ดูหนังตั้งวงคุยกับ MAPPA x Doc Club : LET THE CHILD BE THE GUIDE ให้เด็กๆ เป็นผู้นำในเส้นทางการเรียนรู้ที่ตัวเขาต้องการ

ดูหนังตั้งวงคุยกับ MAPPA x Doc Club : LET THE CHILD BE THE GUIDE ให้เด็กๆ เป็นผู้นำในเส้นทางการเรียนรู้ที่ตัวเขาต้องการ

“อะไรเป็นอันตรายสำหรับเด็ก ระหว่างปล่อยให้เขาทำเองหรือคิดแทนพวกเขา”

คำถามตั้งต้นที่ อเล็กซองดร์ มูโรต์ ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดี LET THE CHILD BE THE GUIDE (Le maître est l’enfant) ถามผู้ชมอย่างเราก่อนที่จะพาเข้าสู่โลกของการเรียนรู้ที่มีเด็กๆ เป็นผู้นำทาง

การศึกษาแบบไหนกันแน่ที่มนุษย์เราควรได้รับ? 

โรงเรียนแบบไหนกันแน่ที่เราอยากให้ลูกหลานได้ไป?

นี่คือคำถามที่พ่อแม่ทั่วโลกมี รวมทั้งผู้กำกับอย่างมูโรต์เช่นกัน และเพื่อที่จะหาคำตอบ มูโรต์พาตัวเองเข้าไปสังเกตการเรียนรู้และการเติบโตของเด็กอนุบาลหลายรุ่นในโรงเรียนมอนเตสเซอรี เพื่อเฝ้าดูการศึกษาแบบที่เด็กๆ คือผู้นำทาง

Mappa และ Doc Club จึงชวนทุกคนมาร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับมูโรต์ ผ่านกิจกรรมดูหนังตั้งวงคุย Mappa x Doc Club : LET THE CHILD BE THE GUIDE ในวันที่ 18 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยมี ณัฐ-ณัฐฬส วังวิญญู คุณพ่อผู้สนใจการศึกษาในรูปแบบมอนเตสเซอรี, โมโม่-โมนะ วังวิญญู ลูกสาวที่เติบโตมากับการเรียนในรูปแบบมอนเตสเซอรี และ มิกกี้-ลภัส ตันติพิภพ กรรมการสมาคมมอนเตสเซอรีแห่งประเทศไทย มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดกันหลังหนังจบ และมี แม่บี-มิรา เวฬุภาค CEO & Founder Mappa เป็นผู้ดำเนินรายการ

ระยะเวลาเกือบสองชั่วโมงที่ผู้ชมอย่างเราได้สวมบทบาทเป็น ‘ผู้สังเกตการณ์’ ทำให้เราได้มองเห็นโลกของเด็กๆ ในมุมที่ต่างไปจากเดิม

ผู้ใหญ่อย่างเรามักมองว่าเด็กเป็นผู้รับ ผู้ไม่รู้ ทว่ามุมมองของมอนเตสเซอรีกลับตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง 

การศึกษาที่ดี คือการศึกษาที่ทำให้เด็กรู้สึกดีในแบบที่ตัวเองเป็น

ไม่ใช่แค่ผู้ชมอย่างเราเท่านั้นที่ได้รับบทบาทในการเป็นผู้สังเกตการณ์เด็กๆ เพราะบทบาทของ ‘ครู’ ในโรงเรียนมอนเตสเซอรีนั้นก็เป็นเช่นเดียวกัน

ระยะเวลาเกือบหนึ่งชั่วโมงแรก ภาพยนตร์เรื่องนี้พาเราสำรวจกิจกรรมและพฤติกรรมของเด็กๆ โดยที่เราไม่เห็นการปรากฏตัวของครูในห้องเรียนนี้เลยแม้แต่น้อย เพราะแท้จริงแล้วมุมมองที่เราได้สังเกตเด็กๆ ก็คือมุมมองที่ครูต้องทำหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์ จนกว่าจะมีเสียงเล็กๆ ที่ร้องขอความช่วยเหลือ เมื่อนั้นเองที่ครูจะได้เข้าไปรับฟังเสียงของผู้นำทางการเรียนรู้ และยื่นความช่วยเหลือให้ตามที่เด็กๆ ร้องขอ

โมโม่ผู้เติบโตมากับการเรียนในรูปแบบมอนเตสเซอรีร้อยเปอร์เซ็นต์ เล่าว่าสภาพแวดล้อมในห้องเรียนที่มีครูเป็นผู้สังเกตการณ์และคอยยื่นมือมาช่วยเหลือเมื่อผู้เรียนต้องการ ทำให้เด็กๆ เกิดความสบายใจและมองว่าครูเป็นหนึ่งในเซฟโซนสำหรับพวกเขา

