรู้ในรูปแบบของ vison quest หรือนิเวศภาวนาที่พาคนเดินทางเข้าไปในป่า ค้างคืนกลางขุนเขาเพื่อปลีกวิเวกออกจากสังคม ภาระหน้าที่ บทบาท ความคาดหวังในชีวิตและก้าวเดินเข้าสู่หนทางภายใน
“แล้วเราจะพบพื้นที่ที่เหมาะกับเราเอง”
เป็นคำกล่าวที่ ณัฐฬส วังวิญญู ‘กระบวนกร’ ‘ไกด์’ ‘ผู้นำทาง’ ‘เพื่อนเดินทาง’ ที่จัดกระบวนการเรียนรู้ในรูปแบบของ vison quest หรือนิเวศภาวนาที่พาคนเดินทางเข้าไปในป่า หาพื้นที่ที่เหมาะสมในการค้างคืนกลางขุนเขาเพื่อปลีกวิเวกออกจากสังคม ภาระหน้าที่ บทบาท ความคาดหวังในชีวิตและก้าวเดินเข้าสู่หนทางภายใน หรือที่เขาเรียกว่า journey down ซึ่งเป็นการเดินทางเข้าสู่โลกภายใน เพื่อข้ามผ่านและค้นพบจิตวิญญาณที่แท้จริงของตัวเอง โดยผ่านสามขั้นตอนหลักของนิเวศภาวนา คือ สลัดละ (severance) ข้ามผ่าน (treshold) และหลอมรวม (incorporate) โดยทั้งสามกระบวนการนั้นเขาร้อยเรียงขึ้นจากประสบการณ์ของการค้นคว้าตำรับตำราและเรื่องเล่าของชนเผ่าต่าง ๆ การได้ปฏิบัติภาวนาและเรียนรู้กับเส้นทางวัชรญาณ และประสบการณ์การเดินทางภายในของตัวเขาเอง
ณัฐฬส วังวิญญู จบการศึกษาด้านผู้นำสิ่งแวดล้อม (Environmental Leadership) จากมหาวิทยาลัยนาโรปะ (Naropa University) สหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัยนี้มีแนวทางการจัดการศึกษาแบบ contemplative education ที่เชื่อมโยงความรู้ภายนอกกับความตระหนักรู้ภายใน
หลังจากกลับมาเมืองไทย เขารับบทบาทเป็นกระบวนกรที่ชวนผู้คนเรียนรู้เรื่องการพัฒนาตัวเอง พัฒนาความเป็นผู้นำ และพัฒนาความเป็นทีมผ่านกระบวนการสุนทรียสนทนาแบบ Bohmian Dialogue ที่ใช้วิธีการสร้างบรรยากาศการพูดคุยเพื่อหาคำตอบบางอย่างร่วมกัน ซึ่งเป็นงานที่เขาผสานเอาแง่มุมทางจิตวิญญาณไปสู่การหล่อเลี้ยงชีวิตทางกายภาพ
แต่ในอีกบทบาทหนึ่ง เขานิยามตัวเองว่าเป็น “ผู้นำทาง” หรือ “ไกด์” หรือ “เพื่อนเดินทาง” สำหรับคนที่ต้องการเดินทางภายใน ต้องการเข้าใจชีวิต หรือค้นหาจิตวิญญาณของตัวเอง โดยเพื่อนร่วมทางมีหน้าที่ “รับฟัง“ “ตั้งคำถาม“ “ให้ความหมาย“ ในสิ่งที่แต่ละคนค้นพบระหว่างทาง โดยมีชุดความรู้บางอย่างที่จะช่วยให้คนทำความเข้าใจกับเรื่องที่เกิดขึ้นภายในตัวพวกเขาได้ ผ่านกระบวนการที่ใช้ชื่อว่า vision quest หรือนิเวศภาวนา
“การเดินทาง” ที่มีจุดหมายอยู่ที่ภายใน
