บิดเบือนหรือย้ำบาดแผล Snowdrop สอนให้รู้ว่า ความจริงในประวัติศาสตร์ไม่ได้มีหนึ่งเดียว

บิดเบือนหรือย้ำบาดแผล Snowdrop สอนให้รู้ว่า ความจริงในประวัติศาสตร์ไม่ได้มีหนึ่งเดียว

  • Snowdrop คือซีรีส์สัญชาติเกาหลีที่ถูกจับตามองและถูกตั้งคำถามว่า “ละครกำลังด้อยค่าประชาธิปไตยและบิดเบือนประวัติศาสตร์” จนมีคนลงชื่อให้ยุติออกอากาศ 300,000 คน
  • เพราะชนวนการถกเถียงว่าซีรีส์ควรไปต่อหรือพอแค่นี้ มาจากเส้นเรื่องรักโรแมนติกของชายหญิง ภายใต้การเปลี่ยนผ่านการปกครองจากระบบเผด็จการสู่ประชาธิปไตย ปี 1987 ซึ่งเป็นปีของความหวัง ความฝัน และความเจ็บปวดของชาวเกาหลีใต้
  • Snowdrop เป็นซีรีส์ที่เปิดพื้นที่ให้ผู้ชมตีความและวิเคราะห์เหตุการณ์ในเรื่องไปพร้อมกับการถกเถียงและตั้งคำถาม เพราะความจริงในประวัติศาสตร์ไม่ได้มีหนึ่งเดียว

Snowdrop คือ ซีรีส์เกาหลีที่คนเกาหลีลงชื่อถอดถอนให้ยุติการถ่ายทำและยุติการออกอากาศ

เหตุผลที่อยากให้หยุดเพราะเนติเซนเกาหลี (ชาวเน็ต) ตั้งคำถามว่า “Snowdrop กำลังด้อยค่าประชาธิปไตย”

เพราะคำว่าประชาธิปไตยของคนเกาหลีหมายถึงการอุทิศชีวิตวัยเยาว์เพื่อประเทศ หลายคนต้องตายและสูญเสียคนรักไปอย่างไม่มีวันกลับ

นอกจากสถานการณ์ของเรื่องที่น่าจับตามองแล้ว ทีมงานของซีรีส์เรื่องนี้ก็น่าจับตาเช่นกัน

หลายคนบอกว่า Snowdrop คือ ซีรีส์รวมดาว เพราะ จีซู ไอดอล K-pop วง Blackpink ผันตัวมาเป็นนางเอกครั้งแรก ประกอบกับผู้กำกับโจยองทักและผู้กำกับยูฮอนมีจาก Sky Castle (ซีรีส์ที่ครองเรตติ้งละครเกาหลีสูงสุดนานถึง 2 ปี) และเป็นซีรีส์เกาหลีเรื่องแรกที่ออกอากาศทาง Disney+ Hotstar

ตัวอย่างซีรีส์ Snowdrop

แต่วันนี้มีคนลงชื่อประมาณ 300,000 คนเพื่อเรียกร้องให้ยุติการออกอากาศ เพราะเนื้อหาเรื่องกำลังบิดเบือนเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศ

ขณะเดียวกัน การถกเถียงว่า Snowdrop ควรไปต่อหรือพอแค่นี้เป็นจุดเริ่มต้นของการรื้อประวัติศาสตร์ผ่านมุมมองของคนหลากเพศ หลากวัย หลายสัญชาติ

และที่สำคัญ เบื้องหลังความรักของตัวละครและการถกเถียงของชาวเน็ต คือการจำลองห้องเรียนประวัติศาสตร์ที่ไม่มีใครสอน แต่เรียนรู้และเข้าใจเรื่องราวในอดีตได้ผ่านซีรีส์สัญชาติเกาหลีเพียงเรื่องเดียว 

1987 ความหวัง ความฝัน และความเจ็บปวด

ชนวนการถกเถียงความจริงทางประวัติศาสตร์ของ Snowdrop คือ การเล่าเหตุการณ์ความรักภายใต้การเรียกร้องประชาธิปไตยปี 1987 ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านระบบการเมืองเกาหลีจากเผด็จการสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

