ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ : ไม่เป็น ‘แม่ที่รู้ดี’ ผิดได้ บางครั้งก็ทำตัวร้ายๆ กับลูก
ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ : ไม่เป็น ‘แม่ที่รู้ดี’ ผิดได้ บางครั้งก็ทำตัวร้ายๆ กับลูก
- “เราจะไม่บอกลูกว่าหนูต้องหาตัวเองเจอนะ”
- หลายๆ คำตอบในบทสนทนาที่ตั้งคำถามถึงนิยามความเป็นแม่กับ ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ ให้ความหมายที่สวนทางกับขนบเดิมๆ
- แต่ทั้งหมดนี้คือชีวิตจริง เหมือนสารคดีแต่ละเรื่องที่คุณแม่ลูกสองเลือกนำเข้ามาเสิร์ฟภายใต้ชื่อ Documentary Club เพราะคิดว่าทุกเรื่องมีคุณค่าในตัวของมันเอง
Trailer
“สิ่งที่เราค้นพบตัวเองคือเราพยายามซื่อตรงที่สุด อย่างเวลาที่ลูกมาปรึกษาเรื่องเพื่อนว่า ช่วงนี้เพื่อนไม่ชอบเลย เราก็ตอบไปตรงๆ เลยว่า แม่ไม่รู้จะช่วยยังไงว่ะเพราะแม่โตมาแบบแทบไม่มีเพื่อนเลยเหมือนกัน”
*Spoiler alert
ก่อนที่จะได้มานั่งเปิดบทสนทนากับ ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ ผู้ก่อตั้ง Documentary Club แพลตฟอร์มนำเข้าภาพยนตร์สารคดีหลากหลายเฉดสีเข้ามาฉายในไทย เราคิดถึงภาพผู้หญิง working woman เท่ๆ ที่เลี้ยงลูกไปด้วย มี mindset ที่แข็งแรงในฐานะความเป็นแม่และจัดการชีวิตได้ฉึบฉับเหมือนนางเอกแกร่งๆ ในภาพยนตร์ Rom-com
แต่หลังจากคำถามแรก คำถามที่สอง ไปจนถึงคำถามที่สิบกว่า เรากลับค้นพบว่าภาพที่ตัดสินไว้ก่อนหน้านั้นมันตื้นเขินเกินไป คลื่นของความตื่นเต้น สนุกสนานค่อยๆ ซัดเข้ามาทีละน้อย มีช็อต Action ช็อต Life ช็อต Drama ปนกันไปจนกลมกล่อมเกินกว่าจะตัดสินว่าชีวิตความเป็นแม่ของเธอคือภาพยนตร์ประเภทใดประเภทหนึ่ง
ย้อนหลังให้สักนิด วัยเด็กฉบับย่อของธิดาคือภาพของการร้องไห้ใหญ่โตไม่ยอมไปเรียน จนขึ้นประถมโตแล้วก็ยังคงนิสัยแบบนั้นอยู่ ประสบการณ์และความทรงจำในวัยเด็กชัดเจนขึ้นมาเมื่อส่งลูกสาวคนโตเข้าโรงเรียนใกล้บ้านตั้งแต่อายุยังไม่ 3 ขวบดีแล้วค้นพบว่าอาจจะยังเร็วเกินไป ที่ลูกไม่ชอบใจอาจเป็นเพราะสาเหตุคล้ายกันกับที่เธอเกลียดโรงเรียนเมื่อสมัยก่อน
เส้นเรื่องของการเลี้ยงลูกจึงเริ่มจากจุดที่ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย เกิดไอเดียว่าจะหาโรงเรียนที่ถูกจริตพ่อแม่ หรือโรงเรียนที่สนับสนุนการเป็นตัวเองของลูก
จนถึงวันที่ลูกทั้งสองเข้ามาบอกว่าขอลาออกจากโรงเรียน
“ก่อนที่จะมีลูก วางแผนเลี้ยงลูกอย่างไร”
“จริงๆ แทบจะไม่ได้วางแผนอะไรเลย”
เป็นคำตอบปนเสียงหัวเราะ
เราจึงเริ่มต่อบทด้วยคำถามเรื่องการศึกษา การเริ่ม research หาข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษา ค้นหาแนวทางและสไตล์โรงเรียนที่ใช่ รวมไปถึงอ่านหนังสือจิตวิทยาเด็ก และตั้งคำถามกับตัวเองว่าการศึกษาควรจะให้อะไรกับลูก
จากนั้นจักรวาลของการถามตอบจึงไหลไปในเรื่องการฟัง การทะเลาะ การกอด การขอโทษ ความเป็นตัวเอง ความเป็นแม่ ความคาดหวังที่มีต่อลูก และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การมองกันและกันในฐานะมนุษย์ และจริงใจต่อลูกให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ต่อจากนี้จึงเป็น *Parental advisory ในแบบของธิดา ผลิตผลการพิมพ์ ในฐานะแม่ที่สลับบทบู๊ เป็นผู้ใหญ่ที่ผิดได้และเป็นมนุษย์ที่บางครั้งก็ทำตัวร้ายๆ ไม่ต่างจากลูก
Epilogue: บ้านที่พิงหลังได้ อุ่นใจเสมอเมื่อไม่มีที่ไป
ตอนที่รู้ตัวว่าจะมีลูก วางแผนการเลี้ยงลูกอย่างไร
จริงๆ แทบจะไม่ได้วางแผนอะไรเลย เราไม่เคยนึกภาพการมีครอบครัวที่มีลูกเท่าไหร่ ในตอนแรกนึกถึงวิถีชีวิตตัวเองที่เปลี่ยนไปมากกว่า ดังนั้นเรื่องการวางแผนอนาคตยาวไกลนี่แทบไม่อยู่ในความคิด จนกระทั่งมีลูก ก็เหมือนกับว่าเราไม่มีประสบการณ์เรื่องเลี้ยงเด็กมาก่อนเลยเพราะเป็นลูกคนเล็ก ดังนั้นการเลี้ยงลูกนี่เหมือนเป็นการเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อตัวเองในแต่ละวันมากกว่า ว่านี่คืออีกชีวิตหนึ่ง เขาร้องคือเขาต้องการอะไร เรียนรู้ที่จะปรับตัวเอง
