มากกว่าซ่อมแซม แต่คือการรักษาจิตใจ และทุกเส้นใยล้วนมีเรื่องราว คุยกับ ตุ๊ก-พนิดา เตียวตระกูล นักซ่อมตุ๊กตาจาก Sewing Thing ผู้ปลุกชีวิตใหม่ให้ของรักในวัยเด็ก
มากกว่าซ่อมแซม แต่คือการรักษาจิตใจ และทุกเส้นใยล้วนมีเรื่องราว คุยกับ ตุ๊ก-พนิดา เตียวตระกูล นักซ่อมตุ๊กตาจาก Sewing Thing ผู้ปลุกชีวิตใหม่ให้ของรักในวัยเด็ก
หลายคนคงมี ‘น้องเน่า’ เป็นเพื่อนคู่ใจ ไม่ว่าจะเป็นตุ๊กตาตัวเก่า ผ้าเน่าที่ใช้มานาน หรือหมอนที่ขาดแล้ว แต่ยังอยากกอดไว้ ตุ๊กตาหรือของเล่นชิ้นโปรดเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์แทนใจจากวัยเยาว์ ให้ความอบอุ่นและปลอดภัยในใจเสมอเมื่อเรานึกถึง การเก็บรักษาสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เพียงเพราะความผูกพันทางอารมณ์ แต่ยังสะท้อนความต้องการทางจิตใจที่อยากรักษาความเป็นเด็กที่ยังคงอยู่ในตัวเอง
เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งของย่อมเสื่อมสภาพไปตามเวลา ตุ๊กตาที่เคยนุ่มฟู ก็เหี่ยวลงอย่างน่าประหลาดใจ ดวงตาที่เคยมี 2 ข้างก็เหลือเพียงข้างเดียว แม้หลายคนจะบอกให้ทิ้งและซื้อใหม่ เราก็ไม่อาจตัดใจได้ง่ายขนาดนั้น วิธีที่เลือกจึงเป็นการซ่อม เพราะเปรียบเสมือนการเยียวยาบาดแผลในจิตใจ ตุ๊กตาแต่ละตัวคือเพื่อนคู่คิดที่เก็บรักษาเรื่องราวและความทรงจำอันล้ำค่า เมื่อตุ๊กตาได้รับการซ่อมแซม ก็เหมือนกับการได้เปิดโอกาสให้เราได้ย้อนกลับไปสัมผัสความสุขและความอบอุ่นในวัยเด็กอีกครั้ง การซ่อมตุ๊กตาจึงไม่ใช่เพียงแค่การทำงานฝีมือ แต่เป็นการรักษาความทรงจำและสร้างความสุขให้กับจิตใจ
Mappa ชวนคุยกับ ตุ๊ก-พนิดา เตียวตระกูล เจ้าของร้าน Sewing Thing นักซ่อมตุ๊กตา ที่เห็นความสำคัญของการรักษาความทรงจำเหล่านี้ จึงทุ่มเทให้กับการซ่อมตุ๊กตา ทำให้ ‘น้องเน่า’ กลับมามีชีวิตชีวาและสร้างความสุขให้กับเจ้าของอีกครั้ง
จากพนักงานประจำสู่เส้นทางใหม่ในการเป็น ‘นักซ่อมตุ๊กตา’
หลังทำงานในบริษัทเดียวมากว่า 20 ปี เธอเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อบริษัทต้องปรับโครงสร้าง และเธอกลายเป็นพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง แม้จะเสียดาย แต่กลับมองว่านี่เป็นโอกาสที่ดีในการเริ่มต้นสิ่งใหม่ หลังได้ลองเรียนโยคะและมองหาทางเลือกอื่นๆ เธอก็พบความสนใจในงานซ่อมตุ๊กตาเมื่อเห็นตัวอย่างจากอาชีพนี้ในญี่ปุ่น
