Co-Creating Next Generation การออกแบบนโยบายเพื่อดูแลทุกปัจจัยในระบบนิเวศการเติบโตของเด็ก กับ ณัฐยา บุญภักดี

Co-Creating Next Generation การออกแบบนโยบายเพื่อดูแลทุกปัจจัยในระบบนิเวศการเติบโตของเด็ก กับ ณัฐยา บุญภักดี

  • การเติบโตของเด็กคนหนึ่งก็เหมือนกับการปลูกดอกไม้ที่ต้องอาศัยปัจจัยมากมายในระบบนิเวศ และถ้าดอกไม้ไม่บาน เราไม่แก้ดอกไม้ เราแก้สภาพแวดล้อม 
  • Co-Creating Next Generation จึงเป็นหมุดหมายต่อไปในการสื่อสารของ Mappa เพราะเราเชื่อว่า การเติบโตของ ‘คนยุคถัดไป’ ต้องอาศัยตัวแปรมากมายไม่ว่าจะเป็นครอบครัว โรงเรียน เพื่อน ชุมชน third space และปัจจัยอื่น ๆ ที่เป็นนิเวศรอบตัวพวกเขา ซึ่งเราทุกคนต่างก็มีส่วนร่วมในการสร้างนิเวศนั้น 
  • Mappa จึงมาพูดคุยกับ คุณผึ้ง – ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว (สำนัก 4) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ถึงสถานการณ์ระบบนิเวศการเติบโตของเด็กในไทย และการออกแบบนโยบายแบบ policy package หรือแพ็กเกจนโยบาย ที่ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาตัวเด็กเพียงอย่างเดียว แต่ยังดูแลทุกปัจจัยในระบบนิเวศการเติบโตของเด็กไปพร้อม ๆ กัน 

“ถ้าดอกไม้ไม่บาน เราไม่แก้ดอกไม้ เราแก้สภาพแวดล้อม” คือประโยคที่กล่าวโดยอเล็กซานเดอร์ เดน ไฮเจอร์ นักพูดสร้างแรงบันดาลใจที่ Mappa มักหยิบยกมาเทียบเคียงกับการเลี้ยงเด็กคนหนึ่งให้เติบโตมาอย่างมีคุณภาพ

Co-Creating Next Generation จึงเป็นหมุดหมายต่อไปในการสื่อสารของ Mappa เพราะเราเชื่อว่าการเติบโตของ ‘คนยุคถัดไป’ ต้องอาศัยตัวแปรมากมายไม่ว่าจะเป็นครอบครัว โรงเรียน เพื่อน ชุมชน third space และปัจจัยอื่น ๆ ที่เป็นนิเวศรอบตัวพวกเขา ซึ่งเราทุกคนต่างก็มีส่วนร่วมในการสร้างนิเวศที่เราต่างใฝ่ฝันให้กับพวกเขา

เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ทาง Mappa ร่วมกับ Doc Club จัดกิจกรรมชวนดูภาพยนตร์สารคดีจากญี่ปุ่นเรื่อง Kids Konference และตั้งวงคุยหลังหนังจบ โดยมีคุณผึ้ง – ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว (สำนัก 4) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นหนึ่งในวิทยากรชวนพูดคุยในวันนั้น

ในวงสนทนา คุณผึ้งเอ่ยถึง Policy Package หรือแพ็กเกจนโยบายเด็กปฐมวัยของญี่ปุ่นที่ไม่ได้มุ่งเพียงการพัฒนาตัวเด็ก แต่ให้ความใส่ใจกับนโยบายที่พัฒนาระบบนิเวศรอบตัวเด็กไปพร้อม ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นการดูแลพื้นที่เรียนรู้ ศูนย์เด็กเล็ก สวัสดิการสำหรับคู่รัก หรือพ่อแม่ และนั่นอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เราเห็นสารคดีซึ่งสะท้อนคุณภาพชีวิตที่ดีของเด็กมากมายจากประเทศญี่ปุ่น   

ในวันนั้นยิ่งทำให้เรามั่นใจกับประโยคที่ว่า ‘ถ้าดอกไม้ไม่บาน เราไม่แก้ดอกไม้ เราแก้สภาพแวดล้อม’ และหากจะมีใครที่เหมาะสมที่สุดในการพูดคุยเรื่องนี้ คนคนนั้นก็คือ คุณผึ้ง – ณัฐยา บุญภักดี นั่นเอง

หากใครยังนึกภาพไม่ออกว่าหากนิเวศรอบตัวเด็กดีขึ้นแล้ว คุณภาพชีวิตของเด็กจะดีขึ้นอย่างไร พวกเราขอชวนให้นึกถึงเกม the Sims เกมจำลองชีวิต ที่เป้าหมายของการเล่นเกมคือการทำให้ชาวซิมส์ของเรามีคุณภาพชีวิตที่ดี เมื่อชาวซิมส์มีครอบครัวและมีลูก เราจะได้เรียนรู้ว่า เด็กจะเติบโตได้ดี การป้อนอาหารอย่างเดียวไม่เคยพอ หลอดพลังหลักของชาวซิมส์และเด็ก ๆ ชาวซิมส์มีทั้งการขับถ่าย ความหิว พลังงาน ความสนุกสนาน สังคม สุขอนามัย และจำเป็นต้องได้ทำกิจกรรมสนุก ๆ ตามลักษณะนิสัย ได้พัฒนาความสามารถของตัวเอง ได้พูดคุยพบปะเพื่อน ๆ เข้าสังคม และมี ‘ความปรารถนา’ ที่ขึ้นอยู่กับอารมณ์ ความสัมพันธ์ หน้าที่การงาน หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เพิ่งพบเจอ และหากเราละเลยความปรารถนานั้น ก็จะทำให้ ‘ความกลัว’ หรือ ‘ความปรารถนาที่ไม่ได้รับการเติมเต็ม’ ก่อตัวขึ้นในใจซิมส์