แม้กระทั่งตอนที่ลูกจะถึงวัยเข้าโรงเรียนแล้วก็เพิ่งจะมาคิดเอาตอนนั้นเอง ว่า เอ๊ะ เราจะให้เขาเข้าโรงเรียนแบบไหนดี ตอนแรกที่ลูกเข้าโรงเรียน เราก็เอาเข้าโรงเรียนใกล้บ้าน ลูกก็ไม่แฮปปี้ อาจจะเพราะเขายังเด็กไป ยังไม่สามขวบดีเลย จากนั้นถึงได้เริ่มจริงจัง มานั่งคิดว่าเราคิดยังไงกันแน่กับเรื่องโรงเรียน เลยย้อนคิดถึงว่าทำไมเราโตมาแบบที่เราเกลียดการไปโรงเรียนมาก ตลอดทั้งชีวิตเรามีความเชื่อว่าระบบการศึกษามันผิดทาง ถึงตรงนั้นเราเลยมองหาว่ามีโรงเรียนทางเลือกอื่นไหม แนวคิดเรื่องการศึกษามีอะไรบ้าง
การศึกษาแบบไหนที่คิดว่าจะทำให้ลูกแฮปปี้ ไม่ร้องไห้แบบเรา
เราไม่เชื่อเรื่องระบบการศึกษาที่เน้นผลิตคนเข้าสู่ตลาดแรงงาน เพราะเราคิดว่าระบบการศึกษาไทยตอนนี้มันมีรากมาจากการมีโรงเรียน และจัดระบบการศึกษาแบบนี้ขึ้นมาเพราะมันอยู่ในช่วงพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศอุตสาหกรรม มีแนวคิดเรื่องการผลิตแรงงานจึงนำมาซึ่งการแยกย่อยความรู้เป็นชุดความรู้สำเร็จรูปของแต่ละอาชีพ เป็นการเรียนที่เป็นระบบแบบคอขวดที่บีบให้เด็กต้องวิ่งไปสู่สนามการแข่งขันประเภทเดียว มีเกณฑ์การวัดศักยภาพเดียว เรารู้สึกว่าระบบพวกนี้มันไม่ตอบสนองโลกที่เปลี่ยนไป แทนที่จะทำให้เด็กรู้สึกว่าโลกนี้มีสิ่งที่เรียนรู้เยอะ สามารถค้นหาจนกว่าจะเจอสิ่งที่เขาชอบและต่อยอดได้ แต่กลับทำตรงกันข้าม
มองการศึกษาทุกวันนี้อย่างไร
การศึกษามันทำให้เด็กรู้สึกไม่มีคุณค่า เพราะคุณค่าถูกวัดด้วยเกณฑ์ไม่กี่อย่างและวัดโดยคนอื่น เมื่อโรงเรียนมีระบบความคิดแบบโรงงานอุตสาหกรรม ผลิตเด็กบนสายพาน นี่คือระบบอำนาจนิยมแบบหนึ่งที่เราเห็นว่ามันไม่ควรเกิดขึ้นไม่ใช่แค่กับลูกเรา แต่กับทุกคน ดังนั้นเราเชื่อว่าถ้ายังต้องพึ่งพาระบบโรงเรียนอยู่ อย่างน้อยที่สุดมันควรจะเป็นพื้นที่ที่ไม่ทำให้เขารู้สึกว่าคุณค่าในความเป็นคน และความทะเยอทะยานที่จะเรียนรู้มันหายไป
มันจะมีไหมระบบการศึกษาที่อย่างน้อยที่สุดหล่อเลี้ยงให้ธรรมชาติความอยากรู้อยากเห็นของเด็ก ความรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า ซึ่งถ้าถามว่ามีโรงเรียนไหนที่จะมาตอบสิ่งเหล่านี้ได้ทั้งหมดมันก็ไม่มีนะ สุดท้ายมันเลยยังต้องเป็นหน้าที่ของครอบครัวที่ต้องช่วยลูกรักษาสิ่งนี้ไว้ เราจะเอาลูกโยนเข้าไปในระบบการศึกษาแบบที่เป็นๆ อยู่นี้แล้วหวังให้เป็นอย่างที่เราต้องการทั้งหมด คงยังหวังไม่ได้
เราเข้าไปยุ่งกับการเรียนของลูกได้มากน้อยแค่ไหน
ยุ่งเยอะ (หัวเราะ) ไม่ได้ไปยุ่งว่าเรียนอะไรนะ แต่เรารู้สึกว่าเราพยายามทำหน้าที่เป็นแม่แบบที่ทำให้เขารู้สึกว่าบ้านเป็นที่ที่เขาสบายใจที่จะอยู่ จริงๆ มันก็เป็นปัญหาของคนทุกรุ่นนะ พอเรามีบ้านที่เรารู้สึกว่ามันพิงหลังไม่ได้ ก็จะมีปัญหาตามมาอีกเยอะในอนาคตไม่ว่าเราจะเจออะไร เหมือนรากมันไม่แน่น อย่างน้อยที่สุดบ้านควรจะเป็นที่ที่ลูกรู้สึกว่ามันเป็นที่สุดท้ายที่จะอุ่นใจได้เสมอถ้าเขาไม่มีที่ไป ดังนั้นเราจึงพยายามฟังเขา คุยกับเขาเยอะๆ ถ้าเขามีปัญหาอะไรที่โรงเรียน เขาสามารถเล่าได้โดยพยายามไม่ตัดสิน ซึ่งจริงๆ มันทำได้ไม่เพอร์เฟ็กต์หรอก แต่เราก็พยายามทำ
วิธีการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ลูกรู้สึกว่าแม่รับฟังได้ ต้องทำอย่างไร
เราก็พยายามบังคับตัวเองให้ฟังมากขึ้นนะ ด้วยความห่วงใยที่มีต่อลูก บางทีพ่อแม่ก็มองโลกรอบตัวในยุคของตัวเองแล้วเห็นว่าไอ้นั่นก็ไม่ดี ไอ้นี่ก็ไม่ได้ ดังนั้นเราก็อดไม่ได้ที่จะสวมวิญญาณแม่รู้ดี ตัดสินไปแล้ว ลูกพูดมาหน่อยเดียว สอนทันที นี่เป็นสิ่งที่ถ้าเราไม่ระวัง เราก็จะทำ เราจึงพยายามฟังเขาก่อน อย่างน้อยที่สุดคือเวลาเขาจะเล่าเรื่องอะไร สิ่งที่เราจะเตือนตัวเองก่อนก็คือ ไม่ต้องพูด ไม่ต้องรีบตัดสิน ไม่ต้องรีบเอาประสบการณ์ตัวเองไปบอกเขาว่า อ๋อ มันอย่างงู้นอย่างงี้ล่ะสิ ให้เขาเล่า ให้เขาระบายไป พอเราฟังเขาเยอะๆ เราจะเริ่มจับทางได้ว่านี่คือบุคลิกลักษณะของลูกคนนี้ นี่คือสิ่งที่เขาต้องการ แล้วถ้าเราตั้งใจฟัง มันก็จะเริ่มสร้างบทสนทนาต่อไปได้
เช่น ลูกคนโตชอบเล่าเรื่องเพื่อน พอเราจับได้ว่าจริงๆ ที่เขาเล่าเพราะเขาอาจจะมีปัญหาอยู่ข้างใน เราเลยพยายามชวนเขาคุยเรื่องแบบนี้ ให้เขามีความรู้สึกว่า เมื่อเขาเล่าแล้วเขาจะไม่ถูกสั่งสอนเร็วเกินไป และเราพร้อมที่จะเข้าใจว่าเขาต้องการอะไร พร้อมที่จะเปิดให้เขาระบายและพูดเพิ่มขึ้น พอเราพยายามทำให้เขารู้สึกว่าเราคุยได้ เป็นเพื่อนที่พร้อมฟังเขา ซึ่งมันอาจจะสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง มันก็ค่อยๆ ต่อกันติดทีละนิด
