ใจดีแต่ไม่ใจอ่อน คาถาเรียกสติก่อน ‘ถอนพิษ’ พ่อแม่
ใจดีแต่ไม่ใจอ่อน คาถาเรียกสติก่อน ‘ถอนพิษ’ พ่อแม่
- “ไม่ใช่แค่พ่อแม่ แต่ทุกคนเคยพ่นพิษและเคยทำให้คนอื่นบอบช้ำใจ”
- เมื่อทุกคนเป็นพิษได้ พ่อแม่ก็เป็นพิษได้ เพราะรัก คาดหวัง และควบคุมมากไป ควบคุมมากไป ไม่มีเวลา และไม่มีอยู่จริง สิ่งเหล่านี้อาจเป็นสัญญาว่าพ่อแม่กำลังเป็น ‘พิษ’
- mappa ชวนพ่อแม่ถอนพิษด้วยหลัก Kind but firm ใจดีแต่ไม่ใจอ่อน เรียกสติพ่อแม่ก่อนทุกอย่างจะสายเกินไป
“พ่อแม่ทุกคนเคยเป็นพิษ”
ไม่ว่าจะมีผลมากหรือน้อย ทุกการกระทำ ทุกการตัดสินใจ ทุกคำพูดของพ่อแม่ส่งผลต่อความรู้สึกของลูกเสมอ ถึงแม้ว่าสิ่งเหล่านั้นพ่อแม่จะทำเพื่อความสุขของลูก แต่เด็กในบ้านอาจไม่คิดแบบนั้น
เพราะความรักและหวังดีของพ่อแม่ คือ ‘พิษ’ ที่ค่อยๆ กัดกินและทำลายตัวตนของทุกคนในครอบครัว โดยเฉพาะลูกจนตัวตนเหล่านั้นหายไปและยากจะหวนคืนกลับมา
ก่อนทุกอย่างจะสายเกินไป mappa จึงชวน ‘ครูเม’ เมริษา ยอดมณฑป นักจิตวิทยาเด็กและครอบครัว เจ้าของเพจ ตามใจนักจิตวิทยา และ ‘เสก’ สุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์ ผู้ก่อตั้ง toolmorrow ร่วมพูดคุยใน mappa live ครั้งที่ 11 Toxic Parents : ช่วยพ่อแม่ถอนพิษ ด้วยหลักคิด Kind but Firm พาคุณพ่อคุณแม่ตั้งสติก่อนถอนพิษ
สยบอารมณ์ตัวเอง วางความคาดหวังและชุดข้อมูลต่างๆ ลง กลับมาถามลูกและตัวเองอีกครั้งว่า ฉันรู้สึกอย่างไร ลูกต้องการอะไร และเราทั้งสองฝ่ายกำลังมีความสุขบนความสัมพันธ์นี้อยู่หรือเปล่า
หลายบ้านลืมเรียกสติ สุดท้ายอารมณ์มาก่อนเหตุผล เพราะเหตุการณ์จริงมันไม่ง่ายเหมือนที่คิด จะให้พ่อแม่ใจดี รับมือกับลูกทุกครั้งด้วยเหตุผล บางครั้งก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก
พ่อแม่จึงจำเป็นต้องท่องคาถาเรียกสติก่อน ยึดหลักใจดีแต่ไม่ใจอ่อน (Kind but Firm) เริ่มนับหนึ่งถอนพิษในตัวเอง เพื่อให้บ้านเป็นพื้นที่แห่งความสุขและเป็นที่พักพิงทางใจที่มีอยู่จริงของทุกคนในครอบครัว
โดยไม่ต้องกลับมาถามตัวเองซ้ำอีกครั้งในทุกๆ สถานการณ์ว่า นี่ฉันกำลังป้อนพิษให้ลูกอยู่หรือเปล่า
ลูกต้องรอด แรงกดดันของพ่อแม่ที่ลูกรับรู้ได้
