ดึงอำนาจการเรียนรู้กลับมาสู่บ้าน ตอบทุกคำถาม mappa แพลตฟอร์มที่เชื่อว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่

ดึงอำนาจการเรียนรู้กลับมาสู่บ้าน ตอบทุกคำถาม mappa แพลตฟอร์มที่เชื่อว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่

  • ตอบทุกคำถาม ทุกข้อสงสัยของแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ mappa ที่จะเปิดตัวกลางเดือนมกราคมนี้
  • ภายใต้ความเชื่อที่ว่าอำนาจการเรียนรู้ควรกลับมาอยู่ที่บ้าน พ่อแม่และลูก
  • ผ่านสามงานสำคัญคืองานอ่าน งานบ้าน งานเล่น ที่เด็กๆ คือผู้สำรวจ ร่วมกับคู่หูอย่างพ่อแม่หรือครู เพื่อพิชิตภารกิจไปด้วยกัน

กลางเดือนมกราคมนี้ mappa เตรียมเปิดแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์เฉพาะกิจ สำหรับเด็ก 0-8 ปี ภายใต้ความเชื่อที่ว่า ความรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่ 

mappa ไม่ได้ยิ่งใหญ่ขนาดเปิดถนนเส้นใหม่ แค่ปัดเส้นผมที่บังสายตาให้พ่อๆ แม่ๆ เห็นว่า ทางสายเดิมอย่าง ‘บ้าน’ คือการเรียนรู้ที่ดีที่สุดของลูก

mappa แค่เข้ามาบอกให้พ่อแม่หยุดสักนิด ทำด้วยกันก่อนสักอย่าง กางแผนที่แล้วเดินไปด้วยกัน เดี๋ยวเราจะรู้เองว่า มันใช่ไม่ใช่ ถูกไม่ถูก 

ตอบทุกคำถามเรื่องแพลตฟอร์มใหม่ ทั้งระดับนโยบายและภาคลงมือทำ โดย ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. และ ‘แม่บี’ มิรา เวฬุภาค CEO & Founder, mappa

“เพราะระบบการศึกษามันพรากเอาความมั่นอกมั่นใจที่ฉันจะเป็นคนดูแลเลี้ยงดูลูกออกไปจากพ่อแม่ แล้วไปอยู่กับคุณครูมานานเกินไปแล้ว” 

จึงถึงเวลาดึงอำนาจกลับมาสู่บ้าน สู่พ่อแม่ และสู่ตัวเด็ก

(ซ้าย) ณัฐยา บุญภักดี, (ขวา) มิรา เวฬุภาค

โควิดทั้งรอบนี้และที่ผ่านมา ทำให้เราเห็นว่า การศึกษาขาดอะไรไปบ้างหรือมันขาดอะไรมาตลอด

ณัฐยา: ปัญหาของระบบการศึกษา ก็เหมือนกับปัญหาของระบบสุขภาพ ระบบสาธารณสุข คือมันเอาอำนาจมาพรากความรู้สึกมั่นอกมั่นใจออกไปจากปัจเจก คนไม่รู้สึกมั่นใจที่จะดูแลสุขภาพตัวเอง แต่จะเชื่อผู้รู้ สูงสุดคือหมอ เชื่อพยาบาลก็ไม่เชื่อเท่าหมอ คนไม่เชื่อในศักยภาพตัวเองหรือความรู้ตัวเอง เพราะระบบมันโยกเอาความรู้ไปไว้ที่ผู้เชี่ยวชาญหมด

เช่นเดียวกัน ระบบการศึกษาบ้านเรา ตั้งแต่มันเป็นการศึกษาอย่างเป็นทางการ (formal education) มันพรากเอาความมั่นอกมั่นใจที่ฉันจะเป็นคนดูแลเลี้ยงดูลูกออกไปจากพ่อแม่แล้วไปอยู่กับคุณครูในทุกระดับเลย ตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงมหาวิทยาลัย นี่เป็นรากเหง้าใหญ่ที่ทำให้รู้สึกว่าถ้าจะทำเรื่องการเรียนรู้ เราจะต้องดึงอำนาจกลับมาสู่พ่อแม่ กลับมาสู่บ้าน กลับมาสู่ตัวเด็ก 

