Sad Bar ป๊อปอัพบาร์ที่อยากเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้บทสนทนาเรื่องสุขภาพจิต

Sad Bar ป๊อปอัพบาร์ที่อยากเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้บทสนทนาเรื่องสุขภาพจิต

ในโลกที่โยนเรื่องน่าปวดหัวมาให้เราทุกวัน พลังบวกคือสิ่งที่หลายคนวิ่งเข้าใส่เพื่อเติมพลังให้ตัวเอง ขณะที่ความเศร้า ความเครียด และความรู้สึกด้านลบอื่นๆ กลับถูกผลักไสและมองข้ามไปเพื่อทำให้วันนี้ของเราไม่แย่เกินไปนัก

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหากไม่มีความเศร้า ความสุขก็คงไร้ความหมาย สิ่งที่หลายคนเลือกทำจึงเป็นการโอบรับความรู้สึกด้านลบไว้ด้วยแรงกอดที่เท่าๆ กับความรู้สึกด้านบวก เช่นเดียวกับ ‘ไนล์’ ผู้ก่อตั้ง Sad Bar ป๊อปอัพบาร์เคลื่อนที่ซึ่งนอกจากจะเสิร์ฟดริงก์ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากปัญหาด้านจิตใจ บาร์นี้ยังอยากเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ใครๆ ก็มาพูดคุยเรื่องสุขภาพจิตได้ ไม่ว่าจะกำลังรู้สึกแบบไหนอยู่

บาร์ที่เปรียบเสมือนที่พักใจแห่งนี้สร้างขึ้นด้วยความเชื่อแบบไหน คอลัมน์ Becoming Me ตอนนี้พาไปเคาะประตูบ้านของไนล์ ขอให้เขาทำดริงก์สุดป๊อปจากบาร์ของตัวเองมาให้ชิมระหว่างเล่าเรื่องราวการเดินทางด้านจิตใจซึ่งย้อนกลับไปตั้งแต่ยุคที่การพูดถึงสุขภาพจิตยังเป็นเรื่องไกลตัว สู่ปัจจุบันที่เขาลงมือสร้างพื้นที่ปลอดภัยอย่าง Sad Bar ขึ้นมา

Before Sad Bar

“ตอนเด็กๆ เราเป็นเด็กเนิร์ดและเชื่อฟังผู้ใหญ่ อาจเพราะเราเป็นลูกคนเดียวอยู่ในครอบครัวใหญ่ ซึ่งมันมีข้อดีมากๆ ตรงที่เราได้รับความรักเต็มที่ เป็นจุดสนใจของทุกคน วัยเด็กก็เป็นเด็กเหมือนเด็กทั่วไป แต่จุดที่ทำให้เริ่มสนใจเรื่องคนคือตอนเรียนคณะสังคมสงเคราะห์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“การเรียนที่นั่นทำให้เราสนใจเรื่องความแตกต่างหลากหลาย จำได้เลยว่าเราต้องไปฝึกงานในสถานสงเคราะห์ ต้องไปทำเคสให้เด็กที่เจอเรื่องแย่ที่เราแทบไม่เชื่อว่ามันมีอยู่บนโลกใบนี้ด้วย ตอนนั้นเราก็ตั้งคำถามว่าทำไมคนเราแตกต่างกันขนาดนี้ คนเราเกิดมาทำไม 

“พอเราได้เห็นเคสแบบนี้เยอะๆ ด้วยหน้าที่ของเราต้องคอยรับฟังหรือช่วยเหลือเขาในฐานะนักสังคมสงเคราะห์ เราก็รู้สึกไม่สบายใจ เริ่มมีอาการทางร่างกายเช่น ใจสั่น มือชา ตัวสั่น เรารู้ว่านี่ไม่ใช่อาการป่วยทางกายทั่วไป รู้เลยว่ามันมาจากจิตใจ ตอนนั้นเลยเริ่มไปพบจิตแพทย์ครั้งแรก”

