เติมพลังความคิด ‘ริเริ่มสร้างฉัน’ จาก InsKru Festival เทศกาลที่มอบความหวังและพลังในตัวครู
เติมพลังความคิด ‘ริเริ่มสร้างฉัน’ จาก InsKru Festival เทศกาลที่มอบความหวังและพลังในตัวครู
“แวะมาคุยกันก่อนไหมคะ มาดูว่าสุขภาพใจของเราตอนนี้เป็นแบบไหนแล้ว”
“ระบบ กศน. นี่เราช่วยเด็กได้อย่างไรบ้างครับ เราต้องสอนเขาแบบไหนถึงจะช่วยเขาได้มากที่สุด”
“เหนื่อย แต่ก็ต้องสู้ต่อ”
บางส่วนของเสียงสนทนาจากผู้คนที่มาร่วมงาน ‘InsKru Festival 2023 มหกรรมไอเดียการสอน ความหวังและพลังในตัวครู’ ซึ่งจัดขึ้นที่สวนโมกข์ กรุงเทพ เมื่อวันที่ 29-30 เมษายน ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นครั้งแรกของการจัดงานที่แพลตฟอร์มเพื่อการแบ่งปันไอเดียและการเรียนรู้อย่าง InsKru ซึ่งตั้งใจส่งต่อความหวังและเติมพลังให้ครูทุกคนที่ได้มาร่วมงาน ภายใต้คอนเซปต์ ‘ริเริ่มสร้างฉัน’ ที่ต้องการให้ครูได้ทบทวนตัวเองและเติมไฟในการทำงานไปพร้อมๆ กัน
เมื่อผ่านบริเวณทางเข้าของงาน ทุกคนจะได้รับการชวนให้เปรียบอารมณ์ตัวเองผ่านสภาพอากาศ โดยใช้สติกเกอร์บอลลูนสีเหลืองขนาดเล็กที่ให้ผู้เข้าร่วมได้แต่งเติมอะไรก็ได้ที่สะท้อนถึงอารมณ์ของตัวเอง ณ ตอนนั้น ถึงจะมีบอลลูนหน้าเหนื่อย บอลลูนหน้าโมโห แต่ก็ยังน่าดีใจที่เราได้เห็นบอลลูนหน้ายิ้มมากกว่าบอลลูนหงุดหงิด เพราะนั่นหมายความว่า อย่างน้อยในพื้นที่แห่งนี้ ครูหรือคนที่มาร่วมงานก็มาด้วยความสุขมากกว่าอารมณ์บูดบึ้ง แม้ว่าในวันธรรมดาบอลลูนของเขาอาจจะไม่ได้ยิ้มกว้างเท่าที่วาดไว้บนสติกเกอร์ในงานนี้
หลังจากสำรวจอารมณ์กันเรียบร้อยแล้ว InsKru Festival ชวนเดินทางไปพบกับปัญหาเรื่อง ‘เบิร์นเอาท์’ ซึ่งเป็นความรู้สึกร่วมที่เกิดขึ้นกับครูจำนวนไม่น้อย เพื่อให้ครูได้สำรวจตัวเองว่า ระดับอาการตัวเองในเรื่องนี้อยู่ในขั้นไหนแล้ว และมีทางแก้ได้อย่างไร ตั้งแต่ระดับที่ 1 ยังมีไฟ แต่ใจเหนื่อยล้น, ระดับที่ 2 ใจเหนื่อยลน จนเริ่มหมดหวัง, ระดับที่ 3 เริ่มหมดใจ ทำอะไรก็เหนื่อย และระดับที่ 4 ซึ่งเป็นระดับสุดท้ายก็คือ เหนื่อยสุดใจ ไม่ไหวจะทน
ที่สำคัญมากๆ สำหรับการสร้างสเตชั่นไว้สำหรับสำรวจภาวะนี้ก็คือ การป้องกันไม่ให้ครูโทษตัวเองเมื่อตกอยู่ในสภาวะเบิร์นเอาท์ และค้นพบวิธีรักษา ‘ใจ’ ที่เหมาะสมกับระดับอาการของตัวเอง
ติดกับพื้นที่ที่ให้สำรวจระดับการเบิร์นเอาท์ของตัวเอง คือ หน่วยอาสากู้ใจ พื้นที่ที่ใช้ในการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่จะช่วยให้ครูได้ระบายเรื่องที่อึดอัดคับข้องใจ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ถือว่าเป็นไฮไลท์อย่างหนึ่ง ‘แบบหนังสือขอลาออก’ ที่ให้ครูได้ระบายเรื่องที่เจออยู่ทุกวันในการทำงาน รวมถึงอุปสรรคต่างๆ ผ่านใบลาออกสมมติ
ครูหลายสิบคนแสดงความรู้สึกของตัวเองผ่านกิจกรรมนี้ เราจึงได้เห็นใบลาออกที่ระบุสาเหตุในการลาออกที่หลากหลาย ตั้งปวดแขน ปวดขา ปวดคอ บ่า ไหล่ ปวดไปทั้ง 360 องศา ไปจนถึงปัญหาการเมืองภายในที่ทำให้ครูไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในการสอนซึ่งควรเป็นหน้าที่หลักได้อย่างเต็มที่
ในใบลาออกยังมีส่วนที่ให้ใส่ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาให้ดีขึ้น ซึ่งสำหรับคนที่เมื่อยล้าไปทุกส่วนก็อาจจะขอแค่ให้มีเก้าอี้นวดสำหรับบุคลากร เท่านี้ก็พร้อมจะสู้ต่อแล้ว ในขณะที่บางคนต้องการการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เพื่อหวังยกระดับการศึกษาไทยให้สำเร็จ
