Kids Konference : ดูหนังและตั้งวงคุยกับ MAPPA x Doc Club Kids เมื่อนโยบายเกี่ยวกับเด็กปฐมวัยต้องคำนึงไปถึงทุกคนรอบตัวเด็ก

Kids Konference : ดูหนังและตั้งวงคุยกับ MAPPA x Doc Club Kids เมื่อนโยบายเกี่ยวกับเด็กปฐมวัยต้องคำนึงไปถึงทุกคนรอบตัวเด็ก

  •  Mappa x Doc Club ชวนดูหนังและตั้งวงคุยเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยภาพยนตร์ที่ฉายในครั้งนี้คือสารคดีเรื่อง Kids Konference ที่จะพาเราไปแอบดูบรรยากาศแสนน่ารักในโรงเรียนอนุบาลชานเมืองโตเกียว ที่ปล่อยให้เด็ก ๆ ได้คิด เล่น เรียนรู้ ตั้งคำถาม และหาคำตอบต่อสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง
  • วงสนทนาหลังหนังจบของเรามี ครูก้า – กรองทอง บุญประคอง ผู้เชี่ยวชาญด้านปฐมวัยและผู้ก่อตั้งโรงเรียนจิตตเมตต์ และ พี่ผึ้ง – ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว (สำนัก 4) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นวิทยากร และมี แม่บี – มิรา เวฬุภาค CEO & Founder Mappa เป็นผู้ดำเนินรายการ
  • ประเด็นต่าง ๆ มากมายจากในหนังถูกหยิบยกขึ้นมาในวงคุย ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อในตัวเด็กและปล่อยให้เขาได้เรียนรู้โลกด้วยตัวเองที่ผู้ใหญ่หลายคนอาจมองข้ามไป บทบาทที่โรงเรียนอนุบาลควรเป็นในฐานะพื้นที่แรกที่เด็กจะได้สัมผัสกับโลกที่กว้างกว่าบ้าน และนโยบายเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนที่จะทำให้การเรียนรู้แบบที่เราเห็นในหนัง เกิดขึ้นในประเทศไทยได้เช่นกัน

“สำหรับเด็ก ๆ หลายคน โรงเรียนอนุบาลคือที่แรกที่เขาได้สัมผัสโลกกว้าง” ครูใหญ่คุราคาเกะแห่งโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่ง ณ ชานเมืองโตเกียวเชื่อแบบนั้น เด็ก ๆ ในโรงเรียนแห่งนี้จึงมีโอกาสได้เรียนรู้และสัมผัสโลกที่ใหญ่กว่าบ้านด้วยการฝึกตั้งคำถาม พูดคุย แสดงความเห็น ใน ‘การประชุมเด็ก’ วงประชุมเล็ก ๆ ที่โรงเรียนจัดขึ้นอยู่เสมอ

นอกจาก ‘การประชุมเด็ก’ แล้ว โรงเรียนยังมี ‘โต๊ะสงบศึก’ ให้เด็ก ๆ ที่ทะเลาะกันได้หันหน้าเข้าหากัน ไม่ใช่เพื่อการจี้คลายปัญหาให้ได้ในทันที หรือให้คืนดีกันราวกับไม่เคยผิดใจกันมาก่อน แต่โต๊ะตัวนี้คือพื้นที่ให้เด็ก ๆ ได้ฝึกสรรหาถ้อยคำที่แทนความรู้สึกตัวเองได้ดีที่สุดและมองเห็นคุณค่าของการสื่อสารอย่างจริงใจ

ไม่ใช่แค่การประชุมเด็ก ไม่ใช่แค่โต๊ะสงบศึก แต่โรงเรียนแห่งนี้ยังมีเรื่องราวน่ารักอีกมากมายที่ถูกบันทึกไว้และถ่ายทอดออกมาให้เราได้ชมผ่านภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Kids Konference  (こどもかいぎ) ที่ Mappa และ Doc Club ได้จัดกิจกรรมฉายหนังและตั้งวงคุยไปในวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา

หลังหนังฉายจบ วงคุยของเราที่มีวิทยากรคือ ครูก้า – กรองทอง บุญประคอง ผู้เชี่ยวชาญด้านปฐมวัยและผู้ก่อตั้งโรงเรียนจิตตเมตต์ และ พี่ผึ้ง – ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว (สำนัก 4) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ แม่บี – มิรา เวฬุภาค CEO & Founder Mappa ในฐานะผู้ดำเนินรายการก็ได้ชวนคุยถึงประเด็นต่าง ๆ มากมายจากไหนหนัง ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อในตัวเด็กและปล่อยให้เขาได้เรียนรู้โลกด้วยตัวเองที่ผู้ใหญ่หลายคนอาจมองข้ามไป บทบาทที่โรงเรียนอนุบาลควรเป็นในฐานะพื้นที่แรกที่เด็กจะได้สัมผัสกับโลกที่กว้างกว่าบ้าน และนโยบายเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนที่จะทำให้การเรียนรู้แบบที่เราเห็นในหนัง เกิดขึ้นในประเทศไทยได้เช่นกัน

เด็ก ๆ ต้องการคนที่เชื่อใจให้พวกเขาได้เรียนรู้

สิ่งที่สื่อสารออกมาอย่างชัดเจนผ่านภาพยนตร์ กีคือการที่โรงเรียนเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้โลกด้วยตนเองโดยที่ผู้ใหญ่เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์และไม่เข้าไปแทรกแซงในกระบวนการการเรียนรู้นั้น ใน ‘การประชุมเด็ก’ แต่ละครั้ง แม้จะมีคุณครูเข้าร่วมวงประชุมด้วย แต่หัวข้อนั้นก็ไม่ได้กำหนดโดยคุณครู หากแต่เป็นเด็ก ๆ วัยไม่เกิน 6 ขวบนี่เองที่เป็นผู้ตั้งคำถาม กำหนดหัวข้อการประชุม เสนอความคิดเห็นและหาคำตอบไปร่วมกัน

แม้แต่ในโต๊ะสงบศึกที่มีไว้สำหรับเด็ก ๆ ที่ผิดใจกันซึ่งผู้ใหญ่อย่างเรามักจะอกเข้าไปควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ คุณครูก็เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ที่ยืนอยู่ห่าง ๆ และปล่อยให้เด็ก ๆ ได้ระบายความในใจของแต่ละฝ่ายออกมาให้อีกฝ่ายรับฟัง

“จริง ๆ โอกาสแบบนี้เกิดขึ้นได้น้อยเพราะความรักและความหวังดีของผู้ใหญ่ เราคิดว่าเขาจัดการไม่ได้ เราเลยลงไปจัดการ แต่จริง ๆ เด็กสามารถจัดการได้ เด็กสามารถเรียนรู้กันได้และหาวิธีที่จะอยู่ร่วมกันได้ รอคอยได้” ครูก้าตั้งข้อสังเกต พร้อมยกตัวอย่างฉากหนึ่งในสารคดีที่เด็ก ๆ ต่อคิวรอเล่นรถจักรยาน แม้การขอปั่นจักรยานกับเพื่อนครั้งแรกจะไม่สำเร็จ แต่พวกเขาก็รู้จักรอ และถึงครูจะนั่งอยู่ข้าง ๆ ครูก็ไม่ได้เข้ามาแทรกแซงในสถานการณ์นั้นและออกคำสั่งว่า ‘ให้เพื่อนเล่นด้วย’ “รู้จักขอ และรู้จักรอ พอตัวเองได้ก็อยากเป็นผู้ส่งต่อให้คนอื่นบ้าง จริง ๆ เด็กต้องการคนเชื่อใจให้เขาได้เรียนรู้แล้วในที่สุดเขาก็จะอยู่กันได้ในสังคมได้อย่างเป็นสุข”

พอพูดถึงเรื่องการประชุมเด็กที่คุณครูเป็นเพียงอีกคนหนึ่งที่เข้าร่วมการประชุมและไม่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้กำหนดทิศทางการพูดคุย ครูก้าก็มีความเห็นว่า หากผู้ใหญ่ลองรับฟังเด็ก ๆ ดูบ้างจะพบว่า มุมมองที่มีต่อโลกของเด็ก ๆ อาจจะเปิดโลกให้เราก็เป็นได้

“แนวคิดของคนที่เป็นครูคือไม่ได้ตั้งวงเพื่อจะสอนเขา แต่ให้โอกาสเขา เราเข้าไปเป็นกระบวนการที่ทำให้เด็กสนุกคิด กล้าตอบ และรู้สึกว่าวงนี้มันปลอดภัย และครูก็รอได้ด้วยสำหรับเด็กที่ยังไม่กล้าพูด รอจนกว่าเขาจะกล้า และหนังก็นำเสนอออกมาแบบที่ภูมิใจกับเด็กคนนี้ด้วย ขณะเดียวกัน เมื่อเราปล่อยให้เด็กพูดออกมาตามธรรมชาติ แม้แต่เรื่องการสูญเสียก็ยังไม่ได้เศร้าเท่าที่ผู้ใหญ่กลัวเวลาจะพูดเรื่องนี้กับเด็ก เราก็จะรู้จักเด็กมากขึ้น นี่คืออนิสงส์ของคนเป็นครู”