การเดินทางอาจหมายถึงการเก็บสัมภาระ เลือกเส้นทาง เลือกวิธีการเดินทาง แล้วก้าวออกจากบ้านเพื่อไปสู่จุดมุ่งหมาย อาจจะเดินทางด้วยตัวเอง หรือมีไกด์นำทางเมื่อเราจำเป็นต้องไปในที่ที่ไม่คุ้นเคย และอาจไม่รู้ความสำคัญของหมุดหมายแต่ละแห่งที่เรากำลังไป
เช่นเดียวกับการเดินทางเข้าสู่โลกภายใน ที่หลายครั้งเราจำเป็นต้องไปอยู่ในดินแดนที่เราไม่รู้จัก ไม่คุ้นเคย และหลายครั้งเรารู้สึกไม่มั่นคง หากมีเพื่อนเดินทางที่เคยผ่านเส้นทางนี้มาก่อน บอกได้ว่าที่ที่เราจะไปอาจจะเจออะไร หรือเมื่อเจอแล้วก็ช่วยยืนยันได้ว่าเดี๋ยวเราจะข้ามผ่านมันไปได้ ก็คงรู้สึกอุ่นใจไม่น้อย
ณัฐฬสสนใจเรื่อง “ภายใน” ของมนุษย์ จากคำถามง่าย ๆ ที่ว่า “มนุษย์มีอะไร นอกเหนือจากการอยู่รอดในแต่ละวัน”
“เราสนใจว่าชีวิตมันน่าจะมีมากกว่ามิติที่เรามองเห็นก็คือเป็นเรื่องของความหมาย หรือจิตวิทยาว่าทำไมคนเราถึงมีแรงขับอย่างนี้ หรือพฤติกรรมของแต่ละคนทำไมถึงต่างกัน ก็ทำให้สนใจที่จะสังเกตชีวิต ยิ่งสังเกตก็ยิ่งเห็นว่ามันมีสคริปต์บางอย่างที่ทำให้คนแต่ละคนต่างกัน ทำให้ทุกคนมีความพิเศษ เป็นความพิเศษที่ไม่ต้องบรรจงสร้าง แต่เป็นสิ่งที่เขามีติดตัวมาอยู่แล้ว ซึ่งมันคือ soul”
แล้ว Soul คืออะไร? ณัฐฬสอธิบายว่า ชีวิตมนุษย์จำเป็นต้องมีอะไรบางอย่างที่มากกว่าการใช้ชีวิตอยู่ตามปกติในสังคม ซึ่งอาจจะเป็นวิธีการ กระบวนการ หรือศิลปะแขนงต่าง ๆ ที่ช่วยให้มนุษย์สามารถแสดงความเป็นตัวเองออกมาได้ สิ่งเหล่านี้เรียกว่า การเดินทางทางจิตวิญญาณ หรือ spiritual journey ที่ประกอบด้วย 3 ระดับ ได้แก่ upper journey, middle journey และ down journey
“upper journey คือสิ่งที่ศาสนาพยายามบอก เป็นการอธิบายว่าร่างกายเนื้อหนังมังสาไม่พึงประสงค์ ต้องไปอยู่บนฟ้า ไปอยู่ในภาวะอมตะคือร่างกายมันไม่อมตะ มันถึงตาย ดังนั้น คำมั่นสัญญาของศาสนาทั้งหลายคือ บอกผู้คนว่าไม่ต้องกลัวหากทิ้งร่างกายเหล่านี้ไปแล้วจะเป็นอะไร เพราะคุณจะไปหลอมรวมกับความรักอันไร้เงื่อนไขของพระเจ้า อันนี้ก็เป็น journey up ศาสนาทั้งหลายก็จะมีคำแนะนำจำพวกนี้ ‘ให้เดินขึ้น’ ‘ให้ทิ้งโลก’ ‘ให้ทิ้งตัวตน’”
ในขณะที่ upper journey คือปัญญาในระดับจิตวิญญาณ middle journey คือปัญญาระดับการใช้ชีวิตอยู่บนโลก เป็นการเรียนรู้ที่จะอยู่อย่างมีความสุขบนโลกนี้ ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนที่สุด คือเรื่องจิตวิทยา แนวทางการเลี้ยงลูก รวมไปถึงการเยียวยาอดีต เพื่อสร้างความสุขในชีวิต