การค่อยๆ ใช้เวลาอ่านใบลาออกแต่ละใบทำให้เห็นปัญหาของครูที่หลากหลายขึ้น บางคนถึงขนาดทิ้งแอคเคานท์อินสตาแกรมของตัวเองไว้ท้ายใบลาออก เพื่อชวนเชิญให้เพื่อนครูได้เข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน โดยไม่จำเป็นต้องจบแค่ในงาน
โซนกู้ใจนี้ยังมีการออกบูธของกลุ่มและเครือข่ายต่างๆ ที่พร้อมสนับสนุนการทำงานของครู ให้ครูได้เข้ามาพูดคุย ไปจนถึงร่วมมือกันเพื่อความเป็นไปได้ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในโรงเรียนของตัวเอง เรียกว่านอกจากกู้ใจแล้วยังได้เติมไฟไปพร้อมกันด้วย
ชั้น 1 ของสวนโมกข์ยังจัดเป็นเวทีที่มีวิทยากรรับเชิญมาพูดคุยให้เรื่องที่เกี่ยวกับครูในแง่มุมต่างๆ อีกหนึ่งพื้นที่เติมไฟ อย่าง ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่า กทม. ที่สนับสนุนการเปิดพื้นที่ให้ครูได้เรียนรู้ เพราะการเปิดพื้นที่นี้จะช่วยพัฒนาการจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพขึ้นได้
หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากวิทยากรจากต่างประเทศอย่าง มาร์โก เช็ค (Marco Shek) Executive Director จาก Ednovators องค์กรในฮ่องกงที่พร้อมสนับสนุนครูผ่านการทำงานร่วมกับโรงเรียน ครู และพาร์ตเนอร์ในแวดวงอื่นๆ โดยเชื่อมั่นว่า การเปลี่ยนแปลงครูส่วนหนึ่งได้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ
ในขณะที่ ไค โล (Kai Low) อดีตครูสอนภาษาอังกฤษที่ปัจจุบันเป็นตัวแทนจากสหภาพครูในสิงคโปร์ ซึ่งก่อตั้งมานานร่วม 8 ทศวรรษแล้ว ก็มาร่วมพูดคุยในงานนี้เช่นกัน พร้อมแชร์เรื่องราวและความพยายามที่จะช่วยให้ครูในสิงคโปร์ทำงานได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ถูกลดทอนตัวตนด้านอื่นของตัวเอง ซึ่งเราขอบอกล่วงหน้าว่า ถ้าติดตาม Mappa จะได้อ่านบทสัมภาษณ์เต็มๆ ของทั้งสองคนนี้เร็วๆ นี้ด้วย
ส่วนชั้น 2 ของสวนโมกช์ ถูกจัดเป็นแกลเลอรีขนาดย่อม ที่นำเอาแนวคิดและแนวทางในการทำงานของครูทั่วประเทศมากกว่า 10 คน มาใช้เป็นโจทย์ให้ศิลปินสร้างสรรค์ผลงานออกมา ซึ่งการเดินดูงานทั้งหมดทำให้เห็นถึงความหลากหลายของวิธีการที่ครูใช้ในการสอนเรื่องต่างๆ ผ่านการตีความของศิลปิน ออกมาเป็นงานศิลปะในสไตล์มินิมัล งานแนวน่ารักสดใส ไปจนถึงงานที่มีพลังของความดุดันเมื่อพูดถึงเรื่องการสอนเกี่ยวประชาธิปไตย
นอกจากที่เล่ามาแล้ว InsKru Festival ยังมีกิจกรรมอื่นๆ อย่างเช่นการฉายหนัง การวาดโปสการ์ดเป็นของที่ระลึกติดตัวกลับบ้าน การเล่นบอร์ดเกม ไปจนถึงเวิร์กช็อปต่างๆ
แต่จริงๆ แล้ว ความสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของการจัดงานอย่าง InsKru Festival นี้ อาจอยู่ที่การเปิดพื้นที่ให้ครูได้เป็นตัวของตัวเอง ได้ค้นพบตัวตน และไม่รู้สึกแปลกแยก แม้ในชีวิตประจำวัน ความคิดของเขาอาจจะไม่ตรงกับครูคนอื่นๆ หรือกระทั่งผู้บริหารของโรงเรียน
เหมือนอย่างที่ครูคนหนึ่งที่มาร่วมงานนี้ได้บอกกับ Mappa ว่า “ผมชอบการที่มีเทศกาลแบบนี้ เพราะทำให้คนที่เป็นเหมือนแกะดำในโรงเรียนอย่างผมได้เจอกับแกะดำจากที่ต่างๆ แล้วการได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนกันก็ทำให้เรามีกำลังใจในการทำสิ่งที่เราทำอยู่ต่อไป”
Writer
พนิชา อิ่มสมบูรณ์
นักเขียนที่ชอบบอกทุกคนอย่างภูมิใจว่าเคยเป็นครูอนุบาลและยังชอบเล่นกับเด็กๆ อยู่ แต่ชอบคุยกับคนทุกวัยผ่านงานสัมภาษณ์ ส่วนชีวิตอีกด้านเป็นโอตาคุกีฬาโอลิมปิกและการ์ตูนญี่ปุ่น
Photographer
ฉัตรมงคล รักราช
ช่างภาพ และนักหัดเขียน
illustrator
ธีรภัทร์ เศาธยะนันท์
ชอบกินลาเต้เย็น