สะท้อนมุมมองของคำว่า intergeneration และเข้าใจคำว่า Gen Gap ในรูปแบบละครใบ้ไปกับ ‘ทา-เล่นโชว์’ (รวมทั้ง หน้ากากหัวโต ทรงอาม่า และหลานชายวัยรุ่นด้วย)
สะท้อนมุมมองของคำว่า intergeneration และเข้าใจคำว่า Gen Gap ในรูปแบบละครใบ้ไปกับ ‘ทา-เล่นโชว์’ (รวมทั้ง หน้ากากหัวโต ทรงอาม่า และหลานชายวัยรุ่นด้วย)
ท่ามกลางอากาศที่กำลังเย็นสบาย มีลานโล่งกว้างกำลังส่งเสียงเรียกเด็กๆ ให้ขยับเข้าใกล้ ลานนั้นมีเวทีสำหรับทำกิจกรรมมากมาย บนพื้นหญ้านุ่มๆ มีเด็กน้อยและพ่อแม่ ปูผ้า กางเก้าอี้แคมป์ปิ้ง นั่งเล่นและรอชมกิจกรรมบนเวที ใกล้ๆ กันยังรายล้อมไปด้วยร้านรวงสุดน่ารัก ที่นี่คือเทศกาลสร้างสรรค์สำหรับเด็กและครอบครัว Relearn Festival 2025
ฤดูหนาวท้องฟ้าจะมืดเร็วกว่าฤดูอื่นๆ จากช่วงเย็นย่ำ ที่ยังพอมีแสงอุ่นจากดวงอาทิตย์ ผ่านไปเพียงครู่จู่ๆ ท้องฟ้าก็มืดลง แสงไฟบนเวทีได้สว่างจ้าขึ้น โซฟาตัวใหญ่ถูกนำออกมาจัดวางไว้กลางเวที ไม่ช้าผู้หญิงคนหนึ่งก็เดินออกมาพร้อมกับหอบหน้ากากคนแก่หัวโตไว้ในอ้อมแขน คนๆ นั้นคือ ‘เม’—นัฎฐพร ตันฮะฮวด
อีกสักพักหนึ่งผู้ชายอีกคนหนึ่ง ก็เดินออกมาพร้อมกับหน้ากากหัวโตผมยุ่งสีฟ้า และเขาคนนั้นก็คือ ‘ทา’ – ณัฐพล คุ้มเมธา ทั้งคู่คือสมาชิกจากคณะละครใบ้ ‘ทาเล่นโชว์’ (Ta Lent Show Theatre) ที่หยิบยกความน่าสนใจและใช้หน้ากากขนาดใหญ่มาเป็นไฮไลท์การแสดงเป็นครั้งแรก
“เรายังคุยกันอยู่เลยว่า นี่คือการโชว์ด้วยงานหน้ากากครั้งแรกของเรา เด็กๆ เห็นหน้ากากใหญ่ขนาดนี้ จะกลัวมั้ย อืมมม สำหรับเด็กก็ดูน่ากลัวอยู่นะ” (หัวเราะ) เมบอกพร้อมทำมือประกอบว่า หน้ากากใหญ่ประมาณไหน
เพื่อลดความน่ากลัว เติมความน่าสนใจ และเพื่อเชิญคนดูให้พร้อมรับชม ทาบอกว่า ต้องเริ่มต้นด้วย ‘ขนมหวาน’
“นี่คือการละลายพฤติกรรมคนดู เราเรียกวิธีนี้ว่า ขนมหวาน หยอดมุก พอคนดูเริ่มหัวเราะเมื่อไหร่ เขาก็จะเริ่มเปิดใจ อยากสื่อสารอะไร เขาก็อยากลองฟัง” ทาอธิบายวิธีการเตรียมความพร้อมของคนดู ที่มีหลายช่วงวัย และใช้ได้กับคนดูที่ต่างวัฒนธรรม โดยเฉพาะเวลาที่ทั้งคู่ได้ไปแสดงละครที่ต่างประเทศ
อย่างที่ทาและเมบอกไว้ ขนมหวานเริ่มต้นขึ้นด้วยการแสดงท่าทาง ราวกับว่า กำลังบอกให้ทุกคนเขยิบเข้ามาอีกนิดนะ ขยับเข้ามาอีกหน่อย ‘ฉันมีอะไรจะให้เธอได้ดู’ และก็ได้ผล ทุกคนขยับเข้าใกล้ เด็กหายตกใจ และเริ่มหัวเราะ – พื้นที่นี้ปลอดภัยแล้ว
“นี่แค่น้ำจิ้ม เต็มเครื่อง คือวันจริง 9 กุมภาพันธ์นี้ อยากชวนให้ทุกคนให้มาดูกันตอนสลับร่างระหว่างอาม่าและหลานชาย จะวุ่นวายหรือสนุกแค่ไหน อุ๊บส์! บอกอีกแล้ว ชวนอาม่ามาด้วยนะ แล้วเจอกัน” หน้ากากวัยรุ่นชักชวน
“มาเถอะ มาสนุกกัน แค่สนุกก็พอ แล้วเดี๋ยวจะได้เรียนรู้ ได้เข้าใจคนต่างวัยไปในตัว แต่ก่อนที่จะมา ไปฟังเรื่องราวของทาเล่นโชว์ก่อนก็แล้วกัน พวกเขามีอะไรอยากเล่าให้ฟังเพียบ” หน้ากากอาม่าก้มหน้าลงเล็กน้อย รู้สึกราวกับถูกจ้องมอง หน้าตา (หน้ากาก) อาม่ายังคงเหมือนเดิม – แต่ทำไมเราเห็นไม่เหมือนเดิมแล้วล่ะ? นั่นสินะ ทำไม?
