Let the Movies Retreat เยียวยาใจไปกับ 5 หนังที่จะเติมพลังในวันหยุดยาว

Let the Movies Retreat เยียวยาใจไปกับ 5 หนังที่จะเติมพลังในวันหยุดยาว

ไม่แน่ใจว่าในปี 2023 ผ่านอะไรกันมาบ้าง แต่สิ่งที่แน่ใจแน่ๆ คือคุณเก่งมากที่ผ่านสิ่งเหล่านั้นมาได้ และทุกคนสมควรจะได้พักอย่างเต็มที่นะ

ปลายปีแบบนี้ หลายคนอาจเลือก Retreat ตัวเองด้วยการหาหนังที่เป็น Comfort Movie ดูเพื่อชาร์จพลังสักเรื่องสองเรื่อง ชาว Mappian เองก็ไม่ต่างกัน 

หนังบางเรื่องช่วยเติมพลังบวกในวันเศร้าสร้อย  หนังบางเรื่องทำให้กลับมายืนยันกับตัวเองได้อีกครั้งว่า ‘เราดีพอสำหรับทุกอย่าง’ หนังบางเรื่องช่วยให้เราเจอคำตอบในความสัมพันธ์ ในขณะที่หนังบางเรื่องช่วยเติมไฟฝันและความหวังให้กลับมาลุกโชน

นี่คือหนัง 5 เรื่อง 5 หมวดที่เราคัดสรรมาแล้วว่าสามารถชุบชูใจแถมได้แง่คิดบางอย่าง ไม่ว่าคุณจะอิดโรยกับเรื่องการงาน การงาน ความสัมพันธ์ ความหวัง หรือความฝัน เราอยากชวนมา Retreat ด้วยกันผ่านลิสต์หนังดังต่อไปนี้

ที่มา: imdb.com

รีทรีตเพื่อปลุกไฟในการทำงาน

Devil Wears Prada

หน้าหนังอาจจะดูเกี่ยวกับวงการแฟชั่น แต่สำหรับคนที่ต้องพิสูจน์ตัวเองเพื่อการงาน Devil Wears Prada คือหนังน้ำดีที่เราดูเมื่อไหร่ก็ปลุกไฟได้เสมอ

หนังเล่าเรื่องราวของ Andrea Sachs สาวจบใหม่ผู้ใฝ่ฝันจะเป็นนักเขียนข่าวในวงการน้ำหมึก เธอมีรสนิยมด้านแฟชั่นกลางๆ ค่อนไปทางติดลบ แต่วันหนึ่งก็ถูกเรียกตัวให้ไปเป็นผู้ช่วยของ Miranda Priestley บรรณาธิการของ Runway นิตยสารเบอร์ต้นๆ ของวงการแฟชั่นอเมริกา ท่ามกลางความงุนงงของผองเพื่อนและคนทำงานที่นั่น 

แอนเดรียเกือบจะไม่ได้งานอยู่แล้วเชียว  (ใช่ เพราะเธอมีรสนิยมด้านแฟชั่นกลางๆ ค่อนไปทางติดลบ) แต่มิแรนด้าเหมือนมองเห็นประกายบางอย่างในตัวนาง จึงจ้างให้มาเป็นผู้ช่วยอันดับ 2 นั่นพาให้แอนเดรียเข้าสู่วงการแฟชั่นด้วยการนับหนึ่งใหม่ ได้เรียนรู้การทำงานกับนางมารที่ทุกคนเชิดชู รู้จักผู้คนที่เปลี่ยนแปลงตัวเธอไปเป็นอีกคน และได้บทเรียนราคาแพงท่ามกลางเสียง ‘คลิกๆๆ’ ของรองเท้าส้นสูง

ที่มา: lithub.com

การได้เห็นตัวละครป้ำๆ เป๋อๆ ได้ไต่เต้าตัวเองจนเก่งในเรื่องหนึ่งคือความบันเทิงจาก Devil Wears Prada ที่หยิบมาดูเมื่อไหร่ก็ไม่เคยเบื่อ แถมยังเป็นแรงบันดาลใจในวันที่เหนื่อยล้าจากการงาน ทำให้เราอยากลุกขึ้นมาทำงานให้เก่งแบบแอนเดรียบ้าง

