Juvenile Justice : “ฉันรังเกียจเยาวชนผู้กระทำความผิด” เพราะผู้ใหญ่ทุกคนคือผู้กระทำผิดไม่ต่างจากเด็ก
Juvenile Justice : “ฉันรังเกียจเยาวชนผู้กระทำความผิด” เพราะผู้ใหญ่ทุกคนคือผู้กระทำผิดไม่ต่างจากเด็ก
- “ฉันรังเกียจเยาวชนผู้กระทำความผิด แม้จะเกลียดและไม่ชอบ แต่เพื่อเยาวชนแล้ว ฉันจะทำสุดความสามารถและไม่มีอคติใดๆ กับเยาวชน”
- เจ้าของประโยค คือ ‘ชิมอึนซอก’ ผู้พิพากษาสมทบหญิงจากซีรีส์ Juvenile Justice ที่มีบุคลิกและการพูดจามุทะลุแบบไม่สนใคร แต่การกระทำกับสวนทาง
- ทุกเรื่อง ทุกคดีที่เธอพิพากษา คือ คำตัดสินจากศาลถึงครอบครัวและเยาวชน เพราะเบื้องหลังของการทำผิดของเด็กๆ ครอบครัวเป็นคนสำคัญไม่ว่าจะมีผลมากหรือน้อยก็ตาม เพราะเด็กไม่ได้เติบโตเพียงลำพัง แต่อย่างน้อยเขาอยากถูกเห็นและมีตัวตน
(**บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของซีรีส์)
“ฉันรังเกียจเยาวชนผู้กระทำความผิดค่ะ”
คือเหตุผลที่ทำให้ ‘ชิมอึนซอก’ เลือกเป็น ‘ผู้พิพากษาสมทบ’ ในศาลเยาวชนของเกาหลีใต้
ด้วยบุคลิกและการพูดจาที่แข็งกร้าวจนเด็กๆ หลายคนต้องส่ายหน้าเพราะเมื่อใดที่เจอเธอ หมายความว่า โทษสถานหนักอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม แม้คดีนั้นจะใหญ่หรือเล็กก็ตาม
แต่ภายใต้คำพิพากษาที่ใครๆ ก็บอกว่า ‘โหด’ และ ‘หนัก’ ของชิมอึนซอก คือ ความตั้งใจในการสร้างบทเรียนชีวิตจากศาลถึงเด็กและครอบครัว
เพราะนี่คือสิ่งที่ ‘ฮงจองชาน’ ผู้กำกับเรื่องนี้ต้องการสื่อสารกับคนดู
“ซีรีส์เรื่องนี้ไม่ได้พูดถึงแค่ปัญหาเยาวชน แต่เราอยากสะท้อนปัญหาสังคมที่ไม่ได้รับการแก้ไข เพราะปัญหาเด็กนั้นหมายรวมถึงสังคมและระบบโครงสร้างที่ตั้งต้นจากครอบครัว”
แม้เยาวชนจะถูกตีตราว่าเป็นผู้กระทำผิด แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสภาพแวดล้อมรอบตัวคือองค์ประกอบสำคัญ โดยมีตัวละครหลักเป็น ‘ผู้ใหญ่’ ที่เป็นทั้งคนมอบโอกาสและทิ้งเด็กจำนวนหนึ่งไว้ข้างหลัง
มากกว่านั้น หากผู้ใหญ่คนนั้น คือ พ่อแม่ ที่ปิดการฟังด้วยกำแพงสูงในใจ สุดท้ายต่อให้เด็กส่งเสียงดังว่าเขาอยากมีตัวตนมากเท่าไร พ่อแม่ก็ไม่ได้ยินและไม่เข้าใจ
สำหรับเด็ก ครอบครัวคือส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาเลือกทำผิด ในทุกเรื่อง ทุกคดีที่ปรากฏอยู่ใน Juvenile Justice จะมากหรือน้อยอาจแตกต่างกันตามสายใยและความผูกพันของคนในครอบครัว