จุดเริ่มต้นของการชุมนุมเรียกร้องของประชาชนเริ่มจากการตายอย่างไม่ทราบสาเหตุของ ‘พัคจงชอล’ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล หนึ่งในแกนนำเรียกร้องประชาธิปไตยในตอนนั้น 

แต่แท้จริงแล้ว พัคจงชอลเสียชีวิตระหว่างการสอบสวนด้วยการโดนตำรวจจับกรอกน้ำ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ตำรวจอ้างว่า พัคจงชอลเสียชีวิตกะทันหันเมื่อตำรวจทุบโต๊ะ 

หนังสือประวัติขบวนการประชาธิปไตยระบุว่า การกระทำที่เกิดขึ้นกับพัคจงชอลแสดงถึงความโหดร้ายไร้ศีลธรรมของรัฐบาลชุนดูฮวาน (ประธานาธิบดีเกาหลีใต้จากการแต่งตั้งที่กำลังจะหมดวาระในปี 1987) ทำให้ประชาชนลุกขึ้นมาต่อต้านระบบเผด็จการ

พิธีรำลึกการเสียชีวิตของพัคจงชอล

การเรียกร้องประชาธิปไตยเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนวันที่ 9 มิถุนายน 1987 อิฮันยอล นักศึกษามหาวิทยาลัยยอนเซถูกแก๊สน้ำตาที่ตำรวจยิงใส่จนได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมา

ภาพของเขาที่ศีรษะเต็มไปด้วยเลือดถูกนักข่าวจองแทวอนถ่ายไว้จนขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์พร้อมกับสโลแกนว่า “เอาฮันยอลกลับมา!” และยังคงเป็นที่พูดถึงของการชุมนุมในวันถัดๆ มา ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ June Democratic Struggle (6월 민주항쟁)

และเมื่อวันนั้นมาถึง… วันที่เป็นจุดเปลี่ยนการเมืองเกาหลีใต้ที่มาพร้อมกับราคาที่ต้องจ่ายเพื่อแลกมาซึ่งคำว่า ‘ประชาธิปไตย’

26 มิถุนายน 1987 วันที่ประชาชนลุกขึ้นมาเรียกร้องประชาธิปไตยพร้อมๆ กับการเลือกตั้งที่กำลังใกล้เข้ามา

เพราะนอกจากขบวนการประชาธิปไตยจะเรียกร้องความเป็นธรรมให้พัคจงชอลและอิฮันยอล สิ่งที่พวกเขาหวัง คือ การเลือกตั้งที่ประชาชนมีส่วนร่วมไม่ใช่การเลือกตั้งของทีมผู้บริหารประเทศ

ในวันชุมนุมครั้งนั้นมีผู้เข้าร่วม 1.5 ล้านคนใน 33 เมืองและอีก 4 ประเทศ ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเมืองเกาหลีใต้ที่ตำรวจประมาณ 4,000 นายไม่สามารถต้านทานอำนาจของประชาชนไว้ได้

แม้ประวัติศาสตร์เดือนมิถุนายนของประชาชนเกาหลีใต้จะจบลงด้วยการมีผู้ประท้วง 3,467 คนถูกจับตัว แต่อาจกล่าวได้ว่า นี่คือชัยชนะของประชาชนและนักเรียกร้องประชาธิปไตยสำหรับการเรียกร้องประชาธิปไตยมายาวนานกว่า 7 ปี นับตั้งแต่การเรียกร้องประชาธิปไตย 1980 ที่กวังจู (เหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยครั้งแรกๆ หลังตกอยู่ในระบบการปกครองเผด็จการทหารมานานกว่า 30 ปี)

การเปลี่ยนผ่านระบบการปกครองเป็นประชาธิปไตยจึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ประชาชนดินแดนโสมขาวลืมไม่ลง เพราะประชาธิปไตยในวันนี้ต้องแลกมาด้วยความหวัง ความฝัน และความเจ็บปวดของบรรพบุรุษ

ภาพเหตุการณ์เดือนมิถุนายน 1987

Snowdrop ความรักของชายหญิงภายใต้ประชาธิปไตยสู่วัฒนธรรมการแบน

เมื่อประวัติศาสตร์เขียนไว้เช่นนั้น คำถามต่อมา คือ ทำไมคนเกาหลีใต้ต้องแบนซีรีส์ Snowdrop