คำถามร่วมของพ่อแม่ที่เข้ามาปรึกษาครูเมคือ เลี้ยงลูกอย่างไรให้รอด
ครูเมบอกว่า คำถามนี้สะท้อนความทุกข์เรื่องการเลี้ยงลูกของพ่อแม่ เพราะพวกเขาไม่รู้ว่าการเลี้ยงลูกที่รู้มาวิธีไหนถูก แล้ววิธีไหนผิด และสงสัยว่าวิธีเลี้ยงลูกที่ทำอยู่ดีพอแล้วหรือยัง ถ้ายังดีไม่พอจะส่งผลกระทบต่อลูกอย่างไร
“พอมีเทคโนโลยีเข้ามาแล้วไม่ให้ลูกดู พ่อแม่ก็จะกังวลว่า ลูกจะตามโลกทันไหม จะสู้คนอื่นได้หรือเปล่า เกิดคำถามว่าทำอย่างไรให้ลูกรอดในยุคนี้ คุณพ่อคุณแม่ก็เจอปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ โควิดแล้วลูกต้องเรียนออนไลน์ มีโรคภัยใหม่ๆ เช่น ออทิสติกเทียม หรือโลกขาดธรรมชาติ ทุกอย่างประดังเข้ามา อะไรที่ไม่เคยเจอมาก่อนก็เกิดขึ้นในยุคนี้”
“พ่อแม่ไม่เคยรับมือกับเรื่องแบบนี้มาก่อน เขาต้องมาเรียนรู้และปรับตัวเพื่อจัดสมดุลในชีวิต จะจัดสมดุลแบบไหน ที่ทำอยู่ถูกแล้วใช่ไหม ควรปรับตัวอย่างไร มีวิธีแก้ก็เยอะ แต่ไม่รู้ว่าวิธีไหนดีที่สุด”
ขณะเดียวกัน ‘ความกังวลของพ่อแม่ลูกรับรู้ได้’ ยิ่งกังวลมากยิ่งส่งผลต่อความรู้สึกในใจและตัวตนของเด็กๆ
“ความวิตกกังวลที่สูงเกินไปอาจส่งผลต่อบรรยากาศภายในบ้านหรือทำให้วิธีการเลี้ยงดูลูกของเราไม่ชัดเจน เช่น วันนี้คุณแม่ใจดี อีกวันหนึ่งตีซะงั้น หรืออยู่ดีๆ ก็อาละวาด แล้วอีกวันหนึ่งเสียงหวาน ความสับสนที่เกิดขึ้นในเด็กทำให้เขาคาดเดาพ่อแม่ไม่ได้ เด็กก็จะกังวลด้วยว่าเขาควรจะทำตัวอย่างไร และสิ่งที่เกิดขึ้นตามมา คือเด็กกังวล กลายเป็นคนทำอะไรไม่สุด หรือมีความเครียดสะสม”
นอกจากลูกจะได้รับผลกระทบจากความไม่ดีพอของพ่อแม่แล้ว พ่อแม่เองก็ต้องเผชิญกับความเครียดนี้ด้วย
“พ่อแม่บางคนเครียดมาก เขารู้สึกว่าลูกเขาไม่น่ารักเลย สงสัยตัวเองว่าทำไมเราไม่ชอบลูกเวลาที่เขาเป็นแบบนี้ เรารู้แต่บางทีก็ทนไม่ไหว”
ครูเมเสริมว่า ในยุคที่เต็มไปด้วยวิธีเลี้ยงลูกและข้อมูลข่าวสารที่หลากหลาย การรู้ข้อมูลมากไปอาจเป็นความทุกข์ร่วมของทุกคนในครอบครัวโดยไม่รู้ตัว
“ความทุกข์เกิดขึ้นจากการเปรียบเทียบและการเสพข้อมูล เพราะการเห็นตัวอย่างการเลี้ยงลูกของคนอื่นในโซเชียลมีเดียหรืออ่านคู่มือของคุณหมอก็เป็นดาบสองคม ถ้าเราเสพอย่างมีสติและรู้ว่าบางอย่างมันได้ผลกับเราก็ดึงมาใช้ สิ่งไหนไม่ใช่ก็วางไว้ เราจะไม่เป็นทุกข์ เพราะเราเป็นมนุษย์ธรรมดาที่มักจะเปรียบเทียบซึ่งจะทำให้พ่อแม่กดดันตัวเองแล้วลามไปถึงลูกของเรา”
