เราหลบฝนด้วยกันได้ ใต้ร่มความแตกต่าง ชวนอ่าน ‘เม่นหลบฝน’ หนังสือภาพมีหัวใจแม้ไร้ตัวอักษร

เราหลบฝนด้วยกันได้ ใต้ร่มความแตกต่าง ชวนอ่าน ‘เม่นหลบฝน’ หนังสือภาพมีหัวใจแม้ไร้ตัวอักษร

เคยอ่านหนังสือโดยที่ไม่มีตัวหนังสือไหม? 

หนังสือสักเล่มที่ไม่ต้องมีตัวอักษรแม้แต่ตัวเดียว แต่เรื่องราวทั้งหมดสามารถปรากฏในหัวใจและเข้าไปสร้างความเข้าใจแบบต่างๆ ให้กับเราได้ผ่านภาพที่ปรากฏให้เราได้ ‘อ่าน’ 

หนังสือภาพเล่มกะทัดรัดในชื่อเรื่องว่า ‘เม่นหลบฝน’ เรื่องและภาพโดย ปรีดา ปัญญาจันทร์ เป็นอีกเล่มที่เล่าเรื่องได้เช่นนั้น เพราะนอกเหนือจากชื่อเรื่องแล้วเราก็ไม่ได้เห็นตัวอักษรหรือข้อความใดอีกเลย แต่ตลอดทั้งการดำเนินเรื่องด้วยภาพ เมื่อเรา ‘อ่าน’ จนถึงหน้าสุดท้าย หนังสือเล่มนี้กลับทำให้เราเผลอยิ้ม หัวเราะ หรืออุทานออกมาได้ว่า ‘น่ารักจัง’ ไปจนถึงตีความเรื่องราวต่างๆ ที่เล่าอย่างเรียบเรื่อยด้วยภาพเรียบง่ายออกมาได้อย่างมีความหมาย เกิดจินตนาการและความคิดบางอย่างที่ตกตะกอนออกมาจากการพลิกไปทีละหน้า ทำให้เข้าใจเรื่องราวได้อย่างหมดจดในแบบของตัวเอง โดยไม่ต้องมีคำบรรยายยาวเหยียดแต่อย่างใด

 
‘เม่นหลบฝน’ จึงเป็นหนังสือภาพอีกเล่มที่น่าทึ่งสำหรับฉัน จนอยากจะหยิบยกบางแง่มุมที่มองเห็นมาแบ่งปันและเล่าให้ผู้อ่านของ Mappa ที่อาจจะเคยอ่าน เคยพบเห็น หรือไม่เคยอ่านเล่มนี้มาก่อนเลยได้ฟังและแลกเปลี่ยน พร้อมวิ่งไปหลบฝนกับเจ้าเม่นน้อยและเพื่อนๆ ของเขาด้วยกัน!

หนังสือภาพเล่มนี้เริ่มต้นขึ้นที่ภาพของพื้นที่โล่งกว้างที่มีต้นไม้ใหญ่เพียงต้นเดียว ซึ่งในขณะนั้นฝนกำลังตกลงมาอย่างหนัก ฉากที่ว่านี้กลายเป็นฉากหลังตลอดการดำเนินเรื่องไปจนจบ แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปในแต่ละหน้าคือ ‘สัตว์แต่ละตัว’ ต่างชนิด ต่างสายพันธุ์ และมีลักษณะที่แตกต่างกันได้วิ่งมาหลบฝนใต้ต้นไม้ใหญ่ ทีละตัว ทีละตัว เริ่มต้นจากกระต่ายน้อย เจ้าลิง หมาป่า กวาง หมี เสือ สิงโต ช้าง จนทำให้พื้นที่ใต้ร่มไม้เริ่มน้อยลงเรื่อยๆ แต่สัตว์ทุกตัวก็พยายามกระชับชิดในพื้นที่แบบต่างๆ และขยับให้สามารถนั่งด้วยกันได้ จนกระทั่งสัตว์ตัวสุดท้ายคือ เจ้าเม่น ที่วิ่งเข้ามาอยากจะหลบฝนด้วย โดยการมาของเม่นทำให้สัตว์ทุกตัวต่างก็ตกใจ เพราะเม่นมีขนแหลมทั้งตัว อีกทั้งพื้นที่ใต้ร่มไม้ยังเหลือน้อยมาก สัตว์ทุกตัวจึงกลัวว่าขนของเม่นจะทิ่มแทงเอา เรื่องราวในการตัดสินใจและการออกแบบพื้นที่ใหม่ให้เจ้าเม่นได้เข้ามาอยู่ร่วมกันจึงเกิดขึ้นโดยการที่สัตว์ทุกตัวขยับพื้นที่ สัตว์ตัวเล็กๆ ขึ้นไปอยู่บนหลังช้าง และใช้พื้นที่ใต้ท้องช้างซึ่งมีลักษณะโล่งกว้างเป็นพื้นที่สำหรับให้เจ้าเม่นอยู่นั่นเอง

