‘กอปร’ ‘ทว่า’ ‘แก้มตอบ’ คุณรู้จักความหมายคำพวกนี้หรือไม่? ชวนมองปรากฏการณ์ ‘เด็กรุ่นใหม่คลังศัพท์น้อย’ ที่อาจไม่ใช่แค่การแปะป้ายว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่อ่านหนังสือ

‘กอปร’ ‘ทว่า’ ‘แก้มตอบ’ คุณรู้จักความหมายคำพวกนี้หรือไม่? ชวนมองปรากฏการณ์ ‘เด็กรุ่นใหม่คลังศัพท์น้อย’ ที่อาจไม่ใช่แค่การแปะป้ายว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่อ่านหนังสือ

ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา ปรากฏการณ์ ‘เด็กรุ่นใหม่คลังศัพท์น้อย’ ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันในวงกว้าง

กอปร

ทว่า

แก้มตอบ

ฝนห่าใหญ่

และอีกมากมายหลายคำ ทั้งหมดทั้งมวลล้วนกลายเป็น ‘คำเก่า’ ที่อาจถูกใช้น้อยลงในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าจะยังมีปรากฏอยู่ในรูปแบบของพรรณาโวหารหรือบทความที่มีเนื้อหาใช้ภาษาระดับกึ่งทางการขึ้นไป แต่ก็น้อยคนนักที่จะเข้าใจการใช้คำเหล่านี้ในแต่ละบริบท

อันที่จริงแล้วปรากฏการณ์ ‘เด็กรุ่นใหม่คลังศัพท์น้อย’ ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในเด็กรุ่นใหม่ไทยแต่เพียงเท่านั้น หากยังเกิดขึ้นในภาษาอังกฤษเช่นกัน

วันนี้ Mappa พาย้อนดูต้นตอและชวนขบคิดเรื่อง ‘คลังศัพท์’ กันต่อว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และเราควรทำความเข้าใจปรากฏการณ์แบบไหน 

เมื่อการสอนภาษาเน้นให้ ‘จำ’ มากกว่า ‘เข้าใจ’

สิ่งนี้เป็นประเด็นหลักที่ต้องทำความเข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนภาษาในแบบ ‘ท่องจำ’ ที่ส่งผลอย่างมากเมื่อสอนให้จำไปเพียงอย่างนั้นหากแต่ไม่สามารถนำมาใช้ได้ในชีวิตจริงอย่างถูกบริบท

ที่จริงแล้วก่อนหน้านี้เคยมีประเด็นถกเถียงว่าด้วยการสอนภาษาไทย ที่มีเด็กๆ บางโรงเรียนจำนวนไม่น้อยบอกว่าเขาไม่รู้จัก ‘สระประสม’ ที่มีอยู่ 3 เสียง ได้แก่ สระเอีย (เ-ีย) สระเอือ (เ-ือ) และสระอัว (-ัว)

รอ เอีย นอ = เรียน นี่เป็นรูปแบบการประสมที่เราคุ้นชิน

เอ รอ อี ยอ นอ = เรียน แต่นี่เป็นการจำสระอีกรูปแบบหนึ่งที่เด็กๆ ในยุคนี้เรียนรู้มา ซึ่งนั่นอาจทำให้พวกเขาพลาดโอกาสในการรู้จักสระประสม และทำให้เข้าใจฟังค์ชันของการเกิดคำในภาษาไทยไปอย่างน่าเสียดาย

ในอีกฟากของโลก ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในสหรัฐอเมริกามาในระยะหนึ่ง เมื่อมอลลี วูดเวิร์ธ (Molly Woodworth) ได้เปรียบเทียบการเรียนภาษาอังกฤษของตนเองเมื่อยังเด็กกับการเรียนของลูกสาว

เธอเล่าว่า ตอนที่ยังเด็กเธอมักเรียนภาษาด้วยการท่องจำเพื่อเดาศัพท์ต่างๆ และเพื่อให้เรียนหนังสือได้ทันเพื่อน ซึ่งเธอคิดว่าเธอมีความจำที่ดีมาก แต่นั่นทำให้เธอเสียพลังกับการอ่านหนังสืออย่างมากเช่นกัน และไม่รู้สึกตื่นเต้นที่จะเรียนรู้มันเลย แต่สิ่งที่ทำให้เธอตกใจมากก็คือการเรียนรู้ในแบบของเธอที่เธอตระหนักว่าไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องนั้นกลับถูกนำมาใช้เป็นวิธีสอนที่ลูกของเธอได้รับจากครูที่โรงเรียนในไม่นานมานี้

