Soontaree : ‘ความสุนทรีย์’ ที่เกิดจากความหลงใหล เรียนรู้ และลงมือทำ

Soontaree : ‘ความสุนทรีย์’ ที่เกิดจากความหลงใหล เรียนรู้ และลงมือทำ

  • เมื่อวันที่ 17-18 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ที่โรงแรม Blu Monkey Brown House Udonthani Hotel ในอุดรธานี มีงานอย่าง Soontaree’s Time เกิดขึ้น ดูเผินๆ Soontaree’s Time อาจจะเป็นเหมือนงาน Flea Market ทั่วๆ ไป แต่พอได้เข้าไปสัมผัสบรรยากาศจริงๆแล้ว เราสังเกตเห็นพลังงานและมีความพิเศษบางอย่างซ่อนอยู่
  • ความพิเศษของ Soontaree’s Time นอกจากมีสินค้าที่หลากหลาย เวิร์กชอปมากมายแล้ว ยังกลายเป็นพื้นที่ปล่อยพลังให้เด็ก ๆ ได้วิ่งเล่น พื้นที่ที่พวกเขาได้มารับบทพ่อค้าแม่ค้าตัวจิ๋ว และพื้นที่ที่ทุกคนในครอบครัวได้มาทำกิจกรรมและเรียนรู้บางสิ่งบางอย่างร่วมกัน ซึ่งในฐานะคนพื้นที่ เรากล้าพูดว่านี่คือโอกาสที่ไม่ได้เห็นบ่อยนักในเมืองอุดร
  • Mappa ชวนไปพูดคุยกับเล็ก-จักรพันธุ์ บุษสาย และ วาว-วาสิฏฐี ลาธุลี คู่รักสถาปนิกที่อาศัยในอุดรธานี เจ้าของแบรนด์ Soontaree และผู้อยู่เบื้องหลังงาน Soontaree’s Time การใช้ชีวิตอย่าง Soontaree ในที่ดินที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวากับ แสงตะวัน ลูกชายของทั้งคู่ รวมถึงที่มาที่ไปและแรงบันดาลใจเบื้องหลังการจัดงาน Soontaree’s Time 

เราไม่เคยไปงาน Soontaree’s Time มาก่อนแม้ว่าในปีนี้จะจัด (อย่างเป็นทางการ) เป็นครั้งที่สามแล้ว

ข้อมูลที่ทราบมาคร่าวๆ คือ Soontaree’s Time เป็นงาน Flea Market ที่จัดขึ้นในอุดรธานี ซึ่งรวมของทำมือ สินค้ามือสอง และอาหารท้องถิ่น บรรยากาศสบายๆ กลางสนามหญ้า ทางเพจบอกว่ามีทั้ง ‘พ่อค้าแม่ค้าตัวน้อยและพ่อค้าแม่ค้าตัวโต’ มาร่วมขายของ

แต่ถึงจะรู้ว่ามี ‘พ่อค้าแม่ค้าตัวน้อย’ มาร่วมงาน เราก็ยังอดตะลึงและยิ้มนิดๆ ไม่ได้ เมื่อภาพแรกที่เราเห็นหลังจากก้าวเข้าไปในประตูงานคือเด็กหญิงตัวเล็กจูงแพะเดินเล็มหญ้า ส่วนคนตัวโตๆ บางคนก็จูงไซบีเรียนกับโกลเด้น รีทรีฟเวอร์มาร่วมงาน

บางบูทเด็กๆ หลายคนกำลังนั่งร้อยลูกปัด พ่อค้าแม่ค้าตัวเล็กบางคนขายของอย่างขะมักเขม้น พ่อค้าแม่ค้าตัวเล็กบางคนก็ไถตัวลงบนกระดานลื่นและโดนแพะที่อยู่ใกล้ๆ ดึงดูดความสนใจไปจนลืมขายของ ลูกค้าหลายคนไม่ได้มาตัวเปล่าแต่มือหนึ่งเข็นรถเข็นที่มีเจ้าตัวเล็กนั่งอยู่ข้างใน อีกมือก็หอบหิ้วชุดโต๊ะเก้าอี้ปิกนิกมานั่งฟังเพลงและเสพบรรยากาศดีๆ ริมบึงน้ำไปด้วย เราจึงไม่ได้เห็นเพียงบรรยากาศของการซื้อขาย แต่ในงาน Soontaree’s Time นี้ เราได้เห็นผู้คนที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา ได้เห็นบางมิตรภาพของเด็กๆ ที่อาจเพิ่งมารู้จักกันในงาน ได้เห็นพื้นที่ที่ทำให้เกิดการปฏิสัมพันธ์บางอย่างที่ไม่ได้เห็นบ่อยนักจากงานแฟร์งานอื่นๆ ที่จัดขึ้นในเมืองนี้

และผู้ที่อยู่เบื้องหลังงาน Soontaree’s Time ก็คือ เล็ก-จักรพันธ์ บุษสาย และ วาว-วาสิฏฐี ลาธุลี คู่รักสถาปนิกที่อาศัยในอุดรธานี เจ้าของแบรนด์ Soontaree ที่แตกไลน์เป็น Soontaree+ สตูดิโองานออกแบบ, Soontaree Closet สตูดิโองานผ้า, Soontaree Décor รับจัด display event และโฮมคาเฟ่ Soontaree’s Life ที่ให้เรามาเยี่ยมเยือนเขาถึงบ้าน

