สร้างเสียง – ผูกสัมพันธ์ – เรียนรู้ความเปลี่ยนแปลง : สมการ harmony ของ Music Makes Changes  

สร้างเสียง – ผูกสัมพันธ์ – เรียนรู้ความเปลี่ยนแปลง : สมการ harmony ของ Music Makes Changes  

“ทุกคนมีสิทธิ์ในการสร้างเสียง” ช่วงกลางของบทสนทนา ‘อ.ต้อม’ ผศ.ดร.อโณทัย นิติพน พูดประโยคนี้ออกมา 

เสียงในความหมายนี้ไม่ได้ตีความแค่เสียงดนตรี ถึงจะนั่งเก้าอี้รองอธิการบดี สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา แต่ อ.ต้อม เชื่อว่า แค่เปล่งเสียงออกมาจากความเชื่อว่าตัวเองสร้างเสียงได้ นั่นก็เพียงพอแล้ว 

ซึ่งเป็นแนวคิดสำคัญของโครงการ PGVIM Singers ชวน ‘ทุกคน’ มาร้องเพลงด้วยกัน สร้างความสัมพันธ์ผ่านเสียงดนตรี และเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ MMC หรือ Music Makes Changes ที่เชื่อว่า ‘ดนตรี’ สร้างการเปลี่ยนแปลงได้

‘ทุกคน’ ที่อ.ต้อมพูดถึงกินความตั้งแต่เด็กๆ อายุ 6 ขวบไปจนถึงญาติผู้ใหญ่วัย 80 ปี โดยแต่ละกลุ่มจะแต่งเพลงที่พูดถึงคาแรคเตอร์ของตัวเองออกมา หากแต่อุปกรณ์สำคัญอันดับแรกที่พวกเขาจะใช้แต่งเพลง ไม่ใช่การรู้โน้ต จับจังหวะเป็น หรือเลือกใช้ภาษาออกมาได้ตรงใจ แต่คือการตระหนักว่าตัวเองมีสิทธิ์ในการสร้างเสียง 

“เราคัดเลือกคนหลากหลายกลุ่ม ติดอาวุธให้เขา ให้เขารู้จักตัวเองก่อน แล้วหาจุดแข็งในตัวเองให้ได้ ไปจนถึงจุดที่เขาเริ่มหาต่อว่ามีใครที่เขารู้สึก related หรืออยากไปสร้างแรงบันดาลใจให้”​

‘อ.ต้อม’ ผศ.ดร.อโณทัย นิติพน

การรวมตัวของคนที่มีระดับความมั่นใจแตกต่างกัน ก็ไม่ต่างจากการมารวมตัวกันของทุกโน้ตตั้งแต่โดเรมีฟาซอลลาทีโดจนเกิดเป็นความกลมกลืน หรือ Harmony 

“ผู้ร่วมโครงการมีหลายรูปแบบ ตั้งแต่คนที่มีดนตรีอยู่ในตัวอยู่แล้ว เขาพร้อมแชร์มาก แชร์แบบทุกทิศทุกทาง แต่ไม่รู้จะแชร์กับใคร เราก็เริ่มตั้งคำถามว่าคุณจะคุยกับใคร เช่น เคสเด็กๆ จะไปเล่นที่มิวเซียมสยาม เราก็ถามว่าพรุ่งนี้จะเล่นให้ใครดู คุณจะหันซ้ายหรือหันขวา หรือหันลงบันได เริ่มมีโจทย์ให้เขามากขึ้นว่า เขาจะ changes with direction ไหน”​ 

อีกกลุ่มสำคัญคือผู้สูงวัย อ.ต้อมเล่าให้ฟังว่า เหตุผลที่พาคนกลุ่มนี้เข้าวงการคือ “เขามีความรักดนตรี”​ และอยากเอาดนตรีสร้างความสัมพันธ์ 

“เมื่อก่อนเขารู้สึกว่าต้องให้นักดนตรีนำก่อน ไม่อย่างนั้นเขาไม่กล้าพูดกล้าร้อง แต่เราจะทำให้เขารู้สึกว่าดนตรีเป็นกระเป๋าของเขาที่กล้าเอามาเริ่มคุยกับคนอื่น”​

กับอีกกลุ่มคือเด็กที่ไม่ได้มีทักษะทางดนตรีมาก อาจถึงขั้นกลัวดนตรีมาก่อนด้วยซ้ำ แต่ Music Makes Change จะ ‘เปลี่ยน’ ด้วยการให้แต่ละกลุ่มเลือกพื้นที่และกลุ่มคนที่พวกเขาอยากจะสร้างความสัมพันธ์ผ่านดนตรี 

“กลุ่มหนึ่งก็อยากทำงานกับคนตาบอด กลุ่มหนึ่งอยากทำงานกับเด็กออทิสติก กลุ่มหนึ่งอยากทำงานกับชุมชนบ้านครัว ชุมชนมุสลิม เด็กอีกกลุ่มอยากไปมิวเซียมสยาม”​

หลายศาสตร์ถูกนำมาใช้อย่างไม่มีขีดจำกัด เพราะ อ.ต้อมเชื่อว่าถ้าจะใช้ดนตรีเปลี่ยนอะไร ต้องอาศัยการระดมสมองของศาสตร์อื่นๆ ด้วย 