การอ่านที่น้อยลงประกอบกับโลกยุคดิจิทัลที่ทุกคนแข่งกัน ‘ไว’ 

จากปรากฏการณ์นี้หลายคนอาจพูดว่าเพราะเด็กรุ่นใหม่อ่านหนังสือน้อยลงเลยทำให้คลังศัพท์แสงน้อยลงตามไปด้วย ซึ่งอันที่จริงก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสาเหตุนี้มีมูลเป็นไปได้ เพราะด้วยรสนิยมในการเสพสื่อที่เปลี่ยนไป เช่น การอ่านนิยายในรูปแบบแชทที่ใน 1 บับเบิลจะมีเพียง 1 ประโยค 1 วลี หรือเพียง 1 คำสั้นๆ หรือกระทั่งการทำคลิปวีดีโอขนาดสั้นเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ อย่างเช่นรีล (Reel) ในอินสตาแกรมเองก็มักจำกัดไว้ให้ลงความยาวได้เพียงไม่เกินนาทีครึ่ง

ทุกอย่างประกอบกันจนทำให้อะไรๆ ในปัจจุบันดูไวไปเสียหมด บวกกับเมื่อเจอคำที่ไม่คุ้นเคย หลายคนอาจไม่เลือกค้นหาความหมายทั้งที่คลิกง่ายเพียงปลายนิ้ว แต่กลับทึกทักไปว่าเป็นความผิดพลาดจากผู้เขียนเอง

อันที่จริงสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงจนคอขาดบาดตาย หากแต่อาจทำให้เรารู้คำศัพท์น้อยลงจนน่าเสียดายแต่เพียงเท่านั้น

‘ภาษาวรรณกรรม’ ที่แสดงถึงความละเอียดลออในมนุษย์กลับกลายเป็นสิ่งที่หายไป

ต่อเนื่องมาจากความไวที่กล่าวไปข้างต้น เมื่อสะกดคำก็ยาก และยุคที่อะไรๆก็ ‘ไว’ ทักษะโลกอนาคตเต็มไปหมด การอ่านวรรณกรรมที่เต็มไปด้วยคลังคำที่อธิบายหลากหลายอิริยาบทและความรู้สึกของมนุษย์ เลยกลายเป็นเรื่องที่ถูกลืมอย่างน่าเสียดาย

เพราะภาษาวรรณกรรมนั้นอาจกล่าวได้ว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ ‘เห็นภาพ’ และ ‘ถึงใจ’ มากที่สุด ทั้งยังช่วยอธิบายความละเอียดลออของความเป็นมนุษย์ทั้งภายนอกและภายใน ภาษาวรรณกรรมอาจทำให้เรามีชีวิตที้ละเอียดมากขึ้น เช่น ประพิมประพาย สิ่งละอันพันละน้อย หรือกระทั่งฝนห่าใหญ่ที่ผู้เขียนยกตัวอย่างมาข้างต้นก็เป็นคำที่ทำให้เห็นภาพว่า ฝนตกหนักยังเทียบไม่ได้เลย คำเหล่านี้มักมีเสน่ห์ในแบบของตัวเองยากที่จะหาคำอื่นมาเทียบเคียง

พลวัตทางภาษาที่ลื่นไหลไปตามกาลเวลา

นี่เป็นสาเหตุสุดท้ายที่ผู้เขียนยกมาเพื่ออธิบายปรากฏการณ์นี้ หากแต่ที่จริงมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าสองสาเหตุข้างต้น แต่น่าเสียดายที่หลายคนไม่หยิบประเด็นนี้มาพูดเท่าไรนักทั้งที่ก็เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญ

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน ภาษาก็มักดิ้นได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ไม่มีคำใดจะเหมือนเดิมตลอดไป

นั่นทำให้การทำความเข้าใจความลื่นไหลทางภาษาอาจจำเป็นมากกว่าการแปะป้ายว่า ‘เด็กรุ่นใหม่คลังศัพท์น้อย’ ไปอย่างตายตัวน่าเสียดาย

illustrator
Avatar photo
พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Writer
Avatar photo
รุอร พรหมประสิทธิ์

หนังสือ ไพ่ทาโรต์ กาแฟส้ม แมวสามสี และลิเวอร์พูล

Related Posts

Related Posts