“ไม่ว่าจะอยู่ในความสัมพันธ์แบบไหน มันไม่ควรทำให้เรารู้สึกกลัวจนขนหัวลุก” มะเฟือง เรืองริน อักษรานุเคราะห์

“ไม่ว่าจะอยู่ในความสัมพันธ์แบบไหน มันไม่ควรทำให้เรารู้สึกกลัวจนขนหัวลุก” มะเฟือง เรืองริน อักษรานุเคราะห์

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่พวกเราชาว Mappa ได้นั่งสนทนากับ มะเฟือง-เรืองริน อักษรานุเคราะห์ นักจิตบำบัดผู้เชี่ยวชาญด้านความรักความสัมพันธ์ แต่การคุยกับเธอแต่ละครั้งนั้นล้วนมีประเด็นน่าฟัง เต็มไปด้วยความรู้สึกเข้าอกเข้าใจ และทำให้เรากลับมาคิดทบทวนถึงทุกๆ ความสัมพันธ์ของเราได้เสมอ

ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์เกิดขึ้นกับทุกคน ทุกยุคสมัย เพราะไม่มีความสัมพันธ์ใดที่จะสมบูรณ์แบบและไม่เรียกร้องการปรับจูนเข้าหากัน หนึ่งในคำเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่เรามักจะเห็นบนไทม์ไลน์บ่อยๆ คือ Toxic Relationship, การหลอกลวง (Manipulate) และการปั่นประสาท (Gaslight)

เมื่อไม่นานมานี้ ไทม์ไลน์ X (Twitter) ของเราร้อนระอุไปด้วยทวิตหนึ่งที่เป็นไวรัลดัง ว่าด้วยเรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่งที่อยู่ในความสัมพันธ์ท็อกซิกและถูก Manipulate โดยผู้ที่เรียกตัวเองว่าเป็น ‘หมอดู’ ถึงขนาดตัดขาดจากเพื่อนและครอบครัวเพราะโดนทักว่าเอเนอจี้ไม่ดี แล้วต้องย้ายไปอยู่กินกับหมอดูคนนี้ หาเงินเลี้ยงและปรนนิบัติเขา รวมถึงถูกหน่วงเหนี่ยวทั้งทางร่างกายและจิตใจโดยไม่รู้ตัว

คนคนหนึ่งจะไม่รู้ตัวเลยหรือว่ากำลังอยู่ในความสัมพันธ์ที่ท็อกซิก อะไรทำให้เขาทนอยู่ในความสัมพันธ์แบบนี้ได้อย่างยาวนาน และเหตุผลแบบไหนที่ทำให้ผู้ถูกกระทำก้าวออกมาจากความสัมพันธ์นั้นไม่ได้สักที คือสิ่งที่หลายคนอาจสงสัย

บ่ายวันนี้ เรารวบรวมคำถามในใจไปนั่งคุยมะเฟือง  และคำตอบในบรรทัดถัดไปไม่เพียงแต่ทำให้เราเข้าใจคำว่าความสัมพันธ์ที่ท็อกซิกมากขึ้น แต่ยังทำให้เราเข้าใจผู้ถูกกระทำ และกลับมาเข้าใจความสัมพันธ์ของตัวเองมากขึ้นด้วย

หลายขวบปีที่ผ่านมาคุณจับงานด้านสุขภาพจิตหลายอย่าง ความสนใจเรื่องสุขภาพจิตของคุณเปลี่ยนไปไหม

เราชอบเรื่องความสัมพันธ์อยู่แล้ว และเราก็จบด้านการบำบัดด้านครอบครัวและความสัมพันธ์ (Marriage and Family Therapy) ตอนแรกที่กลับมาไทย เราคิดอยู่เยอะว่าจะทำงานที่เน้นเรื่องอะไรดี เราเคยทำงานด้านบาดแผลทางจิตใจ (Trauma) แต่ในที่สุดเราก็กลับมาทำงานด้านความสัมพันธ์ เพราะรู้สึกว่าทำได้ดีและเอนจอยที่สุด

