insKru – พื้นที่แบ่งปันไอเดียการเรียนรู้ที่อยากเห็นเด็กและครูมีความสุข

insKru – พื้นที่แบ่งปันไอเดียการเรียนรู้ที่อยากเห็นเด็กและครูมีความสุข

“เรามองว่าการช่วยซัพพอร์ตครูสักคนมันยั่งยืนมาก เพราะเขาต้องไปทำงานกับเด็กอีกหลายคน และเด็กหลายคนนั้นก็เป็นผลผลิตจากระบบการศึกษาที่จะออกไปใช้ชีวิตในสังคมแบบใหม่ที่เราร่วมกันสร้างได้”

‘นะโม-ชลิพา ดุลยากร’ บอกกับเราในวันที่ได้พูดคุยกัน เธอคือผู้ร่วมก่อตั้งแพลตฟอร์มออนไลน์ insKru ซึ่งเป็นพื้นที่แบ่งปันไอเดียการเรียนรู้ ในแต่ละวันจะมีคุณครูคอยเข้ามาแบ่งปันไอเดียการสอนมากมาย เพื่อให้ครูคนอื่น ๆ ได้นำไอเดียจากเพื่อนครูไปทดลองใช้ และกลับมาแบ่งปันผลลัพธ์เพื่อที่จะได้พัฒนาไอเดียกันต่อไป

นะโมให้คำนิยาม insKru ว่าเป็นพื้นที่ที่ ‘ครู inspire ครู’ โดยให้เหตุผลว่าเธอเป็นเพียงสื่อกลางในการสร้างพื้นที่ขึ้นมาให้ครูได้ใช้ร่วมกัน เกิดเป็นพื้นที่ให้ครูมา ‘แบ่งปัน’ สิ่งต่าง ๆ และสร้างแรงบันดาลใจให้ครูด้วยกันเอง

ครูหลายคนได้รู้จักแพลตฟอร์มเล็ก ๆ นี้เมื่อ 5 ปีก่อน จนกระทั่งในวันนี้แพลตฟอร์ม insKru เริ่มเติบโต มีผู้ใช้งานถึงหลักแสนคน นะโมและทีม insKru จึงมีความคิดที่อยากจะจัดงานเพื่อ ‘เติมไฟ’ ให้กับครูทุกคนที่มีความเชื่อและฝันอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษา เกิดเป็น ‘งาน insKru Festival 2023 ตอน ริเริ่มสร้างฉัน’ ขึ้นมา เราจึงชวนเธอมาพูดคุยทำความรู้จักถึงคอนเซ็ปต์และแนวคิดต่าง ๆ กว่าจะมาเป็น ‘พื้นที่การเรียนรู้เพื่อครู’ ในวันนี้

แพลตฟอร์มแห่งการแบ่งปันที่เกิดจากการอยากเห็นเด็ก ๆ มีความสุข

นะโมเรียนจบจากคณะสถาปัตย์ฯ ทำไมถึงเลือกทำแพลตฟอร์มด้านการศึกษา

จริง ๆ อินกับเรื่องการศึกษา เพราะว่าที่บ้านทำโรงเรียนและเราก็ชอบเล่นกับเด็ก ชอบไปสอนหนังสือ อยากเห็นเด็ก ๆ มีความสุข ก็เลยอินกับเรื่องห้องเรียน การจัดการเรียนรู้ พอเรียนสถาปัตย์เราก็ได้ไอเดียว่าการออกแบบของสถาปัตย์กับการออกแบบห้องเรียนมันก็มีส่วนที่คาบเกี่ยวกันนะ เรามองว่าครูก็เหมือนนักออกแบบคนหนึ่ง ถ้าโจทย์ของสถาปนิกคือการออกแบบให้ลูกค้า โจทย์ของครูก็คือการออกแบบให้ผู้เรียน ก็เลยเอาทั้ง 2 ศาสตร์มาผสมกัน ตอนที่เราเพิ่งมาอยู่ในแวดวงการศึกษา มาอยู่ในโลกของคุณครูใหม่ ๆ เราก็สงสัยว่าทำไมการสอนถึงเป็นเรื่องของใครของมัน เป็นเรื่องตามตำรา ตามแผนการสอน ทำไมถึงดูไม่มีเซนส์ของการออกแบบอยู่ในนั้นเลย มันเป็นอะไรที่ดูแข็งดูตายตัวไปหมด ไม่มีการคิดต่อยอด ปิดห้องเรียนต่างคนต่างสอน ต่างคนต่างก็กลัวผิด ไม่กล้าออกมาโชว์ เราก็เลยอยากให้การออกแบบได้เข้าไปอยู่ในโลกของคุณครูมากขึ้น ก็เลยดึง mood ดึง element ต่าง ๆ ของการออกแบบมาใช้ในการทำงานกับครู