เมื่อมองไปรอบๆ บริเวณบ้านที่พวกเขาอยู่ พื้นที่บริเวณบ้านนั้นมีขนาดไม่เล็กแต่ก็ไม่ใหญ่จนเกินไป หน้าบ้านมีห่าน เป็ด และไก่ เดินเล่นกันในสนามหญ้า มีกระต่ายที่กระโดดไปมาในสวนอย่างอิสระ มีดอกไม้นานาพรรณสร้างสีสันให้กับบ้าน และมีกระดานลื่นกับของเล่นอื่นๆ ของ น้องตะวัน ลูกชายของทั้งคู่วางตั้งอยู่ในโซนกองทราย ก่อนที่เราจะชวนพวกเขาพูดคุยเรื่องไลฟ์สไตล์ที่กลายมาเป็นอาชีพ บ้านที่มีชีวิต และการจัดงาน Soontaree’s Time 

ไลฟ์สไตล์ที่กลายเป็นอาชีพ

นอกจากความมีชีวิตชีวาในสนามหญ้าหน้าบ้านแล้ว ภายในบ้านยังมีข้าวของและงานฝีมือน่ารักๆ ที่ทำให้บ้านของเล็กและวาวเต็มไปด้วยมวลความอบอุ่น เพราะนอกจากการเป็นสถาปนิกที่ดูแลครอบคลุมตั้งแต่งาน ออกแบบสถาปัตย์ Landscape และงาน Display Event แล้ว เล็กและวาวยังทำงานฝีมือที่เริ่มมาจากการอยากมีงานอดิเรกและอยู่นิ่งไม่ได้ของวาวตั้งแต่ยังเรียนอยู่

“ตั้งแต่เด็กๆ บ้านวาวคุณแม่เรียนจบคหกรรมฯ คุณพ่อเรียนปศุสัตว์และเกษตร ในตอนเด็กๆ วันหยุดเราจะมีชั่วโมงการเย็บปักถักร้อย แกะสลัก ร้อยมาลัย ทำงานกระจุกกระจิกในส่วนของแม่ ส่วนพ่อก็มีชั่วโมงเพาะชำต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ เพราะสิ่งนี้ติดตัวมาตั้งแต่เด็ก เวลาที่เราคิดจะทำอะไรในเวลาว่าง เราเลยคิดวนกลับไปว่าเราทำอะไรได้บ้าง อะไรที่เราทำแล้วสนุก เลยเลือกทำงานประดิษฐ์มาเป็นงานอดิเรกเสมอ”

เมื่อชื่อแบรนด์ของทั้งคู่คือ Soontaree (สุนทรีย์) เราจึงอดถามไม่ได้ว่านิยามความสุนทรีย์ของทั้งคู่คืออะไร

“คือการได้ทำสิ่งที่เราหลงใหล เรียนรู้ และลงมือทำ” เล็กตอบ “เราชอบอะไรเราก็ไปเรียนรู้แล้วลงมือทำ ลงแรงกับมันก่อน เราตั้งชื่อแบรนด์เพราะเราอยากเตือนสติตัวเองว่าเราทำเรื่องพวกนี้ด้วยความรู้สึกนี้”

แม้จะบอกว่าเริ่มจากการอยากมีงานอดิเรก แต่อาจเป็นเพราะสิ่งที่ทำอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ทั้งคู่หลงใหล แบรนด์ Soontaree จึงเป็นสิ่งที่พวกเขาทำมาอย่างจริงจังตั้งแต่วันที่ซื้อจักรเย็บผ้าตัวแรก โดยความตั้งใจแรกเริ่มนั้นคือการมีความคิดอยากจะทำของที่ระลึกประจำจังหวัด เพราะเห็นว่าอุดรธานี บ้านเกิดของเล็ก คือเมืองที่เต็มไปด้วยวัตถุดิบมากมายที่นำมาเปลี่ยนเป็นสินค้าที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ ทว่าเมื่อทำไปเรื่อยๆ ทั้งคู่ก็ได้เจอกับกลุ่มลูกค้าจริงๆ ที่แตกต่างไปจากสิ่งที่ตั้งใจไว้ในตอนแรก นั่นคือการทำสินค้า Custom Made หรือ Made-to-order ที่มีลูกค้ากลุ่มแรกเป็นเพื่อนฝูง นักศึกษา และอาจารย์ในมหาวิทยาลัย

“ตอนแรกพอเรามองว่าจะทำเป็นของฝาก มันก็มีความยึดโยงกับอารยธรรม วัฒนธรรมของเมือง แต่พอมันกลายมาเป็นการทำงานแบบ Custom Made มันก็ออกมาจาก ‘ตัวตน’ เรามากขึ้น ไม่ได้ยึดโยงความเป็นเมืองแล้ว มันกลายเป็นการถ่ายทอดผลงานออกมาจากความชอบและนิสัยของเรามากกว่า”

และความหลงใหลในสิ่งหนึ่ง ก็นำไปสู่อีกสิ่งที่ไม่ได้วางแผนไว้ตั้งแต่แรก นั่นคือการเปิดคาเฟ่ Soontaree’s Life โฮมคาเฟ่ที่กลายเป็นสิ่งที่เติมเต็มคุณค่าบางอย่างในชีวิตของทั้งคู่