“ตอนแรกพี่เห็นโพสต์ในเฟซบุ๊กที่พูดถึงคุณป้านักซ่อมตุ๊กตาชาวญี่ปุ่น ตอนนั้นเป็นตุ๊กตาโดเรมอนเก่า เขาก็เอามาทำความสะอาด เปลี่ยนขนจนรู้สึกเหมือนใหม่ เลยประทับใจมาก แล้วก็สังเกตเห็นว่าในไทยยังไม่มีร้านซ่อมตุ๊กตาแบบนี้ ในขณะที่มีคนอยากซ่อมตุ๊กตาอยู่มาก เลยลองโพสต์ลงโซเชียลมีเดียดู ปรากฏว่ามีคนสนใจอยู่ไม่น้อย
“พอได้ลองซ่อมตุ๊กตาครั้งแรก เป็นตุ๊กตาหมีเก่าๆ ของผู้ชายคนหนึ่ง รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายและมีคุณค่าทางใจมาก เพราะตุ๊กตาในวัยเด็กของเขาได้คืนชีพอีกครั้ง”
แรงบันดาลใจจากทักษะในวัยเด็กสู่การสร้างอาชีพใหม่
ทักษะในการซ่อมแซมของพนิดาได้รับการถ่ายทอดมาจากแม่ที่เป็นช่างเย็บเสื้อ แม้ในวัยเด็กเธออาจไม่ชอบงานเย็บปักมากนัก แต่ทักษะที่ได้รับกลับกลายเป็นพื้นฐานที่ทำให้เธอเริ่มต้นธุรกิจนี้ได้ เมื่อเธอเริ่มต้นสร้างเพจออนไลน์ คนก็เริ่มติดต่อมา เพื่อให้นำน้องเน่ากลับมาให้ดูดีอีกครั้ง
“การได้คืนชีวิตให้กับตุ๊กตาเก่าๆ หรือของเล่นชิ้นโปรดที่เต็มไปด้วยเรื่องราว ทำให้เรารู้สึกว่าเราได้ส่งความสุขคืนให้กับเจ้าของ” พนิดากล่าว นี่ไม่ใช่เพียงแค่การซ่อมแซม แต่เป็นการรักษาความทรงจำที่ล้ำค่า ให้ของเล่นชิ้นเดิมสามารถบอกเล่าเรื่องราวได้อีกครั้ง
งานซ่อมตุ๊กตาของเธอไม่ได้เป็นเพียงการซ่อมแซมวัสดุเท่านั้น แต่ยังช่วยเก็บความทรงจำที่ซ่อนอยู่ในสิ่งของที่ผู้คนผูกพัน “การได้คืนชีวิตให้กับตุ๊กตาเก่าๆ หรือของเล่นชิ้นโปรดที่เต็มไปด้วยเรื่องราว ทำให้เรารู้สึกว่า เราได้ส่งความสุขคืนให้กับเจ้าของ” พนิดาว่า
เริ่มต้นการเรียนรู้ด้วยตัวเอง
“ด้วยความที่แม่เป็นช่างเย็บเสื้ออยู่แล้ว ทำให้เราคุ้นเคยกับการใช้อุปกรณ์เย็บปักถักร้อย แต่พอต้องหันมาซ่อมตุ๊กตาจริงๆ ก็พบว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ตอนแรกก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มจากตรงไหน ต้องเย็บตุ๊กตายังไง ซักยังไงถึงจะไม่ทำให้ของพังไปกว่าเดิม เราเลยใช้วิธีเรียนรู้จากครูพักลักจำ ศึกษาจากยูทูบและดูวิธีจากสื่อออนไลน์ต่างๆ ก่อนที่จะลองทำเอง”
หลังจากทำตุ๊กตาตัวแรกเสร็จ เธอก็ถ่ายภาพก่อนและหลังซ่อม เพื่อนำไปโพสต์ในโซเชียลมีเดีย ซึ่งได้รับความสนใจจากลูกค้าอยู่บ้าง แม้ในตอนแรกจะมีแค่ 1-2 คนที่ส่งตุ๊กตามาซ่อม แต่ก็มีงานที่ท้าทายเธอสุดๆ เกิดขึ้นจนได้
เมื่อได้เจองานชิ้นที่ ‘ต้องลอง’
