ขอบคุณที่เป็นพื้นที่ให้เล่าเรื่องนี้ให้ฟัง 3 ฉาก Come Out ในหนังและซีรีส์ขวัญใจชาวเพศหลากหลาย

ขอบคุณที่เป็นพื้นที่ให้เล่าเรื่องนี้ให้ฟัง 3 ฉาก Come Out ในหนังและซีรีส์ขวัญใจชาวเพศหลากหลาย

ในโลกที่สังคมเฉลิมฉลองเดือนไพร์ดกันทุกปี สื่อบันเทิงมากมายมีตัวละครที่เป็นเพศหลากหลายทั้งในบทนำและบทรอง หนังและซีรีส์หลายเรื่องเล่าประเด็นเรื่องเพศกันอย่างลึกซึ้งและไปไกล หลายคนตั้งคำถามว่าเราจำเป็นที่จะต้องพูดถึงการเปิดเผยตัวตนหรือ Come Out ผ่านสื่อกันอีกหรือ 

สำหรับเรา แม้จะได้เห็นความหลากหลายถูกเฉลิมฉลองอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันทั้งในจอแก้วและจอเงิน คำตอบของคำถามนั้นคือใช่ เพราะในโลกความเป็นจริง ยังมีเด็กๆ อีกหลายคนที่ถูกจำกัดกรอบความเป็นตัวเองด้วยค่านิยมเก่าแก่ ยังมีเด็กอีกหลายคนที่พ่อแม่ชี้นำว่าไม่ควรทำตัวแบบตัวละครในสื่อ และมีเด็กอีกหลายคนที่เชื่อว่าสิ่งที่พวกเขาเป็นนั้นคือเรื่องผิดพลาด น่าอับอาย และอย่าได้ปริปากบอกใคร

คอลัมน์คิด-ดู ครั้งนี้ เราอยากชวนมาดูหนังและซีรีส์หลากรสชาติที่สอดแทรกฉาก Come Out ของชาว LGBTQ+ ได้อย่างอบอุ่นและซื่อตรง เพื่อตอกย้ำว่าการเป็นตัวของตัวเองนั้นไม่เคยเป็นเรื่องผิด และควรถูกเฉลิมฉลองพร้อมกับคนที่เห็นค่าของเรา

Heartstopper

ในยุคที่เราพยายามโอบรับความหลากหลาย สร้างภาพแทนใหม่ๆ ให้คนทุกแบบ มีหนังและสื่อบันเทิงมากมายที่ใส่ฉากเปิดตัว (Come Out) กับพ่อแม่ของวัยรุ่นคนหนึ่ง และแต่ละเรื่องก็ตีแผ่ทั้งด้านดีและไม่ดีของการ Come Out แตกต่างกันไป 

แต่หากจะให้ยกตัวอย่างเรื่องที่มีฉาก Come Out ที่แสนจะอบอุ่นใจ เราขอยกให้ Heartstopper

Heartstopper คือซีรีส์วัยรุ่นแนว Coming Of Age ฟีลกู๊ด สร้างจากคอมมิคขายดีของ Alice Oseman นักเขียนนักวาดชาวอังกฤษ ถ่ายทอดเรื่องราวของ ‘นิก’ และ ‘ชาร์ลี’ เด็กไฮสคูล 2 คน ที่อยู่ในช่วงค้นหาตัวเอง นิกเป็นเด็กหนุ่มจากชมรมรักบี้ที่เคยคบผู้หญิงมาก่อน เขาไม่เคยคิดว่าจะตกหลุมรักผู้ชายได้ จนได้มาสนิทกับชาร์ลี ผู้ซึ่งเป็นเกย์แบบเปิดเผยคนเดียวในโรงเรียน

Heartstopper เต็มไปด้วยฉากน่ารักเยียวยาใจ ที่ทำให้เราเอาใจช่วยในความสัมพันธ์ของนิกกับชาร์ลี ในขณะเดียวกันก็เชียร์ให้พวกเขาได้เบ่งบานกับการเป็นตัวของตัวเอง หนึ่งในฉากที่ทัชใจคนดูอย่างเราได้เป็นพิเศษคือตอนที่นิกเปิดตัวกับแม่ในอีพีสุดท้ายของซีซั่น 1 ว่าชาร์ลีเป็นแฟนเขา และเขาชอบได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง แม่ได้ยินดังนั้นก็เข้ามากอดเขาทันที และขอโทษกับเขาที่ก่อนหน้านี้ทำให้เขารู้สึกว่าบอกเรื่องเหล่านี้กับเธอไม่ได้

ถึงจะเป็นซีนสั้นๆ แต่จับใจคนดูที่เป็น LGBTQ+ อย่างยิ่ง เพราะในโลกที่มีคนบางกลุ่มพยายามต่อต้านตัวตน ลิดรอนสิทธิของเราอยู่เสมอ สิ่งที่ลูกๆ ต้องการมากที่สุดอาจไม่มีอะไรไปมากกว่าคนในครอบครัวที่สามารถเป็นพื้นที่ปลอดภัย