บ่อยครั้งเมื่อมีการประชุมงาน ทั้งคู่มักจะนัดลูกค้ามาทานข้าวเย็นที่บ้าน จัดบรรยากาศในบ้านให้เข้ากับธีมงานที่จะนำเสนอ แถมรับบทเป็นพ่อครัวแม่ครัว ทำขนมและเครื่องดื่มต้อนรับแขก บางครั้งลามไปจนถึงการทำมื้อเย็น เและหลายครั้งจะจบด้วยการทำค็อกเทลก่อนเริ่มประชุมงาน เพื่อให้ลูกค้าได้ดื่มผ่อนคลาย

“ด้วยวิชาชีพของเราแต่ละโปรเจกต์ต้องใช้เวลา งานออกแบบบางงานต้องคุยกันเป็นปี การทำงานกับลูกค้าหนึ่งโปรเจกต์เลยเหมือนเราได้เพื่อนมาเพิ่มอีกคน เมื่อมีนัดประชุมงาน ก็เหมือนเรามีเพื่อนมาเยี่ยมบ้าน เราพยายามต้อนรับให้ดีที่สุด เพราะเราเป็นคนชอบสร้างประสบการณ์ จนเลยเถิดไปเป็นคาเฟ่เล็กๆ ในโกดังเก็บของตกแต่ง”

จากคาเฟ่ที่อยู่ในโกดังตึกสองชั้นและต้องปิดไปในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็ย้ายมาเป็นคาเฟ่กลางสวนในที่ดินและรั้วเดียวกันกับบ้านของทั้งคู่ในปัจจุบัน แต่ก็ยังคงเป็นคาเฟ่ที่มีเวลาทำการตามไลฟ์สไตล์ของทั้งคู่ และตอนนี้ยังเปิดแค่ฤดูหนาวเพราะปัจจัยบางอย่างทำให้ไม่เหมาะที่จะเปิดในฤดูอื่น รวมถึงการอยากใช้เวลากับเจ้าตัวเล็กอย่างตะวัน ลูกชายของทั้งคู่ให้มากที่สุดด้วย

“แบรนด์เรากับชีวิตเรามันค่อนข้างกลมกลืนไปเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันไปแล้ว ผมไม่ได้มองว่าเราต้องอยู่ในตำแหน่งไหน ในวงการคาเฟ่ที่มีการแข่งขันกันอยู่ เราก็เป็นแค่อีกตัวเลือกหนึ่งเท่านั้น และเราก็เป็นแค่พื้นที่พักกาย พักใจของครอบครัวที่มีเครื่องดื่มกับขนมให้บริการ มันเป็นเหมือนกิจวัตรของเรา เราจึงใช้คำว่า Soontaree’s Life เพราะมันเป็นไลฟ์สไตล์เราจริงๆ เราชอบประสบการณ์แบบนี้และคิดว่าคนน่าจะชอบวิถีชีวิตที่เราเป็นอยู่ เราเลยดึงเอาวิถีชีวิตสัก 20 เปอร์เซ็นต์มาใช้ โดยไม่ได้มองว่าคาเฟ่ของเราต้องเป็นแบบไหนหรือสไตล์ไหน มันเกิดขึ้นจากสิ่งที่เราชอบจริงๆ”

และสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ขับเคลื่อนคาเฟ่นี้ต่อไปก็คือการได้พบเจอกับผู้คนที่แวะเวียนเข้ามานั่นเอง

“ผมว่ามันคือการได้เห็นชีวิต” เล็กตอบเราหลังจากที่เขาเล่าว่าช่วงโควิดและช่วงที่วาวตั้งครรภ์น้องตะวันคือช่วงที่ทั้งคู่ต้องหยุดทำคาเฟ่ไป และเป็นช่วงที่พวกเขารู้สึกว่าคุณค่าบางอย่างในตัวเองขาดหายไป และได้รู้ว่าเพราะอะไรคาเฟ่จึงเติมเต็ม ‘คุณค่า’ ที่ว่านั้นได้ 

“การได้เจอคน ได้เจอเพื่อนมนุษย์หมุนเวียนมาหากลายเป็นสังคมที่ดึงดูดกันมาเรื่อยๆ ผมไม่ได้ต้องการรายได้เป็นกอบเป็นกำจากอาชีพนี้เพราะเรามีอาชีพที่หล่อเลี้ยงเราอยู่แล้ว แต่มันหล่อเลี้ยงชีวิตจิตใจจริงๆ เวลาที่เราได้พบเจอและพูดคุยกับคนอื่นๆ”

บ้านที่มีชีวิต

โฮมคาเฟ่ของทั้งคู่ตั้งอยู่ในรั้วและที่ดินผืนเดียวกันกับบ้าน บ้านที่มีสนามหญ้าหน้าบ้าน มีไก่ เป็ด และห่านที่เดินหาแมลงในกอหญ้า มีกระต่ายบางตัวกระโดดตามกันอย่างเริงร่า บางตัวเล็มหญ้าหรือสมุนไพรที่ชอบ มีดอกไม้ต้นไม้ที่วาวและเล็กปลูกให้บ้านร่มรื่นและมีสีสัน และมีกระดานลื่นกับของเล่นของตะวันวางอยู่ประปราย

ที่ดินผืนนี้เคยเป็นผืนดินเปล่าๆ แต่มันก็เป็นที่ดินที่มี ‘ชีวิต’ ก่อนจะมี ‘สิ่งปลูกสร้าง’

