

ถึง Doc Club & Pub ด้วยรัก : กับพื้นที่มีความหมายยิ่งกว่าการเป็น Micro Cinema แต่คือการพาเราไปไกลกว่าการได้ดูหนัง
ถึง Doc Club & Pub ด้วยรัก : กับพื้นที่มีความหมายยิ่งกว่าการเป็น Micro Cinema แต่คือการพาเราไปไกลกว่าการได้ดูหนัง
23.03.2025
ภาพของโรงฉายหนังอันว่างเปล่าถูกโพสต์ลงในโซเชียลมีเดียของ Doc Club & Pub. พร้อมแคปชั่นสั้นๆ อย่าง “23.03.2025”
ครั้งหนึ่งที่แห่งนี้เคยมีเบาะกำมะหยี่สีน้ำเงินเรียงรายตั้งหันหน้าเข้าหาจอฉายภาพยนตร์ ในพื้นที่เล็กๆ ที่เทียบไม่ได้กับโรงหนังใหญ่ๆ นั้นกลับอัดแน่นไปด้วยโลกกว้างที่รอให้คนเข้ามาสัมผัส
แม้ที่จริง Doc Club & Pub. จะเปิดมาได้เพียง 4 ปี แต่เราเชื่อว่าใครหลายคน โดยเฉพาะคนรักหนัง คงมีความทรงจำมากมายกับที่นี่ เพราะสำหรับหลายๆ คน Doc Club & Pub. ไม่ได้เป็นเพียงโรงหนังอิสระโรงหนึ่งเท่านั้น หากแต่ยังเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้หนังหลากหลายได้ออกสู่สายตาคนดู เป็นที่ที่ทำให้เกิดการเสวนาพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งอาจนำไปสู่ไอเดียใหม่ๆ หรือแรงบันดาลใจสำคัญให้ทั้งฝั่งผู้สร้างหนังและผู้ชม หรืออย่างน้อยที่สุด ที่แห่งนี้ก็กลายเป็นพื้นที่เพื่อพักผ่อนหย่อนใจ เป็นพื้นที่ปลอดภัยซึ่งอบอวลไปด้วยบรรยากาศของโลกภาพยนตร์ของใครบางคน และนั่นทำให้มันเป็นเรื่องน่าใจหายไม่น้อยที่สถานที่ที่เต็มไปด้วยความทรงจำแห่งนี้ต้องปิดตัวลง เพียงเพราะกฎหมายแบบ One size fits all ที่ไม่เอื้ออำนวยให้โรงหนังขนาดเล็กได้ลืมตาอ้าปาก
To Doc Club with Love
“เรารู้สึกว่าที่นี่เป็นพื้นที่ปลอดภัยอีกที่หนึ่ง เวลาเราลงอินสตาแกรมเราจะลงไฮไลต์ว่า Doc Club & Pub. เป็น my sanctuary เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เราเอาไว้สำหรับนั่งสบายๆ คิดอะไรไม่ออกเราก็ไป เราอยู่แล้วเราได้พักผ่อนอย่างแท้จริง โดยที่เราอาจไม่ต้องไปดูหนังที่นั่นเลยด้วยซ้ำ สารภาพเลยว่าบางทีเราเคยนั่งหลับเลย มันสบายได้ในระดับนั้น มันเป็นที่ที่เราปลอดภัยมากๆ เลย” นุก-นักเขียนที่มีงานอดิเรกเป็นการวิจารณ์ภาพยนตร์ในเพจ Evilviolettabel และสมาชิกชมรมวิจารณ์บันเทิงบอกกับเราเมื่อถามถึงความรู้สึกที่เธอมีต่อ Doc Club & Pub. ในฐานะสถานที่ เธอรู้จัก Doc Club ครั้งแรกผ่านหนังที่ Doc Club เป็นผู้จัดจำหน่ายซึ่งนำไปฉายในโรงอย่าง House และ SF มาจนถึงตอนที่ Doc Club เริ่มมีช่องทางการฉายของตัวเองที่ Doc Club Theatre ใน Warehouse 30 และยังเป็นลูกค้าประจำของ BKKSR ที่ตึก WOOF PACK ก่อนที่ Doc Club & Pub. จะมารับช่วงต่อ
“เราว่าเสน่ห์ของ Doc Club & Pub มีสองประเด็น” เอ็ม-เมธัส ศิรินาวิน นักเขียนบทหนังกล่าว “หนึ่ง หนังที่นี่ไม่มีในโรงหนังเครือใหญ่ เราไม่ได้บอกว่าโรงหนังที่ฉายหนังตลาดดูเอาบันเทิงมันแย่เพราะมันก็มีคุณค่าของมัน แต่ที่ Doc Club & Pub. จะฉายหนังที่อยู่นอกกระแส พอเราไปดูแล้วมันช่วยให้เราครุ่นคิดตกผลึกอะไรกับชีวิตมากขึ้น สอง มันยืดหยุ่นในการทำกิจกรรมได้ พอเป็นโรงเล็ก ฉายหนังเสร็จก็สามารถมีการพูดคุยเสวนาต่อยอดจากหนังไปอีกได้”
คำตอบของทั้งคู่ทำให้เราหวนนึกไปถึงพื้นที่เล็กๆ บนตึก WOOF PACK ที่ในระยะเวลาหนึ่งมันก็เปรียบเสมือนหลุมหลบภัยของเราเช่นกัน แม้ว่าจะไม่ได้มีบทสนทนากับใครที่นั่นมากนัก แต่ Doc Club & Pub. ก็คือที่ประจำที่เราจะไปใช้เวลาอยู่ที่นั่นเสมอ สำหรับเรา Doc Club & Pub. มีเสน่ห์บางอย่างที่ดึงดูดเราให้กลับไปหาซ้ำแล้วซ้ำอีก อาจเป็นมวลรวมพลังงานของสถานที่ที่เต็มไปด้วยคนรักในสิ่งเดียวกัน หรืออาจเป็นที่ที่มีพร้อมทั้งมุมให้นั่งสงบๆ วงสนทนาที่น่าไปแจม หรือโปรแกรมหนังที่คุณอาจหาดูที่อื่นไม่ได้
“จำไม่ได้ว่าดูเรื่องแรกของ Doc Club เมื่อไหร่ น่าจะตั้งแต่สมัยเรียนมหาลัย แต่ถ้าเอาให้ชัดก็น่าจะเป็นหนังที่ Doc Club เอาเข้ามาฉายคือที่ SF ที่เรารู้สึกว่าภาพจำของสารคดีมันต่างจากตอนเด็กที่เราดู เพราะตอนเด็กๆ เราคิดว่าสารคดีมันจะเป็นเหมือน National Geographic มีฟุตเทจและมีคนบรรยาย แต่สารคดีที่ Doc Club มันเหมือนเป็นหนังเรื่องหนึ่ง แล้วมันทำให้เรารู้สึกว่าสารคดีมันเป็นแบบนี้เนอะ จริงๆ แล้วมันกว้างกว่านั้นมาก แล้วมันเปิดโลกทัศน์เราไปเลย มันกลายเป็น genre ที่เราชอบที่สุดไปเลย” นุกเล่า