“การเดินเข้าไปหาจิตแพทย์เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้วเต็มไปด้วยความกลัวและกังวล กับวันนี้มันต่างกันมาก วันนี้ทุกคนพูดถึงเรื่องสุขภาพจิตได้กว้างขวางซึ่งเราถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่เมื่อก่อนเรากังวลว่าจะพูดกับหมอยังไง คนจะมองยังไง แต่พอเข้าไปแล้วคุณหมอก็ให้คำแนะนำที่โอเค เราได้รู้ว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่เราเป็นคืออาการ Anxiety Disorder หรือความวิตกกังวลที่เชื่อมโยงกับ Panic Disorder หรืออาการแพนิก ซึ่งความกลัวของเราที่เกิดขึ้นในใจไม่ได้เป็นเพราะปัจจัยภายนอกที่มากระทบ มันอาจมีเหตุผลอื่นๆ เช่น สารเคมีในสมองที่อาจผิดแปลกไป ซึ่งการรักษาและยาช่วยได้

“การไปหาจิตแพทย์ของเราค่อนข้าง on and off มาตลอด พอได้ยามาเราก็ค่อยๆ ดีขึ้น แล้วพอมีอาการก็ไปหาหมอใหม่อีก จนปัจจุบันน่าจะเป็นรอบที่ 4 ที่เราไปหาหมอ ซึ่งจริงๆ ก็เพิ่งได้รับการวินิจฉัยจากคุณหมอว่าหายแล้ว แต่ด้วยประสบการณ์ เรารู้ว่าคำว่า ‘หายแล้ว’ มันน่าดีใจแต่มันไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่มีโอกาสกลับมาเป็นอีก สิ่งสำคัญคือไม่ว่าจะหายหรือไม่หาย การดูแลจิตใจตัวเองเป็นเรื่องที่ควรทำ 

“วิธีที่เราใช้ควบคู่กับยาคือการนั่งสมาธิ สำหรับเรามันช่วยเราได้มากๆ ถ้าให้เปรียบคือยาเป็นตัวดับไฟ แต่สิ่งที่ป้องกันไม่ให้เกิดอาการแพนิกคือสมาธิ เราไม่ได้นั่งเชิงพุทธอะไรขนาดนั้น เป็นการนั่งดูสิ่งที่เกิดขึ้นในใจตัวเองมากกว่า ตอนนี้กังวลใช่ไหม ไม่เป็นไร ปล่อยมันไป เดี๋ยวมันก็หายไป

“การไปเจอหมอเปลี่ยนมุมมองเรื่องจิตวิทยาของเราในแง่ที่ว่า จิตวิทยาควรเป็นเรื่องที่พูดคุยในชีวิตประจำวันได้ การไปหาผู้เชี่ยวชาญผู้ศึกษาเรื่องนี้มาทั้งชีวิตเพื่อรักษาคนเป็นเรื่องดี ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องสำรวจสภาวะข้างในใจของตัวเองตามความเป็นจริงด้วย เพราะสำหรับเราคิดว่ายารักษาที่ปลายเหตุ แต่จิตใจของเราเป็นต้นเหตุ

“อาการเจ็บป่วยทางใจต่างจากอาการทางกายตรงที่ว่า สมมติเรามีไขมันในเลือดสูงเราสามารถวัดได้ด้วยเครื่อง แต่มันไม่มีเครื่องวัดค่าความซึมเศร้าได้ว่าตอนนี้เราซึมเศร้าเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นการสำรวจใจของตัวเองตามความเป็นจริงจึงสำคัญ และนั่นคือสิ่งที่ Sad Bar พยายามทำอยู่”

Sad Bar

“ตอนแรก Sad Bar เป็นโปรเจกต์ลอยๆ ที่เราคิดไว้แต่ไม่ได้ทำสักที จุดเปลี่ยนคือตอนที่เรารักษาอาการวิตกกังวล และแพนิกมาได้ช่วงหนึ่งและกำลังจะหายดีแล้ว แต่ความรู้สึกเราในตอนนั้นมันเหมือนรถเข้าเกียร์ว่าง ไม่โกรธ ไม่สุข แต่เป็นความรู้สึกเฉยๆ เราก็เอาสิ่งนี้ไปถามหมอว่าเป็นผลของยาไหม หมอบอกว่าเรามีโอกาสเป็นอาการซึมเศร้าเรื้อรัง