“ดนตรีอยู่เดี่ยวๆ ไม่ได้ อันนี้ก็เลยเป็นโจทย์หนึ่งที่ทำให้ตัว PGVIM Singers เริ่มเอากระบวนการละคร เอากระบวนการการแสดง การเขียน การใช้ศิลปะมาใช้ จนกระทั่งโปรเจกต์สุดท้ายของ PGVIM Singers ก่อนปิดโควิดไป เราทำทั้งฉากเอง ทำการคอสตูมเอง เขียนบทเอง ทำอาร์ตเวิร์กเอง ฯลฯ นำเสนอไปพร้อมกันกับนักดนตรี” 

แน่นอน ถึงศาสตร์จะหลากหลายแต่โน้ตตัวสำคัญอย่างดนตรีก็ยังต้องยืนพื้น และที่สำคัญโปรเจกต์นี้ ดนตรีต้องมาจากเนื้อตัวของผู้ถ่ายทอดเอง 

“เด็กไม่มีทางจำเนื้อร้องได้ ถ้าเรายัดเยียดเพลงใส่ปากเขา เขาต้องมีสิทธิ์ในการที่จะสร้างและเป็นเจ้าของเพลงเอง มันถึงจะถูกนำเสนอออกมาอย่างภูมิใจให้กับผู้ฟัง”​

พอเป็นเจ้าของบทเพลงนั้นๆ สิ่งที่ตามมาคือความเชื่อมั่นว่าตัวเองสร้างเสียงได้ และความเชื่อมั่นที่ว่านี้สร้างพลังการเปลี่ยนแปลงได้มหาศาล 

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับอ.ต้อมครั้งแรกเมื่อครั้งยังเรียนปริญญาโท ในวิชา Music Community 

“ครูให้เอาเครื่องดนตรีไปหนึ่งอย่าง คุณพ่อส่งอังกะลุงจากเมืองไทยมาให้ เราเอาไปทำโปรเจกต์นี้กับผู้ใหญ่ที่ disability เคสหนึ่ง เขาอยู่ในสภาพที่มีเครื่องช่วยหายใจเต็มไปหมด แต่เขาชี้นิ้วได้ ก็ชี้นิ้วให้เราเขย่าอังกะลุงให้เขา จำได้ว่าสายตาตอนที่เขาชี้ แล้วมันเกิดเสียงจากการที่เขาชี้ สายตานั้นเราไม่เคยลืมเลย สายตาที่เขาสร้างเสียงเองได้ จากเดิมที่เป็นแค่คนฟังมาตลอด สายตาเขาเปลี่ยน หน้าเขาเปลี่ยนไปเลย” 

แม้ไม่ต้องจับเครื่องดนตรี การเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นแล้ว นั่นเพราะเขาเชื่อใน ‘อำนาจ’ แห่งการสร้างเสียงด้วยตัวเอง 

“สิทธิ์ของการสร้างเสียงมันสำคัญมากเลย แค่ได้ร้องออกมา เห็นได้จาก PGVIM Singers ปีแรกคนเข้าร่วมยังไม่มาก แต่พอปีที่ 3 คนดูหาย หายไปไหน อ้อ ไปอยู่บนเวที (หัวเราะ) ขึ้นไปร้องกันหมด”​

ดนตรีเปลี่ยนชีวิตใครบ้าง  

“ดนตรีเปลี่ยนแปลงเราได้จริงๆ อย่างน้อยก็ทำให้เรามีความสุขขึ้น” ความเปลี่ยนแปลงที่ปิยนาถ เนาว์รุ่งโรจน์ วัย 60 ปี หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการ Music Makes Changes สัมผัสได้จากดนตรี 

เสียงดนตรีเป็นสิ่งที่อยู่ในทุกห้วงชีวิตของปิยนาถ ไม่มีวันไหนที่ไม่มีเสียงดนตรีประกอบทำนองชีวิตของเธอ แต่ค่านิยมที่มองว่าอาชีพเกี่ยวกับดนตรีหรือศิลปะเป็นอาชีพ ‘เต้นกินรำกิน’ ทำให้ปิยนาถเพิ่งมีโอกาสได้ทำตามความฝัน เป็น ‘นักร้อง’ หลังวัยเกษียณ 

เช่นเดียวกับทิพย์สุดา ชำนาญศรีเพ็ชร์ เพื่อนร่วมโครงการวัยใกล้เคียงที่เพิ่งมีโอกาสมาร้องคอรัส (Chorus การร้องเพลงประสานเสียง) และเรียนรู้ที่จะเล่นดนตรีชนิดอื่นๆ ในวัยเกษียณ 

“สมัยเรียนเราทำวงดนตรีกับเพื่อน เล่นในงานมหา’ลัย หรืองานแต่ง แต่พอเรียนจบมาทำงานก็ไม่มีเวลาให้สิ่งนี้แล้ว จนเกษียณเราถึงมีเวลาให้กับสิ่งที่เรารัก เราก็เลยเลือกเรียนดนตรีตอนนี้”

