ละคร + บำบัด + สมาธิ = พื้นที่ฮีลใจในแบบ Insight Improvisation

ละคร + บำบัด + สมาธิ = พื้นที่ฮีลใจในแบบ Insight Improvisation

  • โจเอล กลัค คือนักการละครบำบัด นักปฏิบัติภาวนา และศิลปินด้านการแสดง ผู้ใช้เวลาเกือบสองทศวรรษทำงานเกี่ยวกับด้านการบำบัดและการพัฒนาตัวเอง และเป็นผู้สร้างสรรค์เทคนิค Insight Improvisation ซึ่งเป็นการละครบำบัดที่ผสมผสานการปฏิบัติภาวนา พลวัตการเคลื่อนไหว และเทคนิคการละครมาไว้ด้วยกัน
  • Insight Improvisation คือการผสมผสานศาสตร์จิตบำบัด การละคร และการฝึกสมาธิเข้าด้วยกัน ซึ่งจะเป็นการทำงานที่ลงลึกเข้าไปภายในจิตใจของแต่ละคน คล้ายกับเป็นช่วงเวลาที่จะได้อยู่กับตัวเองอย่างแท้จริง
  • Insight Improvisation สร้าง “พื้นที่ปลอดภัย” ที่สนับสนุนให้แต่ละคนได้แสดงออกถึงสิ่งที่อยู่ภายในออกมาโดยไม่มีการตัดสิน ผู้เข้าร่วมจะได้จัดการกับเรื่องราวที่ติดค้างอยู่ภายในใจ เช่นเดียวกับได้รู้จักและเข้าใจตัวเองมากยิ่งขึ้น

“ลองจินตนาการว่าแม่ของคุณอยู่ตรงนี้ คุณอยากพูดอะไรกับแม่”

นี่คือตัวอย่างของการใช้ “ละครบำบัด” ที่โจเอล กลัค นักการละครบำบัด บอกกับเราระหว่างการสัมภาษณ์ แน่นอนว่าละครบำบัดอาจไม่ใช่ศาสตร์การบำบัดหัวใจที่คนไทยคุ้นเคยนัก แต่เชื่อไหมว่าศาสตร์ดังกล่าวช่วย “เยียวยาใจ” ผู้คนได้มากมาย และนำไปสู่การ “ค้นพบตัวตนที่แท้จริง” อย่างน่ามหัศจรรย์ 

โจเอลคือนักการละครบำบัด นักปฏิบัติภาวนา และศิลปินด้านการแสดง ผู้ใช้เวลาเกือบสองทศวรรษทำงานเกี่ยวกับด้านการบำบัดและการพัฒนาตัวเอง และเป็นผู้สร้างสรรค์เทคนิค Insight Improvisation ซึ่งเป็นการละครบำบัดที่ผสมผสานการปฏิบัติภาวนา พลวัตการเคลื่อนไหว และเทคนิคการละครมาไว้ด้วยกัน ซึ่ง Mappa ก็ได้มีโอกาสพูดคุยกับโจเอลเมื่อไม่นานมานี้ และนี่คือเรื่องราวของโจเอลและ Insight Improvisation Thailand ที่เราอยากให้ทุกคนได้รับฟังกัน

ละครบำบัด“ละครบำบัดคือการใช้เทคนิคของการแสดงและละครเวที รวมถึงการด้นสด (improvisation) มาใช้ในการบำบัดทางจิตใจ เมื่อคุณทำละครบำบัด มันจึงเป็นมากกว่าการนั่งพูดคุยว่าปัญหาของคุณคืออะไร แต่คุณจะได้แสดงมันออกมา” โจเอลเริ่มต้นอธิบาย 

โจเอลยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น นักการละครบำบัดอาจบอกคนที่มาเข้าร่วมให้ลองจินตนาการว่าเขาสามารถพูดทุกสิ่งที่อยู่ภายในใจให้แม่ของเขาฟังได้ ซึ่งคนเข้าร่วมจะได้ “ประมวลความรู้สึก” ของตัวเอง ก่อนที่จะใช้การเคลื่อนไหวของร่างกาย ความคิดสร้างสรรค์ หรือคำพูดถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกที่เขามีต่อแม่ออกมา ราวกับว่าแม่ของเขากำลังนั่งฟังอยู่ตรงนั้นจริง ๆ