“อยากให้พ่อแม่ได้ดูมาก ๆ เพราะพ่อแม่จะรู้สึกว่าจริง ๆ เราฟังลูกบ้างก็ดีนะ เขาเปิดโลกเราด้วยซ้ำไม่ใช่เราเป็นคนเปิดโลกให้เด็ก ผู้ใหญ่รุ่นเราเป็นรุ่นที่ไม่ค่อยได้รับการเปิดมาก่อน เป็นรุ่นที่ถูกปลูกฝังว่าเราต้องสอนเด็กนะ เด็กจัดการชีวิตไม่ได้ เราต้องลงไปจัดการนะ เราไม่เชื่อในตัวเด็ก แล้วในที่สุดสิ่งที่เราได้มาก็คือเด็กไม่เชื่อในตัวเอง”

ส่วนแม่บีตั้งข้อสังเกตว่า นอกจากเด็ก ๆ จะกล้าพูดแล้ว ครูในโรงเรียนอนุบาลแห่งนี้เองก็กล้าที่จะแสดงความรู้สึกออกมาเช่นเดียวกัน นั่นจึงนำมาสู่คำถามสำหรับครูก้าอีกคำถามหนึ่งว่า ในมุมของผู้บริหารโรงเรียน ควรทำอย่างไรให้ครูวางใจที่จะแสดงออกได้ คำตอบของครูก้าคือ ผู้บริหารเองก็ต้องใช้ความเชื่อเดียวกับที่เชื่อในตัวเด็กมาเชื่อครูว่าครูเองก็มีความคิดที่หลากหลายเช่นกัน

เมื่อย้อนกลับมามองในประเทศไทย พ่อแม่หลายคนเองก็พร้อมที่จะเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงลูกแบบที่เคยถูกส่งต่อกันมาจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ แต่ในบางครั้งก็พบว่าทำได้ยากกว่าที่คิดเพราะสังคมรอบข้างอาจจะยังไม่ยอมรับวิธีการใหม่ ซึ่งประเด็นนี้ครูก้าก็แนะนำว่า พ่อแม่ที่มีความคิดแบบเดียวกันควรเกาะกลุ่มเพื่อเป็นกำลังใจให้แก่กัน และที่สำคัญที่สุดคือต้องเชื่อมั่นในตัวเด็กเข้าไว้

“เมื่อเราให้โอกาสเด็ก เราจะยิ่งเห็น ยิ่งเชื่อ และยิ่งให้โอกาส ครูก้าทำโรงเรียนมา 20 กว่าปี เราเห็นพัฒนาการทั้งตัวเราและพ่อแม่ เมื่อก่อนเราก็ไม่ได้เชื่อเขาขนาดนี้ แต่เด็กทำให้เราเชื่อมากขึ้นจนรู้สึกว่ายิ่งทำยิ่งสนุกยิ่งเห็น จนบอกพ่อแม่ว่าเรามาตามดูเด็กเล่นกันเถอะ แล้วเรารู้สึกโชคดีว่าเราได้เห็นความมหัศจรรย์ของเด็ก เหมือนที่ขึ้นต้นเลยว่าเด็กศักยภาพเขาไร้ขีดจำกัด แต่เราจะไม่มีโอกาสได้เห็นเลยถ้าเราไม่เชื่อ”

โรงเรียนอนุบาล : พื้นที่แรกที่เด็กได้สัมผัสโลก

ประโยคที่ว่า “โรงเรียนอนุบาลเป็นพื้นที่แรกที่เด็กกำลังจะได้สัมผัสโลก” ของครูใหญ่ ทำให้แม่บีอดที่จะตั้งคำถามไม่ได้ว่าจริง ๆ แล้วภารกิจที่สำคัญของโรงเรียนอยุบาลคืออะไร ซึ่งครูก้าก็ได้ให้คำตอบว่า