กิจกรรมที่ทั้งสองคนเลือกทำในโครงการ คือ นำดนตรีไปสร้างการเปลี่ยนแปลงในชุมชนบ้านครัวเหนือ ชุมชนชาวไทยมุสลิมซ่อนตัวอยู่ในเขตราชเทวี กรุงเทพฯ ทั้งคู่ชวนเด็กๆ ในชุมชนมาเรียนดนตรี แต่งเพลงด้วยตัวเอง และสร้างสรรค์งานศิลปะด้วยการเก็บสิ่งของในชุมชนมาประดิษฐ์เป็นสิ่งต่างๆ 

“เพลงที่เด็กๆ แต่งจะเป็นเพลงแร็พ เล่าว่าในชุมชนเขามีของดีอะไร ‘เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา แล้วก็เดินตรงๆ ไปถึงโลตัส แล้วโลตัสมีอะไรบ้าง’ ” สองสาวช่วยกันนึกเนื้อเพลงของเด็กๆ ระหว่างที่ร้องก็มีเสียงหัวเราะและรอยยิ้มปรากฎตลอดเวลา เพราะนอกจากเนื้อเพลงที่ยังติดในความทรงจำ ความรู้สึกตอนที่ทำกิจกรรมนั้นก็ยังคงชัดเจนมากพอให้พวกเขาสัมผัสได้

“ก่อนที่จะลงพื้นที่เราคิดว่าจะเอาดนตรีของเรา เอาสิ่งที่เราถนัดไปให้เขา ไปร้องเพลงให้เขาฟัง แต่พอถึงเวลาจริงดนตรีมันเกิดขึ้นจากคนในชุมชน เกิดขึ้นจากเด็กๆ ซึ่งมันดีมาก ทำให้คนชุมชนได้มีงานศิลปะที่เขาสร้างสรรค์เอง

“เราทึ่งความสามารถเด็กๆ ในชุมชนมากๆ ไม่รู้ว่าเด็กป.6 เขาจะมีความคิดเป็นของตัวเองแล้ว หรือสามารถแต่งเพลงเองได้ พอเขาเห็นว่าตัวเองทำอะไรได้บ้าง ความคิดที่มีต่อตัวเองก็เปลี่ยนไป พ่อแม่ก็เปลี่ยนเหมือนกันเมื่อเห็นความสามารถลูก 

“ดนตรีเป็นเหมือนประตูบานแรกที่เปิดแล้วทำให้เขาเจอสิ่งใหม่ๆ อาจเริ่มจากเปลี่ยนแปลงความคิดที่เขามีต่อตัวเองนะว่าเขาสามารถทำได้ ในอนาคตเขาอาจเอาความรู้ตรงนี้ไปต่อยอดทำอย่างอื่น” ทิพย์สุดาเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงที่เธอสัมผัสจากคนในชุมชนบ้านครัวเหนือผ่านเสียงดนตรี

สิ่งที่เกิดขึ้นอาจยังไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ต้องอาศัยแรงจากคนหลายคนมาช่วยกันสร้าง

“การที่เราจะเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง ไม่ใช่แค่เราเปลี่ยนแล้วจะเปลี่ยนได้เลยทันที ต้องมีคนที่คิดเหมือนกับเราก่อน มารวมร่างเป็นไอรอนแมน เรียนรู้อย่างอื่นร่วมกันระหว่างทาง ค่อยๆ ทำงานไปด้วยกัน” ความคิดเห็นจากพิงค์กี้ – พัทธนันท์  สุวรรณลิขิต ผู้เข้าร่วมโครงการวัย 10 ปี ที่มองว่า การเข้าร่วมโครงการนี้อาจยังไม่สามารถทำให้เธอเปลี่ยนแปลงอะไรได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่การเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่เกิดขึ้นและเป็นฐานให้เธอต่อยอดทำอย่างอื่นต่อไป คือ ตัวเอง

“พ่อเล่าว่าหนูเรียนดี เก่งทุกอย่าง แต่อยู่ได้ไม่ค่อยนาน หนูรู้สึกว่าดนตรีเป็นสิ่งที่เราอยู่ได้นานที่สุด แล้วก็ภาษาอังกฤษ” 

ถามว่าสนใจดนตรีตั้งแต่เมื่อไร ตัวพิงค์กี้เองไม่สามารถตอบได้ เธอรู้แค่เพียงตั้งแต่จำความได้เสียงดนตรีก็กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเธอมาโดยตลอด ทุกๆ วันพ่อมักจะเปิดเพลงหรือเล่นดนตรีให้ได้ยินเสมอ จนอายุ 6 ปี พิงค์กี้ลองไปเรียนร้องเพลง เล่นเครื่องดนตรีจริงจัง ก่อนจะไปลงประกวด The Voice Kids Thailand และมาเข้าร่วมโครงการ Music Makes Changes 

พิงค์กี้ – พัทธนันท์  สุวรรณลิขิต

“รู้สึกอยากเปลี่ยนแปลงสังคมมาตลอด” คือความรู้สึกที่ติดตัวพิงค์กี้พอๆ กับเสียงเพลง และเป็นเหตุผลให้เลือกเข้าโครงการนี้ เรื่องที่อยากเปลี่ยนมีเป็นร้อยเรื่อง แต่เรื่องที่อยากเปลี่ยนเป็นอันดับแรก คือ ทำให้คนเคารพความชอบคนอื่น ไม่ดูถูกหรือเหยียดความชอบของใคร

