

คุยเรื่อง Micro Cinema ในไทยกับการตอบสนองต่อความแตกต่างหลากหลายกับสุภาพ หริมเทพาทิป
คุยเรื่อง Micro Cinema ในไทยกับการตอบสนองต่อความแตกต่างหลากหลายกับสุภาพ หริมเทพาทิป
ไม่รู้ว่าหากจะวัดกันจริงๆ แล้วในช่วงเวลาเพียง 3 ปีที่ Doc Club & Pub. ยืนหยัดเป็นโรงหนัง Micro Cinema ที่เปรียบเหมือนฐานที่มั่นสำหรับหนังสารคดีและหนังนอกกระแส และยิ่งไปกว่านั้น—เป็นพื้นที่เสวนาหลังหนังจบ จะสร้างแรงกระเพื่อมหรือการเปลี่ยนแปลงให้วัฒนธรรมการรับชมภาพยนตร์ในประเทศไทยมากน้อยแค่ไหน เพราะหมู-สุภาพ หริมเทพาทิป หนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังพื้นที่ดังกล่าวร่วมกับ ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ บอกเราว่าระยะเวลา 3 ปีเป็นเพียงแค่เศษหนึ่งส่วนสิบของ 30 ปีที่เขาได้มีโอกาสสังเกตความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวัฒนธรรมการดูหนังในไทย และก่อนที่ Doc Club & Pub. จะต้องยุติพื้นที่ฉายหนังไปเมื่อปลายปีที่แล้ว เขาก็ยังไม่อาจพูดได้ว่า Doc Club & Pub. ได้ทำให้เกิดสิ่งที่เขาอยากจะให้เกิด
แต่เราก็รู้ว่าความตั้งใจและทุ่มเทที่จะสร้างพื้นที่สำหรับหนังนอกกระแสและสำหรับการพูดคุยหลังหนังจบที่หาไม่ได้ง่ายนักในประเทศไทยนั้นหนักแน่นและทรงพลังมากพอจะส่งต่อมายังคนที่อยากจะเห็นสิ่งเดียวกันได้ เมื่อข่าวการต้องปิดพื้นที่ฉายภาพยนตร์ของ Doc Club & Pub. ไม่เข้าหลักเกณฑ์การอนุญาตตัวอาคารและโรงมหรสพ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 กลายเป็นข่าวใหญ่สำหรับคนรักหนังที่ต่างออกมาเรียกร้องให้พิจารณาแก้กฎหมายดังกล่าว

ที่จริงเราควรจะคุยเรื่อง Doc Club & Pub. การขับเคลื่อน Micro Cinema ในไทย และความพยายามในการสร้างวัฒนธรรมการดูหนังเพียงเท่านั้น แต่สิ่งที่เราอดสงสัยไม่ได้คืออะไรที่ทำให้คนคนหนึ่งเติบโตมาขับเคลื่อนวัฒนธรรมการดูหนังตลอดหลายปีที่ผ่านมาโดยไม่ปล่อยมือ และพยายามสร้างพื้นที่อย่าง Doc Club & Pub. ขึ้นมา เราจึงเรี่มต้นบทสนทนาด้วยการถามว่าเขาเติบโตมาอย่างไร
หมู-สุภาพ หริมเทพาทิป เติบโตมาในช่วงที่วงการหนังไทยมีความหลากหลายและอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้สนใจหนัง ไม่ว่าจะเป็นสถานที่อย่างวัด โรงเรียน และสถานที่ราชการที่มักจะมีหนังกลางแปลงมาจัดฉาย หรือโรงหนังที่ไม่ไกลจากบ้านนัก รวมถึงการที่พี่ชายเปิดร้านเทปและขยายเป็นร้านวิดีโอจึงมีส่วนบ่มเพาะให้เขาสนใจในโลกภาพยนตร์
“หนังมันหลากหลาย มีหนังสารพัดแบบแล้วรอบๆ บ้านก็มีร้านตัดผมและแผงหนังสือที่ใจดีให้เราเข้าไปอ่านหนังสือดารา มันทำให้รู้สึกว่าวงการหนังมันคึกคักเพราะเราอยู่กับข่าวสารข้อมูลในช่วงเวลานั้น มันเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านหลังยุค 2513 ที่หนังไทยเริ่มเข้าสู่ยุคใหม่ เป็นงานในช่วงที่ซุปเปอร์เปี๊ยกทำเรื่องเพื่อนรัก หนังของคุณสมโพธิ แสงเดือนฉาย เป็นเรื่องที่มันต่อมาจากทีวีประเภทหนุมานพบเจ็ดยอดมนุษย์ หนุมานพบห้าไอ้มดแดง เราก็ดูหนังพวกนี้นี่แหละ มันก็มีหนังที่ตอบสนองเด็กได้เยอะ ก็สนุกไปกับการดู”