อะไรทำให้คุณสนใจเรื่องการบำบัดด้านความสัมพันธ์

ความสัมพันธ์เป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อน เราเชื่อโดยส่วนตัวว่าสิ่งที่คนส่วนใหญ่ต้องการมากคือการไม่ตัดสินกัน บางทีคนที่มีปัญหาเขาก็ทุกข์กับปัญหาอยู่แล้ว เขาไม่ได้อยากฟังว่า ‘เธอควรจะ…’ อย่างนู้นอย่างนี้ เขาแค่อยากได้คนรับฟังจริงๆ

เราเจอผู้เข้ารับการบำบัด (Clients) หลายคนที่เขาบอกว่ามีเพื่อนช่วย (แนะนำ) ซึ่งแนะนำด้วยความหวังดีแหละ แต่บางทีมันไม่ใช่สิ่งที่อีกฝ่ายต้องการ แต่นักจิตบำบัดเข้าใจความละเอียดอ่อนของอารมณ์ เราจึงอยากเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับหลายๆ คนให้เขามาคุยเรื่องความสัมพันธ์ที่มันละเอียดอ่อนจริงๆ

คุณมองความสัมพันธ์ที่ท็อกซิกอย่างไร

เราค่อนข้างเชื่อว่า คำว่าท็อกซิกสามารถนิยามได้หลายแบบ แล้วแต่คนให้คำนิยาม บางคนรู้สึกว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งท็อกซิก แต่บางคนก็ไม่ได้รู้สึกเหมือนกัน ดังนั้น ไม่ว่าเราจะตีความว่าอะไร คนที่อยู่ในความสัมพันธ์นั้นควรมีสิทธิจะเป็นตัวตั้งที่จะบอกว่าเขาโอเคหรือไม่โอเค

หลายคอนเซปต์ของโลกใบนี้เป็นคอนเซปต์ที่กว้างมาก เมื่อมันนำไปใช้กับคนคนหนึ่ง มันไม่สามารถจะนำไปใช้กับคนอื่นได้เหมือนกัน แม้กระทั่งอาการผิดปกติ (Disorder) ทางจิต อย่างไบโพลาร์ โรคซึมเศร้า อาการของแต่ละคน รวมถึงคำพูดที่เขาชอบหรือไม่ชอบก็อาจจะแตกต่างกัน

         สำหรับเรา คำว่า Toxic มันยากจะอธิบาย แต่ถ้าต้องอธิบายแบบง่ายที่สุด เรานิยามว่ามันคือความสัมพันธ์ที่เราอยู่แล้วมันไม่ได้ทำให้เรารักตัวเองมากขึ้น มันทำให้เรารู้สึกด้อยค่าตัวเอง กลัว รู้สึกว่าถ้าก้าวเท้าผิดไป มันต้องพังแน่ๆ เราเชื่อว่าไม่ควรจะมีใครอยู่ในความสัมพันธ์แบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์รูปแบบไหน 

หนึ่งในคำที่เราเห็นบ่อยเมื่อพูดถึงความสัมพันธ์ที่ท็อกซิกคือ Manipulate และ Gaslight สองอย่างนี้เหมือนกันไหม

Manipulate คือหนึ่งในกลอุบายของการ Gaslight 

คำว่า Gaslight แปลว่าการปั่นประสาทหรือการปั่นหัวให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกว่ามีอะไรผิดปกติในตัวเขา ยิ่งเขารู้สึกว่าเขามีอะไรผิดปกติ ก็จะยิ่งต้องการผู้กระทำมากขึ้น ทำให้เขารู้สึกอ่อนแอที่จะต้องพึ่งอีกคนอยู่เสมอ ส่วนคำว่า Manipulate คือการหลอกลวงให้เหยื่อเข้าใจผิด เป็นส่วนหนึ่งของการปั่นหัว