เมื่อถามถึงหนังที่ประทับใจที่สุดที่เคยได้ดูที่ Doc Club & Pub. ทั้งนุกและเมธัสต่างก็ยกตัวอย่างเรื่องเดียวกันอย่าง Kids Konference สารคดีที่พาเราไปเป็นผู้สังเกตการณ์เด็กอนุบาลใน 1 ปีการศึกษาและวงประชุมของพวกเขาที่ทำให้ตั้งคำถามกับโลกและสิ่งต่างๆ ได้โดยไม่มีผู้ใหญ่ปิดกั้น
สำหรับเมธัสที่มีภรรยาเป็นครูสอนเด็กประถม Kids Konference และสารคดีอีกเรื่องอย่าง The Night Kindergarten ที่ Doc Club & Pub นำมาฉายนั้นเป็นมากกว่าภาพยนตร์ แต่คือโอกาสที่ครูไทยอย่างภรรยาของเขาจะได้เห็นการเลี้ยงดูเด็กด้วยวิธีการที่ต่างจากสิ่งที่คนไทยเห็นจนชินตาและเรียนรู้วิธีการปฏิบัติต่อเด็กๆ อย่างเคารพ
“มีฉากหนึ่งที่เราประทับใจมาก เป็นฉากที่เด็กถือจานแล้วทำจานร่วงลงพื้น อาหารหกหมดเลย แต่ในหนังครูค่อยๆถามเด็กว่าทำข้าวหกแล้วต้องทำยังไงต่อ ให้เด็กๆ คิดว่าต้องทำยังไง ก็ไปหาผ้าขี้ริ้วมาเช็ด ให้เด็กได้ค่อยๆ แก้ปัญหาด้วยตัวเอง”
ส่วนนุกที่บอกเราว่าก่อนหน้านี้เธอเป็นคนไม่ถูกจริตกับเด็ก ไม่ชอบเด็กๆ และคิดว่าเด็กๆ งี่เง่า สารคดีเรื่องนี้ก็ทำให้เธอมองเด็กในมุมที่เปลี่ยนไป และเข้าใจได้ว่าการเรียนการสอนและสภาพแวดล้อมนั้นส่งผลกับเด็กแค่ไหน
“เรารู้สึกว่าพ่อแม่ทุกคนควรได้ดูเรื่องนี้เลยด้วยซ้ำ ไม่ควรจะฉายจำกัดอยู่แค่ในโรงเล็กๆ”
นอกจากการได้ดูหนังสารคดีทรงคุณค่าและหาดูได้ยากที่บางครั้งอาจเปิดโลกใบใหม่ให้กับทั้งคู่ ทั้งนุกและเมธัสต่างก็มีเรื่องราวน่าประทับใจจากการดูหนังที่ Doc Club & Pub ที่มากไปกว่าตัวหนัง เพราะเป็นสิ่งที่โรงใหญ่ให้ไม่ได้ หรืออย่างน้อยที่สุดเราก็มักจะไม่ได้เห็นมันเกิดขึ้นที่โรงหนังแบบมัลติเพล็กซ์
สำหรับเมธัส นั่นคือการดูสารคดีเรื่อง ‘ไกลบ้าน’ ซึ่งกำกับโดยจั๊ก-ธีรพันธ์ เงาจีนานันต์ ว่าด้วยเรื่องราวของวัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนที่ต้องลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ไกลบ้าน ที่ฉายควบคู่ไปกับภาพยนตร์อย่างมนต์รักทรานซิสเตอร์ หนังที่ดักแปลงมาจากนิยายที่เขาแต่ง
“เขาเอามาฉายคู่กัน มีน้องจั๊กมานำเสวนา มีคุณวัฒน์วิดีโอคอลมาจากต่างประเทศ ก็ประทับใจมากเพราะนอกจากจะได้ดูหนัง เราได้เห็นเลยว่าในหนังมันพูดถึงตัวละครที่อยู่บ้านตัวเองไม่ได้ ต้องระหกระเหินไปเกณฑ์ทหาร แทนที่จะได้อยู่บ้านกับเมียก็ต้องเตลิดจากบ้านไปไกลเลย ก็คล้ายๆ ตัวคุณวัฒน์ที่อยู่ประเทศตัวเองไม่ได้เพราะเรื่องการเมือง ต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างชาติ เป็นการฉายหนังควบที่สะเทือนใจมาก นั่งน้ำตาซึมนิดๆ เลย”
สำหรับนุก ความพิเศษของหนังที่ฉายใน Doc Club & Pub. บางเรื่อง คือเป็นเรื่องที่เลือกมาจากการฟังเสียงผู้ชม เช่น ภาพยนตร์เรื่อง In the Height หนังใหญ่ที่มีแผนจะเข้าฉายในไทย ปี 2020 แต่กลับเจอสถานการณ์ COVID-19 หนังเรื่องนี้จึงหายไปเงียบๆ และไม่เคยมีใครนำเข้ามาฉายอีกเลย
“เราได้ดูในช่องทางออนไลน์ เลยเขียนรีวิวถึงบ่อยๆ ว่าเป็นหนังที่เราอยากให้หลายๆ คนได้ดู กระทั่งวันนึงพี่ธิดา (ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งDoc Club & Pub ร่วมกับสุภาพ หริมเทพาธิป) ถามมาว่าควรจะเอาเรื่องนี้มาฉายไหม เราไม่อยากเข้าข้างตัวเองว่าเขาฟังคำของเราคนเดียวเพราะอาจมีคนแนะนำเรื่องนี้เหมือนกัน แต่ว่าสุดท้ายทาง Doc Club เอามาฉายจริง แล้วมันก็กลายเป็นเรื่องสุดท้ายที่เราได้ดูที่นั่น เพราะเขาฉายในสัปดาห์สุดท้ายก่อนจะปิด นี่เลยเป็นเรื่องที่ประทับใจที่ Doc Club ฟังเสียงคนดูหนัง”
Micro Cinema และการฉายหนังอิสระ : พื้นที่ของโอกาสและความเป็นไปได้
วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงษา สมาชิก Wildtype กลุ่มคนที่จัดฉายหนังสั้นซึ่งโลดแล่นอยู่ในวงการภาพยนตร์ไทยมาราว 15 ปีและมักจะมีส่วนร่วมกับการจัดฉายที่ Doc Club & Pub. อยู่เสมอ ให้ความเห็นว่าเมื่อพูดถึง Micro Cinema ในประเทศไทยนั้น คำว่า Micro Cinema อาจจะมีนิยามที่ผิดแผกแตกต่างไปจากนิยามทั่วๆ ไป เพราะความจริงแล้ว ไทยยังไม่มีโรงหนังที่จะสามารถเรียกว่า Micro Cinema ได้เต็มปากยกเว้น Doc Club & Pub. และ Cinema Oasis ที่มีพื้นที่ที่เป็นโรงฉายจริงๆ ขณะที่การฉายหนังในลักษณะการฉายในแกลลอรีอย่างใน A.E.Y. Space ที่สงขลา การฉายที่ดาดฟ้าคณะหนึ่งที่เชียงใหม่ เป็นเพียงการจัดฉายที่ไม่มีพื้นที่โรงหนัง เมื่อพูดถึง Micro Cinema ในบริบทของไทย จึงมักจะรวมถึงการฉายในรูปแบบหลังไปด้วย