“เราช็อกมาก เพราะเรากินยาทุกวัน ออกกำลังกาย นอนตรงเวลา แต่จากสองโรคเราได้เพิ่มมาอีกหนึ่ง หลังจากเจอหมอเราขับรถกลับบ้านแบบน้ำตาไหลตลอดทาง คิดว่าทำไมเรื่องนี้ต้องเกิดขึ้นกับกูวะ ตอนนั้นมองไปทางไหนก็หาทางออกไม่เจอ และเข้าใจเลยว่าคนที่เป็นซึมเศร้าเขามองโลกยังไง

“แต่อาจเป็นเพราะเราเป็นคนไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ ทั้งที่น้ำตาไหลเราก็พูดว่า เดี๋ยวพวกมึงรอก่อน พูดกับใครไม่รู้นะ แต่เราพูดว่ารอก่อน ใครก็ตามที่จะเป็นซึมเศร้าในโลกแบบนี้ ถ้าใช้ชีวิตอยู่ต่อ ผมจะทำให้เห็นว่าคุณจะมีวันหาย และคนมีปัญหาสุขภาพจิตก็สามารถทำประโยชน์ให้คนอื่นได้ด้วย ตอนนั้นเองที่ความคิดในการทำบาร์แวบขึ้นมาอีกครั้ง

“Sad Bar จึงเกิดขึ้นด้วยสองวัตถุประสงค์ หนึ่งคือพิสูจน์ว่าคนที่มีปัญหาสุขภาพจิตก็สามารถทำเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อคนอื่นได้ เพราะทุกวันนี้เวลาเราดูข่าวเกี่ยวกับสุขภาพจิตในไทย เราจะเห็นข่าวประมาณว่า ดาราท่านหนึ่งเข้าโรงพยาบาลเพราะป่วยซึมเศร้า ทำร้ายคนอื่น เราจะเห็นแต่ประโยคที่ให้ความรู้สึกแง่ลบ ซึ่งสื่ออาจจะขายได้แต่เราคิดว่าไม่จำเป็น เพราะคนที่เขารักษาอยู่มาเห็นประโยคแบบนี้ เขาอาจจะแย่กว่าเดิมได้ เราไม่เคยเห็นข่าวว่าซึมเศร้าเป็นนักกีฬาโอลิมปิก ซึมเศร้าแล้วทำโปรเจกต์ประกวดชิงรางวัลโนเบล หรือแพนิกแล้วเปิดบาร์ช่วยคน อาจจะมีแต่น้อยมาก เราจึงอยากทำบาร์นี้ขึ้นมาเพื่อให้ตัวเองและคนที่มีปัญหาสุขภาพจิตคนอื่นเห็นว่า อาการที่เรามีมันไม่ได้ทำร้ายเรา แต่เป็นแรงผลักดันที่ทำให้เราสิ่งดีๆ ได้ อย่าไปเชื่อ การแปะป้ายในสื่อขนาดนั้น

“จุดประสงค์ที่สองคือเราอยากเป็นพื้นที่กลางให้คนที่อาจรู้สึกไม่สบายใจหรือสบายใจก็ได้มาพูดคุยกันบนบอร์ดตามหัวข้อที่กำหนดไว้ ชวนให้เขาคิดว่าตอนนี้เขารู้สึกยังไง กำลังประสบกับสภาวะแบบไหน เพื่อให้คนทุกวัยได้เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขามันเป็นเรื่องปกติ และไม่ใช่เรื่องน่าอายที่จะพูด

“ชื่อ Sad Bar มันเกิดขึ้นจากการที่เราคิดว่า คนเราหลีกเลี่ยงความรู้สึกในแง่ลบเยอะเกินไป ไม่ใช่แค่ความเศร้า แต่รวมถึงความโกรธและทุกๆ ความรู้สึกที่เราชอบผลักออกไป ต่างจากความสุข ความเพลิดเพลิน ความเป็นอิสระที่ทุกคนวิ่งเข้าหา แต่ถ้าเราลองคิดว่าถ้าโลกนี้ไม่มีความรู้สึกในแง่ลบเลย เราว่าความรู้สึกดีๆ เหล่านั้นมันจะไม่มีความหมาย กลับกัน ความเศร้าหรือความไม่สบายใจมันทำให้ความรู้สึกดีๆ มีความหมายขึ้นมา เราเลยเลือกคำว่า Sad มาตั้งเป็นชื่อบาร์ ส่วนหนึ่งเพราะทุกคนเข้าใจ เราเองก็ชอบคำคำนี้เหมือนกัน