เมื่อพลิกอ่านภาพในแต่ละหน้า นอกจากเรื่องราวที่เราจะได้เห็นแล้ว ลึกลงไปหนังสือภาพเรื่องนี้ก็ชวนให้คิดไปได้หลากด้าน ทั้งเรื่องของการนับจำนวน การแบ่งปัน การปรับตัว และอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจจากหนังสือภาพเล่มนี้คือเรื่องของพื้นที่แห่ง ‘ความแตกต่างหลากหลาย’ ที่สื่อสารได้อย่างลึกซึ้งและแนบเนียน 

การออกแบบพื้นที่ร่วมกัน

หากมองต้นไม้ใหญ่ที่ยืนต้นอยู่เป็นพื้นที่ปลอดภัย หรือพื้นที่การเรียนรู้เติบโตในสังคมหนึ่งๆ เราจะเห็นการออกแบบพื้นที่ร่วมกันของเหล่าสัตว์ชนิดต่างๆ ที่มีตัวตนแตกต่างกัน การเข้ามาหลบฝนทีละตัว การขยับและใช้พื้นที่ให้เหมาะกับตัวตนของตัวเอง และการที่เพื่อนๆ พยายามหมุน ขยับ กระโดด และถอย เพื่อให้อีกตัวเข้ามาอยู่ได้ ทำให้เราเห็นความหมายและความสำคัญของการมีส่วนร่วมในการออกแบบพื้นที่ ซึ่งทำให้ทุกชีวิตล้วนเป็นเจ้าของพื้นที่นั้นได้

แม้ว่าไม่ใช่สัตว์ตัวที่ใหญ่ที่สุด ดุร้ายที่สุด หรือวิ่งเร็วที่สุด ก็สามารถเข้าถึงและมีที่หยัดยืนในพื้นที่นั้นได้ แม้แต่เม่นเองที่ตอนแรกสัตว์ชนิดต่างๆ ตกใจกลัวว่าขนของเขาจะมาทำสร้างบาดแผล แต่ท้ายที่สุดการเชื่อว่าพื้นที่ตรงนั้นออกแบบเพื่ออยู่ร่วมกันได้ก็ทำให้เจ้าเม่นได้หลบฝนไปกับเพื่อนๆ โดยขนไม่ไปทิ่มแทงสัตว์ตัวอื่นๆพื้นที่ที่เห็นว่าทุกคนมีความหมายจึงสำคัญมาก

เรียนรู้และมองเห็น ‘ตัวตน’ ของเพื่อน

นอกจากการออกแบบพื้นที่ ภาพที่เล่าในหนังสือเล่มนี้ ยังชวนให้เห็นถึง ‘ตัวตน’ ที่หลากหลายของสัตว์ต่างชนิด และมากไปกว่านั้นการจะออกแบบพื้นที่ให้เพื่อนที่ต่างจากเราอย่างสิ้นเชิงมาอยู่ร่วมกันได้ก็ต้องอาศัยการมองเห็นและสังเกตตัวตนของกันและกันอย่างดี เช่น ช้างที่มีร่างกายแบบนี้จะยืนอยู่อย่างไรให้พื้นที่ของลิงและกระต่ายไม่หายไป ลิงมีความสามารถในการปีนป่ายอาจเกาะเกี่ยวอยู่กับต้นไม้ได้หรือไม่เม่นที่ตัวเล็กแต่มีหนามแหลมคมจะทำอย่างไรไม่ให้หนามของเม่นเป็นอันตราย  

ดังนั้นแล้วการจะออกแบบพื้นที่ปลอดภัยร่วมกันจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมองเห็น ‘คนอื่น’ ที่แตกต่างไม่ใช่มองเห็นเพียงลักษณะหรือตัวตนของตัวเอง ซึ่งสังคมที่ให้พื้นที่ต่อชีวิต ตัวตน วัฒนธรรม และการเติบโตที่แตกต่างหลากหลายจึงเป็นสังคมที่เรารู้สึกปลอดภัยและมีตัวตน เหมือนกับบรรดาสัตว์ที่อยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่ในหนังสือภาพเล่มนี้

ภาพที่ฝันใฝ่ คือ สังคมที่ไม่มีใครต้องเปียกฝนเพียงลำพัง

ในท้ายที่สุดแล้ว ‘เม่นหลบฝน’ ทำให้เราเห็นว่าเมื่อเรามีพื้นที่สังคมที่ถูกออกแบบโดยนึกถึงคนหลากหลายและมีความเชื่อร่วมกันว่า ในสังคมหนึ่งมีคนที่เหมือนและแตกต่างจากเรา ซึ่งล้วนมีคุณค่าในตัวเองทั้งสิ้น เราก็จะไม่กลัวหากจะต้องออกแบบพื้นที่เช่นดังเหล่าสรรพสัตว์ในหนังสือเรื่องนี้ที่ไม่มีใครต้องรู้สึกตัวเล็กจ้อยแม้จะมีขนาดตัวที่เล็กจ้อย และไม่มีใครสมควรที่จะถูกทิ้งให้ยืนเปียกฝนเพียงลำพัง

Writer
Avatar photo
ศิรินญา

หาทำอะไรไปเรื่อยๆ ตามประสาวัยลุ้น

illustrator
Avatar photo
สิริกร พรอนงค์

ดีไซน์เนอร์, นักวาด และอาร์ตไดมือใหม่ที่ชอบไปทะเล

Related Posts

Related Posts