เรามักจะได้ยินคนพูดถึงคำนิยามของครูมาตลอด เช่น ครูคือ ‘ผู้ให้’ แล้วนะโมให้คำนิยามครูว่าอย่างไร

ครูคืออะไรก็ได้ เพราะจริง ๆ เราก็ไม่อยากไปนิยามครู เรารู้สึกว่าครูมีหลายแบบมาก เวลานำเสนอคอนเทนต์จะพยายามนำเสนอในมุมมอง ‘ครูแบบนี้ก็มีด้วย’ เพื่อให้คนได้เห็นว่ามีครูหลาย ๆ แบบที่อินหลาย ๆ เรื่อง ก็เลยไม่อยากไปนิยามว่าเขาเป็นอะไร หรือบางทีเราก็เลือกใช้คำว่า initiator นะ เหมือนเป็นผู้ริเริ่ม อย่างครูที่มาร่วมกับแพลตฟอร์มเราก็ริเริ่มหลายแบบ เช่น เริ่มรู้สึกว่าทำไมเด็กในห้องเรียนไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กับฉันเลย เขาก็จะมาหาข้อมูลจากเรา เริ่มสงสัย เริ่มค้นหา เริ่มลงมือทำ

อะไรคือสิ่งที่จุดประกายให้อยากทำ insKru

อยากเห็นเด็กมีความสุข เรารู้สึกว่าห้องเรียนปัจจุบันนี้เด็กดูไม่มีความสุขเลย เขามีความสุขนอกห้องเรียนมากกว่า ก็เลยเกิดคำถามว่าเราจะทำอย่างไรให้ประสบการณ์การเรียนรู้ตรงนั้นมันดีขึ้น เหมือนกับว่าเราออกแบบประสบการณ์การเข้าร้าน Starbucks ก็ต้องคำนึงถึง Service design มาอย่างดี แล้วเราจะทำอย่างไรให้ประสบการณ์การเรียนรู้ของผู้เรียนดีขึ้นได้บ้าง เราไปนั่งคิดให้ครูทุกคาบไม่ไหว แต่จะดีกว่าไหมถ้าหากว่าเราไปเจอไอเดียที่น่าสนใจแล้วเอามาแชร์กันตรงกลาง ต่างคนต่างช่วยกันคิดคนละหนึ่งคาบ มันก็น่าจะได้คาบเจ๋ง ๆ เพื่อเด็ก ๆ ได้เต็มไปหมด คอนเซ็ปต์มันคือการแชร์กัน

แล้วในช่วงแรกเราทำอย่างไรให้ครูมาใช้แพลตฟอร์มนี้เยอะ ๆ 

ช่วงแรกที่ทำคือเริ่มจากหาคนกลุ่มแรกก่อน เราไปร่วมกับทาง Teach For Thailand เขาจะมีครูที่เป็นครูแกนนำ แล้วก็มีครูที่เทรนมาจากครูที่ไม่ใช่ครูมาก่อน เขาจะมีไอเดียที่หลากหลายมาก เราก็เริ่มจากครูกลุ่มนั้นให้เข้ามาแชร์ไอเดียก่อน แล้วก็เขียนเองบ้าง ไปสะกิดคนนู้นคนนี้มาช่วยกันเขียนบ้าง จนคนเริ่มเห็นและเริ่มเข้ามาแชร์กันเยอะขึ้น

ทีม insKru มีขั้นตอนในการทำงานอย่างไรบ้าง

เราออกแบบพื้นที่การทำงานให้ครูได้มาแลกเปลี่ยนไอเดียกัน เริ่มแรกก็วางแผนก่อนว่าอยากให้มีกติกาการอยู่ร่วมกันในคอมมูนิตี้อย่างไร แล้วเราจะมีวิธีกระตุ้นยังไงบ้างให้ครูมาแชร์ไอเดียกันในพื้นที่ตรงนี้ เวลาไปเวิร์กชอปก็จะเน้นเรื่องการแชร์ประสบการณ์เป็นหลัก เช่น ถ้าเราอยากทำให้ห้องเรียนมันเกิดพื้นที่ปลอดภัยของเด็ก ๆ เราก็จะออกแบบเวิร์กชอปให้ครูได้สัมผัสประสบการณ์นั้น ให้ครูได้รู้สึกปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็น ให้เขากล้าที่จะแสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์ กล้าที่จะตั้งคำถาม เหมือนกับเป็นการสร้าง safe space ให้คุณครูด้วย เราไม่ได้ให้เขามาเรียน แต่เป็นการให้คุณครูได้มาลองเป็นนักเรียนตรงนั้น แล้วก็ได้ถอดบทเรียนกลับไปใช้