ในทุกความสัมพันธ์สามารถเกิดการ Gaslight และ Manipulate ได้ แต่สิ่งที่ทำให้ง่ายขึ้นคือ Power Dynamic หรืออำนาจที่ไม่เท่ากันอย่างชัดเจน เช่น คุณครูจะลวนลามเด็กเลยบอกเด็กว่า ต้องให้จับนมไม่งั้นจะไม่ได้เกรด 4 หรือแม้กระทั่งกลอุบายของการ Grooming หรือการพยายามเข้าหาด้วยความโรแมนติก 

เชื่อไหมว่าในอดีตเวลาเราพูดถึงการค้ามนุษย์ เราจะคิดภาพรถตู้ที่ลักพาตัวเด็ก แต่ตอนนี้ มืองนอกมีสถิติเยอะมากว่าสิ่งที่ผู้ร้ายทำคือการติดตามโซเชียลมีเดียของผู้ถูกกระทำ เพราะทุกโซเชียลฯ เข้าถึงได้หมด สมมติว่าเหยื่อมีแพทเทิร์นในการพูดตัดพ้อ ประชดตัวเอง เช่น พ่อแม่ไม่เข้าใจเราเลย โลกนี้ไม่มีใครเข้าใจเรา ผู้ร้ายก็จะเข้าไปพูดทำนองว่าเราเข้าใจว่าเธอรู้สึกยังไง เราก็รู้สึกแบบนั้นเหมือนกัน เขาจะใช้ความโรแมนติกล่อลวงให้เหยื่อเชื่อใจ และสุดท้ายเขาไม่ต้องใช้กำลังอะไรเลย เหยื่อก็เลือกมาเจอเขา แล้วก็จะไปจบที่การเล่นหนังโป๊อะไรแบบนี้

การเข้าใจกลอุบายเหล่านี้สำคัญมากเลย เพราะเวลาคนข้างนอกมองเข้าไปแล้วพวกเขามักจะมีคำถามว่า ทำไมถึงไปทำอะไรอย่างนั้น ทำไมง่ายมาก แต่จริงๆ สิ่งที่เกิดขึ้นในหัวของคนที่โดนปั่นประสาทมันมีอะไรมากกว่านั้น

เมื่อคนเราเจอเหตุการณ์บางอย่างที่มันบ้ามากๆ  ซึ่งไม่ใช่เหตุการณ์ที่พบเจอได้ในชีวิตประจำวัน  เขาจะรู้สึกว่าโดนตัดขาดจากโลกปกติ ดังนั้น มันจึงง่ายมากสำหรับเหยื่อในการสร้างความสัมพันธ์ที่โรแมนติกแปลกๆ กับผู้ร้าย ทั้งรักทั้งเกลียด บางเหตุการณ์เขารู้สึกว่ามันแย่กับใจจังเลย แต่ก็คิดว่าเป็นความรัก

เราจะสังเกตได้อย่างไรว่ากำลังโดนหลอกหรือ Manipulate อยู่

ถ้าคนคนนั้นพยายามทำให้เราออกห่างกลุ่มคนที่ซัพพอร์ตเรา (Support System) ทั้งหมด และพยายามจะทำให้เราเหลือเขาแค่คนเดียว เพราะเขารู้ว่าถ้าไปอยู่กับเพื่อนๆ เพื่อนก็คงจับได้และพูดกรอกหูว่าออกมาเถอะ ดังนั้น เขาจึงพยายามตัดขาดคนอื่นโดยการหลอกว่า เฮ้ย เพื่อนคนนั้นนิสัยไม่ดี เอนเนอจี้แย่มาก เฮ้ย เราได้ยินแม่เธอนินทาเธอนะ ฉันว่าแม่เธอไว้ใจไม่ได้

เขาจะทำให้เราตัดขาดจากสังคมอื่น และบางครั้งผู้ร้ายก็จะแสดงอารมณ์ปั่นป่วน เช่น บางครั้งก็พูดว่า ‘ฉันเกลียดเธอมาก เธอมันเหลวแหลก ไม่มีฉันเธออยู่ไม่ได้หรอก’ สักพักหนึ่งเขาก็บอกว่า ‘ถ้าฉันไม่มีเธอฉันอยู่ไม่ได้ เธอมีความหมายมากสำหรับฉัน’ แล้วเราก็จะรู้สึกว่า ‘เฮ้ย มันต้องเป็นฉันที่ต้องช่วยเหลือคนคนนี้’ พออีกฝ่ายทำตัวแย่ เราก็จะบอกตัวเองว่าไม่เป็นไร เขาแค่ไม่โอเค แต่เขาเหลือแค่เราจริงๆ การดูแลเขาเป็นหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่ของเรา