แต่สิ่งที่ทำให้สุภาพเริ่มสนใจในการจัดฉายภาพยนตร์ คงเป็นประสบการณ์ที่เขาได้รับจากการเป็นอาสาสมัครที่หอภาพยนตร์แห่งชาติในช่วงที่เพิ่งก่อตั้งได้ไม่นานนัก หน้าที่ของสุภาพรวมไปถึงการช่วยเรื่องการจัดเรียงฟิล์ม งานเอกสาร และสิ่งที่ทำให้ขาตื่นเต้นก็คือการได้เห็นอะไรเกี่ยวกับหนังที่เคยได้ยินแต่ไม่เคยได้เห็น
“ได้ฟังเทปที่คุณโดม (สุขวงศ์) ไปสัมภาษณ์คนต่างๆ ที่ถือว่าเป็นคนเริ่มต้นในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย เราก็ตื่นเต้นกับเรื่องเหล่านี้ จนกระทั่งเขาให้เป็นเจ้าหน้าที่หอภาพยนตร์ เราก็ทำต่อมาแล้วก็ได้รับมอบหมายให้อยู่ในส่วนของงานจัดกิจกรรมของหอภาพยนตร์ ซึ่งเป็นกิจกรรมภาพยนตร์สโมสร เราก็จัดโปรแกรมหนัง ทำกับเพื่อน ๆ ที่เป็นนักดูหนัง เราทำหน้าที่ไปยืมหนังจากสถาบันเกอเธ่ จากส่วนงานของสถานทูตฝรั่งเศส ของมูลนิธิญี่ปุ่นซึ่งพวกนี้จะมีคลังเก็บภาพยนตร์อยู่ในเมืองไทย มันก็ทำให้เราได้มีโอกาสได้ดูหนังเหล่านี้ ในนามของการไปยืมหนังมาดูก่อน บางเรื่องก็ไม่ได้จะเอามาฉาย แต่ยืมมาดูเพื่อที่จะมาคัดเลือก แต่ว่าสุดท้ายก็เลือกเรื่องที่เราอยากจะฉาย ช่วงเวลาประมาณนี้ก็อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นก็ได้ที่ทำแล้ว เรารู้สึกสนุกกับมัน”
เหนือไปกว่าการจัดฉายหนัง สิ่งที่สุภาพอยากเห็นมาเสมอก็คือการเกิดวงแลกเปลี่ยนพูดคุยหลังหนังจบ และนั่นคือสิ่งที่เขาพยายามทำมาตลอดตั้งแต่ช่วงที่ทั้งเขาและธิดาทำ Bioscope ก่อนที่จะมี Doc Club Theatre ที่ Warehouse 30
“ตอนมีออฟฟิศแรกก็พยายามให้มันมีที่ฉายหนัง เมื่อได้รับการชวนให้ทำจาก Warehouse 30 ตอนนั้นก็อยากจะทำให้มันมีลักษณะอย่างที่ว่า จัดหาหนัง เอาหนังที่อาจจะฉายยากในพื้นที่อื่นมาฉายในพื้นที่เราเอง แล้วก็ตั้งประเด็นหาคนมาพูดคุย หาคนมาเติมสิ่งที่นอกเหนือไปจากหนังที่ได้ดู ซึ่งอาจจะทำให้เราเข้าใจหนังเรื่องนั้นมากขึ้น ได้แลกเปลี่ยนกับคนที่ดูแล้วมองเห็นสิ่งอื่นที่นอกเหนือไปจากที่เรามีโอกาสได้เห็น อันนี้มันเป็นเรื่องที่เราสนุกอยู่แล้ว”

ตอนที่เลิกจัดฉายที่ Warehouse 30 สุภาพไม่ได้จินตนาการไว้หรอกว่าพื้นที่ฉายหนังแห่งใหม่ที่เขาต้องการหน้าตาเป็นยังไง แต่ประจวบเหมาะกับที่โรงภาพยนตร์อิสระอย่าง Bangkok Screening Room ยุติการให้บริการ ชั้นสองของอาคาร WOOF PACK ที่เคยเป็น Bangkok Screening Room ซึ่งมีความพร้อมในการฉายหนังพอประมาณจึงกลายเป็น Doc Club & Pub. อย่างที่เราได้เห็น
Doc Club & Pub. : 3 ปีของความสนุกและได้ลอง
“สนุกและได้ลอง”
หากจะถามว่าการทำ Doc Club & Pub. ตลอดระยะเวลา 3 ปีให้อะไรกับสุภาพบ้าง “สนุกและได้ลอง” ก็อาจจะเป็นคำตอบสั้นๆ ที่ครอบคลุมที่สุด
เพราะ Micro Cinema ในประเทศไทยยังมีเพียงไม่กี่ที่ ที่จริงหากจะบอกว่า Doc Club & Pub. เป็น Micro Cinema แห่งแรกๆ เลยก็คงไม่ผิด การทำ Doc Club & Pub. จึงไม่มีกรอบหรือเงื่อนไขใดๆ มากำหนดไว้อย่างโรงหนัง Multiplex แต่ในความอิสระนั้น ก็แปลว่าไม่มีโมเดลความสำเร็จอื่นๆ ให้นำมาทำตามด้วย และการทำอะไรใหม่ๆ ที่ยังไม่มีใครกรุยทางให้ก็มักจะน่าหวั่นใจเสมอ เราจึงอยากรู้ว่าในวันที่เริ่มทำ Doc Club & Pub. สุภาพได้มองไว้ไหมว่าจะเกิดอุปสรรคอะไรขึ้นบ้าง