Intergeneration กับ ‘หน้ากากอาม่า และหลานชายหัวยุ่ง’
“สนุกจัง น่ารักดี’ สองคำนี้ ผุดขึ้นในหัวของเราระหว่างรับชมการแสดงของทาเล่นโชว์ ความน่ารักมาพร้อมกับไอเดียดีๆ ที่ได้นำสิ่งของสร้างใหม่ อย่าง หน้ากากหัวโต มาเป็นตัวดำเนินเรื่อง หลังจบโชว์เราถึงแรงบันดาลใจของหน้ากาก
“มันอยู่ในเนื้อในหนังของเรา” เมหัวเราะอย่างอารมณ์ดี
“ก่อนหน้านี้เราเคยไปดูงานหน้ากากตั้งชั่วโมงหนึ่งแล้วพบว่า มันสนุกมาก เล่าได้สนุก เห็นแล้วน่าเล่น น่าลอง แต่ก็ค้างเอาไว้ คิดอยากจะทำงานหน้ากากเหมือนกัน แต่ก็ยังไม่ได้ทำสักที เวลาผ่านไป ได้ร่วมงานกับทาง Mappa อีกครั้ง ภายใต้โจทย์ Intergeneration การอยู่ร่วมกันของทุกช่วงวัย ที่พวกเรากำลังสนใจอยู่พอดี ทุกอย่างจึงลงล็อค” ทาอธิบาย
แต่จุดที่ทั้งคู่พบเจอตลอดการแสดง สิ่งหนึ่งที่อาจทำให้รอยต่อของความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างวัย อาจเป็นเรื่องของการต่อไม่ติด ทาเล่าว่า ต่อให้โชว์ดีแค่ไหน เด็กก็มาดูเองไม่ได้ ต้องให้พ่อแม่พามา และเด็กก็อยากดูได้
“ที่ผ่านมาเราจะเห็นว่า พ่อแม่ส่งลูกเข้าไปดู เพราะคิดว่าเป็นโชว์สำหรับเด็ก แล้วมานั่งรอ แต่พอเด็กดูโชว์จบก็ต้องมาเล่าให้พ่อแม่ฟัง ซึ่งมันน่าเสียดายคอนเนกชั่นตรงนั้น เราเลยมาคุยกันว่า เอ๊ะ! ถ้าเราสามารถทำโชว์หนึ่งที่พ่อแม่สามารถเข้าไปดูได้ ส่วนลูกก็เข้าไปสนุกได้ เด็กๆ ก็จะได้ความรู้สึกที่คุยกับพ่อแม่ติด มันไม่ได้จบแค่โชว์จบเท่านั้น เราเลยคุยกันว่าหลายๆ โชว์ เราไม่ได้ทำให้เด็กดูอย่างเดียว แต่เราจะทำให้มันกว้างขึ้น ผู้ใหญ่ดูได้เนื้อหา เด็กดูได้ความสนุก”
หลังจากนั้นทั้งคู่ก็ได้คิดหาวิธีสื่อสารเรื่องราว ทำยังไงให้คนที่ต่างวัยเข้าใจกันได้ จนกระทั่งตกผลึกเป็นคำว่า ‘ลองเป็นเขา’ ซึ่งก็คือ ‘การเอาใจเขามาใส่ใจเรา’ แล้วต้องมีเครื่องมือบางอย่าง ที่ทำให้คนดูเข้าถึงสิ่งนี้ได้อย่างเข้าใจมากขึ้น และเครื่องมือนั้นก็คือ ‘หน้ากาก’
ทาบอกว่า “มันคือ การถอดหัวโขนของเรา ไปใส่หัวโขนของเขา เราใช้หน้ากาก สร้างเนื้อเรื่องด้วยการสลับร่าง ถ้าเราทำให้คนแก่สลับร่างกันล่ะ ให้คนแก่ไปเป็นโลกของวัยรุ่น วัยรุ่นไปเป็นโลกของคนแก่ล่ะ จะเป็นยังไง”
“เรามองว่า หน้ากากมันเห็นเป็นภาพชัดมาก ชัดที่สุด เพราะมันมีการเปลี่ยนหัวได้จริงๆ” เมอธิบายเพิ่ม