บางทีคนเราก็รู้สึกชุบชูใจเพราะการมีหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่ หน้าที่ของเราคือการทำให้เขารู้สึกดีกับตัวเอง อยู่เพื่อเขา เราเลยจะมองข้ามความเจ็บปวดของตัวเอง

ในทางกลับกัน ในฝั่งของผู้กระทำ เขาจะรู้ได้อย่างไรว่ากำลังปั่นประสาท หลอกลวง หรือปล่อยความท็อกซิกใส่อีกฝ่าย

ถามตัวเองว่า คุณกำลังมีความสุขกับการที่เห็นใครด้อยกว่าตัวเองหรือเปล่า คุณกำลังมีความสุขกับการกดใครอยู่หรือเปล่า คุณกำลังมีความสุขกับการเห็นเขามีความทุกข์หรือเปล่า  เพราะนั่นคือความสัมพันธ์ที่โคตรไม่จริงใจ คุณมีความสุขกับการกดอีกคนให้ต่ำลงเพื่อเขาจะได้กลัวคุณหรือเชิดชูคุณ กำลังทำร้ายอีกคนอยู่หรือเปล่า

เพราะบางที ถ้าคุณไม่ได้เจตนาหรือเผลอไป มันอาจเป็นเพราะตอนเด็กๆ คุณตาชอบกดคุณ อันนี้สมมตินะ แล้วคุณก็แค้น และไม่เคยคลี่คลายความแค้นของตัวเองจนเผลอไปทำกับใคร อะไรแบบนี้ก็เกิดขึ้นได้

มีวิธีเช็กว่าเรากำลังอยู่ในความสัมพันธ์ที่ท็อกซิกไหม

หลายคนชอบพูดว่าถ้ารู้สึกว่ามีอะไรแปลกๆ ก็ให้ออกมา ซึ่งส่วนตัวแล้วเราไม่ชอบคำพูดนี้ เพราะ ‘ความรู้สึกแปลกๆ’ คืออะไร แล้วสมมติว่าคุณโตมาในครอบครัวที่เห็นพ่อแม่ทะเลาะกันตลอดเวลา คุณอาจรู้สึกกลัวเป็นทุนเดิม ถึงแม้คุณไปอยู่ในความสัมพันธ์ที่เฮลธ์ตี้ คุณก็อาจรู้สึกอยากออกจากความสัมพันธ์นั้น แต่มันไม่ได้แปลว่าคนที่อยู่ในความสัมพันธ์เดียวกันเขาจะทำร้ายเราจริง

ในขณะเดียวกัน ถ้าคุณอยู่ในครอบครัวที่อบอุ่น ไม่เคยโดนหลอกเลย ชีวิตโรยด้วยกลีบกุหลาบ แล้วจู่ๆ ก็มาเจอความสัมพันธ์ที่ท็อกซิก มันแทบจะไม่มีข้อมูลในหัวเลยที่จะทำให้คุณ ‘เอ๊ะ’ ดังนั้น บางทีคำว่าสัญชาตญาณมันก็คล้ายๆ กับความวิตกกังวล (Anxiety) บางคนวิตกกังวลเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว มันยากที่เขาจะแยกว่าเหตุการณ์ไหนที่ควรจะระวัง หรือเหตุการณ์ไหนที่เรากลัวไปเอง 

 ถ้ามีคนมาขอคำแนะนำ เราเลยบอกเสมอว่า อยากให้คุณค่อยๆ เช็กกับตัวเองว่า ความสัมพันธ์ที่คุณอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์แบบไหน มันไม่ควรจะทำให้เรารู้สึกกลัวจนขนหัวลุก