มีไอเดียหรือผลงานชิ้นไหนใน insKru บ้างที่พอเราแชร์ออกไปแล้วได้ผลตอบรับที่ดีเกินคาด

น่าจะเป็นไอเดียช่วงแรก ๆ ที่ทำเรื่อง ‘อาชีพไหนสอนอะไรได้บ้าง’ ตอนนั้นเป็นแค่ไอเดียที่มันป๊อบอัปขึ้นมาว่าปกติแล้วสื่อการสอนเรื่องอาชีพก็จะเน้นไปที่อาชีพหมอ พยาบาล ทหาร ตำรวจ ซึ่งมันก็มีแต่อาชีพซ้ำ ๆ เดิม ๆ ไม่ค่อยมีอาชีพที่หลากหลาย อีก pain point หนึ่งที่ครูเคยบอกเราคือ เด็กเชื่อมโยงไม่ได้ว่าถ้าอยากทำอาชีพนี้แล้วมันเกี่ยวกับวิชาที่เขาเรียนอย่างไร ก็เลยได้ออกมาเป็นคอนเทนต์ที่เราเอาแต่ละอาชีพมาแตกข้อมูลออกไปว่าอาชีพนี้ใช้ความรู้วิชาอะไร ใช้ทักษะอะไรบ้าง ในตอนนั้นคนก็จะตื่นเต้นและรู้สึกว่า เออ สื่อการสอนมันมีแบบนี้ด้วยเนอะ มันยังไปได้อีก คนก็เลยแชร์เยอะ ได้ยอดแชร์เป็นหมื่นแชร์เลย คนชอบกันเยอะมาก

คิดว่าในปัจจุบันนี้เด็ก ๆ ชอบการเรียนรู้แบบไหน

น่าจะเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่เกิดจากตัวเด็กเอง เกิดจากการที่เขาสงสัยเอง ตั้งคำถามเอง หรือว่าเป็นสิ่งที่เขากำลังสนใจอยู่ ไม่จำเป็นต้องไปกำหนดว่าต้องเป็นการเรียนรู้แบบไหน แต่มันเกิดขึ้นได้จากตัวผู้เรียนเอง

แล้ว insKru มีการเก็บ insight ครูอย่างไร

เรามีทั้งเว็บไซต์ มีทั้งเพจ และเราก็มีกลุ่มในเฟซบุ๊กด้วย ตัวกลุ่มในเฟซบุ๊กนี่แหละเป็นตัว insight เลย เพราะว่าฟังก์ชันของตัวกลุ่มเฟซบุ๊กนี้ เรากระตุ้นให้มันเป็นเหมือนเว็บบอร์ดคล้าย ๆ pantip ที่เวลามีคนเจอปัญหาอะไรก็จะมาโพสต์ถาม เพราะฉะนั้นเราจะได้ insight จากตรงนี้ เวลาคิดไม่ออกว่าจะทำคอนเทนต์อะไรลงเพจดี เราก็จะเข้าไปดูในกลุ่มว่าครูกำลังมีปัญหาอะไรอยู่ เช่น ครูกำลังเจอปัญหานักเรียนเข้าห้องสาย จะทำอย่างไรดี ครูก็จะมาแชร์ไอเดียกัน แล้วเราก็จะดูจากประเด็นนี้ จากนั้นก็เอาไปหาข้อมูลเพิ่มเพื่อมาทำสรุปให้ เป็นตัวกลางในการเผยแพร่ว่ามันเกิดการพูดคุยกันเรื่องนี้ในกลุ่ม แล้วก็เอาไปเผยแพร่ในวงกว้าง

ใจบันดาลแรง แรงบันดาลใจ

ถ้าเลือกให้นิยามตัวเองจากสิ่งที่กำลังทำอยู่ตอนนี้ นิยามตัวเองว่าอะไร

เป็นผู้สนับสนุนครู คนชอบเรียกเราว่าครู และก็คิดว่าเราเป็นครูกันหมดเลย แต่จริง ๆ เรายังไม่เคยสอนเลยด้วยซ้ำ เราเป็นแค่แพลตฟอร์มหรือพื้นที่กลางที่คอยอำนวย คอยสร้างพื้นที่ให้ครูได้มาแลกเปลี่ยนไอเดียกัน

insKru มีที่มาจาก ‘inspire + Kru’ ซึ่งหมายถึงการสร้างแรงบันดาลใจให้ครู แล้วที่ผ่านมานี้ครูได้สร้างแรงบันดาลใจอะไรให้กับเราบ้าง