คำแนะนำของนักจิตวิทยาเด็กและครอบครัว คือ วางข้อมูลทั้งหมดลงแล้วหันกลับมามองลูกว่าเขาต้องการอะไร
“ต่อให้มีล้านวิธีเลี้ยงลูกแล้วมีคนบอกว่าวิธีการนี้ได้ผลกับครอบครัวเขามากที่สุด แต่ลูกเราเขาเกิดมาเป็นตัวเอง เด็กทุกคนมีความแตกต่างกัน ดังนั้น อยากให้คุณพ่อคุณแม่วางข้อมูลตรงหน้าแล้วกลับมาดูว่าลูกเราเป็นใคร เขาต้องการอะไร แล้วเราจะได้คำตอบที่ตรงกับเราและลูกเรา”
ขณะที่ ‘การสื่อสาร’ กันในครอบครัวเป็นปัญหาร่วมของพ่อแม่ที่เสกมองเห็นจากประสบการณ์การทำงาน เนื่องจากพ่อแม่ไม่รู้ว่าจะต้องสื่อสารกับลูกอย่างไร
“ความทุกข์ของพ่อแม่คือความกังวลว่า ทำไมพูดเสียงปกติแล้วลูกไม่ฟังหรือบางคนพูดแล้วกระทบความสัมพันธ์หรือบางคนก็ตีเลย ทำให้ระดับความสัมพันธ์ของพ่อแม่กับลูกไม่เท่ากัน”
ไม่คิดแทน ไม่คาดหวัง พ่อแม่ไม่ใช่หุ่นยนต์ แต่คือมนุษย์ที่ผิดพลาดได้
“ไม่ใช่แค่พ่อแม่ แต่เราทุกคนเคยพ่นพิษและเคยทำให้คนอื่นเจ็บช้ำ”
เมื่อคนอื่นเป็นพิษได้ พ่อแม่ก็เป็นพิษได้ แต่สิ่งสำคัญคือพอรู้ตัวว่าผิดพลาดต้องขอโทษเพื่อกอบกู้ความรู้สึกของลูกที่หายไป
“พ่อแม่ก็เป็นคน ไม่ใช่หุ่นยนต์ ผิดพลาดได้ เพียงแต่เมื่อ error แล้ว จะรู้ตัวเมื่อไร แก้ไขได้ไหม ถ้ารู้ตัวเร็ว ผมจะกอดลูก ขอโทษลูก ถามความรู้สึกเขา… โกรธพ่อใช่ไหม? ถ้าพ่อเสร็จงานแล้วมาเล่นกัน แต่ถ้าไม่คุยตอนนั้นก็จะขอโทษทีหลัง พ่อขอโทษที่ไม่ได้เล่นกับตอนนั้น เรามาเล่นกันใหม่”
หลายครั้งพ่อแม่กลายเป็นพิษเพราะรักและหวังดี หวังให้ลูกมีชีวิตดี แต่ไม่ได้ถามว่า ลูกต้องการอะไร
“ผมว่ามันเกิดจากความไม่เข้าใจและคิดแทนเด็กอยู่ฝ่ายเดียวอยากให้เขามีอนาคตที่ดี แต่กลายเป็นว่าคนหนึ่งมีความสุข อีกคนอาจจะเจ็บปวด ผมรู้สึกว่าจริงๆ ควรมีความสุขทั้งคู่”
“พ่อแม่หวังให้ลูกมีอนาคตที่ดี ต้องทำแบบนี้สิ เชื่อแม่สิ โดยไม่ถามว่าจริงๆ แล้วลูกต้องการอะไร บางคนตั้งใจพูด เห็นลูกเรียนเก่ง ชมว่าลูกเรียนเก่งเพราะลูกไปเรียนพิเศษมา แต่ไม่เคยถามว่า ลูกอยากเรียนพิเศษหรือเปล่า”