“อุปสรรคก็คิดว่ามันมีอยู่ตลอดทางอยู่แล้วละ แต่เราก็คิดว่าถ้าเรามองว่ามันเป็นอุปสรรคเราจะไม่ได้ลอง” สุภาพตอบ “อันนี้เป็นเรื่องจังหวะเวลา มันน่าจะเป็นการฝึกประสาทการรับรู้ว่าในช่วงเวลานี้คนกำลังต้องการสิ่งนี้ แล้วลองใส่สิ่งนี้เข้าไปสิ มันอาจจะทำปฏิกิริยาเคมีอะไรบางอย่างที่ดึงดูดให้คนสนใจเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับเรื่องที่เรากำลังจัดขึ้นมาก็ได้”
ความไม่มีกรอบและไม่มีโมเดลต้นแบบนี้จึงทำให้ Doc Club & Pub กลายเป็นพื้นที่ของการทดลอง
ทดลองฉายหนังที่บางครั้งอาจล้มเหลวในช่วงเวลาหนึ่ง แต่กลับถูกพูดถึงอีกครั้งในอีกช่วงเวลาหนึ่ง
ทดลองฉายสารคดีที่ไม่ได้ถูกมองเห็นในตลาดหนังไทยเพื่อให้คนอื่นๆ ได้สนุกไปกับมันแบบเดียวกับที่เขาสนุกกับมัน
ทดลองฉาย feature film ที่ยังไม่มีใครซื้อเข้ามาฉาย แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับประสบความสำเร็จเกินคาด
ทดลองขยายปริมณฑลของหนังที่เอามาจัดจำหน่ายในไทย
ทดลองฉายหนังคลาสสิกที่หลายคนอาจจะเคยดูผ่าน streaming แต่ยังไม่อิ่มเอมใจ
“เราเลือกหนังที่เราชอบ เลือกหนังที่เราอยากดู เลือกหนังที่เรามองว่ามันน่าจะมีคนที่สนใจดูหนังแบบเดียวกับเรา เช่น หนังกลุ่มการศึกษา เราพบว่ามันมีคนสนใจหนังแบบนี้ ก็ไปหาหนังเหล่านี้มาฉาย นี่ก็เป็นลักษณะของ Doc Club & Pub. ส่วนคนอื่นเขาอาจจะมีคนที่อยากไปคุยกับเขาเมื่อเอาหนังแบบอื่นมาฉาย เพราะว่ามันมีตัวตนของคนเอาหนังมาฉายกับหนังที่เขาฉาย และคนดูก็อยากไปเจอกับเขาในแง่มุมนั้น สมมติอาจจะมีคนหนึ่งที่เป็นศิลปินเลยแล้วเขาก็จะเลือกหนังแบบที่เขาชอบแล้วคนก็รู้สึกว่าอยากไปดูที่นี่ เขารู้สึกว่าพื้นที่นี้มันคุยกับเขาได้มากกว่าดูหนัง แล้วรู้สึกว่ามันมีบรรยากาศบางอย่างที่มันเอื้อให้เขาเข้าถึงหนังที่เขาได้ดูมากกว่า มันก็อาจจะเป็น Micro Cinema อีกรูปลักษณ์หนึ่งที่ไม่เหมือนกับ Doc Club & Pub.

“ถ้าจะบอกว่ากลไกเป็นแบบนี้แล้วต้องลองทำแบบนี้มันจะประสบความสำเร็จ ผมว่ามันไม่ใช่หรอก มันต้องมีเรื่องจังหวะเวลาแล้วก็บรรยากาศอื่นๆ โดยรอบด้วย ทั้งหมดมันอาศัยประสบการณ์ เราก็รู้สึกว่าที่ทำทุกอย่างมันก็คือการค่อยๆ สั่งสมประสบการณ์ แล้วเราก็รู้สึกว่าการได้มีประสบการณ์เป็นความสนุก โปรแกรมทั้งหมดทั้งปวงถึงแม้ว่าจะไม่ได้ประสบความสำเร็จมากนัก แต่ว่ามันทำให้เรามีประสบการณ์กับบรรยากาศทั้งหมดที่อบอวลรายรอบแล้วก็ต่อประกอบกันออกมาเป็นกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง”
เราถามต่อไปว่าพื้นที่แห่งการทดลองนี้ได้กลายเป็นก้าวแรกของผู้กำกับ คนเขียนบท หรือใครสักคนในวงการหนังหรือยัง
“ก็เป็นความตั้งใจนะถามว่าเกิดไหมมันยังไม่เกิดหรอก เราคิดว่าต้องค่อยๆ ทํา มันก็พอเห็นร่องรอยบางอย่างอยู่บ้าง แต่มันยังไม่พอที่จะบอกได้ว่าที่นี่เป็นแบบนั้นแล้ว มันยังไม่ได้มีภาพนั้นชัดๆ ขึ้นมา

