“เลี้ยงเด็ก 1 คนใช้คนทั้งหมู่บ้าน” วลีนี้มีที่มาอย่างไร และเพราะอะไรแค่เพียงการเลี้ยงเด็กสักคน เราทุกคนจึงมีส่วนสำคัญ
“เลี้ยงเด็ก 1 คนใช้คนทั้งหมู่บ้าน” วลีนี้มีที่มาอย่างไร และเพราะอะไรแค่เพียงการเลี้ยงเด็กสักคน เราทุกคนจึงมีส่วนสำคัญ
“เลี้ยงเด็ก 1 คนต้องใช้คนทั้งหมู่บ้าน…”
ผู้เขียนเชื่อเหลือเกินว่าหากใครที่ติดตามประเด็นเรื่องเด็ก เยาวชน ครอบครัว หรือกระทั่งการเรียนรู้และการศึกษาเองก็ตาม น่าจะพอคุ้นเคยกับวลีข้างต้นนี้เป็นอย่างดี
วลีดังกล่าวบอกกับเราว่า การจะเลี้ยงดูเด็กสักคนหนึ่งต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง มากกว่าแค่การกล่าวว่า การเลี้ยงดูเด็กๆ เป็นหน้าที่ของ ‘ครอบครัว’ ที่ต้องดูแลและสนับสนุนพวกเขาเหล่านั้น หรือเป็นหน้าที่ของ ‘โรงเรียน’ เพื่อมอบความรู้และให้การศึกษาแก่พวกเขา
แต่คนหนึ่งคนจะเติบโตขึ้นได้อย่างดีนั้น นิเวศรอบตัวเขาก็ล้วนเป็นสิ่งสำคัญทั้งหมด
และไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม
ก็สามารถเป็นหนึ่งใน ‘นิเวศรอบตัวเด็ก’ ได้ทั้งสิ้น
วันนี้ Mappa ขอพาทุกคนมาสำรวจวลีดังกล่าวนี้อีกครั้งว่า วลีนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร มักถูกใช้ในบริบทแบบใด (ซึ่งนั่นก็ส่งผลโดยตรงต่อการให้ความหมายของวลีนี้เช่นกัน) และมากไปถึงความสำคัญว่า แล้วเราจะทำอย่างไรให้เกิดนิเวศรอบตัวเด็กอย่างดีขึ้นมาให้ได้จริงๆ
“เลี้ยงเด็ก 1 คนต้องใช้คนทั้งหมู่บ้าน” วลีนี้มีที่มา
หากลองเสิร์ช It takes a village to raise a child ลงในช่องค้นหาในเว็บไซต์ยอดนิยมอย่างกูเกิล หลายบทความก็มักจะอ้างอิงไปในทิศทางเดียวกันว่า วลีนี้เป็นวลีเก่าแก่ของชาวแอฟริกันที่มักจะเอาไว้กล่าวถึงการเลี้ยงเด็กสักคนหนึ่ง ว่าเราทุกคนล้วนมีส่วนในการฟูมฟักเขาเหล่านั้น ในไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
นีล เลสเตอร์ (Neal Lester) ศาสตราจารย์ด้านมนุษยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรัฐแอริโซนา ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการศึกษาวรรณกรรมแอฟริกันอเมริกัน ยังได้กล่าวเกี่ยวกับวลีนี้ไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า “แก่นแท้วลีนี้ บ่งบอกถึงโลกทัศน์บางอย่างของชาวแอฟริกันที่เชื่อในการทำงานและอยู่ร่วมกันด้วยการยึดโยงแบบชุมชน ซึ่งเป็นท้าทายลัทธิปัจเจกนิยมแบบตะวันตกอีกด้วย”
วลี “เลี้ยงเด็ก 1 คนต้องใช้คนทั้งหมู่บ้าน” นี้ เรียกได้ว่าเป็นที่นิยมมากในทั่วโลก ไม่เพียงแค่ในทวีปแอฟริกา แต่ในโลกตะวันตกเองก็เช่นเดียวกัน
กระทั่งในโซเชียลมีเดียเองก็มีการพูดถึงวลีนี้อยู่บ่อยครั้ง หรือในบางครั้งก็มักขึ้นต้นว่า It takes a village to … (เปลี่ยนคำข้างหลัง) เพื่อเป็นการบอกว่า ในการจะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง อาจต้องใช้คนจำนวนมาก (ทั้งในแง่การเป็นผู้ร่วมขบวนการ หรือเป็นผู้สนับสนุน) เพื่อที่จะผลักดันสิ่งต่างๆ เหล่านั้นให้เกิดขึ้นจริงได้อย่างดีและมั่นคง