เราได้แรงบันดาลใจกลับมาว่าความพยายามของคุณครูตัวเล็ก ๆ มันมีอยู่จริงนะ คนชอบพูดกันว่าถ้าอยากเห็นสังคมเป็นแบบไหนก็ให้เราเป็นแบบนั้น เราเห็นภาพชัดมากว่าครูคนหนึ่งสร้าง impact ต่อสังคมนี้ได้จริง ๆ อย่างเช่น มีครูที่เขาอยากให้เด็กเคารพความหลากหลายทางเพศของเพื่อน ๆ ถึงแม้เขาจะสอนภาษาไทยแต่ก็จะพยายามเอากิมมิกเรื่องความหลากหลายทางเพศมาใส่ในการสอนนั้น ซึ่งพอได้ส่งต่อความคิดสู่ห้องเรียน เด็ก ๆ ที่ได้เรียนรู้สิ่งเหล่านั้นก็จะเอาออกไปใช้ในชีวิตจริงได้ สิ่งนี้คือเป็นแรงบันดาลใจว่าจริง ๆ แล้วครูมีพลังมากเลยในการส่งต่อความเชื่อ ส่งต่อสังคมที่เราอยากเห็น แล้วก็มีครูที่กำลังลงมือทำสิ่งนี้อยู่

เราอยากให้ทุกคนได้มาเห็นว่ายังมีพลังของครูตัวจิ๋ว ๆ ที่เขากำลังลงมือทำอะไรบางอย่างในทุก ๆ ครั้งที่ก้าวเข้าไปสอนในห้องเรียน เพื่อทำให้เด็กคนหนึ่งที่กำลังจะเป็นผลผลิตจากระบบการศึกษาได้เติบโตไปเป็นคนที่เราอยากเห็นในสังคม เป็นคนที่จะอยู่ในสังคมแบบใหม่ที่เราร่วมกันสร้างได้ นี่คือความเจ๋งของการเป็นครู เราได้แรงบันดาลใจจากตรงนี้เยอะมาก แล้วก็เป็นสิ่งที่ทำให้เราอยากทำสิ่งนี้ต่อไป

การสนับสนุนครูมันมีความหมายมากเลย เหมือนเราได้สนับสนุนฮีโร่ แต่เราก็ไม่ได้อยากมองครูเป็นฮีโร่ที่เหนื่อยและเสียสละ เรามองครูเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ได้มาทำอาชีพที่รู้สึกว่ามีความหมายในทุกวัน มีแรงบันดาลใจในทุก ๆ วัน ตัวเขาเองรับรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ ไม่ใช่แค่สอนตามหนังสือไปวัน ๆ สอนเพื่อให้นักเรียนเอาไปสอบ หรือว่าสอนตามหน้าที่ความเป็นข้าราชการ เรารู้สึกชื่นชมและได้แรงบันดาลใจจากครูเหล่านี้อยู่เสมอ ได้เห็นไอเดียที่เขาสร้างขึ้นมา แล้วเราก็ได้ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ กลับมา

ตั้งแต่เริ่มทำ insKru มาจนถึงตอนนี้ มีความประทับใจอะไรที่อยากเล่าให้ฟังไหม

เวลาเราจัดอีเวนต์ของ insKru ขึ้นมา จะมีคุณครูที่เดินทางมาจากภาคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคใต้ ภาคอีสาน ภาคเหนือเพื่อมาเข้าร่วมงานของเราโดยเฉพาะเลย ตอนแรกก็ไม่ได้คิดอะไร แต่พอลองมาคิดดู ถ้าสมมติเราเป็นครู เราจะมาเหรอ นี่เรากำลังเจอกับครูที่เขากำลังประสบกับปัญหาอะไรอยู่ ปัญหาอะไรในระบบการศึกษาที่ทำให้เขาท้อแท้ขนาดนี้ หรืออะไรคือสิ่งที่ทำให้เขาถึงกับต้องเดินทางมาหาเราเพื่อที่จะมาเติมไฟ มารับแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ในการเป็นครูอีกครั้ง จริง ๆ มันทั้งประทับใจแล้วก็เศร้าไปในตัว ทำไมพื้นที่ที่คุณครูเหล่านี้อยู่ถึงสร้างพื้นที่ในการเรียนรู้แบบนั้นไม่ได้ ทำไมเขาต้องมาแสวงหาพื้นที่ตรงนี้ เราอยากให้ทุกพื้นที่ที่ครูอยู่มันเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยในการแชร์ไอเดียของครู มีแรงบันดาลใจใหม่ ๆ เกิดขึ้น แต่ว่าระบบการศึกษามันก็ยังไม่ได้เป็น environment ที่ดีสำหรับครูในการที่จะทำให้ครูคนหนึ่งอยากพัฒนาตนเอง เห็นคุณค่าในตัวเอง มันยังไม่อำนวยขนาดนั้น