อย่างไรก็ตาม คงไม่มีใครอยากเห็นคนในครอบครัวถูกตัดสินว่าเป็น ‘ผู้กระทำผิด’
ลักทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย ชักชวนให้ค้าประเวณี หลอกขายบริการ กระทำชำเรา คดีเด็กที่เริ่มต้นจากครอบครัว
“ถ้าพ่อแม่ไม่เปลี่ยน ลูกก็ไม่มีวันเปลี่ยนได้หรอก”
ชิมอึนซอกบอกกับชาแทจู ผู้พิพากษาสมทบรุ่นน้องหลังปิดคดีฆาตกรรมเด็กชายวัย 7 ปี โดยไร้เงาพ่อแม่ของฮันเยอึน ผู้ต้องหาคดีนี้พลั้งมือฆ่าเด็กคนนั้นผ่านคำกล่าวอ้างว่า ฮันเยอึนมีภาวะหลงผิดจึงเข้าใจว่าเด็กชายที่เดินเข้ามาขอยืมโทรศัพท์จะเข้ามาทำร้าย
แม้ซีรีส์จะไม่ได้บอกว่าเยอึนเริ่มมีอาการหลงผิดตั้งแต่เมื่อไร แต่เมื่ออยู่ตรงหน้าศาล ภาวะทางจิตไม่ใช่ข้ออ้างของการคร่าชีวิตใคร
“หลงผิดว่าปองร้าย โรคจิตเภท ฉันไม่สนอะไรทั้งนั้นค่ะ สิ่งที่สำคัญ สิ่งที่ชัดเจน ก็คือลูกของฉันตัวสั่นเทาด้วยความกลัว อยู่ในบ้านที่ไม่คุ้นเคย โดยไม่มีแม่ แล้วชิงจากโลกนี้ไปก่อน ฉันยังคงไม่เข้าใจว่าทำไมลูกฉันที่ไม่ได้ทำอะไรผิด ถึงต้องตายไปแบบนั้น”
ความรู้สึกของแม่ที่ใจสลาย เพราะลูกชายเพียงคนเดียวต้องจากไปอย่างไร้เหตุผล แม้จะหลงผิด แต่มันเป็นเรื่องชีวิตที่ไม่มีใครมาแทนได้
รวมถึงเรื่องราวของ ‘ซอยูรี’ ที่หนีออกจากบ้าน สิ่งปลูกสร้างที่ไม่เคยปลอดภัย เพราะถูกพ่อทำร้าย
พ่อติดเหล้า พ่อทุบตี พ่อด่า เป็นเรื่องปกติที่ยูรีเจอมาตลอดและคอยกรีดใจ จนเป็นบาดแผลซ้ำซากที่รักษาไม่เคยหาย
“เด็กๆ ที่มีแผลใจจากความรุนแรงในครอบครัว เด็กพวกนั้นจะไม่เติบโตไปมากกว่านี้แล้วครับ ไม่ว่าอีก 10 ปี 20 ปี มีแค่เวลาที่ผ่านไป แต่เด็กพวกนั้นถูกขังอยู่ในห้วงเวลาเหล่านั้นเพียงลำพัง”
ชาแทจูเล่าในมุมมองของผู้ผ่านประสบการณ์ความรุนแรงในครอบครัวมาก่อน เพราะความรักและการอบรมสั่งสอน ไม่เท่ากับความรุนแรงและอำนาจของคนในครอบครัว
เพราะการทำผิดเพียงครั้งเดียวอาจทำให้พ่อแม่คู่หนึ่งต้องเสียลูกชาย ภรรยาต้องเสียสามี แม่ต้องเสียลูก เด็กต้องมีบาดแผลที่รักษาไม่หาย และบางคนถูกตัดสินว่าเป็นฆาตกร
นอกจากนี้ยังมีคดีอื่นๆ เช่น ลักทรัพย์ ความรุนแรงในครอบครัว ค้าประเวณี หลอกขายบริการ ที่ถูกหยิบมาเล่าในแต่ละตอนของซีรีส์ ซึ่งเป็นเศษเสี้ยวของคดีที่ปรากฏใน Juvenile Justice และเป็นเพียงจุดทศนิยมเดียวของปัญหาเยาวชนที่มีอยู่จริง