“โรงเรียนอนุบาลให้ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับโลกที่กว้างขึ้นซึ่งกำลังบอกเขาว่าเขาคือใคร ที่นี่จะทำให้เขาเห็นความสามารถของตัวเองไหม ทำให้เขารู้สึกดีกับตัวเองไหม ที่นี่กำลังจะบอกเขาว่าเขาต้องทำอย่างไรเมื่อเข้าสังคม ต้องเก็บตัวเงียบ ๆ ไม่ส่งเสียง หรือสามารถถามหรือกล้าถามอะไรบางอย่างได้ ตรงนี้เป็นที่บริหารสังคมที่กว้างขึ้นระหว่างตัวเขาและสังคมจริง ๆ และเขาจะเก็บเอาไปใช้ในการมองโลก”

อย่างไรก็ดี ครูก้ามองว่าทั้งโรงเรียนและบ้านต่างก็มีความสำคัญต่อเด็ก ๆ ในช่วงปฐมวัยไม่ต่างกันและทั้งสองก็ไม่สามารถทำงานกับเด็ก ๆ เพียงลำพังหรือแยกส่วนกันได้ แต่ต้องทำงานเป็นทีมเดียวกัน มีเป้าหมายร่วมกัน และร่วมวาดภาพอนาคตที่ดีให้กับเด็ก ๆ ไปด้วยกัน

ทว่าการเรียนการสอนในบางโรงเรียนนั้นกลับยังคงมีการใช้อำนาจและคำสั่ง รวมทั้งการใช้ความรุนแรงทั้งด้านร่างกายและจิตใจ และนั่นอาจทำให้เด็กเข้าใจไปว่าโลกไม่ปลอดภัยซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพจิตของเด็กเมื่อโตขึ้นด้วย

ส่วนพี่ผึ้งก็ร่วมแชร์ข้อมูลว่า จากรายงานสถานการณ์เด็กและเยาวชนประจำปี ที่ สสส. จัดทำร่วมกับ 101 Public Policy Think Tank นั้นพบว่า ปัญหาสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนนั้นสูงขึ้นทุกปี ซึ่งส่วนหนึ่งก็มีที่มาจากการเรียนการสอนในโรงเรียนด้วยเช่นกัน

“บางครั้งเราทำตามความคุ้นชิน ส่งต่ออำนาจแห่ง ‘ความหวังดี’ กันมาเรื่อย ๆ แล้วเธอจะได้ดีเอง แต่เราไม่รู้ว่าเรากำลังส่งต่อแรงกดดัน” ครูก้าออกความเห็นบ้าง “มีโรงเรียนเป็นจำนวนมากและครูที่จบศึกษาศาสตร์และครุศาสตร์หลายคนที่พบว่าหลักสูตรที่เขาเรียนมาไม่ผิด แต่จบมาแล้วกลับไม่ได้ใช้ เพราะต้องเร่งเรียน เร่งสอน ต้องคิดคำนวณได้ ถ้าทำไม่ได้พ่อแม่ก็ให้เอาออกหมด แต่นั่นเป็นฝันร้ายเก่า ๆ ตอนนี้เราในฐานะพ่อแม่ต้องส่งเสียงให้ชัดว่าเราไม่ได้ต้องการแบบนั้น เราต้องการความเป็นมนุษย์ เราต้องการพัฒนาการที่ลูกมีความแข็งแกร่งทางใจ เรื่องเซลฟ์ต้องมาก่อน แล้วเดี๋ยวเด็กจะมีพลังแล้วเด็กจะอยากเรียน อยากรู้ อยากทำอะไร เด็กก็จะเชื่อมือเชื่อมั่นและทำได้ด้วยตัวเองแล้วเขาก็จะเป็นคนที่แข็งแรงในสังคมเอง”

นโยบายสำหรับเด็กและเยาวชน ที่ต้องมองกว้างไปกว่าตัวเด็กและเยาวชน

ไม่เพียงสิ่งที่เราเห็นใน Kids Konference เท่านั้น แต่ที่ผ่านมายังมีสารคดีญี่ปุ่นดี ๆ อีกหลายเรื่องที่เกี่ยวกับการเรียนรู้และการเติบโตของเด็ก ๆ ที่คล้ายคลึงกันกับที่เราเห็นในสารคดีเรื่องนี้ แม่บีจึงชวนหาคำตอบว่าเพราะเหตุใดญี่ปุ่นจึงสามารถสร้างการเรียนรู้และนิเวศการเติบโตให้เด็ก ๆ ในแบบที่เราเห็นได้