ตัวอย่างของระบบที่ไม่เชื่อในศักยภาพตัวเอง ต้องเชื่อคนอื่นตลอดเวลา มีอะไรบ้าง 

ญัฐยา: หลักๆ มันเป็นเรื่องของการให้คุณค่า ถ้าพูดจาแบบนี้ มีภูมิความรู้แบบนี้แสดงว่า ต้องเป็นแบบนี้แน่เลย คิดว่ามุมมองแบบนี้ปรากฏอยู่ในทุกๆ เรื่องนะ  

เราเห็นปรากฏการณ์ตอนนี้ที่เด็กๆ เติบโตมาแล้วไม่ได้คิดว่าอยากจะทำอาชีพแบบที่พ่อแม่ทำมา พ่อ ปู่ ย่าอาจจะเป็นคนที่ทำก๋วยเตี๋ยวอร่อยมาก แต่เด็กอาจจะไม่รู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่าและมองข้ามไป พ่อแม่ก็เลยมองข้ามตัวเองไปเหมือนกัน

มิรา: ประสบการณ์ตรงเลย ตอนไปโรงเรียน ครูบอกว่าลูกเราพิเศษ เรามีแนวโน้มที่จะเชื่อเลยนะ แล้วก็พาไปหาหมอทันที ไม่ว่าจะจริงหรือเปล่า เพราะเราเชื่อว่าเขา (ครู)เป็นผู้เชี่ยวชาญแน่ๆ เขาต้องรู้จักลูกดีกว่าเราจริงๆ เราเอาความมั่นใจแบบนี้ไปเชื่อเขา แต่พอดีช่วงนั้นพอมีสติ เลยคิดว่าเดี๋ยวก่อน เราว่าลูกเราไม่เป็น เลยลองทดสอบทักษะ เอ้า ลูกเราก็ทำได้นี่ จนถึงตอนนี้ลูกเราดูปกติมาก เรียนรู้ได้หมดทุกอย่าง

แล้วทำไมเราจึงต้องดึงการเรียนรู้กลับมาที่ตัวเอง เราในที่นี้คือใครบ้าง 

มิรา: ด้วยความที่เราทำโฮมสคูล โควิดรอบที่แล้ว ช่วงนั้นได้รับโทรศัพท์วันละประมาณ 3-5 สาย ว่าลูกจะต้องกลับมาเรียนที่บ้าน จะทำอย่างไรดี

ครึ่งหนึ่งมันเป็นเรื่องน่าตื่นตระหนก ต้องมีการจัดการ แต่ครึ่งหนึ่งมันก็สะท้อนว่า เรามีความสามารถที่จะพูดคุยกับลูก มองเห็นสิ่งที่ลูกชอบ ทำกิจกรรมบางอย่างด้วยกันได้ดีแค่ไหน คือเราผงะไปเลย เพราะเราฝากทุกอย่างไว้ที่โรงเรียน แล้วพอโรงเรียนปิดปุ๊บ เหมือนการเรียนรู้ปิดไปเลย 

ณัฐยา: โดยส่วนตัวสนใจเรื่องโฮมสคูลมานานมากแล้ว แล้วก็โตมากับวรรณกรรมเยาวชนที่เป็นฝรั่ง ที่มันจะฉายภาพว่า เด็กๆ อยู่ที่บ้าน พ่อแม่ให้เรียนรู้อะไรก็อยู่ที่บ้านไป อ่านหนังสือด้วยกัน พี่ๆ น้องๆ ช่วยพ่อแม่ทำงานมันอบอุ่นมาก ทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างการเรียนรู้ 