งานหน้ากากในครั้งนี้ทั้งคู่บอกว่า เป็นงานแรกที่ทำขึ้นกันเองจากกระดาษเปเปอร์มาเช่ โดยมีที่ปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านการทำละครหน้ากาก อย่าง นิกร แซ่ตั้ง จากคณะละคร 8X8 ศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดงปี 53 ก็ทำให้หน้ากากอาม่าและหลานดูสมจริงและน่าสนใจมากขึ้น
เมื่อหน้ากากเป็นรูปเป็นร่าง ทั้งคู่ได้ค้นพบความพิเศษของหน้ากากบางอย่าง และเป็นบางอย่างที่เชื่อว่า เด็กๆ น่าจะรับรู้ได้ มองเห็น และเข้าใจได้ไม่ยาก นั่นก็คือ หน้ากากไม่เปลี่ยน แต่สีหน้าเปลี่ยน
เราเห็นด้วย เพราะระหว่างการแสดง เราเห็นว่าคนแก่กำลังโกรธ ทั้งๆ ที่หน้ากากก็หัวเดิม เราเห็นเหมือนกับว่า ปากของหน้ากากอาม่าขยับกำลังบ่น ทั้งๆ ที่ไม่ได้ขยับเลยแม้แต่น้อย ทาบอกว่า นี่คือการเลือกตำแหน่งของหน้ากับมุมต่างๆ เพื่อให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันออกไป ประกอบกับการใช้เสียงและแสงเข้าช่วย
จะว่าไปแล้วงานหน้ากากเชื่อมโยงความหลากหลายที่น่าสนใจเข้าไว้ด้วยกันได้อย่างลงตัว แต่ทั้งคู่ก็จบจุดที่ยากที่สุด คือ พื้นที่ในหน้ากากมีจำกัด ด้วยความอึดอัดจนแทบจะหายใจไม่ออก ถ้าผู้อ่านอยากรู้ให้ลองทำมือเป็นเลขศูนย์ แล้วประกบที่ตา พวกเขาเห็นแค่นั้นจริงๆ แต่ความอึดอัดชวนแพนิคนี้ ทำให้ทั้งคู่เจอคำตอบบางอย่าง
“เราเจอคำว่า ‘ยอม’ ตอนที่เล่นใหม่ๆ จะรู้สึกหายใจไม่ออก อึดอัด แล้วความอึดอัด ท่าทางร่างกายจะออกเลย ผมเองก็อึดอัดแต่เรารู้แล้วว่ามันต้องเป็นแบบนี้ ต้องยอม เพราะการเป็นหน้ากากคือ การยอมเข้าไป” (เป็นส่วนหนึ่งของหน้ากาก) น้ำเสียงและภาษากายของทา ทำเรารับความรู้สึก ‘อัดอึด’ และ คำว่า ‘ยอม’ ได้ราวกับใส่หน้ากากด้วยตัวเอง
บทละครใบ้ที่พยายามสื่อสารเพื่อลดช่องว่างระหว่างวัย (Gen Gap) และเข้าใจคนทุกเจนฯ ให้ได้
มีช่วงหนึ่งที่ซาวด์ประกอบเปิดเสียงเพลงภาษาจีน ด้วยทำนองที่เราคุ้นเคย สลับดับดนตรีร็อค ยิ่งย้ำให้เห็นถึงประสบการณ์ของช่วงวัยที่ห่างกัน และเรื่องเล่าเจนเนอเรชั่นได้อย่างชัดเจน โดยอิงจากความคุ้นเคยในวัยเด็กของทั้งคู่ ที่มีเชื้อสานจีน และเติบโตมากับอาม่า ซึ่งตรงกับครอบครัวหลายๆ บ้าน และในหลายๆ บ้านก็ยังมีช่องว่างบางอย่างอยู่
แต่ทั้งคู่บอกกับเราว่า พวกเขาชอบคำว่า Intergeneration และเชื่อมั่นว่าทุกช่วงวัยอยู่ร่วมกันได้ พ่อแม่ลูก อาม่าอากงคุยกันเรื่องเดียวกันได้ ขอเพียงแค่คำว่า ‘เข้าใจ’ ที่เชื่อมโยงได้ถึงคำว่า ‘ยอมเข้าไป’ (ในโลกของเขา)