เวลาหมดไฟเราเติมไฟอย่างไร

ก็เติมไฟจากครู (หัวเราะ) เหมือนจุดไฟวนกัน เวลาเจอไอเดียใหม่ ๆ แบบห้องเรียนนี้เจ๋งจัง โห คิดได้ไงเนี่ย มันก็เติมไฟเราว่าเออ อย่างน้อยก็ยังมีครูแบบนี้อยู่ ถ้าเราไม่ทำตรงนี้ก็จะไม่มีใครคอยซัพพอร์ตเขา อยากให้เขารู้สึกว่าสิ่งที่ทำอยู่มันเจ๋งนะ มันมีคุณค่านะ ถ้าจะพูดให้เห็นภาพคือมีครูบางคนมาบอกว่าตอนอยู่ในโรงเรียนจะรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นแกะดำ ดูเป็นตัวประหลาดในโรงเรียน เขาก็บอกว่าการได้มาอยู่ในพื้นที่นี้ทำให้รู้สึกว่าไม่ได้เป็นตัวประหลาด มีครูที่เป็นแบบเขาเต็มไปหมดเลย เขารู้สึกว่าการสอนของเขามันมีคุณค่ามากในพื้นที่นี้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่หาไม่ได้ในโรงเรียน หรือครูบางคนก็บอกว่าคุยไอเดียการสอนกับเพื่อนครูด้วยกันแล้วไม่มีใครสนใจเลย ก็เลยมาแบ่งปันไอเดียกับ insKru แล้วก็ได้เจอว่าจริง ๆ แล้วมีคนสนใจแบบฉันนะ พอได้ยินอย่างนี้ก็มีไฟที่จะทำต่อ

นอกจาก insKru จะมีการร่วมมือกับคุณครูแล้ว ยังมีการร่วมมือกับเครือข่ายและองค์กรต่าง ๆ ด้วย มีเครือข่ายอะไรบ้าง

ก็มี Edupreneur ที่มีทีมหนึ่งทำเรื่องบอร์ดเกม ทีมหนึ่งทำเรื่องแนะแนว แล้วก็มีบริษัทเอกชนด้วย อย่างเช่น Garena DTAC ถ้าเขามีโจทย์มาให้ เราก็มาดูว่าในเครือข่ายเรามีใครทำอะไรอยู่ ก็จับมาแมตช์กันแล้วลงมือร่วมออกแบบไอเดียกันในคอมมูนิตี้ ซึ่งในงาน insKru Festival 2023 นี้ก็จะมีกลุ่มเครือข่ายเหล่านี้และมีกลุ่มอื่น ๆ มาร่วมด้วย ตอนวางแผนเราก็ดูว่ามีใครทำอะไรอยู่บ้าง จะช่วยซัพพอร์ตครูได้อย่างไรบ้าง แล้วก็ดึงเขามาช่วยกันจัดงานนี้ขึ้น

ตอนนี้คนใช้งานแพลตฟอร์มมีประมาณกี่คน

บนแพลตฟอร์มประมาณ 170,000 คน ในเพจประมาณ 270,000 คน ในกลุ่มอีก 100,000 คน

มีผู้ใช้งานเยอะขนาดนี้ แพลตฟอร์มเริ่มรันได้ด้วยตัวเองแล้วหรือยัง 

ตอนนี้ก็ค่อนข้างรันไปได้ระดับหนึ่ง ถึงเราจะยังไม่ได้เข้าไปโพสต์ไอเดียแต่ก็มีคนคอยมาโพสต์มาแชร์ อัปเดตไอเดียกันเรื่อย ๆ

นอกจากแพลตฟอร์มแล้วตอนนี้มีกิจกรรมหรือโปรเจกต์อื่นที่ทำอยู่อีกไหม

มีงาน insKru Festival 2023 ที่กำลังจะจัดขึ้น แล้วก็มีวิจัยต่าง ๆ คือพอเราได้ทำงานกับคนจำนวนมาก ได้ร่วมงานกับครูจำนวนมาก เวลามีคนที่อยากทำวิจัย อยากทำอะไรกับคุณครูจำนวนมาก เขาก็จะเข้ามาคุยกับเรา ตอนนี้ก็มีงานที่ทำร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในการสืบค้นเกี่ยวกับมุมมองครูต่อความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน ทาง กสศ. อยากรู้ว่ามุมมองของคนในคอมมูนิตี้เราเป็นอย่างไร มองว่าเรื่องการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนสำคัญไหม หรือสอนแค่วิชาการก็พอแล้ว เด็กไม่ต้องรู้สึกดีกับฉันก็ได้ แค่เด็กเรียนได้ก็พอ หรือมองว่าความสัมพันธ์เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ ช่วยแก้ปัญหาในชั้นเรียนและช่วยในเรื่องอื่น ๆ ได้ มีเครื่องมือหรือสื่ออะไรที่มาสนับสนุนตรงนี้ได้บ้าง เป็นงานวิจัยที่มาศึกษาคอมมูนิตี้เราเพื่อที่จะขับเคลื่อนประเด็นนี้ต่อ