พอมาเจอสถานการณ์บางอย่าง ต้องทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่เด็กเล็กได้อยู่กับพ่อแม่ ไม่ใช่อยู่กับใครที่มาช่วยเลี้ยง ทำอย่างไรจึงจะลดพ่อแม่จากเวลาทำงาน อย่างน้อยที่สุดพ่อหรือสักคนหนึ่งมาอยู่ประจำในช่วงที่ลูกเล็ก เป็นเรื่องที่เป็นสวัสดิการที่รัฐจะต้องดูแลอย่างเต็มที่ 

โควิดมาเป็นโอกาส ก่อนหน้านี้ สสส. เชื่อเรื่องให้โรงเรียนเป็นพื้นที่สำคัญในการสนับสนุนการทำงานในโรงเรียนต่างๆ บวกกับว่าเป็นยุคที่เข้าถึงเทคโนโลยีง่ายขึ้น เลยคิดว่ามันมีทางเลือกมากขึ้นที่ไม่ใช่แค่โรงเรียน แต่ต้องทำให้คนเชื่อก่อนว่า เราทำได้ วิธีที่จะทำให้คนเชื่ออย่างนั้นได้เราต้องสร้างตัวช่วยเป็นเพื่อนร่วมทาง เดินไปด้วยกัน ให้เกิดความมั่นอกมั่นใจ แล้วในที่สุดเขาก็จะลืมไปเลย ให้เขารู้สึกว่าต่อไปถ้าไม่มีโควิด หรือมีอย่างอื่นเข้ามาแล้วโรงเรียนต้องปิดเป็นระยะๆ เราหวังว่าความตื่นตะหนกแบบนี้จะน้อยลง

เรากำลังสร้างเครื่องมือที่ทำให้คนกลับมาเชื่อในตัวเองว่าใครก็ได้สามารถสร้างการเรียนรู้ได้? 

มิรา: ใช่ สำหรับคนที่เป็นคนสร้าง แต่สำหรับเด็ก เด็กจะเชื่อว่าเขามีการเรียนรู้ มีศักยภาพในตัวเอง

ณัฐยา: แพลตฟอร์มแบบนี้มีศักยภาพ และเราจะทำอย่างไรให้มันสม่ำเสมอเหมือนเดินไปข้างๆ ความเชื่อแบบนี้ ความมั่นใจเหล่านี้มันจะค่อยๆ สะสม จนถึงวันหนึ่งเขาอาจจะรู้เลยก็ได้ว่าไม่จำเป็นต้องไปโรงเรียน ไม่ได้แปลว่าโรงเรียนไม่สำคัญนะ แต่หมายความว่ามันจะเดือดร้อนน้อยลง พึ่งพาน้อยลง

มิรา: เลือกโรงเรียนดีที่สุด จ่ายแพง ยอมเป็นหนี้ ทำงานเหนื่อย คาดหวังสูงทั้งโรงเรียน คาดหวังทั้งลูก มันเหมือนเป็นลูกโซ่ที่ไม่หมดไปเสียที ถ้าเรามีเครื่องมือแบบนี้ ที่เราจะปฏิบัติไปด้วยกัน มันก็น่าจะลดลง

mappa เปิดตัวมา 9 เดือนแล้ว (ครั้งแรกใน Facebook fanpage) ย้อนถามว่ามันเกิดขึ้นมาจากอะไร 

ณัฐยา: โควิดหนที่แล้ว ผู้จัดการ สสส. พูดว่าโรงเรียนปิดหมดเลย แล้วการเรียนรู้จะเป็นอย่างไร สำนัก 4 (สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว – สสส.) มีแผนทำอะไร ด้วยความที่สนใจอยู่แล้วเราก็ขอทำ kids at home – การเรียนรู้ที่บ้าน แกก็บอก ดีเลย ลุย (หัวเราะ)  