เพราะคาดหวังมากไปและรักน้อยไป เราจึงเป็นพิษ
ครูเมนิยามคำว่า ‘พิษ’ ตามหลักวิทยาศาสตร์ว่าเป็นการขาดสมดุล ไม่ขาดก็เกิน…
“ไม่ ‘เกิน’ ก็ ‘ขาด’ ถ้ารักมากเกินคือพ่อแม่ช่วยเหลือมากไปไหมหรือเปล่า สปอยล์ลูกมากไปไหม อีกแบบหนึ่งคือ ‘ขาด’ หมายถึงเราไม่ได้ให้ความสัมพันธ์ ความรัก ไม่ให้เวลา แต่เราต้องการและคาดหวังจากลูกเยอะ”
ครูเมจึงอธิบายรูปแบบพ่อแม่ที่เป็นพิษเพราะรักไว้ 3 รูปแบบ ประกอบด้วย
รูปแบบแรก คือ ปกป้องจนเกินเหตุ พ่อแม่ไม่สามารถปล่อยให้ลูกทำเอง แม้เขาจะทำได้จนลูกขาดความเชื่อมันในตัวเอง หวาดกลัวต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อพ่อแม่คาดหวังให้ลูกยืนด้วยตัวเอง แต่ลูกกลับทำไม่ได้
รูปแบบที่สอง คือ ใส่ความคาดหวังไม่ตรงกับตัวลูก อยากให้ลูกสอบเข้าป.1 โรงเรียนสาธิตดีๆ ว่าอยากให้ลูกพูดภาษาที่ 3 ได้ ทั้งๆ ที่ลูกยังพูดภาษาแรกไม่คล่อง ประเด็นนี้ครูเมบอกว่าความคาดหวังเกินวัยอาจทำให้เด็กกล่าวโทษตัวเองว่า ทำไมคนอื่นทำได้ แต่เขาทำไม่ได้
“เป็นเรื่องปกติที่ลูกจะทำไม่ได้ เขาแค่มีพัฒนาการตรงตามวัยเท่านั้นเอง ลูกเป็นแค่เด็กธรรมดาคนหนึ่ง แต่พ่อแม่ทำใจไม่ได้ เพราะอยากให้ลูกมีความพิเศษหรือโดดเด่นกว่าเด็ดคนอื่น”
รูปแบบที่สาม คือ คาดหวังว่าลูกจะทำในสิ่งที่ตัวเองเคยพลาดไป เช่น พ่อแม่สอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ต้องการไม่ได้ก็อยากให้ลูกสอบได้ เพราะคิดว่าจะเป็นจุดเริ่มเส้นทางของงานที่มั่นคง ซึ่งลูกอาจจะไม่ได้อยากทำจนทำให้ทะเลาะ ลูกถูกไล่ออกจากบ้านหรือตัดสายสัมพันธ์ แม้ลูกจะไม่ได้ทำผิด
“เด็กอาจจะไม่ได้ผิดอะไรเลย เพียงแต่เขาต้องการจะปกป้องความฝันของเขาและชีวิตของเขาเท่านั้นเอง”
กรณีนี้รวมถึงการเอาใจใส่เพื่อเติมเต็มความรู้สึกที่หายไปในวัยเด็กของพ่อแม่ กล่าวคือ ตอนเด็กๆ โดนห้าม พอมีลูกก็สปอยล์จนลูกเป็นคนที่ผิดหวังไม่เป็น เมื่อโตขึ้นแล้วต้องเจอกับความผิดหวังเขาจะไม่สามารถแบกรับสิ่งนี้ได้ไหว
“พ่อแม่ไม่ได้อยากเป็นพ่อแม่แบบที่ตัวเองเจอ แต่เราไม่รู้วิธีเป็นพ่อแม่ที่ดี เพราะเติบโตมาแบบนี้ ความคุ้นเคยทำให้เราเลือกที่จะใช้วิธีนี้ต่อไป เแม้เราจะเกลียดการตี ดุด่า แต่เวลาโกรธมากๆ ขาดสติก็เผลอไป ทำให้รู้สึกผิดทีหลังและรู้สึกมากกว่าเดิม เพราะว่าเราไม่ได้อยากเป็นพ่อแม่แบบนั้น แต่กลับเป็นเสียเอง เหมือนเราแค่เฆี่ยนตีตัวเองในวัยโต”