เติมไฟให้ครู

insKru Festival 2023 ครั้งนี้มีชื่อตอนว่า ‘ริเริ่มสร้างฉัน’ คอนเซ็ปต์คืออะไร ทำไมต้องเป็น ‘ริเริ่มสร้างฉัน’

มาจาก ‘ริเริ่มสร้างสรรค์’ คอนเซ็ปต์คือเรารู้สึกว่าครูมีความเชื่อลึก ๆ และมีคุณค่าในแบบของตัวเอง เขารู้ว่าเขาอยากเป็นครูแบบไหนและกำลังสร้างสรรค์ห้องเรียนแบบไหนอยู่ อย่างที่บอกไปว่าบางคนอินกับประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ มันก็จะส่งต่อมาถึงห้องเรียน บางคนอินกับเรื่องประชาธิปไตย ก็จะมีการให้แสดงความคิดเห็นต่าง ๆ ในห้องเรียน ซึ่งความเชื่อเบื้องหลังของครูแบบนี้มันสำคัญมาก อยากให้เขาได้รู้ว่าตัวเองเป็นครูแบบไหน เชื่ออะไรอยู่ อินกับอะไรอยู่ในช่วงนี้ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยได้เกิดการตั้งคำถามในโรงเรียน ถ้าเขาไม่ได้ตั้งคำถาม เขาก็จะสอนไปเรื่อย ๆ แบบไม่มีเป้าหมาย ก็อยากให้ทุกคนได้กลับมาพักใจ เจอเพื่อน แล้วก็กลับมา ‘ริเริ่มสร้างฉัน’ อีกครั้ง มาทบทวนตัวเองว่าฉันเป็นครูแบบไหน ฉันอินกับอะไรอยู่ และอยากจะเป็นอย่างไรต่อไป เป็นนิทรรศการที่เน้นการสื่อสารระหว่างกันกับผู้เข้าร่วม และสุดท้ายผู้เข้าร่วมน่าจะได้ทบทวนตัวเองแล้วก็ได้ตั้งหลักก่อนเริ่มปีการศึกษาหน้า ได้เติมไฟ เติมความเชื่อ ทบทวนความเชื่อ

งานนี้มีสัญลักษณ์เป็นบอลลูน เปลวไฟที่ให้ความร้อนและทำให้บอลลูนลอยอยู่บนอากาศได้ก็เหมือนกับความเชื่อของครู ส่วนกระสอบทรายที่อยู่ข้างล่างก็เหมือนกับสิ่งที่ไม่ซัพพอร์ตครู ถ่วงเอาไว้ให้ครูไม่เป็นตัวของตัวเอง ต้องสอนในสิ่งที่ไม่ได้อยากสอน เราก็เลยเอาอันนี้มาเป็นสัญลักษณ์ว่าจริง ๆ แล้วครูพร้อมที่จะลอยขึ้นไปเหมือนบอลลูน บางทีก็อาจจะมีช่วงที่หมดไฟบ้าง มีสิ่งที่ฉุดรั้งเอาไว้อยู่ แต่ถ้าเราค่อย ๆ แก้ไขตรงนี้ จุดไฟขึ้นมาใหม่ ก็จะทำให้ครูแต่ละคนได้ล่องลอยไปแล้วก็เป็นแรงบันดาลใจส่งต่อไปได้เรื่อย ๆ

ทำไมถึงอยากให้ครูกลับมาทบทวนตัวเองในเรื่องเหล่านี้

เพราะว่าการอยู่ในระบบการศึกษาไปนาน ๆ เขาอาจจะโดนกลืน อาจจะเนื่องด้วยวัฒนธรรมในโรงเรียน คนส่วนใหญ่ ระบบอาวุโส หรือระบบราชการอะไรก็ตามที่มาดึงตัวตนของเขาไป จากที่เคยอินกับการสอนอยู่ดี ๆ จู่ ๆ ก็ต้องมานั่งทำเอกสารเต็มไปหมดเลย กลายเป็นว่าก็ต้องเอาตัวเองให้รอดก่อน คือครูจะโดนดึงกลับไปกลับมาแบบนี้บ่อย เพราะฉะนั้นการที่ทำให้ครูได้มาเจอกัน ทำให้เขาได้กลับมาทบทวนตัวเองอีกครั้ง ทำให้เขาได้รับแรงบันดาลใจอะไรใหม่ ๆ มันเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับครูในพื้นที่การศึกษาแบบนี้ พื้นที่การศึกษาที่ยังไม่ได้ซัพพอร์ตหรือเป็นมิตรกับครูมากนัก