จากนั้นเราต้องหาพาร์ทเนอร์เก่งๆ โทรหาแม่บี (มิรา) ที่เชื่อเรื่องพลังของพ่อแม่ แล้วแม่บีจัดให้ว่าจะคุยกับใครบ้าง อันนี้ทำให้เรารู้เลยว่า เราแค่คุยกับคนที่ใช่แล้วเราก็ให้พื้นที่ไปเลย วางใจ เดี๋ยวมันจะเกิดการประสานและทำงานต่อกันเอง

มิรา: สิ่งแรกคือ ตั้งสติ แล้วคิดว่าต้องทำแพลตฟอร์ม ซึ่งแพลตฟอร์มมันน่าจะเข้าถึงทุกกลุ่ม และน่าจะเป็นตัวที่ลงทุนน้อยที่สุด โควิดเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่งานนี้เป็นงานระยะยาว เราจึงต้องคิดให้ยาวภายใต้แผนระยะสั้น 

เสาแรกการสื่อสาร ก็นึกถึง WAY คิดว่าเราต้องสื่อสารเพื่อเปลี่ยนความคิดพ่อแม่ว่าบ้านหรือที่ไหนก็เป็นที่เรียนรู้ได้ เพราะต่อให้เราทำแพลตฟอร์มที่ดีมากๆ แต่ไม่มีคนพูดเสียงนี้ขึ้นมา แพลตฟอร์มก็ไม่ถูกใช้ 

มันจะต่างกับวิธีของ Start up ที่อื่นทำ เพราะส่วนใหญ่เขาต้องเชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มก่อนแล้วค่อยสื่อสาร แต่เราจะทำไปพร้อมกันซึ่งความรู้ที่ได้มันก็จะต่างกับแพลตฟอร์มอื่นๆ พอแพลตฟอร์มพร้อมจะได้ไม่ต้องไปโหมสร้างความเชื่อมาก เพราะเรามีฐานแฟนอยู่แล้ว 

เสาที่สองคือหลักสูตร แพลตฟอร์มนี้จะมาแบบเร่งๆ ไม่ได้ การศึกษาก็ทำแบบเล่นๆ ไม่ได้เช่นเดียวกัน ต้องทำให้พ่อแม่เชื่อว่า นี่ไม่ใช่กิจกรรมยามว่าง ไม่ใช่กิจกรรมนอกหลักสูตร จึงทำให้เราต้องมานั่งวางหลักสูตร และวางวิธีการปล่อยคอนเทนต์ที่ดี เพราะเราเห็นแล้วว่าแนวโน้มมันกำลังมา นักการศึกษาหลายคนเริ่มตระหนักว่า การเรียนรู้ต้องดูที่ตัวเด็ก ไม่จำเป็นต้องเรียนภาษาหรือคณิตศาตร์เร็วเกินไปนะ เราให้เด็กได้เล่น ได้ทำงานบ้าน ได้อ่านหนังสือ

ปรึกษาหลายคน ทั้งอาจารย์ต้น (เดชรัต สุขกำเนิด) พี่ก๋วย (พฤหัส พหลกุลบุตร – มะขามป้อม) ครูมอส (อนุพันธ์ พฤกษ์พันธุ์ขจี – นักศิลปะบำบัด) เพื่อที่ว่าเราจะวางหลักสูตรอย่างไร 

เสาที่สามคือ การออกแบบการเรียนรู้ (learning design) เรานึกถึงเลยว่า เด็กจะเรียนรู้จากแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างไร คิดว่าทำอย่างไรให้เด็กอยากเรียนเอง ไม่ใช่บังคับเขามานั่งหน้าจอ  จึงต้องหาคนที่ทำเรื่องการหยิบกระบวนการออกแบบ (gamification) มาใช้จูงใจ ให้เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้และอยากเข้ามาสู่การเรียนรู้นี้ กระบวนการออกแบบนี้เราได้ทีม Base Playhouse เข้ามาดูแล