ถ้าอยู่ในความสัมพันธ์ไหนแล้วอีกฝ่ายไม่ได้ช่วยซัพพอร์ตเรา รังเกียจตัวเอง จะทำอะไรก็กลัวว่าจะทำผิด เหมือนเดินพลาดไปก้าวหนึ่งแล้วจะโดนระเบิดเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ถ้ามันอยู่ในความสัมพันธ์แบบนี้ก็ให้ค่อยๆ ‘เอ๊ะ’ กับมัน

เหตุผลที่ผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่ออกมาจากความสัมพันธ์ที่ท็อกซิกไม่ได้คืออะไร

กว่าจะออกมาจากความสัมพันธ์ที่ท็อกซิกได้ ต้องตระหนักว่าเรากำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่โอเค และน้อยคนมากที่จะยอมให้ตัวเองได้ยอมรับจริงๆ ว่า ‘นี่กูตกอยู่ในสถานการณ์ที่แย่มากๆ นะ’ มันง่ายกว่าอยู่แล้วที่จิตใจของคนเราจะหลอกตัวเองเพื่อที่จะไม่เจอความจริงว่าฉันโดนข่มขืนหรือฉันโดนหลอกอยู่

ดังนั้น สิ่งที่หลายคนเลือกจะทำคือ ไม่ว่าเขาจะโดนทรีตแย่ขนาดไหน ถ้าผู้กระทำมีข้อดีเล็กๆ ผู้ถูกกระทำก็จะจับข้อดีนั่นไว้ สมมติว่าแฟนทุบตี เขาก็รู้สึกแย่ แต่วันหนึ่งแฟนไปรับที่ทำงานพร้อมกับช่อดอกไม้ เขาก็จะรู้สึกว่า ‘เฮ้ย ดีจัง’ เขาจะยืดมั่นกับสิ่งนี้

ตามธรรมชาติของมนุษย์ เราไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงหรอก เพราะการเปลี่ยนแปลงคือการเดินทางไปสู่สภาวะแห่งการไม่รู้ ดังนั้นมันง่ายกว่าที่เราจะอยู่ในคอมฟอร์ตโซน และคอมฟอร์ตโซนไม่ได้แปลว่าโซนที่ดีต่อเราเสมอไป แต่คอมฟอร์ตโซนแค่เป็นโซนที่เราชิน เช่น การอยู่กับคนที่ทุบตีเราตอนเขาเมา เราจะรู้แล้วว่าถ้าวันไหนเขาเมา เดี๋ยวเราจะไปหลบในห้อง เขารู้อยู่แล้วว่าจะต้องเจออะไร      

แต่ถ้าเขาหนีออกไป มันจะเกิดการตั้งคำถามว่าเขาจะมีชีวิตอยู่ยังไงต่อ เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในความสัมพันธ์ที่มีคนไม่กี่คนเท่านั้น แต่เกิดขึ้นเยอะมากกับสมาชิกของบางนิกาย สถาบัน ศาสดาต่างๆ ที่ล้างสมองคน ไม่ใช่ทุกอันนะ แต่มีบางอันที่เขาทำให้สมาชิกนิกายรู้สึกว่าพวกเขาจะมีชีวิตอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีนิกายเหล่านี้ 

เช่นเดียวกับความเชื่อ สมมติคุณมีอุดมการณ์ทางเมืองอย่างหนึ่งมานาน แล้ววันหนึ่งคุณเห็นคลื่นของการเปลี่ยนแปลง การที่คุณจะเปลี่ยนไปอีกด้านมันไม่ได้ง่าย สมมติคุณมีความเชื่อทางการเมืองว่าอะไรบางอย่างถูกต้องมา 60 ปี วันนี้กลับเปลี่ยนไป มันไม่ใช่ว่าจะสามารถเปลี่ยนไปคิดในสิ่งที่ถูกได้เลย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในหัวคือ อ้าว แล้วที่ผ่านมา 60 ปี เราคือส่วนหนึ่งของหายนะของประเทศใช่ไหม เราคือส่วนหนึ่งของความโง่เขลาใช่ไหม เราทำร้ายใครไปบ้าง และเราเป็นคนไม่ดีเหรอ การที่เขาต้องเปลี่ยนตัวตน (Identity) มันคือหนึ่งในความเจ็บปวดทางจิตใจ ดังนั้นมันจึงง่ายกว่าที่เราจะคิดว่า สิ่งที่เราคิดมาตลอดนั้นดีแล้ว 