หากเทียบซิมส์เป็นเด็กคนหนึ่งในโลกความจริง ค่าพลังหลักของเด็กคนนั้นคงประกอบไปด้วย บ้าน โรงเรียน เพื่อน ชุมชน และ third space (พื้นที่ที่สามที่เด็กใช้เวลานอกเหนือไปจากบ้าน โรงเรียน เพื่อน หรือชุมชน) เราจึงให้คุณผึ้งลองเติม ‘หลอดพลัง’ ของเด็กไทยโดยเฉลี่ยว่า ปัจจัยที่จะช่วยให้พวกเขาเติบโตในแต่ละด้านนั้นมีพลังเท่าไร

4 คะแนนสำหรับบ้าน

4 เต็ม 10 คือคะแนนของบ้าน

“ถ้าเราดูทฤษฎีเรื่องของระบบนิเวศเด็ก บ้านหรือครอบครัวคือปัจจัยที่มีอิทธิพลที่แข็งแกร่งที่สุดต่อตัวเด็กเพราะว่ากำหนดความเป็นมนุษย์ของเขา เพราะฉะนั้นครอบครัวเป็นระบบนิเวศที่สำคัญที่สุดที่จะต้องได้รับการดูแล จริง ๆ พี่ชอบคำว่าบ้านมากกว่าคำว่าครอบครัวด้วยนะ เพราะมันทำให้เห็นภาพว่ามันเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยไหม หลังคายังเป็นบ้านอยู่ไหม ฝาบ้านครบไหม มีความเสี่ยงอะไรหรือเปล่า ไม่ใช่แค่ประกอบไปด้วยใครบ้าง”  

แต่สาเหตุที่ทำให้บ้านได้คะแนนเพียง 4 เต็ม 10 ก็เพราะปัจจุบันมากกว่า 70% ของเด็กและเยาวชนไทยอยู่ในครอบครัวรายได้ต่ำถึงขั้นเข้าเกณฑ์รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ  สถิตินี้สะท้อนความเปราะบางในเชิงเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้หลายชีวิตต้องหยุดชะงักไปถึง 3 ปี สถานการณ์ในครอบครัวเหล่านั้นก็ยิ่งแย่ลงกว่าเดิม

ขณะที่ปัญหาที่พบในบ้านที่มีเด็กโตมักจะเป็นเรื่องของเด็กหลุดจากระบบการศึกษา ในบ้านที่มีเด็กเล็กก็มักจะพบปัญหาด้านรายได้ เพราะต้องมีคนวัยแรงงานอย่างน้อยคนหนึ่งที่ต้องอยู่บ้านดูแลเด็ก ทำให้รายได้ครัวเรือนลดลง หลายบ้านมีหนี้ครัวเรือนที่มากกว่าที่จะจ่ายไหว ซึ่งอาจทำให้เกิดความยากลำบากในการแก้ปัญหาความยากจนข้ามรุ่น

คุณผึ้งเล่าให้เราฟังว่า อีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้ครอบครัวไทยอ่อนแอลง ก็คือทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์ที่ทำให้คนวัยแรงงานต้องย้ายถิ่นฐานมาหางานในเมืองใหญ่ จากสถิติใน รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2565 โดยศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) พบว่า มีเยาวชนอายุ 0-14 ปีเพียง 54.7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ได้อาศัยอยู่กับทั้งพ่อและแม่

“บ้านและครอบครัวมันถูกทำให้อ่อนแอมาหลายทศวรรษ เพราะทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจมันดึงคนวัยแรงงานซึ่งก็คือพ่อแม่ออกจากบ้าน งานอยู่ไกลบ้าน การศึกษาที่ดีสำหรับลูกอยู่ไกลบ้าน ก็ดึงเด็กและพ่อแม่ออกจากบ้าน ครอบครัวเลยถูกทำให้อ่อนแอลงด้วยทิศทางการพัฒนาแบบรวมศูนย์ ถ้าสามารถกระจายเศรษฐกิจไปสู่ชุมชนได้ ปัญหาเรื่องเด็กและครอบครัวบางส่วนก็จะคลี่คลาย”

5 เต็ม 10 สำหรับโรงเรียน

เมื่อพูดถึงโรงเรียน หลายคนอาจจะยังเห็นเป็นภาพของห้องเรียนสี่เหลี่ยมกับนักเรียนที่นั่งเรียงแถวอ่านหนังสือหรือจ้องกระดานอย่างขะมักเขม้น แต่โรงเรียนในที่นี้รวมไปถึงศูนย์เด็กเล็ก คือพื้นที่แรกที่เด็กจะได้สัมผัสโลกที่กว้างกว่าบ้าน ได้เรียนรู้ปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ได้สร้างสังคมแรกในชีวิต ได้สงสัยและตั้งคำถามต่อสิ่งที่พวกเขาไม่เคยได้เห็น

แม้ในปัจจุบันประเทศไทยจะมีศูนย์เด็กเล็กกระจายตัวอยู่ในทุกพื้นที่ คุณภาพของศูนย์เด็กเล็กยังคงเป็นเรื่องที่หลายคนตั้งคำถาม และยิ่งไปกว่านั้น ในสถานการณ์ที่สังคมไทยกลายเป็นสังคมสูงวัย คนวัยพ่อแม่เป็นกำลังหลักในการหารายได้เข้าครอบครัว การมีรายได้ทางเดียวจากพ่อหรือแม่ไม่เพียงพออีกต่อไป จึงจำเป็นต้องมีเนิร์สเซอรี่ที่จะช่วยพ่อแม่ดูแลเด็กอ่อนก่อนที่เด็กจะก้าวสู่วัยที่เข้าศูนย์เด็กเล็กได้