แต่ทั้งหมดทั้งมวล เราจะไม่เข้าใจผู้ใช้งานเลย ถ้าเราไม่ทำการวิจัย จึงเป็นที่มาของเสาที่สี่ ด้วยความที่ทุนจำกัด เราไม่สามารถทำวิจัยแบบเต็มสเกลได้ เราใช้วิธีให้โจทย์ไปว่า เราอยากได้ทีมวิจัย ที่สามารถทำวิจัยการตลาดได้ และทำวิจัยที่เป็นทางการได้ด้วย เราต้องการวิจัยที่ใช้งานได้จริง จับต้องได้จริงๆ ไม่ใช่ว่าทำเสร็จแล้ววางบนหิ้ง ขณะเดียวกันก็ต้องได้อินไซด์ (ข้อมูลผู้ใช้) มาด้วย เราได้ทีม Text & Title มาช่วยเรื่องวิจัย

จนมาถึงโควิดรอบสอง แพลตฟอร์ม mappa ที่กำลังจะเปิดตัว มันควรจะเป็นอย่างไร แล้วมันจะเข้าไปอยู่ในตรงไหนของระบบนิเวศการเรียนรู้

ณัฐยา: แน่นอน แพลตฟอร์มนี้ไม่ได้เหมาะกับทุกคน นี่คือเรื่องธรรมดา ไม่มีกระสุนวิเศษ (magic bullet) ใดๆ ที่จะตอบได้ทุกโจทย์

แต่การออกแบบที่เข้าใจธรรมชาติของการเลี้ยงลูก เข้าใจพัฒนาการเด็ก และความต้องการของพ่อแม่ mappa จะเป็นอะไรที่ไม่เคยมีมาก่อน ไม่ได้บอกแค่ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ แต่จะจูงมือเดินไปด้วยกัน กางแผนที่แล้วไปด้วยกัน

การไปด้วยกัน คือความแตกต่าง มันดูมีความหวังมาก ว่ามันจะทำให้เกิดการลงมือปฏิบัติได้จริงในแต่ละวันในแต่ละบ้าน มากกว่าอ่านหนังสือเล่มหนึ่งแล้วจบ ฟังคลิปอันหนึ่งแล้วจบ เข้าไปคุยในเพจแล้วจบ

มิรา: โควิดมันเป็นสถานการณ์ที่ทำให้เราเรียนรู้ เรียนรู้ความไม่แน่นอน เรียนรู้ว่าการฝากความหวังไว้ที่ระบบใดระบบหนึ่ง มันไม่ได้แล้ว การเลี้ยงลูกมันอยู่ที่เรา เราโต้ตอบวิธีการนั้นด้วยวิธีของเรา เราจะดูแลบ้านของเราอย่างไร ดูแลการเรียนรู้ของลูกเราอย่างไร 

แพลตฟอร์มออกแบบมาให้ดูแลคนในชุมชนเรา ไม่มีฮีโร่ ทุกคนรู้ว่ามันต้องเปลี่ยนแปลง แต่เรามีเครื่องมือให้เขา นี่คือแพลตฟอร์ม mappa

สมมุติว่าตอนนี้พ่อแม่ ครู เหมือนกำลังหลงในเขาวงกต mappa จะเข้ามาช่วยอย่างไร 

มิรา: mappa จะบอกว่าหยุดแล้วทำสักอย่างก่อน แต่ทำด้วยกัน แบบมีเพื่อนไปด้วย ช่วยกันอ่านสถานการณ์ว่าแบบนี้ ใช่อย่างที่เราต้องการไหม ไปซ้ายหรือไปขวาดี โควิดจะมีถึงเมื่อไหร่ไม่รู้ โรงเรียนจะปิดถึงเมื่อไหร่ไม่รู้ ครูจะรับกับสถานการณ์นี้ได้ไหม การศึกษาไทยห่วยหรือดีกันแน่ พวกนี้มันเป็นการเถียงไม่จบสิ้น