งานชิ้นสำคัญที่เปลี่ยนแปลงการเดินทางในอาชีพนี้ของเธอเกิดขึ้นเมื่อมีลูกค้าคนหนึ่งส่งตุ๊กตาที่หลุดลุ่ยมา ชนิดที่ว่าแทบดูไม่ออกว่าเป็นตุ๊กตาอะไร แต่ด้วยคุณค่าทางจิตใจสำหรับผู้เป็นเจ้าของ ตุ๊กตาชิ้นนี้เป็นความท้าทายใหม่ที่ทำให้เธอต้องลงมือทำอย่างเต็มที่
“ตอนแรกที่เห็นก็คิดว่าไม่ไหวหรอก งานยากมาก แต่ไหนๆ ก็ไม่มีอะไรทำแล้ว และเรามีเวลาเยอะก็เลยค่อยๆ คิดและลงมือทำทีละนิด สุดท้ายก็ทำออกมาเป็นตุ๊กตาที่สมบูรณ์ได้”
ความพยายามของเธอได้รับผลตอบรับที่ดี เจ้าของตุ๊กตาได้นำภาพตุ๊กตาที่ซ่อมเสร็จไปโพสต์ลงทวิตเตอร์และกลายเป็นไวรัลอย่างรวดเร็ว ทำให้มีผู้คนสนใจงานซ่อมของเธอมากขึ้น และนี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอเริ่มซ่อมตุ๊กตาอย่างจริงจัง
การพัฒนาทักษะและความหลงใหลในการแกะแพตเทิร์น
การซ่อมตุ๊กตาไม่ได้มีตำราเรียน เธอชอบไปเดินโกดังมือสองเพื่อหาตุ๊กตาเก่าๆ มาศึกษา
“เราไปเพื่อหาตุ๊กตาเก่าๆ ไปแกะรูปแบบและขั้นตอน ดูว่าทำยังไง ตรงไหนเย็บยังไง เป็นการเก็บประสบการณ์ไปเรื่อยๆ แบบที่ไม่ต้องเร่งรีบ”
ทุกครั้งที่ได้ศึกษาตุ๊กตาตัวใหม่ เธอจะรู้สึกว่าตัวเองได้พัฒนาฝีมือขึ้น และเริ่มสร้างสไตล์การซ่อมที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ทำให้เธอสามารถมอบชีวิตใหม่ให้กับตุ๊กตาของลูกค้าได้อย่างประณีต
ปัจจุบันเธอยังคงทำงานซ่อมตุ๊กตาเพียงลำพัง คิวงานของเธอยาวไปถึงปีหน้า และยังมีลูกค้าใหม่ๆ ติดต่อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เธอใช้เพียงช่องทางอินสตาแกรมในการรับงาน เพราะกลัวว่าจะทำไม่ทันหากขยายไปที่ช่องทางอื่นๆ
“ตอนนี้ก็เริ่มคิดว่าจะขยายไปช่องทางไหนได้บ้าง อาจจะต้องเรียนรู้เรื่องการทำธุรกิจและการตลาดบ้าง แต่ก่อนอื่นเราอยากรักษาความเป็นเอกลักษณ์ของร้านให้ดี ไม่อยากให้ใหญ่เกินจนเราไม่มีเวลาสนใจรายละเอียด”
แม้การเติบโตจะเป็นสิ่งที่เธอต้องการ แต่เธอก็ยังอยากมอบความสุขให้กับลูกค้าผ่านการซ่อมตุ๊กตาอันเต็มไปด้วยความทรงจำในแบบที่ทำมาจากใจ
ตุ๊กตาที่ลูกค้าส่งมารักษามากที่สุด
“ของที่ลูกค้าส่งมาให้ซ่อมบ่อยที่สุดในตอนนี้คือ ตุ๊กตาเด็กอ่อนและของใช้เด็กแรกเกิด เช่น หมอนหลุม หมอนข้างขนาดเล็ก หรือผ้าห่มชิ้นโปรดที่ใช้มาตั้งแต่เกิด ของเหล่านี้ผ่านการซักซ้ำไปซ้ำมา จนเนื้อผ้าเริ่มเปื่อยจนแทบขาด แค่ดึงเบาๆ ก็ขาดออกจากกันได้”