“ระบบบริการของภาครัฐมีช่องว่างประมาณ 2-3 ปีก่อนเด็กจะเข้าศูนย์เด็กเล็ก ครอบครัวต้องดูแลเด็กอ่อนด้วยกำลังของตัวเอง เราสนับสนุนโครงการที่หาวิธีทำงานเพื่ออุดช่องโหว่ตรงนี้ มีทั้งงานทดสอบโมเดลบ้านเลี้ยงเด็กในกรุงเทพฯ และชุมชนเมืองที่พ่อแม่เป็นวัยแรงงานต้องออกไปทำงาน มันก็ต้องมีเนิร์สเซอรีเพื่อช่วยแบ่งเบาพ่อแม่”

“ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเรามีค่อนข้างจะทั่วถึง อัตราการเข้าศูนย์เด็กเล็กของเราถือว่าสูง คือเกิน 80 เปอร์เซ็นต์ทุกภาค ภาคอีสานเยอะสุดเลยเพราะมีเด็กกว่า 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ได้เข้าศูนย์เด็กเล็ก ถ้าศูนย์เด็กเล็กอยู่ในชุมชนยิ่งดีเพราะว่าเขาไม่ต้องเสียเวลาเดินทางตอนเช้าไปส่ง ตอนเย็นไปรับ”

นั่นอาจเป็นที่มาของ 5 คะแนนที่โรงเรียนได้รับ +5 คะแนนสำหรับจำนวนศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนที่กระจายเพียงพอ -5 คะแนนสำหรับคุณภาพที่ยังต้องรอนโยบายแก้ไขต่อไป ปัญหาของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กคือการขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านปฐมวัย และไม่ใช่เพียงครูในศูนย์เด็กเล็กเท่านั้น กองการศึกษาในพื้นที่ที่ทำหน้าที่บริหารและหนุนเสริมการจัดการเรียนการสอนก็ขาดความเชี่ยวชาญด้วยเช่นกัน การแก้ปัญหานี้อาจจะไม่ใช่เพียงการออกกฎระเบียบหรือสั่งการให้ผู้ดูแลเด็กเล็กไปเรียนต่อด้านปฐมวัยให้ได้ปริญญาบัตร แต่ต้องการเครื่องมือที่หลากหลาย วัดผลได้ไม่ยาก  และช่วยสนับสนุนผู้ดูแลเด็กในศูนย์เด็กเล็กให้มีความรู้ความเข้าใจในงานที่ทำมากขึ้น 

“สาธารณสุขเขาเห็นแล้วว่าบริการสาธารณสุขระดับปฐมภูมิคือหัวใจ จะต้องลงทุนตรงนี้ให้มากขึ้น แต่ภาคส่วนอื่นอาจยังไม่เห็นเลย อย่างถ้าเราทำเครื่องมือหรือนวัตกรรมแล้วส่งให้ครูศูนย์เด็กเล็ก หนึ่ง ตัวเขาเองอาจไม่ได้มีทั้งวิธีคิดและสมรรถนะที่จะใช้เครื่องมือหรือนวัตกรรมที่เราสร้าง สอง ตัวระบบที่เขาทำงานอยู่ไม่ได้มีคำสั่งหรือระเบียบปฏิบัติที่เอื้อให้เขาใช้ การทำงานในระบบราชการมีระเบียบสารพัดอย่างที่เราจำเป็นต้องเข้าใจ เมื่อทำงานกับเขามีข้อบังคับที่ละเอียดมาก ที่ทำให้มองยากว่าจะสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้อย่างไร ยิ่งคนอยู่ในระบบนาน เขายิ่งมองไม่ออกว่าเขาจะทำได้ยังไง ต่อให้เขาเห็นว่ามันดีแต่ก็ไม่รู้สึกว่าเขาทำได้”

คุณผึ้งมองว่าทางที่ควรผลักดันเพื่อให้ศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนสามารถใช้นโยบายหรือเครื่องมือใหม่ ๆ ได้ ก็คือการทำให้การวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเป็นภาระต่อทั้งเด็กและครูให้น้อยลงและเพิ่มน้ำหนักแก่การสร้างการเรียนรู้ด้วยวิธีที่หลากหลายและตรงกับความสนใจของเด็ก

“ยกตัวอย่างเช่น ครึ่งวันเช้าเป็นช่วงการเรียนเชิงวิชาการ ส่วนครึ่งวันบ่ายก็ปล่อยเด็กให้ออกไปเรียนรู้ตามความสนใจ ปล่อยในที่นี้คือมีการจัดการงบประมาณแบบใหม่ที่สามารถจ่ายให้หน่วยงานภายนอกที่ชำนาญในการสร้างสรรค์การเรียนรู้เข้าไปจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ให้กับเด็ก หรือถ้าในชุมชนรอบโรงเรียนมีพื้นที่เรียนรู้ของเอกชน ก็พาเด็กมาใช้บริการได้”

คุณผึ้งยกตัวอย่างห้องสมุดจินดา อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ห้องสมุดเอกชนที่เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2563 ที่ไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่อ่านหนังสือ แต่ยังเป็นทั้งแหล่งเรียนรู้ของเด็ก ๆ ที่มีความร่วมมือกับโรงเรียน และแหล่งสร้างรายได้ของคนในชุมชน เมื่อถามว่าเราจะขยายโมเดลแบบห้องสมุดจินดาไปในพื้นที่อื่นได้ไหม คุณผึ้งเชื่อว่าได้ โดยภาครัฐควรจัดให้มีระบบสนับสนุนเพื่อให้คนในชุมชนสามารถลุกขึ้นมาทำกิจการพื้นที่เรียนรู้ได้ง่ายขึ้น ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนให้คนที่ทำมาก่อนได้เข้ามาช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้กิจการพื้นที่เรียนรู้แห่งใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นด้วย