ขณะเดียวกัน ไม่เพียงแต่ตัวละครอายุไม่เกิน 18 ปีในซีรีส์เรื่องนี้ที่กำลังยืนต่อหน้าบัลลังก์ศาลก้มหน้ายอมรับต่อคำพิพากษา แต่เยาวชนไทยจำนวนหนึ่งก็กำลังอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน
รายงานสถิติคดีประจำปี 2563 จัดทำโดยกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ระบุว่า มีเด็กที่ถูกดำเนินคดีทั้งหมด 19,470 คน เกือบร้อยละ 90 เป็นเยาวชนอายุมากกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี
เยาวชนที่ถูกดำเนินคดีเกือบครึ่งหนึ่งถูกจับข้อหายาเสพติด และอีกร้อยละ 20 ถูกจับข้อหาความผิดอื่นๆ เช่น ความผิดพ.ร.บ.จราจรและ พ.ร.บ.การพนัน
การเติบโต คือ การลองผิดลองถูก เด็กคนหนึ่งอาจพลาดก่ออาชญากรรมที่ร้ายแรงจนไม่น่าให้อภัย แต่บทลงโทษจากกฎหมายจะเป็นเครื่องเตือนใจว่า หากทำผิด ครอบครัวควรเป็นคนช้อนรับความรู้สึกและอยู่เคียงข้างพวกเขาเสมอ
แต่วันนี้… เด็กหลายคนบอกปัดครอบครัว เพราะครอบครัวไม่เข้าใจ ไม่ยอมรับ และไม่รับฟัง จนเด็กคนหนึ่งเติบโตด้วยความไม่เข้าใจและไม่รู้ว่าตอนนี้พวกเขาใช้ชีวิตถูกแล้วหรือยัง
“หลังจากเด็กทำผิดเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่ต้องทำให้ลูกเข้าใจว่าความผิดที่ก่อไว้รุนแรงแค่ไหน แต่หลังจากนั้นที่ว่ามันไม่มีหรอก” ชิมอึนซอกบอกไว้แบบนั้น
สถานจำแนกเยาวชน ศูนย์ฟื้นฟู โอกาสเริ่มต้นใหม่ของเด็กที่ทำผิด
ตามพ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 เมื่อเด็กคนหนึ่งอายุไม่เกิน 10 ปี ถูกตัดสินว่ากระทำผิด พนักงานสอบสวนจะรวบรวมข้อเท็จจริงส่งอัยการเพื่อประเมินความจำเป็นว่าต้องได้รับการสงเคราะห์หรือไม่
ขณะเดียวกันถ้าผู้กระทำผิดอายุ 10-18 ปี มีโอกาสที่เด็กจะถูกส่งตัวไปอยู่กับบุคคล องค์กร โรงเรียน หรือสถานฝึกอบรมเพื่อควบคุมความประพฤติหรืออาจใช้มาตรการบำบัดฟื้นฟูแทนการดำเนินคดี
หาก Juvenile Justice มีสถานพินิจ สถานจำแนกเยาวชน และศูนย์ฟื้นฟูที่ทำงานใกล้ชิดเด็กๆ ในไทยก็มีสถานที่เหล่านี้เช่นกัน ซึ่งมีเป้าหมายเดียวกัน คือ จำลองโลกความจริง อบรมสั่งสอน เพื่อคืนเด็กผู้ทำผิดกลับสู่สังคม
ข้อมูลล่าสุดวันที่ 2 มีนาคม 2565 ประเทศไทยมีสถานพินิจรวม 78 แห่งที่มีเด็กอยู่เกือบ 2,000 คนรอการพิสูจน์ความจริงภายใต้กระบวนการยุติธรรม และมีศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนจำนวน 21 แห่งทั่วประเทศที่ต้องดูแลเด็กๆ และอบรมเด็กจากสถานพินิจมากกว่า 2,000 คน