“ความทรงจำผมเป็นลักษณะของการไปฉายมากกว่าการไปดู” เขาตอบเมื่อเราถามว่าความทรงจำแรกของการดูหนังในลักษณะนี้ของเขาเป็นอย่างไร กลุ่ม Wildtype และ Filmvirus ที่เขามีส่วนร่วมนั้นเป็นกลุ่มคนที่จัดฉายหนังทางเลือกมาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง
“ตอนแรกที่ผมเอาหนังไปฉาย มันก็ยังไม่มี Doc Club อย่างเป็นทางการ มันก็เป็นหนังที่คัดเลือกโดย Wildtype ก็เลยจะมีทั้งคนที่ไปดูหนังแบบไม่รู้อะไรเลย แค่อยากไปร่วมอีเวนต์ แล้วมันเลยมีลักษณะของความไม่เป็นทางการหน่อยๆ ในขณะเดียวกัน ความไม่เป็นทางการนี้ก็ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนมากกว่าแค่การฉาย เช่น ฉายแล้วมีการสนทนาซึ่งคนก็จะคุยกันยาวเลย มันก็มีทั้งลักษณะของการฉายและประสบการณ์การชมภาพยนตร์ที่ไม่เหมือนการไปดูหนังในโรงหรือแม้แต่ไปดูหนังเทศกาลที่มี traffic เข้าออกตลอดเวลา ที่คนดูหนังรีบออกจากโรงแล้วไปยืนตามล็อบบี้โรงหนัง อันนี้มันมีเวลายาวนาน เราฉายเย็นเราก็คุยไปถึงดึกได้เลย มันก็มีลักษณะของการใกล้ชิด”
เมื่อ Micro Cinema ในไทยนั้นรวมถึงการจัดฉายหนังตามสถานที่ต่างๆ ที่ไม่ใช่พื้นที่ที่มีโรงภาพยนตร์ด้วย บทบาทของ Doc Club ในมุมมองของวิวัฒน์จึงไม่ได้เป็นเพียงผู้มอบพื้นที่ในแง่กายภาพเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้จุดกระแส Micro Cinema ด้วย
“Doc Club ทำหน้าที่สองแบบ แบบแรกคือตัว Doc Club & Pub. ที่เป็นพื้นที่ แต่สิ่งที่ Doc Club ทำและมีคุนูปการมากกว่าแค่สเปซ คือการจัดจำหน่ายและนำเข้าภาพยนตร์ที่ไม่มีใครซื้อ มันเลยเป็นเหมือนแหล่งรวมหนังที่คุณจะเอาไปฉายได้ การมีอยู่ของ Doc Club เลยทำให้เกิดกระแส Micro Cinema”
“ถ้าเป็นการจัดจำหน่ายหนังในแบบเดิมจากค่ายใหญ่ๆ ก็ไม่สามารถขอไปฉายในสถานที่เล็กๆ ได้เพราะตัวสัญญามันผูกพันกับการฉายในโรงภาพยนตร์เท่านั้น ฉายด้วยฟิล์มแบบหนึ่งเท่านั้น แต่การมีอยู่ของ Doc Club และผู้จัดจำหน่ายอิสระ ทำให้คนที่มีความอยากฉายมีคอนเทนต์ไปฉายด้วย เพราะฉะนั้นมันเลยเป็นมากกว่าสเปซ มันเป็นคนจัดการเรื่องคอนเทนต์ให้โรงหนังอิสระสามารถฉายได้ และยังนำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ภายในของผู้คนอย่างยั่งยืนต่อไป ถ้าพูดในแง่นี้ผมจะนึกถึง Doc Club ในฐานะผู้จัดจำหน่ายที่คิดเผื่อการฉายในรูปแบบอื่นนอกโรงภาพยนตร์มากกว่าแค่ตัวสเปซ”
แต่หากเรามองในฐานะการเป็นพื้นที่ Doc Club ก็กลายเป็นพื้นที่ของบทสนทนาดีๆ โอกาสและการสร้างแรงบันดาลใจได้อย่างดี
ในฐานะคนเขียนบทหนัง เมธัสเชื่อว่าการดูหนังเป็นการรับข้อมูลหนึ่งที่สามารถนำมากลั่นกรองเพื่อพัฒนางานเขียนได้ ซึ่งการนำหนังทางเลือกที่มีความแตกต่างหลากหลายเข้ามาฉายของ Doc Club & Pub. นั้นเป็นการช่วยขยายฐานข้อมูลของเขาในฐานะคนเขียนบทหนังให้กว้างขึ้น นอกจากนั้นการที่ Doc Club & Pub. เปิดโอกาสให้หนังเล็กๆ ได้มาฉาย ก็ถือโอกาสที่ดีของคนทำหนังจะได้สังเกตปฏิกิริยคนดูและนำไปต่อยอดผลงานของตัวเองได้
“ส่วนตัวเรายังไม่เคยเอาหนังที่เราทำมาฉายที่นี่ แต่สมัยเราทำหนังสั้นแล้วฉายตามเทศกาลหนังสั้นของมูลนิธิหนังไทย เราทำหนังไปเราก็อยากรู้ว่าสิ่งที่เราทำไปมันดีไม่ดี สมมติเราทำหนังตลก แต่ตอนไปฉายคนเงียบกริบเลย มุกนี้มันไม่ตลก หรือบางทีทั้งโรงมันเงียบกริบ แต่มันมีคนหัวเราะหลุดพรวดออกมา แสดงว่าคนนั้นเข้าใจมุกเราอยู่คนเดียว ในฐานะคนทำมันก็ได้รับรู้ปฏิกิริยา ได้รู้ท่าที ความเห็นของคนดู มันช่วยในการปรับปรุงหรือพัฒนางานตัวเองต่อๆ ไปได้มากเลย
“ในฐานะคนทำ เราไปดูเพื่อเอาแรงบันดาลใจ ไปโกยความรู้สึกว่ามันดีจังเลย เราอยากทำแบบนี้บ้างหรือน้องๆ นักศึกษาที่ทำหนังก็จะได้มีพื้นที่ฉายหนังเหมือนกัน”
ในฐานะหนึ่งในกรรมการชมรมวิจารณ์บันเทิงซึ่งมีหน้าที่คัดเลือกภาพยนตร์ไทยในแต่ละปีมาฉาย นุกเล่าว่าจำนวนหนังสั้นและหนังยาวในไทยนั้นแทบไม่มีพื้นที่ในการฉายในโรงและมักจะมีโอกาสออกสู่สายตาผู้ชมจากการตระเวนฉายเพียงเท่านั้น หรือหากโชคดีได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์แบบมัลติเพล็กซ์ ก็จะมีรอบฉายเพียงไม่กี่รอบก่อนจะต้องลาโรงไป
“Doc Club & Pub. เป็นพื้นที่ที่ให้โอกาสหนังสั้นในการจัดโปรแกรมฉายมาตลอด เพราะจะมีทั้งโปรแกรมอย่าง Wildtype ที่จะรวมหนังสั้นมาฉายทั้งสัปดาห์เพื่อให้เรามีโอกาสได้ดูเยอะขึ้น ดังนั้นมันเป็นสิ่งที่ทำให้คนทำหนังสั้นเขามองได้ว่าหนังที่เขาทำมันมีโอกาสกระจายออกสู่คนดูมากขึ้นกว่าเดิม”