“ช่องว่างระหว่างวัย เป็นทุกบ้าน ผมว่า การสร้างคำว่า Generation Gap ขึ้นมา ก็เพื่อเป็นสะพานให้เราเข้าใจ เรียนรู้ อยากฟังเขาดูบ้าง และยอม คำว่า ยอม ไปเป็นเขา ยอมไปดูโลกของเขา และมันคือ ความต่าง ในขณะที่บางคนปิดกั้น นั่นคือ การไม่อยากเรียนรู้ความแตกต่าง ซึ่งเราไม่ได้ตัดสินว่า ความต่างนั้นถูกหรือผิดนะ เราก็แค่รู้เฉยๆ แต่เราเปิดใจ เข้าไปเป็นเขามากกว่า” ทาอธิบายได้อย่างน่าสนใจ
“เราคิดว่า มันคือการที่เราอยากรู้จักเขา อยากรู้ว่า คนวัยนี้คิดยังไง น่าจะใช้วิธีนี้ในการที่จะเราจะลองที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ เรามองว่า การจะลดความขัดแย้งของการต่างเจนฯ ก็คือ ไม่ต้องไปดึงเขาให้มาคิดเหมือนเรา หรือมาเชื่อเหมือนเรา โดยที่เขาไม่พร้อม แล้วก็จะเกิดการตัดสิน สุดท้ายก็จบที่การขัดแย้งทั้งในองค์กรหรือครอบครัว เราต่างกันก็ได้ เรามีเพื่อนต่างชาติได้ ทำไมเราจะมีเพื่อนต่างเจนฯ ไม่ได้” เมจบด้วยประโยคคำถาม
เช่นเดียวกับการแสดงละครใบ้ของทาเล่นโชว์ ที่ไม่ได้ดึงดั้นให้เด็กๆ หรือใครก็ตามเข้ามาเพื่อที่จะเข้าใจประเด็นของการสื่อสาร แต่ทั้งคู่ได้ใช้หัวใจ แบ่งเป็นพื้นที่ที่พร้อมจะเข้าใจคนดูมากกว่า
“อืมมมม เรามองว่ามันเป็นเหมือนการเปิดพื้นที่นะ พื้นที่ที่เราจะอยู่ด้วยกันได้ ต้นไม้ที่เราปลูกไว้ที่บ้านยังปลูกหลายหลายชนิดเลย มันต่างกันแต่ก็ยังอยู่ด้วยกันได้ ผมว่า มันเป็นความงดงามด้วยซ้ำ” ทาเสริม
“หลังจบการแสดงจะมีความน่าสนใจมากเลย เด็กและผู้ใหญ่จะมีมุมมองที่ต่างกัน เราเห็นว่า เด็กบอกแม่ว่า หนูชอบตรงนั้น ตรงนี้มากเลย มันคือการแลกเปลี่ยนความคิดหลังจากการดูจบลง” เมขยายความ
“เป็นการเปิดพื้นที่ให้ลูกได้เล่า ได้คิด เธอคิดแบบนี้ ฉันคิดแบบนี้ แค่นี้จบแล้ว ไม่ต้องตัดสินผิดถูกด้วย” ทาบอก
พื้นที่ปลอดภัย พื้นที่นี้ดีต่อใจคนที่วัย อยากจะให้มีอยู่ ‘ถี่และบ่อย’ ไปนานๆ
แม้การแสดงในวันแรกนี้ จะมีเพียงครึ่งเรื่อง แต่เป็นครึ่งทางที่ทาและเมได้เห็นผลลัพธ์ของคำว่า Intergeneration
“เรารู้มาว่า น้องทีมซาวด์ ทีมเทคนิคที่อยู่หลังเวที ชอบกันมาก หัวเราะกันใหญ่ เขาบอกประมาณว่า ถ้าจะต้องโดนยายแอบฟังแบบนี้ ไปคุยหลังฉากแล้ว มีแซว อุ้ยวัยรุ่นอินเลิฟแบบนี้ต้องฉีดน้ำหอมแล้ว คือ เขาอินและเอนจอยด้วย และนี่คือสิ่งที่เราต้องการสื่อสารแบบ intergeneration และนี่คือคำตอบ”