“อย่างที่บอกว่าพ่อวาวเขาก็เรียนปศุสัตว์และเลี้ยงสัตว์ วาวเลยอินกับการเลี้ยงสัตว์ เราเลี้ยงสัตว์และปลูกต้นไม้มาตั้งแต่เด็ก ไม่เคยมีช่วงเวลาไหนในชีวิตที่ขาดสองสิ่งนี้เลย” วาวกล่าว

“ผมพยายามทำให้บ้านมีชีวิต”

เล็กเล่าถึงสาเหตุที่เขาและวาวเลือกที่จะปลูกต้นไม้และเลี้ยงสัตว์ในที่ดินผืนนี้ก่อนที่ในอีก 3 ปีต่อมาที่ดินผืนนี้จะกลายเป็นบ้าน สตูดิโอ และบางครั้งเป็นโฮมคาเฟ่ของทั้งคู่ 

“บ้านเป็นสิ่งปลูกสร้างก็จริง แต่พวกผมจะพยายามทำให้เขามีชีวิต ให้เรารู้สึกคิดถึงและอยากกลับไปหา ได้เติมพลังเมื่ออยู่ที่บ้าน ไม่ได้อยากให้บ้านเป็นแค่สถานที่ใช้หลบแดดหลบฝน เราเลยพยายามทำให้ทุกพื้นที่ในบ้านเป็นเราและมีคุณค่ามากที่สุด”

ในช่วงที่เล็กและวาวกำลังสร้างบ้านบนที่ดินผืนนี้ ก็เป็นช่วงเดียวกันกับที่ลูกชายของทั้งคู่อย่างน้องตะวันเกิด

ตั้งแต่นั้นสิ่งที่ทำให้บ้านมีชีวิตชีวาขึ้นนอกจากความสดใสในสนามหญ้าหน้าบ้านแล้ว คงเป็นกิจกรรมสนุกๆ ของทั้งคู่ที่มีตะวันอยู่ในนั้นด้วยเสมอ 

ก่อนที่จะมีลูก ทั้งเล็กและวาวต่างก็ชอบทำกิจกรรมโลดโผน ไม่ว่าจะเป็นการเล่นสเก็ตบอร์ดบนภูเขา ดำน้ำ และกิจกรรมอื่นอีกมากมาย แต่เล็กและวาวก็มองว่าการมีตะวันมาเพิ่มไม่ได้ทำให้ไลฟ์สไตล์ของพวกเขาเปลี่ยนไป มันยังสนุกเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือได้พักผ่อนมากยิ่งขึ้น และทั้งคู่ก็ยังมีกิจกรรมให้ทำมากมาย เพียงแต่มีตะวันเป็นหลักและเข็มทิศในการเลือกที่จะทำสิ่งต่างๆ เท่านั้น

“ตอนที่วาวกับพี่เล็กยังไม่มีลูก เราค่อนข้างกลัวการมีลูกกัน เมื่อก่อนตอนเราอยู่ด้วยกันสองคนมันรู้สึกว่าดีเหลือเกิน มันเข้ากันได้แบบกำลังดี เลยกังวลว่าถ้ามีใครเพิ่มมาอีกคน เขาจะเข้าใจเราได้ไหม” วาวเล่าถึงมุมมองการมีลูกก่อนที่จะมีน้องตะวัน 

“จนเจอพี่คนหนึ่งที่เป็นลูกค้าที่เราร่วมงานบ่อยจนสนิทกัน เขาบอกว่าลูกเราก็คือเราในอีกเวอร์ชันหนึ่ง เราไม่เข้าใจสิ่งที่เขาพูดเลย จนเรามีลูก แล้วเราเลยเข้าใจว่า จริงด้วย ‘ลูกเราคือเรา’ ตะวันคือเราทั้งสองคนคูณสอง เป็นเราที่ยิ่งไปกว่าเราอีก จากที่เราเคยกลัวว่ามีลูกแล้วชีวิตจะเปลี่ยนไป กลายเป็นว่ามันเหมือนเดิม เผลอๆ ดียิ่งกว่าเดิมด้วยซ้ำ”

“เราพยายามทำให้ทุกคนได้อยู่ในห้วงเวลาเดียวกัน ให้สนุกไปด้วยกัน ด้วยไลฟ์สไตล์เราเป็นแบบนี้ เราทำอะไร เขา (ตะวัน) ก็จะรับรู้หมด ทำกับข้าวเขาก็อยากจะทำด้วย เพราะมันดูสนุก ก็ต้องมีหอคอยให้เขายืนหั่นวัตถุดิบ เตรียมอาหาร ทำงาน เป็นทีมเดียวกัน ในวันที่เขายังต้องการเราอยู่ เราก็จะเต็มที่กับช่วงเวลานี้ให้มากที่สุด” เล็กกล่าว

ขณะเดียวกัน เป็ด ไก่ ห่าน และสัตว์เลี้ยงที่เล็กและวาวเลี้ยงไว้นั้นจุดประสงค์หลักไม่ได้มีแค่เรื่องผลผลิตเพียงเท่านั้น แต่ทั้งคู่มองว่าทุกชีวิตต่างเป็นเพื่อน เป็นครอบครัวของพวกเขา และสัตว์ทุกตัวจะต้องออกเดินทางและจากไปในวันหนึ่ง การได้มีเพื่อนๆ เหล่านี้ก็ทำให้ตะวันได้เรียนรู้ที่จะปฏิบัติกับทุกชีวิตอย่างเท่าเทียม การเข้าหาคนที่มีความแตกต่างกัน การฝึกแก้ปัญหาหรือเผชิญหน้ากับปัญหา หรือแม้กระทั่งบทเรียนเรื่องการลาจาก