นอกจากนี้ ‘พิษ’ ไม่ได้แปลว่าเราต้องร้ายเสมอไป ครูเมบอกว่า บางครั้งพ่อแม่ก็ต้องเป็นงูพิษเพื่อปกป้องให้ลูกปลอดภัย แต่ถ้าพ่นพิษมากไป พิษนี้อาจทำร้ายทุกคนในครอบครัวรวมถึงพ่อแม่เอง
“คุณพ่อคุณแม่ที่รู้ตัวว่านิสัยเปลี่ยนไป อาจจะรู้สึกสั่งลูกมากไป แล้วรู้สึกผิดทีหลังแล้วว่าฉันไม่น่าทำแบบนั้นเลย คงเป็นสัญญาณว่าพิษเริ่มกัดกินหัวใจของพ่อแม่ แปลว่าพิษนั้นไม่ใช่แค่พ่อแม่เป็นคนปล่อยพิษให้ลูก แต่พิษนั้นก็สามารถทำร้ายพ่อแม่ได้ด้วยเช่นกัน”
เช็กสเตตัส เรากำลังเป็นพ่อแม่ที่ป้อนพิษให้ลูกอยู่หรือเปล่า
คนเราต่างมีทั้งด้านที่ดีและไม่ดี แล้วไม่ว่าจะเป็นลูกหรือพ่อแม่ เราก็สามารถพ่นพิษให้กันและกันได้ เมื่อความสัมพันธ์อยู่ในจุดที่ขาดความสมดุล กล่าวคือเราเผลอแสดงด้านดีหรือด้านไม่ดีมากกว่ากัน เมื่อความสัมพันธ์ไม่บาลานซ์ ก็เกิดเป็นพิษต่อกัน
การรักษาสมดุลความสัมพันธ์เป็นคีย์หลักที่จะลดพิษในความสัมพันธ์ครอบครัว ครูเมแนะนำหลักการ 4 ข้อสำหรับพ่อแม่เช็กตัวเองว่า เรากำลังรักษาความสมดุลในความสัมพันธ์หรือไม่
1. ความสำคัญ มีโอกาสเกิด bad day พ่อแม่อาจรู้สึกว่า วันนี้ลูกไม่น่ารักกับเราเลย หรือพ่อแม่เองก็ไม่น่ารักในสายตาลูกเช่นกัน ไม่ว่าวันนั้นจะมีพายุอะไรก่อตัวบ้าง คำแนะนำจากครูเม คือ ขอให้จบวันด้วยดี อาจจะขอโทษ พูดคุยปรับความเข้าใจ หรือทำอะไรก็ได้ที่ทุกคนจะเข้าใจและจบวันนั้นด้วยความรู้สึกดี
2. เวลา พ่อแม่ลองสำรวจว่าเวลาที่เราให้ลูกมากน้อยอย่างไร มีความสม่ำเสมอหรือไม่ เวลาเป็นคีย์สำคัญที่สามารถวัดได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกอยู่ในจุดสมดุลหรือไม่ แม้ภารกิจในแต่ละวันจะทำให้พ่อแม่อยู่กับลูกน้อยลง แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้และครูเมขอเน้นย้ำ คือ พ่อแม่ต้องจบแต่ละวันกับลูกด้วยดี กลับไปสู่ข้อหนึ่ง ทำอย่างไรก็ได้ให้วันนั้นลูกและเราแฮปปี้ อาจจะหาเวลาอยู่กับลูก โทรคุยกัน เป็นต้น
แล้วพ่อแม่จะรู้ได้อย่างไรว่าเวลาที่ให้ลูกมากหรือน้อยไป?