“เมื่อกี้มีเด็กเล็กประมาณ 4 ขวบ แม่มาบอกว่า ลูกเอนจอยมาก เนื้อหาคือ การต่างเจนฯ ลูกวัยนี้ยังไม่เข้าใจ แต่สนุกและตลกไปกับท่าทางของเรา มีตกใจเล็กน้อยตอนเปิดฉาก ที่เมเปลี่ยนเป็นคนแก่ แต่สักพักก็หัวเราะ ซึ่งเราก็เซอร์ไพร์สเหมือนกัน” น้ำเสียงของทายังคงสนุกและตื่นเต้นเสมอ
ความตื่นเต้นที่ยังคงทำให้หัวใจของทาและเมเป็นเด็กที่น่ารักและอยู่ด้วยแล้วสนุก ทำให้เราชาว mappa ชื่นชมกับความตั้งใจและใส่ใจในการแสดงละครใบ้ของทั้งคู่อยู่เสมอ เช่นเดียวกับทั้งคู่ที่บอกกับเราว่า ดีใจที่ได้พบกัน
“เราดีใจที่ได้งานร่วมงานกับ mappa เป็นปีที่สอง และอยากให้มีต่อไปเรื่อยๆ จริงๆ อยากให้มีบ่อยๆ ยิ่งเวลาไปต่างประเทศ มันเหมือนReference ว่าเขามีสิ่งนั้นสิ่งนี้ แล้วบ้านเราน่าจะทำได้ พอมันมีคนที่อยากจะทำเพื่อให้สังคม และเด็กๆ ได้แข็งแรงขึ้น เราก็อยากเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งและอยากสนับสนุนในส่วนที่เราทำได้ เพื่อให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยและส่งเสริมให้เด็กๆ เติบโตอย่างมีคุณภาพ” เมตอบแล้วยิ้ม
“การได้ทำงานร่วมกับ Mappa สำหรับผมในมุมของคนทำงาน ที่นี่คือที่เราอยากจะปล่อยของ ซึ่งเปิดโอกาสให้เรามากๆ ในฐานะศิลปินก็สร้างงานดีๆ ได้และรู้ว่าจะมีคนดู ในมุมที่เราเคยเป็นคนดูคนอื่น เรารู้สึกว่าว้าว เป็นอินสไปเรชั่นให้เราได้ทำ เราอยากให้มันเกิดขึ้นบ่อยๆ ถี่ ย้ำเลยว่า ถี่และบ่อย และคนที่เคยมางาน อาจจะเป็นเมล็ดพันธุ์อะไรบางอย่าง กระตุ้นให้อยากทำสิ่งเหล่านี้ในหลายๆ คน
“ผมเชื่อว่า สิ่งนี้มันดีและงดงาม พร้อมที่เติบโต อาจไม่ใช่แค่ที่กรุงเทพฯ อย่างเดียว เดี๋ยวก็จะมีไปอีก อย่างปีนี้ mappa ก็มีที่จังหวัดยะลา หากมันเกิดขึ้นใน 76 จังหวัด ยกขบวนไปก็คงจะดีมาก
“ส่วนในมุมมองพ่อแม่ ซึ่งผมเองก็มีลูกสองคน มองว่าที่นี่คือ พื้นที่ปลอดภัยที่เราอยากจะพาลูกเข้ามา ที่นี่ทำให้เรียนรู้และเติบโตไปพร้อมๆ กับลูกได้” ทาทิ้งท้าย
Writer
ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล
คุณแม่ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยให้มีความสุขแบบกำลังพอดี และตัวเองก็แฮปปี้ได้ด้วย คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 14 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักเขียนและวาดนิทานเด็ก
Photographer
ชวณิช สุริวรรณ
อย่าซีเล็ง เดี๋ยวซู้หลิ่ง