“เราใช้การเลี้ยงสัตว์ การปฎิบัติกับสัตว์ในการสอนลูกด้วย เช่น เพราะอะไรเราถึงต้องขออนุญาตและดูท่าทีของสัตว์ก่อนที่จะจับหรือลูบอย่างเบามือ เพราะถ้ามีใครไม่รู้มาจับตะวันแรงๆ ตะวันชอบไหมครับ ถ้าไม่ชอบเราก็จะไม่ทำกับคนอื่น เพราะคนอื่นก็ไม่ชอบเหมือนกัน เราก็พยายามสร้างเรื่องราวให้มันสนุก เพื่อให้ลูกได้นึกถึงเวลาที่ต้องเผชิญปัญหา อย่างแรกลูกต้องมีสติ จัดการกับความกลัวก่อนนะ แล้วค่อยแก้ปัญหา และเมื่อเขาเจอสถานการณ์จริง เราจะเฝ้าดู และคอยให้ความช่วยเหลือเมื่อลูกร้องขอ แต่ส่วนมากลูกจะจัดการเองได้”

“ดอกไม้ ต้นไม้ สัตว์เลี้ยงต่างก็มีชีวิต ผมไม่อยากแค่มีเขาไว้เพื่อมาเป็นสิ่งประดับในชีวิต แต่เราผูกพันกับเขา เคารพเขา เราใช้ชีวิตร่วมกัน หรือแม้แต่สิ่งของ เฟอร์นิเจอร์ผมก็สอนลูกให้เข้าใจว่า เขาเหล่านั้นล้วนมีชีวิต มีตัวตน เขาเจ็บได้ เราทำกับเขาแรงๆ เขาอาจจะพังหรือเสียใจได้นะ หรือแม้กระทั่งเรื่องอายุขัยของสัตว์เลี้ยง เมื่อต้องเผชิญกับการจากลา เราบอกกับลูกว่า พี่เค้าต้องเดินทางไกล เราจะขุดหลุมและร่วมกันส่งพี่เค้าออกเดินทางกัน”

นอกจากกิจกรรมสนุกๆ อย่างการทำอาหารที่ตะวันเริ่มเปลี่ยนจากลูกมือมาขอทำเองแล้วในวัยเพียง 2 ขวบ โดยมีหม่าม้าเป็นผู้ช่วย การรดน้ำต้นไว้ วิ่งเล่นอิสระในสนามหญ้า ดูแลเลี้ยงสัตว์ พาสุนัขไปเดินเล่น ต่อรางรถไฟ ปั่นจักรยานยามเย็น ให้อาหารห่านและไก่ ตะวันยังรักที่จะทำงานบ้านเองด้วย

“เราทำกิจวัตรทุกอย่างให้สนุกตั้งแต่ตื่นมาตอนเช้า กวาดใบไม้ ดูดฝุ่น ถูบ้าน เขาขอรดน้ำต้นไม้เองตั้งแต่เริ่มเดินได้ เพราะเขาเห็นเราทำ มันน่าสนุก และเราสามคนก็ทำกิจกรรมทุกอย่างในบ้านด้วยความสนุกกับมันจริงๆ”

ไม่เพียงแต่กิจกรรมในบ้านเท่านั้น แต่เล็กและวาวยังมองตะวันเป็นเพื่อนอีกคนที่จะร่วมเดินทางไปกับทั้งคู่และบางครั้งยังเสนอความคิดเห็นเรื่องต่างๆ ของ Soontaree ด้วย

“แม้กระทั่งเรื่องงาน ถ้าเราขอความเห็นเรื่องงาน เราก็ขอเขาได้เหมือนกัน อย่างเมื่อวานอยู่ดีๆ เขาก็บอกว่าอยากให้ติดกรอบรูปตรงนี้ โคมไฟติดตรงนี้ก็ดีนะ เขาเอามาให้เราดูเลยว่าติดตรงนี้ดีไหม เราเลยรู้สึกว่านี่มันลูกของเราจริงๆ นะ มันใช่เรามากๆ เลย” วาวพูดด้วยรอยยิ้ม

“วาวว่าสิ่งที่สำคัญในการเติบโตของลูก คือ การสร้างสายสัมพันธ์ และความทรงจำวัยเด็ก” วาวให้ความเห็นเมื่อถามว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในการเติบโตของเด็กคนหนึ่งในความเห็นของเธอ

“ความทรงจำวัยเด็กมันคือสายสัมพันธ์อย่างหนึ่ง มันมีผลต่อการเติบโตของเขา เมื่อเขาโตขึ้น เขาจะต้องมีชีวิตของเขา ถึงจะเกิดปัญหาขึ้นระหว่างทาง เขาก็จะไม่ลืมว่ามีเราสองคนอยู่ตรงนี้ เราเลยอยากสร้างสายสัมพันธ์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในตอนนี้ เป็นความทรงจำที่ดี เป็นเวลาที่มีคุณภาพที่สุดในทุกกิจกรรม”