“เคยกลัวนะ แต่พอเข้ามาแล้ว เรามาถอดบทเรียนว่าทำไมเขาถึงกระทำผิด เราก็เข้าใจแล้วหายกลัว เราได้รู้ว่า เด็กหนึ่งคนไม่ได้เกิดมาแล้วอยากกระทำผิด แต่เขาต้องผ่านความทุกข์โศกมามากแค่ไหน เราก็เปลี่ยนความคิดเหมือนกันว่า จะมองเด็กแบบไหน มองที่พฤติกรรมสุดท้ายว่าเขาเป็นอาชญากร หรือมองความยากลำบากที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเขา”
ครูบุ๋ม หนึ่งในครูประจำบ้านจากบ้านกาญจนาภิเษก หนึ่งในศูนย์ฝึกของรัฐให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ 101.World เมื่อ 3 ปีก่อน เพราะการจะเข้าใจเหตุผลในการกระทำผิดของเด็กคนหนึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย
สถิติการทำผิดซ้ำของเยาวชนที่ถูกปล่อยตัวในรอบ 1 ปี มีแนวโน้มสูงขึ้นในปีงบประมาณ 2558 – 2562 จากร้อยละ 22.73 เป็นร้อยละ 25.39
แนวคิดของครูบุ๋มไม่ต่างจากโอซอนจา หัวหน้าศูนย์ฟื้นฟูพูรึมจากซีรีส์เรื่องนี้ที่รู้ดีว่า เด็กๆ กำลังถูกตีตราจากสังคม หน้าที่ของเธอ คือ การสอนเด็กๆ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับจากชุมชนรอบข้าง
“แม้ว่าเด็กๆ ที่นี่จะอายุน้อยแค่ไหน แต่สำหรับคนทั่วไป พวกแกก็แค่อาชญากร เพราะฉะนั้นเมื่อพวกแกมาถึงที่นี่ สิ่งแรกที่ฉันพยายามจะสอน คือ งานบ้านและการทักทาย ไม่ว่าจะอ้างอะไรก็เปลี่ยนความจริงที่ว่าเด็กๆ ทำผิดไม่ได้ ถ้าอคติมันแรงมาก ก็มีเพียงวิธีเดียวที่จะเอาชนะได้ คือ การเผชิญหน้า ก็มีแค่งานอาสานี่แหละ”
“เด็กๆ ที่เคยชินกับการถูกชี้นิ้วด่า ตอนนี้พวกแกชินกับการได้รับคำชมแล้วค่ะ”
เพราะอย่างน้อยในวันที่พ่อแม่ไม่เข้าใจ ครูๆ ในศูนย์ฝึกจะต้องเปิดพื้นที่และโอกาสให้เด็กที่พลาดกลับมาเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง ถึงจะไม่มีสิ่งใดมาการันตีได้ว่า เด็กที่เราดูแลในวันนี้ อนาคตพวกเขาจะไม่ทำผิดซ้ำ แต่อย่างน้อยเขาควรรู้ว่า อะไรคือสิ่งที่เขาพลาดไป
สำหรับเด็กการออกจากบ้านอาจปลอดภัยกว่าชีวิตไร้ตัวตน
“ถ้าเรามีพ่อแม่ดีๆ ชีวิตเราคงไม่เฮงซวยขนาดนี้หรอก”
โอกยองซู สารภาพความผิดว่าเขาร่วมมือกับฮวังอินจุน แบคโดฮยอน ซอดงกยุน หลอกกระทำชำเรา ‘คังซอนอา’ เด็กผู้หญิงที่เหงาเพราะไม่มีเพื่อน
นอกจากนี้ทั้ง 4 คนยังเป็นสมาชิกแก๊งหนีออกจากบ้าน เพราะการอยู่ข้างนอกอาจปลอดภัยกว่าชีวิตไร้ตัวตนในบ้าน
“จริงๆ แล้วแบคโดฮยอนมันเกิดบนกองเงินกองทองที่ออกจากบ้านก็เพราะแม่เลี้ยง ถ้ามันไม่ให้เงินเรา เราก็ไม่เชื่อฟังมันหรอกครับ” ซอดงกยุนอธิบายเพิ่ม