ข้อสังเกตของชาวเน็ตสัญชาติเกาหลีอย่างแรก คือ อึนยองโร นางเอกของเรื่องถูกสร้างจากชีวิตจริงของ ‘ชอนยองโช’ นักศึกษาหญิงมหาวิทยาลัยเกาหลี ผู้รอดชีวิตจากการสอบสวนและทรมานจากสำนักงานตำรวจแห่งชาตินัมยองดง (สถานีตำรวจเดียวกับที่พัคจงชอลถูกกรอกน้ำจนเสียชีวิต) หรือไม่

อึนยองโร

อีกทั้ง ‘อิมซูโฮ’ พระเอกของเรื่องที่ถูกวางบุคลิกตัวละครเป็นสายลับเกาหลีเหนือ ทำให้คนเกาหลีตั้งคำถามว่า ซีรีส์เกาหลีเรื่องนี้กำลังด้อยค่าการเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนหรือเปล่า เพราะความจริงที่ถูกปกปิดในปี 1987 คือ รัฐสร้างเฟคนิวส์ว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีเกาหลีเหนืออยู่เบื้องหลังซึ่งไม่ใช่ความจริง

ประเด็นนี้เป็นข้อถกเถียงและเป็นประเด็นแรกๆ ที่ถูกพูดถึงครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม 2564 แต่ตอนนั้นทางช่อง JTBC (สถานีโทรทัศน์ที่ออกอากาศซีรีส์เรื่องนี้) บอกว่า ละครเรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์  

โดยย้ำว่า Snowdrop เป็นเพียงละครเสียดสีสังคม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่องเป็นเพียงเรื่องสมมติและไม่เกี่ยวข้องกับการเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 1987

การถกเถียงที่มากขึ้นทำให้เดือนมีนาคมถึงเมษายนที่ผ่านมา มีชาวเกาหลีลงชื่อ 200,000 เพื่อเรียกร้องให้ยุติถ่ายทำซีรีส์และยื่นหนังสือเรียกร้องต่อรัฐบาล

เนื่องจากหลายคนมีความกังวลว่า ซีรีส์เรื่องนี้จะต้องออกอากาศผ่าน Disney+ ที่จะมีผู้ชมเข้าถึง Snowdrop จากทั่วมุมโลก หากบทละครหรือฉากต่างๆ บิดเบือนประวัติศาสตร์เกาหลี อาจทำให้คนต่างชาติที่รับชมเข้าใจเหตุการณ์ในปี 1987 ผิดไป

เมื่อซีรีส์เรื่องนี้ออกอากาศได้เพียง 2 ตอน กระแส #แบนsnowdrop ติดเทรนด์ทวิตเตอร์จึงนำมาสู่การลงชื่อยุติการออกอากาศ 300,000 รายชื่อ 

เพราะซีรีส์ปูทางว่า เหตุผลที่ทำให้นางเอกช่วยพระเอกซึ่งเป็นสายลับเกาหลีเหนือที่กำลังถูกตำรวจจากสำนักงานมั่นคงแห่งชาติตามล่า เพราะ เข้าใจผิดว่าพระเอกคือหนึ่งในผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยซึ่งขัดกับแถลงการณ์ของช่องก่อนหน้านี้ว่า ซีรีส์ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียกร้องประชาธิปไตย

รวมถึงยังมีการใช้เพลง ‘โซลาบลูโซลา’ เพลงสัญลักษณ์การชุมนุมที่ยังถูกนำมาใช้ในฉากที่พระเอกโดนตำรวจไล่ล่า ความเห็นที่กลายเป็นบทสนทนาไม่รู้จบยังทำให้สปอนเซอร์หลักของซีรีส์เรื่องนี้ถอนตัวจากการสนับสนุนเงินทุน

อีกทั้งยังมีชาวเน็ตบางส่วนตามหาประวัตินักเขียนอีฮยอนมีว่า เป็นนักศึกษาและอาจารย์มหาวิทยาลัยในควังจูที่เชื่อได้ว่าเธอเข้าใจเหตุการณ์นี้ดี การถ่ายทอดมุมมองเหล่านี้ผ่านบทละครเหมาะสมหรือไม่และชวนตั้งคำถามต่อว่า นักเขียนมีความเห็นต่อเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างไร