“หนูไม่ชอบการบูลลี่และคนที่ดูถูกรสนิยมในการฟังเพลง เพราะหนูฟังเพลงไม่เหมือนเพื่อนก็เลยโดนล้อบ่อยๆ หนูคิดว่าเราไม่มีสิทธิ์ที่จะไปว่าคนอื่น คิดได้นะ แต่ถ้าพูดไปแล้วทำให้เขาเสียใจก็ไม่ควร 

“ถ้าจะทำอะไรสักอย่างที่สามารถเปลี่ยนได้ด้วยดนตรี หนูก็อยากทำ”

พิงค์กี้วางแผนการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้คร่าวๆ ว่า เริ่มจากทำให้ทุกคนใส่ใจตัวเองมากขึ้น เมื่อเราใส่ใจตัวเองแล้วก็จะใส่ใจคนอื่นเช่นกัน รู้ว่าชอบ-ไม่ชอบอะไร เพื่อไม่ไปทำกับคนอื่น

‘กิจกรรมเลือกหิน’ หนึ่งในกิจกรรมที่พิงค์กี้ได้ทำและเล่าให้ฟัง เป็นกิจกรรมที่จะมีหินมาวางเรียงราย ลักษณะแตกต่างกันไป ให้ผู้เข้าร่วมแต่ละคนเลือกหินที่ดึงดูดตัวเองที่สุด พร้อมอธิบายเหตุผลว่าทำไมหินชิ้นนี้ถึงดึงดูด 

หินที่พิงค์กี้เลือกขนาดเท่ากำมือ รูปร่างวงรี มีรอยจิกบนหิน เหตุผลที่เธอเลือกมีเพียง มองหินก้อนนี้แล้วรู้สึกถูกดึงดูดให้ต้องหยิบ จากมองหินที่วางเรียงบนโต๊ะ ก็เริ่มทำให้ตาของพิงค์กี้เปิดกว้างมองสิ่งอื่นๆ มากขึ้น

ทางเดินกลับบ้านที่ปกติก็เดินผ่านไปร้อยหน แต่พิงค์กี้กลับใช้เวลาบนเส้นทางนี้มากขึ้น มองไปยังพื้นถนน หญ้า พิจารณาต้นไม้ที่ยืนทอดแนวเรียงรายตลอดทาง แต่ที่ผ่านมาเธอไม่เคยสังเกตพวกมัน

“หนูว่ากิจกรรมนี้มันทำให้เราใส่ใจมากขึ้นนะ หลังจากวันนั้นหนูมองหินข้างทางทุกวัน หยิบๆ จับๆ ดูตลอด พยายามหาหินที่ดูแตกต่าง เมื่อก่อนไม่เคยสังเกตเห็นเลย ทั้งๆ ที่เดินผ่านทุกวัน เจอหินแปลกๆ พยายามเก็บกลับบ้าน แม่ก็บอกสกปรก จะเก็บมาทำไม แต่เราจะเก็บ (ยิ้ม)”

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับผู้ร่วมโครงการอาจเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด รวมถึงคนรอบตัวของผู้เข้าร่วม อย่างเช่นพ่อแม่ แม้จะไม่ได้ร่วมทำกิจกรรมกับลูก แต่การเฝ้ามองก็ทำให้เขาเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ลูกมี จนมาสร้างความเปลี่ยนแปลงกับตัวเอง

“เคยคิดว่าลูกเราเป็นคนเงียบๆ ก็เป็นห่วงว่าเขาจะมาทำกิจกรรมได้ไหม จริงๆ ที่พาลูกมาทำกิจกรรมนี้เพราะช่วงโควิดเรียนออนไลน์ ลูกขาดสังคม การมาเข้าโครงการที่มีคนหลากหลายอายุ เพศ ก็จะช่วยเขาได้ กังวลนะว่าลูกจะเข้ากับเขาได้ไหม ปรากฎลูกเข้าได้ดีเลย แถมแฮปปี้ด้วย เมกเฟรนด์กับคนอื่นได้” แม่ของ ‘มีดี’ เจตนิพัทธ์ วัฒนะจินดาวงศ์ เล่าความรู้สึกที่เธอมีขณะเฝ้าสังเกตลูกทำกิจกรรมในโครงการ

ในสายตาพ่อแม่มักมองเสมอว่า ลูกยังเป็นเด็กที่ต้องการการปกป้องและดูแล ไม่รู้ว่าเมื่อไรถึงจะพร้อมปล่อยลูกไป การได้เห็นลูกทำอะไรเองได้ เห็นเขาดูแลตัวเองเป็น ก็เป็นสัญญาณที่ช่วยบอกพวกเขาว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องค่อยๆ ปล่อยมือ ให้ลูกได้สร้างชีวิตตัวเอง

‘มีดี’ เจตนิพัทธ์ วัฒนะจินดาวงศ์

“เรามองเขาในฐานะเด็กมาตลอด พอมาเห็นเขาตอนทำกิจกรรม เราถึงรู้สึกว่าเขาเป็นผู้ใหญ่แล้ว เขาสามารถอยู่ด้วยตัวเอง ไม่จำเป็นต้องพึ่งเราตลอดเวลา เขาสามารถจัดการสิ่งต่างๆ ได้ ฉะนั้นมุมมองของเราสองคนก็ต้องเปลี่ยน ลูกไม่ใช่เด็กๆ แต่เป็นผู้ใหญ่คนหนึ่ง” พ่อของมีดีเล่าเสริม