หลายครั้งเธอต้องหาวัสดุที่คล้ายกันมาทดแทน เนื่องจากใยผ้าเดิมเสื่อมสภาพเกินกว่าจะกู้คืนได้ “ลูกค้าส่วนหนึ่งเป็นพ่อแม่ที่อยากรักษาสิ่งของเหล่านี้ไว้ให้ลูก เพราะลูกใช้จนผ้าบางและเก่ามาก ไม่ยอมซักหรือซ่อม พ่อแม่ก็ไม่รู้จะทำยังไง เลยติดต่อมาที่เราให้ช่วยซ่อมให้”
ไม่ใช่ทุกครั้งที่เป็นการซ่อมแซม บางครั้งลูกค้าเข้ามาพร้อมเรื่องราวที่ทำให้เธอต้องสร้างของใหม่ขึ้นมาเลยทีเดียว
มีเคสหนึ่งที่น่าประทับใจมาก พ่อแม่ชาวต่างชาติคู่นึงได้ติดต่อเรามา เพราะลูกลืมตุ๊กตาตัวโปรดไว้บนเครื่องบิน ซึ่งตุ๊กตาตัวนี้หายากมาก แถมโรงงานก็เลิกผลิตไปแล้ว เขาส่งรูปถ่ายมาให้เรา พยายามขอให้ทำตัวใหม่ขึ้นมา เพราะลูกน้อยหลับไม่ได้เลยถ้าไม่มีตุ๊กตาตัวนี้”
พนิดายังเล่าว่า งานซ่อมตุ๊กตาของเธอเริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น
“แรกๆ ก็จะมีตุ๊กตาหมาแมว หรือของใช้เด็กอ่อนที่เราคุ้นเคยอยู่แล้ว แต่เดี๋ยวนี้ลูกค้าก็เริ่มส่งของแปลกๆ มามากขึ้น เช่น งู หรือไดโนเสาร์ เป็นตุ๊กตาที่คนคิดไม่ถึงว่าจะกลายมาเป็นของรักของหวงของใครสักคน นี่คือเสน่ห์ของงานซ่อมค่ะ ทำให้เราเห็นว่าทุกคนมีความลึกซึ้งและความทรงจำต่างๆ ในสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นแค่ตุ๊กตาตัวหนึ่ง”
ของที่มีคุณค่าทางใจมากกว่ามูลค่า
“ของที่ลูกค้าส่งมาให้ซ่อมส่วนใหญ่ ไม่ใช่ของที่หาซื้อใหม่ได้ง่าย หรือบางครั้งก็เลิกผลิตไปแล้ว”
“มันเป็นของที่มีคุณค่าทางใจ มีเรื่องราวและความทรงจำที่เจ้าของอยากเก็บไว้ การได้ซ่อมและคืนความทรงจำให้กับของเหล่านี้ เป็นงานที่ทำให้เรารู้สึกว่าได้ช่วยสร้างความสุขและความอบอุ่นให้กับลูกค้า” พนิดาเล่า
การซ่อมของที่มีชิ้นเดียวในโลก ทำให้เราหนักใจแค่ไหน? เราถาม
“หนักใจขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ บางทีลูกค้าก็คาดหวังให้เราชุบชีวิตตุ๊กตาให้กลับมาเหมือนเดิมเป๊ะ ซึ่งไม่ได้ง่ายขนาดนั้น การซ่อมแซมของที่เก่าหรือใช้งานมานานแล้ว มักมีร่องรอยเฉพาะตัว ทำให้ยากที่จะคงสภาพทุกอย่างไว้ได้ 100% เช่น ถ้าใส่ใยสังเคราะห์เข้าไปเพิ่ม ดวงตาของตุ๊กตาก็อาจดูโตขึ้น ไม่เหี่ยวเหมือนเดิม หรือรอยยิ้มที่คุ้นตาอาจหายไป ยากตรงที่เราต้องอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจว่า เราทำได้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่คงเหมือนเดิมเป๊ะไม่ได้ทุกจุด