ทว่านอกเหนือจากนั้น หนังเรื่องนี้สะท้อนเรื่องความหาสมดุลระหว่างการงานกับชีวิตด้านอื่นได้เป็นอย่างดี Devil Wears Parada ทำให้เราตกตะกอนว่าสุดท้ายแล้วงานก็คืองาน ตัวเราก็คือตัวเรา แม้ว่าบางครั้งจะดูเหมือนเราแยกขาดออกจากมันไม่ได้ แต่เชื่อเถอะว่ามันสามารถแยกขาดออกจากกันอย่างชัดเจนได้ และสิ่งอื่นๆ ในชีวิตก็สำคัญไม่แพ้การงานเลย

เติมไฟในการงานได้อีกจาก The Intern (2015), Up in the Air (2009)

ที่มา: rottentomatoes.com

รีทรีตเพื่อหาแพสชั่นในการหาเงิน

Joy (2015)

หนังดราม่าธุรกิจที่นำแสดงโดย Jennifer Lawrence และกำกับโดย David O. Russell ผู้กำกับที่เคยพาเจนนิเฟอร์ไปชิงรางวัลนำหญิงยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ได้สำเร็จ เท่านี้ก็การันตีความน่าดูได้มากโข

แต่มากกว่าพลังของดารานำและผู้กำกับ Joy ยังเล่าเรื่องราวชีวิตและการงานของนักธุรกิจหญิงได้อย่างเข้มข้นและน่าเอาใจช่วย  หนังสร้างมาจากเรื่องจริงของ Joy Mangano ผู้ก่อตั้งแบรนด์ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด Clean Boss ที่ประสบความสำเร็จในอเมริกา โดยคนดูจะได้เห็นตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่จอยยังเป็นแม่บ้านลูกติด วันที่เธอเกิดปิ๊งไอเดียทำธุรกิจ ช่วงที่เธอต้องต่อสู้เพื่อมัน ไปจนถึงจุดที่เธอเป็นนักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จ

ที่มา: rogersmovienation.com

ในโลกของการทำงาน มีปัญหามากมายที่ดาหน้าเข้ามาหาเราไม่เว้นวัน บางครั้งกว่าจะหาเงินได้สักสตางค์ก็ต้องเหนื่อยสายตัวแทบขาด การได้ดูหนังแบบ Joy แล้วได้เห็นว่าเธอต่อสู้เพื่อเป้าหมายของตัวเองหนักแค่ไหน อาจเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ทำให้เราสลัดอาการเบิร์นเอาท์ออกไปได้ “Don’t ever think that the world owes you anything, because it doesn’t. The world doesn’t owe you a thing. (อย่าคิดว่าโลกติดหนี้อะไรคุณ เพราะโลกไม่ได้เป็นอย่างนั้น)” ประโยคหนึ่งจากหนังสะท้อนแนวคิด self-made ที่สร้างตัวให้เธอประสบความสำเร็จได้ดี

เติมแพสชั่นในการหาเงินได้อีกจากเรื่อง วัยรุ่นพันล้าน (2554), Self Made (2020)

ที่มา: imdb.com

รีทรีตเพื่อเข้าใจความสัมพันธ์

Love Reset (2023) 

ท่ามกลางหนังโรแมนติกมากมายที่จุดประกายให้เราอยากตกหลุมรักใครสักคน Love Reset คือหนังรักเรื่องล่าสุดที่เราดู และไม่อายเลยถ้าจะต้องหยิบมาแนะนำ

หนัง Rom-Com สัญชาติเกาหลีเรื่องนี้อาจไม่ได้หวานซึ้งเหมือนหนังรักในดวงใจคุณ อันที่จริงออกจะโหด มันส์ ฮา และเล่าแง่ไม่งามของความรักเสียมากกว่า Love Reset เป็นเรื่องราวของคู่สามีภรรยาที่พบว่าชีวิตหลังแต่งงานคือฝันร้าย หลังจากก่อสงครามทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทั้งคู่ก็ตัดสินใจฟ้องหย่ากัน แต่ดันเกิดอุบัติเหตุจนความจำเสื่อมทั้งคู่เสียก่อน 