กิจกรรมที่ลูกๆ ทำก็เปิดโลกให้พ่อแม่เช่นกัน กิจกรรมที่มีดีทำ คือ แสดงละครร่วมกับคนตาบอด ก่อนที่จะเล่นละครด้วยกัน พวกเขาต้องรู้จักกันเสียก่อน กิจกรรมพาเที่ยวจึงเกิดขึ้น เวลาที่ใช้เวลาร่วมกันแม้จะสั้น แต่ก็ทำให้พวกเขาค้นพบตัวตนของแต่ละฝ่าย เปลี่ยนความคิดแรกที่พวกเขาเคยมีต่อกัน

“เมื่อก่อนเวลาเราเห็นคน disable มุมมองเราจะเป็นแบบหนึ่ง แต่ตอนนี้มันเปลี่ยนไป เขาก็เหมือนเรา จริงๆ เก่งกว่าเราด้วยซ้ำ รู้สึกดีที่ลูกได้เห็นมุมนี้ เพราะการอยู่ร่วมกันในสังคม เราต้องมี empathy ให้กัน” แม่มีดีเล่า

คนที่ร่วมโครงการไม่ได้มีแค่คนที่รักในเสียงดนตรี บางคนอาจเคยไม่เข้าใจดนตรีซะด้วยซ้ำ แต่การเข้ามาในโครงการนี้ก็เหมือนเปิดโลกอีกใบให้พวกเขาได้เข้าไปสัมผัส หนึ่งในนั้นคือ ‘เอ๋’ ฆัสรา ขมะวรรณ มุกดาวิจิตร ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ มิวเซียมสยาม 

สมัยก่อนเอ๋ไม่สามารถแยกดนตรีและเสียงได้ เรียกว่าความรู้ทางดนตรีเป็นศูนย์ แต่การทำงานกับอาจารย์ต้อมที่มักใช้ดนตรีเป็นวัตถุดิบในงาน ค่อยๆ เปิดโลกอีกใบให้ผอ.ฝ่ายวิชาการ มิวเซียมสยาม เข้าไปสัมผัส

“เราได้ยินเสียงต่างๆ มากขึ้น หลังร่วมงานกับอาจารย์ต้อมทำนิทรรศการ ‘ประสบการณ์หู สู่อาเซียน’ ได้ยินเสียงที่อาจารย์เอามาใช้ในงาน มันเปลี่ยนชีวิตเรามากเลย เปลี่ยนถึงขนาดที่เราอยากซื้อที่ข้างๆ บ้าน เพื่อที่จะเก็บเสียงไว้ (หัวเราะ)”

เสียงนก เสียงความเคลื่อนไหวของสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว เป็นเสียงที่เอ๋อยากเก็บไว้ เพราะเสียงแต่ละเสียงให้ความรู้สึกไม่เหมือนกัน เป็นดนตรีที่เกิดขึ้นในแต่ละห้วงเวลาของวัน ต่อให้ต้องใช้ชีวิตอยู่คนเดียว แต่หากมีเสียงเหล่านี้อยู่รอบๆ เอ๋ก็ไม่รู้สึกเหงาอีกต่อไป

“เมื่อก่อนเราได้ยินเสียงพวกนี้แหละ แต่เราไม่ได้เชื่อมโยงว่าไอ้เสียงแบบนี้หมายความว่ายังไง ถ้าเราได้ยินเสียงแบบนี้แปลว่างูกำลังเข้ามา ทั้งนก กระรอกจะเซ็งแซ่ระดมเสียงกัน เสียงมันเริ่มมีความหมายไม่เหมือนเดิมสำหรับเรา”

จากประสบการณ์คนทำงานพิพิธภัณฑ์ เอ๋มองว่าการซื้อที่ไว้เพื่อเก็บเสียง คือ การสงวนรักษาและถนอมสิ่งนี้ไว้ เพื่ออนาคตสามารถใช้ประโยชน์​อย่างอื่นได้

“มันเป็นเรื่องความเปลี่ยนแปลงของสังคมด้วยนะ ตั้งแต่มีเรื่องภาษีที่ดินมา ที่เริ่มหายไปเรื่อยๆ ต้นไม้ละแวกบ้าน ต้นมะขาม หายไปเรื่อยๆ กลายเป็นตึก เรารู้สึกว่าสิ่งที่เห็นมาตั้งแต่เด็กมันกำลังหมดไป… การเก็บพื้นที่ เก็บเสียงแบบนี้ไว้ ไม่รู้สิ มันอาจจะเหมือนกับเป็นพิพิธภัณฑ์วัดก็ได้มั้ง เก็บไว้ก่อน แล้ววันหนึ่งอาจจะได้ทำอะไรก็ได้”

‘เสียง’ ยังเปิดตัวตนอีกด้านของเอ๋  ให้ค้นพบสิ่งที่ชอบอีกอย่าง คือ ทำละคร

“เราค้นพบตัวเองว่า ถ้าฉันเรียนอะไรได้อีก ฉันจะเรียนละคร เรารู้สึกว่าละครมันคือ combination การรวมตัวของทุกสิ่ง แล้วแต่ละอย่างมีความหมายหมดเลย เสียง การแสดงออก คล้ายๆ กับการผลิตอะไรด้วยร่างกายตัวเอง เรารู้สึกว่านี่สำคัญมาก เมื่อมา combine กับเสียงค่อนข้างมีพลัง”