“ของที่ได้รับมาส่วนใหญ่เป็นของที่อยู่ใกล้ชิดตัวผู้ใช้ บางครั้งสิ่งที่ลูกค้าผูกพันไม่ได้อยู่แค่ในรูปลักษณ์ภายนอก แต่เป็นกลิ่นหอมเฉพาะของตุ๊กตา หรือสัมผัสของเนื้อผ้าที่ถูกใช้งานจนกลายเป็นความคุ้นเคย บางคนยังชอบมุมผ้าที่จับแล้วรู้สึกถึงความผูกพัน ขนาดผ้าเน่าที่เมื่อนำไปซัก กลิ่นเดิมอาจหายไป ต้องใช้เวลาสักพักกว่าจะกลับมาเหมือนเดิม”
กระบวนการรับของจากลูกค้าที่เต็มไปด้วยรายละเอียดที่ต้องใส่ใจ
“เราจะให้ลูกค้าส่งภาพมาให้ประเมินก่อน ว่าต้องการซ่อมอะไรบ้าง อยากให้ทำความสะอาดไหม แล้วถ้าใช้ผ้าแทน ผ้านั้นต้องคล้ายกับเดิมแค่ไหน ซึ่งทั้งหมดนี้เราจะทำตามความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก และเนื่องจากของเหล่านี้มีความหมายกับลูกค้าทุกชิ้น พวกเขามักจะเล่าเรื่องราวของตุ๊กตาหรือของใช้เหล่านั้นมาด้วย ซึ่งเราจะขอให้เขาเขียนจดหมายหรือโน้ตเล็กๆ มาเล่าว่า ของชิ้นนี้ชื่ออะไร ได้มายังไง ชอบอะไรเป็นพิเศษ อยู่ด้วยกันมากี่ปี ทำให้เราเข้าใจและซึมซับความหมายที่เจ้าของมีต่อสิ่งของนั้นๆ มากขึ้น”
“บ่อยครั้ง การซ่อมแซมกลายเป็นการดูแลความทรงจำ บางคนเล่าว่าไม่ได้เขียนจดหมายด้วยลายมือนานแล้ว พอเขียนแล้วก็รู้สึกดี ซึ่งเราก็รู้สึกดีเหมือนกัน ที่ได้แชร์ความทรงจำร่วมกัน ทำให้เรารู้สึกว่าต้องตั้งใจมากขึ้น เพราะเป็นของที่มีคุณค่าทางใจ เข้าใจจุดที่ต้องระวัง เช่น บางคนจะบอกว่า ‘อย่าตัดเส้นด้ายเส้นนี้นะคะ เพราะชอบจับเล่น’ หรือ ‘ชอบรอยยิ้มและดวงตาของตุ๊กตาตัวนี้’ ทำให้เราระมัดระวังในทุกขั้นตอน เพราะไม่ใช่แค่ซ่อมของ แต่เป็นการเติมเต็มความทรงจำที่อยู่ในของชิ้นนั้นด้วย”
เมื่อเวลาผ่านไป ลูกค้าหลายคนกลับมาที่ร้านซ้ำเพื่อซ่อมหรือทำความสะอาดตุ๊กตาที่พวกเขาผูกพัน
“ลูกค้าบางคนมาซ่อมบ่อยจนไม่ต้องพูดอะไรมากแล้วค่ะ เรากับเขารู้ใจกันในระดับหนึ่งแล้วว่าอะไรสำคัญอะไรต้องรักษาไว้ สิ่งนี้ทำให้เรารู้สึกว่า เราไม่ได้แค่ทำอาชีพนี้เพื่อตัวเราเอง แต่เราได้เติมเต็มความทรงจำและความรู้สึกดีๆ ให้กับลูกค้า ทำให้เขาได้ของรักที่ยังมีเรื่องราวและความหมายกลับคืนมา”
“เราพยายามเลือกวัสดุที่ใกล้เคียงกับของเก่าเป็นหลัก และหาให้ใกล้เคียงที่สุด ในระหว่างการคุยเราจะยังไม่ให้ลูกค้าส่งตุ๊กตามาจนกว่าจะหาอุปกรณ์ครบ ใช้เวลาประมาณหนึ่งอาทิตย์หรือน้อยกว่านั้นขึ้นอยู่กับความยากง่ายของงาน แต่เราก็พยายามไม่ให้ใช้เวลานานเกินไป เพราะเข้าใจว่าลูกค้าบางคนรู้สึกกังวลหรือไม่สบายใจที่ต้องห่างกับตุ๊กตาของเขานานๆ”
เคยเจอตุ๊กตาที่เสียหายจนซ่อมไม่ได้บ้างไหม?