“ถามว่าทำไมถึงเป็นบาร์ เพราะส่วนตัวเราเป็นคนชอบไปบาร์อยู่แล้ว เราคิดว่านอกจากการไปพบจิตแพทย์ บาร์เป็นสถานที่ฟื้นฟูจิตใจของเรา มันเป็นพื้นที่กลางที่ใครจะผลักประตูเข้าไปก็ได้ บาร์ต้อนรับทุกคน จน รวย เพศไหน ยศอะไร ทุกคนดื่มด้วยแก้วแบบเดียวกัน แล้วคนที่ไปบาร์ก็มีไม่กี่เรื่อง ดีใจ เงินเดือนออก เสียใจ เลิกกับแฟน จะเห็นได้ว่าบาร์ผูกโยงกับอารมณ์ของคนอยู่ อีกอย่างที่มีเสน่ห์คือบาร์เทนเดอร์ ในวันที่เราเหนื่อยมากๆ ไม่มีใครถามเราเลยว่าเรารู้สึกยังไง แต่เมื่อเราก้าวเข้ามา บาร์เทนเดอร์ถามเราด้วยคำถามนี้ ไม่ว่าเขาจะอยากรู้จริงๆ หรือถูกเทรนมาก็ตาม สำหรับเรามันช่วยเติมพลังมาก เราเลยเคารพคนที่เป็นบาร์เทนเดอร์ไม่ต่างจากจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเลย”

“Sad Bar ไปออกงานครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2565 กับเพจเพื่อนบ้านอารีย์ ถึงตอนนี้ไปจัดมาแล้วประมาณ 6-7 ครั้ง คือไปเท่าที่เราจะขนบาร์ไปได้ 

“จริงๆ เราไม่อยากให้คนที่มาบาร์ของเราคาดหวังเรื่องค็อกเทลจนเกินไป เราคิดว่าในกรุงเทพฯ มีบาร์เทนเดอร์เก่งๆ ระดับโลกคอยเสิร์ฟเครื่องดื่มดีๆ ที่สมกับความคาดหวังอยู่แล้ว เราดีใจมากที่เป็นแบบนั้น ในทางกลับกัน กับ Sad Bar เราอยากให้คนเข้ามาด้วยการเป็นตัวของตัวเอง อยากพูดอะไร เรายินดีที่จะเปิดใจรับฟังไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาสุขภาพจิตหรือเรื่องอื่นๆ ก็ได้ 

“มากกว่านั้น ถ้าคุณร่วมกิจกรรมการเขียนบอร์ดของเราที่แต่ละครั้งจะมีการกำหนดหัวข้อแตกต่างกัน เช่น ตอนวันสุขภาพจิตโลกเราก็กำหนดหัวข้อว่ามีวิธีดูแลสุขภาพจิตยังไง หรือช่วง Mental Health Awareness Week ปีที่แล้วเรามีธีมเรื่องความวิตกกังวล เลยกำหนดหัวข้อว่าคุณมีวิธีเป็นเพื่อนกับความวิตกกังวลยังไง ถ้าคุณร่วมกิจกรรมนี้ เราจะมีส่วนลดเครื่องดื่มให้คุณด้วย หรือบางทีเราก็ให้ลูกค้าเลือกได้ว่าจะจ่ายเท่าไหร่ หรืออยากกินฟรีก็ให้ฟรีไปเลย และเรานำรายได้ส่วนหนึ่งไปบริจาคให้โรงพยาบาลจิตเวชทุกครั้ง

“เราทำแบบนี้เพราะเราอยากให้คนสะท้อนตัวเอง เพิ่มความตระหนักรู้ในตัวเอง เพราะเราเชื่อว่าในยุคที่เรามีฟิลเตอร์หน้าจอที่สร้างรอยยิ้มให้เราได้ ทั้งๆ ที่จริงเราไม่ได้ยิ้มเลย มันจำเป็นมากที่เราต้องกลับมาถามตัวเองว่าข้างในของเราเป็นแบบในภาพนั้นหรือเปล่า เมื่อรู้แล้วรับผิดชอบความรู้สึกนั้นด้วย”