แต่ช่อง JTBC ยังคงยืนยันว่า เบื้องหลังสถานการณ์ความรักของคู่พระนางใน  Snowdrop คือ สถานการณ์การเมืองภายใต้ระบอบการปกครองของกองทัพที่แต่งตั้งตนเองเป็นพรรคการเมืองร่วมมือกับเกาหลีเหนือเพื่อสืบทอดอำนาจ 

เหตุการณ์ในเรื่องเป็นเพียงเรื่องสมมติของพรรคการเมืองที่ครองอำนาจตอนนั้นและยืนยันว่า Snowdrop เป็นเพียงผลงานที่สะท้อนชีวิตของเหยื่อผู้ถูกใช้อำนาจเท่านั้น

“ความกังวลของผู้ชมต่อเรื่องประวัติศาสตร์และมองว่าซีรีส์เรื่องนี้กำลังทำลายประชาธิปไตยจะถูกคลี่คลายในซีรีส์ตอนต่อๆ ไป”

อ่านประเด็นถกเถียงระหว่างประวัติศาสตร์ปี 1987 เปรียบเทียบกับการนำเสนอของซีรีส์ได้ที่

https://www.allkpop.com/article/2021/12/content-summary-of-snowdrop-misunderstood-parts

สองเสียงจากประวัติศาสตร์ที่ไม่มีใครลืม

การถกเถียงอย่างไม่รู้จบทำให้มีคนเข้ามาแสดงความเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ซีรีส์สองตอนแรกในกระทู้หนึ่งของเว็บไซต์ naver ซึ่งมีทั้งคนสนับสนุนและคัดค้าน

กลุ่มคนที่สนับสนุนบางคนบอกว่าซีรีส์เพิ่งออกอากาศไปเพียง 2 ตอนยังไม่ควรตัดสินว่าซีรีส์กำลังด้อยค่าประชาธิปไตย บางคนบอกว่าเหตุการณ์ของเรื่องเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนไม่ใช่เดือนมิถุนายน และผู้คนกำลังหลงไปกับกระแส

ส่วนคนที่เรียกร้องให้ยุติ มองว่า ซีรีส์เรื่องนี้กำลังบิดเบือนประวัติศาสตร์และพยายามทำให้เป็นเรื่องราวสวยงามและโรแมนติก ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วเหตุการณ์นี้คือบาดแผลและความเจ็บปวดของประชาชนทุกเพศ ทุกวัย จากการเป็นเหยื่อของอำนาจรัฐ

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนที่รอการตรวจสอบจากรัฐอีกครั้ง หากรัฐบอกว่าผ่านก็สามารถฉายต่อได้ แต่ทางรัฐบาลก็ออกมายอมรับว่า การแทรกแซงงานสร้างสรรค์เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องดำเนินอย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้ขัดต่อ มาตรา 4 ใน พระราชบัญญัติการแพร่ภาพที่ระบุว่า รัฐจะต้องรับรองเสรีภาพและความเป็นอิสระของออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ 

หากตัดสินใจผิดพลาดจะเป็นการ ‘ละเมิด’ รัฐต้องเคารพการตัดสินใจของผู้สร้าง ผู้จัด หรือผู้ชมในการสร้างสรรค์เนื้อหา ถึงแม้ว่าจะขัดต่อความรู้สึกของผู้ชม หากไม่มีการออกมาชี้แจง โดยเฉพาะการบิดเบือนประวัติศาสตร์จนเกินขอบเขต ขั้นตอนสุดท้ายผลงานนั้นจะต้องถูกพิจารณาโดยคณะกรรมการการสื่อสารมาตรฐานเกาหลี (Korea Communications Standards Commission: KCSC)

ล่าสุด เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 ธันวาคมที่ผ่านมา ช่อง JTBC ตัดสินใจออกอากาศซีรีส์เพิ่มเป็น 3 ตอนเป็นกรณีพิเศษเพื่อคลายความกังวลของผู้ชมในประเด็นการบิดเบือนทางประวัติศาสตร์โดยให้เหตุผลว่าตอนที่ 3 ถึง 5 จะเล่าภูมิหลังของตัวละคร ซูโฮ ในเกาหลีใต้ และสาระสำคัญทางอำนาจที่ไม่เป็นธรรมจะถูกเปิดเผยออกมาให้เห็น กล่าวคือ หน่วยรักษาความมั่นคงเป็นผู้นำของการนำสายลับจากทางเหนือมายังเกาหลีใต้ และ ผู้นำของทั้ง 2 เกาหลีต่างเริ่มแย่งชิงทั้งอำนาจและเงินตรา 