“ลูกจะเป็นคนบอกพ่อแม่เอง” ครูเมตอบพร้อมขยายความเพิ่มเติมว่า ลูกจะบอกเองว่า เราให้เวลาเขามากหรือน้อยไป บางทีเวลาที่มากไปไม่ใช่เชิงปริมาณเท่านั้น แต่เป็นความสนใจที่เรามีให้ลูก หากเราปล่อยปละตามใจลูกเยอะ ก็อาจเข้าข่ายว่าเราให้เวลาลูกมากไป
หรือถ้าพ่อแม่ให้เวลาน้อยไป ในเด็กเล็กจะแสดงออกชัดเจน เขาอาจพูดว่า ‘แม่ไม่ต้องมาแล้วก็ได้’ ‘แม่ไปทำงานเลยไป’ หรือว่า ‘ไม่รักแม่แล้ว’ เขาจะพูดตรงข้ามสิ่งที่เขารู้สึก ส่วนถ้าเป็นเด็กโต เขาอาจชินกับการที่ไม่มีพ่อแม่ เขาอาจทำหลายสิ่งที่เราเพิ่งรู้ เช่น เราเพิ่งรู้ว่าลูกก้าวหน้าขนาดนี้แล้ว หรือลูกโตขนาดนี้แล้วเหรอ
“การที่พ่อแม่พลาดจังหวะชีวิตบางอย่างในการเติบโตของลูก นั่นเป็นสัญญาณว่าเราเริ่มไม่มีเวลาให้เขาแล้ว คล้ายกับช่วงเวลาที่ดักแด้โตไปเป็นผีเสื้อ ถ้าเราทันในช่วงที่มันกำลังเติบโต หรือช่วงเวลาของลูกเอง แปลว่าอย่างน้อยเราเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขา ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด”
3. เมื่อลูกทำผิด อย่ากลัวที่จะสอนหรือทำเขาร้องไห้ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นที่เด็กต้องเรียนรู้ แต่ข้อควรระวัง คือ พ่อแม่ไม่ควรใช้อารมณ์กับลูกเพื่อที่จะสอนเขา
4. พ่อแม่อย่าลืมที่จะรักษาสมดุลให้ตัวเอง ดูแลร่างกายและจิตใจของเราไม่ให้พัง เพื่อที่จะไม่ทำให้เราเป็นพ่อแม่ที่เป็นพิษ
หลักการ Kind but Firm ใจดีแต่ไม่ใจอ่อน
หลักการ Kind but Firm หรือใจดีแต่ไม่ใจอ่อน วิธีการเลี้ยงลูกที่จะไม่ทำให้เกิดพิษ คือ การใช้เหตุผลและความหนักแน่นของคำพูดและการกระทำในการเลี้ยงลูก ลดการใช้อารมณ์ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความสัมพันธ์ไม่สมดุล จนกลายเป็นพิษ
หลักการ Kind but Firm ครูเมแชร์ว่า ข้อแรก ต้องเริ่มจากพ่อแม่สร้างสายสัมพันธ์กับลูกก่อน ‘พ่อแม่ต้องมีอยู่จริง’ ให้ลูกรับรู้ว่าเราอยู่ตรงนี้และพร้อมที่จะเคียงข้างซัพพอร์ตเขาเสมอ เพราะถ้าลูกไม่รู้สึกว่าพ่อแม่มีตัวตน การใช้ Kind but Firm จะไม่ได้ผล
“ลูกแต่ละวัยต้องการพ่อแม่ต่างกัน ลูกวัย 0 – 3 ปีต้องการเราตลอด 24 ชั่วโมง ช่วง 3 – 6 ปี เขาต้องการเราในฐานะที่คอยสอนและเปิดโอกาสให้เขาลงมือทำ ช่วง 6 – 12 ปี ลูกต้องการให้เรา support ทางใจ และหลัง 12 ปีเป็นต้นไป เขาต้องการพ่อแม่อยู่เคียงข้างที่ไม่ชี้นำใดๆ
“ส่วนลูกที่เป็นวัยรุ่นตอนปลายหรือวัยผู้ใหญ่ตอนต้น เขาต้องการคุณพ่อคุณแม่ที่เห็นคุณค่าในตัวเขา เขาจะรู้สึกภูมิใจว่าเขา success ประสบความสำเร็จแล้วชีวิตนี้”
ข้อที่สอง คือ การพูดคำไหนคำนั้น ใช้การกระทำเป็นตัวสอนลูกเสมอ ครูเมยกตัวอย่างการสร้างกฎในครอบครัว พ่อแม่ต้องชัดเจนว่าอะไรคือกติกาที่เราต้องตั้ง แล้วตัวเราสามารถทำตามได้หรือไม่ เพราะถ้าพ่อแม่ที่เป็นคนสร้างกฎ แต่กลับไม่สามารถรักษากฎนั้นได้ก็จะไม่สามารถทำให้ลูกเชื่อในสิ่งที่เราบอกเขาได้
ส่วนการตั้งกฎในบ้านขึ้นอยู่กับวัยของลูกและบริบทครอบครัวนั้นๆ ครูเมแนะนำ กฎพื้นฐานที่ควรมีในบ้าน คือ กฎ 3 ข้อ : ไม่ทำร้ายผู้อื่น ไม่ทำร้ายตัวเอง และไม่ทำลายข้าวของ