“คนที่เรามองเป็นต้นแบบของเราคือ Henri Langlois (นักเก็บเอกสารภาพยนตร์และคนรักหนังชาวฝรั่งเศส ผู้ก่อตั้ง Cinémathèque Française โรงหนังและพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์) ของฝรั่งเศส เขาทำกับโรงหนัง Art House ของฝรั่งเศสก็คือ Cinémathèque Française การที่เขาค่อยๆ ทำสิ่งเหล่านี้ มันค่อยๆ บ่มเพาะสร้างคนขึ้นมา คนที่มาดูหนังจากโรงของเขา กลายมาเป็นนักวิจารณ์ จากนักวิจารณ์กลายมาเป็นคนทำหนัง และกลายเป็นคนทำหนังที่ไม่ได้มีแค่คนเดียว แต่สร้างหนังแนวทางใหม่ของฝรั่งเศสขึ้นมา เราเองก็อยากจะให้มันเกิดสิ่งนี้เหมือนกันแต่ถามว่ามันจะเกิดได้ไหม ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดและก็มีความเป็นไปได้ที่จะไม่เกิดด้วย”
แม้ว่าภาพนั้นจะยังไม่เกิด แต่ภาพที่เกิดขึ้นแล้วก็คือการเป็นพื้นที่ทดลองให้คนดูไม่ต้องรีบออกจากโรงเมื่อหนังจบ แต่คือที่ที่สามารถฉายหนังหนึ่งชั่วโมงครึ่งเพื่อพูดคุยต่อไปได้อีกสองชั่วโมง หรือหากไม่ได้พูดคุยกันในโรงภาพยนตร์ต่อ ส่วนของ “Pub.” ใน Doc Club & Pub. ก็ยังเป็นพื้นที่ให้ผู้ชมได้ไปคุยกันเองต่อ
“แล้วมันก็เป็นการคุยที่มีความใกล้ชิด ก็สนุกและได้ลอง มันก็เป็นสิ่งที่ลองมาในระยะเวลา 3 ปีซึ่งก็พอจะเห็นอะไรบางอย่าง แต่ว่าเราก็ยังกลัวว่าไอ้สิ่งที่เราทำมันจะเป็นรูปแบบเดิมๆ เกินไปอยู่ ก็เลยลองอย่างอื่นอีก มันก็มีเรื่องให้ลองได้เรื่อยๆ ผมรู้สึกว่าเสน่ห์ของพื้นที่แบบนี้มันคือการได้ทดลองอะไรใหม่ๆ และเราก็สนุกกับการทำสิ่งเหล่านี้ด้วย มันก็เลยเหมือนว่าเติมไฟให้กับเราได้ตลอดเวลา”

Micro Cinema มากกว่าพื้นที่ฉายหนัง คือพื้นที่ที่ตอบสนองต่อวัฒนธรรมของความแตกต่างหลากหลาย
“ทุกประสบการณ์ในการดูหนังมันต่างกันอยู่แล้ว” สุภาพตอบเมื่อเราโยนคำถามเกร่อๆ ว่าในเมื่อทุกวันนี้เราต่างมี streaming ที่สามารถดูหนังได้หลากหลายอยู่แล้ว ทำไม Micro Cinema อย่าง Doc Club & Pub. ยังสำคัญอยู่ คำตอบส่วนใหญ่ของคำถามนี้คงกล่าวถึงเรื่องของบรรยากาศในโรงหนังที่แตกต่างจากการดูที่บ้าน จอฉายที่ใหญ่กว่าจอคอม การได้ดูหนังไปพร้อมกับคนอื่นๆ ซึ่งอาจทำให้มีอารมณ์ร่วมมากขึ้น ฯลฯ แต่สิ่งเหล่านั้นก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตามการจัดฉายแบบตระเวนฉายเช่นกัน เราจึงถามต่อว่านอกเหนือไปจากเหตุผลที่กล่าวมาแล้ว อะไรที่ทำให้ Micro Cinema ยังสำคัญอยู่
“หนังที่เราดูกับเพื่อนก็ให้ความรู้สึกต่างไปจากหนังที่เราร่วมดูกับคนอื่น หนังเรื่องเดียวกัน ดูครั้งที่ 1 ก็มีปฏิสัมพันธ์กับเราต่างกับการที่เราดูเป็นครั้งที่ 2, 3 หรือ 4 ถ้าคนยังมีความสุขกับการหาประสบการณ์ในการดูหนังและรู้ว่าหนังมันมีปฏิกิริยากับเรายังไง ผมคิดว่ามันก็อยู่ที่คนคนนั้นแหละว่ายังต้องการ ยังโหยหาในการจะมีประสบการณ์กับหนังเรื่องนั้นๆ อีกไหม หรือต้องการจะมีประสบการณ์หนังเรื่องใหม่ๆ มันได้หมดครับ ไม่จำเป็นต้องเป็น Micro Cinema ก็ได้ แม้กระทั่งการดู Streaming อยู่ที่บ้านมันก็เป็นประสบการณ์แบบหนึ่งในการดู แต่แน่นอนเมื่อคุณมาดูบนจอร่วมกับคนอื่น คุณก็จะได้ประสบการณ์อีกแบบหนึ่ง แต่ถ้าวันหนึ่งมันไม่มีโอกาสได้ดูบนจอร่วมกับคนอื่น การที่จะเก็บเกี่ยวคอนเทนต์ภาพยนต์ผ่าน Streaming ผ่านการดูในแบบอื่นๆ มันก็ไม่ได้ผิดอะไร”