“เคยอ่านเจอว่าหลังการพ่ายแพ้สงครามโลก ญี่ปุ่นก็อยากสร้างขึ้มาใหม่และสร้างคนที่มีคุณภาพมาก ๆ นโยบายของรัฐเลยเอียงไปทางที่ต้องลงทุนในมนุษย์” พี่ผึ้งเล่าในฐานะคนทำงานด้านนโยบายว่านโยบายของญี่ปุ่นเกี่ยวกับเด็กปฐมวัยนั้นเป็นนโยบายที่เรียกว่า Policy Package กล่าวคือเป็นนโยบายที่ไม่ได้มุ่งไปที่การทำศูนย์เด็กเล็ก หลักสูตรการศึกษา หรือสิ่งที่เกี่ยวกับเด็กโดยตรงเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงนิเวศรอบตัวเด็กด้วย

“เขามองว่าเด็กคนหนึ่งจะเติบโตขึ้นได้ จะมีใครบ้างที่มีส่วนเกี่ยวข้อง แล้วคนเหล่านั้นจะต้องได้รับนโยบายอะไรด้วยมันถึงทำให้เด็กมีคุณภาพแบบนี้ได้ เราเลยจะเจอนโยบายลาคลอด เรื่องให้เงินอุดหนุนเด็ก ศูนย์เด็กเล็กก็มีใกล้บ้านเพียงแค่ 5 หรือ 10 นาที สามารถเอาลูกไปฝากไว้แล้วตัวเองก็ไปทำงานได้”

พี่ผึ้งเล่าว่าในปัจจุบันญี่ปุ่นมีเด็กเกิดใหม่ปีละประมาณ 7 แสนคน ซึ่งอัตราเด็กเกิดที่น้อยเท่านี้นับเป็นความไม่มั่นคงของประเทศ ญี่ปุ่นจึงขยายเพดานเงินอุดหนุนเด็ก จากที่แรกเกิดจนถึง 3 ปี เป็นแรกเกิดจนโต และจะเพิ่มสัดส่วนงบประมาณสำหรับเด็กปฐมวัยเป็น 4 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ขณะที่สถานการณ์เด็กเกิดในประเทศไทยก็อยู่ในจุดวิกฤติไม่ต่างกันกับญี่ปุ่น แต่งบประมาณเกี่ยวกับเด็กปฐมวัยนั้นยังต่ำกว่า 0.5 เปอร์เซ็นต์ของ GDP

อีกเรื่องที่น่ากังวลเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนก็คือสถานการณ์สุขภาพจิตที่สูงขึ้นทุกปี

“เวลาเราพูดว่าเด็กมีปัญหาเรื่องนี้เยอะ ไม่ได้แปลว่าเราต้องรีบออกนโยบายอะไรเกี่ยวกับตัวเด็ก ถ้าเรายังดึงพ่อแม่ออกมาในเมืองใหญ่ทำให้พ่อแม่ไม่มีเวลาอยู่กับลูก เวลาที่เราอยากจะแก้เรื่องนี้ เราก็ต้องคืนเวลาที่มีคุณภาพให้กับพ่อแม่ที่เป็นวัยแรงงาน ดังนั้นมันก็จะไปแตะเรื่องกฎหมายแรงงาน เรื่องสถานประกอบการ ให้ที่ทำงานมีนโยบายที่เฟรนด์ลีกับครอบครัว มันต้องทำทั้งระบบ”

ก่อนหน้านี้ Doc Club เคยจัดฉายเรื่อง The Night Kindergarten อีกหนึ่งสารคดีเกี่ยวกับเด็กปฐมวัยจากญี่ปุ่นซึ่งเป็นเรื่องของศูนย์เด็กเล็กที่เปิดให้บริการในเวลากลางคืน ขณะที่ศูนย์เด็กเล็กในประเทศไทยนั้นมีเพียงศูนย์เด็กเล็กที่เปิดในเวลากลางวันและปิดในเวลา 15.00 น. ก่อนที่พ่อแม่จะเลิกงาน

“พื้นที่รองรับตรงนี้จะมีได้ไหม after program school จะมีได้ยังไง” พี่ผึ้งตั้งคำถามก่อนจะลองเสนอทางออก “ถ้ารัฐลงทุนไม่ไหวก็ไปสนับสนุนให้คนที่เขาอยากทำลุกขึ้นมาทำก็ได้ ส่วนพ่อแม่ก็จ่ายตามที่มีกำลังจะจ่าย เรื่องนี้สามารถเป็นเรื่องเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนได้เลย แนวคิดแบบนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของเด็ก เพราะแต่ละครอบครัวก็มีคนที่ต้องหารายได้ แล้วก็มีวัยพึ่งพิงคือเด็ก ผู้สูงอายุ และคนที่เจ็บไข้ได้ป่วย ผู้ป่วยติดเตียงหรือคนพิการ ครอบครัวแบบนี้ต้องการการบริการที่ถ้ารัฐแบกไม่ไหวก็เข้าไปสนับสนุนคนให้ลุกขึ้นมาทำอาชีพใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาตอบโจทย์ความต้องการของครอบครัวได้”