Tales of The City

Armistead Maupin’s Tales of The City คือซีรีส์ลับๆ ใน Netflix ที่อาจไม่ค่อยมีคนรู้จักมากนัก แต่เป็นซีรีส์ที่สะท้อนเฉดสีสเปกตรัมของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศได้มากที่สุดเรื่องหนึ่ง

ซีรีส์เรื่องนี้ดัดแปลงจากหนังสือของ Armistead Maupin และเคยถูกสร้างเป็นซีรีส์แล้วตั้งแต่ปี 1993 รวมถึงมีภาคต่อออกมาหลายชุด แต่เวอร์ชันของเน็ตฟลิกซ์นั้น เล่าเรื่องราวของแมรี่แอนน์ ผู้หญิงคนหนึ่งที่เดินทางกลับมาที่ 28 Barbary Lane ในซานฟรานซิสโกเพื่อเฉลิมฉลองวันเกิดอายุ 90 ปีของแอนนา ผู้ให้เช่าบ้านคนเก่า ก่อนจะพบกับเรื่องอีนุงตุงนังของอดีตสามีและลูกสาว รวมถึงคนในชุมชนคนอื่นๆ ที่ล้วนมีความลับและเรื่องน่าปวดหัวให้ต้องแก้ไข

มากกว่าปมปัญหายุบยับของตัวละครหลัก Tales of The City เป็นซีรีส์ที่พาเราไปสำรวจเขตแดนทางเพศไปพร้อมหลายๆ ตัวละครในเรื่อง อย่างตัวละคร ‘เจค’ ชายข้ามเพศที่เคยคบกับแฟนสาวเลสเบี้ยน ก็เพิ่งมาค้นพบว่าจากที่เคยชอบผู้หญิงมาตลอด วันหนึ่งตัวเองชอบผู้ชายเข้าให้แล้ว และอยากลองสำรวจความชอบใหม่ของตัวเองบ้าง  ทำให้เห็นว่าอัตลักษณ์และรสนิยมทางเพศนั้นลื่นไหลได้เสมอ  

Bohorse Jackman

แม้ปัจจุบันหนังและซีรีส์หลายเรื่องพยายามใส่ประเด็นเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศลงไป ผ่านตัวละคร แต่เรามักได้เห็นตัวละคร LGBTQ+ ที่เป็นเกย์ เลสเบี้ยน ไบเซ็กช่วล ทรานส์เจนเดอร์ และเควียร์กันเสียส่วนใหญ่ แต่ตัวอักษรอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือจากนั้น เรามักจะเห็นวับๆ แวมๆ ในหนังหรือซีรีส์แค่บางเรื่อง

Bohorse Jackman คือหนึ่งในนั้น ถึงฉากหน้าจะเป็นซีรีส์แอนิเมชัน แต่นี่ไม่ใช่การ์ตูนสำหรับเด็กเสียทีเดียว มันเล่าเรื่องราวชีวิตอันเข้มข้นของผู้ใหญ่ในโลกที่มนุษย์และสัตว์ท่าทางเหมือนมนุษย์อยู่ร่วมกันได้ โดยโฟกัสไปที่ โบแจ๊ค ฮอร์สแมน นักแสดงซึ่งเคยมีชื่อเสียงในอดีต และพยายามจะกลับมาดังอีกครั้งด้วยการออกหนังสือชีวประวัติ แน่นอนว่าโลกของ Bohorse Jackman นั้นเต็มไปด้วยความหลากหลายตั้งแต่สายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตไปจนถึงเพศ อย่างตัวละคร Todd Chavez เพื่อนคนหนึ่งของโบแจ๊คก็มีฉาก Come Out ตอนกลางเรื่องที่บอกว่าตัวเองเป็น Asexual ผู้ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศ หรือผู้ไม่ปรารถนาจะมีสัมพันธ์ทางกาย

ความน่าสนใจคือตัวละครท็อดด์นั้นคือมนุษย์คนหนึ่ง ที่ดูจากภายนอกแล้วก็เป็นผู้ชายธรรมดาผู้เก็บซ่อนอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองเอาไว้ เขาไม่เปิดเผยจนกว่าจะเจอจังหวะที่ใช่ และคนที่ไว้ใจที่จะเล่าให้ฟังได้จริงๆ นั่นคือโบแจ็กนั่นเอง 

แน่นอนล่ะว่าการเลือกจะ Come Out หรือไม่ Come Out นั้นเป็นสิทธิของแต่ละคน และทุกคนมีปัจจัยที่ทำให้ Come Out หรือไม่ Come Out แตกต่างกันไป ถึงอย่างนั้น การมีผู้สนับสนุนที่รับฟังเราอย่างจริงใจ ไม่ตัดสินนั้นก็เป็นเรื่องที่ดีกว่าไม่ใช่หรือ

Writer
Avatar photo
พัฒนา ค้าขาย

นักเขียนจากเชียงใหม่ผู้รักทะเลและฤดูหนาวพอๆ กับหนังสุขซึ้ง สนใจประเด็นเรื่องเพศ ความสัมพันธ์ และเรื่องป๊อปทุกแขนง

Related Posts

Related Posts