เรื่องราวที่เขาเล่ามันเพิ่มมากขึ้นไหม
มากๆๆๆๆ
จนแม่เริ่มรู้สึกว่าพอก่อน
เออ ไม่ต้องเล่าทุกเรื่องก็ได้ (หัวเราะ) ตอนนี้เหมือนเรื่องเล็กเรื่องน้อยอะไรก็เล่า เราเคยแซวเขา เขาก็บอกว่ามันมีความรู้สึกว่าต้องเล่า ซึ่งมันรู้สึกดีนะ
เราเป็นตัวเองมากแค่ไหนเวลาที่อยู่กับลูก
ถ้าตอนลูกเล็กๆ เราแทบจะทำสิ่งที่เราคุ้นเคยไม่ได้เลยเพราะว่าไม่รู้ว่าลูกจะร้องตอนไหน มันต้องพร้อมเซอร์วิสตลอดเวลา สิ่งนี้โคตรขัดแย้งกับการเป็นตัวเรา ซึ่งเราใช้เวลาปรับตัวเองตรงนี้ค่อนข้างเยอะ เพราะนิสัยเป็นแบบนี้มาตลอดสิบๆ ปี ทุกวันนี้ก็ยังเป็นเลย ดังนั้นทุกวันนี้ต้องใช้วิธีบังคับตัวเองว่าทำงานถึงแค่นี้ จัดตารางเวลาแค่นี้พอ ที่เหลือช่างแม่ง
ปวดหัวกับการจัดการเวลาให้ตัวเองและลูกมากน้อยแค่ไหน
พอมีลูกมันก็ยิ่งรู้สึกขัดแย้ง พอเราทำงานไม่ครบ เราก็รู้สึกผิด แต่พอลูกเข้านอนเราก็รู้สึกผิดอีกว่าทำไมเราไม่ให้เวลาลูก อาจจะแบ่งช่วงที่ให้เวลาลูกเป๊ะๆ เช่น ถึงเวลานี้แยกย้ายอาบน้ำ พร้อมเข้านอน ที่ทำมาตั้งแต่เด็กจนถึงทุกวันนี้คือจะต้องอ่านหนังสือนิทานให้ฟังจนลูกโตเป็นสาวแล้วยังทำอยู่เลย แล้วถ้าวันไหนลูกอยากนอนคุย ก็ต้องเผื่อเวลาก่อนนอนอีก ช่วงนี้พอลูกโตขึ้น แล้วเราสังเกตว่าเขาก็ยังโอเคกับการใช้เวลาอยู่รอบๆ เรา เราจึงเริ่มรู้สึกว่าเราต้องจัดสรรเวลาตรงนี้มากขึ้น โดยเฉพาะช่วงโควิดเนี่ย ลูกอยู่ตลอด 24 ชั่วโมงเลย
สิ่งที่เป็นปัญหากับเรามากที่สุดคือเรื่องเวลา เพราะว่าเราเป็นคนทำงานไม่รู้เวล่ำเวลา สามารถนั่งทำงานตั้งแต่เช้ายันดึก โดยไม่สนใจอะไรเลย สิ่งสำคัญจึงเป็นการจัดสรรเวลาที่จะมาฟังลูก แล้วเราไม่ต้องนึกถึงงาน นึกถึงว่าจะต้อง productive เพราะนี่ก็คือความ productive เหมือนกัน
ไม่ได้เป็นแม่แบบที่มีอาชีพแม่เป็นงานหลัก อุทิศตัวให้กับลูกเต็มร้อย
ไม่เป็น และคิดว่าทำไม่ได้ด้วย แต่ก็ไม่รู้นะเพราะยังไม่ลองทำจริงๆ สมมติว่าเราไม่ต้องทำงานใดๆ แล้วเราต้องเป็นแม่เต็มที่ เราก็อาจจะหมกมุ่นกับการเป็นแม่ก็ได้ แต่เพราะวิถีชีวิตเราทำงานของตัวเองมาเรื่อยๆ ด้วย ก่อนจะมีลูกก็มีงานที่จะโยนทิ้งไปได้ง่ายๆ การที่เราทำงานแล้วเรายังมีรายได้ จริงๆ มันก็เป็นเรื่องสำคัญเหมือนกันเพราะในแง่หนึ่งเราก็รู้สึกมั่นคงในการใช้ชีวิต
EP.1 โลกแบบไหนที่เราอยากให้เขาตื่นขึ้นมาแล้วเห็นว่าตัวเองอยู่
คาแรคเตอร์ของลูกสาวและลูกชายแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
ลูกสาวจะเป็นคนที่แสดงออกด้วยการพูด เขารู้สึกยังไงก็จะพูด พูดเยอะ เล่าทุกเรื่อง แต่มันก็ดีในแง่ที่เราจะได้รับรู้สิ่งที่เขาคิด ส่วนลูกชายจะเป็นคนอธิบายความรู้สึกไม่ค่อยเก่ง แต่บุคลิกเป็นคนขี้เล่น ตลกขบขัน ถ้าโกรธแล้วแหย่ก็จะอารมณ์ดีอย่างรวดเร็ว แต่ว่าด้วยความที่เขาไม่ค่อยพูดเลยทำให้เราต้องหาวิธีทำความเข้าใจเขาในแบบอื่นๆ เช่น สังเกตเวลาเขาเล่น เล่านู่นนี่ เราต้องโฟกัสในสิ่งที่เขาเล่าหรือทำมากขึ้นเพื่อที่จะรู้ว่าจริงๆ เขาคิดอะไรอยู่
จริงๆ เป็นแม่ที่สังเกตลูกหนักมากเหมือนกันใช่ไหม
ใช่ๆ เวลาส่วนใหญ่ที่เราอยู่กับเขาจะพูดคุยและสังเกต ตอนนี้ลูกคนโตกำลังวัยรุ่นก็จะเฮ้วๆ หน่อย ถ้าวันไหนเราสติแตก เราก็อาจจะทะเลาะกับเขาได้ แต่ถ้าวันไหนเราสติดี ชุดความรู้ก็จะกลับมา
เล่าเหตุการณ์สงครามสติแตกให้ฟังหน่อย
เขากำลังจะเป็นวัยรุ่นบางครั้งเลยจะมีอารมณ์แรง เช่น พูดแหย่ไปนิดเดียว หน้าบูดหน้าบึ้ง กระชากเสียง เราก็จะปรี๊ดแล้วเพราะปกติเราเป็นคนขี้โมโห ถ้าหยุดไม่ได้ก็จะเริ่มฉะกันแล้ว เริ่มพูดแรงๆ ใส่กันไปสักสองสามประโยค สิ่งหนึ่งที่เราเข้าใจเลยว่าพ่อแม่ที่ชอบเป็นแบบนี้เพราะพ่อแม่แบกความห่วง ความกังวลไว้ ซึ่งนี่เป็นปัญหานะ ทุกคนก็ห่วงลูกแหละ แต่ความกังวลที่อาจจะมากเกินไปแล้วบางทีมันทำให้เรา overreact ถ้าเรามานึกถึงว่าสมัยตอนเราวัยรุ่นเราก็ทำแบบนี้ไม่มีผิดเลย เราก็พูดกับพ่อแม่แบบนี้ ถ้าไม่ดึงสติไว้ ปล่อยให้ความกังวลหรืออารมณ์ส่วนตัวพาไป มันก็จะเกิดการปะทะ ซึ่งโคตรจะไม่มีประโยชน์เลย
วิธีการสงบศึกแล้วกลับมาคุยกันเหมือนเดิมเกิดขึ้นได้อย่างไร