ในความเห็นของสุภาพ Micro Cinema นั้นเกิดขึ้นมาในยุคที่มีความต้องการของคนกลุ่มคนที่มีความสนใจเฉพาะซึ่งแตกต่างจากลักษณะแมสแบบในอดีต การจัดฉายหนังใน Micro Cinema ไม่ต้องคำนึงถึงคนหลักร้อย และเมื่อจำนวนคนไม่เยอะก็สามารถต่อยอดเป็นการพูดคุยลงลึกได้มากกว่า นอกจากนั้นโรงหนังขนาดเล็กยังเป็นการตอบสนองเรื่องเมืองที่มีหลักการใช้พื้นที่เล็กๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วย
“การใช้พื้นที่ใหญ่ๆ ทำโรงหนังขนาดยักษ์มันผ่านไปแล้วในโลกปัจจุบันนี้ซึ่งสิ่งที่ต้องการความแมสมันย้ายไปอยู่ในโลกออนไลน์ ส่วนโลกเฉพาะ โลกที่มันมีความสนใจร่วมกัน มันมีลักษณะเป็นจิ๊กซอว์เล็กๆ ที่มันต่อกันอยู่ มันอาจจะมีคนสนใจเรื่องนี้และเรื่องนี้ที่เหมือนกันแต่ไม่ได้สนใจอีกเรื่องนึงที่เหมือนกัน ผมมองว่าโลกตอนนี้มันเป็นลักษณะนี้มากกว่า ดังนั้น Micro Cinema มันก็คือโรงหนังขนาดเล็กที่เกิดมาตอบสนองสิ่งเหล่านี้ซึ่งตัวโรงหนังไม่ต้องการทรัพยากรเข้ามาเกื้อหนุนมากนักที่จะทำให้มันอยู่รอดได้

“การเกิดขึ้นของ social media และการเกิดขึ้นของลักษณะตัวตนของคนที่แสดงอัตลักษณ์ผ่าน social media มันก็คือพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป พอพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปตามลักษณะของสังคมยุคนี้ มันก็เลยทําให้ลักษณะความสนใจเฉพาะถูกแสดงออกมาอย่างชัดเจน”
นอกจากจะเป็นพื้นที่ฉายหนังสำหรับคนที่มีความสนใจเฉพาะแล้ว ตัว Micro Cinema แต่ละแห่งเองยังมีลักษณะเฉพาะตัวซึ่งสะท้อนตัวตนของคนที่เป็นคนทำ Micro Cinema นั้นๆ และคนที่แวะเวียนไปที่นั่นด้วย สุภาพบอกเราว่า Micro Cinema นั้นเป็นพื้นที่เปิดให้คนไปมีปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่ และแม้แต่ Doc Club & Pub. เอง ก็อาจไม่ใช่พื้นที่ที่ “คุย” กับทุกคน
“คนที่ทําหน้าที่เลือกหนังของแต่ละที่ คนที่ทําหน้าที่ที่จะทำบทบาทของ Micro Cinema แต่ละแห่ง แต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้น Micro Cinema แต่ละที่ก็จะตอบสนองกลุ่มคนที่ไม่เหมือนกันไปด้วย แต่ทั้งหลายทั้งหมด ผมก็อยากให้มันเกิดพื้นที่การจัดฉายหนังในลักษณะ Micro Cinema คือทำเป็นจริงเป็นจัง ทำแล้วก็แสดงศักยภาพของคนทำพื้นที่และตัวคอนเทนต์ที่เขาเลือกเข้ามาใส่ในพื้นที่ ไม่ใช่เรื่องภาพยนต์อย่างเดียวแต่หมายถึงคอนเทนต์ในลักษณะอื่นที่มันจะทำให้คนรู้สึกว่ามันเป็นพื้นที่ที่เขามีปฏิสัมพันธ์กับมัน ผมรู้สึกว่าอันนี้ถ้าเกิดขึ้นเยอะๆ มันจะทำให้วัฒนธรรมในเรื่องของการเสพงานศิลปะของบ้านเรามันจะขยายวงมากขึ้น มันจะทำให้คนไม่ได้มองหนังเป็นแค่ความบันเทิง แต่มันจะเป็นวัฒนธรรมในการดูหนัง วัฒนธรรมในการเสพงานศิลปะ
“แต่ตอนนี้พอดีว่ามันมีอยู่แค่ไม่กี่ที่มันก็เลยอาจจะมองไม่เห็น การได้มาซึ่งตัวคอนเทนต์ของแต่ละที่ก็ยังมีลักษณะที่มาที่ไม่ต่างกัน มันเลยยังมองไม่ชัดว่า Micro Cinema ที่เกิดขึ้นมันเปลี่ยนแปลงลักษณะของระบบนิเวศของคนดูหนังยังไง ผมอยากให้มันเกิดพื้นที่อย่างนี้มากๆ”
วัฒนธรรมการดูหนังที่ยังไม่เกิดขึ้นเพราะการผูกขาด