        จากคนที่เกลียดขี้หน้ากันจนไม่อยากจะเห็น ทั้งคู่กลายเป็นคนแปลกหน้าของกันและกันในชั่วพริบตา และต้องมาอยู่ร่วมชายคาเดียวกันเพื่อกอบกู้ความทรงจำที่เสื่อมไปชั่วคราวให้กลับมา เพื่อที่จะดำเนินการหย่าให้สำเร็จ

ที่มา: sanook.com

        เล่าเท่านี้ก็คงเข้าใจว่า ทำไมเราจึงอยากแนะนำหนังเรื่องนี้ให้คนที่หมดหวังในความรักดู เพราะคู่สามีภรรยาใน Love Reset ตกอยู่ในที่นั่งเดียวกัน เธอและเขาไม่เชื่อ ไม่ศรัทธา และไม่เห็นค่าความรักอีกแล้ว จนกระทั่งอุบัติเหตุที่เป็นเหมือนโอกาสครั้งใหม่ ทำให้พระนางได้สำรวจใจตัวเองว่าอะไรกันที่ทำให้เราตกหลุมรักคนคนหนึ่งตั้งแต่แรก

         แน่นอนว่า Love Reset มอบทั้งเสียงหัวเราะและคราบน้ำตา (แม้ส่วนใหญ่เป็นน้ำตาจากการขำซะมากกว่า) แต่มากกว่านั้น หนังทำให้เรารู้ว่า ความรักอาจเป็นจุดเริ่มต้น แต่มันไม่ใช่สิ่งเดียวที่พยุงให้ความสัมพันธ์ไปได้ดี มันต้องใช้ความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าใจ ความอดทน การสื่อสาร และความเชื่อมั่นในตัวอีกฝ่ายอย่างมากมายมหาศาล ท้อกับความรักได้ แต่อย่าสิ้นหวังในกันและกัน หนังเรื่องนี้บอกเราอย่างนั้น

เข้าใจความสัมพันธ์มากขึ้นได้อีกจากเรื่อง 500 Days of Summer (2009), The Lobster (2015)

ที่มา: imdb.com

รีทรีตเพื่อกอบกู้ความหวัง

Lion (2016) 

หนังสร้างจากเรื่องจริงอีกเรื่องที่อยากหยิบมาแนะนำ Lion ดัดแปลงจากหนังสือเรื่อง A Long Way Home ชีวประวัติของ Saroo Brierley ชายหนุ่มที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเด็กชายวัย 5 ขวบ ผู้เผลอหลับบนรถไฟจนทำให้พลัดหลงกับครอบครัว เขากลายเป็นเด็กเร่ร่อนอยู่พักใหญ่ ก่อนจะถูกอุปการะโดยคู่สามีภรรยาชาวออสเตรเลีย ชุบเลี้ยงให้เขากลายเป็นคนใหม่ แต่เมื่อเติบโตขึ้นมา ภาพเหตุการณ์และความคิดถึงครอบครัวเก่ายังคงหลอกหลอน ทำให้ซารูตัดสินใจออกเดินทางตามหาครอบครัวที่แท้จริงของตัวเอง โดยมีเทคโนโลยี Google Earth ช่วยเหลือ

Lion เข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปีที่ออกฉาย พ่วงด้วยสาขานักแสดงสมทบชาย (Dev Patel) และนักแสดงสมทบหญิง (Nicole Kidman) แม้จะไม่ได้รางวัลใดๆ ติดมือกลับมา แต่หนังถูกรักโดยนักวิจารณ์และคนดูเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะเล่าเรื่องราวได้อย่างเข้มข้นน่าติดตาม มันยังถ่ายทอดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเด็กๆ กับพ่อแม่ผู้อุปการะได้อย่างงอบอุ่นใจ และทำให้หลายคนตั้งคำถามกับนิยามของคำว่า ‘ครอบครัวที่แท้จริง’ ของตัวเอง