“พอคุณได้ทำแบบนี้ มันจะมีประสิทธิภาพมากกว่าการนั่งเล่าว่าอะไรคือปัญหาเรื่องแม่ เพราะว่าเมื่อเขาคนนั้นได้พูดกับแม่ของเขาตรง ๆ เขาจะได้แสดงออกถึงความรู้สึกนึกคิดที่แท้จริง และหาวิธีที่จะพูดออกมาให้แม่ได้ยิน หรือถ้านักการละครบำบัดบอกให้เขาลองสลับบทบาทเป็นแม่ดูซิ ลองจินตนาการว่าแม่จะมีปฏิกิริยากับสิ่งที่เขาพูดอย่างไร ตรงนี้แหละที่จะทำให้เขาเข้าใจแม่ของตัวเองมากขึ้น ซึ่งมันเป็นอะไรที่ทรงพลังมาก และมันแตกต่างจากการบำบัดจิตใจแบบทั่วไป” 

“แต่สิ่งที่ต้องรู้เกี่ยวกับละครบำบัด คือมันมีหลายรูปแบบมาก ๆ อาจจะมีมากถึง 20 – 30 แขนงเลยก็ว่าได้ แต่ประเภทที่ผมให้ความสนใจและนำมาใช้ในการสอนของผมนั้น คือสิ่งที่เรียกว่า Insight Improvisation” โจเอลชี้ 

ละคร + บำบัด + สมาธิ = Insight Improvisation

Insight Improvisation คือการผสมผสานศาสตร์จิตบำบัด การละคร และการฝึกสมาธิเข้าด้วยกัน ซึ่งจะเป็นการทำงานที่ลงลึกเข้าไปภายในจิตใจของแต่ละคน คล้ายกับเป็นช่วงเวลาที่จะได้อยู่กับตัวเองอย่างแท้จริง และไม่ใช่เป็นการฝึกสมาธิเพียงเท่านั้น แต่เป็นการเคลื่อนไหวร่างกาย การส่งเสียง การพูด ที่ต้องหลับตาและปล่อยให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวอย่างอิสระเสรีตามที่จิตไร้สำนึกของแต่ละคนต้องการ เพื่อตระหนักรู้ ระบาย และจัดการกับความรู้สึกภายในจิตใจที่ถูกกดทับเอาไว้ เช่นเดียวกับเพื่อนำไปสู่ความคลี่คลาย และพบกับความเข้าใจเชิงลึกในตัวเอง 

“เราจัดการกับอะไรหลายอย่างในตัวเองด้วยศาสตร์อื่น ๆ มามากมาย แต่พอมาเจอสิ่งนี้ มันให้ความรู้สึกถึงความจริงแท้ เราได้แสดงความรู้สึกที่แท้จริงออกมา ซึ่งอันนี้เรามองว่ามันเป็นสิ่งที่ยากมากสำหรับมนุษย์หลาย ๆ คน โดยเฉพาะตัวเราเอง ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความรู้สึกที่แท้จริงออกมาหรือการพูดในสิ่งที่อยากพูด แต่ในช่วงเวลาที่เรากำลังมีประสบการณ์ที่จะได้แสดงออกความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้น บางความรู้สึกที่ออกมา เรายังไม่รู้เลยว่าตัวเองกำลังรู้สึกแบบนี้อยู่” แอนน์ หนึ่งในผู้เข้าร่วมละครบำบัด เล่าประสบการณ์ของเธอ 

เช่นเดียวกับยู่ยี่ อีกหนึ่งคนที่เคยเข้าร่วมละครบำบัดของโจเอล ก็สะท้อนว่าการเข้าร่วมละครบำบัดของโจเอล และเครื่องมือที่เธอได้รับ ช่วยให้เธอสามารถรับมือกับความรู้สึกของตัวเองที่กำลังเกิดขึ้น ณ วินาทีนั้นได้ โดยการระบุความรู้สึกนั้น ๆ ให้ได้ เพื่อรู้ทันอารมณ์และความรู้สึกของตัวเอง