การมาถึงของโรงหนังแบบ Multiplex หลังการล่มสลายของ Standalone การวางโปรแกรมหนังที่ต้องรีบเสพ สมทบด้วยธรรมชาติของ social media ที่ต้องรีบดูเพราะอาจโดนสปอยล์ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ทำให้วัฒนธรรมการดูหนังในไทยมีลักษณะที่สุภาพเรียกมันว่า “ฟาสต์ฟิล์ม”
“เหมือนฟาสต์ฟู้ด คือหนังที่ออกมาต้องเป็นลักษณะกึ่งอีเวนต์ให้คนรีบไปดู โรงหนังพยายามเบิร์นหนังให้ออกจากโรงให้เร็วที่สุด เราก็อยู่ในวัฒนธรรมนี้ แต่ทําไมเราไม่อยู่ในสโลวฟิล์มบ้าง ค่อยๆ ดูแล้วก็ละเลียดมันอย่างเอร็ดอร่อย แล้วก็แยกแยะรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสของมัน แล้วก็มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนกับคนอื่น วัฒนธรรมนี้มันหายไปนานมากแล้ว จะเอามันกลับมาเลยไม่ง่าย มันอาจจะต้องใช้เวลา 30 ปีแบบเดียวกันกับที่มันเคยเปลี่ยนมาแล้วก็ได้ ถ้ามีคนทําอย่างต่อเนื่อง”
เราถามสุภาพว่าประเทศที่วัฒนธรรมการดูหนัง (แบบค่อยๆ ละเลียด) แข็งแรงหลักๆ แล้วเกิดจากอะไร การไม่ผูกขาดในวงการหนัง คือคำตอบของเขา
“จริงๆ แล้วถ้าเกิดว่าหนังปัจจุบันนี้สามารถทําได้ง่าย ทําได้ในราคาที่ไม่ได้สูงมากนักก็อาจจะเกิด เมื่อก่อนทางเลือกในการทำหนังมันอาจจะมีแนวทางที่เฉพาะเจาะจงในบ้านเรา แต่ปัจจุบันผมว่าถ้ามันสามารถขยายขอบเขตของหนัง ถ้าคนได้ทําหนังแบบต่างๆ ผมมองว่ามันก็จะทําให้เราไม่ต่างจากที่อื่น แต่ที่อื่นเขามีมาได้ก็อาจจะโดยรัฐบาลสนับสนุน และรัฐบาลหรือกฎหมายไม่ได้ปิดกั้นโอกาสในการเกิดสิ่งเหล่านี้”

สุภาพยกตัวอย่างการนำหนังเข้าฉายในอเมริกาที่มีกระบวนการจัดเรตติงโดย MPAA (Motion Picture Association of America) แต่การจัดเรตติงนี้ก็ไม่ใช่กฎเกณฑ์ผูกขาดที่หนังทุกเรื่องจะต้องผ่านกระบวนการนั้น
“คุณไม่สนใจว่าหนังคุณจะต้องอยู่ในระบบเรตติงก็ได้ ถ้าคุณอยู่ในระบบ rating คุณก็เอาหนังเข้าฉายในโรงของ MPAA ได้แต่ถ้าคุณไม่เอาเข้าฉายในระบบของ MPAA คุณก็ไปฉายในโรงไหนก็ได้ที่สามารถฉายหนังในแบบที่ไม่ต้องผ่านการจัดเรตติงโดย MPAA ได้ ซึ่งแบบนี้มันก็ทำให้เกิดความหลากหลายแล้ว มันมีคนทำหนังจํานวนไม่น้อยหรอกที่เอาหนังออกฉายโดยไม่ได้ผ่านการจัดเรตติงเพราะเขาไม่ได้บังคับ เพียงแต่ว่ามันอาจไม่ได้ฉายในโรงกระแสหลักที่อยู่ภายใต้สมาคมภาพยนตร์อเมริกาเท่านั้นเอง”
ถ้าจะยกตัวอย่างของกฎหมายที่ปิดกั้นโอกาสของโรงหนัง Micro Cinema และหนังนอกกระแสที่เห็นชัดที่สุดในไทย คงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่พูดถึงการยุติการฉายภาพยนตร์ของ Doc Club & Pub. เมื่อปลายปีที่ผ่านมาเนื่องจากไม่เข้าหลักเกณฑ์การอนุญาตตัวอาคารและโรงมหรสพ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ที่พื้นที่ฉายหนังเล็กๆ อย่าง Doc Club & Pub. กลับถูกนับรวมเป็น “โรงมหรสพ” ในกฎหมายแบบ one size fits all โดยหนึ่งในเงื่อนไขการเป็นโรงมหรสพนั้นกำหนดให้ต้องมีทางเดินภายนอกโดยรอบอาคารโรงมหรสพ ซึ่งไม่มีสิ่งกีดขวางและมีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 2.00 เมตร ซึ่งรวมๆ กันแปลว่าโรงหนังต้องมีพื้นที่โดยรอบกว้างไม่น้อยกว่า 4 เมตร ซึ่งเท่ากับตึกแถวเล็กๆ สักห้องหนึ่ง และ WOOF PACK อาคารที่ตั้งของ Doc Club & Pub. ก็อยู่ในกลุ่มตึกแถวเล็กๆ ที่ว่านั่นด้วย