“พ่อห่วยๆ ของผมชอบต่อยคนเวลาเมา แม่ทนไม่ไหวเลยออกจากบ้านไป ลุงเขยของดงกยุนก็เหมือนกัน” โอกยองซูบอกต่อ
เช่นเดียวกับคังเยนา เยาวชนผู้กระทำผิดที่ถูกจับข้อหาเป็นนายหน้าขายบริการและใช้ชีวิตอยู่ที่ศูนย์ฟื้นฟูพูรึม
สำหรับเยนาแม่คือที่พึ่งหนึ่งเดียวในใจ แต่ครั้งล่าสุดที่เจอแม่ คำตอบของแม่ คือ การปิดประตูใส่พร้อมบอกสามีใหม่ว่า ลูกสาวคนนี้เป็นเพียงคนแปลกหน้า
ปี 2563 มูลนิธิกระจกเงาระบุในแถลงการณ์กรณีสถานการณ์เด็กหายว่า มูลนิธิกระจกเงาได้รับแจ้งเด็กหาย 224 คน โดยสถานการณ์เด็กหายที่พบมากที่สุด คือ เด็กวัยรุ่น ช่วงอายุ 10-15 ปี ที่สมัครใจหนีออกจากบ้าน โดยปัจจัยหลักมาจากปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และปัจจัยสนับสนุนจากเด็กที่ติดต่อพูดคุยกับคนในโลกออนไลน์ในลักษณะชู้สาว
ทั้งๆ ที่รู้ว่าผิดและไม่ควร แต่เด็กคนหนึ่งก็ยังทำ เพราะอยากมี ‘ตัวตน’ ในสายต่อพ่อแม่และถูกยอมรับจากสังคม
“เด็กๆ ที่มีแผลใจจะทำร้ายตัวเอง เพราะพวกเขาอยากให้ความทรมานจากการทำร้ายตัวเอง สร้างแผลในใจให้ครอบครัวด้วยเหมือนกัน ช่วยมองมาที่ฉันหน่อย ฉันทรมาน ทำไมถึงไม่สนใจกันบ้าง ที่จริงจุดเริ่มต้นของการกระทำผิดส่วนใหญ่มาจากครอบครัว”
ประสบการณ์การเป็น ‘ครู’ บอกโอซอนจา หัวหน้าศูนย์ฟื้นฟูพูรึมว่า ไม่ว่าสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็กคนหนึ่งจะแย่แค่ไหนครอบครัวคือองค์ประกอบสำคัญในการเติบโตของเด็กและเยาวชน
คำถามคือ หากเด็กคนหนึ่งทำผิด เขาควรแบกรับความรู้สึกผิด ความเจ็บปวด และบทลงโทษนั้นไว้คนเดียวหรือไม่ ถ้าพ่อแม่ไม่เคยอยู่เคียงข้างเขา
สำหรับชินอึนซอก แม้สภาพแวดล้อมจะแย่ แต่เด็กคือผู้เลือกก่ออาชญากรรม เมื่อเดินผิดทางจนถูกจับแล้วต้องมายืนหน้าศาล พ่อแม่ควรเป็นคนแรกที่รับรู้และรับบทลงโทษนั้นไปด้วยกัน
“เยาวชนไม่ได้เติบโตเพียงลำพังค่ะ แม้ว่าวันนี้เยาวชนจะถูกลงโทษ แต่น้ำหนักของโทษนั้น ผู้ปกครองเองก็ต้องสัมผัสมันไปพร้อมกันค่ะ”
การเลี้ยงเด็กสักคนต้องเลี้ยงทั้งหมู่บ้าน ถ้าหมู่บ้านไม่ใส่ใจก็อาจทำลายชีวิตเขาได้
“นายคิดว่าคนที่ทำผิดมีแค่เด็กพวกนั้นไหม ไม่มีใครมีสิทธิ์มาวิจารณ์หรอก ทุกคนคือผู้กระทำผิด”
ชิมอึนซอกบอกกับผู้พิพากษารุ่นน้องเพราะหลายๆ คดีตลอดทั้งเรื่อง จุดเริ่มต้นมาจาก ‘ผู้ใหญ่’ ที่มากประสบการณ์และบางครั้งกดทับอนาคตและความฝันของเด็กๆ