ณัฐยา: คอนเทนต์สารพัดอย่างมันจะอยูใน mappa อ่านแล้วก็อ่านอีกได้ ฟังแล้วก็ฟังอีกได้ ดูแล้วก็ดูอีกได้ แล้วตอนลงทะเบียนเพื่อลงมือปฏิบัติ มันจะมีลายแทงที่ชัดพอสมควร ไม่ใช่ลายแทงที่งมเอาเอง มันเหมือนสูตรอาหาร คือบอกอย่างชัดเจนว่า ทำอะไร อย่างไร

ทดลองเองได้ ไม่มีถูกไม่มีผิด ต่อให้ผิดก็ไม่มีอะไรเสียหาย ไม่มีการเรียนรู้อะไรที่แย่ๆ อยู่ในนั้น เพราะมันจะเป็นการเรียนรู้ทั้งหมด เพียงแค่เรามีเวลาเข้ามาใช้แพลตฟอร์มด้วยกันในครอบครัว

ที่สำคัญมันตอบโจทย์ที่คาใจ สสส. คือ โดยสถิติเนี่ย เด็กที่ได้อยู่บ้านเดียวกับพ่อแม่ไม่ใช่ 100 เปอร์เซ็นต์ บางชุมชนเด็ก 80 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ และเราก็รู้ว่ามีพ่อแม่ที่ไม่ได้อยู่กับลูกด้วยเหตุจำเป็นของการทำงาน แต่อยากใช้โซเชียลมีเดียเพื่อใช้เวลาร่วมกับลูก 

เพราะฉะนั้น mappa จึงเป็นพื้นที่ที่ทำให้ได้ใช้เวลาอยู่ด้วยกันในเรื่องเรียนรู้ สนุกกับเรื่องเดียวกันโดยไม่ต้องอยู่ในที่ที่เดียวกัน และเราคิดว่าไม่มีอะไรจะเสียเลย ต่อให้ครอบครัวที่จะเข้ามาใช้แพลตฟอร์มนี้ไม่ได้อะไรเลย ก็จะได้ความสนุก

 เด็กสมัยนี้อยากรู้อะไรก็เปิด Google แล้ว mappa จะต่างอย่างไร 

มิรา: ช่วงวัยที่ใช้แพลตฟอร์ม mappa คือ 0-8 ปี ซึ่ง mappa ไม่ได้ช่วยเด็กโดยตรง แต่ช่วยผ่านคนที่มีความสัมพันธ์กัน คือ พ่อแม่ แพลตฟอร์ม mappa จะช่วยพ่อแม่ให้สร้างพื้นที่การเรียนรู้ได้ 

คอนเทนต์ที่เราจะปล่อย คือ สามหมวด งานบ้าน งานอ่าน และงานเล่นอิสระ ที่จะเปลี่ยนบ้านเป็นพื้นที่การเรียนรู้ 

พ่อแม่งงไหมว่าจะเป็นการเรียนรู้ได้อย่างไร พ่อแม่ ปู่ย่า หรือครูในศูนย์เด็กเล็กก็ได้ เราเรียกเขาว่า ‘คู่หู’ แล้วเด็กจะเป็น ‘นักสำรวจ’ คู่หูจะมีหน้าที่สนับสนุนนักสำรวจ ที่เราใช้คำนี้ เพราะเราต้องการให้เห็นว่าการเรียนรู้มันมีพื้นที่เท่ากัน เป็นแพลตฟอร์มเรียนรู้ร่วมกัน นำไปสู่ดินแดนที่ไม่รู้ด้วยกัน