“มันอยู่บนเงื่อนไขที่มันเป็นไปไม่ได้ นี่ก็เป็นสิ่งที่กําลังคุยกันอยู่และมองความเป็นไปได้โดยที่ยังอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัยในพื้นที่แบบต่างๆ แต่ถึงวันนั้นก็อาจจะต้องเลี่ยงไปใช้กฎหมายอื่นที่มันไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการเป็นโรงมหรสพซึ่งตอนนี้ที่พอเป็นไปได้ก็คือการเป็นสถานประกอบการคล้ายสถานบริการ ที่มันใกล้เคียงที่สุดและเป็นไปได้
แต่มันก็ไม่ตอบโจทย์ในเรื่องที่เราพยายามจะสร้างความคุ้นเคยในการดูหนังในลักษณะโรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก แต่มันกลับต้องเลี่ยงไปใช้วิธีการอื่นซึ่งต้องสร้างความคุ้นเคยใหม่ มันก็เป็นเรื่องยากที่เราจะสื่อสารอยู่เหมือนกัน”
สุภาพอธิบายให้เราฟังว่าปัญหาเรื่องกฎหมายนั้นซับซ้อนไปกว่าเรื่องหลักเกณฑ์การอนุญาตตัวอาคาร เพราะที่จริงกระบวนการทางกฎหมายนั้นปิดโอกาสที่จะเกิดความหลากหลายตั้งแต่เรื่องของการเซนเซอร์
“นั่นก็คืออุปสรรคอย่างหนึ่งที่ทําให้เนื้อหาของภาพยนตร์ไทยไม่ไปไหนสักทีในเวลาหนึ่ง ตอนนี้ก็เป็นเรื่องกฎหมายว่าด้วยอาคาร กฎหมายว่าด้วยเรื่องของการควบคุม เรื่องการดูแล เรื่องของการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ที่จัดการโดยรัฐ ถ้าหากว่า พรบ. ภาพยนตร์ฉบับใหม่มันเกิดแล้วปลดล็อกสิ่งเหล่านี้ ก็อาจจะมีอุปสรรคใหม่เกิดขึ้นก็ได้”
หนึ่งในอุปสรรคใหม่ที่สุภาพคาดการณ์ไว้ก็คือการเข้าถึงอสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาที่เหมาะสมเพื่อประโยชน์ต่อการเกิดพื้นที่ทางศิลปะ เขาเล่าว่าพื้นที่ทางศิลปะถูกประเมินว่าจะต้องมีมูลค่าเท่าพื้นที่ทางการค้าซึ่งในความเป็นจริงนั้นเป็นไปไม่ได้
“เราไม่รู้หรอกว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นอีกบ้างแต่อุปสรรคทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นกฎหมายหรือจะโดยกลไกทางธุรกิจ หรือกลไกในเรื่องของการเข้าถึงสิทธิ์ต่างๆ ทางภาพยนตร์ของเรา ถ้ามันหด มันแคบ มันยากมันก็อาจจะทำให้คนถอย ปล่อยมือ แล้วก็เลิกราไป”
ก้าวต่อไปของ Doc Club & Pub.
“อะไรที่ทำให้ยังไม่ปล่อยมือหรือเลิกราไป” เราถาม
“เราทำให้สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ต้องเลี้ยงชีพเราให้ได้” สุภาพตอบ “อันนี้เป็นสิ่งที่คิดว่ามันเป็นความสำคัญสำหรับเราเหมือนกัน จำได้ว่าตอนที่จะเริ่มทำ Bioscope ซึ่งอยู่ในยุคเดียวกับหนังสือทํามือเล่มอื่นๆ เราก็มองว่าถ้าเกิดเรายังคงทํา Bioscope ในลักษณะเป็นงานอดิเรกอย่างที่เป็นอยู่ แล้วไม่บังคับตัวเองว่าให้มันมาเลี้ยงเรา ต่อให้เราสร้างมันขึ้นมา เราก็อาจจะต้องปล่อยมือจากมันไปก็ได้ เพราะคนที่ทําหนังสือทํามือในช่วงเดียวกันเขาก็ปล่อยมือไปจากสิ่งที่เขาทํา แล้วก็เดินเข้าไปทํางานในระบบเพื่อเลี้ยงชีพ มันน่าเสียดายที่สิ่งที่เราสร้างขึ้นมามันจะหายไป เราก็เลยคิดว่าถ้าอย่างนั้นเราต้องเอา Bioscope มาเลี้ยงชีพให้ได้เพื่อที่เราจะได้ทำมันต่อไปยาวๆ แต่จะทำด้วยวิธีการไหนก็ค่อยๆ หาทาง Doc Club & Pub. ก็คิดแบบเดียวกันว่าเราจะต้องเลี้ยงชีพด้วยสิ่งเหล่านี้ ดังนั้นเราต้องหาหนทางที่มันทำต่อไปให้ได้”