เรามีแพลตฟอร์มออนไลน์อยู่แล้ว ทำไมถึงเลือกจัดเป็น Festival ขึ้นมา

อยากทำอะไรที่มันจับต้องได้ เชื่อมโยงกันได้ บางทีพื้นที่ออนไลน์ก็มีข้อจำกัด ก็เลยอยากจัดงานขึ้นมาเพื่อที่จะได้รวมมิตรทุกสรรพสิ่งที่อยู่รอบ ๆ insKru อยากให้คุณครูได้รู้ว่ามีคนคอยซัพพอร์ตครูอยู่นะ มีใครซัพพอร์ตอยู่บ้าง อยากให้ครูรู้ว่าจริง ๆ ก็มีเพื่อนครูที่คิดเหมือนกันอยู่นะ จะได้มาเชื่อมโยงกัน ต่อยอดเป็นไอเดีย แล้วก็จะได้ไปเริ่มใช้ในปีการศึกษาหน้าพอดี เพราะช่วงนี้ก็เป็นช่วงปิดเทอมที่เหมาะกับการมาหาแรงบันดาลใจใหม่ ๆ แล้วก็ในขณะเดียวกันเราก็อยากให้คนทั่วไปเข้าถึง insKru ได้ด้วย อย่างที่บอกไปว่าเราได้แรงบันดาลใจจากครูมาเยอะมาก ได้รู้ว่ายังมีครูเจ๋ง ๆ อยู่เยอะมาก ก็เลยอยากให้คนอื่นได้มาสัมผัสความหวังตรงนี้เหมือนกันว่ายังมีคนที่อินกับประเด็นการศึกษาไทยอยู่เยอะจริง ๆ

insKru Festival 2023 เป็นนิทรรศการแรกของ insKru เลยใช่ไหม

เป็นนิทรรศการแรกเลย ก่อนหน้านี้เราเคยมีอีเวนต์ที่ชื่อว่า ‘ครูปล่อยของ’ เป็นงานที่เอาครูแต่ละคนที่มีไอเดียมาปล่อยของกัน มาเปิดห้องสาธิตการสอนกันเอง ซึ่งแต่ก่อนเราก็จะจัดกันแบบนั้น แต่ปีนี้เราพยายามขยายสเกล ก็จะมีทั้งครูที่มาเปิดห้องแชร์ไอเดียกัน แล้วก็มีฝั่ง Edupreneur ด้วย ใครทำอะไรก็มาแชร์กัน นอกจากนี้ insKru เรามีไอเดียที่คนมาแชร์กันต่อปีประมาณ 2,000 – 3,000 ไอเดียต่อปี ก็จะมีการสปอตไลท์ไอเดียว่าปีนี้มีไอเดียไหนโดดเด่นน่าสนใจพอที่จะเป็นแรงบันดาลใจต่อได้ พอทำแบบนี้มาทุกปีเราก็เลยคิดว่ามันน่าจะเอามาจัดแสดง แล้วจัดแสดงแบบไหนล่ะถึงจะน่าสนใจ คนทั่วไปต้องเข้าถึงได้ เราก็เลยเอาไปร่วมกับศิลปินหลากหลายศิลปิน โดยเอาไอเดียของครูไปให้ศิลปินอ่าน แล้วก็ให้ศิลปินคิดว่าเขาได้แรงบันดาลใจอะไร เขาอยากตีความออกมาแบบไหน แล้วก็สร้างสรรค์ออกมาเป็นชิ้นงานของเขาอีกที ทีนี้คนที่เข้าร่วมก็จะได้เสพทั้งงานศิลปะและได้เห็นไอเดียของคุณครูไปด้วย