พอปึงปังใส่กัน แล้วแยกกันไปแล้ว แป๊ปเดียวเราจะรู้สึกตัว เราเป็นคนที่ถ้าทะเลาะกับใครจะไม่อยากปล่อยไว้ สมมติว่าเราพูดไม่ดีเอง เราก็จะเป็นฝ่ายไปขอโทษลูกเลย แล้วหลายครั้งลูกก็จะเป็นฝ่ายมาขอโทษ เขาจะรู้ตัวว่าเขาพูดไม่ดี ซึ่งเราพยายามทำแบบนี้มาตั้งแต่เขาเล็กๆ แล้ว ถ้าสมมติพี่กับน้องทำไม่ดีต่อกันเราจะให้เขาขอโทษ หรือถ้าเราทำไม่ดี เราก็จะเป็นฝ่ายไปขอโทษเขาทันที
บรรยากาศในการขอโทษกันเป็นอย่างไรบ้าง
ถ้ามันเป็นเรื่องที่ควรอธิบายก็อธิบาย แต่ถ้าเป็นเรื่องที่รู้กันว่าต่างคนต่างอารมณ์ร้อนก็เลยคนละตู้ม เราขอโทษเสร็จก็เข้าใจว่าไม่ควรจะพูดแบบนี้ บางครั้งเขาจะอยากเคลียร์ (หัวเราะ) ว่าจริงๆ ไม่โอเคเลยที่เมื่อกี๊แม่ พ่อพูดแบบนี้ เราก็จะบอกว่าขอโทษนะ แต่ก็อยากให้เข้าใจด้วยนะว่าที่เราพูดไปเรามีเหตุผลแบบนี้ๆ แต่เรารู้แหละว่าที่เราพูดมันไม่ดี ต่อไปเราจะพยายามพูดให้ดีกว่านี้ เรารู้สึกว่ามันดีตรงที่ว่าพอเราขอโทษในสิ่งที่เราไม่ควรทำ เขาก็จะรู้ว่าเขาไม่ควรทำแบบไหนเหมือนกัน หลายครั้งเราขอโทษเสร็จ เขาก็ขอโทษกลับ แล้วเราก็ดีกันได้
เหมือนบางครั้งวิธีการพูดคุยก็ละลายสถานะพ่อ แม่ ลูกออกไป
ใช่ เราว่านี่เป็นสิ่งที่ต้องฝึก เพราะถ้าไม่ฝึกเราก็จะคุ้นเคยกับการพูดมาก สั่งสอนว่าเป็นเด็กอย่าเรื่องเยอะ แต่ถ้าเราพยายามฝึก มันก็มีทั้งที่ทำได้และไม่ได้ เราควรมองว่าเขาก็เป็นคนคนหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งคือเขาก็โตขึ้นทุกวัน แล้วด้วยความที่เราคุยกับเขามาเยอะ เขาจึงจะไม่ใช่เด็กที่ไม่รู้เรื่องอะไร เช่น ลูกสาวเราเป็นคนช่างพูด ช่างสังเกต จริงๆ เขาเป็นคนค่อนข้างคิดอะไรชัดเจน สมมติเวลาคุยกันแล้วเราบอกว่าขอโทษนะ เมื่อกี๊แม่พูดไม่ดี เขาก็จะเข้าใจเร็วมาก ไม่มานั่งเถียงยืดยาว
ฟังดูแล้วมีความเป็นผู้ใหญ่สูง
จริงๆ เขาก็มีความเป็นเด็กตามวัยของเขาแหละ ลูกคนโตอาจจะโตไวหน่อย แล้วก็เริ่มสนใจข่าวสารบ้านเมือง แต่ว่าเวลาเราคุยกับเขาก็จะคุยในบริบทที่ไม่ลงไปลึกมากนัก เช่น ชี้ให้เห็นว่ามีข่าวนักเรียนประท้วงเรื่องการตัดผมในโรงเรียนเพราะเหตุผลอะไร อยู่ในขอบเขตที่ทำให้เห็นว่ามันมีปัญหา แค่ทำให้เขาสังเกตสิ่งต่างๆ ตั้งคำถามและมีความรู้สึกว่ามันมีคนที่ลุกขึ้นมาทำสิ่งนู้นสิ่งนี้ได้ และมันเป็นสิ่งที่ตรงกับความชอบของเขาด้วย
ความที่รู้สึกที่ว่าคนวัยเขาสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ ก็เป็นพลังอย่างหนึ่ง แต่เขาก็คือเด็กทั่วไปนั่นแหละ คุยเรื่องเพื่อน วาดรูปไปให้วันเกิดเพื่อน หรือลูกจะเป็นวัยรุ่นอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีโมเมนต์เล่านิทานก่อนนอนให้ฟัง แล้วก็จะตื่นเต้นใหญ่เลย เราเลยพยายามรักษาเส้นตรงนี้ไว้
ความเป็นเด็กของลูกสำคัญกับการที่เขาจะเติบโตไปเป็นคนที่เขาอยากเป็นอย่างไร
ความเป็นเด็กสำหรับเรามันหมายถึงการที่เขายังอยู่ในโลกที่มันยังมีความฝันอยู่ ยังมีจินตนาการที่ยังไม่ปนเปื้อนด้วยโลกภายนอกมากนัก เราว่าส่วนนี้เป็นส่วนที่เราพยายามหล่อเลี้ยงให้มันเป็นไปตามวัย แต่พอเด็กโตขึ้น มันก็ตื่นสู่โลกมากขึ้นเรื่อยๆ โลกแบบไหนที่เราอยากให้เขาตื่นขึ้นมาแล้วเห็นว่าตัวเองอยู่ นี่คือสิ่งที่เราพยายามเชื่อมโยงให้มันเข้าด้วยกัน
ด้านของความชุ่มชื่นใจในชีวิตประจำวันเป็นอย่างไรบ้าง
เราค่อนข้างจะรู้สึกแบบนี้กันตลอดนะ เช่น ตอนนอนเราก็จะพาเข้านอน คุยกันต่างๆ นานา เราว่ามันเป็นช่วงเวลาแห่งความซาบซึ้งของเขา สมมติว่าวันนั้นเขาเจอปัญหาแล้วเล่าให้ฟัง เราก็ช่วยตอบคำถามและดึงเขาออกมาจากเรื่องที่เขากลุ้มใจ เขาก็จะมีความซาบซึ้ง
สิ่งที่เขาจะรู้สึกที่สุดคือการที่เราฟังเขานี่แหละ หลายๆ ครั้งพอมันคุยกันจนเคลียร์จบเรื่องที่เขากลุ้มใจไปแล้ว เขาก็จะขอบคุณตรงๆ ว่า นี่ดีใจที่พ่อแม่ฟัง ดีใจที่ที่บ้านเป็นแบบนี้
ฟังแล้วโคตรดีใจเลย หรือเราก็เคยพูดกับเขาว่าขอบใจมากนะที่ลูกเป็นแบบนี้ ขอบใจที่ฟังนะ
ปีที่ผ่านมาทราบว่าลูกๆ ขอลาออกจากโรงเรียนมาโฮมสคูล ความคิดนี้เริ่มจากอะไร
จริงๆ ในบ้านก็สนใจแต่เราเองก็ยังไม่พร้อม เลยไม่ได้คิดจริงจังว่าต้องทำยังไง สอง ลูกก็ดูแฮปปี้ดี เราจะไปเปลี่ยนชีวิตเค้าทำไม
ตอนนั้นลูกชายอายุ 10 ขวบ (ตอนนี้ 12) เค้าเริ่มพูดว่าถ้าเค้าไม่อยู่โรงเรียน มาเรียนที่บ้านได้มั้ย แต่ตอนนั้นเราคิดว่าหรือเค้าอาจจะขี้เกียจไปเรียนตามตาราง มันอาจไม่ใช่สิ่งที่เค้าอยากทำ แต่เรารู้สึกว่าเค้าอาจจะยังเด็กด้วย แค่ขี้เกียจเปล่าวะ หรือเค้าอาจจะทำอย่างอื่น เช่น อยากจะเล่นเกม เพราะโรงเรียนที่ลูกเรียนตอนนั้นเป็นโรงเรียนทางเลือกที่ค่อนข้างเข้มงวดเรื่องการใช้สื่อ