คำว่า ‘ดนตรี’ สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการก็เปลี่ยนไปเช่นกัน จากแต่ก่อนเป็นสิ่งที่สร้างความสุขให้พวกเขา วันนี้พวกเขาสามารถส่งต่อความสุขให้กับคนอื่นๆ ผ่านเสียงดนตรีเช่นกัน ในฐานะเพื่อนร่วมโลกคนหนึ่ง

“มีคนเคยพูดว่า นักร้องที่ดีเรารู้สึกอะไร คนฟังต้องรู้สึกไปพร้อมกับเรา เช่น ร้องเพลงเศร้า คนร้องรู้สึกเศร้า คนฟังบางคนอาจจะร้องไห้ไปด้วยก็ได้ หรือร้องเพลงที่มีความสุข คนฟังก็ต้องสัมผัสสิ่งนี้ได้เหมือนกัน” ความพิเศษของการเป็น ‘นักร้อง’ ที่พิงค์กี้รู้สึก

การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเพราะเราไม่ได้รักดนตรีมากเกินไป 

สำหรับอ.ต้อม ดนตรีที่เปลี่ยนแปลงชีวิตได้ เป็นดนตรีที่ไม่ได้ถูกรักมากจนเกินไป 

“ไม่ห้ามใครเป็นเจ้าของ ประมาณว่าฉันเป็นเจ้าของเธอคนเดียว หรือปกป้องดนตรีว่ามันห้ามตายนะ ถ้าตายฉันจะตายตามมัน ต้อมไม่ได้ศรัทธาดนตรีแบบไม่ลืมหูลืมตา ไม่ได้รักดนตรีเกินไป แต่เราเคารพและศรัทธาในดนตรี”  

ย้อนกลับไปสมัยเป็นนักศึกษาปริญญาตรี อ.ต้อมได้อ่านบทความท่านพุทธทาสภิกขุที่พูดถึงโทษของศิลปะ ตอนหนึ่งเขียนไว้ว่า ถ้าเรารักเกินไป เราหลงรูปมันเกินไป บางทีมันก็ทำร้าย 

“เช่น ซ้อมจนกว่าจะไปสุด สุดแล้วมันคืออะไร จริงๆ แล้วเราลืมคำว่า relationship ไป”​

คำว่า relationship คือจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่าง อ.ต้อมกับเสียงดนตรี ผ่านเครื่องดนตรีชิ้นแรกในชีวิตอย่างเปียโน

“เห็นเปียโนในโฆษณา ตอนนั้นเรายังไม่รู้ว่าคืออะไร แค่สงสัยว่าเฟอร์นิเจอร์ชิ้นนี้มันสร้างเสียงได้ยังไง และมีความสัมพันธ์ยังไงกับคนเล่น แล้วทำไมมันถึงสร้างเสียงได้น่าสนใจอย่างนี้ เลยขอคุณแม่เรียน” 

จนเติบโตและเลือกเรียนดนตรีเป็นวิชาชีพ อ.ต้อมค้นพบว่า จริงๆ แล้ว เหตุผลของการตกหลุมรักเปียโนครั้งแรกเป็นเพราะกลไกการสร้างเสียง และความสัมพันธ์ระหว่างคนกับเปียโนจนเกิดเป็นเสียง 

“คือจุดหลักที่ทำให้เราสนใจในความมหัศจรรย์ของเครื่องดนตรีชิ้นนี้ จากนั้นเสียงก็เริ่มพาให้เราไปเจอคนหลากหลายมากขึ้น”​

แต่ความคิดดังกล่าวก็เหมือนจะสวนทางกับการศึกษากระแสหลัก จนความคิดอยากเป็นครูของอ.ต้อมในเวลานั้นลดลงเรื่อยๆ จนได้มาลงเรียนวิชา Education for society กับ อ.อมรวิชช์ นาครทรรพ และ World music กับ อ.อานันท์ นาคคง ที่สอนคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ในขณะนั้น 

“Education for Society กับ อ.อมรวิชช์ มีสิ่งที่ทำให้เราเริ่มเชื่อว่า การศึกษาเป็นพลังที่สามารถเปลี่ยนคน เปลี่ยนสังคม เปลี่ยนโลกได้จริงๆ ส่วนวิชา World Music กับ อ.อานันท์ จังหวะนั้นอาจารย์นำเครื่องดนตรีของจีนมาเล่นกับออร์เคสตร้า ซึ่งมันเล่นด้วยกันได้ และมันเป็นจุดนึงที่ทลายความเชื่อของเราว่าดนตรีคลาสสิกมันเหนือกว่าดนตรีอย่างอื่น เพราะเราเรียนดนตรีคลาสสิกมาตลอด นาทีนั้นจึงรู้สึกว่า เอ๊ะ มันมีโลกอื่นที่เรายังไม่รู้เกี่ยวกับดนตรีรึเปล่า”​