ในทุกปีเทศกาลหนังสั้นของมูลนิธิหนังไทยจะฉายหนังสั้นทุกเรื่องที่ส่งเข้ามาในเทศกาล ซึ่งปีหนึ่งมีถึง 400-500 เรื่อง และปีที่ผ่านมามีหนังสั้นที่ส่งเข้ามากว่า 700 เรื่อง หนังสั้นเหล่านั้นจะถูกนำไปจัดฉายแบบมาราธอนซึ่งถือเป็นช่องทางเดียวที่ผู้ชมจะได้ดูหนังจากทั่วประเทศ
“ทีนี้พอเรามีหนังจำนวนหนึ่งที่เราดูแล้วชอบ แต่ประกาศผลรอบสุดท้ายแล้วไม่เข้ารอบ ก็แปลว่าหนังพวกนี้จะหายไปเลย เราเลยรวบรวมเอามาจัดฉาย จากนั้นก็เริ่มขยายไปสู่การฉายหนังขนาดกลางที่เป็นหนังที่ไม่ได้สั้นทีเดียว เช่น หนังยาว 40 นาที เพราะพวกนี้จะไม่มีที่ฉาย ฉายเทศกาลก็ไม่ได้ แกลลอรีก็ไม่ได้ เข้าโรงก็ไม่ได้ โดยมากก็โชคดีที่เราได้สถานที่ฉาย ครั้งแรกๆ เราฉายกับ The Reading Room”
วิวัฒน์เล่าให้เราฟังถึงการฉายหนังของ Wildtype และ Filmvirus กลุ่มคนที่รวบรวมหนังนอกกระแสโดยเฉพาะหนังสั้น และจัดฉายโดยใช้งบส่วนตัวและแทบไม่ได้เก็บค่าเข้าชมในการฉายแต่ละครั้ง ดังนั้นพื้นที่ที่สนับสนุนการจัดฉายอย่าง Doc Club & Pub. จึงมีความสำคัญต่อการจัดฉายของพวกเขาพอสมควร
“ตอนนั้น Wildtype ฉายหนังโดยไม่ได้คิดเงินและไม่ทำเงินจากสิ่งนี้ ฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่เป็นข้อจำกัดของเราคือเราจะรู้สึกผิดในใจว่าเราไม่สามารถหาเงินมาให้เจ้าของหนังได้ ซึ่งเจ้าของหนังเขาไม่ได้ติดใจอะไรแต่เราก็รู้สึกผิด เราเลยลองทำโปรแกรมแยกที่ไม่ใช่ Wildtype ประจำปี คือเอาหนังที่มันมี dialogue ด้วยกัน 4-5 เรื่อง ไปรวมกัน แล้วเอาไปฉายที่ Doc Club Theatre ที่ Warehouse30 แล้วเก็บเงิน 50 เปอร์เซ็นต์ให้ Doc Club อีก 50 เปอร์เซ็นต์ก็ให้เจ้าของหนัง ซึ่งนั่นเป็นครั้งแรกที่ทำให้เราได้ร่วมงานกับ Doc Club แต่ปีนี้ Doc Club & Pub. ปิดก็ต้องวิ่งหาที่ฉายต่อไป”
โรงหนังยังสำคัญ แม้ในวันที่มี Streaming Platforms
“Streaming Platforms มีหนังให้คุณดูเยอะก็จริง แต่ไม่มี curation” วิวัฒน์ตอบคำถามที่ว่าเหตุใดโรงหนังยังสำคัญแม้ในวันที่มี Streaming Platforms ให้เราเลือกดูหนังได้มากมายรวมไปถึงหนังนอกกระแส แต่สำหรับเขา หนังจำนวนมากเหล่านั้นมักจะเป็นหนังที่อัลกอริทึมคัดสรรมาให้ นั่นแปลว่าท้ายที่สุดหนังที่ปรากฏมาให้เลือกก็มักจะเป็นหนังแนวเดิมๆ ที่ผู้ชมคุ้นเคยและพลาดโอกาสในการรู้จักหนังแนวอื่นๆ อยู่ดี
“ประเด็นที่สองคือการดูหนังด้วยกันมันไม่เหมือนการดูอยู่บ้าน เพราะมันทำให้เกิดอุปทานหมู่ก็ว่าได้ ได้สนุกสนาน หัวเราะ ร้องไห้ไปด้วยกัน และมันยังทำให้เกิดการพูดคุย โดยเฉพาะเมื่อเป็นสถานที่เล็กๆ มันนำไปสู่อย่างอื่นมากกว่าภาพยนตร์ไปเยอะเลย”
ทั้งสามเห็นตรงกันว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในการมีอยู่ของ Doc Club & Pub. คือการสร้างพื้นที่สำหรับการพบปะพูดคุยของคนรักหนัง และการมีพื้นที่ไว้ให้บทสนทนาที่จะเกิดขึ้นหลังหนังจบ ซึ่งอาจนำไปสู่สิ่งที่ไกลกว่าหนัง และสิ่งนี้เองที่ทำให้ Micro Cinema ยังสำคัญอยู่แม้ในวันที่จะมีหนังให้ดูมากมายใน Streaming Platform
“ในฐานะนักวิจารณ์ ต่อให้ไม่มีโรงหนังเราก็คงต้องดู Streaming” นุกเกริ่น “แต่สิ่งสำคัญของการดูหนังที่โรงหนังแบบนี้มักจะอยู่หลังหนังจบ เพราะเมื่อหนังจบมาทุกคนจะได้แลกเปลี่ยนความเห็นกันซึ่งมันสำคัญกับงานวิจารณ์ เพราะต่อให้การวิจารณ์มันจะเป็นปักเจกตามความชอบของแต่ละคน แต่การพูดคุยมันทำให้สามารถเก็บตกประเด็นบางอย่างที่ตกหล่นไประหว่างการดูได้ เพราะบางทีเราอาจดูแล้วไม่เห็นแล้วนักวิจารณ์หรือพี่สื่อคนอื่นๆ อาจจะเห็น มันทำให้เราได้ทบทวนอะไรมากขึ้นแล้วมันทำให้เราได้เก็บไปคิดก่อนที่จะเขียน”
วิวัฒน์ยกตัวอย่างสิ่งที่เขาประทับใจซึ่งเกิดจากการมีพื้นที่พูดคุยหลังหนังจบและนำไปสู่บางสิ่งที่ไกลไปกว่าตัวบทภาพยนตร์ เช่น การจัดฉายโปรแกรมหนัง Doc World ที่ตัวเขาเองมีส่วนร่วมซึ่งเป็นการเชิญคนทำหนังจากทั่วโลกมาพูดคุยหลังหนังจบ
“ครั้งหนึ่งมีผู้กำกับเกาหลีชื่อยุนยอนซอก ทำหนังสารคดีที่ค่อนข้างจะท้าทาย การจัดฉายครั้งนั้นก็ประสบความสำเร็จดีแล้วก็มีการสัมภาษณ์จากประชาไทที่นำไปสู่ประโยคที่ต่อมากลายเป็นประโยคฮิตอย่าง “คนไทยยังโกรธไม่พอ” แล้วการพูดคุยกับผู้กำกับก็ทำให้เราเปิดโลกของตัวเองและได้เครือข่ายนำไปสู่การจัดงานอื่นๆ อีกหลายงานด้วย”