“ยกตัวอย่าง Mappa ทำ parengers (พ่อแม่นักเปลี่ยนแปลงที่พัฒนาสังคมไปพร้อมกับการเติบโตของลูก) ก็ต้องไปหาว่าจังหวัดนี้ อำเภอนี้ ตำบลนี้ มีคนที่อยากทำแบบเราหรือเปล่า แล้วเราก็ถ่ายทอดความรู้พื้นฐานให้เขาเอาไปทำต่อ เป็นวิธีขยายผลแบบหนึ่ง อีกทางหนึ่งคือไปผลักดันระดับนโยบายให้เกิดวิธีการบริหารจัดการงบประมาณที่ยืดหยุ่นหรือมีวิธีการที่หลากหลายมากขึ้น เปิดช่องทางให้ภาคส่วนอื่น ๆ เข้ามาร่วมจัดการพื้นที่เรียนรู้”

“หรืออย่างเครือข่ายบ้านเรียน จริง ๆ เป็นขุมทรัพย์ด้านการเรียนรู้เลย เพราะมีพ่อแม่ที่ทำรุ่นแรก ๆ แล้วตอนนี้ลูกโตแล้วอยากทำ learning space ต่อ ก็เปิด mini school ให้เด็กในพื้นที่เลย ซึ่งรัฐต้องมองว่านี่คือเรื่องการศึกษาของเด็กยุคใหม่ที่รัฐต้องสนับสนุน ให้การสนับสนุน รวมถึงหน่วยงานภาคเอกชนที่สนใจเรื่องการศึกษา พี่ก็อยากชวนให้มารวมตัวทำกองทุนเพื่อสนับสนุน learning space กัน”

10 ลบ 4 คะแนนสำหรับเพื่อน

เพื่อนก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อการเติบโตของเด็ก ๆ จากรายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2565 โดยศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) พบว่าบุคคลแรกที่เยาวชนอายุ 15–25 ปีจะปรึกษาเมื่อเผชิญปัญหาชีวิต ร้อยละ 44.4 คือพ่อแม่ รองลงมาถึงร้อยละ 35.8 คือเพื่อน เพื่อนยังเป็นสถาบันทางสังคมที่เยาวชนอายุ 15-25 ปีไว้ใจมากที่สุดรองลงมาจากครอบครัว โดยให้คะแนนเฉลี่ยถึง 3.5 เต็ม 5

แต่ก็ยังมีสาเหตุที่ทำให้ ‘เพื่อน’ ไม่ได้คะแนนเต็ม 10 เมื่อมีเยาวชนถึง 16.1 เปอร์เซ็นต์ระบุว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียดมากที่สุดคือเรื่องความสัมพันธ์กับเพื่อน คุณผึ้งมองว่า สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์เรื่องเพื่อนของเด็กไทยทุกวันนี้น่าเป็นห่วง คือการแข่งขันทางการศึกษาที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ เบียดบังคุณภาพความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนซึ่งเป็นสังคมหลักและพื้นที่สร้างตัวตนอีกครั้งของเยาวชน

“พูดอย่างคนไม่มีลูกและหลานก็โตหมดแล้ว รู้สึกว่าเรื่องเพื่อนเป็นเรื่องที่น่าห่วง สิ่งที่สัมผัสได้คือระบบการศึกษาที่แข่งขันกันสูงขึ้น ในช่วง 10 กว่าปีหลังมานี้ เด็กไม่ได้เป็นเพื่อนกันจริง ๆ ลึก ๆ เขาจะแข่งกัน ดังนั้นระบบการศึกษาที่เน้นการแข่งขันมันมีผลมากเลยกับความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน”

แต่ก็ใช่ว่าสถานการณ์ของวัยรุ่นในแง่มุมของเพื่อนจะไม่มีทางออก เพราะในปัจจุบันมีสิ่งที่เข้ามาแทนที่เพื่อนที่ส่วนใหญ่เราจะมีโอกาสได้ทำความรู้จักแค่ในโรงเรียนหรือเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียง นั่นคือเพื่อนทางสื่อสังคมออนไลน์

“ถ้าเขาเข้าถึงโซเชียลมีเดียเขาจะหาเจอว่ามีเพื่อนที่ไหนบ้าง มีคนที่คิดแบบเดียวกับเขาที่คุยแล้วอยากคุยต่อไหม ซึ่งอาจไม่ได้อยู่ในพื้นที่ทางกายภาพเดียวกัน พี่รู้สึกว่าเทรนด์มันกำลังเป็นแบบนี้ ความเป็นปัจเจกมันสูง โซเชียลมีเดียกลายเป็นพื้นที่ใหม่ในการหาคนรู้ใจ ยิ่งถ้าเขาได้ภาษาอังกฤษหรือภาษาอื่น เขาก็หาเพื่อนได้กว้างขึ้น”  

5 คะแนนสำหรับ Third Space

“ตอนนี้ third space แข็งแรงที่สุด” คุณผึ้งบอกกับเราเมื่อเราถามถึง third space

Third Space คือพื้นที่ที่สามที่เด็ก ๆ ใช้เวลานอกเหนือจากบ้าน โรงเรียน ชุมชน และเพื่อน สำหรับเด็ก ๆ ในทุกวันนี้ third space ที่พวกเขาเข้าไปสัมผัสมากที่สุด ก็คือเกมออนไลน์ ซึ่งคุณผึ้งมองว่าอาจส่งผลกับเด็กได้ทั้งด้านบวกและด้านลบ โดยหากมองพ้นไปจากคำตัดสินที่ว่า เกมออนไลน์ส่งผลเพียงด้านลบกับเด็กเท่านั้น ยังมีแนวคิดที่น่าสนใจที่มีหลากหลายประเทศเริ่มขยับทำกัน คือการเปลี่ยนพื้นที่เกมออนไลน์ให้กลายเป็นพื้นที่ส่งผลด้านดีต่อเด็ก