จนสำเร็จการศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย ครุศาสตร์บัณฑิตได้ดูหนังเรื่อง The pianist ก็ยิ่งรู้สึกว่ามีภารกิจบางอย่างรออยู่ 

“ถ้าโลกนี้มันเกิดสงครามขึ้นมา อาชีพนักดนตรีเนี่ยเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นมากที่สุด เราเลยคิดว่า ทำยังไงให้ฉันที่เรียนดนตรีมา 4 ปี ไม่ตกงาน ทำยังไงเราถึงจะเป็นคนที่มีความสำคัญกับโลกใบนี้บ้าง ทำยังไงให้เราไม่ถูกโดนทิ้งเป็นสิ่งแรกบ้าง (หัวเราะ) เราเริ่มเชื่อในการศึกษา เรามีเสียงดนตรีติดตัว แต่เราจะทำยังไงให้เสียงดนตรีมันเป็นสิ่งที่มีความหมาย กับทั้งชีวิตเรา และชีวิตคนอื่น” 

อ.ต้อมจึงตัดสินใจเดินหน้าศึกษาต่อด้านดนตรีจนถึงระดับปริญญาเอก 

ต้องมีความสัมพันธ์ การเรียนรู้ถึงเกิด

ระหว่างเส้นทางการศึกษาด้านดนตรีอย่างลงลึก อ.ต้อม ค้นพบว่าก่อนการเรียนรู้ใดๆ จะเกิดขึ้น ต้องนับหนึ่งที่ relationship สร้างความสัมพันธ์ระหว่างเครื่องดนตรีกับมนุษย์ให้เกิดขึ้นก่อน 

อ.ต้อมเอง สร้างความสัมพันธ์ครั้งแรกด้วยการแกะเปียโน เพราะอยากรู้ว่าเสียงมันออกมาได้อย่างไร

“มันเป็นสิ่งที่โรงเรียนดนตรีไม่ค่อยให้เด็กทำ แต่พอเรามาสอนเอง พบว่าสอนๆ ไปเด็กเริ่มหลุดโฟกัส สิ่งที่ต้อมทำคือแกะเปียโนให้เขาดูว่าข้างในเป็นยังไง แล้วความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับเปียโน มันเปลี่ยนไปอย่างมหาศาล เขาเริ่มรู้สึกว่าเปียโนก็มีกลไกแห่งชีวิตเหมือนเขา มันมีแรงโน้มถ่วง มันมีการตีแล้วดัง แล้วเกิดเสียง มันไม่ mysterious (ลึกลับ) กับเด็กอีกต่อไป อันนี้เป็นโจทย์สำคัญในการทำงานของเรา” 

เพราะการสร้างสรรค์สิ่งใดก็ตาม ย่อมต้องรู้ก่อนว่าสิ่งนั้นเกิดจากอะไร เสียงดนตรีก็เช่นกัน 

แต่ถ้าไม่รู้ นอกจากจะสร้างสรรค์ลำบากแล้ว สิ่งที่เข้ามาแทน อาจเป็นช่องว่าง 

“ปัญหาหนึ่งของ การเรียนการสอนดนตรีในเมืองไทยคือ พอถึงช่วงเวลานึงเด็กไม่ได้จากลากับเปียโนด้วยความสัมพันธ์ที่ดี มันจึงเกิดช่องว่าง ต้อมรู้สึกว่างานดนตรีมันมีช่องว่างเยอะมาก ทั้งช่องว่างของคนกับเครื่อง ช่องว่างของคนกับเสียง ช่องว่างของคนกับคน ช่องว่างของความรู้กับความไม่รู้” 

Relationship จึงเป็นสิ่งที่อ.ต้อมตามหามาตลอดทั้งชีวิตในงานดนตรี เพราะถ้าความสัมพันธ์เกิด สิ่งที่ตามมาอย่างเป็นธรรมชาติคือการเรียนรู้ 

ในความเห็นอ.ต้อม ไม่ใช่แค่ดนตรี แต่การศึกษาโดยทั่วไป ไม่เคยสอนให้เด็กๆ มีความสัมพันธ์กับอะไรทั้งสิ้น 

“สุดท้ายเขาก็จะสร้างเสียงที่ไปสัมพันธ์กับคนอื่นไม่เป็น เขาก็จะสัมพันธ์กับคนที่มาฟังเขาไม่เป็น” 

สิ่งที่เกิดขึ้นหลายๆ ครั้ง คือ ดนตรีกลายเป็น object หรือสิ่งของอย่างหนึ่ง ไม่ได้ซึมซับเข้ามาที่ตัวเรา ฝึกบ่อยแค่ไหนจึงไม่ต่างอะไรกับการทำซ้ำ 

“เหมือนเราพูดตามคำพูดคนอื่นเฉยๆ”​ อ.ต้อมเปรียบเทียบ 

หนึ่งในตัวอย่างที่เต็มไปด้วยช่องว่างคือ ‘ดนตรีคลาสสิก’ ที่คนจำนวนมากรู้สึกว่าเข้าไม่ถึง 

“มากไปกว่านั้น มันมีเส้นแบ่งระหว่างอาชีพว่า นี่คือนักดนตรี คนนี้ไม่ใช่ มันเลยทำให้คนจำนวนหนึ่งหยุดสร้างดนตรี เพราะรู้สึกว่าฉันไม่มีสิทธิ์ที่จะสร้างดนตรี เพราะฉันไม่ใช่นักดนตรี และเส้นพรมแดนนี้มันแข็งแกร่งเหลือเกิน” 