แต่ตอนนั้นลูกสาวยังไม่สนใจ เค้ากำลังเป็นวัยรุ่น ติดเพื่อน
ปีที่ผ่านมา หลังจากโควิดรอบแรกที่โรงเรียนปิดไป เค้าอยู่บ้าน มีอิสรภาพมากขึ้น ได้ทำนู่นทำนี่ที่เค้าอยากทำ แล้วทั้งสองคนก็เริ่มชัดขึ้นมาว่าถ้าเค้ามีก้อนเวลาของเค้าเอง แล้วเค้าได้เห็นสิ่งต่างๆ มากขึ้น มากกว่าตอนตื่นเช้าไปโรงเรียน เย็นกลับมาเหลือเวลาไม่เยอะก็ต้องนอนแล้ว มันมีเวลาให้เค้าเห็นสิ่งต่างๆ มากขึ้น เค้าเริ่มรู้สึกว่าถ้าไม่ต้องไปโรงเรียนเค้าก็โอเคนี่ มันมีสิ่งอื่นที่อยากเรียนรู้ตั้งเยอะ
ลูกทั้งสองคนก็เริ่มชวนเราคุยเรื่องนี้มากขึ้น ว่าเป็นไปได้มั้ยถ้าออกจากโรงเรียนแล้วมาทำโฮมสคูลอยู่บ้าน
พ่อแม่ว่าอย่างไรบ้าง
เอาจริงๆ เราก็ยังไม่ค่อยได้ตระเตรียมอะไร จนถึงตอนนี้ที่ออกมาเต็มตัว ก็ยังไม่ได้ชุดความคิดที่สอดคล้องกัน 100% ว่าจะไปสเต็ปไหนกัน เรามีเวลาค่อยๆ คลำ ว่าตอนนี้อะไรคือสิ่งที่เค้าอยากทำ ให้เค้าใช้เวลาค่อยๆ ค้น ต่อยอดไปทีละนิดมั้ยว่าสนใจอะไร แล้วลองดูว่าเราจะซัพพอร์ตยังไง เช่น ลองไปเรียนคอร์สนั้นคอร์สนี้มั้ย หรือว่าวันนี้เราหาหนังสือมาอ่านแล้วคุยกัน
พ่อ แม่ ลูก ใครออกแบบมากกว่ากัน
ตอนนี้เราก็ยังเจ้ากี้เจ้าการพอสมควรเลยนะ (หัวเราะ) เราพยายามจัดวางตารางพอสมควร อย่างน้อยที่สุดเค้าควรจะยังต้องเรียนสิ่งนั้น สิ่งนี้อยู่ เช่น คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ
แต่ทั้งหมดอยู่บนฐานของการรับรู้ร่วมกันว่า โอเคหรือไม่โอเค อาทิตย์นี้เยอะไป อาทิตย์นี้ขอหยุด เราคิดว่า ณ ตอนนี้ลูกก็ยังไม่พร้อมจัดการตารางการเรียนรู้ของเค้าเองได้
ในฐานะแม่ อะไรที่กังวลมากที่สุด
เรื่องการจัดตารางชีวิตของลูก เรื่องความมีวินัย ถ้าเราไม่กะเกณฑ์ มันก็อาจจะลำบากเหมือนกัน ลูกก็อาจจะนั่งดูคลิปทั้งวัน เล่นเกมจนลืมดูเวลา แต่ขณะเดียวกัน ความรู้สึกนี้มันก็กลายเป็นความกังวลของเรา มันแปลว่าเราเองก็หาความลงตัวไม่เจอว่าอันนี้คือสิ่งที่เราอยากทำจริงหรือเปล่า นี่คือโฮมสคูลแบบที่เราคิดจริงเหรอ ที่สุดท้ายเราเองก็หงุดหงิด จัดการตารางให้ลูกโอเคมั้ย นี่เป็นปัญหาของเรา กลายเป็นว่ากังวลสองอย่างในเวลาเดียวกัน
อารมณ์ความรู้สึกลูกที่มีต่อการเรียนเป็นอย่างไร หลังตัดสินใจว่าโฮมสคูลแล้ว
เปลี่ยนเยอะอย่างเห็นได้ชัด ทั้งจากที่เค้าแสดงออกให้เห็น จากที่เค้าแลกเปลี่ยน และเราสังเกตเห็น เค้าดูแฮปปี้ทั้งกับการเรียนในตอนนี้ แฮปปี้กับตัวเองขึ้นเยอะ โดยเฉพาะคนโตที่เป็นวัยรุ่นและค่อนข้างมีความคิดเป็นผู้ใหญ่เกินวัย แต่ตอนที่เค้าอยู่ในโรงเรียน เค้ามีความเครียดสูงจากการเรียนดนตรีสากล เรียนวิโอล่า เค้าตั้งใจมาก กลับบ้านซ้อมอย่างดุเดือดทุกวัน เครียดมาก ตอนนั้นเราคิดว่าดีเนอะ ลูกคงชอบ ตั้งใจ แต่พอเวลาผ่านไปจนมาโฮมสคูล เค้ามีเวลามากขึ้นและได้คุย ทบทวนตัวเอง เราพบว่าตอนนั้นไม่ใช่เพราะเค้ารักหรือเจอตัวเองแต่เหมือนเป็นความกดดันว่าครูสอนวิโอล่าดุ เค้ารู้สึกว่า เค้าทำสิ่งนี้ได้ ขณะที่เค้าเรียนอย่างอื่นไม่ค่อยดี จึงต้องทำให้มันแบบดีที่สุด ไปโรงเรียนแล้วมีความมั่นใจในตัวเองเพิ่มขึ้น อย่างน้อยก็มีอะไรยึดเหนี่ยวว่าฉันก็ทำอะไรได้ดีกว่าคนอื่นบ้างเหมือนกันนะ
มันกลายเป็นการเรียนด้วยความเครียดเพราะบรรยากาศแวดล้อมทำให้เค้าต้องเก่งอะไรสักอย่าง แต่พอเค้าออกจากระบบที่มีแรงกดดัน สิ่งที่เราเลือกให้เค้าลองเรียนดู เช่น ศิลปะ เค้าดูแฮปปี้ทุกครั้งที่จะเรียน เค้ารู้สึกตื่นเต้น สนุก อยากเตรียมตัว ความรู้สึกมันแตกต่าง
พ่อแม่ทำงานยุ่งทั้งคู่ ส่งผลต่อโฮมสคูลไหม
ต้องหาความลงตัว แต่มันสำคัญว่าเราเองก็ต้องปรับตารางชีวิตใหม่ด้วย เราต้องแบ่งตารางปลีกย่อยมากขึ้น มีเวลาทำงานตัวเองแค่ 2-3 ชั่วโมงแล้วต้องหยุดเพื่อไปร่วมกิจกรรมบางอย่างกับเค้า หรือใช้เวลารับฟังเค้ามากขึ้น เพราะการเรียนของเค้าไม่ได้เช้าจดเย็นอีกแล้ว เรายิ่งต้องมีเวลาพูดคุยกับเค้ามากขึ้น และลงไปดูรายละเอียดว่าแต่ละวันเป็นยังไง แต่ไม่ถึงกับนั่งเฝ้าเวลาเรียน
ไม่อย่างนั้น มันก็จะไม่ได้แตกต่างกับตอนไปโรงเรียนในแง่ที่ว่าชีวิตเรา ชีวิตเค้าแยกจากกันโดยก้อนเวลาอยู่ดี
EP.2 มันมีความเหลื่อมล้ำ มันมีความไม่เท่าเทียม มันมีคนถูกกดขี่