“จากนี้ไปเราต้องทำงานกับภาคเอกชนที่ทำงานลักษณะนี้กับเด็กเยอะขึ้น เช่น บริษัทเกม พวกที่ทำเกมออนไลน์และ E-sport ทั้งหลาย เพราะเขามีอิทธิพลในชีวิตเด็กเยอะ เราควรเป็นพันธมิตรกันในการพัฒนาเด็ก”

แม้จะมีอิทธิพลกับเด็กในยุคปัจจุบันสูงมาก แต่สาเหตุที่ทำให้ third space ได้เพียง 5 คะแนน อาจเป็นเพราะยังไม่มีแนวทางหรือนโยบายในการขับเคลื่อนการพัฒนาเด็กร่วมกับผู้ที่ทำงานด้านนี้โดยตรงอย่างจริงจัง ซึ่งในโลกอนาคตที่เทคโนโลยีกำลังจะเป็นบทบาทหลักของวิถีชีวิต ช่องว่างนี้ถือเป็นโอกาสที่น่าสนใจในการพัฒนาให้พื้นที่นี้กลายเป็นพื้นที่ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน 

“มันเป็นพื้นที่ที่คนทำงานพัฒนาเด็กเข้าไปแตะแบบเห็นเขาเป็นพาร์ตเนอร์น้อยมาก ทั้งที่เขาทำเกมให้เด็กเล่น จริง ๆ แล้วเขากับเราเป็นนักพัฒนาเด็กเหมือนกัน แม้จะทำผ่านคนละเครื่องมือ ทำไมเราไม่มาร่วมงานกัน โลกเสมือนจริงที่เขาสร้างในเกมมันสอนเด็กได้หมดเลย เป็นทักษะที่เด็กได้เรียนรู้ก่อนจะเจอชีวิตจริง ถ้าเขาเข้าใจสิ่งนี้ เข้าใจเรื่องจิตวิทยาเด็ก เรื่องพัฒนาการเด็ก เรื่องการเสริมทักษะในศตวรรษที่ 21 เขาจะสามารถออกแบบเกมที่เหมาะกับพัฒนาการเด็กได้”

4 จาก 10 คะแนนสำหรับชุมชน

“ชุมชนประกอบไปด้วยหน่วยที่เล็กที่สุดคือครอบครัว ถ้า 80 เปอร์เซ็นต์ของครอบครัวมีสมาชิกย้ายถิ่นไปทำงานที่อื่น ครอบครัวเหลือแต่คนแก่ คนป่วย คนพิการ และเด็กเล็ก ครอบครัวก็จะเปราะบาง เมื่อครอบครัวที่เปราะบางรวมตัวกันอยู่ 60-70 เปอร์เซ็นต์ของหมู่บ้าน มันก็เป็นชุมชนที่เปราะบาง”

หากไม่นับบ้าน ชุมชนน่าจะเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุดในนิเวศการเติบโตของเด็ก หากเศรษฐกิจในชุมชนแข็งแรงและมั่นคงเพียงพอ คนวัยแรงงานก็จะไม่ถูกดึงให้ออกจากชุมชนท้องถิ่นเพื่อไปหางานที่ดี ส่งผลให้ครอบครัวอยู่ร่วมกันแบบพร้อมหน้า และเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยพัฒนาชุมชนท้องถิ่นด้วย  

“จริง ๆ ตัวอย่างที่ดีมีเยอะ ไม่ขาดแคลน” คุณผึ้งกล่าวก่อนจะเริ่มยกตัวอย่างการสร้างงานใหม่ ๆ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเด็กในชุมชนให้เราฟัง “ยกตัวอย่างโดยใช้แอปพลิเคชั่น Mappa ก็ได้ Mappa ไปสร้างให้เกิด สาขาตำบล ก.ไก่ คนที่อยู่พื้นที่ ก.ไก่ อย่างพ่อแม่ หรือครูก็มาเรียนรู้ที่นี่โดยใช้แอปฯ Mappa ในการสร้างการเรียนรู้ ขณะเดียวกันทีม Mappa ก็รวบรวมอาสาสมัครชุมชนแบบให้มีรายได้ ถ้าเป็นวัยรุ่น ทำอะไรได้บ้าง ถ้าเป็นผู้ใหญ่ ทำอะไรได้บ้าง แล้วให้กองทัพอาสาสมัครมีบทบาททำกิจกรรมในชุมชนหรือลงเยี่ยมบ้าน ใช้แอปฯ ในการสร้างกิจกรรมเรียนรู้สร้างสรรค์ ทำให้เกิดเศรษฐกิจชุมชนที่ช่วยให้คนมีรายได้จากงานพัฒนาเด็ก”

นอกจากนั้นหน้าที่สำคัญที่สุดของชุมชนที่ไม่กล่าวถึงคงไม่ได้ คือการช่วยกันดูแลเด็ก ๆ และประคับประคองครอบครัวเปราะบางให้มีศักยภาพในการมอบคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเด็ก ๆ เมื่อพูดถึงตรงนี้ คุณผึ้งก็เล่าด้วยรอยยิ้มว่า สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว (สำนัก 4) ก็ทดลองให้คนในชุมชนเป็นแกนนำในการทำงานพัฒนาเด็กแล้วเช่นกัน