After Sad Bar

“ถ้าเทียบกับเมื่อก่อน เราคิดว่าสังคมมองเรื่องสุขภาพจิตดีขึ้นเยอะ จากการที่ได้ไปจัดบาร์เราเห็นได้เลยว่าน้องๆ รุ่นใหม่วัยกำลังจะเข้ามหาวิทยาลัยหรือกำลังเรียนมหาวิทยาลัยอยู่ เขาเห็นบอร์ดแล้วเข้ามาเขียนสนุกเลย เหมือนทุกคนรู้วิธีการสะท้อนตัวเอง รู้การสร้างพื้นที่ปลอดภัยของตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่เซอร์ไพร์สเราและทำให้เราชื่นชมพวกเขามาก

“ในขณะเดียวกัน เราว่ายังมีคนที่อาจจะไม่สบายใจกับการพูดเรื่องสุขภาพจิตอยู่ เรามองว่าอาจเป็นเพราะความเชื่อดั้งเดิมที่บอกว่า การมีปัญหาสุขภาพจิตส่งผลต่อกระทบทั้งต่อตัวเองและสังคม ยกตัวอย่าง ในใบสมัครงานของบางบริษัทยังมีการถามว่าเคยมีปัญหาสุขภาพจิตหรือเปล่า ซึ่งถ้าติ๊กว่ามีแล้วยังไงต่อ บริษัทจะไม่รับคนคนนี้เข้าทำงานเหรอ นี่เป็นแรงกดดันทางสังคมทางอ้อมที่เกิดจากความเชื่อดั้งเดิมนั้น ซึ่งเราว่ามันก็จะลดน้อยลงไปตามกาลเวลา อีกปัจจัยคือสื่อหลักทำให้ข่าวสุขภาพจิตเป็นเรื่องเชิงลบอยู่

“ในฐานะเจ้าของ Sad Bar เราอยากบอกว่าเราเคยเป็นเหมือนหลายคนที่เคยรู้สึกว่าความเศร้าไม่ดี เป็นเรื่องที่ไม่อยากเผชิญ อยากหนี แต่เหมือนกับทุกอย่างในชีวิตนั่นแหละ ถ้าเราหนีเราจะหนีไปเรื่อยๆ แล้ววันหนึ่งถ้าเราหนีมันไม่ได้ เราต้องกลับมาเจอมัน โห มันจะยิ่งรุนแรงกว่าเดิม

“ปัจจุบันเรามองความเศร้าและอารมณ์เชิงลบต่างๆ ว่าเป็นเพื่อนเรา แต่การมองเป็นเพื่อนได้มันต้องค่อยๆ เริ่มจากการเปลี่ยนความสัมพันธ์ที่มีต่อความรู้สึกนั้น เมื่อเขาปรากฎตัวขึ้นมา เราต้องถอยออกมาแล้วมองเขาว่าเพื่อนคนนี้มาอีกแล้ว แต่แม่งก็แบบนี้แหละ มาก่อกวนแป๊บเดียวเดี๋ยวแม่งก็ไป นายอยู่ตรงนั้น เราอยู่ตรงนี้ นี่คือการเปลี่ยนมุมมองความสัมพันธ์ที่มีต่อเขา 

“เราเรียนรู้เรื่องนี้มาจากการนั่งสมาธิตามแอปฯ ชื่อ Headspace เขาจะจัดมาให้เราเป็นแพ็กเกจให้เราได้ฝึกฝน มีช่วงหนึ่งที่เราต้องเผชิญกับความวิตกกังวลหนัก เราเลยเลือกฝึกกับแพ็คเกจ Anxiety ที่ต้องนั่งนาน 30 วัน จำได้เลยว่าคอร์สแรกสอนเราว่า สิ่งแรกที่ต้องทำคือเห็นความวิตกกังวลนั้นแล้วไม่ผลักมันออกไป แต่หาวิธีรับมือกับมันอย่างเข้าใจ คีย์อันหนึ่งคือการรู้ว่า ‘เราไม่ใช่ความคิดของเรา’ บางครั้งเราคิดอะไร รู้สึกอะไรแล้วชอบดึงเข้ามาหาตัวเองจนรู้สึกแย่กับตัวเอง แต่ถ้าเราเห็นว่าก้อนความรู้สึกทุกอย่างเหมือนทุกสิ่งในธรรมชาติ ไม่มีอะไรคงอยู่ถาวร เราอาจจะรับมือกับมันได้ดีขึ้น”