Soontaree’s Time

ในระหว่างที่นั่งสัมภาษณ์ เราเห็นวาวแวะเวียนออกไปพูดคุยกับเด็กๆ กลุ่มหนึ่งข้างนอกเสมอ เด็กๆ อายุเฉลี่ย 11-12 ขวบเหล่านี้เป็นเพื่อนบ้านที่มาช่วยงานสวนและงานบ้านให้กับทั้งคู่ในทุกสัปดาห์ โดยมีค่าตอบแทนเป็นค่าจ้างรายชั่วโมง การจัดปาร์ตี้อาหารมื้อใหญ่ที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง และในปีนี้เล็กและวาวก็ได้มีการจัดงานวันเด็กที่สนามหญ้าหน้าบ้านให้เด็กๆ ได้มาทำกิจกรรมร่วมกันด้วย

“ตอนนั้นบ้านยังไม่เสร็จเลยครับ เรามาทำสวนกันอยู่ เด็กๆ เขาก็มาเล่นน้ำฝั่งตรงข้ามที่เป็นผืนน้ำใหญ่ๆ เขาก็เลยมาขอน้ำผมกิน แล้วเขาถามว่าเจ้าของบ้านเขาจ้างพี่มาทำสวนอยู่นี่เหรอ” เล็กเล่าถึงครั้งแรกที่ได้เจอกับเหล่าเพื่อนบ้านตัวเล็กรุ่นแรกพร้อมเสียงหัวเราะ

“ตอนนี้เด็กๆ รุ่นแรกเขาก็โตแล้ว ไปทำงาน กันหมดแล้ว”

“แต่รุ่นแรกเขาก็มาช่วยงานเราตลอด เราก็อยากสนับสนุนเขาเพราะเท่าที่เราฟังแต่ละคนก็มีเรื่องทางบ้านที่ต่างกันไป” วาวเสริม

เมื่อเราถามเล็กและวาวว่าการทำงานร่วมกับเด็กๆ นั้นผลิดอกออกผลอย่างไรบ้าง เล็กตอบเราว่าการทำงานกับเด็กนั้นอาจไม่เห็นผลในทันที แต่เขาเชื่อว่าอย่างน้อยๆ ช่วงเวลาที่ได้ใช้ด้วยกันก็จะเป็นความทรงจำดีๆ และหลายๆ บทสนทนาที่นั่งคุยกัน การปรึกษาปัญหาที่เด็กๆ ได้พบเจอ ก็น่าจะเอาไปปรับใช้กับชีวิตของพวกเขาได้

“ผมคิดว่าอะไรก็ตามที่ทำกับเด็กอาจไม่ได้เห็นผลในปีสองปีนี้ วันที่เขาโตขึ้น เขาจะเจออะไรที่มันหนักขึ้น ชีวิตที่เข้มข้นและหนักหนาขึ้น เขาจะต้องนึกถึงอะไรบางอย่างที่เขาเคยได้ทำหรือคุยกับพวกผมแน่นอน เขาจะต้องจำได้ว่าเขาเคยมาทำงานที่นี่ตอนเด็ก ได้สนุกกับเพื่อนๆ ตอนเด็ก มีบ้านพี่คนนี้ที่เป็นแบบนี้ เคยมาเล่นด้วยกันแบบนี้ เขาจะจำเรื่องราวแบบนั้นได้ ส่วนตัวแล้วเขาไม่ต้องจำหน้าพวกผมก็ได้ ขอแค่จำช่วงเวลานี้ก็ได้ก็พอ”

ส่วนวาวบอกว่านอกจากทั้งคู่จะได้รับพลังของความเป็นเด็กมาจากเด็กๆ กลุ่มนี้แล้ว ตะวันเองยังได้พบเจอผู้คนที่หลากหลาย และพี่ๆ ที่มีความแตกต่างกันด้วย

“วาวเชื่อในเรื่องความเป็นเด็กในตัวเรา (Inner Child) ตอนเด็ก ๆ วาวก็ชอบจับกลุ่มเพื่อนๆ หาอะไรเล่นกัน ทั้งในป่า ในทุ่งนา พอโตมาได้ทำงานกับเด็กๆ กลุ่มนี้มันก็เหมือนได้ย้อนกลับไปในวัยเด็ก และตะวันก็ได้มีเพื่อนและได้เจอพี่ๆ ถ้าถามเรื่องความประทับใจที่ได้ร่วมงานกับเด็กๆ ก็คือความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะทำงานของเด็กๆ ค่าแรงที่พวกเขาได้จากการทำงานจากบ้านเรา เขาเอาไปฝากธนาคารโรงเรียน เก็บไว้ใช้เอง และบางครั้งยังแบ่งให้ผู้ปกครองด้วย”

และเด็กกลุ่มนี้นี่เองที่เล็กบอกว่าเป็นเชื้อเพลิงให้เขาจัด ‘Soontaree’s Time’ ขึ้นมา