ในฐานะของผู้พิพากษา หน้าที่ของอาชีพเธอ คือ การสร้างความตระหนักให้เด็กแทนครอบครัวหรือโรงเรียนผ่านกระบวนการยุติธรรม
“กระดุมเม็ดแรกถูกติดไปแบบผิดๆ ตอนที่เด็กมาขึ้นศาลครั้งแรกเพื่อมารับคำพิพากษาหลังจากคร่าชีวิตคนคนหนึ่งไป คิดว่าเด็กๆ เรียนรู้อะไรเหรอคะ ขึ้นชื่อว่ากฎหมายก็ไม่ได้แปลว่าจะปกป้องเหยื่อทุกคน อ๋อ กฎหมายกระจอกชะมัด แค่สามนาที… การพิจารณาคดีก็จบแล้ว”
ผู้พิพากษาสมทบหญิงบอกหัวหน้าแผนกในบทบาทของ ‘ผู้พิพากษา’ และ ‘แม่ของเหยื่อ’ บทลงโทษที่โหดและหนักจึงเป็นความใส่ใจของชิมอึนซอก
เมื่อเด็กรู้ว่าเขาทำผิดอะไร เขาอาจจะมีอนาคตและชีวิตที่ดีกว่านี้ ไม่ต้องติดกับของการทำผิดอีก
“ฉันรังเกียจเยาวชนผู้กระทำความผิดค่ะ ทัศนคติแบบนั้นของฉันอาจทำให้ใครบางคนต่อว่าและอาจทำให้บางคนเจ็บปวด”
“รังเกียจ ความหมายตามพจนานุกรม หมายถึง ไม่ชอบและเกลียด แม้ฉันจะไม่ชอบและเกลียด แต่เพื่อเยาวชนแล้ว ฉันจะทำสุดความสามารถค่ะ แม้ฉันจะไม่ชอบและเกลียดฉันจะตัดสินให้เป็นกลาง แม้ฉันจะไม่ชอบและเกลียด ฉันก็จะไม่มีอคติใดๆ ต่อเยาวชนค่ะ”
นี่คือหน้าที่ของชิมอึนซอกในฐานะของลูกบ้านคนหนึ่งที่มีหน้าที่เลี้ยงเด็กให้เติบโตในสังคมที่ใส่ใจเพื่อเป็นคนคนหนึ่งที่สนับสนุนไม่ใช่ทำลายชีวิตของ “เด็กและเยาวชน”
ที่มา
https://kdramadiary.com/press-conference/juvenile-justice-press-conference/
http://www.djop.go.th/images/djopimage/year63-2.pdf
http://www.appdjop.djop.go.th/djopsupport/warroom2/warroom1.htm
https://www.the101.world/life-lessons-in-baankanjana/
https://jvnc.coj.go.th/th/file/get/file/20180925610f5b4373766892f08af1757788fadf220707.pdf
https://www.facebook.com/weareoja/photos/a.664480593637716/1947282622024167/
https://www.facebook.com/135097415008/posts/10157631835720009/?d=n
Writer
ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์
ชอบดูซีรีส์เกาหลี เพราะเชื่อว่าตัวเราสามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ได้ สนใจเรื่องระบบการศึกษาเเละความสัมพันธ์ในครอบครัว พยายามฝึกการเล่าเรื่องให้สนุกเเบบฉบับของตัวเอง
illustrator
ชินารินท์ แก้วประดับรัฐ
มีงานหลักคือฟังเพลง งานอดิเรกคือทำกราฟิกที่ไม่มีอะไรตายตัว บางครั้งพูดไม่รู้เรื่องต้องสื่อสารด้วยภาพและมีม