“ส่วน journey down เป็นการเดินทางเพื่อลงลึกสู่จิตวิญญาณ จะเป็นการละอีกรูปแบบ ไม่ได้ขึ้นข้างบน แต่เป็นการละเพื่อไปค้นหาราก ค้นหา soul เดิมแท้ของเรา ว่าคืออะไร ตรงส่วนนี้ต้องแยก soul กับ ego ให้ออกก่อน ego อยู่ใน middle journey คือทำให้เรามีความสุขทางโลก แต่ soul ไม่ใช่ soul ไม่สนใจว่าใครจะรักเราไหม soul สนใจว่าเราได้เป็นแบบที่เราเป็นตัวเราแล้วหรือยัง”
ณัฐฬสกล่าวว่า หากเราเข้าใจ soul ของตัวเองมากขึ้น ก็อาจจะเติมเต็มตัวเองได้มากขึ้น ประเด็นนี้จะเชื่อมโยงกับนิเวศภาวนา หรือ vision quest ซึ่งเป็นกระบวนการคลี่ออกของจิตใจ หรือจิตวิญญาณ เพื่อให้เห็น soul ของตัวเองนั่นเอง
ออกเดินทางตามหา soul
ณัฐฬสอธิบายว่า โดยทั่วไป โจทย์ของคนเราจะอยู่ใน ระดับ middle journey เช่น ทะเลาะกับลูก ทะเลาะกับพ่อแม่ การทำมาหากิน ส่วนโจทย์เรื่อง soul นี้ จะเกิดขึ้นเองในช่วงกลางของชีวิต หรือช่วงอายุราว 30 – 40 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่หลายคนเติมเต็มด้านเศรษฐกิจและครอบครัว ทว่ากลับยังรู้สึกไม่มีความสุข รู้สึกว่ายังไม่พอใจ และนำไปสู่คำถามที่ว่าสิ่งที่ทำอยู่และเป็นอยู่นี้ มัน “ใช่ตัวเอง” หรือไม่
“คำว่าใช่ตัวเองไหม เป็นภาษาของการถามว่า ‘ฉันคือใคร’ ทุกอย่างดีหมดแล้ว แต่มันยังขาดอะไร เหมือนเรากินอาหารเดิมที่เคยอร่อยแล้วไม่อร่อย ดนตรีที่เคยฟังแล้วเพราะ มันไม่เพราะ อะไรก็ตามที่เคยให้ความสุขเรา ในตอนนี้มันไม่เวิร์กแล้ว อันนี้คือทางแยกเลยว่าจะไปทางไหนดี ส่วนใหญ่จะอยู่ราว ๆ อายุ 35 ขึ้นไป จะเกิด spiritual calling หรือมักจะเกิดวิกฤติบางอย่าง อาจจะไม่ได้ทิ้งเรื่องปากท้อง เพียงแต่ว่าตัวเราจะมองหาความหมายเยอะกว่าในอดีต ก็จะต้องเริ่มมีกระบวนการที่มาช่วยเรื่องเหล่านี้ vision quest ก็เป็นหนึ่งในกระบวนการแบบนั้น”
กระบวนการ vision quest หรือ นิเวศภาวนา เป็นกระบวนการที่สืบทอดมาจากภูมิปัญญาโบราณของผู้คนหลากหลายวัฒนธรรม เช่น ชนพื้นเมืองในทวีปอเมริกา หรือชาวพื้นเมืองออสเตรเลีย กระบวนการนี้จะเป็นการพาคนค่อย ๆ วางตัวตนที่สังคมและความคาดหวังจากคนรอบตัวมอบให้ วางบทบาทจากหน้าที่การงาน วางความเคยชินในวิถีชีวิตประจำวัน วางสถานะทางสังคม และวางความกังวล ด้วยก้าวเดินสู่อ้อมกอดของธรรมชาติและป่าเขา เพื่อค้นหาคำตอบสั้น ๆ ว่า หากปราศจากสิ่งเหล่านี้แล้ว ‘เราคือใคร’