“จริงๆ แล้ว ยังไม่มีชิ้นไหนที่เรารู้สึกว่าซ่อมไม่ได้เลยนะ” เธอยิ้มก่อนจะเล่าถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาว่า “มีแต่ว่าเราทำได้เท่านี้นะ โอเคไหม เราก็จะประเมินไว้ระดับหนึ่ง ส่วนมากลูกค้าก็จะเข้าใจค่ะ เราพยายามบอกขั้นตอนและส่งภาพให้ดูเรื่อยๆ ว่างานกำลังไปถึงไหน ลูกค้าจะได้รู้ว่าผลลัพธ์จะเป็นแบบไหน และเราก็ให้เขาดูตัวอย่างผลงานก่อนด้วย จะได้เข้าใจว่า งานซ่อมนี้อาจไม่ได้เหมือนของใหม่ แต่เป็นการทำให้เขากลับมาใช้ได้หรือกลับมามีความทรงจำร่วมกับเจ้าของอีกครั้ง”
ตุ๊กตาตัวไหนที่ผ่านมือคุณแล้วรู้สึกประทับใจที่สุด
ที่มาภาพ Instagram : @sewing_thing
“น่าจะเป็นตุ๊กตาหมูที่เคยเป็นไวรัลค่ะ” เธอเล่าให้ฟังอย่างภูมิใจ “เพราะตัวนั้นนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เรามั่นใจว่าอยากทำอาชีพนี้ต่อไป เป็นตุ๊กตาที่เรามองแทบไม่ออกเลยว่าเป็นตุ๊กตาหมู ตอนแรกแค่คิดว่าลองทำไปก่อนระหว่างหาอาชีพอื่น แต่พอได้ซ่อมตุ๊กตาหมูตัวนั้นทำให้เรารู้สึกว่านี่แหละทางของเรา”
“ตุ๊กตาหมูตัวนี้มีความหมายลึกซึ้งมาก เพราะเป็นตุ๊กตาที่แม่ให้มา และยายก็เป็นคนที่คอยซ่อมให้ พอยายเสียก็ไม่มีใครซ่อมต่ออีก เจ้าของเลยส่งมาให้เราช่วยดูแลต่อ ทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่ได้แค่ซ่อมตุ๊กตา แต่เหมือนได้สืบสานความทรงจำและความรักที่เจ้าของมีต่อคนที่จากไป”
ความละเอียดอ่อนที่เชื่อมโยงระหว่างช่างซ่อมกับลูกค้า
หนึ่งในกระบวนการที่เธอชอบมากคือ การอ่านจดหมายที่ลูกค้าเขียนมาเพื่อบอกเล่าความทรงจำเกี่ยวกับตุ๊กตาตัวนั้น “การได้อ่านจดหมายหรือโน้ตที่ลูกค้าแนบมา เราสัมผัสได้ถึงความละเอียดอ่อนของเขาต่อสิ่งที่รักมากๆ ลูกค้าหลายคนบอกว่าพอได้เขียนถึงตุ๊กตา ก็รู้สึกว่าตัวเองได้ทบทวนความรู้สึกของตัวเองไปด้วย และทำให้เราผูกพันกับเรื่องราวเหล่านั้นไปโดยปริยาย” พนิดาว่า
ที่มาภาพ Instagram : @sewing_thing
ณ วันพูดคุยผู้เขียนในฐานะเจ้าของตุ๊กตาพวงกุญแจอันเล็กที่แฝงด้วยความผูกพันลึกซึ้ง เราจึงถือโอกาสนี้ให้พนิดาช่วยซ่อมแซมตุ๊กตาตัวนั้นที่มีส่วนชำรุดไป สิ่งที่ประทับใจคือ ความใส่ใจของเธอในการตอบสนองต่อความต้องการของเจ้าของ
แม้จะไม่ได้เขียนจดหมายด้วยลายมือ แต่เราได้เล่าเรื่องราวความผูกพันทั้งหมดให้เธอฟัง และความต้องการเบื้องต้น เพื่อให้เธอหาวิธีการรักษาได้ง่ายขึ้น ตั้งแต่การเลือกวัสดุไปจนถึงการคงลักษณะเฉพาะตัวของตุ๊กตาไว้ โดยหลังจากตุ๊กตาผ่านมือของพนิดา เราไม่ได้เห็นเพียงการซ่อมแซมวัสดุที่เสื่อมสภาพ แต่ยังได้สัมผัสถึงความใส่ใจในรายละเอียดที่สะท้อนความทรงจำของเจ้าของ และการเติมเต็มความรู้สึกที่แฝงอยู่ในใจ
ข้อดีของการซ่อมแซมที่คนรุ่นใหม่อาจยังไม่เห็น