หลังจากออกอากาศเพิ่มในตอนที่ 3 และ 4 แนวโน้มความเห็นของผู้ชมเปลี่ยนไป บางส่วนเข้ามาแสดงความเห็นในทิศทางที่ดีขึ้นว่า ละครมีความน่าสนใจและรอติดตามในตอนต่อไป

รื้อประวัติศาสตร์เพื่อหาความจริงที่ไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว

หากถอยออกมาจากประเด็นการถกเถียง เบื้องหลังฉากความรักของอึนยองโรและอิมซูโฮ คือ บทเรียนวิชาประวัติศาสตร์ที่ห้องเรียนไม่ได้สอน 

Snowdrop คือ จุดเริ่มต้นของการรื้อประวัติศาสตร์ในความทรงจำ แนวคิดหลายชุดถูกยกมาเป็นเหตุผลว่าซีรีส์เกาหลีเรื่องนี้ควรไปต่อหรือพอแค่นี้ แม้จะไม่ใช่คนเกาหลีก็ตาม

หลายๆ ครั้งการตั้งต้นเปิดซีรีส์ดูสักเรื่อง เราไม่ได้คาดหวังว่า ซีรีส์เรื่องนี้ต้องสอนให้เรารู้ว่า… แต่เป็นการเปิดพื้นที่ให้คนได้วิเคราะห์และตีความผ่านบทละครและบริบทของเรื่องนั้นๆ โดยอิงจากประสบการณ์และความคิดของผู้ชม

บทสรุปของซีรีส์จำนวน 16 ตอนจะเป็นอย่างไรไม่มีใครรู้ แต่ตอนนี้เส้นเรื่องความรักโรแมนติกของชายหญิงวัย 20 ปีภายใต้คำว่าประชาธิปไตยกำลังทำหน้าที่เป็นประตูสู่โลกของการค้นหาประวัติศาสตร์ ถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์ และแสดงความเห็น ทำความเข้าใจผ่านความจริงในมุมมองที่ต่างกัน

จึงอาจบอกได้ว่า ซีรีส์สัญชาติเกาหลีเรื่องนี้กำลังทำหน้าที่เป็น Soft Power อำนาจอ่อนที่แข็งแกร่งมากพอที่จะทำให้ผู้ชมลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้มีความจริงเพียงหนึ่งเดียวว่า

“ความจริงที่ถูกส่งต่อกันมา มันจริงแค่ไหน ถ้าความจริงของแต่ละคนไม่เหมือนกัน”

อ้างอิง

ภาพยนตร์เรื่อง 1987 When the day come

https://www.soompi.com/article/1461807wpp/jtbc-releases-new-statement-denying-possibility-of-historical-distortion-in-upcoming-drama-snowdrop

https://www.indiatoday.in/binge-watch/story/korean-channel-denies-alleged-historical-distortion-in-k-drama-snowdrop

https://www.allkpop.com/article/2021/07/blue-house-responds-to-petition-to-cancel-upcoming-jtbc-drama-snowdrop

https://workpointtoday.com/ban-snowdrop

https://www.the101.world/june-struggle/#_ftn4

https://thematter.co/brief/163450/163450

https://themomentum.co/report-what-happen-in-snowdrop

https://tv.naver.com/v/24156615

https://issuu.com/thai_e-news/docs/korea-democracy

https://m.tv.naver.com/v/24267502#comment_focus

https://www.korseries.com/jtbc-announced-special-schedule-for-snowdrop-to-ease-viewers-concern-regarding-historical-distortion/

Writer
Avatar photo
ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

ชอบดูซีรีส์เกาหลี เพราะเชื่อว่าตัวเราสามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ได้ สนใจเรื่องระบบการศึกษาเเละความสัมพันธ์ในครอบครัว พยายามฝึกการเล่าเรื่องให้สนุกเเบบฉบับของตัวเอง

illustrator
Avatar photo
กรกนก สุเทศ

เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง

Related Posts

Related Posts