“อีกตัวอย่างหนึ่งคือตอนที่เราทำเทศกาลหนังไต้หวัน มีการฉายหนังเรื่อง From Island to Island เป็นหนังสารคดียาว 5 ชั่วโมงของเล่า เค็ก ฮวด แล้วเราก็เชิญเขามาพูดคุย ในการพูดคุยครั้งนั้นไอเดียไม่ได้อยู่ที่หนัง แต่เป็นสิ่งที่เขาค้นคว้ามาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไต้หวันที่มีคนจำนวนหนึ่งในรุ่นหนึ่งถูกส่งไปรบในฐานะทหารจักรวรรดิญี่ปุ่นและมีส่วนร่วมกับการสังหารหมู่ในสิงคโปร์ ในระหว่างการพูดคุยก็มีคนยกมือขึ้นมา ปรากฏว่าเขาเป็นคนไต้หวันที่มาอยู่ไทย เขาเล่าให้ฟังว่าญาติเขาเองก็ถูกส่งไปรบที่นานกิง ซึ่งนี่เป็นข้อมูลที่แม้แต่คุณเค็ก ฮวดเองก็ไม่เคยรู้มาก่อน มันเลยนำไปสู่การพูดคุยกันยาวนานทั้งในทอล์กและนอกรอบซึ่งเป็นการต่อยอดทางประวัติศาสตร์
“ฉะนั้นการฉายหนังโดยมีบทสนทนาเพิ่มเติม มันจะไปพ้นหนังเสมอ มันจะนำไปสู่อะไรที่เราคาดไม่ถึง ทั้งในแง่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ ทั้งในแง่ของการสร้างการเชื่อมต่อกันในอุตสาหกรรมสองประเทศ หรือว่าการนำไปสู่เรื่องอื่นๆ ทั้งประวัติศาสตร์ การเมือง บริบทต่างๆ หนังเรื่องหนึ่งก็อาจจะเชื่อมโยงไปอีกประเทศหนึ่งในฐานะการข้ามบริบททางการเมืองก็ได้”
การปิดตัวของฐานที่มั่นหนังนอกกระแสและทิศทางหนังนอกกระแสในไทย
“เพื่อนๆ คะ เรามีเรื่องต้องแจ้งให้ทราบค่ะ Doc Club & Pub. ต้องหยุดให้บริการในส่วนของการฉายภาพยนตร์ลงแล้วค่ะ”
16 ธันวาคม 2567 โพสต์ของ Doc Club & Pub. เปิดมาด้วยข้อความสั้นๆ ง่ายๆ ที่ไม่มีใครอยากให้เกิด ข้อความต่อมากล่าวถึงความพยายามที่จะผลักดันให้เกิด Micro Cinema ในไทยที่ Doc Club ทำมาตลอด ก่อนที่จะกล่าวถึงปัญหาที่ว่า Doc Club & Pub. ไม่เข้าหลักเกณฑ์การอนุญาตตัวอาคารและโรงมหรสพ ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 และกฎกระทรวงในปัจจุบัน เนื่องจากการมีพื้นที่ฉายหนังนั้นต้องขอใบอนุญาตในการเป็นอาคารมหรสพ
กฎหมายแบบ One size fits all ที่มีมายาวนานและไม่ได้รับการแก้ไขนี้ จึงแทบจะเป็นเหมือนการสกัดกั้นไม่ให้มีโรงหนังเล็กๆ หรือโรงหนังห้องแถวเลย
“การปิดตัวของ Doc Club & Pub. มันสะเทือนมากเลยสำหรับเรา เรารู้สึกว่ามันจะได้โชว์ให้เห็นชัดๆ ว่ากฎหมายนี้มันอยู่มานานมากๆ เพราะมันไม่มีอะไรไปกระทบไปปรับแก้ พออยู่ดีๆ Doc Club โดนปิดแบบนี้ มันก็แสดงว่ากฎหมายมันมีปัญหาและควรได้รับการแก้ไข” เมธัสออกความเห็น
แม้นุกจะมองว่าการไม่ได้ดูหนังสั้นหรือหนังนอกกระแสในโรงอาจไม่ส่งผลกระทบต่อประสบการณ์การรับชมมากนัก เพราะสำหรับเธอแล้ว “Doc Club & Pub. ไม่ใช่สถานที่แต่คือผู้คน” แต่ในแง่ของการนำหนังออกสู่สายตาผู้ชม ในฐานะสมาชิกของชมรมวิจารณ์บันเทิงที่มีภารกิจหนึ่งเป็นการจัดฉายหนังสั้น การปิดตัวของ Doc Club & Pub. นั้นส่งผลกระทบแน่นอน อย่างน้อยที่สุดมันก็ทำให้การจัดฉายหนังสั้นในบางโครงการต้องยุติทันทีเพราะจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกับ Doc Club & Pub. ในการจัดฉาย เธอยกตัวอย่างโครงการที่เป็นการฉายหนังสั้นเพียงเรื่องเดียวและมีการเสวนาหลังหนังจบกับผู้สร้างหนังเรื่องนั้นๆ เมื่อ Doc Club & Pub. ปิดตัวลงก็ยากที่จะหาโรงภาพยนตร์ที่ไหนที่จะยอมให้จัดฉายหนังสั้นเพียงเรื่องเดียว
“เราฉายหนึ่งเรื่องแค่ 30 นาที แต่เราอาจได้คุยกันต่อเป็นชั่วโมง เพื่อเจาะลึกถึงประเด็นที่อยู่ในหนัง พอเป็นแบบนี้เราจะไปหาที่อื่นฉายมันก็ไม่ได้แล้ว”
อีกปัญหาหนึ่งที่ตามมาหลังการปิดตัวของ Doc Club & Pub. ก็คือการหนังที่ต้องการเวลาในการยืนระยะเพื่อให้กระแสปากต่อปากได้ทำงาน วิวัฒน์เล่าว่าหนังบางเรื่องนั้นไม่ใช่หนังที่สามารถเก็บรายได้ภายในสองอาทิตย์แรก แต่อาจต้องยืนโรงสามอาทิตย์เป็นต้นไป หรืออาจต้องใช้เวลาถึงเดือนหรือสองเดือนเพื่อให้กระแสปากต่อปากได้ทำงาน
“โรงหนังกระแสหลักตัดหนังบางเรื่องออกไปภายในอาทิตย์เดียว มันปิดโอกาสการเติบโตในวิธีอื่นของหนังไปหมดเลย Micro Cinema เหล่านี้มันทำหน้าที่ในการโอบอุ้มหนังพวกนี้ให้มันยังมีรอบฉายอยู่ ซึ่งตอนนี้คนที่ทำหน้าที่นี้คือ House แต่ House ก็มีข้อจำกัดเพราะเขาต้องดำเนินธุรกิจโดยการเอาหนังอื่นๆ มาฉายด้วย การที่หนังได้ฉายใน Doc Club & Pub. มันก็ทำให้มีโอกาสที่จะเข้าถึงคนมากขึ้น ดังนั้นการปิด Doc Club & Pub. ในภาพรวมก็ทำให้พื้นที่ฉายหนังที่กรุงเทพก็ลดลงไปที่หนึ่ง เพราะหนังบางเรื่องไม่สามารถไปฉายใน House ได้ ถ้ามีหนังไทยอิสระเข้าโรงอย่าง SF สักอาทิตย์หนึ่งแล้วก็ออก และอาจจะได้รอบที่ House สองสามรอบต่อสัปดาห์ คำถามคือคนจะไปดูหนังเหล่านี้ที่ไหน ก็ต้องรอมันลง streaming ถ้าเขาซื้อ ถ้าในแง่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ในเชิงรายได้อาจไม่ได้กระทบ แต่ในเชิงการถูกพูดถึง การเข้าถึงภาพยนตร์มันกระทบพอสมควร ให้นึกถึงกรณี The Lost Princess (สารคดีว่าด้วยเรื่องราวบั้นปลายชีวิตของเจ้าดวงเดือน) เพราะเขากำลังเตรียมจะเข้า Doc Club & Pub. แล้ว Doc Club & Pub. ก็ปิด