“ในงานสำนัก 4 มีโมเดลที่เรียกว่า ‘ชุมชนนำ’ เริ่มจากคนในชุมชนที่อยากทำงานเรื่องเด็กมารวมตัวกันเป็นทีม เราให้โจทย์ว่าให้ไปเยี่ยมทุกบ้านที่มีเด็ก คุณต้องรู้จักเด็กทุกคนในหมู่บ้าน รู้ว่าเขามีความเป็นอยู่ยังไง ไปเยี่ยมเยือนแบบเพื่อนบ้าน ไม่มีแบบสอบถาม ไม่มีวิธีคิดคำนวณหรือตัวชี้วัดใด ๆ ให้ไปเยี่ยมแล้วพิจารณาจากสิ่งที่เห็นว่า เด็กได้รับการเลี้ยงดูที่เหมาะสมไหม แล้วเอาข้อมูลมานั่งคุยกันในทีมเพื่อวางแผนงาน”

“สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อไปเยี่ยมบ้านคือจิตสำนึกของเขา คำว่าเด็กคือลูกของชุมชนเกิดจากตัวพวกเขาเลย เราแค่ให้โจทย์ให้เขาไปสัมผัสเด็ก ๆ แล้วมันชัดเจนเลยว่า เขาเกิดความตระหนักว่ายังมีหลายบ้านที่สภาพความเป็นอยู่หนักกว่าที่เขาคิด แล้วพอทำไปแบบนี้เราเห็นเลยว่าชุมชนมีศักยภาพมาก เรานำร่อง 7 จังหวัด จังหวัดละ 10  ตำบล เราเห็นว่าทำได้ ทั้งที่ไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กในทีมนี้เลย แต่เป็นนักบริหารความสัมพันธ์ทำให้คนเกาะกันเป็นทีม เป็นเครือข่ายได้ เราเอาคุณสมบัตินี้นำเลย”

อย่างไรก็ตาม จากวิถีชีวิตในปัจจุบัน ทำให้สายสัมพันธ์ของคนในชุมชนนั้นไม่แข็งแรงเหมือนเมื่อก่อน เด็ก ๆ หลายบ้านที่เติบโตมาพร้อม ๆ กันกลับห่างเหินกันไปในตอนโตเพราะจากชุมชนไปเรียนในเมือง ซึ่งก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ชุมชนเปราะบางลงไปด้วย

“แต่มันมีตัวอย่างดี ๆ นะ มันมีชุมชนที่คนในชุมชนเห็นปัญหานะว่าเด็กที่โตมาด้วยกัน แต่แยกย้ายกันไปเรียนที่อื่น  ปิดเทอมกลับมาบ้านก็ไม่ค่อยรู้จักกัน เขาก็ทำโครงการจัดกิจกรรม ทำค่ายเยาวชนที่เชื่อมโยงเด็กเข้าด้วยกัน เพื่อให้เด็กรุ่นนี้รู้จักกัน” คุณผึ้งเล่า ไม่เพียงแต่กิจกรรมที่จะทำให้เยาวชนรู้จักกันเท่านั้น แต่บางชุมชนยังมีกิจกรรมที่ให้ผู้ใหญ่กับเด็กได้มาสานสัมพันธ์กันด้วย “พอทำไปได้พักนึง สายใยที่เชื่อมโยงชุมชนมันฟื้นฟู เราเห็นชัดเลยว่า เมื่อมันฟื้นฟูปุ๊บ พอเกิดเหตุอะไรที่เป็นภัยพิบัติร่วมกัน เช่น น้ำท่วม ชุมชนก็รับมือได้ดีขึ้นเพราะรู้จักคุ้นเคยกันดีร่วมแรงร่วมใจกันง่ายขึ้น”  

Co-Creating Next Generation ทำให้หลอดพลังทุกหลอดของเด็กขยับขึ้นด้วยกัน

จะดีแค่ไหนหากเส้นการเติบโตของเด็กคนหนึ่งนั้นประกอบไปด้วยการที่คุณแม่ได้รับสวัสดิการตั้งแต่ฝากครรภ์ไปจนคลอดลูก มีค่าฝากครรภ์ มีค่าคลอดบุตร มีวันลาคลอด และเมื่อคลอดมาแล้ว ทั้งพ่อและแม่ก็มีวันลาเลี้ยงดูบุตรโดยได้รับเงินช่วยเหลือจนกว่าจะอายุครบ 1 ปี มีค่าเลี้ยงดูรายเดือนตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึง 15 ปี มีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล สวัสดิการเนิร์สเซอรีดี ๆ ราคาเข้าถึงได้ใกล้บ้านที่เปิดและปิดตามเวลาเข้างานและเลิกงานของพ่อแม่ มีนโยบายกระจายเศรษฐกิจไปทั่วประเทศที่ทำให้ในชุมชนมีงานดี ๆ ให้พ่อแม่ทำ โดยไม่ต้องย้ายถิ่นฐานออกจากบ้านแล้วฝากลูกไว้กับปู่ย่าตายาย มีพื้นที่เล่นและเรียนรู้ให้เด็ก ๆ ที่เดิน 5-10 นาทีก็ถึง และมีโรงเรียนที่ดีอยู่ใกล้บ้าน มีสวัสดิการค่าเล่าเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับ

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในญี่ปุ่น

‘การออกแบบนโยบายโดยเอาเส้นชีวิตเด็กมาขึง’ เพื่อให้ได้นโยบายที่ครอบคลุมทุกปัจจัยในนิเวศการเติบโตของเด็ก คือสิ่งที่ประเทศที่มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์หลาย ๆ ประเทศรวมถึงประเทศญี่ปุ่นใช้ในการออกแบบนโยบาย

“ถ้าเอาเส้นชีวิตเด็กมาขึงปุ๊บมันจะรู้เลยว่าเราควรมีนโยบาย มาตรการ และบริการอะไรให้เขาตั้งแต่ปฏิสนธิไปจนเขาเติบโต แต่ของเราน่าจะยังไม่ได้คิดแบบนั้น เราอาจตั้งต้นจากกระทรวงต่าง ๆ มีฟังก์ชันอะไร ในหนึ่งกระทรวงมีกี่กรม แต่ละกรมมีหน้าที่อะไร แล้วคิดจากหน้าที่ของแต่ละกรม”

“ถ้าดูจากนโยบายที่พรรคการเมืองต่าง ๆ หาเสียง ก็มีนโยบายที่ให้แม่ลาคลอดได้ยาวขึ้น นโยบายขึ้นค่าแรง แต่ยังไม่ได้ลากเส้นความเชื่อมโยงว่ามันจะส่งผลกับการพัฒนาเด็กแบบองค์รวมหรือไม่ ถ้าเอาเส้นทางชีวิตเด็ก (life-course approach) เป็นตัวตั้งแล้วดูว่าระบบนิเวศของเด็กมีอะไรบ้างในแต่ละช่วงวัย แล้วเอาบริบทหลาย ๆ ด้าน เช่น บริบททางเศรษฐกิจของครัวเรือนจากจนสุดไปจนถึงรวยสุดมาโยง เราจะเห็นว่าครอบครัวและเด็กแต่ละกลุ่มมีความต้องการอะไรบ้าง ซึ่งนโยบายการพัฒนาเด็กในปัจจุบันยังมีช่องโหว่เพราะไม่ได้มองให้ครบ”

ตัวอย่างช่องโหว่นโยบายที่เห็นได้ชัดเช่นการมุ่งเน้นให้เงินช่วยเหลือในกรณีต่าง ๆ ถึงแม้เงินอุดหนุนจะเป็นเรื่องที่จำเป็น แต่ยังมีความท้าทายอีกหลายอย่างที่เด็กและพ่อแม่ต้องเจอ เช่น การหากิจกรรมสร้างสรรค์ให้เด็ก ๆ ทำในช่วงปิดเทอมที่พ่อแม่ต้องทำงาน 

“การทำงานด้านเด็กที่ผ่านมาเป็นลักษณะที่มุ่งไปที่ตัวเด็ก พอมุ่งไปที่เด็กก็จะทำเป็นเรื่อง ๆ เช่น โครงการนี้แก้ปัญหาฟันผุ โครงการนี้แก้ปัญหาโภชนาการ แต่ตอนหลังประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาจะดูนิเวศรอบตัวเด็ก เช่น ญี่ปุ่นคิดแพ็กเกจนโยบายใหม่โดยมุ่งเป้าเป็นสังคมที่น่าอยู่สำหรับเด็ก เน้นการสนับสนุนนิเวศรอบตัวเด็ก สารพัดมาตรการที่ออกมามันทำให้คนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ไม่ต้องคิดเยอะในการสร้างครอบครัว มีลูก มีบ้าน มีงานทำ เพราะรัฐบาลของเขาเตรียมการสนับสนุนเอาไว้หมดแล้ว”

อีกปัญหาหนึ่งที่เกี่ยวโยงโดยตรงกับการแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตเด็ก เยาวชน และครอบครัวคือปัญหาเรื่องเศรษฐกิจที่คุณผึ้งถึงกับบอกว่า หากไม่แก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาคุณภาพชีวิตเด็กก็ยากที่จะแก้ได้อย่างยั่งยืน เพราะนอกจากจะมีเรื่องปัญหาความยากจนของครอบครัวแล้วแล้วการพัฒนาเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์ไว้ที่หัวเมืองหรือเมืองหลัก ส่งผลให้พ่อแม่ซึ่งเป็นวัยแรงงานต้องย้ายจากบ้านเกิดเมืองนอนไปหางานทำในเมืองใหญ่ สิ่งที่จะเกิดถัดไปก็คือในครอบครัวและในชุมชนจะมีเพียงเด็ก ผู้พิการ คนชรา ซึ่งจะทำให้ครอบครัวเข้าสู่ภาวะเปราะบางในที่สุด

“กระดุมเม็ดแรกน่าจะเป็นการปรับทิศทางของการพัฒนาเศรษฐกิจ ไปสู่การกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจลงชุมชน ทำให้ชุมชนเกิดการทำมาหากินได้ เมื่อเราลงไปชุมชนเราจะเห็นคนแก่ คนพิการและเด็กในวัยต่าง ๆ ถ้าถามเขาว่าต้องการอะไรบ้าง เราจะเห็นช่องว่างทางธุรกิจที่เราจะสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ เต็มไปหมดเลย เราสามารถเปลี่ยนสิ่งนี้มาเป็นอาชีพได้ โดยเฉพาะงานบริการ แต่รัฐต้องมองเห็นก่อนแล้วสนับสนุนให้คนที่อยากทำแบบนี้ได้ลุกขึ้นทำ”

ขณะนี้มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคมกำลังทดลองให้คนหนุ่มสาวที่อยากกลับมาทำอะไรเพื่อบ้านเกิดได้มาเรียนรู้เรื่อง play worker (ผู้อำนวยการเล่นหรือผู้ที่สนับสนุนการเล่นของเด็กโดยยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง) และเรื่องจิตวิทยาเด็กเพื่อไปทำ learning space ในพื้นที่ (ที่ดิน) ของตนเองโดยให้ชุมชนมีส่วนร่วม กระบวนการนี้นอกจากจะทำให้ชุมชนมีพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็ก ๆ เพิ่มขึ้น และสามารถเก็บข้อมูลเชิงลึกได้ว่าแต่ละครอบครัวต้องการอะไรเนื่องจากเป็นคนในชุมชนเองแล้ว ยังเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพในชุมชนให้กับพ่อแม่ของเด็ก ๆ ด้วย  

อีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจก็คือ ‘โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้’ ที่ถ่ายทอดภูมิปัญญาด้านของเล่นและเป็นพื้นที่เรียนรู้ให้กับเด็ก ๆ ในชุมชนซึ่งขณะนี้กำลังเข้าไปช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้ท้องถิ่นต่าง ๆ พัฒนาพื้นที่เรียนรู้ให้เด็กๆในชุมชน หรือโมเดลอำเภอแห่งการเรียนรู้ของ ‘มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม)’ ที่เชียงดาว ซึ่งร่วมงานกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียน และผู้ประกอบการในอำเภอ เพื่อสร้างนิเวศการเรียนรู้ให้กับเด็ก และให้มอบพาสปอร์ตการเรียนรู้ให้เด็ก ๆ สะสมแสตมป์เพื่อไปแลกอาหารหรือเครื่องดื่มจากร้านค้าต่าง ๆ ในชุมชนได้ แต่ก่อนจะแลกก็ต้องเล่าสิ่งที่ได้เรียนรู้มาให้เจ้าของร้านฟัง เพื่อที่ผู้ใหญ่เองก็จะได้เรียนรู้ไปด้วย  

“นึกภาพว่า ถ้าเรามีแหล่งเรียนรู้ พื้นที่เรียนรู้ ที่มีคุณภาพในราคาที่จ่ายไหว อยู่ไม่ไกลบ้าน เดินทางแค่ 10-15 นาทีก็ถึง” คุณผึ้งชวนเรานึกภาพนิเวศที่เอื้อมถึง สวยงาม และเหมาะสมต่อการเติบโตของเด็กที่เราต่างก็อยากเห็นมันเกิดขึ้นจริง “ที่ทำงานของพ่อแม่ก็อยู่แถว ๆ นั้น ขับรถไม่เกินครึ่งชั่วโมง ไม่ต้องฟันฝ่ารถติด มันก็จะไม่มีสภาพว่าต้องตื่นกันแต่เช้ามืด ขุดลูกขึ้นอาบน้ำแต่งตัวกินข้าวในรถ นั่งรอรถติด พอเราใช้เส้นเรื่องเป็นเส้นชีวิตของเด็ก มันจะเห็นว่าคุณต้องทำให้โรงเรียนหรือสถานศึกษาที่ดีมันอยู่ใกล้บ้าน มีคุณภาพ สถานที่ทำงานที่เป็นงานที่ดี อยู่ไม่ไกล เพื่อให้คนสามารถเติบโตในพื้นที่ของตนเองได้ ไม่ต้องย้ายถิ่น”

“เด็กไม่ได้โตขึ้นได้เองเหมือนเราโยนเมล็ดลงไปแล้วค่อย ๆ งอกขึ้นมาเอง ต่อให้โยนอะไรลงไป แต่ดินตรงนั้นมันดีไม่พอ ฝนไม่ตก น้ำไม่ไหลถึง มันก็ไม่งอกอยู่ดี นโยบายแรงงานที่ดีต้องมา นโยบายที่เป็นสวัสดิการสำหรับครอบครัวต้องมา ครอบครัวมีหลายรูปแบบแต่ละรูปแบบมีความต้องการไม่เหมือนกัน นโยบายเศรษฐกิจที่ไม่เน้นการเติบโตเป็นจุด ๆ แต่กระจายการเติบโตก็ต้องมา” 

Hope is WITHIN the Next Generation

“พี่ฝากความหวังไว้ที่คนรุ่นถัดไป” คุณผึ้งบอกเราอย่างฉะฉานเมื่อเราถามว่าฟังดูแล้วการคิดนโยบายดูไม่ใช่เรื่องยาก ที่ยากคือการดำเนินการต่อในระบบรัฐราชการที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดมากมาย แต่ก็ใช่ว่าจะเกิดขึ้นไม่ได้ เพียงแต่ต้องอาศัยแรงสนับสนุนจากภาคประชาชน ซึ่งอาจจะไม่สำเร็จในเร็ววันนี้ แต่เมื่อไรก็ตามที่เรายังไม่หยุดขับเคลื่อน ความหวังก็จะยังไม่หมดไป

“ฝ่ายบู๊ควรเป็นภาคประชาชน ภาคประชาชนควรจะบู๊ให้มาก ๆ เพื่อที่จะบอกอย่างชัดเจนว่าฉันต้องการอะไร พี่คาดหวังกับพลังของพ่อแม่ Gen Z มาก ซึ่งในตอนนี้เขายังไม่ได้เป็นพ่อแม่ เวลาเราพูดถึง ‘next generation’ เรากำลังพูดถึงคนที่ยังไม่เกิด และคนที่จะเป็นพ่อแม่ที่จะทำให้เขาเกิดคือคนที่กำลังเรียนหนังสืออยู่ในตอนนี้ พี่คาดหวังกับคนรุ่นนี้ว่าเขาต้องส่งเสียงได้ ต้องมีความเป็น active citizen และ global citizen”

“ส่วนคนรุ่นที่เรากำลังทำงานด้วยตอนนี้จะเป็นรุ่นปู่ย่าตายายในอีก 10–15 ปีข้างหน้า ก็ขอให้มีความเข้าใจประมาณหนึ่ง แต่ Gen Y กับ Gen Z โตมาในยุคดิจิทัล การเรียนรู้ของเขาไปเร็วกว่าเรา เลยฝากความคาดหวังกับพ่อแม่รุ่นที่ยังเป็นเด็กปฐมวัยและมัธยมกันอยู่ในตอนนี้ ว่าเขาจะทำให้ next generation และ future generations ไปได้ไกลกว่าเรา”

Writer
Avatar photo
ปัญญาพร แจ่มวุฒิปรีชา

อย่ารู้จักเราเลย รู้จักแมวเราดีกว่า

Photographer
Avatar photo
ฉัตรมงคล รักราช

ช่างภาพ และนักหัดเขียน

illustrator
Avatar photo
พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts

Related Posts