ดินแดนที่ไม่รู้คือการทำบ้านเป็นพื้นที่เรียนรู้ เมื่อเข้าไป เด็กจะไปทำภารกิจสำรวจโลกทีละเรื่องๆ เช่น สำรวจการอ่าน การอ่านแบบไหน ส่วนพ่อแม่ ญาติ หรือครู ก็จะคอยเป็นคู่หูที่ดีให้กับนักสำรวจคนนี้ เช่น คู่หูอ่านให้ฟังก่อนไหม 

เราจะค่อยๆ พาเขาไปทำทีละภารกิจ ในแต่ละภารกิจนักสำรวจกับคู่หูจะมีผลงานส่งเข้ามา และจะเก็บเป็นแฟ้มสะสมผลงานหรือภารกิจของเด็กทั้งหมด เช่น เขาได้ทักษะอะไร พอเขาสอบอ่านปุ๊บ เขาได้ปูพื้นฐานอะไรบ้าง

mappa คือแพลตฟอร์มแรก ที่ทำเรื่องการวัดผลทักษะ ซึ่งในอนาคตถ้ามันสามารถเข้าไปสวมกับโรงเรียนได้ โรงเรียนทำเรื่องเนื้อหา เราทำเรื่องทักษะ ก็จะพอดีกัน 

ส่วนการหาความรู้จาก Google คิดว่ามันเป็นคำถามของเด็ก 9-14 ปี ที่เริ่มเข้ามาเรียนรู้ด้วยตัวเอง อันนี้เราออกแบบไว้ว่าเข้าแยกกับพ่อแม่ได้เลย แต่จะเป็นเฟสต่อไป 

พ่อแม่ไม่มีเวลา แต่การเรียนรู้ต้องมีเวลาร่วมกัน จะทำอย่างไรดี 

ณัฐยา: อย่างที่บอกไว้ตั้งแต่แรกว่า mappa ไม่ได้เหมาะกับทุกคนมันก็อาจจะมีบางคนที่เขาก็ต้องหาหนทางอื่นไป 

จริงๆ คำว่าไม่มีเวลามันเป็นปัญหาเรื่องจัดลำดับความสำคัญ ไม่ใช่เรื่องไม่มีเวลา ทุกคนมีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน แต่เงื่อนไขชีวิตแต่ละคนรวมไปถึงความมุ่งมั่นตั้งใจที่พอมารวมกันแล้วมันจะชี้ว่าเราจะมีเวลาให้กับอะไร เราไม่มีเวลาให้กับอะไร 

ตรงนี้จึงเป็นเรื่องเกินความสามารถของ mappa ที่จะไปดลใจ เราไม่ก้าวล่วงไปรับผิดชอบอะไรขนาดนั้น แต่ถ้าคุณกำลังสงสัยและอยากได้คำตอบใหม่ๆ mappa อาจจะเป็นพื้นที่นั้น อยากให้ลองหาเวลา ลองเปิดใจเข้ามาดู ใช่ไม่ใช่ก็ค่อยว่ากัน เราก็ไม่ได้บอกว่าจะเหมาะกับทุกคนแน่นอน 

วิธีการที่จะใช้ชีวิตร่วมกันกับ mappa หมายถึงว่าคุณต้องมีความพร้อมบางอย่างไม่ใช่แค่เวลา อาจจะต้องมีทักษะ มีความคุ้นเคยกับตัวระบบ เครื่องมือออนไลน์ต่างๆ ต้องมีอินเทอร์เน็ตที่ต้องมีความเร็วสูงนิดหนึ่ง มันจึงยังไม่ใช่แพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์คุณได้ทุกอย่าง แต่ สสส. เชื่อเรื่องการเกื้อกูลกันได้ถ้ามีรูปแบบของการบริหารจัดการให้อันนี้เป็นเรื่องที่เราคาดหวังในระยะยาวนะ 