อีกหนึ่งสิ่งที่ยากคือการออกมาบอกกับคนอื่นว่าเราคิดผิด เพราะไม่มีใครอยากโดนซ้ำเติมหรอก ไม่มีใครอยากแบกความอับอายนี้หรอก ถ้าคุณไม่เคยตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ก็ดีใจด้วย แต่ ณ วินาทีนั้นมันยากจริงๆ กับผู้ถูกกระทำที่จะรู้ได้ว่าควรทำยังไง 

ถ้าหากผู้ถูกกระทำอยู่ในสภาวะจิตใจอ่อนแอ เขารู้ตัวว่ากำลังอยู่ในความสัมพันธ์ที่ท็อกซิก แต่ผู้กระทำก็เป็นที่พึ่งทางใจของเขาเช่นกัน เขาจะออกมาได้ไหม

สิ่งนี้เรียกว่า Complex Trauma หรือความเจ็บปวดที่ซับซ้อน เช่น การโดนพ่อข่มขืน เรารักเขามากแต่เขาทำแย่กับเรา แต่เราจะเกลียดเขาได้ยังไงในเมื่อเขาคือผู้ให้กำเนิดเรา 

สิ่งที่เกิดขึ้นในหัวของผู้ถูกกระทำคือ ‘ฉันไม่สามารถเกลียดคนนี้ได้ งั้นฉันยอมให้เขาทำแล้วกัน เพราะถ้าฉันยืนหยัดเพื่อตัวเอง มันแปลว่าสิ่งที่เขาทำมันแย่จริงๆ ใช่ไหม และฉันต้องเกลียดเขาใช่ไหม’ 

หลายคนอาจมองว่าคนที่คิดแบบนี้เป็นคนดี แต่เขามีหลายปมและความซับซ้อนทางอารมณ์ที่ต้องจัดการเยอะมาก  ส่วนตัวเราไม่ชอบแนวคิดว่า ‘เพราะเธอเป็นคนดีเกินไปไง เธอเลยโดนแบบนี้’ เพราะการเป็นคนดีมันไม่ได้เป็นสิ่งที่แย่ 

หากต้องให้คำแนะนำ เราคิดว่าสิ่งสำคัญที่ต้องฝึกฝน คือการมีสติและให้อภัยตัวเอง อาจเริ่มให้อภัยตัวเองจากเรื่องเล็กน้อย เช่น วันนี้ไปทำงานสาย ทำงานไม่เสร็จ เพราะถ้าหากเรามีสติและให้อภัยตัวเองจนชิน  ถ้ามีเรื่องหนักๆ เกิดขึ้นกับเรา เราจะรู้ตัวว่าเราไม่ได้เรียกร้องมัน เราจะลงมือทำอะไรบางอย่างกับมัน และมันจะง่ายที่เราจะกลับมาสู่โหมด ‘สักวันหนึ่งเราจะให้อภัยตัวเองได้’ 

ความสัมพันธ์ท็อกซิกก็เหมือนโควิด คุณไม่ได้เรียกร้องมันหรอก แต่บางทีมันก็เกิดขึ้นกับคุณ มากกว่านั้น ผู้กระทำส่วนใหญ่เขาจะจับเซนส์ได้ว่าคนไหนหลอกได้หรือไม่ได้ แล้วเขาจะกอบโกยผลประโยชน์จากความใจดีของคุณ 