คำสำคัญของวลีนี้คงหนีไม่พ้น ‘village’ ซึ่งเมื่อพอแปลเป็นภาษาไทยแล้ว เราก็มักจะใช้คำว่า ‘หมู่บ้าน’ หรือ ‘ชุมชน’ เพื่อชี้ให้เห็นถึงการโยงใยความสัมพันธ์ระหว่างเด็กคนหนึ่งและคนรอบตัวเขา ตั้งแต่คนใกล้ตัวอย่างพี่ป้าน้าอาข้างบ้าน เพื่อนที่โรงเรียน ลุงขายของหน้าปากซอย และคนที่อาจไกลตัวเขาไปสักหน่อยแต่ก็มีส่วนสำคัญในการกำหนดนโยบายเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของพวกเขา เช่น ภาคการเมือง หรือภาคประชาสังคมในภาคส่วนอื่นๆ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพสำหรับเด็กๆ ที่ซึ่งเด็กๆ จะได้รับความปลอดภัยที่พวกเขาต้องการ เพื่อที่จะได้พัฒนาต่อยอด กระทั่งถึงให้เด็กๆ เหล่านั้นได้บรรลุความหวังและความฝันของตนได้
และสิ่งเหล่านี้ ต้องการ ‘สภาพแวดล้อม’ ที่ซึ่งเสียงของเด็กๆ จะได้ถูกรับฟัง
และทั้งหมดทั้งมวลนี้เพื่อสื่อว่า
เราต้องใช้คนจำนวนมาก
เพื่อที่จะสร้างนิเวศรอบตัวเด็กให้แข็งแรงได้
“เลี้ยงเด็ก 1 คนต้องใช้คนทั้งหมู่บ้าน เพราะเด็กที่ไม่ถูกโอบอุ้ม เขาจะกลับมาเผาบ้านคุณ”
เรามักจะพูดวลี ‘เลี้ยงเด็ก 1 คนใช้คนทั้งหมู่บ้าน’ (It takes a village to raise a child) กันเท่านี้จนเคยปาก (หรือในบางครั้งก็พูดสั้นๆ แค่ It takes a village เสียด้วยซ้ำ) แต่อันที่จริงแล้ววลีนี้ยังกล่าวไม่จบ
เพราะยังมีประโยคหลังที่ว่า The Child Who Is Not Embraced by the Village Will Burn It Down to Feel Its Warmth อยู่
ใช่แล้ว อ่านไม่ผิด
เด็กที่ไม่ถูกโอบอุ้ม
เขาเหล่านั้นจะกลับมาเผาบ้านคุณ
ซึ่งวรรคข้างหลังนี้ อาจกล่าวได้ว่ายิ่งเป็นการเสริมเพิ่มเติมเพื่อให้เห็นภาพมากขึ้นไปอีกว่า นิเวศรอบตัวพวกเขานั้นสำคัญอย่างไร
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อเราพูดถึงการขับเคลื่อนอะไรสักอย่าง เรามักพูดในแง่ของด้านดีๆ สักประมาณ 70% เพื่อเสริมพลังให้เห็นถึงความหวังในการไปต่อ แต่ที่จริงแล้วนั่นอาจไม่ใช่สิ่งที่ครบทุกด้านไปเลยเสีย
อย่างไรก็ดี ดังที่กล่าวไปช่วงต้นว่าในพักหลังมานี้เรามักได้ยินคนพูดถึงวลีนี้เพื่อใช้เป็นการเสริมพลังและโอบรับให้ประเด็นของเด็กและเยาวชนเป็นที่ถูกพูดถึงและถูกตระหนักว่าถือเป็นวาระสำคัญ
เช่นดังหลายองค์กรๆ ก็เช่นกัน
หรือว่านี่กำลังเป็นนัยที่กำลังสะท้อนสังคมออกมาว่า นี่คือจังหวะเวลาและนิมิตหมายอันดีที่เราควรจะตั้งคำถามแล้วจริงๆ
ว่าเราควรจะร่วมมือกันเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นมากกว่านี้ใช่ไหม?
และวลีนี้ใครเป็นผู้กล่าวหรือเป็นเจ้าของก็อาจไม่สำคัญมากไปเท่าการตั้งคำถามว่า
ประเด็นเด็ก เยาวชน ครอบครัว การเรียนรู้ และการศึกษา
ควรเป็น ‘เรื่อง’ ของทุกคนแล้วหรือยัง?
เพราะนิเวศรอบตัวเขา
‘เรา’ ทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่ง
#CoCreatingNextGeneration #เลี้ยงเด็กหนึ่งคนใช้คนทั้งหมู่บ้าน
ที่มา :
https://www.frontiersin.org/journals/public-health/articles/10.3389/fpubh.2022.756066/full
https://www.npr.org/sections/goatsandsoda/2016/07/30/487925796/it-takes-a-village-to-determine-the-origins-of-an-african-proverb
https://medium.com/@sherlaine.hinds/it-takes-a-village-to-raise-a-child-african-proverb-heres-why-it-s-true-53122b998801
https://captainaxom.medium.com/the-child-who-is-not-embraced-by-the-village-a-powerful-proverb-about-connection-and-community-d0cf0a4931e5
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC8964422/
Writer
รุอร พรหมประสิทธิ์
หนังสือ ไพ่ทาโรต์ กาแฟส้ม แมวสามสี และลิเวอร์พูล