ถึงแม้ว่าเราจะสังเกตลูกเยอะ แต่ด้วยบริบทสังคมปัจจุบัน มีวิธีการสอนลูกให้ปรับตัวกับโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอย่างไร
จริงๆ ที่บ้านอาจจะคุยเรื่องการเมืองค่อนข้างเยอะ พ่อแม่คุยกันแต่ลูกก็อยู่ในวง หลักๆ เราพยายามให้เขารู้จักตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นรอบตัวว่ามันจำเป็นเหรอที่คนเราต้องคิดแบบนี้ หรือว่าปรากฏการณ์ที่เห็นอยู่มันถูกต้องไหม มันต้องเป็นแบบนี้จริงๆ ไหม ถ้าไม่เป็นแบบนี้ อะไรคือเหตุผลที่ทำให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ เราพยายามชวนคุยเพื่อให้เขารู้จักมองอะไรที่มันอาจจะมากกว่าที่ตาเห็น
ในฐานะที่ทำงานสื่อ สอนเรื่อง media literacy (การรู้เท่าทันสื่อ) ให้ลูกอย่างไร
มันอยู่ในการพูดคุยตลอด เช่น ได้ยินข่าว เห็นคลิป คุยถึงเรื่องหนังเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็จะแลกเปลี่ยนความคิดกัน เช่น เราบอกว่าเราไม่ชอบอันนี้เลย เพราะมันสะท้อนทัศนคติอย่างนี้ๆ แต่ลูกก็อาจจะบอกว่าไม่นะ เขาคิดว่าแบบนี้ต่างหาก เขาชอบนะ ก็จะชวนคุยกันไปคุยกันมา แตกไปหลายๆ ประเด็น
มีข้อกังวลอะไรกับลูกในยุคที่ต้องอยู่กับสื่ออินเตอร์เน็ตและบริบทสังคมปัจจุบัน
ห่วงเรื่องความเท่าทันนี่แหละ ถ้าเราให้ความสำคัญกับเรื่องการมองแล้วรู้จักวิเคราะห์มากกว่า เรารู้สึกว่าไม่ใช่แค่เฉพาะเรื่องสื่อ แต่คือเรื่องสังคมและการเมืองรอบตัว เราว่าเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องชวนให้รู้จักคิด ตั้งคำถามกับมัน
สิ่งที่สำคัญคือให้ตระหนักรู้ว่าโลกนี้มันไม่ได้มีเขาคนเดียว เมื่อมองไปแล้วเขามีความเห็นอกเห็นใจคนอื่นที่อยู่ร่วมสังคมไหม มันมีความเหลื่อมล้ำ มันมีความไม่เท่าเทียม มันมีคนที่ถูกกดขี่ เราจะชอบคุยเรื่องแบบนี้กับลูก
ซึ่งเขายังเด็กมาก
เราคุยในบริบทที่ไม่ได้ยากมาก เพียงแต่เราก็พยายามให้นึกว่าเวลาที่มีคนยากลำบาก เช่น ตอนต่อเติมบ้านแล้วมีคนงานเข้ามาในบ้าน ทำยังไงให้เขาปฏิบัติกับคนเหล่านั้นดีในลักษณะที่ว่านี่ก็คือคนเหมือนกัน แล้วเขามีชีวิตที่ยากลำบากเพราะอะไร เราคิดว่าเราอยากให้เขาโตมาเป็นคนที่ตระหนักรู้ถึงการมีอยู่ของคนอื่นๆ แล้วก็คนที่ยากลำบากกว่าตัวเอง
มีวิธีการอย่างไรที่จะสอนลูกให้ไม่ไป romanticise คนเหล่านี้
พ่อจะชอบคุยเรื่องสังคมว่าสังคมไทยเกิดอะไรขึ้น อะไรคือปัญหาในเชิงโครงสร้าง บางทีก็คุยเรื่องยาก บางทีก็ง่าย แต่พยายามชวนให้เห็นว่าสิ่งที่เป็นปัญหามันอยู่ตรงไหน ประเทศที่ไม่มีปัญหานี้เขาปฏิบัติกันอย่างไร ไม่ใช่บอกให้ลูกเอาเงินไปให้ขอทานแล้วก็มีความสุขสิ
ถือว่าไม่ค่อยเซ็นเซอร์สถานการณ์จริงเท่าไหร่
ไม่ค่อยเซ็นเซอร์เลยจนคิดว่าเยอะไปด้วยซ้ำ (หัวเราะ) อาจจะมีในเรื่องที่มันซับซ้อนมากๆ แต่ไม่ได้มีขอบเขตว่าตอนนี้อย่าเพิ่งรู้เรื่องการเมืองเลย ยังเด็กอยู่ เราเล่าให้ฟังหลายๆ เรื่องนะ แล้วเขาก็จะสนใจด้วย เช่น เขาเห็นเราดูคลิปม็อบนักศึกษา เขาก็จะสนใจว่านี่มันคืออะไร หรือเราเล่านักเคลื่อนไหววัยรุ่นให้ฟัง โดยมีเจตนาอยากจะให้เขามีความรู้สึกว่ามีวัยรุ่นที่ทำสิ่งเหล่านี้ด้วยนะเว้ยลูก โคตรเจ๋งเลย ออกมาเรียกร้องเรื่องนู้นนี้ ส่วนใหญ่จะเล่าในเชิงที่ว่าคนเราสามารถลุกขึ้นมาทำอะไรได้ ไม่ต้องยอมจำนนกับอะไรที่เราคิดว่ามันไม่ถูก
เขามีปฏิกิริยาเป็นอย่างไรบ้าง
ก็ค่อนข้างอินนะ (หัวเราะ) มันก็สะท้อนให้เห็นว่าเราอาจจะต้องดึงๆ ลูกไว้บ้าง เพราะเขาเริ่มสะท้อนออกมาเวลาที่โรงเรียนมีสิ่งที่ไม่ถูกต้องอยู่ สิ่งที่เราห่วงคือเราจะให้เขาเยอะไป แล้วมันอาจจะเข้าไปสู่โซนของการมองโลกในแง่ร้ายซึ่งจะไม่ค่อยเวิร์คแล้ว
ทักษะในการวิพากษ์วิจารณ์เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเด็กไหม
จำเป็น แต่สิ่งที่เราคิดว่าต้องปรับสมดุลด้วยเหมือนกันก็คือต้องทำให้เขายังเหลือศรัทธาในตัวคนอื่นอยู่ บางทีลักษณะการวิพากษ์วิจารณ์ก็มากไปก็จะกลายเป็นวิจารณ์จนไม่มีใครดีเลย
EP.3 มันก็ช่วยไม่ได้น่ะ มันคือชีวิตจริงที่เราไม่ได้มีคำตอบให้เขาทุกเรื่อง
การเป็นแม่ที่ดีต้องเป็นแบบไหน
ต้องเป็นเหมือนพี่เลี้ยงที่ให้คนคนหนึ่งเขาค่อยๆ โตจากศูนย์จนถึงจุดที่เขามีชีวิตของเขา ที่เราทำอยู่ทุกวันนี้เราก็มองบทบาทตัวเองแบบนั้น อะไรที่จะประคับประคองให้เขาเจอชีวิตที่ดีที่สุดของเขา