“ตั้งแต่เปิดบาร์มา มีคนเดินมาขอบคุณ มาขอเป็นอาสาสมัครเยอะมาก มีน้องคนหนึ่งมาช่วยงานแล้วบอกเราว่าอยากเรียนต่อคณะจิตวิทยา เขาก็ให้เขามาช่วยงานที่บาร์ คุยกับคน แล้วถ่ายวิดีโอเก็บพอร์ตโฟลิโอเพื่อยื่นเข้ามหาวิทยาลัยต่อ อีกไม่นานหลังจากนั้นเขาก็บอกว่าผมสอบติดแล้ว ขอบคุณพี่มาก หรือตอนที่ไปจัดที่ Bangkok Design Week ซึ่งเราร่วมงานกับทีมนักจิตวิทยาจาก Knowing Mind และ Studio Persona มีคนเดินมาแชร์ว่าเดิมทีเขาตั้งใจจะมีชีวิตอยู่ถึงช่วงอายุหนึ่ง แต่พอมีร่วมกิจกรรมกับเรา เขามีกำลังใจจะอยู่ต่ออีกสักห้าปี แค่นั้นเราน้ำตาไหลเลยเพราะเราได้ช่วยให้คนมีชีวิตอยู่ (เสียงสั่น) เรื่องพวกนี้เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้เราอยากเปิดบาร์ต่อไป

“การได้ทำ Sad Bar มีความหมายต่อตัวเราในแง่ที่ว่า บาร์แห่งนี้มันมีความหมายกับคนอื่น เราอยากใช้พื้นที่ตรงนี้สื่อสารเรื่องสุขภาพจิตให้คนทั่วไป อยากให้คนมีสะท้อนตัวเองผ่านบาร์ผ่านกิจกรรมต่างๆ อยากสร้างความเป็นอยู่ที่ดีในสังคม และถ้าเป็นไปได้เราก็อยากช่วยให้หลายคนได้มีความหวังในการใช้ชีวิตต่อ สุดท้ายสิ่งเหล่านี้มันก็ย้อนกลับมาเติมเต็มตัวเราให้มีกำลังใจใช้ชีวิตต่อ มีชีวิตต่อไปในวันที่มันอาจจะยากลำบาก”

What’s on the Menu?

มาคุยกับเจ้าของ Sad Bar ทั้งที เราจึงขอให้ไนล์ช่วยแนะนำเมนูซิกเนเจอร์ที่มาบาร์นี้แล้วห้ามพลาดเด็ดขาด

1. จินตกใจ (GIN PANIC!)

เมนูที่ได้แรงบันดาลใจมาจากอาการแพนิก (แหงสิ แค่ชื่อก็เดาออกแล้ว) ประกอบไปด้วยจินโทนิกและเลม่อน ที่ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มความหอมฟีลอโรม่า แต่ยังช่วยปรับความดันให้กลับมาคงที่

2. เจ็บแต่เก็บอาการ (HARD FEELINGS)

ใครกำลังมีเรื่องหนักอึ้งอยู่ในใจ งานโหด แฟนทิ้ง ทำสิ่งที่รักหล่นหาย ขอเชิญมาสลัดความรู้สึกแล้วเติมความสดชื่นด้วยดริงก์ที่มีส่วนผสมของน้ำยาอุทัยทิพย์ มะนาว และว็อดก้าแก้วนี้

3. INHALE EXHALE

เคยรู้สึกว่าควบคุมสิ่งต่างๆ รอบตัวไม่ได้ไหม ถ้าใช่ เราชวนมาลดความวิตกกังวลด้วยดริงก์ธีม ‘ลมหายใจ’ ที่มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ของน้ำแตงโม ผสมกับวิตามินบีในแตงกวาที่อาจช่วยเจรจาสงบศึกกับ Anxiety ชั่วคราวได้

Writer
Avatar photo
พัฒนา ค้าขาย

นักเขียนจากเชียงใหม่ผู้รักทะเลและฤดูหนาวพอๆ กับหนังสุขซึ้ง สนใจประเด็นเรื่องเพศ ความสัมพันธ์ และเรื่องป๊อปทุกแขนง

Photographer
Avatar photo
ฉัตรมงคล รักราช

ช่างภาพ และนักหัดเขียน

illustrator
Avatar photo
พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts

Related Posts