“ปัจจุบันมีเทรนด์ใหม่ๆ มากมาย ทุกอย่างมาเร็วไปเร็ว ทุกคนพยายามอัปเดตเทรนด์ตลอดเวลา กระตุ้นให้เราต้องมีของใหม่เสมอ การซ่อมแซมทำให้เราได้ใช้เวลาอยู่กับอะไรสักอย่างได้เต็มที่ เพิ่มกระบวนการคิด และทำให้เราเป็นช่างสังเกตและเห็นคุณค่าของสิ่งที่อยู่กับเรานานๆ ได้มากกว่าการได้ของใหม่เพียงเพื่อให้รู้สึกว่าเราได้ตามเทรนด์
“เช่น บางคนผูกพันกับผ้าเน่าหรือตุ๊กตาตัวเก่าที่ใช้ตั้งแต่เกิด การซื้อของใหม่ที่คุณภาพดีกว่าอาจไม่สามารถทดแทนความรู้สึกหรือความผูกพันได้ ของบางชิ้นอยู่กันมานานกว่าเพื่อนหรือแฟนเสียอีก กลายเป็นที่พึ่งทางใจที่พร้อมรับฟังปัญหาหรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน บางคนแม้จะไปเที่ยวต่างประเทศก็พกไปด้วย ไม่งั้นนอนไม่หลับ เท่าที่พี่สัมผัสกับลูกค้าที่เข้ามา ทุกคนล้วนมีความลึกซึ้งกับของชิ้นนั้นๆ จึงรับรู้ได้ถึงความละเอียดอ่อนที่เขาพยายามถ่ายทอดมาให้เรา”
“ส่วนใหญ่แล้ว ลูกค้าดีใจ บางคนดีใจจนถึงขั้นน้ำตาไหลก็มีค่ะ เหมือนได้ตุ๊กตาตัวเดิมกลับมา” พนิดายิ้มและตอบคำถามเราที่ว่าฟีดแบคจากลูกค้าเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งหลังจากทำอาชีพนี้มา 2 ปี เธอบอกว่าประสบการณ์ทำให้การประเมินงานง่ายขึ้นมาก เริ่มรู้ว่าของแนวนี้ต้องทำยังไง ต้องใช้วัสดุอะไรบ้าง และใช้เวลาเท่าไหร่ ช่วยให้ตัดสินใจได้เร็วขึ้น กล้าที่จะบอกได้ว่าชิ้นไหนทำได้หรือไม่ได้ ดังนั้น การซ่อมตุ๊กตาไม่ใช่แค่การประกอบอาชีพ แต่คือการสร้างความสุขให้กับผู้อื่น และนี่คือสิ่งที่ทำให้เธอรู้สึกภูมิใจที่สุด
ความภูมิใจในฐานะนักซ่อมตุ๊กตา
“จริงๆ แล้ว เรารู้สึกภูมิใจในของทุกชิ้นที่ทำ เพราะเราเริ่มต้นทุกอย่างด้วยตัวเอง ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองมาตลอด ลูกค้ารายแรกที่ส่งตุ๊กตามาให้เราซ่อม ก็เป็นคนที่ใจดีและเข้าใจในความละเอียดของงาน ถึงแม้จะมีความต้องการที่เยอะและละเอียดมาก แต่ก็ทำให้เราเห็นความหมายในของชิ้นนั้น เพราะเป็นของที่มีความหมายและมีคุณค่าทางใจกับเขา”
สิ่งที่ได้เรียนรู้จากงานนักซ่อมความทรงจำ
“งานนี้สอนให้รู้ว่าทุกปัญหาแก้ไขได้ค่ะ” เธอเริ่มอธิบายพร้อมรอยยิ้ม “การแก้ปัญหาไม่จำเป็นต้องหมายถึงว่า ทำให้ทุกอย่างสมบูรณ์แบบนะ แต่หมายความว่า เราสามารถรับรู้และยอมรับว่าทำได้แค่ไหน อย่างบางครั้งเรารู้ว่ามีข้อจำกัดในการซ่อม จะอธิบายยังไงให้ลูกค้าเข้าใจว่าเราทำได้เท่านี้นะ เป็นข้อตกลงระหว่างเราและลูกค้า ซึ่งท้ายที่สุดปัญหาต่างๆ ก็ถูกแก้ไขตามแบบที่ควรจะเป็น”
ในมุมของการเป็นเจ้าของธุรกิจ พนิดาเล่าว่า “การทำงานซ่อมตุ๊กตาทำให้เราได้ฝึกฝนทักษะการสื่อสารและการจัดการกับความรู้สึกของลูกค้า เพราะของที่ได้รับมาทุกชิ้นล้วนมีความหมาย หากเป็นการทำงานประจำ ถ้าเจอลูกค้าจุกจิก เราแค่บอกหัวหน้าหรือปล่อยให้คนอื่นรับงานต่อ แต่พอเริ่มธุรกิจตัวเอง จำเป็นต้องสื่อสาร พูดคุย และอธิบายเพื่อให้ทุกคนพอใจและเข้าใจกัน”