เพื่อตอบโจทย์การค้นหาความหมายของชีวิตผ่านกระบวนการ vision quest ณัฐฬสรับหน้าที่เป็น “ไกด์นำทางด้านจิตวิญญาณ” ที่จะพาทุกคนเดินทางเข้าสู่ “ข้างใน” ของตัวเอง ที่ซึ่งบางคนอาจจะเจอบาดแผลเดิม เจอรูปแบบชีวิตต่าง ๆ หรืออาจจะค้นพบความเข้าใจใหม่ ๆ
“อย่างบางทีคนมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับคนรักในปัจจุบัน เรื่องนี้อาจไปโยงกับสิ่งที่มันเคยเป็นแผลในใจจากอดีต พอได้เห็นความเชื่อมโยงนี้ ก็ทำให้เกิดความเข้าใจและให้ความหมายกับมันใหม่ เป็นการกลับไปมองเพื่อให้โลกภายในมันจบอย่างสมบูรณ์กับอดีต หรือบางคนเคยเจอประสบการณ์การถูกบูลลี่ แล้วทำให้เขาต้องสร้างตัวตนแข็ง ๆ ของเขาขึ้นมา หลีกเลี่ยงการทำตัวน่ารัก เพื่อให้ตัวเองอยู่รอด เพราะถ้าน่ารักจะโดนบูลลี่ ตัวจริงของเขาอาจจะเป็นคนน่ารักก็ได้ แต่ประสบการณ์ในอดีตสะกดเขาไว้ไม่ให้เขาทำ หน้าที่ของเราก็จะเป็นไกด์ เป็นคนช่วยเยียวยา เป็นเพื่อนข้าง ๆ ระหว่างเขากำลังเยียวยาตัวเอง” ณัฐฬสกล่าวถึงหน้าที่ไกด์นำทางของเขา
vision quest จะเป็นกระบวนการที่ใช้เวลาประมาณ 3 วัน 2 คืน โดยผู้ที่เข้ากระบวนการต้องอดอาหาร และอยู่เพียงลำพังในป่า โดยผู้เข้าร่วมจะผ่าน 3 หมุดหมายสำคัญ ที่เสมือนหมุดหมายแต่ละขั้นของชีวิต ได้แก่
สลัดละ (Severance) ช่วงเวลาแห่งการตระเตรียมให้พร้อมจะละจากโลกที่เคยชิน และชีวิตเดิม ๆ ที่คุ้นเคยในปัจจุบัน ลองทิ้งทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งภาระ ความคาดหวัง ความกังวล เอาไว้เบื้องหลัง เพื่อเดินทางไปสู่ธรรมชาติ
ข้ามผ่าน (Threshold) ช่วงเวลาที่แต่ละคนจะมีอุปสรรคที่ผ่านเข้ามาให้ ลอง เผชิญหน้า หลุดออกจากวิธีเดิม ลอกคราบ เป็นช่วงที่เราจะได้ข้ามผ่านข้อจำกัดหลุดออกจากกรอบเดิมที่จำกัดศักยภาพภายใน ได้เผชิญหน้ากับบางสิ่งที่เหนี่ยวรั้งตัวเราไว้ เป็นช่วงเวลาของการค้นพบสิ่งใหม่ ๆ หรือได้รับของขวัญจากธรรมชาติ หลายคนได้รับนิมิตหรือภารกิจของชีวิต (Life vision/mission) ที่ชัดเจนขึ้น
หลอมรวม (Incorporation) คือการนำเอาบทเรียนที่ได้รับกลับมาเพื่อประโยชน์แก่ตนเอง ครอบครัว และสังคม
ณัฐฬสเล่าว่า การอดอาหารและการอยู่คนเดียว คือ “การละ” ซึ่งเป็นหมุดหมายแรกของ quest หมายถึงการทิ้งบ้าน ทิ้งที่อยู่ที่ให้ความมั่นคงอบอุ่น ผู้ที่เข้าร่วมกระบวนการจะได้รับคำแนะนำให้บอกลาและขอพรจากคนที่บ้าน เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าเขากำลังจะ “ตายจากตัวตนเดิม” เพราะคนที่กลับมาจาก quest จะไม่ใช่คนเดิมอีกต่อไป