“มีแค่ 3 ข้อนี้แล้วเราสามารถจับคู่ได้กับทุกสถานการณ์ เช่น ถ้าลูกไม่ทำการบ้าน แปลว่าเขากำลังทำให้ตัวเองเดือดร้อน เพราะเขาจะเรียนไม่ทันเพื่อน หรือถ้าลูกไม่ยอมเข้านอน แสดงว่าเขากำลังจะทำให้ตัวเองเดือดร้อนเช่นกัน เพราะเขาจะรู้สึกง่วงนอนในวันต่อมา หรือลูกไม่กินข้าวมื้อต่อไป แสดงว่าเขาต้องหิวมากกว่าเดิม มันเป็นเหตุและผลสอดคล้องกันหมด”
และข้อสุดท้ายของหลัก Kind but Firm คือ ลูกควรเรียนรู้ว่าเวลาที่เขาทำผิด เขาจะต้องรับผิดชอบผลของการกระทำตัวเองเสมอ เด็กที่จะเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้ เขาจะเรียนรู้จากข้อผิดพลาดและบทเรียนต่างๆ ในชีวิต ถ้าพ่อแม่ไม่ได้ให้บทเรียนหรือไม่ได้ให้เขาเรียนรู้จากสิ่งเหล่านี้ สุดท้ายลูกก็จะไม่ได้เรียนรู้ว่า เขาไม่ควรทำสิ่งนี้เพราะอะไร
‘ขอเวลานอก’ คาถาเรียกสติของพ่อแม่
เหตุและผลเป็นสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนอยากมี แต่เวลาที่อารมณ์ขึ้นมากๆ ไม่ว่าจะโกรธ โมโห หรือหงุดหงิด ล้วนทำให้เราหลุดการควบคุมตัวเองเสมอ และอาจหันไปใช้วิธีเชิงลบแทน ส่งผลต่อความสัมพันธ์
ครูเมขอแนะนำ ‘คาถาเรียกสติ’ สำหรับพ่อแม่เมื่อเจอเหตุการณ์ชวนปรี๊ด ให้กลับมาตั้งหลักตั้งสติ ก่อนมาใช้วิธี Kind but firm ดูแลลูก
‘ขอเวลานอก’ ยังคงเป็นคาถาที่พ่อแม่ใช้ได้ดีเสมอ ครูเมอธิบายว่า เวลาที่พ่อแม่เกิดอาการปรี๊ดหรืออารมณ์เชิงลบต่างๆ ควรรีบพาตัวเองออกจากสถานการณ์นั้น บอกลูกตามตรงว่า “แม่หรือพ่อขอเวลานอกให้อารมณ์เย็นก่อน” ไม่ใช่เรื่องผิด และไม่ได้แปลว่าพ่อแม่ทิ้งปัญหา แต่เรากำลังพักสมองส่วนอารมณ์ไม่ให้ทำงาน และดึงสมองส่วนหน้า (frontal lobe) ที่เป็นส่วนเหตุผลให้ขึ้นมาทำหน้าที่แทน
“ถ้าสมมติลูกเป็นเด็กเล็กที่คุณแม่ต้องอุ้มตลอด แต่ลูกก็ร้องจนแม่จะไม่ไหวละ คุณแม่ลองยืนขึ้นให้เราอยู่สูงกว่าลูก ใช้วิวช่วงสูงให้เป็นประโยชน์ ลองถอดสายตาไปไกลๆ มองดูวิวนอกหน้าต่าง หรือถ้าที่บ้านไม่มีหน้าต่าง ไม่มีวิวให้มอง คุณแม่ลองเดินไปที่กระจกมองตัวเองก็ได้ มองเข้าไปให้ลึกในดวงตาเรา เป็นการชะลอเวลาในการปะทะ ให้สมองมีเวลาส่งกระแสประสาทไปยังสมองส่วนหน้าให้ทำงาน ทำให้เรามีสติมากขึ้น สมองส่วนที่ควบคุมเรากลับมาทำงาน”
วิธีเช็กว่าสมองส่วนเหตุผลเรากลับมาหรือยัง ครูเมแนะนำว่า ให้สำรวจร่างกายตัวเองว่า ตอนนี้เราหายใจเป็นอย่างไรบ้าง หน้าที่เคยแดงก่ำเป็นมะเขือเทศ ตอนนี้สีเป็นอย่างไร คิ้วบนหน้าเรายังผูกเป็นปมหรือไม่ ใจที่เต้นตึกๆ พร้อมจะระเบิด เต้นช้าลงหรือยัง ถ้าร่างกายเราเข้าสู่โหมดปกติแปลว่าตอนนี้สมองส่วนหน้าพร้อมออกมาทำงานแล้ว
“การสอนรอได้ การแก้ปัญหารอได้ แต่ว่าอารมณ์รอไม่ได้ เพราะสุดท้ายพูดอะไรไปเราไม่สามารถเอากลับมาได้ การไปสงบสติอารมณ์ก่อน แล้วพูดด้วยสิ่งที่คิดด้วย EF ของเรา มันมีพลังมากกว่าการที่เราจะพูดอะไรที่ทำร้ายกัน”
“อารมณ์สามารถพาเราไปถึงเพดานได้ สร้างความแฟนตาซีให้เราจินตนาการว่า นี่ลูกกำลังต่อต้านฉัน หรือลูกรู้สึกว่าพ่อแม่กำลังทำลายชีวิตฉัน แต่ความเป็นจริงจะทำให้เรากลับมาเข้าใจกันเสมอ”
พ่อแม่ที่ดีหน้าตาเป็นอย่างไร?