“ทีนี้โรงภาพยนตร์ใหญ่ๆ เขาก็จะอ้างว่าเขาทำธุรกิจ ไม่ได้ทำการกุศล เพราะฉะนั้นเขาก็อยากทำกำไรให้ได้มากที่สุดเป็นหลัก ซึ่งข้ออ้างนี้ก็ไม่ผิด แต่ขณะเดียวกันมันก็ทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของอุตสาหกรรมไม่เติบโต ซึ่งผมไม่สามารถโทษใครได้ แต่คิดว่าเป็นโจทย์ข้อหนึ่งที่เราต้องหาทางร่วมกัน แม้แต่ในประเทศอื่นๆ ก็ไม่ได้มีที่ยืนของหนังอิสระมากนัก แต่เนื่องจากโรงหนังมันเยอะมาก มันเลยพอมีที่ไป
“สุดท้ายมันก็ต้องมีพื้นที่ฉาย อย่างที่ผมบอกว่า Micro Cinema ไม่ได้หมายถึงสถานที่อย่างเดียว แต่รวมถึงการรวมตัวกันด้วย แต่การรวมตัวกันอย่างไรเสียมันก็ไม่สามารถรวมตัวแล้วจะฉายที่ไหนก็ได้ มันก็ต้องมีพื้นที่ที่มีคุณภาพมากพอ ที่จะทำให้การฉายนั้นสมบูรณ์ แล้วก็เป็นพื้นที่ที่คนสบายใจให้เข้าไปรวมตัวกัน” วิวัฒน์เล่าต่อเมื่อเราถามว่าการตระเวนฉายหนังตามสถานที่ต่างๆ จะสามารถทดแทนการหายไปของ Micro Cinema อย่าง Doc Club & Pub. ได้ไหม “ตอนนี้ถ้าเราไปดูการฉายหนังในที่ต่างๆ บางทีมันก็จะเป็นร้านกาแฟ แกลลอรี ถามว่าได้ไหมมันก็ได้ แต่ถ้าเป็นโรงจริงๆ มันก็สมบูรณ์กว่า คือถ้าเรามองไอเดียของการทำ Micro Cinema เพื่อพัฒนาไปสู่การทำโรงภาพยนตร์ที่เป็นโรงภาพยนตร์จริงๆ มันจะอีกระดับหนึ่ง แต่อย่างที่บอกว่าคำนี้มันมีความลักลั่นในประเทศนี้อยู่”
นอกจากกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อโรงหนังขนาดเล็กแล้ว อีกปัญหาหนึ่งที่ทั้งนุกและเมธัสเห็นตรงกัน คือเรื่องที่วัฒนธรรมการดูหนังของไทยที่ยังไม่แข็งแกร่งนั้น ทำให้ยังขาดแคลนคนดูหนังนอกกระแสอยู่
“เราว่าทัศนคติของคนไทยก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง เหมือนพอเป็นสิ่งเล็กๆ ที่ไม่อยู่ในกระแส สิ่งที่แปลกแยก ไม่เหมือนกับกลุ่มก้อน ไม่ใช่แค่หนังนะ ถ้าเกิดมีคนประหลาดๆ คนนอกคอก ก็จะถูกตราหน้าว่าไม่ดี นอกจากคนแล้วมันก็หนังด้วย หนังฟอร์มเล็กๆ หนังนอกกระแสมันก็โดนตัดสิน ไม่ถูกให้ค่า บอกว่าต้องปีนกระไดดู เราว่ามันเป็นปัญหาเรื่องทัศนคติ แต่เราคิดว่าเรื่องนี้มันจะดีขึ้น เพราะเด็กรุ่นใหม่โตมาพร้อมกับความประหลาดและความเป็นเอกเทศในตัวอยู่แล้ว พวกเราจะยอมรับความหลากหลายกันได้มากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต แค่ตอนนี้มันเปลี่ยนถ่ายน้ำเฉยๆ” เมธัสกล่าว
นุกมองว่าการที่คนดูหนังนอกกระแสน้อย ส่งผลให้โรงใหญ่ๆ ไม่กล้านำหนังเหล่านี้ไปฉายในโรงด้วย ส่วนหนึ่งอาจมีเรื่องงบในการประชาสัมพันธ์เข้ามาเกี่ยวด้วย และอีกส่วนนั้นดูเหมือนว่าคนที่ติดตามหนังนอกกระแสก็ยังคงเป็นคนกลุ่มเดิมๆ และแม้ว่าจะพยายามพูดถึงหนังเหล่านี้เท่าไร เสียงที่ดังออกไปก็กลับกลายเป็นเสียงใน Echo Chamber อยู่ดี
“คนที่ดูกลุ่มนี้เขาพยายามจะกระจายมันออกไปแล้วแต่มันก็ยังจำกัดอยู่ในวงเดิมๆ อยู่ดี เลยกลายเป็นว่ามันไม่มีที่ให้เราสามารถกระจายข่าวได้มากกว่านี้ เพราะถ้าเกิดเราเอาหนังสั้นไปขึ้นโรงใหญ่ ทางโรงฉายเขาก็คงไม่โอเคเพราะเขาก็ไม่ได้มองว่ามันจะขายได้
“เราคิดว่าหลายคนยังมองว่าการดูหนังคือความบันเทิง แล้วหนังสั้นหรือหนังอินดี้ส่วนใหญ่ แม้ว่าหลายเรื่องจะมีความบันเทิงแบบสนุกไปเลย ขำขันก็มี แต่ก็มักจะมีสารแฝงบางอย่างที่เราไม่สามารถจะไปดูแบบสบายๆ ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เวลาดูต้องคิดนิดนึง มันทำให้ตรงนี้เป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงคนกลุ่มใหญ่ๆ มากๆ ได้ด้วย
“และอีกส่วนเราคิดว่าเพราะหนังสั้นส่วนมากมักจะเริ่มจากการทำหนังส่วนตัวของผู้กำกับก่อน มันก็จะมีคนนอกที่เขามองว่าแล้วทำไมเราต้องเข้าไปดูชีวิตของเขา เราคิดว่าวัฒนธรรมการดูหนังของบ้านเรามันก็ยังค่อนข้างต่างจากของญี่ปุ่นเยอะ เท่าที่สังเกตเราว่าเขามีวัฒนธรรมการดูหนังที่แข็งแรงมาก จากจำนวน Micro Cinema ในประเทศก็เยอะมากเลย เราไม่รู้ว่าเขาปูกันมากี่ปีแล้ว”
วิวัฒน์มองว่าเรื่องเงินทุนในการดำเนินกิจการและปัญหาเรื่องการผูกขาดทางการค้าก็เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคใหญ่ของโรงภาพยนตร์ขนาดเล็กและหนังนอกกระแสในไทย เพราะนั่นทำให้โรงหนังรูปแบบอื่นๆ ล้มหายตายจากไปหมด
“ของไทย ยังไม่ต้องไปถึง Micro Cinema เลย แค่โรงหนังอิสระแบบอื่นอย่างโรงหนัง Stand Alone มันก็ตายหมดแล้ว ประเด็นสำคัญคือการผูกขาดทางการค้า ซึ่งแม้แต่หนังในกระแสเองก็โดนเหมือนกัน เช่น หนังเรื่องนี้ฉายที่เครือเอ เครือบีไม่ฉาย สุดท้ายมันก็คือการผูกขาดทางการค้าและการพยายามทำกำไร ซึ่งไม่มีใครผิดหรอก นี่คือวิถีที่เป็นไปของทุนนิยม Micro Cinema แค่ออกมาเป็นตัวเลือกของการพยายามต่อต้านทุนนิยมแบบหนึ่งเท่านั้นเอง ซึ่งอาจจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ไม่รู้”
เมื่อถามความเห็นว่าสาเหตุที่โรงหนังใหญ่ๆ ไม่นำหนังนอกกระแสไปฉายเป็นเพราะคนดูไม่นิยมดูหนังประเภทนี้หรือไม่ วิวัฒน์มองว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องของกลไกกีดกันทางการค้ามากกว่าจะเป็นเรื่องของทัศนคติคนดู
“เราจะพูดแบบนั้นก็ไม่ได้ เพราะเรามีงบโปรโมตมันเท่าไหร่ คนดูที่อยากดูรู้หรือเปล่าว่ามันจะมาฉาย แล้วเราให้รอบฉายมันตอนกี่โมง เวลาเราพูดว่าคนดูไม่ดู มันเป็นการพูดที่ง่ายมากเลย สมมติคุณบอกว่าหนังเรื่องนี้คนดูไม่ดู แต่คุณให้รอบตอนสิบเอ็ดโมงกับห้าทุ่ม ใครจะมาดู คือมันมีกลไกซับซ้อนกว่านั้นอีกเยอะมากเลย”
จุดจบที่ (หวังว่า) จะทำให้พบการเริ่มต้นใหม่
“I am small. I was always small. But only physically.” – Agnès Varda
ที่ป้าย marquee หน้าบาร์ของ Doc Club & Pub. มีคำพูดของอาเญส วาร์ดา ผู้กำกับหญิงตัวเล็กๆ ที่เป็นหนึ่งในหัวหอกของหนัง French New Wave และการปิดตัวลงของ Doc Club & Pub. ก็ดูจะยิ่งตอกย้ำความหมายของคำคำนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
เมื่อพื้นที่เล็กๆ ที่ดำเนินการโดยคนตัวเล็กๆ ซึ่งขับเคลื่อนด้วยความรักที่มีต่อภาพยนตร์ต้องปิดตัวลง มันกลับสร้างแรงกระเพื่อมที่ใหญ่กว่าขึ้นมาทั่วประเทศ และน่าแปลกที่ในความเศร้า เสียดายและใจหายนั้น กลับแทบไม่มีใครเลยที่มองว่านี่คือจุดจบของ Micro Cinema หรือหนังนอกกระแสในไทย กลับกัน ประเด็นร้อนนี้กลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของบทเรียนราคาแพง ที่ทำให้หลายคนมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการสนับสนุน Micro Cinema และทำให้หนังนอกกระแสในไทยยังมีพื้นที่ฉาย
“จะมองว่ามันเป็นกรณีศึกษาก็ได้ แม้มันจะดูเป็นบทเรียนราคาแพงเกินไป แต่มันก็เป้นกรณีศึกษาหนึ่งที่ทำให้เราหวังลมๆ แล้งๆ ว่าอยากให้หนังนอกกระแสหรือโปรแกรมหนังสั้นถูกฉายในโรงเชนหลักด้วย” นุกว่า เธอคิดเปรียบเทียบกับประสบการณ์ของตัวเองที่ได้รู้จักโลกของภาพยนตร์สารคดีครั้งแรกจากการที่โรงใหญ่อย่าง SF นำหนังจาก Doc Club เข้าฉาย
“ถ้าหนังนอกกระแสได้ฉายในโรงเชนหลักเป็นประจำ ไม่ใช่แค่อีเวนต์พิเศษ คนทั่วไปก็จะได้เห็นว่ามีหนังประเภทนี้อยู่เสมอ มันจะสร้างวัฒนธรรมการดูหนังและทำให้หนังพวกนี้ได้ผ่านสู่สายตาของคนนอก แล้วถ้าเกิดว่าเขากฎหมายได้รับการแก้ไข มีโรง Micro Cinema เพิ่มได้จริงๆ โรงเชนต่างๆ จะไม่ฉายก็เรื่องของเขาแล้ว เพราะเราจะได้พื้นที่ฉายเราแล้ว และคนที่เขาเคยรู้จักหนังพวกนี้จากการเข้าฉายในโรงเชนมก็จะรู้ว่ามันมีหนังพวกนี้บนโลกนี้ ดังนั้นต่อให้โรงเชนไม่ฉายแล้ว เขาก็จะไปหาว่ามันฉายที่ไหน ผลดีมันก็จะกลับมาที่ Micro Cinema เอง”
เมื่อถามว่ามี Micro Cinema หรือโรง Stand Alone ที่พอจะเป็นต้นแบบในการดำเนินกิจการให้กับโรงหนังประเภทเดียวกันต่อจากนี้ได้ นุกมองว่าทำเลที่ตั้งเป็นเรื่องสำคัญ เธอยกตัวอย่าง House ที่เคยเป็น House RCA ในทำเลที่เดินทางไปได้ยากทำให้มีคนบางตาอยู่เสมอ ก่อนที่จะมาเป็น House Samyan ซึ่งตั้งอยู่ในทำเลที่เดินทางได้ง่าย ทำให้ไม่ว่าจะฉายหนังหรือจัดกิจกรรมอะไรก็มักจะมีคนมาร่วมงานแน่นขนัด
“พอเราเห็นแบบนี้เราเลยรู้ว่าจริงๆ แล้วคนที่อยากดูมันมีเยอะนะ ถ้าเกิดว่าเขาได้รู้ข่าวและเดินทางสะดวก”
นอกจากนั้นเธอยังยกตัวอย่างโรงหนัง The Projector ของสิงคโปร์และโรงหนัง Piccadilly โรงหนังขนาดเล็กในชินจูกุ ทว่าสิ่งที่ทั้งสองแห่งมีเหมือนกันก็คือกิจกรรมเสวนาที่จะสามารถดึงดูดคนรักหนังให้มาใช้บริการที่โรงหนังได้
“โรง The Projector ในสิงคโปร์ ด้วยความที่ประเทศเขาเป็นประเทศเศรษฐกิจก็จะมีผู้กำกับมาหรือมีการเสวนาที่จริงๆ แล้ว Doc Club & Pub. เองก็ชอบทำอยู่เหมือนกัน หรืออย่างโรง Piccadilly ที่ญี่ปุ่น เป็นแค่โรงเล็กๆ แต่น้องสาวเราบังเอิญไปดู Anora ในรอบที่ Sean Baker มา แล้วคนเต็มโรงไปถึงแถวหน้า เราเลยคิดว่ามันเป็นโมเดลที่ดีที่จะเอาทีมงานหรือใครก็ได้ที่เกี่ยวกข้องและสามารถเล่าแนวคิดของหนังเรื่องนั้นๆ ได้มาเสวนา มันเป็นของคู่กับหนังและเป็นสิ่งที่ดึงคนได้ ซึ่ง Micro Cinema ได้พื้นที่ตรงนี้เพราะไม่มีข้อจำกัดว่าแต่ละวันต้องลงหนังกี่รอบให้คุ้มค่าเงินที่สุด การจัดเสวนาเพิ่มอีกสักชั่วโมงในโรงใหญ่อาจทำให้เขาสูญเสียรายได้ที่ควรจะได้ไป”
สำหรับวิวัฒน์มองว่าในไทยนั้นมีเพียง Doc Club & Pub. ที่สามารถเรียกได้ว่าเป็น Micro Cinema เพราะการฉายหนังนอกกระแสส่วนใหญ่ในไทยมักจะทำด้วยความชอบและอยากจะทำโดยอาศัยพื้นที่ที่ตัวเองมี ไม่ได้เป็นโรงภาพยนตร์ที่มีระบบการฉายอันสมบูรณ์และฉายทุกวัน
“ตอนเสวนาเรื่อง Micro Cinema แล้วมีการเชิญตัวแทนจาก The Projector สิงคโปร์มา เขาก็จะคิดในเชิงธุรกิจด้วยเพื่อให้มันไปรอด และต้องไม่ลืมว่าในยุคสมัยหนึ่ง โรง Stand Alone ถูกทำลายหมดจากการเข้ามาของโรงเชน เราเลยแทบไม่เหลือประวัติศาสตร์ของโรงภาพยนตร์ให้ศึกษาเท่าไหร่ แต่ในต่างประเทศมีทั้งกรณีของการดำเนินการด้วยตัวเอง การสนับสนุนโดยสถาบันทางวัฒนธรรมซึ่งเราไม่ได้มีส่วนนั้น และเมื่อมีการสนับสนุนก็มักจะยึดโยงกับค่านิยมบางอย่างซึ่งทำให้กลายเป้นการควบคุมมากกว่าการสนับสนุน
“แต่ของไทยตอนนี้แทบจะเป็นการฉายด้วยความสนุกล้วนๆ เพราะฉะนั้นโมเดลในไทยผมคิดว่ายังต้องหากันต่อไป แต่ในขณะเดียวกันผมก็เชื่อว่ามันจะมีโมเดลแบบอื่นออกมาอีกที่เรายังตอบไม่ได้เหมือนกันว่าจะเป็นยังไง”
แต่ถึงจะเป็นการฉายด้วยความสนุกและอยากจะฉายโดยไม่ได้มีระบบโรงภาพยนตร์ที่สมบูรณ์ วิวัฒน์ก็เชื่อว่าการจัดฉายหนังนอกกระแสในแต่ละครั้งก็ได้ทิ้งร่องรอยที่มีค่าไว้กับคนดูแบบที่ไม่อาจประเมินด้วยตัวเลขได้
“จากที่ผมตระเวนฉายมาผมกล้าพูดได้ว่ามันมีคนดูอยู่ในทุกที่ เพียงแต่ว่าเขาถูกทำให้เข้าถึงหนังเหล่านี้ไม่ได้ ด้วยระบบการฉายที่มันบังคับให้ต้องไปดูในโรงที่เน้นทำธุรกิจ ในขณะเดียวกันสถาบันทางวัฒนธรรมเองก็ไม่ได้เข้มแข็งพอที่จะเป็นตัวกลาง ในการนำหนังพวกนี้ไปพบผู้ชม แล้วผู้ชมเหล่านี้ ไม่ได้เป็นคนที่ดูหนังเพื่อความบันเทิงอย่างเดียว มันทิ้งร่องรอยอะไรเอาไว้ให้เขาเยอะมาก ผมเคยเจอคนที่มาดูหนังที่ผมฉายแล้วไปเรียนหนัง หรือว่าการฉายหนังพวกนี้ทำให้เขาเข้าใจโลกใบใหม่ หรือทำให้คนจำนวนหนึ่งเปลี่ยนจากคนดูไปเป็นคนฉาย ซึ่งเขาก็จะเชื่อมต่อผู้คนในชุมชนของเขาอีกระดับหนึ่งอีก เพราะฉะนั้นหากถามว่าการฉายหนังแบบนี้มันให้ประโยชน์ยังไงในเชิงธุรกิจมันอาจพูดได้ไม่เต็มปากเพราะมันไม่ได้ทำกำไรมากอยู่แล้ว ฉะนั้นเวลาพูดมันอาจจะทำให้น่าเชื่อถือได้ไม่เต็มที่เพราะเราไม่มีตัวเลข แต่ในฐานะคนที่อยู่กับมันมา ผมว่ามันมีประโยชน์กว่านั้นเยอะ ทั้งในแง่ของการศึกษา ในแง่การรับรู้วัฒนธรรมที่หลากหลาย ในแง่การเปิดการพูดคุย ทำให้เราเข้าใจมุนษย์คนอื่นๆ ที่แตกต่างจากตัวเองได้เยอะขึ้น”
“เราคิดในสองฐานะ คือคนดูกับคนทำ” เมธัสกล่าวเมื่อถามถึงการสนับสนุนโรงหนัง Micro Cinema และหนังนอกกระแส “ถ้าคนดูก็แค่ไปดู ถ้าหลงใหลในการดูหนังก็ดูกันเยอะๆ ดูแล้วมันสร้างความเปลี่ยนแปลงในใจเรายังไงบ้างก็เขียนและพูดบอกคนอื่นให้ขยายวงมากขึ้นเรื่อยๆ”
ส่วนในฐานะคนทำหนัง เขาเชื่อว่าการทำผลงานออกมาให้ดีและสร้างศรัทธาในผลงานนั้นก็ถือเป็นการสนับสนุนวงการหนังทางเลือกได้แล้ว
“พูดง่ายๆ คือทำหนังออกมาให้ดี ให้รู้สึกว่ามันมีเวทมนตร์ของมัน ให้รู้สึกว่าการดูหนังดีๆ มันทำให้เรารู้สึกดีมากแค่ไหน สร้างความศรัทธาให้คนดูว่าเวลาสองชั่วโมงที่คุณมานั่งดูหนังมันไม่ได้เสียเวลาเปล่า มันสร้างอะไรต่อได้ เรามองโลกเปลี่ยนไปจากหนังได้เลย”
แม้จะดูเป็นคำตอบง่ายๆ แต่ความรักและความศรัทธาอาจเป็นสิ่งที่คอยหล่อเลี้ยงให้ผู้คนที่คอยผลักดันวงการ Micro Cinema และหนังนอกกระแสในไทยยังคงทำสิ่งนี้ต่อไป
ความศรัทธาที่เชื่อว่าคนตัวเล็กๆ ที่สร้างพื้นที่เล็กๆ ขึ้นมา อาจจะเปลี่ยนแปลงโลกของภาพยนตร์ในประเทศเล็กๆ ได้บ้าง แม้ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม
“I am small. I was always small. But only physically.”
Writer

ปัญญาพร แจ่มวุฒิปรีชา
อย่ารู้จักเราเลย รู้จักแมวเราดีกว่า
illustrator

Arunnoon
มนุษย์อินโทรเวิร์ตที่อยากสื่อสารและเชื่อมโยงกับผู้คนผ่านภาพวาด