“ในขั้นตอนนี้สำหรับบางคนก็รู้สึกว่าได้ทำงานเยอะมาก เพราะหลายคนเป็นคนที่มีทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง ไม่เคยขอพรใคร แต่พอเริ่มกระบวนการนี้โดยการให้ไปขอพรพ่อแม่ เขาน้ำตาไหลเลย พอเขาได้ทำก็รู้สึกดี ได้นึกถึงว่ามันมีสิ่งที่เรียกว่า ‘พร’ มีคนที่ยังคิดถึงเรา อธิษฐานให้เรา มันมีพลัง มันมีผลต่อจิตใจ” ณัฐฬสกล่าว
และเมื่อเดินทางมาถึงป่า ก็จะมีพิธีละทิ้งสิ่งของที่เป็นสัญลักษณ์ของความเคยชิน บางคนทิ้งแว่นตา นาฬิกา โทรศัพท์มือถือ เสื้อผ้า เครื่องประดับ เพื่อออกเดินทางไปสู่ธรรมชาติ ปลดเปลื้องตัวเองจากสถานะทางสังคม ความคาดหวังของสังคม เพื่อทำตามสัญชาตญาณของตัวเอง
กระบวนการ vision quest ในแต่ละครั้ง ผู้เข้าร่วมจะเผชิญกับวิกฤติ หรืออุปสรรค ซึ่งจะทำให้กระบวนการเดินทางนั้นมีความหมาย อุปสรรคที่ว่านี้ก็มีหลากหลาย ตั้งแต่ทางกายภาพ เช่น พื้นไม่เรียบ นอนไม่ได้ ไม่สบายกาย อุปสรรคทางใจ เช่น นอนไม่หลับ กังวล หรืออุปสรรคทางความคิด เช่น ความกลัว กลัวผี กลัวถูกทำร้าย กลัวอด เป็นต้น
“ถ้าเราอยู่บ้าน อยู่ในที่ที่คุ้นเคย พอเรามีความกลัว เราจะรีบจัดการเลย เช่น กลัวความมืด ก็รีบไปเปิดไฟ เราจะรีบจัดการเพื่อหนีออกจากความกลัว แต่การไป quest ไปอยู่ในป่ามันหนีไม่ได้ เราต้องเผชิญหน้ากับมัน สบตากับความกลัว เพื่อที่จะเข้าใจว่าความกลัวคืออะไร อันนี้เป็นหนึ่งในอุปสรรคที่แต่ละคนจะได้เผชิญ”
“ความคิดมันจะดังมาก ยิ่งถ้าเราอยู่คนเดียว ท่ามกลางป่าเขา ความคิดมันจะถูกกวนให้ขึ้นมา บางคนพบว่า อยู่คนเดียวแล้วคิดมาก และคิดชัดมาก คิดจนอยู่ดี ๆ มันก็เงียบไป เหมือนความกลัว กลัวจนเงียบไป แล้วเพิ่งเข้าใจว่า ความกลัวคือความคิด”
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้เผชิญหน้ากับความกลัว เพราะประสบการณ์ที่ผู้เข้าร่วมกระบวนการได้รับ มักจะแตกต่างกันออกไป ณัฐฬสเล่าว่า บางคนรู้สึกสนุกสนานจากการที่ได้เป็นตัวเองอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน บางคนได้เผชิญกับความเปราะบางของตัวเอง บางคนได้เผชิญหน้ากับอดีต และหลังจากการปลีกวิเวก ทุกคนจะกลับมานั่งล้อมวงพูดคุยกันถึงการเดินทางของตัวเอง ซึ่งแต่ละเรื่องนั้นก็ไม่ธรรมดาเลย