พ่อแม่ต่างตามหาวิธีเลี้ยงลูกที่ดีที่สุด เพื่อเป็นพ่อแม่ที่ดีของลูก แต่คำว่า ‘ดี’ ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดีของพ่อแม่กับของลูกอาจจะต่างกัน สุดท้ายแล้วหน้าตาของ ‘พ่อแม่ที่ดีควรเป็นอย่างไร’ เป็นคำถามในใจพ่อแม่หลายคน ต้องทำสักเท่าไรเราถึงจะยืนอยู่บนจุดนั้นได้
คำแนะนำจากครูเม คือ ลูกจะเป็นคนบอกพ่อแม่เอง ทฤษฎีเลี้ยงลูกบนโลกนี้อาจจะหลายร้อยวิธี บางวิธีคนส่วนใหญ่ใช้ได้ผล แต่เราใช้กลับไม่เวิร์ก สุดท้ายคงต้องกลับมาพิจารณาว่าทางไหนที่ส่งผลดีทั้งพ่อแม่และลูก สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน
“แค่มองกลับไปว่า วันนี้คุณพ่อคุณแม่มีความสุขไหมที่ได้เป็นพ่อแม่ แล้วลูกมีความสุขไหมที่ได้เป็นลูกของเรา ถ้าเราตอบคำถามข้อนี้ได้ แสดงว่าเราก็มาถูกทางแล้ว”
ส่วนคำแนะนำจากเสก เขาแนะนำวิธีที่ตัวเองใช้ คือ ดูว่าความสัมพันธ์ในครอบครัวดีหรือไม่ วัดได้จากทุกคนสามารถคุยกันได้ทุกเรื่อง ลูกมีปัญหาก็กล้าที่จะบอก ปรึกษาพ่อแม่
“ผมคิดว่าครอบครัวที่มีความสัมพันธ์ที่ดี จะเป็นแต้มต่อเวลาที่สิ่งต่างๆ หรือมีปัญหาเข้ามา เขาจะผ่านไปได้ หรือจริงๆ ก็เช็กได้ง่ายๆ เลยนะ ลองถามตัวเองว่าเราอยากมีครอบครัวแบบไหน เราอยากมีบ้านที่ทะเลาะกันสามวันดีสี่วันไข้หรืออยากมีบ้านที่ทุกคนคุยกันรู้เรื่อง ลูกนึกถึงเราเป็นคนแรกเวลาที่มีปัญหา ไม่ใช่คนสุดท้าย”
Writer
ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์
ชอบดูซีรีส์เกาหลี เพราะเชื่อว่าตัวเราสามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ได้ สนใจเรื่องระบบการศึกษาเเละความสัมพันธ์ในครอบครัว พยายามฝึกการเล่าเรื่องให้สนุกเเบบฉบับของตัวเอง
Writer
เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา
ชีวิตอยู่ได้ด้วยซัมเมอร์ ทะเล และความฝันที่จะได้ทำสิ่งที่เป็นความสุขตลอดไป
illustrator
กรกนก สุเทศ
เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง