ชวนรู้จัก ‘ผู้สูงอายุ’ อย่างเข้าใจ เพราะ ช่องว่างระหว่างวัย อาจเป็นการเปิดโอกาสใหม่ให้กับความเข้าใจระหว่างกัน

ชวนรู้จัก ‘ผู้สูงอายุ’ อย่างเข้าใจ เพราะ ช่องว่างระหว่างวัย อาจเป็นการเปิดโอกาสใหม่ให้กับความเข้าใจระหว่างกัน

หากกล่าวถึงคำว่า ‘การเหยียดด้วยอายุ’ หรือ ‘วยาคติ’ (หรือที่เราคุ้นเคยกันดีกับคำว่า Ageism ในภาษาอังกฤษ) เชื่อเหลือเกินว่าคุณผู้อ่านหลายท่านอาจนึกภาพตามเป็น 2-3 ภาพสลับกัน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกปฏิบัติกับคนทำงานที่มีอายุน้อยกว่าเลยทำให้เราอาจไร้ซึ่งความเชื่อถือในตัวเขา หรือว่าการที่เรายิ่งโตยิ่งไม่เข้าใจผู้ใหญ่รอบข้าง โดยที่หลายครั้งก็อาจทึกทักไปว่า ‘เรา’ ในฐานะคน Gen Z จะเข้าใจผู้ใหญ่วัย Baby Boomer ได้อย่างไร

ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมาข้างต้น นอกเหนือไปจากภาพของการเลือกปฏิบัติด้วยอายุแล้วนั้น 

ยังฉายภาพให้เห็นถึงช่องว่างระหว่างวัยที่ส่งผลให้ความคิดและโลกทัศน์แตกต่างกันเฉกเช่นเดียวกัน ซึ่งในประเด็นเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่อาจเข้าใจกันได้ยาก (หรือกับบางคนก็อาจคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องทำความเข้าใจ)

คนอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของสังคม แต่กลับถูกผลักออกให้เป็นกลุ่มที่ถูกแปะป้ายว่าพวกเขาเป็นคนที่เข้าใจยาก บุคคลเหล่านั้นคือกลุ่ม ‘ผู้สูงอายุ’ (Eldery) อย่างไม่ต้องสงสัย

เนื่องจากวันนี้ (1 ตุลาคม) ของทุกปีเป็นวันที่องค์การสหประชาชาติ (United Nations) กำหนดให้เป็น ‘วันผู้สูงอายุสากล’ (International Day of Eldery) เพื่อเน้นย้ำถึงคุณค่าของผู้สูงอายุที่ได้สรรค์สร้างสิ่งต่างๆ ในโลกไว้ให้กับพวกเรา เพราะหากไม่มีอดีตก็ไม่มีปัจจุบันและไร้ซึ่งอนาคตฉันใด การที่เราจะใช้ชีวิตในสังคมโดยไร้ซึ่งการทำความเข้าใจกับผู้คนต่างวัยก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย

วันนี้ Mappa จึงอยากชวนผู้อ่านทุกท่านมาทบทวน ‘ช่องว่าง’ ระหว่างวัยนี้ไปพร้อมๆ กัน เพื่อที่เราอาจจะได้ทบทวนความคิดบางอย่างของเรากันใหม่ และเข้าใจมนุษย์ผู้สูงวัยที่อยู่ใกล้ตัวเราให้มากยิ่งขึ้น

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ชี้ว่าผู้คนทั่วโลกมีอายุยืนยาวขึ้น และทุกประเทศกำลังเผชิญความท้าทายในแง่ของระบบสุขภาพว่าจะปรับตัวไปตามการเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ได้ทันหรือไม่

สำหรับประเทศไทยเองก็ไม่ต่างกัน ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่าสถานการณ์ในปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นด้วยสาเหตุที่อัตราการเกิดลดลง และผู้คนมีอายุยืนยาวขึ้น ผนวกกับภาวะทางเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปยิ่งส่งผลให้อัตราการเกิดลดลงอย่างต่อเนื่อง ในตอนนี้อาจเรียกได้ว่าไทยเข้าสู่ ‘สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์’ (Complete Aged Society) แล้ว เพราะประชากรตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไปมีจำนวนมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั่วประเทศ

ซึ่งนั่นชี้ให้เรายิ่งเห็นความสำคัญของการทำความเข้าใจกับผู้คนที่ต่างช่วงวัยกับเรามากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนในครอบครัวของเราเอง ซึ่งจริงอยู่ที่ว่าเมื่อช่วงวัยต่างความคิดก็อาจจะมีไม่ลงรอยกันอยู่บ้าง หากแต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไปนัก เพราะว่าในบางครั้งการพูดคุยกับบุคคลต่างวัยอาจทำให้เราได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ใหม่ๆ ที่อาจช่วยเพิ่มความเข้าใจ และลดขนาดของช่องว่างเหล่านั้นให้น้อยลงๆ จนกลายเป็นความเข้าใจใหม่ได้อย่างดีที่สุด

การเริ่มทำความเข้าใจกับบุคคลหลากหลายช่วงวัยอาจเริ่มได้ง่ายๆ จากวิธีต่างๆ ดังนี้

1. ยอมรับและเข้าใจในความต่าง : เพราะว่าเราแต่ละคนเติบโตกันมาจากต่างช่วงวัยซึ่งเป็นเรื่องสามัญธรรมดาที่จะมีประสบการณ์ชีวิตที่ต่างกัน และอาจต้องทำความเข้าใจว่าค่านิยมที่เรายึดถือของแต่ละคนอาจจะมีความแตกต่างกัน

2. ให้การดูแลและความเอาใจใส่ : เพราะความต้องการของผู้สูงวัยส่วนใหญ่คือการได้รับความใส่ใจจากคนรอบตัว ซึ่งหากเติมเต็มกันและกันได้ในส่วนนี้ เชื่อได้เลยว่าบรรยากาศและความสัมพันธ์ระหว่างกันและกันจะดีขึ้นอย่างมาก

3. สนับสนุนการมีชีวิตที่ดีให้กันและกัน : ผ่านการชักชวนไปทำกิจกรรมใหม่ๆ ที่มีคุณค่าและสร้างความรู้สึกดีให้กันและกัน ซึ่งนั่นจะช่วยลดอาการวิตกกังวลให้กับผู้สูงวัยรอบตัวเราได้เช่นกัน

เพราะ ‘ช่องว่าง’ ระหว่างวัย

อาจเป็นการ ‘เปิดโอกาสใหม่’ ให้กับการเข้าใจระหว่างกัน

และหลังจากนี้ Mappa เองก็จะนำเสนอเรื่องราวของผู้คนต่างวัยให้มากขึ้น เพราะว่าโลกใหญ่ๆ ใบนี้ไม่ได้มีเพียงคนในช่วงวัยไหนช่วงวัยหนึ่ง แต่ยังมีบุคคลที่ต่างประสบการณ์และต่างวัยที่เรายังสามารถเป็นเพื่อนที่เข้าใจกันได้ ไม่ต่างอะไรจากการทำความเข้าใจเพื่อนในวัยเดียวกัน

ที่มา :

https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/ageing-and-health
https://www.nso.go.th/nsoweb/storage/contents_detail/2024/20240405104651_11728.pdf
http://www.thaimentalhealth.com/component/content/article/19-%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82%E0%B9%83%E0%B8%88/626-%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A5-2565.html?Itemid=101
https://dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=30377

Writer
Avatar photo
รุอร พรหมประสิทธิ์

หนังสือ ไพ่ทาโรต์ กาแฟส้ม แมวสามสี และลิเวอร์พูล

illustrator
Avatar photo
Arunnoon

มนุษย์อินโทรเวิร์ตที่อยากสื่อสารและเชื่อมโยงกับผู้คนผ่านภาพวาด

Related Posts

Related Posts