“ในแต่ละวันที่ได้ไปโรงเรียนก็จะมีการ meeting และได้มี small talk กับครูและเพื่อนๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะทำให้เรารู้สึกว่าครูเป็นเหมือนเพื่อนคนหนึ่ง เป็นเหมือนสมาชิกในครอบครัว ในห้องเรียนจะมีกิจกรรมหลากหลายให้เลือกทำ แต่ก็ไม่มีใครมาคอยบอกว่าเราต้องทำอะไร เราได้ใช้สมาธิ จดจ่อกับสิ่งที่ทำ สนุกไปกับสิ่งนั้น และพอทำสำเร็จก็จะได้รู้ว่าเราทำได้” 

เด็กๆ ในห้องเรียนมอนเตสเซอรีต่างเลือกทำกิจกรรมที่ตนเองสนใจ อิงจากภาพยนตร์ที่เห็นได้ว่าเด็กๆ มีกิจกรรมเป็นของตัวเอง บางคนสนุกกับการเทน้ำและเททราย บางคนหลงใหลในการเรียนรู้ตัวอักษร บางคนชอบอ่านหนังสือ และหลายครั้งเราจะเห็นเด็กๆ ทำกิจกรรมเหล่านี้ซ้ำไปซ้ำมาอย่างไม่รู้เบื่อ 

“Maria Montessori สังเกตเห็นว่าเด็กมีความสนใจและอยากเรียนรู้ตลอดเวลา และเมื่อพวกเขาได้เรียนรู้ โฟกัสของเขาจะมีเพียงสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเท่านั้น หน้าที่ของครูจึงเป็นการไม่เข้าไปรบกวนเด็ก ไม่ก้าวก่ายเด็ก มอนเตสเซอรีให้คุณค่ากับการออกแบบเครื่องมือเพื่อให้เด็กได้อยู่กับสิ่งนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า” พ่อณัฐขยายความจากข้อสังเกตข้างต้น

“กิจกรรมที่เด็กๆ ได้ลงมือทำอย่างการเทน้ำ มันคือการฟอร์มคาแรคเตอร์ เด็กคือประธานของการเรียนรู้ เราจะสังเกตเห็นว่าเวลาที่เด็กได้ทำงาน เขาจะมีความสง่างามเมื่อได้ฟอร์มความรู้สึกที่มีต่อตัวเอง นี่คือเบื้องหลังของกิจกรรมเหล่านั้น กิจกรรมที่ทำให้เด็กแสดงออกว่าเขาเข้าใจสิ่งที่อยู่ตรงหน้า”

อีกหนึ่งข้อสังเกตจากพ่อณัฐคือ เมื่อครูเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมของเด็ก จะสังเกตได้ว่าครูแทบจะไม่พูดในขณะที่ทำกิจกรรมนั้นๆ แต่เรายังคงสัมผัสได้ถึงความมุ่งมั่นและสมาธิของครู เพราะเด็กๆ เรียนรู้ผ่านการมองเห็น ครูจึงต้องเป็นต้นแบบที่ทำให้เด็กๆ มองเห็นความสำคัญของการจดจ่อกับสิ่งที่เขากำลังลงมือทำอยู่ และค่อยๆ เรียนรู้ซึมซับด้วยตัวเองจนเข้าใจในที่สุด

มอนเตสเซอรี การศึกษาที่จับต้องได้

แม่บีตั้งข้อสังเกตว่าโรงเรียนมอนเตสเซอรีนั้นไม่ได้ออกแบบแค่ของเล่นหรือสื่อการสอน แต่ยังมีปรัชญาอื่นๆ ซ่อนอยู่ การเข้าใจเด็กจึงต้องออกแบบทั้งสภาพแวดล้อมและผู้สอน นำไปสู่คำถามที่ว่ารูปแบบการศึกษาแบบมอนเตสเซอรีมีคำอธิบายหรือคำจำกัดความของปรัชญาการศึกษาว่าอย่างไรบ้าง 

มิกกี้ให้คำตอบว่าปรัชญาของมอนเตสเซอรีมองว่ามนุษย์ทุกคนมีลักษณะของความเป็นคนอยู่แล้ว บางพฤติกรรมอย่างการลงมือทำซ้ำ คือการที่คนคนหนึ่งอยากทำอะไรสักอย่างให้ดี หรือการพยายามที่จะเข้าใจและสำรวจสิ่งต่างๆ ล้วนเป็นคุณลักษณะที่มนุษย์มีอยู่แล้ว เพราะ Maria Montessori เชื่อว่ามนุษย์มีคุณลักษณะที่อยากจะเป็นมนุษย์ที่ดีที่สุดในแบบหนึ่ง