“บางทีเราดิ่ง แต่เราไม่รู้ว่าความรู้สึกนี้คืออะไร มันเบื่อ เหงา เศร้า หรือโกรธ เราแยกไม่ออก บางทีมันขมุกขมัวเป็นก้อนดำ ๆ แต่เราเอาก้อนนั้นมาทำให้เป็นรูปเป็นร่างอยู่ในร่างกาย ด้วยการหลับตา แล้วดูว่าร่างกายของเราจะพาเราไปไหน แค่นั้นก็รู้สึกว่าความรู้สึกเหล่านั้นถูกรับรู้ ถูกแสดงออกไป แล้วมันก็จะผ่อนคลาย คลายความขมุกขมัวตรงนั้นไปได้ระยะหนึ่ง ซึ่งก็ถือเป็นการช่วยเหลือตัวเองที่ดีมากเลย” ยู่ยี่บอก 

พื้นที่ปลอดภัยเพื่อให้กลับมาเป็นตัวเอง

การนำตัวเองเข้าไปอยู่ในกลุ่ม “คนแปลกหน้า” อาจสร้างความลำบากใจให้กับหลายคนที่สนใจละครบำบัดแบบ Insight Improvisation ไม่น้อย แต่โจเอลยืนยันว่าพื้นที่การบำบัดคือ “พื้นที่ปลอดภัย” ที่สนับสนุนให้แต่ละคนได้แสดงออกถึงสิ่งที่อยู่ภายในออกมาโดยไม่มี “การตัดสิน” ผู้เข้าร่วมจะได้จัดการกับเรื่องราวที่ติดค้างอยู่ภายในใจ เช่นเดียวกับได้รู้จักและเข้าใจตัวเองมากยิ่งขึ้น

“เราสร้างพื้นที่พิเศษที่คนจะรู้สึกปลอดภัยที่จะได้เป็นตัวเอง พวกเขาสามารถแสดงตัวตนที่แท้จริงของตัวเองออกมาได้ ซึ่งแต่ละคนก็จะมีความยากง่ายไม่เหมือนกัน เพราะทุกคนมีความแตกต่างกัน และแต่ละคนก็มีประสบการณ์ที่แตกต่างกัน บางคนอาจจะร่าเริงแจ่มใส แต่บางคนก็อาจจะโศกเศร้า การได้อยู่ในพื้นที่ตรงนี้จะทำให้เขารู้สึกปลอดภัยมากพอที่จะบอกคนอื่นว่าเขารู้สึกเศร้าแค่ไหน หรือกำลังรู้สึกโกรธอะไรอยู่” โจเอลระบุ 

“เราจะมีพาร์ทความเป็นกะเทยของตัวเองอยู่ ซึ่งมันหายไปตอนที่เราเริ่มทำงานในบริษัท เรากลายเป็นคนที่ไม่ต้องร่าเริงมาก ถ้าร่าเริงมากมันจะไม่ดีกับองค์กร แต่พอได้มาเข้าละครบำบัดของโจเอล พาร์ทนั้นมันกลับมา ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่ามันกลับมาตอนไหน แต่เรารู้สึกว่าพอมันกลับมาแล้ว เราคิดถึงตัวเองพาร์ทนี้มาก ๆ เลย และนั่นคือความมหัศจรรย์ที่สุดที่เราได้จากวันนั้นเลย” ยู่ยี่บอก 

เศษเสี้ยวหนึ่งของตัวตนที่หล่นหายไประหว่างการทำงาน แต่ความรู้สึกสบายใจในพื้นที่ปลอดภัยที่โจเอลสร้างขึ้น ก็ทำให้ยู่ยี่ได้ส่วนที่สดใสและวี๊ดว้ายของตัวเองกลับมาอีกครั้ง จึงอาจจะเป็นหนึ่งข้อพิสูจน์ถึงการเป็นพื้นที่ปลอดภัยและไม่ตัดสินของการละครบำบัดของโจเอลได้เช่นกัน

คนไทยและสิ่งมากมายที่อยู่ภายใน

เมื่อถามโจเอลว่าทำไมการแสดงออกความรู้สึกนึกคิดที่อยู่ภายในจึงเป็นเรื่องยากสำหรับคนไทย โจเอลแสดงความคิดเห็นว่าอาจจะด้วยสาเหตุทาง “วัฒนธรรม” และความเป็นไปของสังคมในประเทศ