แต่ถ้าย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ดนตรีคลาสสิกจริงๆ  อ.ต้อมบอกว่า “แทบจะเคาะประตู้บ้าน”​

“มันมีทั้งเพลงของกลุ่มสมัครเล่น สำนักพิมพ์จำนวนมากเกิดขึ้นเพื่อพิมพ์กระดาษโน้ตให้คนที่ไม่ได้เป็นนักดนตรีสามารถเล่นได้ที่บ้าน แต่ธรรมเนียมเหล่านี้มันหายไป พอมี Concert Hall เข้ามา พอหลุดจากเวที คุณกลายเป็นคนฟังละนะ มันเลยห่าง มีช่องว่าง”​

พอจำกัดให้แคบลงมาในวัฒนธรรมแบบไทยๆ ดนตรีถูกผนวกกับพิธีกรรม ความเชื่อ โดยเฉพาะดนตรีคลาสสิกที่มีทั้งพิธีกรรมและวรรณะทางสังคม จึงขยับชั้นไปเป็นความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งไม่ควรแตะต้องในฐานะของสูง และมีความถูกต้องเพียงหนึ่งเดียว

“คำว่าศักดิ์สิทธิ์มาพร้อมความเคารพ สองคำนี้มีความหมายคล้ายกันคือ ต้องไม่ตั้งคำถาม ไม่สงสัย และไม่มีสิ่งอื่นที่ดีกว่านี้”​

แล้วดนตรีคลาสสิกในความคิดของอ.ต้อมคืออะไร?

“ดนตรีคลาสสิกคือดนตรีที่ละเอียดและประณีต ไม่จำเป็นว่ามันเป็นดนตรีที่ถูกเล่นด้วยเครื่องดนตรีที่มี origin หรือประวัติศาสตร์มาจากที่ไหน ดนตรีไทยที่ถูกทำให้ละเอียดและประณีตก็คลาสสิก อิเล็กทรอนิกส์ ติ๊ดๆ ที่ถูกทำให้ละเอียดประณีต นี่ก็คลาสสิก ลูกทุ่งก็คลาสสิกได้”​

ความละเอียดประณีต มีหน้าตาเป็นอย่างไร?

“คือการเข้าใจความสัมพันธ์ของผู้สร้างเสียง แล้วดูแลมันตั้งแต่ก่อนสร้างจนกระทั่งเสียงมันทำหน้าที่จนจบ” 

เช่นนั้น ภารกิจของอ.ต้อม คือ สร้างให้คนเข้ามามีส่วนร่วมกับการสร้างดนตรีที่ละเอียดและประณีต จนเกิดเป็นความสัมพันธ์ จากนั้นคือการเรียนรู้ 

พอเรียนรู้ เมล็ดพันธุ์ที่งอกงามตามมาคือ การตระหนักในสิทธิในการสร้างเสียงของตัวเอง ซึ่งเป็นแนวคิดสำคัญของโครงการ PGVIM singers และ Music Makes Changes ที่เชื่อมันและผลักดันให้ทุกคนกล้าสร้างเสียงเพื่อแสดง (express) ตัวเองออกมา 

ส่วนการปรุงเสียงใดๆ ให้ harmony ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของอ.ต้อม 

“ต้อมไม่ชอบคำว่าดนตรีเป็นภาษาสากล แต่ดนตรีเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ก่อรูปมาในลักษณะที่คนเข้าใจมากที่สุด นั่นคือความกลมกลืน หรือ harmony และ ดนตรี represent สิ่งนี้ได้ดีที่สุด”​

กลมกลืนหรือไม่ ใช้ประสาทสัมผัสอย่างหูฟังเอาก็รู้ – อ.ต้อมบอก 

“ในนาทีที่สังคมล่มสลาย ในนาทีที่คนพูดกันไม่ได้แล้ว ดนตรีเป็นสิ่งสุดท้ายที่เป็นความหวังมนุษย์ ถ้ามันจะมีเสียงร่วมกันแค่เสียงเดียวในฐานะเครื่องยึดเหนี่ยวสุดท้าย ดนตรีจะทำให้คนอยู่ร่วมกันได้”​

ความกลมกลืนของมันจึงเปลี่ยนชีวิตได้ 

Writer
Avatar photo
tippimolk

คุณแม่ลูกหนึ่งซึ่งคลุกวงในงานข่าวมาหลายสิบปี เพิ่งมาค้นพบตัวเองไม่กี่ปีมานี้ว่าอินกับงานด้านเด็ก ครอบครัว และการศึกษามากเป็นพิเศษ จึงเป็นเหตุให้มาร่วมสร้างแผนที่การเรียนรู้อย่าง mappa

Writer
Avatar photo
เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

ชีวิตอยู่ได้ด้วยซัมเมอร์ ทะเล และความฝันที่จะได้ทำสิ่งที่เป็นความสุขตลอดไป

Photographer
Avatar photo
ชัชฐพล จันทยุง

หลงรักการบันทึกรอยยิ้มและความรู้สึกเป็นภาพถ่าย

Related Posts

Related Posts