“มอนเตสเซอรีที่แท้จริงมีอยู่ 5 ส่วน ส่วนแรกคือ independence ที่หมายถึงอิสระที่เด็กเป็นนายตัวเองได้ ไม่เป็นทาสต่อครู และไม่เป็นทาสต่อความต้องการชั่วคราวของตัวเอง ส่วนที่สองคือสภาพแวดล้อม เด็กจะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เข้าถึงตัวเองได้ เลือกเองได้ และแน่ใจว่าเด็กปลอดภัย ส่วนที่สามคือเครื่องมือการเรียนรู้ที่มีสองคุณลักษณะ คือเป็นสิ่งที่จับต้องได้และเป็นสิ่งที่เด็กตรวจสอบเองได้ ส่วนที่สี่คือครูผู้ทำหน้าที่เป็นไกด์และผู้สังเกตการณ์ และส่วนสุดท้ายจะสังเกตได้ว่าเด็กๆ ในหนังจะเรียนด้วยกันแม้อายุต่างกัน ส่วนที่ห้าจึงเป็นการสอนให้เด็กอยู่ในสังคมที่มีความหลากหลาย”

โมโม่เล่าเสริมว่าการเรียนคณิตศาสตร์ในโรงเรียนมอนเตสเซอรีทำให้เด็กๆ รู้สึกว่าคณิตศาสตร์นั้นจับต้องได้ และมีวิธีการเรียนรู้ที่ช่วยสร้างคอนเซ็ปต์การคิด เด็กส่วนมากจึงรู้สึกสนุกและชื่นชอบการเรียนคณิตศาสตร์ สิ่งนี้คือผลที่ตามมาจากการออกแบบเครื่องมือการเรียนรู้ที่ใส่ใจเด็กของโรงเรียนมอนเตสเซอรีอย่างที่มิกกี้ได้อธิบายไปก่อนหน้านี้

การศึกษาที่ทำให้เห็นว่าทุกคนมีคุณค่าในแบบของตัวเอง

ในฐานะผู้เรียน โมโม่คิดว่าการศึกษาแบบมอนเตสเซอรีช่วยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ลงมือทำในที่สิ่งที่ชอบและสนใจ ทำให้เธอได้ลองค้นหาตัวเองและได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ เพื่อค้นหาความชอบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนตอบโจทย์ความต้องการของโมโม่ และที่มากไปกว่านั้น สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่โมโม่ค้นพบ คือคุณค่าของ ‘ความสัมพันธ์’ ที่เธอได้รับกลับมาจากการเรียนในโรงเรียนมอนเตสเซอรี

“อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญสำหรับหนูคือเรื่องความสัมพันธ์กับครูและเพื่อนๆ โรงเรียนที่หนูอยู่เป็นโรงเรียนเล็กๆ ที่ทุกคนสนิทกัน หนูให้คุณค่ากับสิ่งนี้มาก เพราะว่าถึงแม้เราจะประสบความสำเร็จมากแค่ไหน แต่ถ้าเราไม่มีเพื่อนหรือคนที่เรารักให้เราแบ่งปันด้วย มันก็ไม่มีความหมาย” 

ในมุมมองของผู้ปกครองอย่างพ่อณัฐ ปรัชญาการศึกษาแบบมอนเตสเซอรีช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้กับเด็กๆ ผ่านการให้คุณค่าในตัวตนของเด็กทุกคน ไม่มีการเปรียบเทียบกัน และนี่คือสิ่งสำคัญที่ทำให้การเรียนรู้ในรูปแบบมอนเตสเซอรีเป็นไปอย่างราบรื่น อิสระ และไม่เป็นภัยต่อเด็ก

“มอนเตสเซอรีเชื่อในความแตกต่างหลากหลาย สิ่งนี้ช่วยสร้างวัฒนธรรมที่ไม่ต้องระแวง ผมจำได้ว่าโรงเรียนเคยเป็นที่ที่เรามักจะโดนเปรียบเทียบว่าใครฉลาดกว่าใคร เราถูกวัดคุณค่าเหมือนเป็นสินค้า มันเป็นการทำร้ายจิตใจมนุษย์มาก แต่ที่มอนเตสเซอรีไม่มีการแข่งขัน”