มีสิ่งที่ปฏิญาณกับตัวเองว่าจะไม่ทำกับลูกไหม
น่าจะเป็นเรื่องที่ไม่สร้างแรงกดดันแบบที่จะทำให้เขามีปัญหากับการใช้ชีวิตในอนาคต เราเห็นหลายคนที่มีความทุกข์กับการที่โดนครอบครัวครอบไว้ เช่น ต้องทำงานแบบนี้ ต้องมีชีวิตแบบนั้น กับแรงกดดันประเภทที่ไม่รู้ว่าตัวเองทำดีพอหรือยัง เราว่าหลายคนที่มีความทุกข์ของการทำเท่าไหร่ก็ดีไม่พอ ส่วนหนึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับความคาดหวังที่ถูกพ่อแม่สร้างมาในหลายๆ แบบ สิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่เราห่วงที่สุดว่าเราจะเผลอทำแบบนี้ไหม เราไม่อยากให้เขาโตมาโดยทุกข์ทรมานแบบนี้ มันเหมือนชีวิตไม่ใช่ของเขา คนจำนวนมากที่ไม่รู้ว่าความสุขของตัวเองอยู่ตรงไหนเป็นเพราะว่าเขาไม่รู้ว่าเขาทำสิ่งนี้เพื่อตอบสนองความพอใจของใคร เพราะบางทีพ่อแม่ก็ทำไปโดยไม่รู้ตัว
มีวิธีสังเกตตัวเองอย่างไรให้ไม่ทำแบบนั้นกับลูก
เราพยายามตรวจสอบตัวเองอยู่เรื่อยๆ คุยกับลูกเยอะๆ หรือบางทีลูกเล่าเรื่องแล้วเขาอยากให้เราแนะนำอะไรบางอย่าง คำแนะนำของเรามันนำไปสู่จุดนั้นหรือเปล่า เช่น เขาจะต้องเป็นคนดีขนาดไหน เราต้องระวังว่าเราแนะนำให้เขาเห็นว่าเขามีทางออกจากปัญหานี้หรือเรากำลังแนะนำว่าเขาควรจะทำอย่างนี้ เขาถึงจะเป็นคนดีในมาตรฐานตามความคิดของเรา
เรื่องนามธรรมเหล่านี้เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย
ยาก แต่เราต้องถามตัวเองบ่อยๆ นะ เช่น เราเชื่อในเรื่องการเป็นคนดีมากแค่ไหน แล้วตัวเราเองทำได้หรือเปล่า เช่น ถ้าลูกมาเล่าเรื่องเพื่อน โกรธและพูดไม่ดีเกี่ยวกับเพื่อน มันจำเป็นไหมที่เราต้องบอกลูกว่าพูดแบบนี้ไม่ได้นะ ไปว่าเพื่อนได้ยังไง เราต้องทำดีๆ กับเขาไม่งั้นใครจะมาคบเรา เราก็จะไม่พูดนะ เพราะ หนึ่งเราจะถามตัวเองก่อนว่าเราทำได้เหรอ (หัวเราะ) กับสองคือ มันจริงหรือเปล่า การที่เราบอกลูกว่าคนเราต้องแสดงออกแบบไหนตามความคิดมาตรฐานที่เรามี มันเป็นคำตอบจริงๆ หรือเปล่า มีวิธีอื่นอีกไหมที่จะจัดการกับปัญหานี้ หรือมันใช่ปัญหาไหม
ค้นพบตัวเองในแง่มุมใหม่ด้วยไหมจากการสอนลูกแบบนี้
สิ่งที่เราค้นพบตัวเองคือเราพยายามซื่อตรงที่สุด อย่าง เวลาที่ลูกมาปรึกษาเรื่องเพื่อนว่า ช่วงนี้เพื่อนไม่ชอบเลย เราก็ตอบไปตรงๆ เลยว่า แม่ไม่รู้จะช่วยยังไงว่ะเพราะแม่โตมาแบบแทบไม่มีเพื่อนเลยเหมือนกัน
ทำไมเรากล้าที่จะบอกลูกแบบนั้น
ไม่งั้นเราจะสอนอะไรเขาล่ะ ถ้าจะบอกว่าลูกต้องพูดกับเพื่อนดีๆ นะ ลูกต้องมีน้ำใจกับเพื่อน เราสอนเขาได้จริงเหรอถ้าเราไม่มีทักษะนี้ในชีวิตเรา แต่ถามว่าเราเป็นห่วงไหมว่าลูกจะมีเพื่อนน้อย เราก็เป็นห่วงนะ แต่เราจะไปสอนอะไรเขา
สิ่งที่เราทำคือเราบอกเขาตรงๆ ว่านี่พูดตรงๆ นะ เราก็เป็นคนที่ไม่มีทักษะเรื่องการเข้าสังคม เรื่องคบเพื่อนเราก็ทำไม่ดีกับเพื่อนมาเยอะ แต่เราจะเล่าให้ฟังได้ว่าเราทำไม่ดีอะไรไว้ สมัยก่อนเราเป็นคนพูดจาไม่ระวังปาก เคยเหยียดหยามเพื่อน อาจจะเป็นเรื่องพวกนี้หรือเปล่าที่ทำให้เพื่อนไม่รัก เราพูดกับเขาแบบนี้เลย
กังวลไหมว่าถึงเขามาคุยกับแม่ เขาก็ไม่ได้คำตอบอยู่ดี
มันก็ช่วยไม่ได้น่ะ มันคือชีวิตจริงที่เราไม่ได้มีคำตอบให้เขาทุกเรื่อง บางเรื่องลูกก็ต้องไปทุกข์ทรมานเอาเอง (หัวเราะ) แต่ถามว่าเอาใจช่วยไหม ก็เอาใจช่วยให้ลูกได้เจอวิธีที่จะทำให้ได้มีเพื่อนเร็วๆ อย่างน้อยที่สุดมาระบายได้ เขาก็แฮปปี้กับการที่ได้ระบายออกมา แล้วหลายเรื่องเขาจะรู้ว่าเขาเล่าได้ถึงแม้ว่าแม่ไม่รู้จะช่วยยังไง แล้วเราก็ค้นพบว่าเขาต้องหาหนทางเองในหลายๆ เรื่อง และเขาค่อยๆ ค้นพบหนทางของเขาเองซึ่งเราอาจจะไม่เคยนึกถึงเลย
EP.4 เราหาตัวเองไม่เจอเพราะคนอื่นบอกไงว่าแบบไหนถึงจะเจอ
ปกติคนเป็นพ่อแม่แบกความหวังอยู่ตลอดเวลาว่าลูกต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ เรามีความคาดหวังกับลูกอย่างไร
ในระดับหนึ่งแหละ แต่สิ่งที่เราพยายามจะคิดคือเราพยายามให้ความคาดหวังเหลือแค่ว่าเขาโตขึ้นมาแล้วเขาดูแลตัวเองได้ เจอหนทางของตัวเอง แล้วถ้าทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อคนอื่นได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดี ไม่ได้นึกเป็นภาพชัดๆ ว่าต้องแบบนู้นแบบนี้ เพราะ โลกก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เราไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร
วิธีการคิด “ให้ลูกเป็นมนุษย์ในแบบที่เขาเป็น” ทำอย่างไร
อะไรเป็นกรอบที่บอกเราว่าแบบไหน คำว่าเป็นคนที่ประสบความสำเร็จ ใครเป็นคนบอก คนแต่ละคนก็มีลักษณะเฉพาะเป็นของตัวเอง ถึงแม้จะมีเป้าหมายเดียวกัน เช่น คนทุกคนอยากจะมีชีวิตที่ประสบความสำเร็จ แต่นิยามคำว่าความสำเร็จของแต่ละคนไม่จำเป็นจะต้องเหมือนกัน หรือต่อให้นิยามมันเหมือนกัน วิธีการที่จะไปสู่ตรงนั้นก็ไม่เหมือนกัน
เราคิดว่าระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ไม่โอเคก็เพราะว่ามันไม่มีพื้นที่ให้แต่ละคนไปสู่เป้าหมายที่ไม่เหมือนกันด้วยวิธีการที่ไม่เหมือนกัน มันมีเป้าหมายแบบเดียว วิธีการแบบเดียว ซึ่งนี่คือสิ่งที่ทำให้มนุษย์มีความทุกข์ เพราะมนุษย์มีความเป็นเสรีชนโดยกำเนิด ดังนั้นเราคิดว่าเราก็แค่ให้เขาเป็นคน แต่เขาจะเป็นคนแบบไหน ก็แค่เป็นมนุษย์ที่โอเค อย่าเฟลกับชีวิตจนจัดการไม่ได้เลยก็พอ และถ้าจะเป็นประโยชน์กับโลกได้ก็เป็นเรื่องที่ดี เรารู้สึกว่าเราต้องการแค่นี้
มนุษย์แต่ละคนก็มีสิทธิที่จะค้นหาตัวเอง เราเองก็ยังไม่ต้องการจะโตโดยมีคนมาประเมินเราเลยว่าดีไม่พอ เก่งไม่พอ ประสบความสำเร็จไม่พอ เวลาเราเจอแบบนี้เราก็ยัง suffer เลย เราก็ไม่รู้ว่าเราจะไปทำให้ลูกเป็นแบบนั้นทำไม
ยิ่งในสังคมตอนนี้ การศึกษายิ่งทำให้คนรู้สึกว่าต้องแข่งขันเพื่อชีวิตที่ดี เด็กเองก็ถูกคาดหวังให้เรียนเก่งและหาตัวเองเจอ
ทุกคนหาชีวิตของตัวเองเจอได้อยู่แล้ว แต่คำพูดที่ว่า ยังหาไม่เจอ เพราะเรานิยามอะไรไปจับมันว่าอะไรคือการหาเจอ สมมติว่าเขาไม่ทำอาชีพอะไรเลย เขาทำงานรับจ้างไปวันๆ คุณจะบอกว่าเขาหาไม่เจอเหรอ นั่นคือเขาหาเจอแล้ว เขาเลี้ยงดูตัวเองได้ เขาอาจจะทำประโยชน์ต่อคนอื่นได้ นั่นคือวิถีที่เขาจัดการได้ แล้วทำไมถึงไปกดคนบางคนโดยการบอกว่าทางเลือกของคุณไม่มีคุณค่า มนุษย์ยังมีความทุกข์ทรมานจากโลกไม่พออีกเหรอ เราคิดว่าทุกคนมีทางของตัวเอง คุณจะเป็นอะไรก็เป็นไปเถอะ ดูแลตัวเองได้ ดูแลคนอื่นได้ จบแล้ว
เราก็จะไม่บอกลูกว่าหนูต้องหาตัวเองให้เจอนะ
ไม่ เราว่าคนใช้ชีวิตไปก็หาตัวเอง เราหาไม่เจอเพราะคนอื่นบอกไงว่าแบบไหนถึงเจอ แล้วในที่สุดมันก็มีคอขวดบางอย่างที่บีบให้คนทุกคนต้องแหกเข้าไปอยู่ดีแล้วมันจะมีไปเพื่ออะไร
การที่เราจะเป็นแม่ที่ดีให้กับลูกได้ เราจะปรับตัวตามลูกอย่างไร เรียนรู้กันแบบไหน
เราให้ความสำคัญเรื่องการคุย การฟัง การสังเกตตัวเขามากๆ เราพยายามยึดอยู่บนหลักที่ว่าเขาก็เป็นคนอีกคนหนึ่ง เพียงแต่เขาเป็นเด็กที่อยู่ในความดูแลของเรา แต่เราไม่ได้เป็นคนไปทำให้เขาเป็นมนุษย์แบบไหน ในที่สุดเขาก็จะเป็นมนุษย์ในแบบของเขาเอง ดังนั้นเราก็จะพยายามยึดหลักนี้แล้วอยู่กับเขาโดยสังเกตตัวตน อัตลักษณ์ของเขาจริงๆ ว่ามันคืออะไร แล้วเราจะทำยังไงให้ตัวตนนั้นมันหล่อหลอมตัวเอง และไปในทางที่เขาอยากเป็น
เราจึงตอบไม่ได้ว่าบทของคุณแม่ธิดา พี่เลี้ยงธิดา หรือเพื่อนธิดาที่เล่นกับลูกสาวและลูกชายควรจะถูกบรรจุอยู่ในภาพยนตร์ประเภทไหน แต่น่าจะเพิ่มความเซอร์เรียลและแฟนตาซี เฉดสีและสำเนียงการเล่าอาจจะปนไปด้วย voice over ของความเป็นเด็กที่สดใสและผู้ใหญ่ที่ไม่เนี๊ยบแถมเกรี้ยวกราดในบางครั้ง
ฟาดฟันกับลูกและอ่อนหวานกับลูก
ปวดหัวกับตัวเองและหัวเราะกับตัวเอง
บางครั้งก็ลอยเท้งเต้งอยู่ในความสับสนของชีวิต
แต่นี่ก็คือสคริปต์ในอนาคตที่เธอเองก็ต้องเรียนรู้ทั้งในฐานะแม่และฐานะมนุษย์
Epilogue: ปกติได้กอดกันบ้างไหม
เยอะแยะมากมากมาย สำหรับเราสำคัญแล้วเราก็ชอบกอดลูกด้วย มันมีความสุขจะตาย
Writer
ณัฐชานันท์ กล้าหาญ
นักแปล นักเขียน ช่างภาพสาว ผู้ทำงานประจำอยู่ 6 เดือนและไม่ทำอีกเลย ซึ่งคิดว่าคงเป็นอย่างนี้ตลอดไป หาตัวได้แถวเชียงใหม่และบางแค หัวบันไดไม่เคยแห้งเพราะจ้างร้อยแต่ให้มาล้านทั้งปริมาณภาพ ความยาวของเนื้อหาและพาดหัว ไม่เคยมีคำว่าน้อยแต่มาก มีแต่คำว่ามากแต่มากกว่า
Photographer
ณัฐชานันท์ กล้าหาญ
นักแปล นักเขียน ช่างภาพสาว ผู้ทำงานประจำอยู่ 6 เดือนและไม่ทำอีกเลย ซึ่งคิดว่าคงเป็นอย่างนี้ตลอดไป หาตัวได้แถวเชียงใหม่และบางแค หัวบันไดไม่เคยแห้งเพราะจ้างร้อยแต่ให้มาล้านทั้งปริมาณภาพ ความยาวของเนื้อหาและพาดหัว ไม่เคยมีคำว่าน้อยแต่มาก มีแต่คำว่ามากแต่มากกว่า