ที่มา: pluggedin.com

แต่ถึงที่สุด Lion เล่าเรื่องความหวัง การได้เห็นชายหนุ่มคนหนึ่งที่เดินทางเป็นพันๆ กิโล ด้วยความหวังริบหรี่ที่คล้ายจะมอดดับไปบางช่วง หากก็สุกสกาวขึ้นใหม่ในภายหลัง คล้ายช่วยส่งต่อความหวังมาให้คนดูอย่างเราได้เช่นกัน

ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับความผิดหวังบ่อยแค่ไหน อย่าได้สูญเสียแสงแห่งความหวังเลย

กอบกู้ความหวังได้อีกจากหนังเรื่อง The Shawshank Redemption (1994), The Pursuit of Happiness (2006)

ที่มา: imdb.com

รีทรีตเพื่อเดินตามความฝัน

Up (2009) 

“เมื่อโตมาถึงจุดหนึ่งจะเริ่มเข้าใจ ว่าความฝันมีวันหมดอายุ” ใครคนหนึ่งเคยบอกเราอย่างนั้น

แต่ Up อนิเมชั่นจากค่ายการ์ตูนคุณภาพ Pixar คล้ายจะบอกเราว่า “ก็ไม่เสมอไป ความฝันบางอันมีอายุยืนยาวนาน พอจะให้เราเดินตามได้เมื่อเราพร้อม”

Up เล่าเรื่องของ Carl ชายชราอายุ 78 ปีผู้เคยเป็นคนขายลูกโป่ง เขากับภรรยาซึ่งเป็นรักแรกเคยฝันไว้ว่าวันหนึ่งจะเดินทางไปยังป่าในทวีปแอฟริกาใต้ด้วยกัน แต่ภรรยาก็ดันมาเสียชีวิตลงเสียก่อน 

คาร์ลไม่หยุดฝัน เขาเก็บเงินสร้าง ‘บ้านลูกโป่ง’ ที่จะพาเขาเดินทางไปยังสถานที่ในฝันได้สำเร็จ แต่ในวันเดินทางนั้นเอง เขากลับพบว่า Russell เด็กชายในชุดลูกเสือตัวจิ๋วติดสอยห้อยตามมาด้วย

ที่มา: rottentomatoes.com

ตามประสาการ์ตูนพิกซาร์ที่ดูเอาบันเทิงก็ได้ ดูแบบ Deep ก็ดี การ์ตูนสีลูกกวาดเรื่องนี้เต็มไปด้วยโมเมนต์ที่ทำให้เราหัวเราะร่าและน้ำตาซึม พ้นไปจากการสื่อสารว่าความฝันไม่มีวันหมดอายุ (ถ้าเราไม่ปล่อยให้มันหมดอายุเสียก่อน) หนังยังย้ำเตือนกับเราถึงเด็กน้อยคนที่ยังอาศัยอยู่ในตัวเราทุกคน ซึ่งบางทีด้วยภาระ หน้าที่การงาน และเรื่องต่างๆ ของชีวิตที่ประดังประเดเข้ามา เราอาจหลงลืมเด็กคนที่เคยตื่นเต้นกับเรื่องง่ายๆ ชอบฝันใหญ่ และมีหัวใจรักการผจญภัยคนนั้นไป

เด็กช่างฝันคนนั้นยังอยู่ในใจ ถ้าพร้อมเมื่อไหร่ก็เคาะประตูเรียกเขาให้ออกมาได้ทุกเมื่อ

ปลุกพลังในการเดินตามความฝันได้อีกจากหนังเรื่อง The Fabelmans (2022), The Secret Life of Walter Mitty (2013)

Writer
Avatar photo
พัฒนา ค้าขาย

นักเขียนจากเชียงใหม่ผู้รักทะเลและฤดูหนาวพอๆ กับหนังสุขซึ้ง สนใจประเด็นเรื่องเพศ ความสัมพันธ์ และเรื่องป๊อปทุกแขนง

illustrator
Avatar photo
สิริกร พรอนงค์

ดีไซน์เนอร์, นักวาด และอาร์ตไดมือใหม่ที่ชอบไปทะเล

Related Posts

Related Posts