สุภาพไม่ได้ตั้งจุดหมายปลายทางที่ชัดเจนของ Doc Club & Pub. เอาไว้ แต่หวังเพียงแค่ให้มันทำบทบาทของมันไปเรื่อยๆ เผื่อว่าโรงฉายภาพยนตร์เล็กๆ แห่งนี้จะไปจุดประกายให้กับใครสักคนที่อยากจะทำแบบเดียวกันโดยมีโมเดลที่เขาทำไว้จนสามารถเลี้ยงชีพด้วยสิ่งเหล่านี้ได้

“สิ่งที่เขาทํามันอาจจะค่อยๆ ไปสร้างวัฒนธรรมในพื้นที่ต่างๆ ถ้าหากว่าเกิดพื้นที่ฉายหนังลักษณะที่ว่านี้กระจายไปทั่วและพื้นที่เหล่านี้โอบอุ้มหนังให้มันสามารถอยู่รอดได้ เราก็มองว่ามันอาจจะเกิดภาพของวงการหนังไทยในหน้าตาใหม่ๆ ขึ้นมาก็ได้ ความตั้งใจเราคืออย่างนั้น แต่มันจะสำเร็จหรือเปล่าไม่รู้เพราะมันเพิ่งจะสามปีเอง มันเพิ่งมาได้หนึ่งในสิบของเส้นทาง 30 ปีเอง”
เมื่อถามว่าตลอดสามปีของการทำ Doc Club & Pub. มา และแม้กระทั่งหลังจากที่ต้องยุติการฉายภาพยนตร์ลง มีอะไรที่เขาในฐานะคนทำประทับใจที่สุด สุภาพตอบว่าคือการได้เห็นคนมาร่วมขบวนในสิ่งที่เขาคิดและพยายามหาหนทางให้ขบวนนั้นเดินต่อไปข้างหน้าได้
“เมื่อเราเสียหลัก ขบวนนี้ก็ยังเป็นกำลังใจให้กันและกัน ทำสิ่งต่างๆ เพื่อประกาศจุดยืนว่าพวกเราจะเดินไปในเส้นทางนี้ เราก็มีความสุขกับสิ่งเหล่านี้แล้ว ก็หวังว่าถ้าเกิดว่าขบวนมันแข็งแรงขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างน้อยสุดคงได้มีโอกาสเห็นวงการหนังที่มีความหลากหลายแตกต่าง แล้วก็เกิดวัฒนธรรมการดูหนังที่คนไม่ต้องมาถูกป้อนให้อย่างเดียว สามารถเลือกได้ว่าจะไปดูหนังที่ไหน ดูแบบไหน
“เอาง่ายๆ ตอนนี้สิ่งที่พอเห็นก็รู้สึกว่ามีความสุขแล้วคือก่อนหน้าที่ Doc Club & Pub. จะปิด มีบางคนบอกว่าชอบดูหนังที่ House จอมันใหญ่ เสียงมันครบ สมบูรณ์ แต่บางคนก็บอกว่าชอบดูที่ Doc Club & Pub. เพราะมันมีความเป็นกันเอง มีอะไรต่างๆ นานา ที่มันเป็นลักษณะเฉพาะของเรา มันก็แสดงถึงความแตกต่างหลากหลายของคนดูแล้ว คนดูหนังไม่ต้องคิดเหมือนกันก็ได้ บางคนชอบแบบหนึ่ง อีกคนก็ชอบแบบหนึ่ง ทั้งที่หนังมันคือหนังเรื่องเดียวกัน ผมว่าแบบนี้มันจะทําให้เริ่มมีคนรู้สึกว่าพื้นที่มันทำปฏิกิริยากับเขา และเขารู้สึกมีความสุขกับการดูเนื้อหาเหล่านั้นที่แตกต่างไปจากอีกที่หนึ่ง อย่างน้อยเขายังได้เลือกว่าเขาจะดูมันแบบไหน”
“ตอนนี้ยังสนุกกับการหาที่ใหม่” สุภาพตอบคำถามที่ว่าหลังจากที่ Doc Club & Pub. ต้องยุติการฉายภาพยนตร์ เขาจะทำยังไงต่อไป

“ทุกวันนี้ขับรถไปที่ไหนแล้วเจอว่าที่นี่ก็น่าจะทำได้ก็ยังสนุกอยู่ บางที่ก็คิดว่ามันจะเป็นไปได้ไหม มันอยู่ไกลออกมาหน่อยแล้วคนเขาจะมากันไหมนะ เราคิดว่าอย่างน้อยที่สุดสิ่งเหล่านี้มันหล่อเลี้ยงเราในแต่ละวัน การขับรถไปดูตึกที่ปล่อยขายปล่อยเช่า โทรสอบถาม หาราคาที่เป็นไปได้ เป็นไปไม่ได้ก็โอเค ไม่เป็นไร ก็หาที่ใหม่ต่อไป ก็ค่อยๆ ว่ากันไป เรื่องแต่ละเรื่องพอมันเกิดปัญหาเราก็ค่อยๆ แกะปมปัญหาเหล่านั้นออกมาแล้วค่อยเดินหน้าต่อ”
Writer

ปัญญาพร แจ่มวุฒิปรีชา
อย่ารู้จักเราเลย รู้จักแมวเราดีกว่า
illustrator

Arunnoon
มนุษย์อินโทรเวิร์ตที่อยากสื่อสารและเชื่อมโยงกับผู้คนผ่านภาพวาด
Photographer

ฉัตรมงคล รักราช
ช่างภาพ และนักหัดเขียน