“หลายคนมาที่ quest มีเป้าหมายเพื่อข้ามผ่านความโศกเศร้า มีผู้หญิงคนหนึ่งทั้งพ่อแม่ที่เธอดูแลเสียชีวิตทั้งคู่ก่อนโควิด-19 แล้วพอเจอโควิด-19 ธุรกิจเธอก็ล้มไปด้วย การมา quest นี้จึงเป็นการมาเพื่อ complete กับชีวิตบางช่วงของตัวเอง ก่อนที่จะไปสู่ขั้นถัดไปของชีวิต เขาเป็นคนที่ไม่เคยเข้าป่า ไม่มีเต็นท์ ไม่เคยกางเต็นท์ มาขอยืมใช้ แต่เดินไปไกลที่สุดจนได้พบว่าที่ที่จะไปกางเต็นท์ที่เป็นที่ปลีกวิเวกเป็นพื้นที่ที่ใช่ ตรงนั้นคือริมหน้าผาเลย พอออกมาจาก quest เขากลายเป็นคนใหม่ รู้สึก complete กับการเดินทางในจุดหนึ่งของชีวิต ยอมรับได้และพร้อมไปต่อ”
“บางคนก็ไม่ได้ออกมาในรูปแบบความเศร้านะ บางคนก็อยากจะเป็นเด็กชุดสีแดง ใส่เสื้อผ้าแบบสบาย ๆ แบบไม่ต้องระมัดระวังอะไร ถอดรองเท้าเดิน อยากปีนป่าย อาบน้ำแก้ผ้า นอนอาบแสงจันทร์ เขาก็ได้เป็นตัวเขาอย่างเต็มที่ อันนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญสำหรับบางคน เพราะในชีวิตการทำงานเขาทำแบบนี้ไม่ได้”
แม้สิ่งที่ผู้เข้าร่วมกระบวนการค้นพบจะแตกต่างกันออกไป แต่สิ่งที่ทุกคนมักจะค้นพบเหมือน ๆ กัน คือ “ความรักจากแม่” ซึ่งหมายถึง “แม่ธรรมชาติ” หรือ Mother Earth ที่ทำให้ทุกคนรู้ว่า คนเราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และการเข้าป่าก็เปรียบเสมือนการได้กลับบ้าน ซึ่งเป็นบ้านของจิตวิญญาณนั่นเอง
“ส่วนใหญ่ไปแล้วอย่างน้อยที่สุดทุกคนก็จะได้พลังงานชีวิต แต่มันก็ไม่ได้ว้าวกับทุกคนนะ แต่ละคนจะไม่เหมือนกัน เพราะสถานการณ์ในชีวิตของคนต่างกัน และบางคนความหมายมันจะชัดเจนหลังจากกลับมาแล้วสักพักหนึ่ง บางคนก็ได้พบว่าตัวเองเชื่อมโยงกับป่า เชื่อมโยงกับธรรมชาติ ได้หยั่งรากให้ชีวิตมั่นคง ได้รู้สึกว่าตัวเองก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ฉันไม่ได้กำพร้า ฉันเป็นลูกที่มีพ่อแม่ ป่าและธรรมชาติเป็นพ่อเป็นแม่ และเป็นพ่อแม่ที่ต่างออกไป ไม่มีเงื่อนไข ไม่มีอารมณ์ กลับมาได้เสมอ มีความรักพร้อมให้เสมอ ธรรมชาติให้สิ่งนั้นกับเราทุกคนแบบไม่มีเงื่อนไข ไม่ต้องนับถือศาสนาอะไร ไม่ต้องอยู่ในสถานะทางสังคมแบบไหน”
นี่คือสิ่งที่ ‘คนนำทาง’ หรือ ‘ไกด์’ ใน vision quest จะพาไปพบเจอ
Writer
มิรา เวฬุภาค
Photographer
ชัชฐพล จันทยุง
หลงรักการบันทึกรอยยิ้มและความรู้สึกเป็นภาพถ่าย
illustrator
กรกนก สุเทศ
เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง