เพราะการใช้ชีวิต ‘เวลา’ คือเงื่อนไขที่เราต่อรองอะไรไม่ได้เลย
เพราะการใช้ชีวิต ‘เวลา’ คือเงื่อนไขที่เราต่อรองอะไรไม่ได้เลย
“เราจะรู้ว่าอะไรมีค่า ก็ต่อเมื่อเวลาที่จะต้องเสียมันไป”
ข้างต้นนี้คือหนึ่งในสัจธรรมชีวิตที่จริงแท้ที่สุดอย่างเลี่ยงอะไรแทบไม่ได้
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผู้เขียนได้เขียนถึงการ Coming of Age เพื่อรำลึกถึงวัยเยาว์และการเฝ้าใคร่ครวญหาความหมายของการเติบโตให้กับตัวเอง สิ่งหนึ่งที่ตกตะกอนได้จากการเขียนบทความนั้น ผนวกกับการได้อ่านความคิดเห็นจากผู้อ่านหลายท่าน มากไปถึงสถานการณ์บางอย่างในชีวิตส่วนตัวของตัวเอง ยิ่งทำให้ผู้เขียนตกตะกอนได้ถึงความสำคัญและคุณค่าของ ‘เวลา’ ในแบบที่เราในฐานะมนุษย์คนหนึ่งบนโลกอันกว้างใหญ่ ไม่สามารถต่อรองอะไรกับมันได้
เหตุการณ์ที่ทำให้ผู้เขียนเติบโตขึ้นอย่างมากที่สุดในระยะเวลาอันสั้น สิ่งนั้นคือการที่คนในครอบครัวเราเข้าสู่ ‘เฟสที่สาม’ ของชีวิต ในวัฏจักร ‘เกิด แก่ เจ็บ ตาย’
การที่เราใช้ชีวิตในแต่ละวัน ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่านั่นก็คือการที่เราเดินทาง ‘ผ่าน’ เวลาไป ซึ่งหมายความว่า เวลาของชีวิตแต่ละคนนั้นจะนับถอยหลังลงไปเรื่อยๆ และเรื่อยๆ จวบจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
และแน่นอนว่า เวลาของคนรอบตัวเราก็นับถอยหลังไปทุกวันเช่นกัน
ตั้งแต่ราว 6 ปีที่แล้วเป็นต้นมาจนถึงปีนี้ที่ผู้เขียนอายุครบเบญจเพส ก๋ง ปู่ และอาม่า ญาติผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดสนิทสนมหลายคนของผู้เขียนได้ทยอยจากไปอย่างสงบ ทั้งด้วยโรคร้าย อายุขัย หรืออะไรใดๆ ก็ตาม
ผู้เขียนเองก็อาจคล้ายกับใครหลายท่านที่เมื่อได้รับชมภาพยนตร์เรื่อง หลานม่า ในปีนี้แล้วร้องไห้เป็นเผาเต่า เพียงเพราะว่าเส้นเรื่องอันแสนเรียบง่ายนั้นสุดจะโดนใจ การบอกเล่าชีวิตประจำวันของตัวละครเอกกับอาม่าของเขานั้น ชวนย้อนคิดให้เราได้ทบทวนการใช้เวลากับญาติผู้ใหญ่ กับบุคคลที่รัก ในโค้งสุดท้ายของวาระในชีวิตเขา ซึ่งนั่นทำให้การจากลาของอาม่านั้นไม่มีอะไรให้ต้องเสียใจ เพราะเอ็มได้ใช้เวลากับอาม่าอย่างมากที่สุดแล้ว
มากไปกว่าความเสียใจก็คงเป็น ‘ความเสียดาย’ ที่ผู้เขียนยังคงมีอยู่ไม่รู้จบ เพราะว่าไม่สามารถกลับไปแก้ไขอะไรใดๆ กับผู้ล่วงลับอันเป็นที่รักได้อีกแล้วทั้งสิ้น
กระนั้น ‘เฟสที่สาม’ ก็ยังคงเข้าใกล้ผู้เขียนมากขึ้นเรื่อยๆ และมันมักมาอย่างไม่ทันได้ตั้งตัว
เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา คุณพ่อของผู้เขียนเองก็เพิ่งตรวจพบโรคประจำตัว และต้องเข้าตรวจที่ห้องรักษาผู้ป่วยวิกฤตเพราะมีอาการบางอย่างเกี่ยวกับหัวใจและสมองที่อาจผิดปกติด้วยภาวะเฉียบพลัน
วินาทีที่ผู้เขียนทราบข่าวจากคุณแม่ในวันหนึ่งที่เป็นวันธรรมดา และเวลานั้นคือตอนที่ยังทำงานอยู่ ณ ตอนนั้นจู่ๆ ก็รู้สึกว่าเวลานั้นผ่านไปอย่างเชื่องช้า ก้มดูนาฬิกากี่ครั้งก็ผ่านไปเพียงแค่ 3 นาที และเมื่อถึงเวลาเลิกงานก็รีบขึ้นรถมอเตอร์ไซค์ไปที่โรงพยาบาล ขนาดไฟแดง 120 วินาทียังทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่านั่นคือเวลากว่า 120 ปีที่ยังเคว้งคว้างใจร้อนรุ่มอยู่ที่กลางถนนแยกอโศกมนตรี
ในเวลานั้นสิ่งที่อยู่ในหัวผู้เขียนแทบจะตลอดเวลาคือ
การที่เสียอาม่าไป ยังไม่เข็ดเหรอ
ช่วงเวลานั้นนับเป็นอีกช่วงชีวิตหนึ่งที่เพียงแค่สั้นๆ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันทำงานกับความรู้สึกมาก ระยะเวลา 7 วันที่คุณพ่อแอดมิตอยู่ที่โรงพยาบาล ผู้เขียนได้เรียนรู้และทบทวนความหมายของคำว่า ‘ครอบครัว’ อย่างมหาศาล ในวันที่ลูกทุกคนเติบโตและแยกย้ายกันไปใช้ชีวิตของตัวเอง ใครบางคนอาจถูกลืมหรือถูกทิ้งไว้ข้างหลังอย่างไม่ตั้งใจ เมื่อเรารู้ตัวอีกทีก็อาจเกือบจะสายไป และครั้งสุดท้ายที่ได้ยิ้มให้กันอาจเป็นหน้าหีบศพก่อนที่จะทอดบังสุกุล
สำหรับผู้เขียนสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่เรื่องของความกตัญญู
แต่เป็นการเรียนรู้จากความเสียดายที่เราอาจเคยพลาดในอดีต และวันนี้เราก็พยายามที่จะไม่เป็นแบบนั้นอีกต่อไป
และ ‘เวลา’ คือเงื่อนไขที่เราต่อรองอะไรไม่ได้เลยในชีวิต ไม่ว่าจะขอให้มันเร็วขึ้น ช้าลง ย้อนกลับ หรือข้ามไปยังอนาคต เหล่านั้นคือสิ่งที่เราทำอะไรกับมันไม่ได้เลยแม่แต่นิดเดียว
แต่สิ่งที่เราอาจทำได้คือการเรียนรู้จาก ‘ความเสียดาย’ ที่ทำพลาดไปในอดีต
ใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบัน ทำทุกวัน ทุกความสัมพันธ์ให้ดีที่สุด
และยังไม่กังวลไปกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง
ที่สำคัญที่สุดคือให้ลองมองข้างๆ หรือหันกลับหลังสักเล็กน้อย เพื่อที่จะรู้ว่าเรานั้นไม่ได้อยู่คนเดียว ยังมีอีกหลากหลายสายสัมพันธ์ทั้งกับคน สัตว์ สิ่งของ หรือกระทั่งสถานที่เองก็ตาม เหล่านั้นล้วนก่อสร้างตัวตนและหล่อหลอมให้เราเป็นเราจวบจนทุกวันนี้
และในเมื่อเราไม่ใช่นักท่องเวลาที่สามารถทำอะไรกับสิ่งนี้ได้ อาจลองเดินทาง ‘ร่วม’ กับเวลาไป มากกว่าที่แค่จะปล่อยผ่านให้แต่ละวันผ่านไปอย่างไร้ซึ่งความหมาย
Writer
ภาพตะวัน
แสงแดดยามเช้า กาแฟหนึ่งแก้ว และแมวหนึ่งตัว
illustrator
Arunnoon
มนุษย์อินโทรเวิร์ตที่อยากสื่อสารและเชื่อมโยงกับผู้คนผ่านภาพวาด