คนชั้นกลางที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยี ที่ครุ่นคิดเรื่องการศึกษาของลูกเป็นกลุ่มที่เข้าถึงเรื่องนี้ก่อน เราจะโดนติงเสมอว่า การที่เรามาทำแบบนี้ เรามาลงทุนกับคนที่เขาก็มีพร้อมอยู่แล้วทำไม แต่ปรากฏการณ์ของโรงเรียนสารสาสน์ บ่งบอกมากเลยว่า ต่อให้คุณมีการศึกษา มีเงินส่งลูกเรียนก็ใช่ว่าคุณจะมีความคิดหรือว่ามีความรู้ หรือมีเครื่องมือที่ใช่ในการนำทางเลี้ยงดูลูก 

ที่จริงความไม่รู้ในเรื่องของการเลี้ยงลูกเด็ก และความรู้สึกไร้อำนาจมันมีอยู่ในทุกชนชั้นเลย ไม่ต่างอะไรกับคนที่หาเช้ากินค่ำเลย เรารู้สึกว่าสิ่งที่เรากำลังทำ คือ เด็กไม่ว่าจะยากดีมีจนควรที่จะได้รับสิ่งนี้ ถ้าหากครอบครัวไหนพร้อมก่อนก็เข้ามาใช้ก่อน แล้วเราอยากจะชักชวนพวกเขาเป็นพลัง เราอยากจะออกแบบวิธีบริหารจัดการพลังอันเหลือเฟือของพวกเขาไปแบ่งปัน ไปเผื่อแผ่ให้คนอื่นๆ ในรูปแบบที่เหมาะสม

มิรา: mappa ไม่สามารถตอบโจทย์เรื่องจะมีเวลาเพิ่มให้ทุกครอบครัวได้ แต่สิ่งที่ทำได้คือ ไม่ต้องเล่นแพลตฟอร์ม mappa พร้อมกันก็ได้ คุณไม่ต้องมาอยู่หน้าจอในเวลาเดียวกัน คุณอยู่เมื่อคุณพร้อม แม่ทำงานเสร็จตอนเย็นมีเวลาสักหน่อยมาทำอันนี้กับลูกก็ได้ ตามแต่ละบ้านสามารถจัดสรรเวลาด้วยตัวเองได้แต่ว่าผลเก็บเหมือนเดิม ทุกคนได้ทำเหมือนเดิม แต่ละคนไปบริหารจัดการเวลาในชีวิตตัวเองได้

ณัฐยา: ครูเองไม่ต้องกลัวว่าเด็กไม่ได้ทำงานตามที่คุณครูสั่งซึ่ง mappa มีการเช็คความเข้าใจทุกอย่างที่ทำให้เด็กกลับมาทำซ้ำได้ ดังนั้นถ้าในอนาคตมีคอนเทนต์ดีๆ จะช่วยโรงเรียนได้เยอะมาก

แต่ตอนนี้เราพัฒนาคอนเทนต์เฉพาะกิจมาก่อน เพื่อเปลี่ยนบ้านให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ ถ้าในอนาคตมีคนสนใจมีคนมาร่วมมากขึ้นมันก็เปลี่ยน ปรับ เพิ่มได้ เราสามารถพัฒนาคอนเทนต์ให้ตอบโจทย์ได้จริง 

Writer
Avatar photo
tippimolk

คุณแม่ลูกหนึ่งซึ่งคลุกวงในงานข่าวมาหลายสิบปี เพิ่งมาค้นพบตัวเองไม่กี่ปีมานี้ว่าอินกับงานด้านเด็ก ครอบครัว และการศึกษามากเป็นพิเศษ จึงเป็นเหตุให้มาร่วมสร้างแผนที่การเรียนรู้อย่าง mappa

Photographer
Avatar photo
อนุชิต นิ่มตลุง

ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว จนถึงสารคดี ปัจจุบันเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision เพิ่งตัดสายสะดือเป็นคุณพ่อหมาดๆ เมื่อเมษาที่ผ่านมา (พ.ศ. 2563)

Related Posts

Related Posts