“การไม่แข่งขันในที่นี้หมายถึงการแข่งขันที่ไม่ได้ทำไปเพื่ออยู่เหนืออีกฝ่าย มอนเตสเซอรีไม่มีการเปรียบเทียบหรือให้เกรด แต่มีระบบประเมินการเรียนรู้เป็นรายตัว ครูจะสังเกตและประเมินว่าเด็กคนหนึ่งสนใจในเรื่องอะไรและพัฒนาเรื่องนั้นต่อไปได้มากแค่ไหน การเปรียบเทียบเป็นเรื่องใหญ่ต่อความรู้สึกของเด็ก เมื่อไม่มีการเปรียบเทียบ เด็กทุกคนจะรู้ว่าตัวเองมีค่าในแบบที่แตกต่างกัน”

“ในห้องเรียนของหนูไม่มีใครเหมือนใคร และไม่มีใครกังวลที่ไม่เหมือนคนอื่น” โมโม่เสริม

และในท้ายที่สุด แม่บีชวนแขกรับเชิญทั้งสามท่านร่วมกันแสดงความคิดเห็นถึงความหมายของ ‘การศึกษา’ ในมุมมองของแต่ละคนว่าเป็นอย่างไร และนี่คือคำตอบของมิกกี้ พ่อณัฐ และโมโม่ที่ทิ้งท้ายไว้ เพื่อให้ทุกคนได้นำไปลองคิดและตอบคำถามที่ผู้กำกับอย่างมูโรต์สงสัยว่าการศึกษาแบบไหนกันแน่ที่มนุษย์เราควรได้รับ 

“เมื่อพูดถึงการศึกษา ก็คงต้องย้อนกลับไปยังคำถามปรัชญาที่ว่า ‘ชีวิตที่ดีคืออะไร’ ก่อนที่เราจะหยิบยื่นคำว่าชีวิตที่ดีให้เด็ก เราต้องถามตัวเองก่อนว่าเราเข้าใจความหมายของคำว่าชีวิตที่ดีอย่างไร เราต่างมีช่วงที่แตกหักของชีวิต สิ่งที่สำคัญคือการเป็นพ่อแม่ที่ยอมรับว่านิยามคำว่าชีวิตที่ดีในมุมมองของเราก็อาจยังไม่สมบูรณ์ แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นพ่อแม่พร้อมที่จะโอบอุ้มตัวเขาในวันที่เขาแตกหัก นี่คือก้าวแรกของการไม่พยายามรู้ ไม่พยายามทำเพื่อให้มันถูกต้อง ซึ่งจะนำไปสู่การเรียนรู้ในรูปแบบของการศึกษาได้”

“หนูคิดว่าไม่มีทางที่เด็กๆ ที่เรียนอยู่ในโรงเรียนเดียวกันจะกลายมาเป็นคนที่เหมือนกัน เพราะยังไงทุกคนก็ต้องเป็นตัวของตัวเอง การศึกษาสำหรับหนูคือการที่มีคนสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การเรียนรู้ ช่วยชี้ให้เราได้มองเห็นสิ่งที่ยังไม่รู้ และช่วยผลักดันให้เราไปสุดได้เท่าที่จะไปถึง และท้ายที่สุดคือตัวผู้เรียนมีความสุข รู้ว่าตัวเองมีค่า เคารพตัวเองและผู้อื่น เท่านี้ก็พอแล้ว”

“ผมมักจะถูกถามว่ากำลังสร้างชีวิตความฝันให้เด็กอยู่หรือเปล่า เด็กที่ไม่เคยแข่งขันถ้าออกไปใช้ชีวิตจะรอดเหรอ ไม่กดดัน ไม่มีความเครียด แต่ผมคิดว่าการศึกษาที่ดี คือการศึกษาที่ทำให้เด็กรู้สึกดีกับตัวเองก่อนที่จะมีความรู้ โฟกัสที่ความสนใจมากกว่าความสามารถของเด็ก เพราะความสุขในการได้เรียนรู้นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ ท้ายที่สุดมันจะพัฒนาไปสู่ศักยภาพและความสามารถที่จะตามมาในอนาคตได้”

Writer
Avatar photo
ณัฐนรี บัวขม

มีชีวิตอยู่เพื่อดูคลิปตลก คีบตุ๊กตา และเดินหาร้านอร่อยในย่านบรรทัดทอง

illustrator
Avatar photo
สิริกร พรอนงค์

ดีไซน์เนอร์, นักวาด และอาร์ตไดมือใหม่ที่ชอบไปทะเล

Related Posts

Related Posts