“จริงๆ สิ่งที่ผมทำ ที่ผมจัด ที่เป็นเชื้อเพลิงของผมในการทำ Soontaree’s Time มันก็มาจากพลังงานของเด็กกลุ่มนี้ กลุ่มที่ผมคิดว่าจริงๆ เขาควรได้มีโอกาสไปอยู่ในงานของผมหรือได้เข้าร่วมกิจกรรมหรือมีเวิร์กชอป แต่ด้วยงานปีนี้อยู่ไกล และน้องๆ ก็ติดสอบ และเขากลับบ้านค่ำกันไม่ได้ ผมเลยได้แค่จัดงานแยกให้พวกเขา แต่ผมก็คิดจริงๆ ว่าอยากให้เขาได้สัมผัสกิจกรรมเหล่านี้ด้วยเหมือนกัน อาจจะร่วมเป็นทีมงานของเราในงานก็ได้ ซึ่งงานก็จัดมาสามครั้งเอง ก็คงจะพัฒนาขึ้นและหาโอกาสให้ได้”

แม้ว่างาน Soontaree’s Time ที่เพิ่งผ่านไปเมื่อวันที่ 17-18 กุมภาพันธ์ 2567 นี้จะเป็นครั้งที่ 3 แต่แท้จริงแล้ว Soontaree’s Time จัดมาทั้งสิ้น 4 ครั้ง โดยครั้งแรกจัดขึ้นตั้งแต่ตอนที่เล็กและวาวยังไม่มีน้องตะวันมาเป็นสมาชิกอีกคนของครอบครัว

“ก่อนผมจะเปิดคาเฟ่ผมเคยจัด Soontaree’s Time ครั้งแรกแต่ไม่ได้นับมันเข้าไปเพราะมันไม่ได้เป็นรูปแบบงาน มีเวิร์กชอปแค่สองอย่างคือเวิร์กชอปแมลงปีกแข็ง อันนี้เป็นเวิร์กชอปที่ชอบมาก ทีมเวิร์กชอปเขาเอาแมลงปีกแข็งหายากมาให้เด็กๆ ดูหมดเลย ทั้งมีและไม่มีชีวิต อีกเวิร์กชอปคือเพาะเมล็ดดอกไม้ เพราะเราปลูกอยู่แล้ว น้องวาวเป็นคนเวิร์กชอปเอง”

สองเวิร์กชอปของ Soontaree’s Time เปิดรับเด็ก ๆ เวิร์กชอปละ 15 คน และมีคนลงชื่อจนเต็มอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่เล็กและวาวคาดคิดเอาไว้ นอกจากนั้นเมื่อผู้ร่วมเวิร์กชอปเป็นเด็กๆ แล้ว แน่นอนว่าที่ติดสอยห้อยตามมาด้วยก็คือพ่อแม่ผู้ปกครอง เมื่อคำนวณคร่าวๆ เท่ากับว่าในตอนนั้นสนามหญ้าเล็กๆ รองรับคนอย่างน้อยๆ กว่า 90 คน

จากครั้งแรกของ Soontaree’s Time ที่มีกลุ่มเพื่อนๆ พี่ๆ ที่คุ้นเคยกับเล็กและวาวเข้ามาช่วยจัดกิจกรรม วงของผู้คนที่สนใจในพลังงานความเป็นเด็กและอยากเห็นกิจกรรมแบบนี้ก็กว้างขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งในครั้งที่ 4 ที่โรงแรม Blu Monkey Brown House Udonthani Hotel เอื้อเฟื้อสถานที่และอีกหลายทีมงานที่ร่วมมือร่วมแรงช่วยกันจัดขึ้นนั้นก็ทำให้งานสมบูรณ์ ซึ่งเล็กมองว่านี้ก็คืออีกความสำเร็จของสิ่งที่เขาทำอยู่

ในครั้งที่ 4 นี้ นอกจากงานจะจัดออกมาในลักษณะของ Flea Market ที่มีร้านเพิ่มมาหลายร้าน มีพ่อค้าแม่ค้าตัวจิ๋วทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่แล้ว ยังมีเวิร์กชอปให้ทั้งเด็กๆ และผู้ใหญ่ได้ลองเล่น ลองทำ และเรียนรู้ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเวิร์กชอปแปะ Masking Tape ร้อยลูกปัดและทำกิ๊บกระดุม ระบายสีไดโนเสาร์จากลังกระดาษ ทำฟอสซิลจากแป้งสาลีและกิจกรรมขุดหาฟอสซิลในบ่อทราย โต๊ะ Sensory Play วาดรูปด้วยเกรียงปาดสีบนเฟรมผ้าใบ การฝึกทักษะชิมกาแฟ การทดลองรสชาติหาเอกลักษณ์ของโกโก้ที่ปลูกในพื้นที่ภาคอีสาน ทำสมุดทำมือ แต่งหน้าเค้ก ออกแบบเสื้อยืดและกระเป๋า ปั้นจาน และกิจกรรมอื่นๆ ที่ชุบชูใจทั้งคนจัดและคนเข้าร่วมกิจกรรม

“เมื่อเราจัดด้วยพลังงานความเป็นเด็ก คนที่มาร่วมงานก็ใช้พลังงานแบบเดียวกัน มันเลยเป็นเหมือนงานที่มีแต่คนที่เชื่อแบบเดียวกัน ดึงดูดกันมา เป็นคนตัวเล็กๆ ที่ดึงดูดกันมาจนเป็นสังคมใหญ่ ถ้ามันจะมีความรู้สึกว่าเป็นงานที่อบอุ่น ดูเหมาะกับครอบครัว มันก็คงเป็นเพราะทัศนคติการทำงานของทุกคน ที่พร้อมช่วยเหลือกัน บางคนปกติไม่ได้ขายของแต่เขาแค่อยากให้ลูกได้มีประสบการณ์แบบนี้เลยหาของ ตั้งโปรแกรมการขายเพื่อสอนลูกๆ เรื่องการค้าขาย”

เมื่อถามถึงจุดหมายปลายทางของการจัดงานที่เล็กและวาวอยากเห็นรวมถึงผลลัพธ์ที่ทั้งสองคาดว่าจะเกิดขึ้นจากงานนี้ ทั้งคู่บอกว่าเพียงแค่กิจกรรมนี้เกิดขึ้นก็เป็นช่วงเวลาที่น่าประทับใจแล้ว และเพียงแค่มีเด็กหรือแม้แต่ผู้ปกครองสักคนได้มีความทรงจำดีๆ จากงานนี้ไปก็ทำให้ทั้งคู่มีความสุขแล้ว 

“มีพ่อแม่เขียนมาหาเราว่าขอบคุณมากเลยที่จัดกิจกรรมนี้ ลูกเขาได้เรียนรู้เรื่องการวางแผน การเตรียมของมาขาย บางครอบครัวอาจจะไม่ได้มีเวลาพาลูกทำกิจกรรมแบบนี้เพราะชีวิตประจำวันก็ยุ่งแล้ว มันก็เหมือนเราได้มอบโปรแกรมนี้ให้ครอบครัวเขา”

“พวกเราสนใจพลังงานวัยเด็ก สนใจเรื่อง Inner Child ถึงจะไม่ได้ศึกษาอย่างลึกซึ้ง แต่เราก็รู้สึกได้ถึงพลังงานความเป็นเด็กในตัวเรา แล้วผมก็คิดว่ามนุษย์ทุกคนมีสิ่งนี้อยู่ แค่เรายังไม่รู้ว่าจะใช้โอกาสไหนในการเอาพลังงานตรงนี้มาใช้ บางคนพอชีวิตเข้าระบบ เข้าวังวนการทำงานไปแล้วก็อาจหลงลืมไปว่า ตัวเองเคยมีความสนใจหลงใหลแบบไหน ตัวเองเคยมีความกล้าอย่างไร ตัวเองเคยมีแรงขับเคลื่อนให้เอาชนะบางเรื่องได้ด้วยสัญชาตญาณของเด็กอย่างไร”

“ในวันที่เรารู้สึกเครียดหรือหาทางออกไม่ได้ จริงๆ เราก็แค่กลับไปหาตัวตนเราในวัยเด็ก พลังงานตรงนั้นแหละที่ผมอยากเอามาใช้ และผมก็อยากเห็นจากคนที่มาร่วมงาน เพราะจุดเริ่มต้นของ Soontaree’s Time คือ ‘พลังงานวัยเด็ก’ พ่อแม่ที่มางานเองก็ได้เห็นเป็นรูปธรรมถึงความสนุกของเด็กๆ ที่ลูกเขาแสดงออกให้เราเห็นในตอนนั้น” เล็กกล่าว

เมื่อเราถามว่าเล็กและวาวอยากเห็นกิจกรรมหรือพื้นที่แบบไหนที่เป็นมิตรกับเด็กๆ และครอบครัวเกิดขึ้นในเมืองอุดรฯ อีก เล็กและวาวก็ตอบตรงกันว่าอยากเห็นพื้นที่ที่เด็กๆ ได้ปลดปล่อยและแสดงออก

“วาวอยากเห็นพื้นที่ที่ให้เด็กได้มาทำกิจกรรมกลางแจ้ง ได้ ได้วิ่งเล่น ได้ปลดปล่อยพลัง แบบที่เด็กๆควรจะเป็น อยากเห็นพื้นที่เหล่านี้กระจายอยู่หลายๆที่ ในชุมชน ให้ทุกคนเข้าถึงสถานที่เหล่านี้ได้ง่าย” วาวว่า

“จริง ๆ ผมก็ไม่แน่ใจเพราะอย่างที่บอกว่าการทำอะไรกับเด็กมันไม่ได้เห็นเป็นรูปธรรมภายในปีสองปี” เล็กเกริ่น “แต่ก็อยากเห็นผู้ใหญ่ในบ้านเมืองแค่เปิดใจรับฟังเสียงเด็กๆ ให้พื้นที่กับพวกเขา พื้นที่ที่เขาจะได้ปลดปล่อย หรือหันมาสนใจเด็กๆ หรือกลุ่มวัยรุ่นที่มีพลังสร้างสรรค์ เช่น ตอนที่ผมและเพื่อนๆ เล่น สเก็ตบอร์ดกันแล้วเป็นปีที่กีฬาสเก็ตบอร์ดเป็นที่นิยม มากๆ แล้วมีภาครัฐฯ เข้ามาช่วยสนับสนุน ทั้งเรื่องพื้นที่และอุปกรณ์ แค่นี้ก็มีกำลังใจพัฒนาฝีมือกันและมีความสุขมากๆ แล้ว ยังมีเด็กอีกหลายกลุ่ม รวมไปถึงนักสร้างสรรค์อีกหลายแขนงที่ยังต้องการการสนับสนุนอีกเยอะเลย”

Writer
Avatar photo
ปัญญาพร แจ่มวุฒิปรีชา

อย่ารู้จักเราเลย รู้จักแมวเราดีกว่า

illustrator
Avatar photo
พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts

Related Posts