ดังนั้น เราจะบอกเสมอว่า ให้รับรู้ว่าคุณค่าของตัวเองคืออะไรแล้วรักษามันไว้ให้ดีที่สุด  สมมติคุณค่าของคุณคือความใจดี การที่คุณทะนุถนอมคุณค่าที่คุณยึดไว้สูงสุดในใจนี้ได้ มันไม่ใช่การใจดีกับทุกคน แต่มันคือการที่คุณเลือกว่าคุณจะใจดีกับใคร ต้องมอบมันให้กับคนที่เขาเห็นค่าความใจดีของเรา

อย่างเราเอง คุณค่าของเราคือความรัก ถ้าเราอยู่ในความสัมพันธ์ไหนที่เรารู้สึกว่าเขาไม่ได้ให้ค่าความรักของเราแล้ว เราก็พยายามจะไม่ให้คุณค่าของเราด่างพร้อยหรือเปรอะเปื้อนนาน ถ้าเรารู้สึกว่าใครไม่ใช่ Lover แล้ว เราก็ดึง Love กลับมาที่เรา และให้ความรักมันหล่อเลี้ยงเราต่อไป วันหน้าเราเจอคนคนหนึ่งที่สามารถเป็น Lover เราก็เอาความรักไปแปะ 

ผู้ถูกกระทำหลายคนมีเพื่อนเตือนว่ากำลังโดนหลอกอยู่ แต่เขากลับไม่เชื่อ อะไรคือเหตุผลที่ทำให้เขาเลือกไม่เชื่อคนที่หวังดีคนอื่นๆ 

เราเข้าใจนะ เพราะคนใกล้ตัวบางคนอาจจะมีอคติ เช่น เขาเคยได้ยินว่าแฟนเราเจ้าชู้ แต่ตอนนี้ไม่ได้เจ้าชู้แล้ว  สิ่งหนึ่งที่คนที่อยู่ในความสัมพันธ์ทำได้ คือลองเปิดโอกาสให้ตัวเองได้เรียนรู้ความรักที่มีหน้าตาอย่างอื่นบ้าง นอกจากแฟน แล้วคอยดูว่าคนอื่นทรีตเรายังไง มันต่างกันไหม ค่อยๆ ตั้งคำถามกับตัวเอง

สมมติ แฟนชอบดูถูกเราแล้วตบท้ายด้วยการบอกว่าเธอจะได้พัฒนาตัวเอง แต่แม่เรา พี่เรา เขาพูดกับเราด้วยความเมตตา และเราก็พัฒนาตัวเองได้จากคำพูดแบบนี้ อะไรแบบนี้ โดยสรุปคือเปิดโอกาสให้ตัวเองได้มองความรักจากเลนส์อื่นๆ ด้วย แล้วค่อยเอามาคิดต่อว่าความสัมพันธ์แบบไหนสบายใจกว่า

แล้วคนที่อยู่นอกความสัมพันธ์นั้นล่ะ ทำอะไรได้บ้างหากเราเห็นว่าคนที่เราแคร์กำลังอยู่ในความสัมพันธ์ที่ท็อกซิก

เรื่องนี้เซนซิทีฟ เราเข้าใจว่าบางทีเราอยากดึงคนที่เราแคร์ออกจากความสัมพันธ์ที่ท็อกซิก อยากให้เขาออกมา แต่บางที ถ้ายิ่งพูดบอกเขาแบบนี้ เขาจะยิ่งไม่เชื่อ 

สุดท้าย วิธีที่ดีคือการกลับมาโชว์ให้คนที่เราแคร์เห็นว่า ความรักที่เรารู้สึกว่าเขาคู่ควร (Deserve) เป็นยังไง แค่นั้นเลย เพราะในที่สุด คนคนหนึ่งจะเดินออกจากความสัมพันธ์หนึ่งได้ เขาต้องเดินออกมาเอง สิ่งที่เราทำได้คือการค่อยๆ ฉายภาพให้เพื่อน ให้ลูก ให้น้องของเราเห็นว่าความรักแบบอื่นหน้าตาเป็นยังไงนะ เธอสามารถเลือกได้นะ