แม้จะพูดถึงปัญหาทางการศึกษาและช่องโหว่มากมายในนโยบายเกี่ยวกับเด็กปฐมวัยของไทยที่ยากจะไปให้ถึงมาตรฐานที่ญี่ปุ่นทำไว้ได้ในอนาคตอันใกล้ แต่วงคุยหลังหนังจบของเราก็ปิดท้ายด้วยความหวัง เริ่มจากแม่บีที่กล่าวว่า การเลี้ยงลูกนั้นไม่ใช่หน้าที่ที่ส่งผลเพียงแค่ลูกและเรา แต่แท้จริงแล้วพ่อแม่กำลังทำหน้าที่ที่เป็นการสร้างคนยุคถัดไปให้สังคม และหากเราอยากจะเห็นลูกเติบโตไปอยู่ในสังคมที่ดี เราเองก็ต้องทำให้สังคมที่ลูกจะเติบโตไปใช้ชีวิตอยู่นั้นดีด้วยเช่นกัน

“มันไม่ใช่แค่การทำให้ลูกของเรารอด แต่ต้องทำให้สังคมที่ลูกจะไปอยู่รอดไปด้วยกัน” แม่บีกล่าว ก่อนจะถามพี่ผึ้งถึง ‘ความหวังเล็ก ๆ’ ในประเทศไทยที่พี่ผึ้งอาจได้พบเจอ

“จริง ๆ เรามีเยอะมาก” พี่ผึ้งตอบ “สิ่งที่เรามีเยอะคือคนไทยหลายคนเริ่มลงมือทำอะไรที่แตกต่างและแม้จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างจริงจังเป็นระบบแต่ก็ยังหาทางทำอย่างต่อเนื่อง”

“มีคุณครูพันธุ์ใหม่ในโรงเรียนในระบบกระทรวงศึกษาที่มารวมตัวกันเพื่อเรียนรู้ อย่างเครือข่ายที่เรียกว่า ‘ก่อการครู’ ที่เป็นพื้นที่ที่จะบ่มเพาะครูรุ่นใหม่ จริง ๆ มันมีเยอะมากแต่เราอาจจะยังไม่ได้รวมตัวกันให้สังคมเห็นชัดขึ้น ซึ่งเราก็หวังว่าเราจะได้เชื่อมโยงกันและทำให้สื่อมวลชนและผู้กำหนดนโยบายได้เห็นว่าจริง ๆ เขาทำได้และทำอยู่ มันไม่ใช่ว่าไม่เกิดขึ้นที่ไทย เพียงแต่มันไม่ได้รับการส่งเสริม มีความเป็นไปได้จริง มีเด็กที่เติบโตผ่านระบบการเรียนรู้แบบนี้ตัวเป็น ๆ มีการประสบความสำเร็จในชีวิตจริง” พี่ผึ้งกล่าวก่อนที่แม่บีจะทิ้งท้ายการสนทนาครั้งนี้ว่า  

“นอกจากนโยบายแล้ว คุณพ่อคุณแม่เองก็สนับสนุนได้ อย่าเพิ่งหมดหวังว่าเราเกิดในประเทศนี้จะไม่มีความหวัง อยากให้เราช่วยกันทำสิ่งเหล่านี้ให้แข็งแรง มีคนเริ่มแล้ว แต่เวลาเราเริ่มมันก็ยังไม่ค่อยแข็งแรงหรอก แต่ feedback จากคนข้างนอกจะช่วยเป็นพลังใจ เพิ่มพลัง และเพิ่มเสียงให้มันดังไปถึงนโยบายได้” 

Writer
Avatar photo
ปัญญาพร แจ่มวุฒิปรีชา

อย่ารู้จักเราเลย รู้จักแมวเราดีกว่า

Photographer
Avatar photo
ฉัตรมงคล รักราช

ช่างภาพ และนักหัดเขียน

illustrator
Avatar photo
พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts

Related Posts