คิดว่าศิลปะกับครูมีความเชื่อมโยงกันอย่างไร

ศิลปะน่าจะเป็นเหมือนความสนุกในการสื่อสารออกไป เป็นการเล่าเรื่องผ่านงานศิลปะ คือจริง ๆ เราไม่ได้มองแค่ตัวศิลปะ แต่เรามองถึงความเป็นศิลปิน เราพยายามมองครูในมิติใหม่ ๆ ที่ไม่ได้ยึดติดอยู่กับแค่คำว่าเสียสละ หรือคำอื่น ๆ ที่ฟังดูเศร้าดูทรมาน แต่เรามองว่าครูก็เหมือนกับครีเอทีฟ เหมือนนักสร้างหนัง สร้างบทละคร ศิลปิน นักออกแบบ ฯลฯ เราอยากขับเคลื่อนให้ครูได้รู้สึกว่าที่จริงแล้วฉันก็เป็นคนที่สร้างสรรค์นะ ฉันสร้างสรรค์อะไรต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา ซึ่งสิ่งนี้มีความคล้ายคลึงกับศิลปิน ก็เลยเอาทั้งสองอย่างนี้มาจับคู่เข้าด้วยกัน เพราะอยากรู้ว่าถ้าทั้งสองอาชีพนี้มาทำงานร่วมกันมันจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งก็มีความคล้ายกันตรงที่ศิลปินก็บอกเล่าสิ่งที่เขาอยากสื่อสารกับสังคมผ่านงานศิลปะ ส่วนครูก็เล่าผ่านการสอน พอได้เอามานำเสนอในรูปแบบใหม่ก็เป็นความสนุกในการสื่อสาร คนเสพผลงานก็สนุกไปด้วย

แปลว่างานนี้เข้าร่วมได้ทุกคนเลย ไม่จำเป็นต้องเป็นครู

ใช่ค่ะ เข้าร่วมได้ทุกคนทั้งคนที่เป็นครูและไม่ได้เป็นครู ถ้าครูมาร่วมงานก็จะได้มาทำความรู้จักครูคนอื่น ๆ ได้มาเชื่อมไอเดียกับครูด้วยกัน ได้เห็นเครือข่ายที่สนับสนุนครู แต่ในมุมคนทั่วไปก็จะได้มาเห็นว่ามีใครกำลังทำอะไรเพื่อการศึกษาอยู่บ้าง มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นบ้าง ซึ่งคนทั่วไปอาจจะสงสัยว่าปัญหาเรื่องการศึกษาควรจะแก้จากตรงไหน มันดูวุ่นวายไปหมด เราก็อยากให้เห็นว่าตอนนี้ทำผ่านการซัพพอร์ตครูได้ มีครูตัวเล็ก ๆ ที่กำลังทำอะไรบางอย่างอยู่ และก็มีไอเดียในการซัพพอร์ตครูจาก Edupreneur และคนอื่น ๆ เต็มไปหมดเลย พอมาดูงานนี้ก็อาจจะได้แรงบันดาลใจว่าจะกลับไปทำอะไรเพื่อซัพพอร์ตครูได้บ้าง

ทีม insKru อยากเห็นอะไรในระบบการศึกษาไทย

อยากเห็นครูเป็นอาชีพที่ใคร ๆ ก็อยากเป็น แล้วก็เป็นอาชีพที่มีความสุข ไม่ได้ทุกข์จนเกินไป เรารู้สึกว่าครูเป็นคนที่มีความสำคัญมากในระบบการศึกษา แต่เขากลับไม่ได้ถูกทรีตแบบนั้น มีคำพูดที่ว่า ‘ถ้าดูแลครูให้ดี ครูก็จะดูแลเด็กได้ดีเหมือนกัน’ แต่หลายคนก็มักจะเลือกข้ามไปโฟกัสที่ตัวเด็กเลย ครูจะเป็นอย่างไรก็ช่าง แต่จริง ๆ ผู้บริหารก็ควรให้ความสำคัญกับครูเหมือนกัน

ก้าวถัดไปของ insKru คืออะไร คิดว่าจะพัฒนาไปในทิศทางไหน

คิดว่าน่าจะโตในรูปแบบของคอมมูนิตี้เหมือนเดิม แต่ค่อย ๆ ขยับประเด็นไปเรื่อย ๆ เช่น ปีนี้เราทำเรื่อง School environment ทำเรื่องความสัมพันธ์ของครูกับนักเรียน ครูมีมุมมองต่อเรื่องความสัมพันธ์กับผู้เรียนอย่างไร ซึ่งอันนี้เราก็มองว่าเป็นประเด็นเริ่มต้นในการทำงานกับครูเพื่อที่จะทำให้บรรยากาศในห้องเรียนมันดีขึ้น ลดการบูลลี่ หรือทำให้เด็กอยากมาโรงเรียน ซึ่งยังเป็นแค่จุดเริ่มต้นเอง ยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องทำต่อไป อาศัยแรงจากครูและเครือข่ายต่าง ๆ ค่อย ๆ ขับเคลื่อนกันไป

Writer
Avatar photo
ณัฐนรี บัวขม

มีชีวิตอยู่เพื่อดูคลิปตลก คีบตุ๊กตา และเดินหาร้านอร่อยในย่านบรรทัดทอง

Photographer
Avatar photo
ฉัตรมงคล รักราช

ช่างภาพ และนักหัดเขียน

illustrator
Avatar photo
พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts

Related Posts