ความสามารถในการจัดการกับปัญหาตรงนี้ไม่ได้ใช้แค่กับตุ๊กตา แต่ยังนำไปปรับใช้กับปัญหาในชีวิตจริงด้วย “ถ้าเรารับรู้ว่าบางอย่างไม่สามารถแก้ได้เต็มที่ ซึ่งจะกลายเป็นการยอมรับ และช่วยให้เราก้าวข้ามสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ไปได้ค่ะ”
การเป็นนักซ่อมตุ๊กตาไม่ได้มีแค่ทักษะการเย็บปัก “หัวใจสำคัญคือ การรับฟัง ต้องฟังให้มากที่สุด ละเอียดที่สุด เพราะการฟังทำให้เราเข้าใจว่าลูกค้าคาดหวังอะไร และทำให้เราหาหนทางการช่วยเหลือได้ดีที่สุด ซึ่งการฟังในที่นี้เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนแรก การพูดคุยกับลูกค้า การอ่านจดหมายที่แนบมา ไปจนถึงรับฟังฟีดแบ็กหลังลูกค้าได้รับตุ๊กตากลับไป”
เธอเล่าว่า ในบางครั้ง งานซ่อมดูเหมือนจะยากเกินไป แต่การฟังและทักษะที่สะสมมาก็ทำให้เธอสามารถหาวิธีแก้ไขได้เสมอ “บางครั้งเราก็ต้องถามตัวเองก่อนว่า เคยมีใครทำสำเร็จมาก่อนไหม แล้วเขาทำอย่างไร เราก็ศึกษาไปเรื่อยๆ เมื่อมีทักษะมากขึ้น ความสามารถในการแก้ปัญหามันก็จะมาเองค่ะ”
แผนในอนาคตของ Sewing Thing
“ตอนนี้เรามีบริการหลากหลาย ตั้งแต่การสปาตุ๊กตา เปลี่ยนไส้ใยสังเคราะห์ ซ่อมแซมส่วนต่างๆ ไปจนถึงการออกแบบชุดใหม่ให้ตุ๊กตา บางครั้งก็มีลูกค้ามาขอให้ทำชุดพิเศษเพื่อใช้ในงานสำคัญอย่างงานแต่ง ช่วงแรก การทำชุดตุ๊กตาค่อนข้างยาก ต้องลองผิดลองถูกบ้าง แต่พอทำไปเรื่อยๆ ก็เริ่มเข้าใจเทคนิคต่างๆ มากขึ้น ถือว่าเปิดโลกใหม่ให้เราเลย
“ในอนาคตเราอยากนำเสื้อผ้าเก่าที่ไม่ได้ใช้แล้วมาแปลงโฉมเป็นตุ๊กตา หรือของใช้อื่นๆ เช่น หมอนและผ้าห่ม เป็นโปรเจกต์ที่คิดว่าจะเริ่มทำในอนาคตอันใกล้นี้แน่นอน การนำเสื้อผ้าที่มีคุณค่าทางใจกลับมาแปรเปลี่ยนเป็นสิ่งใหม่ที่มีประโยชน์ ทำให้มีความหมายมากขึ้น”
ก่อนจากกัน พนิดาเผยถึงโปรเจกต์ตุ๊กตาที่ออกแบบเอง ซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาแพตเทิร์นต่างๆ และคาดว่าในไม่ช้าเราจะได้เห็นแบรนด์ตุ๊กตาและโปรดักส์จาก Sewing Thing ที่จะช่วยเยียวยาจิตใจผู้คน และสร้างความทรงจำใหม่ๆ ไปพร้อมกัน
การซ่อมตุ๊กตาไม่ใช่เพียงแค่การซ่อมแซมของเล่นชิ้นหนึ่ง แต่เป็นการฟื้นฟูความทรงจำและความรู้สึกที่ผูกพันระหว่างคนกับตุ๊กตาตัวนั้นๆ ตุ๊กตาหลายตัวมักเป็นเพื่อนคู่ใจตั้งแต่เด็ก ทำให้มีเรื่องราวและความทรงจำที่ซ่อนอยู่ภายใน การได้เห็นตุ๊กตาที่ชำรุดได้รับการซ่อมแซมและกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง จึงเป็นเหมือนการได้กลับไปสัมผัสความสุขและความอบอุ่นในวัยเด็ก
Writer
เพ็ญทิพา ทองคำเภา
นักเขียนที่สนใจเรื่องธุรกิจและ สังคมรอบตัว
Photographer
ณัฐวุฒิ เตจา
เปรี้ยว ซ่า น่าลัก
illustrator
Arunnoon
มนุษย์อินโทรเวิร์ตที่อยากสื่อสารและเชื่อมโยงกับผู้คนผ่านภาพวาด