“เราพบว่าสังคมไทยมีการกำหนดว่าต้องแสดงออกต่อหน้าคนอื่นอย่างไรอย่างเคร่งครัด ทุกคนต้องยิ้มแย้มแจ่มใส หรือไม่งั้นก็ต้องจริงจังและมีความมั่นคงทางอารมณ์ สังคมไทยไม่มีวัฒนธรรมการพูดสิ่งที่ตัวเองคิดหรือแสดงออกอย่างเป็นตัวของตัวเองได้ แต่การยิ้มแย้มหรือมีความมั่นคงทางอารมณ์สำคัญมากกว่าการแสดงความจริงใจด้วยการพูดอะไรอย่างตรงไปตรงมา เช่น ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว บางครอบครัวอาจห้ามไม่ให้เด็กพูดในสิ่งที่ตัวเองคิด เพราะความคิดเรื่องการเคารพผู้ใหญ่ ซึ่งมันไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในบ้าน แต่ยังลามไปที่โรงเรียน และสังคมรอบตัวอีกด้วย” โจเอลสะท้อน

“หลายปีก่อน มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมคนหนึ่งมาทำกิจกรรมที่เรียกว่า “เก้าอี้ว่าง (The Empty Chair)” ที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะมองเห็นคนจากในอดีตของตัวเอง ซึ่งของคน ๆ นั้นคือคุณครูสมัยมัธยมของเขา เมื่อผมถามว่าเขารู้สึกอย่างไร เขาบอกกับผมว่า “ผมเบื่อ” ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ผมเพิ่งค้นพบไม่นานมานี้ ว่าเวลาที่คนไทยพูดว่าเบื่อ เขามักจะหมายถึงความรู้สึกแบบอื่น และสำหรับคน ๆ นี้คือความรู้สึกโกรธ ซึ่งถ้าเขาได้พูดความรู้สึกจริง ๆ ของเขาออกมา มันจะมีอะไรที่พรั่งพรูออกมาเยอะเลย” 

สุดท้าย ผู้เข้าร่วมกิจกรรมคนดังกล่าวได้พูดสิ่งที่ติดค้างอยู่ในใจของเขาออกมา พร้อมกับกรีดร้อง และโยนเก้าอี้ตัวนั้นไปอีกฝั่งของห้อง โจเอลบอกว่า นั่นคือการแสดงออกถึงความโกรธของเขาคนนั้น เป็นความโกรธที่ถูกฝังอยู่ในหัวใจมานานหลายปี 

เข้าสู่โลกภายในและเป็นมนุษย์ให้มากขึ้น

แอนน์สะท้อนว่า กิจกรรมของโจเอลช่วยทำให้เธอรู้สึกราวกับว่า “ได้รับการเยียวยาของบาดแผลบางอย่าง” ซึ่งไม่เหมือนกับการเข้าร่วมกิจกรรมไหน ๆ ที่เธอเคยผ่านมา แต่สิ่งที่เธอได้รับคือประสบการณ์ที่เธอค้นพบด้วยตัวเธอเอง นอกจากนี้ยังเปรียบเสมือนการนำพาตัวเองให้กลับเข้าสู่ภายใน ใกล้ชิดกับตัวเองมากยิ่งขึ้น เป็นเนื้อแท้กับตัวเองมากกว่าเดิม และมีความเป็นมนุษย์มากขึ้น 

สำหรับยู่ยี่แล้ว การได้เข้าร่วมละครบำบัดแบบ Insight Improvisation เปรียบเสมืิอนปาฏิหาริย์สำหรับเธอ และเป็นพื้นที่ให้เธอได้เป็นตัวเองอย่างแท้จริง

“เราสามารถกรีดร้อง ร้องได้ หรือเต้นแรง ๆ ได้แบบที่ไม่เคยเต้นมาก่อนในชีวิต และสิ่งเหล่านี้แหละที่ทำให้เราได้สัมผัสถึงความรู้สึกของการเป็นมนุษย์ เราแตกสลาย เราไม่มั่นคง เราไม่แน่นอน เราไม่เป็นที่รู้จัก พื้นที่ตรงนั้นทำให้เรารู้จักตัวตนที่แท้จริงของเรา และเมื่อคนแตกสลายได้มารวมตัวกัน ได้มาร้องไห้ด้วยกัน นั่นก็ทำให้เรารู้สึกได้ถึงความรัก” ยู่ยี่กล่าวปิดท้าย

Writer
Avatar photo
ณัฐฐฐิติ คำมูล

วัยรุ่นปวดหลังที่ใฝ่ฝันถึงสังคมที่ทุกคนเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง

illustrator
Avatar photo
พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts

Related Posts