หากเราเดินออกมาจากความสัมพันธ์ที่ท็อกซิกได้แล้ว บางครั้งเราจะรู้สึกผิดกับอดีต อับอายกับการตัดสินใจผิด โทษตัวเอง เราจะดีลกับความรู้สึกเหล่านี้อย่างไร

อย่างแรก ต้องใช้เวลาเสียใจ (Grieve) ปล่อยให้ตัวเองแช่อยู่กับวังวนของความเศร้าบ้าง เพราะมันต้องเศร้าสิ ก็เรื่องมันเศร้าน่ะ

แต่อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญมากเลยคือ ต้องรู้ว่า ณ ตอนนั้น เราแทบไม่มีทางรู้เลยว่าจะออกมายังไง และวินาทีนั้น สมองเราไม่ได้อยู่ในโหมดปกติ จิตใจของเรากระทบกระเทือน ดังนั้น ด้วยความรู้และพลังทั้งหมดที่เรามีในวินาทีนั้น เราเลือกทำอะไรที่ทำให้เรารอดชีวิตมาจนถึงวินาทีนี้ได้ ยังหายใจอยู่ได้ เราทำถูกเว้ย

ซึ่งแปลว่าย้อนกลับไปเราทำถูกเสมอ เพราะเราทำให้ตัวเองมีชีวิตรอด 

กับคนที่เคยผ่านความสัมพันธ์ท็อกซิกมา อยากเริ่มใหม่แต่ทำไม่ได้ ควรทำอย่างไร

ให้ไปช้าๆ ถ้าคุณต้องใช้เวลากับตัวเอง อยู่คนเดียวเป็นสิบปี คุณก็ทำได้ คุณไม่จำเป็นจะต้องเริ่มความสัมพันธ์ใหม่เพื่อที่จะบอกตัวเองว่ากูผ่านพ้นไปได้แล้วเว้ย มันไม่จำเป็น เพราะแต่ละคนมีเวลาในการเยียวยาของตัวเอง ซึ่งไม่ต้องแข่งกับใคร การเยียวยาไม่ใช่การแข่งขัน ไม่มีเส้นชัย 

อีกอย่างคือ ค่อยๆ ทำความเข้าใจว่า ตอนนี้คือปัจจุบัน สิ่งที่จะเกิดกับเราตอนนี้มันอาจจะไม่เหมือนความสัมพันธ์ที่เคยผ่านมาก็ได้ และรับรู้ที่ความคิดที่เกิดขึ้นโดยที่ไม่ตัดสินตัวเอง เราอย่าเป็นคนที่ทำโทษตัวเองหนักที่สุด 

สำหรับคุณ ความสัมพันธ์ที่ Healthy ควรจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

สำหรับเรา Healthy Relationship เป็นความสัมพันธ์ที่ทำให้เราชอบเวอร์ชั่นปัจจุบันของตัวเอง เพราะคนเราเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกับมุมมองที่เรามีต่อความสัมพันธ์ เมื่อก่อนเราอาจมีบุคลิกแบบคุณหนู ตอนนี้เป็นสายลุย เมื่อก่อนเราคิดว่าแฟนที่ดีต้องมารับมาส่ง แต่ตอนนี้เรากลับชอบไปรับไปส่งแฟน สิ่งเหล่านี้มันไม่เหมือนเดิม แต่ถ้าความสัมพันธ์ที่อยู่ทำให้เราชอบเวอร์ชั่นนี้ของตัวเองมากขึ้น เราคิดว่านี่แหละคือความสัมพันธ์ที่ Healthy

Writer
Avatar photo
พัฒนา ค้าขาย

นักเขียนจากเชียงใหม่ผู้รักทะเลและฤดูหนาวพอๆ กับหนังสุขซึ้ง สนใจประเด็นเรื่องเพศ ความสัมพันธ์ และเรื่องป๊อปทุกแขนง

Photographer
Avatar photo
ฉัตรมงคล รักราช

ช่างภาพ และนักหัดเขียน

illustrator
Avatar photo
พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts

Related Posts